กรรมสูตร

[๑]พราหมณ์ภัฏฏาจารย์[๒]มีความรู้มาก มีลูกชายหนึ่งหญิงหนึ่ง กับมีวัวด้วยหนึ่งตัว กลางคืนดึกวันหนึ่งกำลังนอนยังไม่หลับ เห็นเชือกอะไรห้อยลงมาจากเพดาน แกจ้องมองได้สักครู่ เชือกนั้นก็ยาวและโตขึ้นทุกที คราวนี้เห็นได้ถนัด ไม่ใช่เชือกกลายเป็นงูตัวใหญ่ ตกใจลุกขึ้นตึงตังปลุกเมียและลูก ทันใดงูก็ลงมากัดเมียและลูกทั้งสองของพราหมณ์ตาย แล้วก็เลื้อยหายไป

ตาพราหมณ์เสียใจทอดอาลัยไม่อยู่บ้านต่อไป ออกจากบ้าน เห็นงูเลื้อยเข้าไปในโรงที่วัวนอน แกตามงูไป พอถึงโรงไม่เห็นงู เห็นเสือโคร่งคาบวัวกระโดดผ่านแกไป

ตาพราหมณ์ตกใจมาก ไม่กลับบ้าน เดินตรงเข้าป่าหมายจะบวชเป็นฤษี พอมาถึงราวป่าก็สว่าง เหน็ดเหนื่อยอิดโรยที่อดนอนและเดินกรากกรำตลอดคืน ทั้งเสียใจเป็นทุกข์ด้วย ซุดตัวลงที่โคนต้นไม้ใหญ่ เอนตัวนอนหลับไป หลับสักครู่ตกใจตื่นขึ้น ด้วยพราหมณ์แก่คนหนึ่งมายืนชิดตัว ร้องถาม “ใคร?”

พราหมณ์เฒ่าคนนั้นกลับย้อนถาม “ท่านเล่า คือใคร?”

ภัฏฏาจารย์- “ฉันชื่อนั้นๆ มีความทุกข์หนัก เมื่อคืนนี้งูมากัดบุตรและภรรยาตาย วัวที่มีไว้ก็ถูกเสือคาบเอาไปกิน ต้องทิ้งบ้านเดินทางมานี่ ก็แหละท่านเล่า เป็นใครที่ไหนมา?”

พราหมณ์แก่ตอบ “เราคืองูและเสือตัวนั้น”

ภัฏฏาจารย์ตกใจลุกทะลึ่ง ถาม- “ถ้าอย่างนั้น นี่ทำไมจึงกลับมาเป็นพราหมณ์? ชื่ออะไร?”

พราหมณ์แก่ “เราคือกรรมสูตร บิดเบือนรูปได้ต่างๆ เที่ยวทั่วไปในโลกนี้ ถ้าใครถึงที่ตายด้วยอะไร เราเป็นผู้บันดาลให้ผู้นั้นต้องตายด้วยอย่างนั้น”

ภัฏฏาจารย์ “ลูกฉันเมียฉัน ท่านก็ทำให้ตายเสียหมดแล้ว ทำไมจึงไม่ทำให้ฉันตายเสียบ้างเล่า?”

กรรมสูตรตอบ “ตัวท่านยังไม่ถึงที่ จงจำไว้ ที่ตายของท่านในน้ำแม่คงคาตรงน้ำลึกเพียงคอ ที่นั้นจะมีจรเข้มาคาบท่านไป” พูดได้เท่านี้ กรรมสูตรก็หายวับ

พราหมณ์ขนพองสยองหัวลุกขึ้นออกเดินต่อไป ตั้งใจว่าจะไม่หยุดแวะที่ไหน จนกว่าจะไปถึงประเทศที่ไม่มีทะเลสาปหรือแม่น้ำ ราวเดือนหรือสองเดือนลุถึงเมืองใหญ่แห่งหนึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินทรงอำนาจมาก ในวันที่มาถึง มีราชพิธีใหญ่ในพระราชวัง พราหมณ์ตั้งแต่ออกจากบ้านมา ยังไม่เคยได้กินข้าวให้อิ่มอร่อยสักครั้ง[๓] คราวนี้มีราชพิธีก็พอหวังได้บ้าง จึงเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินทรงรับรองเป็นอันดี ให้เจ้าพนักงานจัดอาหาร พราหมณ์อาบน้ำชำระกาย สวดภาวนาประจำวันตามธรรมเนียม แล้วออกไปหุงอาหารของตน[๔]

ในเวลานั้นมีพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตชุมนุมกันอยู่ในพระราชวังหลายคน สนทนาโต้เถียงกันด้วยข้อต่างๆ ในพระคัมภีร์ ฝ่ายพราหมณ์ผู้นี้เป็นคนแก่วิชาความรู้ ได้ยินเขาโต้เถียงเรื่องในพระคัมภีร์ อดไม่ไหว ละหม้อข้าวไว้ เข้ามาผสมโรงด้วย ในไม่ช้าใครๆ ในที่ประชุมก็เถียงสู้พราหมณ์ผู้นั้นไม่ได้ แพ้หมดทุกคน ความทรงทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน ดีพระหฤทัยมาก โปรดให้พราหมณ์ผู้นั้นเป็นราชบัณฑิต.

ภัฏฏาจารย์อยู่ที่เมืองนี้เป็นสุขมา ครั้นพระเจ้าแผ่นดินมีโอรส ทรงมอบให้ราชบัณฑิตคือภัฏฏาจารย์เป็นผู้สั่งสอน กุมารทรงจำศาสตร์ได้หลายแผนก เมื่อกุมารมีพระชนม์ได้สิบสามหรือสิบสี่พรรษา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงนึกประการไรก็ยากที่จะรู้ มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปพร้อมทั้งบริพารยังฝั่งแม่คงคา บัณฑิตหลวงได้ทราบเรื่องไม่สบายใจ เข้าไปกราบทูล “ข้าแต่มหาราช ! ถ้าจะเสด็จประพาสแม่คงคาแล้ว ข้าพระเจ้าขอพระกรุณาอย่าต้องตามเสด็จ เพราะข้าพระเจ้าได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ไปที่ริมฝั่งแม่คงคาเป็นอันขาด”

พระเจ้าแผ่นดินประหลาดพระหฤทัย- “มีเรื่องอะไรหรือท่าน จึงไม่อยากจะไปที่นั้นด้วย?”

พราหมณ์กราบทูล “มหาราช ! ข้าพระเจ้าไม่กล้าไปที่แม่คงคาเพราะเชื่อแน่ว่า ถ้าไปเมื่อไรจะสิ้นอายุ ณ ที่นั้น”

พระเจ้าแผ่นดินรวนเรพระหฤทัยสักครู่ แต่กุมารบอกตัดกะพระบิดา “ถ้าท่านอาจารย์ไม่ไปลูกก็ไม่ไป”

พระเจ้าแผ่นดินทรงคะยั้นคะยอพราหมณ์ “ไปด้วยกันเถิดท่าน ท่านจะสั่งให้ทำอย่างไรจะปฏิบัติทุกอย่าง ขอแต่ให้ไปด้วยเท่านั้น”

พราหมณ์ไม่มีท่าเบี่ยงบ่าย ตกลงตามเสด็จไปด้วย.

ครั้นเสด็จมาถึงแม่คงคา มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานปลูกพลับพลาริมฝั่งแม่น้ำ ทรงสำราญพระกาย ณ ที่นั้นพร้อมด้วยบรรดาผู้ตามเสด็จ

ฝ่ายกุมารทรงรักใคร่พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์มาก ไม่ว่าพราหมณ์จะไปทางไหนเป็นเสด็จตามติดไปด้วย วันหนึ่งกุมารทูลพระบิดา “ลูกอยากจะอาบน้ำในแม่คงคา”

พระเจ้าแผ่นดินให้มหาดเล็กพาพระโอรสไปสรงน้ำ แต่กุมารมองไม่เห็นพราหมณ์ก็ไม่ลงสรง เสด็จกลับไปทูลพระบิดา “ลูกไม่อาบ ถ้าท่านอาจารย์ไม่ลงไปอาบด้วย”

พระเจ้าแผ่นดินมีโองการให้พราหมณ์เข้ามาเฝ้า ตรัสให้ตามเสด็จกุมารไปอาน้ำด้วย

พราหมณ์ตกใจหน้าซีด กราบทูล “มหาราช ! ข้าพระเจ้าได้กราบทูลแล้วว่า ข้าพระเจ้าไม่ขอลงอาบน้ำในแม่คงคา ถ้าขืนลงไป ก็จะถูกจรเข้กินเท่านั้น”

พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้กุมารลงสรงแต่องค์เดียว แต่กุมารไม่ยอม ยิ่งพรามหณ์ขัดไม่ไปกุมารก็ยิ่งเร้าหนัก ลงท้ายพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงอ้อนวอนพราหมณ์ “ท่านอาจารย์ไปหน่อยเถิด ฉันจะจัดการป้องกันอันตรายให้เอง” ตรัสแล้วมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาข่ายล้อมที่จะอาบน้ำให้เป็นวง และให้มีผู้ถืออาวุธคอยระวังระไวทั้งในน้ำและบนบกเป็นอันมาก กับทั้งให้มีคนห้อมล้อมระวังพราหมณ์เวลาที่ลงไปอาบด้วย[๕]

ราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินได้บันดาลเป็นการเรียบร้อยทันที กุมารและพราหมณ์ก็ลงไปในแม่คงคาที่น้ำตื้น พวกทหารคอยระวังอย่างกวดขัน.

พราหมณ์ไม่เห็นอันตรายก็หายกลัวชะล่าใจ[๖] อาบน้ำกระเถิบตัวเลื่อนลงไปที่ลึกทีละนิด จนน้ำลึกท่วมเพียงคอ ทันใดนั้นกุมารก็ตรัสกะพราหมณ์ “ฐากูร เราไม่ใช่ราชกุมารดอกคือกรรมสูตรน่ะ” พูดพลางกลายรูปเป็นจระเข้ ตรงเข้าคาบพราหมณ์พาหายไป[๗]



[๑] ภัฏฏาจารย์ : ภัฏฏ (ธาตุ-ภร๎ตฤ) ‘พระ, เจ้า, ท่าน’ เป็นชั้นของคำที่แสดงความเคารพ ซึ่งสุภาพบุรุษใช้พูดกะเจ้า; แต่ที่ใช้เติมหน้าหรือต่อหลังนามของพราหมณ์ผู้รู้ก็มีเช่น

[๒] = เกทารผู้เป็นเจ้า

โควินทภัฏฏ = โควินทผู้เป็นเจ้า

บางทีเลยใช้เป็นอสาธารณนาม เว้นชื่อตัวเสีย เช่น ‘ภัฏฏ’ หมายเอา กุนาริลภัฏฏ; ใช้เรียกชื่อผู้เรียนวิชาสำเร็จแล้ว ดังเวชบัณฑิต หรือจินตกวี เช่น –

ภัฏฏโคบาล, ภัฏฏทิวากร, ภัฏฏนายก, ภัฏฏนารายณ์, ภัฏฏราม, ภัฏฏภาสกร, ภัฏฏจุฬามณี, ภัฏฏสังกร, ภัฏฏสวามิน,

‘ภัฏฏจารย์’ คำแสดงตำแหน่งให้พราหมณ์ผู้รู้ หรือมหาคุรุ หรือเวชบัณฑิต, บางทีก็ให้แก่นักเรียนสำเร็จ หรือนักรจนาอื่น

[๓] การเลี้ยงชีพของพราหมณ์ภัฏฏาจารย์ เนื่องด้วยจากพิธี ชาวบ้านเชิญไปเลี้ยงดู และถวายเงินซึ่งเรียกว่าทักษิณาด้วย.

[๔] ขนมเนยที่ Modok ? หรือ Moira ? เป็นผู้ทำก็พอจะกินได้ แต่ข้าวต้องหุงกินเอง จะกินที่คนมีวรรณะต่ำหุงให้ไม่ได้ ในปัจจุบันนี้พวกเบงคลีที่พอมีอันจะกินมักมีพ่อครัวเป็นพราหมณ์ เพราะจะเลี้ยงดูใครๆ แม้จะเป็นคนมีวรรณะสูงก็ได้สะดวก ด้วยได้พราหมณ์เป็นคนหุงทำแล้ว (ดูภาคผนวก)

[Modok? เห็นจะออกจากคำว่า ‘โมทก’—สํ. เรียกสกุลพันทาง : บิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นศูทร อย่างเดียวกับกายัสถ์ในเชิงอรรถหน้า ๑ ดูภาคผนวก]

[๕] แต่ไม่เป็นผล เพราะ ‘สิ่งซึ่งกรรมทำลายล้าง ต่อให้ใครพิทักษ์ปานไร ย่อมวินาศจนได้ = สุรักษิตํ ไทวหตํ วินัศยติ’ — ปัญจตันตระ By F.K. I 20

[๖] ลืมระวัง เพราะ ‘เมื่อวาระมาถึงตน จิตของมนุษย์มักมืดมนต์ไม่เห็นภัย’ -- หิโตปเทศ I 27 ปัญจตันตระ by G.B. II 4

แต่ถึงจะตั้งกองระวังอย่างไรก็ไม่พ้น เพราะ ‘เวรมาถึงป่วยการระวัง’ -- (Anvari Suhaili = นิยายเปอร์เซีย ถ่ายจากหิโตปเทศ ปัญจตันตระ by J.H. II 3

[๗]

สรรพประชาต่างต่างทั้ง ทุกหน แหล่งแล
ล้วนลิขิตนานายล หย่อมหน้า
พระตราทุกทุกตน ติดประ จำเฮย
ศักดิ์ลิขิตนั้นนั้นอ้า เอกด้วยฤๅผัน
  -- กลบุษบารักร้อย ทศมนตรี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ