ท้าววิกรมาทิตย์ ตอนเลือกคู่

ท้าววิกรมาทิตย์[๑]มักปลอมพระองค์เสด็จไปตรวจเมืองต่างๆ เพื่อทรงทราบความทุกข์สุขของพลเมือง ครั้งหนึ่งทรงปลอมเป็นคนบ้าพิการ เสด็จประพาสไปตามหัวเมืองประเทศราช เย็นวันหนึ่งลุถึงเทวาลัยอันอยู่ในเมือง ประทับบรรทมในนั้น เทวาลัยนี้มีรูปพระกาลี ตกเที่ยงคืนราชธิดาของเจ้าประเทศราชเมืองนั้น พร้อมด้วยธิดาของประธานมนตรี[๒] ของฑัณฑนายก[๓] และของพาณิชประมุข[๔]ในเมืองนั้น พากันไปทำบูชาในเทวาลัย พบคนบ้าพิการนอนขวางทางที่จะเข้าไปหน้าแท่นมณฑล ธิดาของพาณิชประมุขร้องถาม “ใครที่ไหนมานอนนี่? หลีกทางหน่อย”

คนบ้าพิการนอนเฉย ตอบ “จะไปก็ข้ามไปเถิด”

ธิดาพาณิชประมุขก็ข้ามไป ธิดาประธานมนตรีและธิดาฑัณฑนายกก็ข้ามตามๆ ไป ครั้งถึงตอนราชธิดา นางไม่กล้าข้าม ตรัสแก่ชายพิการ “ใครนี่? ขอฉันไปที จะเข้าไปบูชา”

ชายพิการตอบเหมือนคราวก่อน ราชธิดาปฏิเสธ “ฉันทำไม่ได้ ไม่บังควรข้ามใคร”[๕]

ชายปลอม- “ฉันก็เลื่อนให้ไม่ได้เหมือนกัน ข้ามไปเถิด”

ราชธิดาทรงอ้อนวอนหลายครั้ง ชายนั้นไม่ยอมหลีกให้ท่าเดียว จนที่สุดเห็นนางอ้อนวอนไม่หยุด จึงตอบ “ถ้าจะให้หลีกต้องมีสัญญากันอย่างหนึ่ง”

ราชธิดา- “สัญญาอย่างไร”

ชายเข็ญใจ- “ให้คำสัตย์ครบสามครั้งเสียก่อน[๖] จึงจะบอกได้”

ราชธิดาทรงให้สัญญากล่าววาจาครบสามครั้ง แล้วตรัสถาม “สัญญาอะไรเล่า?”

“สัญญาว่าจะเลือกฉันเป็นคู่แต่งงาน” เสียงตอบออกมาอย่างชัดเจน นางตกพระหฤทัยผวาองค์ ยกกรขึ้นทาบพระนลาฏ ตรัสออกมาด้วยหมดพระสติ “อนิจจา ! เราเป็นถึงลูกสาวท้าวพญา ตามประเพณีต้องได้คู่ให้สมชาติสกุล มินึกเลยว่าจะมาได้กับคนบ้าคนบอดังนี้” แต่นางจะทำประการไร ด้วยให้สัตย์ไว้แล้วจำเป็นต้องยอมตามที่ขอ ชายพิการจึงหลีกทางให้.

เมื่อนางไปทำบูชากลับออกมา ได้ตรัสกะชายเข็ญใจนั้น “พรุ่งนี้เป็นวันเลือกคู่ของฉัน[๗] เชิญท่านไปที่ประชุม ฉันจะนำพวงมาลัยสรวมคอท่าน” แล้วคืนสู่ราชวัง นึกอัดอั้นตันหฤทัยหวิวแปลบปลาบทรวงมาตลอดทาง.

รุ่งขึ้นเป็นวันเลือกคู่งานใหญ่ บรรดาเจ้าผู้ครองเมืองและโอรสประเทศต่างๆ ใกล้และไกลพากันมา[๘] ไม่ต้องสงสัย ต่างคนหวังว่าตนจะต้องมีคะแนนรับเลือกด้วย.

พระเจ้าแผ่นดินทรงต้อนรับแขกเหล่านั้นเป็นอันดี ได้ฤกษ์พระธิดาเสด็จออก มีราชบริพารตามถือพวงมาลัย หม้อกระแจะจันทร์และหม้อพวยบรรจุน้ำเต็ม.

บรรดาเจ้าเห็นราชธิดา ต่างตะลึงดูด้วยนางทรงรูปโฉมควรพิศวงประหลาทยิ่ง[๙] แต่นางมิได้ชำเลืองแลเจ้าเหล่านั้น หฤทัยมุ่งแต่หาชายพิการ สักครู่จึงทอดพระเนตรเห็นนั่งอยู่ข้างหนึ่ง ห่างจากหมู่เจ้านายที่ประกวดประขันแต่งตัวกันมา พอแลเห็นก็เสด็จไปที่ชายนั้น ล้างเท้าให้ด้วยน้ำในหม้อ แล้วสรวมมาลัยเอากระแจะจันทร์เจิมที่หน้าผาก.

กิริยาของนางได้เป็นไปอย่างที่ไม่มีใครคาดหมาย ดังนั้น ย่อมเกิดการกาหลกันใหญ่ บรรดาเจ้านายที่ประชุม ต่างออกวาจาแสดงกิริยาดูถูกโกรธแค้นไปตามกัน บ้างว่า “ไม่นึกเลยว่าจะเลือกไอ้คนบ้าชาติต่ำช้า” ต่างคนต่างกลับไปเสียเฉยๆ

พระเจ้าแผ่นดินเสียพระหฤทัยนิ่งอั้นพระเศียรตก ทรงจินตนาด้วยความแค้น “นี่หรืออีลูกที่กูรักใคร่สู้อุตส่าห์ถนอมเลี้ยงดูมันมาเติบโตขึ้นก็หวังว่าจะได้หน้าได้ตา มันกลับมาเป็นหญิงกาลีทำให้ขายทั้งชาติทั้งชื่อ และอะไรต่ออะไรหมดทุกอย่าง เลี้ยงอะไรมันได้ ไล่มันไปเสียจึงจะสาแก่ใจ”

ส่วนราชกุมารที่เป็นเชษฐาของพระธิดาหลายองค์ด้วยกันต่างกระทืบบาท กริ้วกนิษฐภคินี ชักกระบี่ออกจะประหาร แต่พระราณี[๑๐]ทรงห้ามไว้ “อย่าทำมันเลย ไหนๆ มันก็ชั่วไปแล้ว เมื่อพระลิขิตตราไว้ที่กระบาลเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไล่เสียจะไปไหนให็ไปตามบุญตามกรรมของมันก็แล้วกัน”

พระราชาทรงเห็นด้วย ขับพระธิดาและเขยไปอยู่ที่กระท่อมนอกพระราชวัง ซึ่งพระองค์มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานปลูกขึ้น[๑๑]

พระธิดา จับเดิมแต่ถูกขับมาอยู่กับสามีที่กระท่อม ประพฤติองค์อย่างฉันหญิงที่ดี มิได้โกรธเคืองหรือเกลียดชังสามีที่เป็นคนบ้า ยิ่งกว่านั้นซ้ำทรงปฏิบัติให้ได้รับความสุขทุกอย่าง ส่วนคนบ้าก็แกล้งทำอะไรต่างๆ ที่อาจจะทำให้นางเดือดร้อนไม่พอหฤทัย เพื่อทดลองความรักความอดกลั้นของนางว่าจะมั่นหรือไม่ แต่จะทดลองประการไรนางมิได้หวั่นไหว มิได้แสดงความเกลียดชังแม้แต่สักน้อย คงตั้งหน้าเอาใจใส่ปฏิบัติเยี่ยงภรรยาดี จนชายบ้า--ท้าววิกรมาทิตย์ พิศวงและพอใจในนางยิ่งนัก.

ล่วงเวลามาดังนี้ จวนถึงคราวที่โอรสองค์เล็กของพระเจ้าแผ่นดินจะเริ่มได้รับพิธีป้อนข้าว[๑๒]เป็นครั้งแรก บรรดาภัสดาอื่นๆ ของพระธิดาแห่งพระเจ้าแผ่นดิน อันครองเมืองต่างๆ ก็พากันมาพร้อมในงานพิธีนี้ ในระหว่างนี้โอรสทั้งหลายทรงจัดการเพื่อจะมีการล่าเนื้ออย่างใหญ่ ความทราบถึงชายบ้าพิการ พูดกับพระธิดาว่า “ถ้าพระบิดาประทานม้าให้สักตัว ก็จะไปล่าเนื้อกับเขาบ้าง”

พระธิดา- “จะไปขอม้าจากพระบิดาได้อย่างไร เพียงแต่หน้าพระองค์ก็ไม่อยากเห็นเสียแล้ว ถ้าไปหากพี่ชายฉันเห็น ก็จะฆ่าเสียทันที ทั้งพวกพี่สาวจะด่าว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจไม่มีสิ้นสุด ที่ยังมีเยื่อใยอยู่บ้างก็แต่พระมารดา เวลาขออะไรก็ประทานมา แต่กระนั้นก็ต้องปิดบังซ่อนเร้นมาให้ ถ้าขืนไปขอม้าก็กลัวว่าจะไม่ได้กลับ จะตายเสียที่นั่น”

ชายทุคตะ- “ไปเถิด ไม่ต้องกลัวดอก อย่างร้ายก็เพียงแต่ไม่ให้ม้าตามที่ไปขอเท่านั้น อย่ากลัวเลย”

พระธิดาจำเป็นจำหฤทัยต้องเสด็จ ลองเข้าไปหาพระมารดา เห็นประทับอยู่แต่พระองค์เดียวก็ดีพระหฤทัย ตรงเข้าไปกรรแสงทูล “พระแม่ได้กรุณาลูกด้วย เดี๋ยวนี้สามีของลูกอยากไปล่าเนื้อกับเขาแต่ไม่มีม้า จึงใช้ให้ลูกมาทูลขอ”

พระราณีทอดเนตรเห็นพระธิดาก็สงสาร กรรแสงพลางตรัสพลาง “อนิจจา ! ลูกเอ๋ย ไม่น่าเลยจะมาเป็นดังนี้ เอาเถอะแม่จะไปทูลขอให้” ตรัสแล้วเสด็จไปเฝ้าพระสามี ทูลความตามนั้น.

พระเจ้าแผ่นดินทรงพระโกรธกระทืบบาท ตรัส “นี่หล่อนเป็นบ้าไปด้วยหรืออย่างไร? ไอ้คนริยำผัวอีนั่น จะขี่ม้าเที่ยวหรือ? แต่ตัวมันเองยังเดินไม่ได้ดี ต้องโขยกเขยกอยู่แล้ว ยังจะอวดดีไปล่าเนื้อด้วย ไม่ให้มัน” แต่พระราณีทรงเร้าไม่หยุด พระราชาทนไม่ได้ เพื่อซื้อรำคาญจึงประทานม้าแก่โซตัวหนึ่งขาหัก

พระธิดาจูงม้าโซเสด็จกลับมากระท่อมนำให้สามี ชายบ้าพิการทำเป็นดีใจ แต่น่าประหลาด พอม้าเห็นก็น้ำตาไหล เขาลูบม้าสักครู่ บอกพระธิดา “พรุ่งนี้ลุกขึ้นหุงข้าวให้เช้าสักหน่อย” พระธิดารับคำ

ได้เวลาเช้ามืดพระธิดาตื่นบรรทม จัดแจงหาอาหารเสร็จ ชายพิการกินข้าวแล้วขึ้นม้าขี่ไป.

พระธิดาประทับดูอยู่ที่ประตูกระท่อม ตราบใดที่นางยังทอดพระเนตรเห็น ม้าก็โขยกเขยกไปช้าๆ แต่พอลับนาง รูปม้าที่ผอมก็กลายเป็น ปักษิราช[๑๓] ทูลท้าววิกรมาทิตย์ทุคตะบุรุษ- “นี่พระองค์จะทรงปลอมอยู่อย่างนี้อีกกี่มากน้อย?”

ท้าววิกรมาทิตย์- “ปักษิราชเอ๋ย ! เจ้าต้องอดทนไปก่อน ไม่นานกี่มากน้อยดอก” ตรัสพลางทรงขับม้าห้อปลิวดั่งลมเสด็จเข้าไปถึงกลางป่าใหญ่ ลงจากหลังม้า ทรงระลึกถึงตาลและเพตาล[๑๔] ในพริบตาเดียวพวกเหล่านั้นมาประชุมแน่น

พระองค์ตรัส “นี่แน่ะตาลและเพตาล! เจ้าจงนิรมิตปราสาทขึ้นที่นี่ และต้อนบรรดาเนื้อถึกทั้งสิ้นที่มีในป่ามาอยู่ในบริเวณปราสาทให้หมด และจัดที่ทางให้เราอยู่ให้เรียบร้อย”

พอตรัสขาดคำในที่นั้นมีปราสาทขึ้นมาทันที อีกสักครู่บรรดาเนื้อในป่าทั้งหมดก็มาออกันอยู่ที่ในลานเขตปราสาท ท้าววิกรมาทิตย์กลับร่างจากรูปคนพิการ ทรงเครื่องกษัตริย์ พวกตาลและเพตาลแปลงเป็นผู้คนเฝ้าปราสาท

ในเวลาที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นวันที่โอรสและเขยพระเจ้าแผ่นดินออกประพาสล่าเนื้อถึงป่าแต่เช้า หาเนื้อมาทั้งวันไม่ได้พบสักตัวเดียว จนเวลาเย็นลงก็ยังไม่ได้เนื้อ รู้สึกหิวกระหายและอิดโรย แทบมิสามารถเสด็จต่อไปได้ ครั้นจะกลับตัวเปล่าไม่ได้เนื้อไปด้วยก็ขายหน้า กำลังรวนเรอยู่แลไปเห็นปราสาทใครปลูกอยู่กลางป่า พากันเสด็จไปที่นั้น พอมาใกล้เห็นในบริเวณมีเนื้อถึกเยียดยัดกันอยู่เต็ม ประหลาดพระหฤทัย ต่างพูดกัน “นี่ใครหนอมาสร้างปราสาทไว้ในที่นี้? เลี้ยงเนื้อถึกไว้ทำไมเป็นก่ายกอง? ถ้าได้สักสองสามตัวจะดีใจไม่น้อย” พลางเสด็จเข้าไปหาคนที่เฝ้า สั่งให้เข้าไปบอกเจ้าของปราสาทขอซื้อเนื้อสักสองสามตัว.

คนเฝ้าปราสาทเข้าไปทูล ท้าววิกรมาทิตย์ตรัสว่า “ไปบอกว่า ถ้าอยากได้เนื้อสักสองสามตัวก็ไม่หวง แต่ต้องขอเอาฝักมะระกู่ร้อนๆ นาบหลังทุกๆ คน ถ้ายอมจะต้องการเนื้อกี่ตัวก็ได้”

คนเฝ้าปราสาทกลับมาบอกตามนั้น พวกเจ้าชายตกตะลึง อ้อนวอนขออย่าให้เอาหัวมะระกู่นาบหลังเลย แต่ไม่สำเร็จ ครั้นไม่ได้เนื้อกลับไปก็ขายหน้า ตกลงต้องยอมให้นาบ นึกเสียว่าใครจะแลเห็นแผล เพราะอยู่ข้างหลังมีเสื้อคลุมบังอยู่เสมอ[๑๕]

คนเฝ้าปราสาทกลับเข้าไปทูลท้าววิกรมาทิตย์ตามที่เจ้าชายเหล่านั้นยอมตกลง พระองค์เสด็จออกมาเอง เป็นผู้ให้การนาบปฤษฎางค์เจ้าชายเหล่านั้นทุกองค์ เสร็จแล้วประทานเนื้อให้องค์ละตัว[๑๖]

เจ้าชายได้เนื้อก็ดีพระหฤทัย เสด็จกลับเป็นทีว่าไปล่ามาได้.

ฝ่ายท้าววิกรมาทิตย์เห็นเจ้าชายกลับแล้ว มีรับสั่งให้ตาลและเพตาลบันดาลให้ปราสาทหาย ส่วนพระองค์เสด็จขึ้นม้ากลับ พอจวนจะถึงกระท่อมก็กลายเป็นชายบ้าเข็ญใจ ม้าปักษิราชกลับเป็นม้าโซตามเดิม

พระธิดาเมื่อรอคอยสามีจนเย็นยังไม่เห็นกลับ เป็นทุกข์ร้อนเสด็จไปดูที่ต้นทาง พอแลเห็นก็ดีพระหฤทัย วิ่งออกไปรับ ช่วยพะยุงสามีลงจากม้า.

ชายพิการแกล้งทำเป็นเหนื่อยมา พูดกระหืดกระหอบ “เหนื่อยเต็มทีช่วยพะยุงไปด้วย”

นางต้องเข้าพะยุงประคองมากระท่อม จัดหาอาหารเลี้ยง อิ่มหนำสำราญแล้ว ชายสามีเข้าห้องนอน แต่นางทรงกรรแสงอยู่ข้างนอกกระซิกๆ.

ชายสามีถาม- “เป็นอะไรไปหรือน้อง?”

นาง- “บอกให้รู้ก็ป่วยการ”

สามี- “ถึงป่วยการก็บอกให้รู้เถิดน้องรัก”

นาง- “พรุ่งนี้เป็นวันที่น้องชายคนเล็กของฉันจะเข้าพิธีป้อนข้าวเป็นครั้งแรก บรรดาญาติพี่น้องทุกคนจะมาพร้อมกันในงานนี้ และเอาของที่งามๆ ทำขวัญเด็ก ใครๆ เขาก็มีของไปให้ ฉันคนเดียวเท่านั้นไม่มีอะไรไป เสียใจดังนี้” นิ่งอั้นสักครู่ แล้วตรัสต่อ “กลัวจะรำคาญใจ จึงนิ่งเสียไม่บอกให้รู้”

สามี- “เรื่องเท่านี้ดอกหรือ? ไม่ควรจะร้องไห้ให้หมองนวลเลย หญิงที่ดีมีความซื่อสัตย์เอาใจใส่ปฏิบัติสามีเหมือนเช่นน้องของพี่ จะต้องการอะไรคงได้สมประสงค์ หาควรเป็นทุกข์ไปไม่” ปลอบประโลมนางต่างๆ จนนางม่อยหลับไป.

ท้าววิกรมาทิตย์เห็นนางหลับ ก็เสด็จลุกขึ้นระลึกให้ตาลและเพตาลมาแล้ว ตรัสให้พวกเหล่านั้นไปเอาเครื่องอาภรณ์อันมีค่ามาให้หนึ่งสำรับ ผ้าสาฤอย่างงามหนึ่งผืนกับมาณิก[๑๗]สองถาด พวกตาลและเพตาลหายวับในพริบตาเดียว นำของที่ต้องพระประสงค์มา ท้าววิกรมาทิตย์ให้วางของนั้นลง และกำลังตรัสให้กลับไป พอดีนางตื่นได้ยินเสียงคนพูดลุกขึ้นมา ท้าววิกรมาทิตย์ตกพระหฤทัย หยิบรูปปลอม[๑๘]ซึ่งวางไว้สรวมไม่ทัน นางตรงเข้าจับพระหัตถ์ท้าววิกรมาทิตย์ ร้องถาม “ท่านเป็นใคร แปลงปลอมมาดังนี้? ฉันไม่ยอมให้หลอกฉันได้อีกต่อไปละ ถ้าไม่บอกให้รู้ ฉันจะเร้าถามอยู่ร่ำไป ทนได้ก็คอยดู” ตรัสพลางแย่งยื้อรูปปลอม[๑๙]โยนเผาไฟเสีย.

ท้าววิกรมาทิตย์ ทรงเห็นว่าไม่ควรจะปิดบังต่อไป จึงตรัสบอก “ดูราพระธิดายอดรัก! พี่นี้คือวิกรมาทิตย์”

พอได้ยินพระนาม นางสะดุ้งถอยห่างจากพระราชา ยืนประสานหัตถ์ พลางทูลขอโทษ “ข้าแต่พระองค์ ! ขอพระกรุณาโปรดประทานโทษหม่อมฉันที่ได้ทำการล่วงเกินให้ขุ่นเคืองพระหฤทัยมาแต่ก่อนเถิด พระเจ้าข้า”

ท้าววิกรมาทิตย์ทรงประโลม “นี่แม่ยอดรัก พูดอะไรเหลวไหลดังนี้ ฉันควรจะขอบใจหล่อนที่มีความซื่อสัตย์ปฏิบัติฉันมิได้มีความรังเกียจแม้สักน้อย จะหาหญิงให้เหมือนหล่อนนี้แสนยาก” ตรัสพลางทรงประคองขึ้นเหนือเพระเพลา

นางเหลือบเห็นกองมาณิก จึงทูลถาม “นั่นอะไรพระเจ้าข้า”

ท้าววิกรมาทิตย์- “ก็อะไรเสียอีกเล่า เห็นหล่อนเป็นทุกข์โศก ไม่มีของอะไรจะไปทำขวัญพระน้อง พี่จึงอุตส่าห์หามาให้”

นางปลื้มจนเหลือปลื้ม หมดสติจะพูดอะไรออกมาได้อีก ได้แต่เพ่งนิ่งอั้นอยู่ ในหฤทัยเต็มไปด้วยปิติรู้สึกว่านี้คือวาสนาของตน.

รุ่งเช้านางแต่งองค์ทรงเครื่องซึ่งพระสามีประทาน หยิบถาดดวงมาณิก ลีลาออกจากกระท่อมทับตรงไปยังพระราชวัง.

บรรดาผู้ที่ได้เห็นนางทรงภูษาสง่างามก็พิศวงไปตามกัน พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นพระบิดาก็ทรงตกตะลึงพออยู่ แต่ยังไม่เท่านางนำของเข้าไปทำขวัญอนุชา ซึ่งใครๆ ที่อยู่นั่น ตะลึงแลดูกันเป็นตาเดียว แล้วพระธิดาเสด็จเลยเข้าไปเฝ้าพระชนนี กราบทูล “พระแม่ขาลูกมีข่าวดีมาเสนอ คือบุตรเขยของพระแม่ไม่ใช่อื่นไกล ท้าววิกรมาทิตย์มหาราช”

พระราณีสะดุ้ง- “จริงหรือลูก?”

พระธิดา- “จริงๆ ไม่ใช่ปด ท่านเสด็จปลอมพระองค์มา จึงไม่มีใครรู้จัก ลูกแย่งรูปปลอมเผาไฟเสียเมื่อคืนนี้เอง”

พระราณีดีพระหฤทัยจนสะอื้น รีบขมีขมันไปทูลพระสามี “พระองค์ ! ลูกสาวเราคนนั้น ใครว่าชั่วดูซิ ทำโทษทำโพยโกรธแค้นขับให้ไปอยู่กระท่อม น่าสงสารเจ้าหล่อน พระองค์ทรงทราบไหมว่าคนที่ลูกเรานำพวงมาลัยสรวมคอนั่นคือใคร นั่นแหละคือท้าววิกรมาทิตย์”

พอทราบว่าสามีพระธิดาคือท้าววิกรมาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินก็ตะลึงจังงัง ระลึกถึงโทษที่พระองค์ทรงปรามาสจาบจ้วงล่วงเกินมาแต่ก่อนเก่า เลยไม่สบายพระหฤทัย ด้วยทรงคาดไม่ถูกว่าจะได้รับอย่างไรเป็นผล.

ท้าววิกรมาทิตย์ทรงเรียกตาลและเพตาล ให้จัดหาราชยานคานหาม พร้อมพรั่งด้วยคนรถคชพาชี[๒๐] บริพารทหารเหล่าให้ครบจนทุกอย่าง ในทันทีสิ่งที่ทรงประสงค์ก็มีมาบริบูรณ์ พระองค์ขึ้นราชยานเสด็จด้วยราชมหานุภาพ ตรงไปสู่พระราชวัง พวกตาลและเพตาลตามเสด็จเป็นกระบวนท้าย พอถึง พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จออกรับ ยกชายพระภูษาทรงตอนบนขึ้นเฉวียงพระอังสา ประทับหย่งท่าเทพประณม ทูลขอโทษที่ล่วงเกินมาแต่ก่อน.

ท้าววิกรมาทิตย์ทรงประคองราชสัสสุระ ให้ดำรงพระองค์โดยปรกติ ตรัสเอาพระหฤทัย “มิบังควรทำอย่างนี้ ท่านก็เป็นพระบิดาของชายาข้าพเจ้า ชอบที่ข้าพเจ้าจะต้องแสดงความเคารพก่อน พระองค์ก็ไม่ได้ทำอะไรล่วงเกินถึงกับจะต้องมาขอโทษข้าพเจ้า ที่มาเฝ้าวันนี้ก็หมายจะมาตามหาพวกคนใช้ของข้าพเจ้าด้วย”

พระเจ้าแผ่นดินประหลาดพระหฤทัย- “ข้าแต่พระองค์ ! บรรดากษัตริย์ในโลกนี้ เป็นคนใช้ของพระองค์ทั้งสิ้น ใครเล่าที่พระองค์จะต้องพระประสงค์อีก?”

ท้าววิกรมาทิตย์- “ที่ทรงพูดนั่นเรื่องหนึ่ง ที่มาหานี่คือคนใช้ที่ข้าพเจ้าได้ทำเครื่องหมายเป็นตราไว้ที่ข้างหลัง” ตรัสพลางมีรับสั่งให้พวกตาลและเพตาลไปจับตัวพวกที่มีเครื่องหมายทาสในที่ประชุม พวกตาลและเพตาลจึงไปจับโอรสและบรรดาเขยของพระเจ้าแผ่นดินมา แล้วเลิกเสื้อให้เห็นเครื่องหมาย ที่ประชุมแลตะลึงไปตามกัน พระเจ้าแผ่นดินทูลขอโทษโอรสและเขย ในข้อที่ได้ประพฤติล่วงเกินไปแล้ว และทูลว่าที่ทรงทำโทษให้มีเครื่องหมายไว้ที่หลัง ก็พอจะรู้สึกเข็ดหลาบเป็นแน่แท้.

ท้าววิกรมาทิตย์ทรงยกโทษให้ เพราะพอพระหฤทัยเท่าที่ได้ทรงทำมาแต่เดิมแล้ว พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองนี้ต่อไปอีกสองสามราตี ทูลลาพระสัสสุระพาพระชายาคืนสู่นคร.


[๑] ท้าววิกรมาทิตย์ กษัตริย์ครองนครอุชชยินี ในโบราณสมัยราว ๑,๙๐๐ ปีล่วงแล้ว ชาวอินเดียนิยมนับถือว่าเป็นมหากษัตริย์อันประเสริฐ ทรงเดชานุภาพ ดำรงมั่นในทศพิธราชธรรม รัชกาลของพระองค์เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ บรรดานิยายนิทานต่างๆ ชาวอินเดียมักเกณฑ์ให้ท้าววิกรมาทิตย์เป็นนายโรงแทบทุกเรื่อง ตามตำนานว่า โปรดในการปลอมพระองค์เสด็จประพาส ณ ที่ต่างๆ พูดทางพงศาวดาร ท้าววิกรมาทิตย์มีเรื่องที่รู้ได้น้อยไม่แน่นอน, ทางตำนานมีเรื่องราวพิสดารแปลกๆ : ใน Dowson’s Classical Dictionary of Hindu Mythology etc. หน้า ๓๕๖ กล่าวว่า ‘ท้าววิกรมาทิตย์เป็นโอรสท้าวครรทภิล’ ใน Burton’s Baital Panchisi, Memorial Edition ว่า ‘เป็นโอรสของท้าวคนธรรพเสน’ ใน Kathasaritsagara, Trans. By C.H. Tawney เล่ม ๒ หน้า ๕๖๓ มีพิสดารออกไปว่า ‘เป็นโอรสของท้าวมเหนทราทิตย์ผู้ครองเมืองอุชชยินี เหตุเพราะครั้งหนึ่งทวยเทพพากันไปเฝ้าพระศิวะ ร้องทุกข์ว่า จับเดิมแต่พระวิษณุอวตารลงไปปราบปรามอสูรเหล่าร้ายราบคาบแล้ว บัดนี้เกิดมีพวกมเลจ์ฉะ (คือคนป่าเหียรก์ทั้งหมดนอกจากอารยัน) ก่อความเดือดร้อนราวีฤษีชีพราหมณ์ ไม่มีใครปราบปรามได้ พระศิวะจึงมีเทวโองการให้เทพตน ๑ ในคณะ (กองมหาดเล็กของพระศิวะ) ชื่อ ‘มาลิยวัต’ จุติไปเกิดเป็นโอรสท้าวมเหนทราทิตย์ ประทานพรให้เป็นใหญ่ใน ๗ ทวีป มีอำนาจเหนือพวกรากษส, ยักษ์, ไพตาล ปีศาจ, ฯลฯ ท้าววิกรมาทิตย์ทรงอานุภาพเป็นที่เกรงขามกันมาก เพียงใครถูกรากษสหรือยักษ์ปีศาจทำร้าย ให้ออกพระนามท้าว พวกเหล่าร้ายตกใจหนีไปเอง (เทียบกับท่านสุเลมันในทสมนตรี) มีฤทธิ์จนกระทั่งเขียนรูปศัตรูแล้วเอาพระแสงฟันรูปเท่านั้น ศัตรูก็ตาย’

[๒] Principal Minister = อัครมหาเสนาบดี.

[๓] Kotwal = หัวหน้าตำรวจ English Notes P.67 L. 3 by N.B. Godabole B.A. ในหิโตปเทศ ของนารายณบัณฑิต.

[๔] Principal Merchant = หัวหน้าพ่อค้า

[๕] การข้ามคน ถือเป็นการสบประมาทอย่างอุกฤษฏ์

[๖] ให้สัญญา ๓ วาร เป็นอันว่ามั่นดีแล้ว : ผู้สัญญาไม่กล้ากลับคำ

[๗] สวยมพร เป็นจารีตเลือกคู่ของพวกสกุลกษัตริย์ เพราะเห็นว่า “ลางเนื้อชอบลางยาไม่ว่าได้ ‘ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่;’ คำโบราณท่านว่าไว้เป็นครู, พิเคราะห์ดูให้ต้องทำนองใน” –สังขทอง

สวยมพรนี้ ตามที่เข้าใจกันตื้นๆ อย่างไทย มักจะนึกว่าเหมือนกันกับคำว่า วิวาห หรือ อาวาห แต่ที่แท้ไม่ใช่เลย เปนการเลือกคู่ อย่างนางรจนาทิ้งพวงมาลัยนั้นคือสวยมพรแท้ เมื่อจะแปลคำนั้น ‘ส๎วยํวร’ ก็ว่า ‘เลือกตามใจ’ วิวาหอาวาหต่างหาก” – วชิรญาณวิเศษ ฉบับปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ เดือนเมษายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๙ หน้า ๓

[๘]

เมื่อนั้น พวกเหล่าท้าวพญาทั้งหลาย
ต่างองค์กระหยิ่มยิ้มพราย ให้กระสันมั่นหมายวุ่นวายใจ
บ้างหยิบผ้ายกทองนุ่งลองดู “ใคร ๆ เห็นไม่สู้รูปกูได้
พรุ่งนี้มิคนหนึ่งก็คนไร จะจงจิตพิสมัยเป็นมั่นคง”
บ้างนั่งตรึกนึกหาอุปเท่ห์ “จะทำด้วยเสน่ห์ให้ลุ่มหลง
เห็นจะรุมรักเราทั้งเจ็ดองค์” คิดทะนงเปรมปริ่มกระหยิ่มใจ
ลางองค์ถือมั่นโดยปัญญา “วาสนาหลังส่งแล้วคงได้
สุดแท้แต่กุศลสร้างไว้ จะเดือดเรื้อร้อนใจไปไยมี?”
บ้างเรียกหาหมอดูมาจับยาม ให้ทายตามชตาราศี
“จะสมคะเนหรือไม่ในพรุ่งนี้?” แต่เซ้าซี้ซักไซร้ไม่นิทรา
ครั้นรุ่งแสงสุริยใสไตรตรัจ ทั้งร้อยเอ็ดกษัตริย์ทรงภูษา
สอดเครื่องประดับระยับตา แต่งกายาโอ่อวดประกวดกัน
บ้างถือห่อบุหงา, ทัดยาดม, ผ้าห่มชุบน้ำกุหลาบกลั่น,
ต่างองค์กรายกรจรจรัล พากันเข้าไปในวัง -- สังข์ทอง

[๙] ปลาบปลื้ม, ไม่ใช่ ปลาด = แปลกใจ

[๑๐] คือราชิณี พูดกันไปพูดกันมา ‘ชิ’ หายไปเป็น ‘ราณี’ เช่น ภาษาไทยเรา ‘พระหทัย’ หรือ ‘พระหฤทัย’ พูดหนักเข้า ‘ห’ หรือ ‘หฤ’ หายไป เหลือแต่ ‘พระทัย’

[๑๑]

ครั้นถึงจึงเที่ยวเกี่ยวแฝก ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงมี่
บ้างกล่อมเสาเกลาฟากมากมี ปลูกกระท่อมลงที่ท้องนา
แล้วปัดปูเสื่อฟูกผูกมุ้งม่าน หม้อข้าวเชิงกรานตุ่มน้ำท่า
ทั้งปลูกผักฟักแฟงแตงกวา จอบเสียมมีดพร้าหาพร้อมไว้ -- สังข์ทอง

[๑๒] อันนประสาน - พิธีให้เด็กกินข้าวเป็นครั้งแรกแต่เกิดมา

[๑๓] เบงคลี-Poquiraj = ม้าวิเศษรู้จักพูดภาษามนุษย์ [ปักษี แปลว่า ‘สัตว์มีปีก’ แต่ในที่นี้กลายเป็นม้า พอเทียบกับ ‘พาชี’ ของเราได้ เพราะ ‘วาช’ แปลว่า ‘ปีก’, พาชี = ‘สัตว์มีปีก’ หมายความว่า ‘นก’ แต่เราใช้กันโดยมากว่า ‘ม้า’]

[๑๔] ตาลและเพตาล; เพตาล-คือภูตที่เข้าสิงศพ มีเรื่องพิสดารใน Burton’s Baital Panchisi, ตาล-คือเพตาลนั่นเอง ตัด ‘เพ’ ออกเสีย, เพราะความเชื่อของแขกในเรื่องผีๆ มั่นในสันดาน เลยเกิดเป็นสัตว์ ‘ตาล’ อีกพวกหนึ่ง, แท้จริงก็ ‘เพตาล’ ตัวเดียวกัน.

[๑๕] การมีรอยแผลซึ่งถูกนาบด้วยเหล็ก ถือว่าเป็นเครื่องหมายของทาสหรือผู้ร้าย

[๑๖] ‘แล้วว่าอย่าพักประดักประเดิด เอาไปเถิดคนละตัวตามได้ ถ้าจะต้องการเนื้ออีกเมื่อไร อย่าเกรงใจจงออกมาบอกเรา’

[๑๗] เบงคลี-‘มาณิก;’ สํ-‘มาณิก๎ย;’ มักแปลว่า ‘ทับทิม’ หรือจะเป็นพลอยวิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไทยเรียกว่า ‘บุษราคัม’ ก็ได้; มีค่าควร ๗ สมบัติกษัตริย์.

[๑๘] ตอนต้นไม่ปรากฏว่าท้าววิกรมาทิตย์ปลอมพระองค์โดยสวมรูปวิเศษ หรือบิดเบือนกายได้

[๑๙]

“ทรงเอยทรงฤทธิ์ ชอบผิดจะรับใส่เกศี
แม้นไม่เมตตาจะฆ่าตี น้องนี้จะสู้ม้วยมุด
พระสวม......ร้ายขายหน้าเมีย จะชิงเอาเผาเสียให้สิ้นสุด
ถึงพระเรี่ยวแรงจะแย่งยุด, ผิดชอบแขนหลุดไม่วางมือ” -- สังข์ทอง

[๒๐] สํ. ‘วาชิน์;’ คือที่ไทยเราเรียก ‘พาชี’ = ‘ม้า’ นั่นเอง ‘อร๎วา คํธโร๎ว ศ๎ว สัปติร๎วาชี ตุรํคมัสตุรค; ตาร๎กโษ๎ย หริส๎ตุรํโค ยุยุ รุก์โต โฆฏโก หโย วาช: || ๒๘๑ ||’ (ศัพท์ม้าทั้งนั้น) - หลายุธ กัณฑ์ ๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ