- ๑. กลต่อกล
- ๒. พราหมณ์กินพรหม
- ๓. ปราชญ์เถื่อน
- ๔. กรรมสูตร
- ๕. ท้าววิกรมาทิตย์ ตอนเลือกคู่
- ๖. กาไห๎น หลานพราหมณ์เฒ่า
- ๗. เทพธิดาอิตุ
- ๘. แพะ เสือ ลิง
- ๙. สองเจ้าบ่าว
- ๑๐. บรมแกว่น
- ๑๑. บรมเซอะ
- ๑๒. ธิดาของทัณฑนายก
- ๑๓. ตากาไห๎น พนักงานสวน
- ๑๔. หูหนวกทั้งสี่
- ๑๕. ต้องขโมยสามต่อ
- ๑๖. อาหารนางฑากินี
- ๑๗. มีความรู้หรือมีเชาว์ดี?
- ๑๘. โอรสพระราชากับบุตรทัณฑนายก
- ๑๙. นิ่งได้ก็ชนะ
- ๒๐. กังคลา
- ๒๑. สองเจ้าสาว
- ๒๒. ควายสองขา
- ๒๓. พราหมณ์กับกายัสถ
บรมเซอะ
ตำบลบ้านแห่งหนึ่ง มีประกาศป่าวร้องทำ ‘สมรธน’[๑] คือเลี้ยงพราหมณ์งานใหญ่ มีพราหมณ์สี่ตนแต่อยู่ต่างหมู่บ้านกัน จะมากินเลี้ยงในงาน เจอะกันกลางทางเลยไปด้วยกัน สวนทางกับทหารคนหนึ่ง ทหารทำความเคารพตามธรรมเนียม คือประสานมือพร้อมกับปากว่า “ศรณํ อัยยะ”[๒] พราหมณ์รับเคารพพร้อมปากว่า “อสิรพาท”
ทั้งสี่เดินมาถึงบ่อข้างถนนแห่งหนึ่ง แวะดื่มน้ำแก้กระหายแล้วพากันไปพักใต้ร่มต้นไม้ใหญ่ ต่างนั่งนิ่งไม่รู้จะพูดอะไรกันดี คนหนึ่งเป็นผู้ทำลายความสงบเอ่ยขึ้น “ทหารที่เราพบเมื่อกี้นี้กิริยามารยาทเรียบร้อยจริงๆ พอเห็นฉันทำเคารพฉันคนเดียว”
พราหมณ์ที่นั่งถัดไปค้าน “ใครบอกว่าทำเคารพแก เขาเคารพฉันไม่พูด”
พราหมณ์ที่สามไม่เห็นด้วย- “ที่ไหนได้ เข้าใจผิดทั้งคู่ เขาเคารพฉันต่างหาก ข้อพิสูจน์คือเวลาเขาพูดแลมาทางฉัน”
พราหมณ์ที่สี่ท้วง “เข้าใจผิดหมด ที่จริงผิดหมดทั้งสาม เขาเคารพฉันเอง ไม่เช่นนั้นฉันจะตอบเขาหรือ?”
ต่างเถียงไม่ยอมแพ้กัน ยิ่งเถียงยิ่งหน้าแดงถึงกับจะวางมวย แต่คนหนึ่งมีสติอยู่บ้างเห็นว่าไม่น่าจะมาวิวาทกันด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเท่านี้ จึงร้องห้าม “นี่บ้าหรืออะไรจึงมาวิวาทกันไม่เป็นเรื่องเป็นราว ถึงจะทะเลาะกันตีกันจนยับอย่างพวกศูทร[๓] ใครเล่าจะเป็นผู้ตัดสิน ทหารคนนั้นคนเดียวจะบอกได้ว่าเขาเคารพใครแน่ ป่านนี้คงไปไม่สู้ไกลนัก วิ่งกลับไปตามไม่ดีหรือ ไปถามดูให้ดีว่าเขาเคารพใคร เท่านี้ก็จะรู้เรื่องกัน”
ตามที่แนะนำนี้อีกสามคนเห็นพ้องด้วย ทั้งสี่จึงย้อนวิ่งไล่ตามทหารไปเต็มฝีเท้าเลยจากที่พบทหารคราวแรกไปอีกโข พอเห็นทหารตะโกนให้หยุดเข้าไปชี้แจงเหตุผลที่วิ่งมาหาให้ฟังโดยจะแจ้ง ขอให้ตัดสินด้วยว่าทหารผู้นั้นคำนับใครแน่
ทหารรู้สึกทันทีว่าพราหมณ์ทั้งสี่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา นึกขันในใจเลยตอบออกไปโดยวางหน้าวางตาเฉยว่า เขาตั้งใจเคารพพราหมณ์บรมเซอะกว่าเพื่อนทั้งสี่นี้ แล้วก็ออกเดินไป.
พราหมณ์ทั้งสี่ตกตะลึง หันกลับเดินทางต่อไป นิ่งอั้นไม่พูดจากัน แต่คำ ‘พราหมณ์บรมเซอะ’ ของทหารเข้าไปฝังแน่นอยู่ในใจ จะตรองท่าไหนก็เห็นแต่ว่า ‘พราหมณ์บรมเซอะ’ จะต้องมีเกียรติยศสูง จึงเป็นผู้ได้คำนับของทหาร ยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าตนจะต้องได้ตำแหน่งนั้น ในที่สุดนิ่งอยู่ไม่ได้ เลยทะเลาะกันอีก คราวนี้เกิดเถียงกันด้วยข้อที่ใครควรจะได้รับเกียรติยศบรมเซอะ ต่างคนต้องการชิงเกียรติยศอันนั้นให้ตกเป็นของตัว หน้าแดงหน้าดำใส่กันไม่ยอมแพ้ เมื่อหมดทางที่จะได้เกียรติยศโดยดีแล้ว ความจำเป็ฯไม่มีเหตุอื่นเข้าขัด ตั้งหมัดเข้าตัดสิน ความยุติธรรมอยู่ที่อำนาจ แต่พราหมณ์คนที่แนะนำคราวก่อนร้องห้าม “ช้าก่อน ไอ้เรื่องนี้ใครๆ ก็นึกว่าตนเป็นผู้ควรได้เกียรติยศชั้นเซอะ ตัวฉันเองก็นึกว่าไม่น้องหน้าใคร ส่วนแกทั้งสามก็นึกเช่นนั้นเหมือนกัน บัดนี้จะขอถามหน่อยว่า ตะเบ็งเถียงกันจนคอแตก เข้าต่อยกันจนหน้าตาไม่เป็นหน้ามนุษย์ แล้วใครเล่าจะยอมแพ้? ใครเล่าจะตัดสินว่าเราคนไหนเป็นท่านบรมเซอะ? เปล่าทั้งนั้น หยุดวิวาทชั่วคราวเถิด นี่ก็ใกล้ตำบลธรรมบุรี [๔] เราพากันไปที่ศาลอำเภอ[๕] ขอท่านเจ้าหน้าที่ตัดสินให้มันรู้แน่กันไป เห็นอย่างไร?”
อีกสามคนสอดคล้องพากันไปอีก พอดีลูกขุนอยู่ที่นั่นพร้อมคณะ วันนั้นไม่สู้มีคดีสำคัญจะตัดสิน จึงนั่งประชุมฟังคดีของพราหมณ์ต่างถิ่นทั้งสี่นั้นทีเดียว
พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปกลางที่ประชุมแถลงเรื่องที่เป็นมาทั้งหมด
ที่ประชุมฟังคำแถลงการณ์จบก็ฮากันครืน ผู้เป็นประธานในศาลเป็นคนชอบสนุกอยู่ด้วยแกล้งถลึงตา สั่งบังคับให้ที่ประชุมหยุดนิ่ง แล้วพูดกะพราหมณ์คนนั้น “ตัวท่านเป็นคนต่างถิ่นไม่ใช่ชาวบ้านแถวนี้ ยากนักที่จะนำพยานสืบให้สมว่าท่านเป็นบรมเซอะแน่ จะมีทางให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงได้อย่างเดียว คือ ท่านจะต้องอ้างตัวเองเป็นพะยานชี้แจงเรื่องให้ศาลฟังโดยแจ่มแจ้ง จะเล่าประวัติของตนตอนไหนก็ได้ที่เป็นเรื่องหลักฐานสำคัญประกอบคดีให้ศาลฟังขึ้นว่าเป็นบรมเซอะ เมื่อศาลฟังคำแถลงการณ์ทุกคนตลอดแล้ว จะได้พิจารณาปรึกษาชี้ขาดลงไปว่าใครเซอะที่สุด สมควรเป็นผู้มีอำนาจอันชอบธรรมรับเกียรติยศจากทหารคนนั้นเป็นสิทธิแก่ตน”
พราหมณ์คนหนึ่งจึงชิงขออนุญาตต่อศาลเล่าประวัติของตนอย่างเก่งที่สุด ดังนี้:-
พราหมณ์กับผ้า
ข้าพเจ้าเป็นคนที่อัตคัดเครื่องแต่งตัว ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่ใช่ว่าจะพึ่งมาแต่งปอนในคราวนี้ ขอประทานเล่ามูลกรณีก่อน หลายปีมาแล้ว พ่อค้าเศรษฐีในหมู่บ้านข้าพเจ้าเป็นคนใจบุญสุนทรเอื้อเฟื้อพวกพราหมณ์มาก ให้ผ้าอย่างงามแก่ข้าพเจ้าสองผืน ข้าพเจ้าเอาไปอวดเพื่อนฝูง ต่างคนชมว่างามมาก ทุกๆ คนพูดว่ารางวัลมีราคาดังนี้คนที่ทำบุญไว้ในชาติก่อนเท่านั้นจึงได้ ก่อนที่จะเอามาใช้ ข้าพเจ้าเอามาซักเสียตามธรรมเนียม เพื่อล้างสิ่งโสโครกที่ติดมาจากช่างทอและคนขาย[๖] ซักแล้วเอาไปตากไว้ที่ราวซึ่งผูกเข้ากับกิ่งไม้สองต้น มีสุนัขตัวหนึ่งวิ่งลอดราวผ้าไป ข้าพเจ้าแลเห็นเจ้าสัตว์ลามก[๗] ก็แต่เวลาที่มันลอดไปเสียแล้ว และทั้งอยู่ไกลด้วย จึงไม่แน่ใจว่ามันถูกผ้าหรือไม่ ได้ถามพวกเด็กๆ ที่อยู่ใกล้มันก็บอกว่าไม่ได้สังเกต การเป็นดังนี้จะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไร จึงจะรู้ว่ามันถูกผ้าหรือเปล่า ข้าพเจ้าต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง เดินสี่ขาอย่างหมาคลานเข้าไปใต้ราวผ้า กระนั้นยังไม่หายสงสัย หันมาถามเจ้าพวกเด็กที่ยืนมองดู “เฮ้ย ตัวกูถูกผ้าไหม?” เด็กตอบว่าไม่ถูก ข้าพเจ้าดีใจกระโดดเหยง สักครู่หนึ่งเฉลียวว่าตัวมันไม่ถูกผ้า หางมันจะถูกเข้าบ้างกระมัง ไม่เชื่อแน่ในใจ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้รักษาความบริสุทธิ์ไม่มีใครจับ เอาเคียวผูกเข้าที่ก้นต่างหางหมดลงสี่เท้าคลานไปอีกที คราวนี้เจ้าเด็กที่ข้าพเจ้าขอให้เป็นพะยานบอกว่าเคียวปัดถูกผ้า ข้าพเจ้าเสียใจด้วยเชื่อว่าอย่างไรเสียเจ้าหางหมาต้องถูกผ้า เกิดโทโสขึ้นมาไม่คิดหน้าหลังกะชากเอาผ้าฉีกเสียหมด พอชาวบ้านใกล้เรือนเคียงทราบเรื่องนี้กันทั่ว ก็ตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นคุณเซอะ โดยแสดงเหตุว่า “ถึงหมามันจะถูกผ้าทำให้ไม่บริสุทธิ์ ซักเสียอีกครั้งหนึ่งก็หายสกปรกหมด” อีกคนหนึ่งว่า “ทำไม เมื่อไม่ต้องการ จะให้คนที่เป็นศูทรยากจนก็ได้ ธุระอะไรจะต้องไปฉีกเสีย ทำอย่างนี้แล้วใครเขาจะศรัทธาให้อีก ให้มาก็เอามาฉีกเล่น” ข้อนี้ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติม เพื่อให้แน่นว่าเป็นความจริงของเขา เพราะข้าพเจ้าจะไปขอผ้าใครคราวไร เป็นได้รับตอบว่าไม่ให้ คุณเซอะใช้ปัญญาได้แต่เพียงฉีกเท่านั้น.
เมื่อพราหมณ์เล่าประวัติของตนจบ สมุห์บัญชีศาลเอ่ยขึ้น “ถ้าจะเดินสี่เท้าเก่ง”
พราหมณ์ได้หน้า- “ก็ชำนาญคล่องแคล่วอยู่” แล้วก็ลงสี่เท้าคลานไปทางโน้นทีมาทางนี้ที เสียงคนในศาลฮากันครืนๆ
นายตุลาการ- “พอที พอที ตามที่ได้ฟังเรื่องและทำท่าประกอบเป็นหลักฐานให้แน่นแฟ้นขึ้นนี้ ก็ควรให้เป็นคุณเซอะได้ แต่ก่อนจะชี้ขาดลงไปศาลจะต้องฟังเรื่องของคนอื่นอีก”
พราหมณ์คนที่สอง จึงเริ่มเล่าเรื่องของตนดังนี้:-
การเลี้ยงพราหมณ์
วันหนึ่งมีการเลี้ยงพราหมณ์ที่ใกล้บ้าน ข้าพเจ้านึกว่าจะไปกินเลี้ยงทั้งที จะต้องแต่งเนื้อตัวให้ดีสักหน่อย เรียกช่างโกนมาโกนผมและเคราเสร็จ ข้าพเจ้าเรียกภรรยาให้หยิบเบี้ยทองแดงให้ช่างโกนหนึ่งอัน แต่จะเป็นด้วยฟังผิดหรืออย่างไรไม่ทราบ ภรรยาข้าพเจ้าส่งให้ช่างโกนสองอัน ข้าพเจ้าอ้อนวอนช่างโกนขอให้กลับคืนมาอันหนึ่ง แต่มันดื้อไม่ยอมคืนให้ เกิดเถียงกัน เจ้าช่างโกนทำเสียงอ่อนว่า “เรื่องนี้จะตกลงกันได้ก็ทางเดียว ไอ้เงินที่เกินมา ฉันจะรับโกนผมเมียแกให้ เห็นอย่างไร?”
ข้าพเจ้าตรองเห็นเข้าที ตอบ “ได้เหมือนกัน รู้แล้วรู้รอดไป ไม่ต้องเสียรัดเสียเปรียบกัน”
ภรรยาข้าพเจ้าได้ยินว่าจะถูกโกนผม ก็ทำท่าจะหนี แต่ข้าพเจ้ายึดตัวเอาไว้ บังคับให้นั่ง ให้ช่างโกนๆ ผมจนได้ เวลาโกนภรรยาข้าพเจ้าร้องไห้พลางด่าข้าพเจ้าและเจ้าช่างโกน ฮึดฮัดดิ้นปัดๆ ถีบเอาด้วย แต่ข้าพเจ้าต้องการให้โกนดีกว่าจะให้ไอ้คนริยำช่างโกนโกงเงินกินไปเปล่าๆ ถึงเบี้ยหนึ่ง ภรรยาข้าพเจ้าถูกโกนผมอันยาวงามหมดเกลี้ยง รีบผลุดเข้าห้องไม่กล้าออกมาอีกด้วยอาย ส่วนเจ้าช่างโกนผมเสร็จก็เปิดหนีไปพบแม่ข้าพเจ้ากลางถนนก็เล่าเรื่องให้ฟัง แม่แกรีบกลับมาบ้าน เพื่อให้เห็นแน่แก่ตา พอแกเห็นลูกสะใภ้หัวเกลี้ยง ยืนจังงังสักห้าอึดใจ แล้วกรากเข้ามาด่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิ่งไม่ตอบสักคำ เพราะรู้สึกว่าทำผิดจริง ไอ้ช่างโกนริยำมันเห็นเป็นสนุก เที่ยวป่าวร้องให้ใครต่อใครรู้หมด เขาหัวเราะกันสนุก ไอ้ที่ปากอยู่ไม่สุขต่อเติมเรื่องให้วิตถารขึ้นทุกที ถึงกับโจษกันว่าข้าพเจ้าทำโทษภรรยาเพราะนอกใจ คราวนี้ไม่รู้ใครต่อใครเป็นกลุ่มๆ แห่มาที่ประตูบ้าน ถึงกับจูงลาต่างว่าชายชู้แห่ไปตามถนน
ข่าวเรื่องนี้ ไม่ช้ารู้ไปถึงพวกพี่น้องข้าภรรยาข้าพเจ้า ต่างรีบมาฟังข่าว ท่านคงจะนึกได้ง่ายว่า เวลาได้มาเห็นภรรยาข้าพเจ้าผมเกลี้ยงจะปาวๆ เอาข้าพเจ้ากี่มากน้อย ในที่สุดพาภรรยาข้าพเจ้ากลับไปเสีย ไปในกลางคืนนั่นเอง ไม่หยุดพักที่ไหน กลัวใครเห็นจะขายหน้าเขา พาไปเสียสี่ปีเต็มๆ ไม่ส่งข่าวคราวมาว่าอย่างไร ภายหลังจึงได้ส่งกลับมาให้ข้าพเจ้า.
เรื่องเคราะห์ร้ายเท่านี้ ทำให้ข้าพเจ้าอดไปกินเลี้ยง ซ้ำร้ายใหญ่ ได้ทราบภายหลังว่าการเลี้ยงคราวนั้นใหญ่ที่สุด มีของกินดีเช่นเนยใส เขาเลี้ยงอย่างไม่เสียดาย[๘] ล่วงมาสักสิบสี่วันเขามีการเลี้ยงอีก ข้าพเข้าไปกับเขาด้วย พอไปถึงพวกพราหมณ์ที่พากันมากินเลี้ยงราวเจ็ดแปดร้อยคนก็กู่ก้องร้องกันเอ็ดตะโร กลุ้มรุมจับข้าพเจ้าไว้ บังคับให้บอกตัวตนที่เป็นชู้กับภรรยาข้าพเจ้า เพื่อจะได้จัดการร้องฟ้องตามกฎธรรมเนียมของพวกพราหมณ์ ข้าพเจ้ารับรองว่าในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ผิดเอง และเล่าความจริงให้ฟัง พวกเหล่านั้นรู้เรื่อง มีความประหลาดใจแลดูตากัน พูด “ผู้หญิงที่มีเรือนแล้ว ไม่ได้ทำชั่วช้าสามานอะไรสักนิด บังคับให้โกนหัวดังนี้ใช้ได้ที่ไหน ชายคนนี้ถ้าไม่ใช่นักโกหกก็คงเป็นไอ้งั่งบรมเซอะในโลกนี้”
“ท่านทั้งหลาย เมื่อได้ฟังเรื่องข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านคงคิดเหมือนเช่นข้างต้นนี้ และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าความเซอะของข้าพเจ้าเลิศกว่าพราหมณ์ที่ฉีกผ้ามากนัก”
ศาลพลอยเห็นว่าหลักฐานสำคัญอยู่ แต่เพื่อความยุติธรรม จึงสั่งให้พราหมณ์คนที่สามเล่าเรื่องของตน มีความดังนี้:-
ยาแก้โรคใบ้
ข้าพเจ้าชื่ออนันตัยย[๙] แต่ในบัดนี้เขาเรียกกันว่า ‘พลูอนันตัยย’ เหตุที่ข้าพเจ้ามีคำว่า ‘พลู’ นำหน้าชื่อ คือภรรยาข้าพเจ้าอยู่กับข้าพเจ้าได้สักเดือนกว่า มาคืนหนึ่งเวลาเข้านอนจะเป็นด้วยเรื่องอะไรไม่ทราบ ข้าพเจ้าพูดขึ้นว่า ผู้หญิงปากจัดพูดมากทุกคน ภรรยาข้าพเจ้าโกรธร้องตอบว่า ผู้ชายบางคนพูดมากยิ่งกว่าผู้หญิง ข้าพเจ้าทราบได้ทันทีว่า หล่อนเปรียบข้าพเจ้าเป็นคนพูดมาก นึกฉุนขึ้นมาทันที ท้าออกไปว่า “มา เราสองคนลองดูกันว่าใครจะพูดก่อนใคร”
ภรรยาข้าพเจ้า- “ลองดูก็ได้ ถ้าใครชนะได้อะไรเล่า?”
ข้าพเจ้า- “ใครแพ้เสียใบพลูใบหนึ่ง” สัญญาตกลงต่างคนต่างเข้านอนไม่พูดจากัน.
รุ่งเช้าจนตะวันขึ้นสูง ข้าพเจ้าและภรรยาต่างคนไม่ออกจากห้อง คนในบ้านเห็นผิดสังเกตตะโกนร้องเรียก เงียบไม่ตอบ ตะโกนดังขึ้นก็เงียบ เคาะประตูก็แล้วตีประตูก็แล้ว เงียบอีก เอะใจ สงสัยว่าเห็นจะตายเสียทั้งคู่ รีบไปตามช่างไม้มางัดประตูห้องเปิดเข้าไป ไปถึงเห็นข้าพเจ้าและภรรยาไม่หลับ นอนลืมตาโพลง ไม่เจ็บไม่ไข้อะไร เป็นแต่ไม่พูดเท่านั้น พากันประหลาดใจถึงกับหาอุบายให้พูดแต่ไม่สำเร็จ มารดาข้าพเจ้าเป็นคนตื่นตกใจมาก ถึงกับร้องไห้เสียใจออกโฮๆ ได้ยินไปถึงเพื่อนบ้าน ต่างพากันมาดูว่าเกิดเหตุอะไรจนแน่นบ้าน เมื่อข้าพเจ้าและภรรยาหุบปากนิ่งไม่พูด ก็คิดเป็นโน่นเป็นนี่ต่างๆ ที่ลงความเห็นพ้องกันมาก คือเข้าใจว่าถูกศัตรูทำให้เป็นใบ้ พี่น้องข้าพเจ้าจึงไปเชิญหมอผีลือชื่อในย่านนั้นมาแก้รังควาน ตาหมอมาถึงจ้องตาขมึงทึงดูข้าพเจ้าสักครู่ แล้วเดินรอบตัวข้าพเจ้าหลายครั้ง ปากก็ภาวนาว่าอะไรไม่ทราบ ฟังแปลกหูพิลึก เดี๋ยวนี้นึกขึ้นได้ยังกลั้นหัวเราะไม่อยู่ เวียนรอบๆ ได้สักครู่ บอกว่าข้าพเจ้าและภรรยาถูกคนทำ ซ้ำบอกชื่อผีที่เข้าสิงด้วยว่าชื่อนั้นๆ ถ้าสิงในตัวใครไล่ให้ออกยากนัก เพราะมักดื้อด้านมาก ถ้าจะขับให้มันออก ต้องใช้จ่ายซื้อเครื่องบวงสรวงบูชา และอะไรต่ออะไรไม่น้อย เพราะฉะนั้นจะขอค่าป่วยการอย่างน้อยห้าเหรียญทองปโคท[๑๐]
พวกพ้องข้าพเจ้าไม่ใช่คนมั่งมีอะไร พอหมอบอกค่าป่วยการเท่านั้นก็ตกใจ ครั้นจะปล่อยให้เจ้าไข้เป็นใบ้ก็ทนดูไม่ไหว ตกลงยอม สัญญาว่าถ้าแก้ให้หายใบ้ได้จะสมนาคุณให้ถึงใจ กำลังหมอผีจะจัดแจงเริ่มพิธีพิลึกพิลั่นอะไรของเขา พราหมณ์เพื่อนบ้านคนหนึ่งอยู่ที่นั่นด้วย มีความเห็นแตกต่างกับผู้อื่น บอกว่าโรคชนิดนี้เคยเห็นมาหลายรายแล้ว รักษาไม่ยาก รับรักษาไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร ขอแต่ถาดใส่ถ่านที่ติดไฟร้อนจัดกับทองแท่งเล็กๆ สักแท่งหนึ่งก็พอ เมื่อได้ของสองสิ่งมาเขาก็เอาทองเผาไฟให้ร้อนจนแดง เอาคีมคีบมาจี้ที่ปลายเท้าข้าพเจ้าและที่ข้อศอกที่ท้องและที่ศีร์ษะ ข้าพเจ้ากัดฟันทนทรมานอย่างร้ายกาจ แม้แต่กิริยาที่เจ็บปวดก็ไม่แสดงออกมาสักนิด ข้าพเจ้ายอมตายดีกว่าให้แพ้พะนัน ฝ่ายเจ้าหมอฉลาดเห็นรักษาข้าพเจ้าไม่สำเร็จ ก็พูดว่า “ลองดูผู้หญิงบ้าง” ตรงเข้าจี้ภรรยาข้าพเจ้าที่ซ่นเท้า ภรรยาข้าพเจ้าพอถูกร้อนยังไม่ทันอะไรก็หดเท้าทันที ร้องว่า “พอ พอที” แล้วหันมาทางข้าพเจ้า “แพ้แก เอ้านี่พลู”
ข้าพเจ้ารับใบพลูมา “บอกแล้วไม่ใช่หรือว่าหล่อนต้องพูดก่อนฉัน ก็จริงสมกับที่พูดไว้เมื่อคืนนี้ว่าผู้หญิงละเป็นคนพูดมาก”
คนที่อยู่ในห้องได้ยินข้าพเจ้ากับภรรยาพูดกันยังไม่เข้าใจเรื่องถนัดได้แต่แลดูตากัน จนข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังจึงเข้าใจเรื่องต่างเปล่งอุทานว่า “นี่เล่นอย่างบ้าหรืออย่างไร พะนันเอาใบพลูใบเดียว ทำให้เพื่อนบ้านต้องตกใจตื่นเต้นกันหมดน้ำใจช่างกระไร ทนทรมานเพื่อเอาชนะใบพลูใบเดียวก็ได้ ในโลกนี้เห็นจะไม่มีใครบรมเซอะดังนี้” ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าจึงมีคำว่า ‘พลู’ เติมหน้าเป็นเกียรติยศ
เรื่องนี้ศาลลงความเห็นว่า เป็นเรื่องประหลาดแสดงความเซอะของมนุษย์พอใช้ แต่ควรให้เป็นยุติธรรม ฟังเรื่องของคนที่สี่ก่อนว่าจะพิสดารอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นคนที่สี่จึงเล่าเรื่องดังนี้:-
พาเจ้าสาวมาบ้าน
ภรรยาข้าพเจ้าเมื่อได้แต่งงานกันใหม่ๆ ยังเป็นเด็ก ไม่สมควรจะอยู่กินด้วยกัน ได้ฝากไว้ที่บ้านพ่อตาแม่ยาย จนล่วงหกหรือเจ็ดปีโตเป็นสาว[๑๑] ข้าพเจ้าจึงบอกมารดาให้ทราบเพื่อรับมา บ้านพ่อตาข้าพเจ้าอยู่ไกลมาก และมารดาข้าพเจ้ายังป่วยไปรับเองไม่ได้ จึงมอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ไปรับและสั่งสอนว่าไปถึงนั่นควรทำอย่างไร พูดอย่างไร เพราะทราบอยู่ว่าข้าพเจ้าเป็นคนโง่ เกรงว่าจะไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าขายหน้า ข้าพเจ้ารับทำตามที่มารดาสั่งทุกอย่างแล้วก็ไป.
ถึงบ้านพ่อตา เขารับรองเต็มที่มีการเลี้ยงพราหมณ์ในย่านนั้นทั้งหมด เพื่อเป็นเกียรติยศข้าพเจ้า ครั้นถึงวันกำหนดได้ฤกษ์ ข้าพเจ้าก็ลาพ่อตาพาภรรยามา.
เวลามาถูกฤดูร้อนๆจัดมาก ตามทางแดดส่องเปรี้ยงแลยิบตา ทั้งต้องข้ามทะเลทรายมาด้วย ภรรยาข้าพเจ้าเคยอยู่ในบ้านไม่เคยกรากกรำลำบาก มาถูกเดินบนทรายร้อนจัดเท้าก็พองถึงกับร้องไห้ไม่เดินต่อไป ข้าพเจ้าอ้อนวอนแนะนำต่างๆ ก็แล้ว ฉุดก็แล้ว หล่อนก็ไม่ยอมถ่ายเดียว ขอนอนอยู่ที่นั่นถึงจะตายก็ไม่ว่า ข้าพเจ้าหมดปัญญา ตกลงต้องนั่งอยู่ด้วย สักครู่มองไปเห็นโคต่างบรรทุกสินค้าเต็มเดินมาทางนั้น ข้าพเจ้าร้องเรียกให้แวะอ้อนวอนขอให้ช่วยด้วย เจ้าของต่างเข้ามามองดูภรรยาข้าพเจ้า แล้วบอก “ภรรย่าท่านน่ากลัวอันตรายมาก ถึงจะอยู่หรือจะไปก็เท่ากันไม่พ้นอันตรายทั้งนั้นด้วยอากาศร้อนจัด ถ้าขืนตายไปในขณะนี้เขาก็จะสงสัยว่าฆ่าภรรยาตาย ให้ฉันเสียเถอะจะเอาขึ้นหลังงัว[๑๒] พาไปให้รอดตาย ถึงท่านจะต้องเสียภรรยาไปคนหนึ่งก็ยังดีที่ได้ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้ ทั้งจะไม่ถูกเขาสงสัยว่าฆ่าภรรยาด้วย” ข้าพเจ้าเห็นจริงตามที่แนะนำ อุ้มภรรยาขึ้นบนหลังงัว เสร็จแล้วข้าพเจ้ากลับมาบ้านคนเดียว ถึงบ้านล่ามากเพราะเท้าพอง ด้วยเดินมาบนทรายตลอดทาง แม่แกเห็นมาคนเดียวจึงถามว่าภรรยาข้าพเจ้าอยู่ไหน ข้าพเจ้าก็เล่าเรื่องให้แกฟัง แกรู้เรื่องโกรธข้าพเจ้าใหญ่ ด่าว่าเสียร้อยอย่างพันอย่าง- “ไอ้เซอะแสนริยำ ให้เมียแก่คนอื่นเขาไปได้ มนุษย์อะไรมิรู้ ยอมให้เมียพราหมณ์ต้องตกเป็นเมียน้อยไอ้คนต่ำสกุล นี่พี่น้องข้างผู้หญิงเขารู้จะว่ากระไร มิเกิดเรื่องหรือ จะหาใครโง่เท่ามึงเป็นไม่มีแล้ว”
เรื่องความเขลาของข้าพเจ้านี้ ทราบไปถึงพี่น้องข้างผู้หญิง ต่างคนโกรธแค้นรีบพากันมาบ้านข้าพเจ้าหมายจะตีเสียให้ตาย ถ้าหนีไม่ทันคงตายจริง นี่หากเคราะห์ดีข้าพเจ้าทราบล่วงหน้าเสียก่อน จึงพาแม่แกหนีไปโดยเร็ว เมื่อพี่น้องข้างผู้หญิงแก้แค้นทำโทษข้าพเจ้าไม่ได้ จึงนำข้อความไปร้องต่อหัวหน้าสกุล[๑๓] ข้าพเจ้าถูกตัดสินทำโทษเสียเงินค่าทำขวัญแก่พวกพ้องผู้หญิงสองร้อยปโคท ซ้ำมีประกาศห้ามไม่ให้ใครยกผู้หญิงให้เป็นเมียไอ้เซอะคือข้าพเจ้าอีกต่อไป มิฉะนั้นจะต้องถูกตัดขาดออกจากสกุล เหตุนี้ข้าพเจ้าจึงตกลงมีภรรยาไม่ได้จนตลอดชีวิต เคราะห์ยังดีที่ไม่ถูกตัดขาดจากสกุล เป็นเพราะบิดาข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ชาวบ้านเขานับหน้าถือตามาแต่ก่อน
“บัดนี้ข้าพเจ้าขอให้ท่านวินิจฉัยว่า ความเซอะของข้าพเจ้าจะมากกว่าทั้งสามหรือไม่ ถ้ามากกว่าข้าพเจ้าขอรับเกียรติยศให้ได้เป็นบรมเซอะเถิด”
ศาลประชุมปรึกษาพร้อมกันลงความเห็นว่า ควรได้รับเกียรติยศเป็นบรมเซอะทั้งนั้น ด้วยมีพยานหลักฐานแปลกประหลาดไปคนละอย่าง จึงพิพากษาว่า “ท่านทั้งสี่ชนะคดีด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้นจงเดินทางต่อไปเถิด อย่าได้โต้เถียงอะไรกันอีก”
บรมเซอะทั้งสี่ดีใจว่าได้รับคำตัดสินยุติธรรม ต่างคนต่างตะโกนจนสุดเสียง “เราชนะ เราชนะ” แล้วออกจากศาลเดินทางต่อไป.
[๑] samaradhanas ; การเลี้ยงพราหมณ์ในพิธีมงคล เช่น สมโภชเทวรูป, อาวาหะ, วิวาหะ, ขอฝน และขอความเจริญสวัสดี ฯ ล ฯ
[๒] ชาวบ้านฮินดูซึ่งไม่ใช่พราหมณ์ จะนมัสการพราหมณ์ย่อมประสานมือขึ้นเหนือหน้าผาก พร้อมกับออกเสียงว่า “Saranam Ayya = ศรณํ อัยย” แปลว่า ขอถวายความเคารพ, ผู้เป็นเจ้าในขณะนั้น ฝ่ายพราหมณ์ยกมือขวาแบออก เหมือนจะรับอะไรจากผู้นมัสการ เป็นการรับไหว้ และกล่าวตอบ “อสิรพาท = “ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานพร” อันผู้จะกล่าวคำ ‘อสิรพาท’ ได้ ต้องเป็นพราหมณ์หรือคุรุเท่านั้น- Dubois หน้า ๓๒๙
[๓] สกุลทำไร่ไถนา เป็นวรรณที่เลวกว่าวรรณอื่น
[๔] Dharmapuri
[๕] Choultry หรือ Chavadi ; ในหมู่บ้านอินเดียมักมีสำนักงานของเจ้าพนักงานสำหรับชำระคดีราษฎรในตำบล
[๖] ‘ผ้าบางชนิดอันใครถูกต้องแล้วพราหมณ์ถือว่าไม่บริสุทธิ์ต้องซักเสียก่อนจึงใช้ได้ แม้นจ้างเขาซัก ครั้นเขานำมาส่ง พราหมณ์ต้องเอาจุ่มน้ำซักอีกที เพราะที่พวกวรรณต่ำถูกต้องทำให้มัวหมอง ไม่ควรที่ผู้บริสุทธิ์เช่นพราหมณ์จักบริโภค ถ้าเป็นแพร ถือว่าเป็นของบริสุทธิ์อยู่เสมอ แม้กระทบมือใครมาแล้วก็ไม่มีมลทินจับ’-Dubois หน้า ๑๘๓-๔
[๗] ‘มีสัตว์หลายชนิดที่พราหมณ์ยอมให้สัมผัสไม่ได้ ถือว่าเป็นบาป ทำให้ร่างกายเศร้าหมอง เจ้าสุนัขเป็นสำคัญ เวลาพราหมณ์พบศพสุนัขมักหลีกเลี้ยวเป็นวงเป็นกงน่าดูมาก, ถ้าหลีกแล้วแต่เผอิญไปเฉียดถูกเข้าต้องรีบไปกระโดดน้ำทันที โครมลงไปทั้งเสื้อผ้าจึงจะหายลามก กายตัวและผ้าผ่อนที่นุ่งห่มมา จึงกลับเป็นของบริสุทธิ์ดังเดิม’-Dubois หน้า ๑๘๑
สุนัขมีประโยชน์แก่มนุษย์ไม่น้อย แต่เป็นสัตว์อาภัพ พวกพราหมณ์ พวกอิสลาม พวกยิว พากันเกลียดหมด เห็นเป็นตัวกิเลสอย่างร้าย
[๘] ความตะกละของพวกพราหมณ์เป็นลือชื่อ ถึงกับมีภาษิตว่า “กินให้เต็มกระเพาะ”
[๙] Anantayya
[๑๐] Pagods = เหรียญทองอย่างเก่าในอินเดีย ราคาราว ๕ บาท
[๑๑] ‘ภรรยามักจะมีอายุอยู่ใน ๕ ขวบ ๗ ขวบ หรือ ๙ ขวบอย่างมาก......เพราะฉะนั้น ชายแก่อายุตั้ง ๖๐ ปี ถ้าเมียตายมักมีเมียใหม่เป็นเด็ก อายุ ๕-๖ ขวบ ดังนี้ … ธรรมดาผัวจึงตายก่อนเมียโดยมาก และตายก่อนกว่าเมียมีอายุเป็นสาว ผู้หญิงต้องเป็นม่ายตั้งแต่เด็ก ซ้ำตามประเพณีสกุล จะมีผัวอีกไม่ได้ด้วย’- Dubois หน้า ๒๑๔-๕