กังคลา

พราหมณีคนหนึ่งอยากกินปลาตะเพียน[๑] วอนพราหมณ์ผัว “ฐากูร ถ้าหาปลาตะเพียนมาให้ได้สักตัว ฉันจะกินเสียให้สมอยากที่นึกไว้นานแล้ว ขอให้ได้กินสักชิ้นเดียว ถึงจะเอาอะไรก็ให้”

พราหมณ์ผัวเห็นว่าเมียอยากกินจริงๆ จึงเที่ยวไปขอเงินตามชาวบ้านแห่งละเล็กละน้อย ได้เงินมาเบ็ดเสร็จสองรูปี ไปตลาดซื้อได้ปลาตะเพียนตัวสนัดใจ เลยซื้อผักและเครื่องสำหรับกินกับปลามาด้วย รวมเป็นของไม่ใช่เล็กน้อยหนักพอดูอยู่ จำต้องเที่ยววานคนช่วยขน แต่ไม่มีใครเขาช่วยเที่ยวหาเสียอ่อนใจ พบชายคนหนึ่งยืนอยู่แถวนั้น เขาพูดกับพราหมณ์ “ฐากูร ถ้าสัญญาจะให้ฉันกินปลาตะเพียนสักอิ่มหนึ่ง จะช่วยแบกไปให้”

ตาพราหมณ์- “ได้ มาซิ-อ้อ! ชื่ออะไร?”

ชายคนนั้นตอบ “ชื่อกังคลา” แล้วตรงเข้าหยิบปลาทูลศีร์ษะเดินตามพราหมณ์

ตาพราหมณ์มาถึงบ้าน ตีแผ่ของที่ซื้อมาอวดเมีย

พราหมณีดีใจตัวสั่น อดอวดใครไม่ได้ ออกไปบอกเพื่อนบ้าน “มีมีดไหม? ขอยืมทำปลาหน่อย แหม! พราหมณ์ฉันแกไปซื้อปลาตะเพียนมาตัวโต๊”

ชาวบ้าน- “นั่นแน่ะ มีด เอาไปเถอะ”

พราหมณีมองดูมีด- “เห็นจะใช้ไม่ได้ มันเล็กกว่าที่บ้านอีก” พูดแล้วไปบ้านอื่นอีก อวดแต่เรื่องปลาและขอยืมมีด พบแต่ที่ไม่พอใจ เที่ยวยืมจนทั่วไม่ได้มีดอย่างต้องการ เลยกลับใช้มีดของตนเองทำปลา ตัดเป็นท่อนๆ ทอดกับผัก หุงข้าวหม้อใหญ่ เสร็จยกมาตั้ง ตาพราหมณ์กินก่อน กินเสร็จพราหมณีจึงลงมือ กินเสียอย่างที่ให้สมอยาก อิ่มแล้วเก็บกับข้าวที่เหลือไว้ดิบดี ตรงเข้าห้องนอน.

ฝ่ายกังคลาคอยกินปลาไม่สมหวัง เสียใจมาก แต่นึก “ไม่เป็นไร นางพราหมณีเข้าไปพักสักครู่คงออกมาเอาข้าวให้เรากิน” คอยอยู่นานยังไม่เห็นผัวเมียตื่นออกมา กังคลายังนึกอุ่นใจ “ทีจะเหนื่อย ทำครัวคนเดียว ถ้าจะนอนหลับสบาย ตื่นเมื่อไรคงหายเหนื่อยสบายอกสบายใจหาข้าวให้กินเอง”

สักครู่ตาพราหมณ์ตื่น ร้องเรียกกังคลา “กังคลาเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องซิ”

กังคลานึกในใจ “ป่วยการเล่า” แล้วทำเป็นพูดแก่ตนเองให้ดัง “เจ้ากวางสามขาวิ่งไป ใครจะจับหางมันได้”

พราหมณ์- “นั่นพูดอะไร? กวางที่ไหน?”

กังคลา- “อ๋อ! พูดถึงกวาง ตัวที่ฉันเห็นผ่านไปทางนี้เมื่อแต่กี้”

ตาพราหมณ์ลุกขึ้น ฉวยไม้รีบออกจากบ้านหมายจะจับกวาง.

สักครู่เมียตื่นไม่เห็นผัว ร้องถามกังคลา “กังคลา นี่พราหมณ์หายไปไหน?”

กังคลา- “ไปไหนใครจะรู้ เห็นผู้หญิงสาวคนหนึ่งสวยพอใช้ มาที่นี่เมื่อตะกี้ เห็นพราหมณ์ออกไปพูดสักครู่แล้วพากันไปทางโน้น” เอามือชี้ไป

พราหมณีโกรธ- “ไอ้หน้าดำ ชิๆ หนีแม่ไปได้ เป็นเช่นนี้เสมอ ไอ้บ้าอัปรีย์ จะต้องให้มันรู้รสบ้าง หลอกกูได้” ฉวยได้ไม้กวาดแร่ออกจากบ้านตามพราหมณ์ไป.

อยู่ข้างนี้ กังคลาได้โอกาสปลอดโปร่งไม่มีใครในบ้าน รีบตรงเข้าครัวควักข้าวและปลามากินเสียสบาย สักครู่ผัวเมียกลับมา เห็นไฟแวมๆ ในครัว รีบตรงเข้าไปดู พบกังคลากำลังกินข้าวอยู่หมับๆ ตามพราหมณ์โกรธเหลือเกิน “ไอ้ชาติต่ำนี่มึงทำอะไรอย่างนี้ หา? ทำข้าวปลาของกูเสียหมด”[๒]

กังคลา- “ทำไมเล่า มหาศัย คอยท่านหมายว่าจะให้ข้าวกินก็เปล่า ฉันเห็นเหมาะ ก็เข้าหากิน”

พราหมณ์- “มึงดีละ ต้องไปแก้ตัวที่ศาล ขโมยกินได้” ฉวยได้เชือกมัดกังคลาออกจากบ้านมา.

ได้สักครู่ ถึงร้านข้าวแกง กังคลาขอเข้าไปซื้ออะไรสักหน่อย ตาพราหมณ์อนุญาต กังคลาเข้าไปถึงร้าน ถามซื้อข้าตากที่ใส่ตะกร้าเล็กๆ เรียงไว้ขาย.

เจ้าของร้านบอกราคา “ตะกร้าละแปดสิบเบี้ย”

กังคลาต่อ “ฉันมีเจ็ดสิบเก้าเบี้ยเท่านั้นทั้งเนื้อทั้งตัว ขอให้เท่านั้นเถอะ”

เจ้าของร้าน- “เจ็ดสิบเก้าเบี้ยขายไม่ได้ ไม่ได้แปดสิบเบี้ยไม่ขาย ถึงจะถูกตบสักทีก็ยอม ดีกว่าจะขายขาดไปเบี้ยเดียว”

กังคลาไปเที่ยวขอเบี้ย ครบแปดสิบ กลับไปที่ร้านส่งเบี้ยให้ตามนั้น เจ้าของร้านก็หยิบตะกร้าข้าวตากให้ กังคลาพอรับมา ก็เอามือตบหน้าเจ้าของร้านเต็มแรงเซแซดๆ ไป พอตั้งตัวได้ ร้องถามกังคลา “นี่มึงคิดอย่างไร มาทำร้ายกู?”

กังคลา- “ทำไมเล่า? ก็ไม่บอกดอกหรือว่า ถ้าได้แปดสิบเบี้ยถึงจะถูกตบสักทีก็เต็มใจนี่? ก็ขายได้ครบแปดสิบเบี้ยแล้ว ฉันจึงตบแถมให้ตามที่บอกอย่างไรเล่า?”

เจ้าของร้านลูบแก้มยังรู้สึกชาๆ – “ไอ้อุบาทว์ กูไม่อยากพูดกับมึง ต้องไปพูดกันที่ศาล อย่าหนี”

กังคลา- “ฉันไม่หวั่น ไปก็ไปกัน”

คราวนี้ตาพราหมณ์ เอาเชือกผูกแขนเข้าข้างหนึ่ง เจ้าของร้านผูกอีกข้างหนึ่ง จูงกังคลามา.

เดินมาไม่ทันไร กังคลาขออนุญาตตาพราหมณ์อีก “ฐากูรมหาศัย กรุณาอีกสักครั้งหนึ่งเถิด ขอเอาข้าวไปจุ่มน้ำสักครู่เดียวเท่านั้น”

ตาพราหมณ์และเจ้าของร้านยอม ใกล้ที่นั้นมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง กังคลาเดินเข้าไป เห็นพราหมณ์คนหนึ่งนั่งอยู่ที่ประตู ก็ร้องขอ “ฐากูรมหาศัย อย่าว่ากระไรเลย ขอใบตองสักใบเถิด”

พราหมณ์ผู้นั้นกำลังอารมณ์ไม่ดี พึ่งทะเลาะกับเมียใหม่ๆ ยังนึกแค้นเมียไม่หาย พูดตอบออกมาด้วยกำลังยังมีฉุนติดอยู่อีก “ไปขออีลูกไอ้คนกินขี้ที่บ้านนั่นแน่ะ”

กังคลาตรงเข้าไปในบ้าน ร้องเรียก “นั่นแน่ อีลูกไอ้คนกินขี้! ขอใบตองสักใบเถิด”

พราหมณ์ได้ยินลุกขึ้นตึงตังเข้าไป ถามเสียงเขียว “นี่มึงนึกอย่างไร มาเรียกเมียกูอย่างนี้?”

กังคลาทำตกตะลึง- “อ้าว นี่อย่างไรกัน? บอกให้มาขอกับ ‘อีลูกไอ้คนกินขี้ที่ในบ้าน’ ฉันเข้าใจว่าภรรยาท่านชื่ออย่างนั้น จึงได้มาเรียก จะให้ฉันเรียกอย่างไรอีกเล่า?”

พราหมณ์- “มึงดี มึงดี ไปถึงศาลดูถี มึงจะแก้ตัวอย่างนี้ไหม?”

กังคลาทำเป็นไม่รู้ร้อน- “ก็พูดอย่างนี้ละ จะให้พูดอย่างไร? ไปศาลก็ไป ใครจะหวั่น”

พอพราหมณ์ฉวยเชือกจะมาผูกที่แขน กังคลาร้องห้าม “ช้าก่อน เจ้าแขนสองข้างมีเจ้าของเขาผูกแล้ว ผูกที่ขาแน่ะ”

พราหมณ์ทำตาม โจทก์ทั้งสามพากังคลามาไม่ช้าสวนทางกับคนขายน้ำมัน กังคลาถาม “พี่ขายน้ำมันขา ไปถึงพระราชวังยังอีกไกลไหม?”

คนขายน้ำมันตอบ “ถ้าเดินอย่างนี้กว่าจะถึงเห็นช้าเต็มที ถ้าทะเลาะกันไป ไม่ช้าก็ถึง”

กังคลา- “ฉันทะเลาะกับพวกที่มานี่เบื่อเต็มที ต้องทะเลาะกับท่านละ” ตรงเข้ามาเอากำปั้นเสยหน้าคนขายน้ำมันตูมใหญ่ เซปัดๆ ตั้งตัวได้ร้องด่า “ไอ้ริยำอัปรีย์ นี่มึงมาต่อยกูทำไม? ต้องจับตัวไปศาล”

กังคลายื่นเท้าอีกข้างให้- “ผูกเชือกข้างนี้เถิดท่าน ยังไม่มีเจ้าของ” คนขายน้ำมันไม่ตอบด้วยโกรธเต็มแก่ ตรงเข้าเอาเชือกผูก กระบวนแห่ก็ออกเดินไปอีก กว่าจะถึงพระราชวังพอดีพระราชาเสด็จขึ้นเสียแล้ว พวกโจทก์ต้องหาที่พักนอน รุ่งเช้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก มีรับสั่งให้ประธานมนตรี เบิกพวกที่เข้ามาร้องทุกข์ ประธานมนตรีเรียกตาพราหมณ์ที่ถูกกังคลาลักกินปลาเข้ามาก่อน ตาพราหมณ์แถลงเรื่องตั้งแต่ต้นจนปลาย.

ประธานมนตรี- “พราหมณ์ คดีเรื่องนี้จำเลยเขาไม่ผิด ท่านกลับเป็นผู้ผิดเอง เพราะไม่ทำตามสัญญา” แล้วหันหน้าไปถามเจ้าของร้านข้าวแกง “ก็คนนี้เล่า มีเรื่องอะไรที่จะฟ้องหาชายคนนี้?” ชี้ที่กังคลา เจ้าของร้านก็เล่าเรื่องให้ฟัง

ประธานมนตรี- “เรื่องนี้แกผิดเอง ถ้าไม่เชิญให้เขาต่อยที่ไหนเขาจะกล้า” แล้วถามพราหมณ์ที่ถูกกังคลาด่าเมีย พราหมณ์เล่าเรื่องให้ฟังจนจบ ท่านประธานมนตรีพูด “พราหมณ์ คนนั้นเขาไม่ผิด บอกให้เขาพูดอย่างนั้น เขาก็ทำตาม จะว่ากระไร?”

ถึงคราวคนขายน้ำมัน เล่าเรื่องที่เกิดเหตุให้ฟัง ประธานมนตรีฟังคำหาแล้วตัดสิน “กังคลา คดีตอนนี้เจ้าทำผิด ต้องเสียเงินค่าทำขวัญให้เขาเป็นเงิน ๘ อันน[๓]” กังคลามีเงินรูปีเดียว ไม่มีเศษเงินย่อย ควักออกมาวางตรงหน้าประธานมนตรี แล้วต่อยประธานมนตรีเข้าที่หน้าฉาดใหญ่ ประธานมนตรีโกรธพลุ่งหน้าแดงกล่ำ ตึงตังทลึ่งลุกขึ้น ตวาด “ไอ้ชาติสัตว์ มึงทำไมเข้าต่อยกู?”

กังคลา- “ข้าแต่ท่านผู้ธรรมาวตาร[๔] ข้าพเจ้ามีเงินรูปีเดียว ไม่มีทอน ที่ข้าพเจ้าต่อยท่านทีหนึ่งเพื่อจะให้ครบค่าทำขวัญ (คือ ๑๖ อันน) เพราะท่านตัดสินไว้ว่า ถ้าต่อยเขาทีหนึ่งต้องเสียค่าทำขวัญให้ ๘ อันน (หรือครึ่งรูปี) เมื่อต่อยสองทีก็ต้องเสียค่าทำขวัญทีละ ๘ อันน รวมด้วยกันพอดีรูปีหนึ่ง การจะควรอย่างไร แล้วแต่จะโปรดเถิด”

พระราชาประทับอยู่ที่นั้น ทรงพระสรวลชอบพระหฤทัยมาก รับสั่งให้ปล่อยตัวกังคลาและพวกเหล่านั้นไป.


[๑] เบงคลี – Rui; สํ-โรหิต: ม-(เหมือนกัน) = ‘ปลาตะเพียน’ – อภิธาน-ท หน้า ๖๗๑ ตอนหัวเป็นอร่อยของชาวเบงคลี, เป็นปลาที่คนบุราณชมว่ามีกิริยาสุภาพไม่หยิ่ง ถึงกับมียอด้วยโศ๎ลกว่า ‘อคาธชล สัญจารี น คร๎วัม ยาติ โรหิต:’ |

อังคุโษ๎ฐทกมาเต๎รณ ศผรี ผร๎ผรายเต ||

‘ปลาโรหิตะ มีนิสัยเที่ยวไปในน้ำลึก ยังไม่ยกตนสูง, (แต่) ปลา ศผรี อาศัยในน้ำตื้นเพียงเกรียกนิ้ว กผยองท่า : ฟาดน้ำกระจาย’

[๒] กังคลาเป็นคนในสกุลต่ำ : อันคนต่ำสกุล ไม่ต้องถึงกินข้าวของพราหมณ์ เพียงแต่เงาตัวไปถูก ข้าวปลาอาหารก็ไม่เป็นของบริสุทธิ์

[๓] ๑๖ อันน = ๑ รูปี

[๔] คำเรียกผู้พิพากษาหรือตุลาการ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ