ครั้นเพลาบ่าย ณ วันแรม ๑๑ ค่ำนั้น กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพและกรมหมื่นเสพภักดีก็เสด็จมาเฝ้ากรมพระราชวังบารฯ และกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ณ พระตำหนักตึก ขณะนั้นมีพระราชบัณฑูรตรัสปรึกษาเป็นความลับแล้วกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี และวางผู้คนไว้พร้อมเพรียง จึงให้กุมเอากรมหมื่นสุนทรเทพไปจำไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม ให้กุมกรมหมื่นจิตรสุนทรไปไว้ ณ ตึกพระคลังวิเศษ และคุมกรมหมื่นเสพภักดีไปไว้ ณ ตึกพระคลังศุภรัต แล้วตรัสสั่งเจ้าอาทิตย์ว่า

“เขาทำแก่พระบิดาเจ้าฉันใด ก็จงกระทำตอบแทนเสียฉันนั้น”

ครั้นถึง ณ วันแรม ๑๓ ค่ำ จึงมีพระบัณฑูรสั่งให้ลงพระราชอาญาแล้ว สำเร็จโทษเจ้าสามกรม ณ พระคลังพิเศษแห่งเดียว และกรมหมื่นสุนทรเทพนั้นพระทัยอ่อน ร้องไห้วิงวอนผัดผ่อนเพลาไป แต่กรมหมื่นเสพภักดีนั้นพระทัยองอาจ มิได้ย่อท้อต่อความตาย รับสั่งให้สติเจ้าพี่ว่าจะกลัวตายไย ธรรมดาเกิดมาในมหาประยูรเศวตฉัตรดังนี้แล้ว ใครจักได้ตายดีสักกี่คน และกรมหมื่นจิตรสุนทรนั้นทรงนิ่ง มิได้ตรัสประการใด จึงเจ้าอาทิตย์ก็ตรัสสั่งให้ลงท่อนจันทน์สำเร็จโทษเจ้าสามกรม แล้วให้เอาพระศพทั้งสามไปฝังไว้ ณ วัดโคกพระยาตามโบราณราชประเพณี

ครั้นถึง ณ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายจึงให้สั่งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชมไหสุริยสมบัติ สืบสันตติวงศ์ดำรงพิภพกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาฯ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งทหาร และปูนบำเหน็จบรรดาผู้มีความดีความชอบโดยทั่วถึงกัน

แต่การก็หาได้เป็นปกติเรียบร้อยมิได้ ทั้งนี้เมื่อสิ้นเจ้าสามกรมอันคิดจักก่อการร้ายแก่แผ่นดินแล้ว ผู้อื่นก็เกรงพระบรมเดชานุภาพและราชอาญา แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐาซี่งลอบลาผนวชเมื่อในพระบรมโกศทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคตนั้น ได้ตั้งพระองค์เป็นอิสระ ขึ้นประทับบนพระที่นังสุริยาศน์อัมรินทร์ พร้อมด้วยข้าราชการทั้งเก่าใหม่ และแม้ข้าวของเจ้าสามกรมที่สูญชีพนั้นก็มาฝักใฝ่อยู่เป็นอันมาก ทรงสำแดงท่วงทีเสมือนเป็นพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์ครองพระนครศรีอยุธยาด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

การนั้นดำเนินมาหลายวัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเจ้าอุทุมพรก็เกรงพระทัย มิอาจทรงว่ากล่าวประการใด ด้วยทรงเกรงสมเด็จพระชนนีพันปีหลวงด้วยร่วมพระอุทรเดียวกัน ก็หนักพระทัยนัก เพราะทรงเกรงข้าทหารทั้ง ๒ ฝ่ายจักเกิดแตกแยกสามัคคี แล้วบ้านเมืองจักเป็นจลาจล จึงทรงคอยโอกาสอยู่ ครั้นถึงแรมซึ่งเผอิญเป็นปีครบพระชันษาจักทรงผนวช สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ทรงถวายราชสมบัติแก่พระเชษฐากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วก็ทูลลา เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งศรีสมรรถไชย เป็นขบวนพยุหยาตราแห่ออกไปทรงผนวช ณ วัดเดิม แล้วเสด็จมาประทับ ณ วัดประดู่ พระองค์เสด็จอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๐ วัน ครั้งนั้นบรรดาทหารและข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ตามเสด็จออกอุปสมบทเป็นอันมาก

และในเดือน ๘ ข้างขึ้นนั้น ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงก็ให้ตั้งการพระราชพิธีราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทอีกครั้งหนึ่ง อัญเชิญสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชขึ้นผ่านพิภพ เสวยมไหสุริยสมบัติสืบต่อไป ถวายพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชามหาอดิศร บวรสุจริตทศพิธรรมธเรศเชษฐโลกานายกอุดม บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ครองกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา และในปีขาลสัมฤทธิ์ศกนี้มีพระราชพิธีราชาภิเษกถึง ๒ ครั้งเนื่องๆกันไป

สืบมาประมาณ ๓ วัน นับแต่พระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธก็ทรงคิดถึงพระองค์ว่าเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จึงเกรงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจักทรงรังเกียจไม่ชุบเลี้ยง ก็จะพลอยให้ชีวิตเป็นอันตรายเยี่ยงเจ้าสามกรมนั้น จึงเข้าเฝ้ากราบทูลถวายบังคมลาออกทรงผนวช ก็ทรงอนุญาต แล้วจึงไปผนวชอยู่ ณ วัดกระโจมเหนือ พระราชวังจันทรเกษม อันเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชซึ่งดับสูญพระองค์ก่อน

พระตำหนักท่านก็เงียบเหงาเยือกเย็นนัก แม้เพียงจากไปพระองค์หนึ่งทรงผนวชเสีย ก็เสมือนพระตำหนักนั้นจักสิ้นบารมีของเจ้าแล้ว ทั้งมหาดเล็กข้าหลวงก็อีกหลากหลาย ต่างพากันออกอุปสมบทตามเสด็จ ด้วยเกรงแก่ราชภัย เพราะขณะนี้บรรดาข้าหลวงของเจ้าสามกรมต่างเข้าสวามิภักดิ์ โดยเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อมีพระราชโองการโปรดให้ตั้งกรมหลวงเทพพิพิธมนตรี พระราชมารดาเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ แล้วจึงโปรดตั้งเจ้าอาทิตย์เป็นกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร

และนายปิ่นผู้พี่เจ้าจอมเพ็งและเจ้าจอมแมน อันเป็นพระสนมเอกนั้น ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก ส่วนนายฉิมผู้น้อง ให้เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ ทั้ง ๒ คนนี้เข้าออกในพระราชวังได้ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีผู้ใดบังอาจว่ากล่าว และบรรดาข้าทหารของเจ้าสามกรมก็มาฝักใฝ่อยู่เป็นอันมาก จึงขุนนางข้าราชการเก่าทั้งทหารพลเรือนต่างก็มองเห็นภัยตัวจึงพากันหลีกลี้ แม้มีอุปสมบทก็ถวายบังคมลาออกจากราชการเสียเป็นอันมาก

นับแต่กรมหมื่นเทพพิพิธทรงผนวชที่วัดกระโจมมิกี่วัน และมหาดเล็กบ้าง บรรดาพระตำหนักน้อยใหญ่ที่ประทับพระองค์โอรสธิดาก็สงัดเหงาอยู่ ทั้งว้าเหว่และหวาดภัยอยู่ตามกันด้วยอ้างว้าง แม้เหล่าทหารประจำวังก็สิ้นแล้ว เหลือแต่ข้าเดิม ไพร่สมกรมหมู่มิกี่คน กระท่อมปลายสวนท้ายเขตวังวันนี้ก็หับสนิทในเมื่อบ่าย

ออกหลวงกลาโหมก็เสมือนบุรุษที่ถูกทอดถอนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงชุบเลี้ยงก็ถวายราชสมบัติคืนไปทรงผนวชเสีย แม้กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งรับสั่งเกลี้ยกล่อมไว้ ก็หลีกลี้หาวัดอยู่ตามกัน กระนี้ก็ท้อน้ำใจตัวและได้ตรึกมาแล้วหลายวัน จึงเชิญสาวแม่ยมโดยข้าหลวงมาสู่ชายสวนสนทนาใกล้กระท่อม

“ยมโดยเอ๋ย ออกเดือนบัดนี้ก็เสมือนจะสิ้นวาสนาแล้ว จึงใคร่จักบอกแม่ให้รู้ไว้ เพลานี้สมเด็จในกรมและมหาดเล็กทั้งหลายเหล่านั้นก็หันหาวัดสิ้นแล้ว เพราะต่างเกรงราชภัยอยู่ด้วยกัน และพี่นี้ก็มีมลทินเมื่อคราวจับเจ้าสามกรมนี้ได้ประหารข้าเขาเสียอีกก็มากหลาย จึงบัดนี้ข้าของท่านทั้งสามกรมนั้นก็ฝักใส่ทางสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ราชาภิเษกพระองค์ใหม่ จึงคิดเกรงแก่อาญาข้านัก ก็ใคร่จะอุปสมบทเสีย คิดเอาศาสนาเป็นที่พึ่งสืบไป ยมโดยเอ๋ย เมื่อแรกทูลกระหม่อมแก้วยังทรงพระบารมีอยู่ ออกเดือนพี่นี้ก็คิดว่าสองเราคงจักได้สุขสักวันหนึ่งในเมื่อข้างหน้า จึงเจตนายมโดยไว้ ครั้นกาลมาแปรผันไปเสียเช่นนี้เล่า ก็สุดสงสาร แม้จักสุดรักอาลัยแม่ยมโดย ก็ยังมีอีกหัวใจหนึ่งที่เป็นห่วงว่ายมโดยแม่จักยากนัก จึงหักหัวใจออกเดือนนี้ ขอเข้าวัดวาอุปสมบทไปตามเพลงกรรมและวาสนาซึ่งกระทำไว้”

“พี่เดือนจักหนีบวช” สาวข้าหลวงออกปากสะอื้น หัวใจก็หู่แห้ง ยิ่งว้าเหว่เกินมหาดเล็กทหารอื่นสักร้อยซึ่งหนีลาไปอุปสมบท แล้วก็รำพันเปรยว่า “พี่เดือนจะออกบวช ทิ้งยมโดยไปกระนี้ พ่อก็รู้แล้วว่าอยู่ในระหว่างเภทภัยทั้งพระองค์หญิง ผิว์เขาจักแกล้ง แล้วไหนเลยจักพ้นมือเขาด้วยความอาฆาต”

“กระนั้นมิเป็นไรหรอก ยมโดย เพราะเมื่อชีวิตพี่ยังแล้วก็พอจะแก้ไข ก็หากขืนครองฆราวาสอยู่นี้สิ หากเขาหาเป็นอาญาแผ่นดินเร่งประหารเสียและจะยิงร้ายมิเห็นกัน อนึ่ง เสด็จในกรมก็ทรงผนวชแล้ว พี่นี้จึงวิตกด้วยโทษเก่าตัว เพราะพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระราชทานอภัยก็เสด็จทรงผนวชเสีย หากเขาจักคิดเป็นผิดร้ายฟื้นความขึ้นมาอีก ไฉนจักพ้นเล่า”

ข้าหลวงพระองค์หญิงก็พลอยวิตกเห็นน้ำใจ และเกรงผิดนั้นด้วย

“พี่เดือนจักมิเฝ้าพระองค์หญิงเสียก่อนหรือ” ยมโดยเจ้าถามทุกข์ร้อนรำพันว่า “เสด็จในกรมทรงผนวชแล้วก็องค์หนึ่ง ตลอดวังนี้ว้าเหว่อยู่ พี่เดือนก็จักพลันไปเสียอีกคงน่ากลัวนัก”

“มิเป็นไรหรอก ยมโดย เมื่อมีแต่ผู้หญิงแล้ว เขาคงหาประทุษร้ายให้ลำบากไม่ อนึ่ง พระองค์หญิงนั้นก็เจตนาอยู่ว่าในวันพรุ่งจักไปเฝ้าทูลลา”

“คงทรงกันแสง” ข้าหลวงพูดขึ้นเปรยๆ ชำเลืองออกหลวงผู้ไว้บุญแล้ว ทั้งนึกความหน้าและความหลังก็สลดน้ำใจตัว ทั้งคาดไปต่างๆประการ ด้วยศรีอยุธยาเปลี่ยนเจ้าแผ่นดินแล้วอีกครั้งหนึ่ง ก็น่าจักบังเกิดการยุ่งแบ่งพวกแบ่งก๊ก มิปรองดองด้วยแล้ว ก็พลันวิตกสำนึกตัว คิดถึงภัยเบื้องหน้าจักมีมาถึง และย้อนถามกลาโหมว่า “พี่เดือนจักตกลงไปวันนี้หรือเมื่อไหร่แน่ และอยู่อุปสมบทวัดใดเป็นที่แน่”

“เมื่อแรกก็เจตนาอยู่ จักทูลลาเสียวันนี้ แต่เกรงจะกะทันหันนักจึงต้องเลื่อนเพลานะ ยมโดย สักพรุ่งนี้ในบ่ายจึงจักเฝ้าพระองค์หญิงทูลให้รู้ แล้วก็จะข้ามวัดแม่นางปลื้มเลยทีเดียว”

“เอ๊ะ ไฉนมิบวชวัดกระโจมกับเสด็จในกรมเล่า จักได้สะดวกด้วยอาหารและอื่นๆ ผิว์ยมโดยจักไปเฝ้าท่านก็จะได้แวะเยี่ยมเยือน”

กลาโหมถอนใจใหญ่

“ยากนักหนา พี่สิจักหนีภัย แต่เมื่อกลับไปบวชร่วมวัด ล้วนแต่ทหารเสด็จฯ ทั้งสิ้น จักก่อให้เขาเกิดสงสัยหนัก สู้ปลีกไปเสียตามเรื่องเช่นนี้ดีกว่า ยมโดยเอ๋ย ชาตินี้เสมือนสองเรานี้เกิดมารักกันแต่หัวใจ มิเหมือนหนุ่มสาวเขาอื่นซึ่งสมปรารถนาดังนัดกันเกิดฉะนี้ และพี่จึงคิดว่าจักขอหาวัดเป็นที่พึ่งพอระยับใจและทุกข์ของตัวไปเพียงชั่ววันหนึ่ง และที่ใคร่พบหาในวันนี้ก็หมายจะบอกกล่าวอำลาแก่ยมโดย แม้บุญสองเรายัง แม้ยมโดยแม่คอย ผิว์สิ้นเคราะห์กรรมพี่บ้านเมืองเป็นปกติ ก็คงจักได้พบกันอีก”

“จักคอยพี่เดือนตราบสิ้นชีวิตยมโดย”

เจ้าตอบน้ำตาคลอ ฟังคำหนุ่มชู้พ่อกลาโหมรู้ตลอดว่ากาลบัดนี้ ซึ่งทั้งทหารและเจ้านายที่หนีผนวชก็ด้วยเกรงภัยแผ่นดินอยู่ด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องห่างเหินเนิ่นนานนัก แต่ครั้งต้องจากกัน และก็จะจากกันเสียอีกในฉับพลันทันใด จึงกลาโหมก็สุดจักอดยั้งน้ำใจรักและอาลัยได้ จึงประคองแม่ข้าหลวงไว้เกือบจะจาก และเห็นใจเจ้าหนุ่มด้วยตั้งแต่แรกรักอยู่กับสมเด็จพระบัณฑูร เป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ก็มิได้ก้ำเกินดูแคลนเลย

ครั้นเพลาสมควร แม่ข้าหลวงก็รีบอำลากลับ

ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสวยราชสมบัติและออกทรงผนวชแล้ว ทั้งบรรดาข้าราชการทหารและพลเรือนที่ตามเสด็จ บรรดาบ้านช่องและพระตำหนักก็อ้างว้างเงียบเหงาด้วยปราศจากพ่อเรือนซึ่งเกรงแก่ภัยแผ่นดินทั้งหลายจึงละเพศฆราวาสเสีย และวัดเหนือพระราชวังจันทรเกษมอันเป็นที่ประทับสมเด็จพระมหาอุปราชองค์ก่อนซึ่งดับสูญนั้นอยู่ฟากน้ำคูขื่อหน้า คือวัดกระโจมอันเป็นที่ทรงผนวชซของกรมหมื่นเทพพิพิธกับข้าราชบริพารนั้น มักจะมีผู้ด้อมผู้มองคอยสังเกตอยู่เสมอมา นับแต่เสด็จออกทรงผนวช

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ครั้นรับมอบราชสมบัติแล้ว และกระทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติผ่านพิภพเสวยมไหสุริยสมบัติผ่านพระนครกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดให้ตั้งนายปิ่นผู้พี่เป็นเจ้าจอมเพ็ง เจ้าจอมแมนพระสนมเอกนั้น เป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์จางวางในกรมมหาดเล็ก และตั้งนายฉินผู้น้องเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ แล้วสองพี่น้องพระยาราชมนตรีและจมื่นศรีสรรักษ์เข้าออกในพระราชวังได้ทั้งกลางวันและกลางคืน และคบหาทำชู้ด้วยนางข้างในเป็นหลายคน แล้วเจรจาหยาบคายประมาทหมิ่นผู้ใหญ่ให้ได้รับความเจ็บแค้น

จึงเจ้าพระยาอภัยราชาก็มีความโทมนัส จึงได้ลอบปรึกษาด้วยพระยายมราช พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา กับนายจุ้ย นายเพ็งจันทร์ อันเป็นคนสนิทไว้ใจว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงพระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์ ทั้งสองนี้ มีใจกำเริบกระทำการหยาบช้าต่างๆ มิช้าบ้านเมืองจักเกิดเป็นจจลาจลแน่แท้ อนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ตรัสมอบราชสมบัติแก่พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่ทรงผนวช มิได้มอบแก่พระองค์นี้หามิได้ จึงตรัสทำนายไว้ว่า ถ้าจะให้พระองค์นี้ได้ครองราชสมบัติ บ้านเมืองก็จักเกิดพิบัติฉิบหาย ควรเราจักคิดกำจัดเสีย แล้วเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงผนวชนั้นให้ลาผนวชมาเสวยราชสมบัติดังเก่า บ้านเมืองจึงจะเป็นสุข

พระยายมราชและพระยาเพชรบุรีต่างก็มีความเห็นว่า ซึ่งจะคิดการครั้งนี้เป็นการใหญ่ จำจักต้องไปกราบทูลปรึกษากรมหมื่นเทพพิพิธดูก่อนด้วย เธอเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ย่อมจักหยั่งซึ้งด้วยการดีการชอบ ทั้งมีข้าทหารล้วนคนดีมีฝีมือใช้สอย แม้ว่าร่วมการแล้วก็คงจักสำเร็จเป็นแน่ เจ้าพระยาอภัยราชาก็เห็นชอบด้วย จึงต่างกำหนดนัดหมายเพลา ซึ่งจักลอบออกไปวัดกระโจมเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่ก็จักเลยไปวังเสียก่อน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ