๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงลาผนวชมาบัญชาการศึกมีดำรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพขึ้นใหม่อีก เพื่อให้ออกไปตั้งรับศึกนอกพระนครประมาณพลสองหมื่น ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นแม่ทัพใหญ่ถืออาญาสิทธิ์ และให้พระยายมราช พระยารัตนาธิเบศร์ และพระยาราชวังสัน เป็นแม่ทัพยกออกไปตั้งค่ายรายสกัดอยู่ตามลำน้ำเอกราช ณ ทุ่งตาลาน หลายค่าย คอยศึกพม่าอยู่

ครั้นเพลาแดดสายส่องทุ่งทิวไม้เห็นกระจ่าง จนปลายป่าและลำน้ำเอกราช ความเหงาสงัดเมื่อคืนจนตลอดมารุ่ง ทั้งความเปล่าเปลี่ยวของลำน้ำและทุ่งหว้าตาลานก็พลันเกิดอึงคะนึงแล้ว เสียงกลองศึกที่ข้ามน้ำ เสียงปืนและทวยหาญโห่สนั่น สีเสื้อยศและกลดกั้นบอกตำแหน่งแม่ทัพพม่า และทิวพลอันเคลื่อนเข้าสู่ค่ายใหญ่ เจ้าพระยามหาเสนา แล้วเกราะค่ายและฆ้องกลองก็เร็วรัวเร่งทหารออกรบศึก ปืนค่ายไหมกวาดเป็นกำลังหนุน กระทั่งทหารไทยออกตั้งแล้วกลางแปลง บัดใจศึกกลางแปลงก็บังเกิดเป็นตะลุมบอนถึงอาวุธสั้น ศพว่ายกันเป็นคู่เป็นหมู่ ทุ่งตาลานอันเปรียบด้วยป่าช้าใหญ่ยามนี้หากจะมีจิตดังมนุษย์รำลึกความได้เล่า ก็คงจะอนาถนัก ทหารไทยวอดแล้ว ด้วยน้อยตัวกว่า แต่ถึงกระนั้น มานะสู้ของทหารก็มิได้ระย่อ ยิ่งเห็นเพื่อนกันตายก็ยิ่งอยากให้ตัวตายเสียตามเพื่อน มากเท่ามาก หาญเท่าหาญ เมื่อล้ำเข้ามาแล้ว มิหัวก็สะพายแล่ง จะต้องเป็นศพลงเกลื่อนดินเสมอกัน

อา ศรีอยุธยา ค่ายเอกเกือบจะป่นแล้ว พม่าข้าศึกทัพมังฆ้องนรธาแบ่งตีจะเข้าโอบระดมตี และแบ่งเข้าระดมตีทั้งค่ายอื่น จึงพระยายมราชแม่ทัพข้างฝ่ายปีก อีกตั้งรับรายถัดมาก็มีคำสั่งเรียกทหารหน้าคันธงพระบัณฑูรที่ได้คุ้นแก่ฝีมือและส่วนตัว กวักมาแล้วก็ปราศรัยด้วยคำเดิมแต่ก่อน

“หลวงกลาโหมศึกหนักแล้ว จะว่าอย่างไร”

“เข้าตีเถิด พระคุณ” ทหารยอดฝีมือคู่พระทัยพระบัณฑูรตอบทันใด มือขยับคันธงกระวนกระวายนัก “ขืนรอช้า คอยที ข้าพระเจ้ากริ่งเกรงว่าค่ายท่านแม่ทัพจะเสียเชิงยิ่งขึ้น อ้ายเดือนขอถวายชีวิตเป็นประกัน หากธงพระยายมราชทรงสิงห์นี้มิปลิวชายอยู่กลางศึก ก็จงเอาหัวอ้ายเดือนเสียบหน้าค่ายประจานเสีย อย่าให้อัปยศแก่ข้าศึกเลย”

ท่านกลับหัวเราะเสียงพร่าปร่า

“รำลึกทูลกระหม่อมมิได้อยู่ใช้หลวงกลาโหมสมที่พระทัยตั้งไว้ แต่กลับประทานมาให้ฉัน จักให้ลุยหรือโอบ”

“ตัดให้แล่งกลางเถิดพระคุณ” ออกกลาโหมชี้ทิศทางพลที่กำลังตะลุมบอน “กองธงของทูลกระหม่อมก็มีครบอยู่ทั้งห้า ขอให้ได้ปักด้ามธงตรงโน้นเถิด”

แล้วออกพระยอดทหารเหลือปีติน้ำใจ ธงพระยายมราชประจำตัวท่าน แม้จักอย่างไรก็ถึงการสมควรแล้ว ซึ่งเป็นโอกาสน้อย แต่ชายชาติทหารที่จะได้เห็นชายธงเข้าไปสะบัดล้ำแนวศึก อันนายธงเล่าก็ทหารยอดดีของพระบัณฑูร ซึ่งยากนักจักหาเหมือน จึงชักดาบควงด้วยอาชญา กล่าวแก่นายทหารคนธง

“หลวงกลาโหม ฉันจะตามธงไปทุกแห่ง เชิญทหารพระบัณฑูรไปปัก”

“พระคุณท่านล้นใจทหาร เพียงได้ปักแล้ว อ้ายเดือนได้กอดต้นธงตายก็ประเสริฐแล้ว” เดือนแหงนหน้าตอบ แล้วจึงชักดาบประทานของพระมหาอุปราช บอกสั่งทหารคู่ใจ หมู่แทนกับตามั่น ทั้งพลและนายภูบาลผู้สามิภักดิ์ “ทหารพระบัณฑูร ธงทัพของเรานี้จงนึกเสมือนทูลกระหม่อมท่านประทับอยู่ยอดธง อ้ายเดือนจะเข้าไปโบกเดี๋ยวนี้ โบกให้ปลิวทุกๆต้องลม โบกถวายเกียรติสมเด็จพระบัณฑูรท่านแม่ทัพประจำธง หากใครระย่อไซร้ ผู้นั้นมันก็มิใช่บุรุษ และทหารใต้ร่มธงของพระยายมราช ตามธงเถิด”

แล้วลมก็สะบัดชายโน้มธงบอกแก่ทัพหลังและซ้ายขวาเป็นสัญญาณว่าทัพพระยายมราชจะเข้าเล่นศึกให้รู้ทั่วกัน

บัดใจ ม้าก็เผ่นออกชายธงพระยายมราชประจำตัวปลิวไสวสะบัดชาย แล้วทหารกล้าพระบัณฑูรผู้วาสนามิส่ง ก็เชิญธงทัพนั้นปราดเข้าใส่ทัพมังฆ้องนรธาที่ตีโอบแล่นสกัดหน้านายทหารคนธงเช่นกัน ทหารล้อมหมู่แทนนายภูบาลและตามั่นก็ควบม้าเข้าชนทหารล้อมโฉมหน้าข้าศึกกระนี้เอง เพราะเชื่อบารมีนายกระนี้เองว่าพระเจ้าอลองพญาจะประเสริฐเป็นเอก จึงได้ห้าวหาญฮึกมาเหยียบทุ่งตาลานศรีอยุธยาอาณาจักร แม้ดาบจะหวดกันเป็นประกายชุลมุนนัก ฟันทหารห้อมลงก่ายกันเกลื่อนและลิ่วไล่นายธงที่ชักม้าแล่นหนีแต่คันธงพระยายมราชนั้นตรงปลิวชายหวนลมแจ้งแก่ทุกทัพว่า ทัพพระยายมราชหักศึกมาถึงนี่แล้ว ทัพอื่น ทั้งพระยารัตนาธิเบศร์และพระยาราชวังสัน ทั้งเจ้าพระยามหาเสนาแม่ทัพใหญ่ก็โอบเข้าตะลุมบอนพิฆาตเสียเกลื่อน น้ำใจไทยที่เห็นเพื่อนนอนเกลื่อนอยู่ เจ็บแค้นสาหัส เพราะถูกข่มเหงยกมารุนรานนั้นก็ยิ่งผยองขึ้น

กลองตะลุมบอนยังเสียงครึ้มทุ่งทั้งสองฝ่าย แดดอ่อนจนแดดกล้า ขบวนศึกนี้แบ่งปีกแบ่งกลางก็เข้าคลุกพิฆาตกันตลอดเพลา ทหารด้วยกันแล้วใครเล่าจะระย่อกัน ในเมื่อยังมีแรงรำดาบอยู่ได้ ตายังเบิกได้ มิโชกเลือดและเข้าตาให้มืดมน ถึงจะฟันจนดาบกุดหมด เหลือแต่ด้ามและมือเปล่า ก็สู้ทั้งมือเปล่า จนกว่าศึกจะถอยไปพ้นแดนศรีอยุธยานั้นแลจึงจะหยุดสู้

๑๐ เส้น และ ๒๐ เส้น กระทั่งกลับเข้ากลางศึกแล้ว นายธงทหารเก่าพระบัณฑูรก็ยิ่งเมาเลือด ถือใจเสมือนหนึ่งผู้มิได้เสพอาหารนาน จักอิ่มได้ก็เพราะหัวคนกลิ้งเกลื่อนเท่านั้น เลือดท่วมเท้าม้าเท่านั้นหรือ ธงนี้ได้ข้ามลำน้ำเอกราชไปสะบัดอยู่เหนือค่ายพระเจ้าอลองพญาเท่านั้นแหละ จะอิ่มจะหายหิวไปทั้งชาติตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แล้วก็แล่นเล่นสนุกด้วยฟาดฟันหัวมนุษย์ข้าศึกเป็นทางไป ทางธงที่หวนเล่นลมสู่ทางใด ทางนั้นก็เป็นเสมือนธารเลือดประกาศกับลำน้ำเอกราช ลำน้ำที่จะไม่ยอมขึ้นแก่ผู้ใดทั้งหลายอื่นทั้งสิ้น เยี่ยงเดียวกับน้ำใจไทยเจ้าของบ้านเกิด หัวกลิ้งก็เสมือนสวะที่มาลอยอยู่รกลำน้ำอันไทยได้ประกาศแล้ว

กรรมหลังและบาปอื่นได้สร้างไว้ร่วมกันแล้วไซร้ บาปนั้นและกรรมหลังแต่เก่าชาติโน้นก็ตามมาถึงไทย ทุกทัพทุกตัวทหารแต่นายถึงพล ต่างกัดฟันมานะเข้าตีทัพ รับศึกอันถอยร่นอนตกลำน้ำแล้ว ฟากตลิ่งกลาดเกลื่อนล้วนแต่ศพที่ถอยมิทัน ทั้งมังระราชบุตรและมังฆ้องนรธาแม่ทัพเอกก็ถอยไปยับเยินระย่อแก่ไทยเจ้าของบ้านผู้มารับแขก เชื้อเชิญเสียด้วยดาบเข้าประจัญบานเสียด้วยอาวุธ ก็พลันวาสนาชาตานั้นบังเกิดขึ้นโดยหาจักคาดถึงไม่ ศึกซึ่งข้ามน้ำเพียงทุ่งตาลานมานั้น เป็นทัพหลวงหลายหมื่นของพระเจ้าอลองพญาก็แปรขบวนโอบหนุนมาแต่โน้น ซ้ายและขวามากมายก่ายกองด้วยกำลังพลเพียงดังจักย่ำธรณีบ้านตาลานให้ละเอียดเป็นพันธุลี ทั้งเรี่ยวแรงทหารเล่าก็ยังเข้มแข็งมิได้ใช้แรงเลย เสียงโห่ร้องกลองศึกนั้นสะท้อนรับกันจนกลบเสียงอื่นเสียสิ้นแล้ว ก็เข้าร่วมทัพล้อมทหารศรีอยุธยาเสียสิ้นทุกด้าน

หอกซัดปลิวมาดั่งเม็ดฝนที่ตกหนัก ดาบโล่โตมรรับแสงตะวันแลพู่ปลายทวนนั้นขาวทุ่งประหนึ่งดอกหญ้าดอกลา ถึงกระนั้นไทยผู้ทิ้งค่ายถอยค่อยสู่ด้วยกำลังพลเกือบจะหนึ่งร้อยต่อหนึ่ง ก็อุตสาหะมาเข้าทุ่งวัดนนทรี แล้วอสัญกรรมอันควรจักสรรเสริญใส่ใจไว้แก่ทหาร ก็พลันบังเกิดแก่แม่ทัพเจ้าพระยามหาเสนา ในทุ่งท่ามกลางศึกด้วยหอกซัดของทัพมาที่กวดมาติดๆนั้น ต้องกายหลายต่อหลายเล่มเหมือนฝนฤดูนี้ตกลงเป็นคมหอก จนเหลือกำลังทานจึงพลัดจากคอช้างแล้วก็สู่อสัญกรรม เหล่าจตุรงคบาททหารล้อมก็พากันปลงใจสละชีพสู้ตายจนหมดทุกตัวคน

ธงพระยายมราชก็ล่าเรื่อยมา ทั้งรับและฆ่าฟันอยู่ทุกฝีดาบ ชำเลืองซ้ายเล่าแหลกแล้ว จตุรงคบาทของท่านเจ้าพระยาแม่ทัพ เบื้องขวาโน้น พระยาราชวังสันดูกิริยาแปรปรวนแก่ทัพ พระยารัตนาธิเบศร์ประหนึ่งมิใช่มิตรมาร่วมศึกเป็นชาติเดียวกัน ครั้นแล้วนายธงออกหลวงกลาโหมก็ล่ามาอีก ถอยมาด้วยสลดสังเวชใจ อ้า เพื่อนไทยกูเอ๋ย นับพันพินาศแล้ว สละชีพถมแผ่นดินบ้านเราเอง แม้จะพิฆาตเขาเกือบเรือนหมื่น แต่ก็เสียดายชีวิตไทยด้วยเรือนพัน

ครู่นั้น พระยายมราชแม่ทัพก็ครวญด้วยหอกซัดของผู้ชะล่าที่แล่นมาพุ่งใกล้ๆ เดือนจึงหวนม้าเข้าสกัด เมื่อชะล่าแล้วก็อย่ากลับกรุงพม่าอีกเลย แขนขวาที่พุ่งก็ตัดศีรษะ บั้นสะบัดขึ้นไปให้สาใจ ปลิดหัวเสีย แล้วจึงเร่งทหารพระบัณฑูรและกองทะลวงฟันเข้าล้อมพระยายมราชซึ่งต้องหอกซัดอีกหลายเล่มล้วนฉกรรจ์ รบรับหาล่าถอย เร่งรีบกระทั่งศึกตามมิทันแล้วจึงเข้าแฝงผสมทัพพระยารัตนาธิเบศร์ เพราะถึงหากจะถอยเร่งรีบแต่ส่วนกำลังพลก็ยังดีอยู่ ทั้งได้ผสมเป็นกำลังใหญ่ พอจะได้แรงคนมาก

มิทันได้ล่าข้ามแม่น้ำเข้าพระนคร ทัพที่ต่างต้องเสียยับเยินด้วยกัน ก็มิเป็นขบวนแล้ว เหล่าแม่ทัพนายกองนั้นได้แต่ปัดป้องรักษาชีวิตแต่พอรอด ส่วนทหารห้อมและจตุรงคเสนา หมวดหมู่ก็ปนกันถอยมิเป็นล่ำสัน ถึงกระนั้นก็ดี ออกเดือนยังถือว่า ธงทัพเป็นประหนึ่งมิ่งขวัญทหาร และสูงศักดิ์ยิ่งกว่าประการได จึงได้ทรงอยู่เสมอ ผู้ใดใกล้ หากผิดไทยเป็นข้าศึกแล้วก็ต้องประหารเสียแล้ว ความคิดก็พลันบังเกิดขึ้น เพราะเครื่องหมายธงนี้ดังจะบอกแก่ข้าศึก ว่าแม่ทัพนายกองนั้นประจำอยู่แห่งหนใด จึงเตือนม้าเชิญธงออกห่างไป สันโดษกันเพียงทหารพระบัณฑูรคู่ใจอีกเพียงสี่ห้านายที่ตามติดมา รบรับมันแต่โดดเดี่ยว เพื่อลวงศึกให้ตามสังเกตผิดว่าแม่ทัพ

ครู่นั้น ขณะที่ล่ามาเกือบจะถึงลำน้ำ ก็พลันเสียงทหารเบื้องหลังร้องขึ้น

“โน่น พ่อหลวงดูโน่น” ตามั่นชักม้าขึ้นเคียงแล้วชี้บอก “อ้ายหลวงภักดีกำลังจะสิ้นวาสนาอยู่โน่น”

นายธงพระยายมราชหันมองแล้วก็พลันใจหาย ศัตรูกู ยอดของศัตรูโลกนี้ ใครเล่าจักทำกูแค้นเหมือนเจ้าใยหลวงภักดีซึ่งร่วมทัพพระยาราชวังสัน มันตามประหารตามล้าง สุดท้ายเล่า หลวงภักดีก็เด็ดหัวใจกูไปแล้ว ยมโดยแม่ข้าหลวง ยอดหัวใจก็ไปร่วมเหย้าต้องบำเรอสุขแก่มันด้วยอำนาจ

“ฮือ กำลังถูกล้อม แย่จริง ทำไงล่ะ”

ตามั่นกลับหัวเราะ

“ปล่อยมันเถอะ พ่อหลวง อย่าช่วยงูพิษเลย มันจะแว้งเอาอีก”

“ผิดวิสัยทหาร” กลาโหมตอบห้วนๆ ตายังเพ่งอยู่ที่ร่างหลวงภักดีซึ่งเลือดท่วมกายจนจะสิ้นแรงอยู่แล้ว อีกเพียงครู่เดียว แม้เพลี่ยงพล้ำประการใดก็คงถึงกาลชีวิต แต่เลือดที่โชกกายหลวงภักดีนั้นเหมือนจะล้างแค้นอาฆาตในหัวใจทหารพระบัณฑูรให้ลืมแก่ความหลังอันเป็นเหตุส่วนตัวเสียสิ้น เพราะศัตรูอันยิ่งยวดร้ายกาจเกินหลวงภักดีนั้น คือพม่าข้าศึกผู้ไล่ล้อมฟันสามียมโดยแล้ว เดือนก็สุดจะทนดูเพื่อนไทยถูกล้อมฆ่าได้อีกต่อไป เดือนก็ร้องสั่งทหารเต็มเสียง “หักล้อมแก้หลวงภักดีออกมาให้ได้ ตามเร็ว ทุกคน เร็วซี”

ขาดคำ นายธงก็เตือนม้าเต็มแรง ธงพระยายมราชก็ปลิวถาเข้าสู่ชาวอังวะและรัตนสิงห์ ฟันคนที่อ้อมข้างหลังพับไป แล้วก็ตะโกนให้สติแก่ศัตรู

“ตั้งสติไว้ หลวงภักดี อ้ายเดือนจะช่วยอีกแรงหนึ่ง อย่าถอย”

ได้ยินเรียกชื่อตัวแว่วๆ ได้ยินบอกชื่อแว่วๆ ว่าชื่อเดือน ก็ยังแคลงใจ แล้วบัดใจหลวงภักดีก็เห็นทหารกล้าพระบัณฑูรโผนม้าขึ้นเคียงทะนงองอาจ

“หลวงกลาโหม โธ่ เพื่อนเอ๋ย”

“รุกมันเถอะ” เดือนกลับเตือนไปอย่างหนึ่ง “เมื่อเหนื่อยหนักจะสิ้นแรงจงถอยไปแอบหลังเสีย เร็ว เร็วซี หลวงภักดี อย่าห่วงอ้ายเดือนเลย”

ก็พอหลวงภักดีถูกปลายดาบพาดไหล่จนชักม้าซวนไป ข้าพระบัณฑูรที่รู้เห็นน้ำใจชั่วของหลวงภักดีจึงสวนด้วยด้ามคันธงต้องอกศัตรูจนชะงักม้า แล้วก็สะอึกม้าเข้าโดนพอชิดติดพัน จึงทหารข้าศึกผู้นั้นก็เหลือแต่กายนั่งม้าไม่มีหัว แล้วก็อีกหัวอีกหลายสะพายแล่ง ทั้งคันธงปลายแหลมก็พุ่งและรับดาบจนขาดทีละคืบละท่อนใกล้มือ แต่ทุกคนที่ฟันติดคันธงรับนั้นก็เสียไปทุกชีวิต แล้วชีวิตของหลวงภักดีผู้สิ้นแรงจะปกป้องก็ได้อาศัยผืนธงกับหมู่ทหารล้อมองค์พระบัณฑูร รบรับกำบังพาถอยมาตามสบายโดยหามีศัตรผู้ใดจะบังอาจล้ำตามมาไม่ กระทั่งถอยข้ามฝั่งน้ำพ้นเขตศึก

ทัพซึ่งล่าลาดเข้าพระนครนั้นมิเป็นหมวดเป็นกองเพราะแตกพลัดกระจายหมด สองทหารไทยซึ่งเป็นศัตรูกันกับหมู่ทหารเก่าของพระบัณฑูร ซึ่งถอยมาถึงฟากพระนครก็นับว่ายังเร็วกว่าผู้อื่นที่เดินเท้าและคอยหมวดคอยกองอยู่ กระทั่งทัพพระยาราชวังสันข้ามมา เดือนจึงชี้บอก

“โน่น ทัพพระยาราชวังสัน ลาก่อน หลวงภักดี”

“เดี๋ยวก่อนสิ หลวงกลาโหม” หลวงภักดียกอีก มือที่พอจะยกขึ้นไหว้เขาเพ่งยอดทหารพระบัณฑูรที่เขาทรยศตามล้างตามผลาญ สีหน้าไม่สบายแล้วก็ถามว่า “หลวงกลาโหมอยู่ที่ไหน”

“ฮื่อ บอกไม่ถูกหรอก หลวงภักดี เพราะพอพ้นโทษก็มาราชการศึกนี่แหละ ทำไมหรือ”

“อยากไปหา อยากขอพูดอะไรกับพ่อหลวงสักสองสามคำ” แล้วหลวงภักดีก็น้ำตาคลอ “ถ้าคนอื่น เขาก็ปล่อยฉันตายแล้วนะ หลวงกลาโหม ถ้าคนอื่น ฉันก็เป็นผีอยู่ฟากโน้นแล้ว”

“เอ๊ะ ทำไมเล่า หลวงภักดี”

“ฮึ ก็ฉันมันไม่ใช่คนน่ะซี พ่อหลวงรู้เรื่องยมโดยหรือเปล่าหรอก”

ทหารเอกสมเด็จพระมหาอุปราชนิ่งงัน วิสัยทหารอันเป็นยอดชายชาตรีนั้น แม้จักเหี้ยมหาญมุทะลุเข้าล้างชีวิตก็ชั่วแต่อริราชศัตรู หากน้ำใจแท้นั้นเล่า ก็ถือซื่อกตัญญู ทั้งเมตตาปรานีเสมอกัน อนึ่ง เพลานี้หลวงภักดีเล่าที่ช่วยชีวิตมาก็งอนง้อยกมือไหว้ เสมือนได้สำนึกชั่ว แค้นและอาฆาตแต่หนหลังก็พลันสิ้นไปจากหัวใจทหารออกกลาโหม คิดว่าจะปิดก็ป่วยการและจะต้องฟังหลวงภักดีเล่าให้แสลงใจต่อไปอีก จึงพยักหน้า

“ทราบแล้ว พระองค์หญิงทรงเล่าประทานให้ฟังแล้ว” เดือนตอบตามจริง เซาหลบตาหลวงภักดี แล้วฝืนยืนพูดเศร้าใจตัวเอง “มันเป็นคนละเรื่องกับศึกนะ หลวงภักดี เราก็ต่างฝ่ายเป็นทหารข้าแผ่นดินท่าน ถูกละ เรื่องหลังมันเป็นเรื่องใหญ่ของเรา ทั้งเจ้านายฝ่ายเรา ท่านคิดประหารกัน และใครเล่าจะมิรักเจ้านายตัว แต่ดูเถิด หลวงภักดีเอ๋ย ท่านทั้งสองฝ่ายก็สูญบารมีไปแล้วด้วยกัน เหลือแต่เรา อย่าว่าแต่จะทนดูข้าศึกมันประหารท่านเลย เพียงเห็นท่านถูกรุมล้อม อ้ายเดือนก็ยอมแลกชีวิต ไทยหรือจักนิ่งดูไทยให้ข้าศึกชาติอื่นเขามาฆ่าเล่นต่อหน้า ลืมเสียเถิด เรื่องนั้นของเรา”

ทั้งหมู่แทนและนายภูบาลหรือตามั่นเองก็นิ่งเงียบ เพราะตื้นตันด้วยเห็นน้ำใจทหาร แต่มีเสียงสะอื้นจากหลวงภักดีผู้กายชุ่มด้วยโลหิต แล้วพยุงร่างฝืนใจโดดจากหลังม้าโผเข้ากอดคอเดือนทั้งน้ำตาไหลพราก

“หลวงกลาโหม หากศรีอยุธยามีทหารเหมือนพ่อหลวงแล้วน้ำใจเป็นสามัคคีดังนี้แล้ว ศึกจักล่วงเข้าถึงทุ่งตาลานได้หรือ ถูกละ หลวงกลาโหม ฉันเคยแพ้ฝีมือและเห็นฝีมือพ่อหลวงนั้นหลายครั้งหลายหน แต่ใช่จะกลัวหรือเข็ดก็เปล่าทั้งสิ้น แต่เดี๋ยวนี้ หลวงภักดีแพ้ ยอมแพ้น้ำใจท่านแล้ว รับไหว้ฉันเถิด หลวงกลาโหมพ่อเพื่อนและพี่ทหาร อันน้ำใจประเสริฐ ทหารพระบัณฑูรประเสริฐยิ่งแล้ว”

แล้วหลวงภักดีก็ทรุดตัวจะลงนิ่งไหว้ แต่สิ้นแรงเพราะแผลที่ต้องอาวุธโลหิตออกมากจึงล้มลง จนเดือนตกใจเข้าประคองขึ้นโอบไว้

“โธ่เอ๋ย หลวงภักดีมิควรคิดให้มากมายไปเปล่าๆ อันความรักที่เกิดแก่หญิงนั้น เราเขาจะเกิดก็ต่อเมื่อเพลาระหว่างสุข เห็นหมากไม้และแต่งกายโอ่สวย กลิ่นหอมด้วยแป้งน้ำมันประการหนึ่ง อีกสถานหนึ่งก็ด้วยคำหวานพะนอแก่กันนั้นแหละ ความรักก็บังเกิด และประการหลังสุดท้าย ก็โดยวาสนาตัวมิใช่หรือ เพราะกรรมดีอันแต่งไว้ร่วมกันแต่ชาติก่อนจึงจะได้ร่วมกัน ก็ส่วนชายเล่า หลวงภักดี ชายที่จะรักกันนั้นมิมีมากสถานเหมือนเรารักหญิงเลยยากนักจักดูดดื่ม เพราะต่างก็ถือเสียว่าเป็นชายอยู่ด้วยกัน จึงเป็นวาสนาเรามากนะ พ่อหลวง วาสนาเราที่เคยเป็นศัตรูคอยพิฆาตกันตลอดมา แล้วก็เหมาะแก่ช่องที่ได้รักกันเอง โดยมิพักต้องคืนดีกันเสียก่อน รักกันกลางศึก และเราก็กล้าเข้าแลกชีวิตช่วยกันฉะนี้ ไฉนเล่า หลวงภักดีเอ๋ย ความรักของอิสตรี ด้วยประการไฉนเล่า จักมาเหมือนน้ำใจทหารรักทหารด้วยกันได้ พ่อคุณขึ้นม้าเถิด นั่งม้าแล้วฝืนใจควบไปเข้าเมืองทั้งเลือดเช่นฉะนี้แหละ เป็นที่ประเสริฐแก่ตาผู้เห็นนัก”

หลวงภักดีมิสามารถจะกล่าวสิ่งไรออกมาได้ หากกล่าวก็มีแต่สะอื้นและซัดด่าตัวเอง กระทั่งกลาโหมประคองขึ้นม้า แล้วเดือนก็ขึ้นม้าคุมประคองไปส่งสมทบเข้าทัพพระยาราชวังสัน เมื่ออำลากันด้วยรักใคร่แล้ว ทหารพระบัณฑูรยอดฝีมือพร้อมด้วยทหารคู่ใจก็ควบม้าเลียบชายน้ำ เชิญธงอันเหลือด้ามสะบั้นไปคอยรับพระยายมราชที่เพิ่งเข้ามาถึง บ่ายไปสู่ประตูแต่เพลานั้น

จนเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระเจ้าอลองพญาตีค่ายทุ่งตาลานแตกไปแล้ว จึงยกทัพหลวงมาตั้งค่าย ณ ตำบลบ้านกุ่ม ข้างเหนือกรุง แล้วให้มังระราชบุตรและมังฆ้องนรธาเป็นทัพหน้า ยกมาตั้ง ณ ทุ่งโพธิ์สามต้น

ข้างฝ่ายในกรุงนั้นเล่า เมื่อเสียทัพจากทุ่งตาลานแล้ว จนเจ้าพระยามหาเสนาต้องตายในที่รบ ส่วนพระยายมราชเมื่อหนีมาถึงพระนครอยู่ได้ ๙ ถึง ๑๐ วัน ก็ต้องถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง ด้วยบาดแผลที่ต้องหอกซัดนั้น แล้วพระยารัตนาธิเบศร์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลกล่าวโทษพระยาราชวังสันแม่กองว่าเป็นกบฏ เพราะในระหว่างศึกได้สั่งให้ยิงปืนแย่งค่ายพระยารัตนาธิเบศร์เพราะเป็นสมัครพรรคพวก พระยาราชมนตรี (ปิ่น) ผู้เป็นพี่พระสนมเอกพระเจ้าขุนหลวงเอกทัศน์ และเมื่อแตกทัพมาแล้วก็หาขึ้นเฝ้าไม่ จืรับสือให้พระตำรวจไปสืบอับตัวมาลงพระราชอาญาเฆี่ยนและจำไว้ อยู่ได้สักเจ็ดแปดวันก็ถึงอสัญกรรม จึงให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ ประตูชัย

ขณะเมื่อพระเจ้าอลองพญายกทัพหลวงมาตั้ง ณ บางกุ่ม บ้านกระเดื่องนั้น จึงหลวงอภัยพิพัฒน์จึงกราบทูลขันอาสาจัดชาวจีนบ้านในค่ายสักสองพันเศษ ยกจากเมืองข้ามจะไปตีค่ายโพธิ์สามต้น ทัพหน้าของมังระราชบุตรกับมังฆ้องนรธา แต่มิทันจะได้ตั้งค่าย มังระราชบุตรกับมังฆ้องได้ทราบเช่นนั้น จึงขับทหารข้ามลำน้ำโพธิ์สามต้นเข้าโจมตีทัพจีนของหลวงอภัยพิพัฒน์แตกพ่ายลงน้ำ และต้องหอกซัดตายในน้ำเป็นอันมาก และทัพหนุนของหมื่นทิพเสนาซึ่งมีรับสั่งให้ยกหนุนไปตั้งรออยู่ที่ปรกวัดทะเลหญ้าก็พลอยแตกมาด้วย จึงเป็นทีแก่พม่าข้าศึกได้ยกรุกตามมาตั้งค่าย ณ เพนียดและวัดพระเจดีย์แดงและวัดสามพิหาร แต่นั้นต่อมาทัพไทยก็มิได้ยกออกไปตั้งรับต่อสู้อีกเลย คงตั้งมั่นรักษาพระนครไว้เท่านั้น

ภายในพระนครศรีอยุธยาเพลานี้ยิ่งเกิดตระหนกตกใจกันหนักขึ้น เพราะพอถึงสิ้นข้างแรม พม่าก็เอาปืนไหญู่มาตั้ง ณ วัดกษัตราและวัดราชพฤกษ์เข้ายิงโหมพระนคร ถูกเหย้าเรือนเคหะสถานและราษฎรพลเมืองเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นอันมาก ถึงกระนั้นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่ายเลียบพระนคร กวดหน้าที่อย่างกวดขัน และรับสั่งให้ใช้ปืนใหญ่ ณ ป้อมท้ายกบและป้อมมหาไชยยิงระดมโต้ตอบพม่า ณ ฝั่งน้ำโน้น

กระทั่งถึงวันท้าย เป็นวันซึ่งชาตาพระนครจักสิ้นเดือนร้อนเสียคราวหนึ่ง พระเจ้าอลองพญาเสด็จทรงจุดชนวนยิงพระมหาปราสาท ปืนใหญ่นั้นทนอำนาจดินมิได้จึงแตกระเบิดออกต้องพระกาย ประชวรหนัก

พอรุ่งขึ้น วัน ๒ ค่ำ เดือน ๖ ก็มีรับสั่งให้ถอยทัพรีบยกไปทันที

จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุธยาครั้นทราบว่าพม่าเลิกทัพไปแล้ว ตลอดลำน้ำใหญ่ข้างฝ่ายเหนือ จึงมีรับสั่งให้พระยายมราชซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พ้นโทษนั้น กับพระยาสีหราชเดโชกองอาสาเกณฑ์พล ยกติดตามตีพม่าไปทางด่านเมืองตากแต่เพลานั้น แล้วสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงมีรับสั่งให้ทหารไปตรวจค้นในค่ายพม่า ขุดพบปืนใหญ่ฝังอยู่ในค่ายหลวง นำพลบ้านกุ่มกว่า ๔๐ กระบอก ทั้งกระสุน ๓ นิ้ว และ ๔ นิ้ว จึงไปขนเข้าไปพระนคร

ครั้งนั้นเมื่อพระเจ้าอลองพญาเลิกทัพกลับแล้ว จึงกิตติศัพท์รู้มาถึงกรุงว่า เสด็จสวรรคตที่ปลายด่านเมืองตาก และทางฝ่ายบ้านเมืองพม่าก็เกิดแย่งกันเป็นจลาจล ทางพระนครศรีอยุธยาจึงเพียงแต่ตระเตรียมอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้เท่านั้น แต่ส่วนขุนนางข้าราชการก็เริ่มแตกสามัคคีถือนายเก่ากันอีก เพื่อแสวงหาอำนาจของตนเช่นเดิม และทูลยุยงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ให้ทรงรังเกียจพระเจ้าอุทุมพรพระอนุชาที่ทรงว่าราชการอยู่

ยิ่งการข้างฝ่ายบ้านเมืองยิ่งยุ่งมิเป็นระเบียบ มีฝักมีฝ่าย การข้างอื่นก็พลอยต้องวุ่นไปด้วย ตามวังและพระตำหนักเจ้าต่างกรมและที่เป็นบรมวงศ์ที่สนิทก็มีผู้เฝ้าแหนมิขาด ทั้งราชกิจและส่วนตัว

ข้างฝ่ายวังหลวงก็ต้องเข้าเฝ้า คอยฟังพระราชกระแสรับสั่งอยู่จนดึกดื่นเสมอมา จึงระหว่างที่โกลาหลกันอยู่นี้ พระตำหนักใหญ่กรมหมื่นพระโอรสสมเด็จพระมหาอุปราชองค์ก่อนจึงต้องเสด็จขึ้นเฝ้าอยู่แทบทุกวัน แม้กระทั่งยามต้อง ๓ ทุ่มนี้ ท่านก็ได้เสด็จแล้วยังมิกลับ

หลังพระตำหนักน้อยต้นจันทน์อันเป็นที่ประทับของพระองค์หญิงพระน้องนางเธอในกรมหมื่น เพลานี้ก็เป็นเดือนหงายกระจ่างข้างขึ้น แม้ว่าพระองค์หญิงจะทรงวาสนาน้อย มีข้าหลวงเพียงสองสามนางที่กรมหมื่นประทานให้ก็ดี เมื่อทอดพระเนตรเห็นเดือนข้างขึ้นกระจ่างฟ้า และกำลังประทับอยู่ในสวนหลังพระตำหนักน้อยพร้อมด้วยนางข้าหลวงใหม่ และก็ทรงโสมนัสนักที่ได้มาพบแม่ข้าหลวงผู้จากหน้าไปนานแล้ว พร้อมด้วยสามีซึ่งกลับจากศึกมีความชอบแก่ราชการนั้นเป็นเอกคนหนึ่ง

เมื่อประทับ ทรงสังเกตเฉยอยู่ครู่หนึ่ง ก็หลากพระทัยที่เห็นแม่ข้าหลวงเก่าคู่ทุกข์ ดูแช่มชื่นกับสามี เหมือนได้รักใคร่กันมาก่อนจริงๆ จึงรับสั่งเป็นกลางๆ ว่า

“ฉันดีใจแทนหลวงภักดีที่หายเจ็บ ไม่เป็นอันตราย และก็...พลอยสิ้นห่วงด้วย ที่ยมโดยของฉันไม่เกลียดหลวงภักดีแล้ว”

นางข้าหลวงนั้นอายนัก แต่ฝ่ายสามีหลวงภักดีสงครามหัวเราะชอบใจ และเป็นครั้งแรกที่ได้มาเฝ้านับแต่กลับจากศึก จึงทูลขึ้นตามตรง

“แต่ถ้าหม่อมฉันจะทูลอะไรอีกสักสองสามสิ่งแล้ว ฝ่าพระบาทจะทรงดีพระทัยยิ่งกว่านี้อีกหลายส่วนนัก”

“เอ๊ะ หลวงภักดีจะบอกอะไรแก่ฉัน”

เขาจึงสะกิดภรรยา

“แม่ยมโดยทูลเองเถิด เพราะสมควรแล้วที่ยมโดยจะต้องกราบทูล”

นางข้าหลวงก็อิดเอื้อนอนต้องรับสั่งเร่งอีก

“บอกให้ทันใจสักหน่อยเถอะ ยมโดย เรื่องราวมันอย่างไรกัน หรือจะปิดเป็นความลับก็ไม่ต้องมาบอก”

“ทูลซีเพคะ องค์หญิง” ยมโดยตอบงอนๆ เป็นกันเอง แล้วก็เลยพาดพิงไปถึงสามี “แต่หม่อมฉันหนักใจอยู่ว่าเมื่อลับพระเนตรพระกรรณแล้ว หลวงภักดีจะเกิดหึงขึ้นมาอีกเท่านั้น”

“อ้าว ยังไงกันนี่”

แล้วก็ทรงพระสรวล พระทัยระแวงไปถึงอีกผู้หนึ่ง

หลวงภักดีก็ร้องเอะอะขึ้นอีกคนหนึ่ง

“ตายละซิฉัน แม่เอ๋ย ยมโดยจะหาความใส่ให้ฉันเสียชื่อหรือยังไง”

“ก็รึไม่เคยเสียในเรื่องนี้” ภรรยาย้อนถาม ให้ค้อนให้ แล้วก็ทูลเรื่อง “พี่เดือนซิเพคะ พระองค์หญิง กลับจากศึกแต่เพียงชั่วเย็น แต่พอรุ่งก็อาสาทัพท่านเจ้าคุณยมราชกับเจ้าคุณสีหราชเดโช ตามทัพพม่าไปจนด่านตาก เพิ่งกลับมาถึงสักสองสามวันนี่แล้ว ออกหลวงที่ถูกถอดก็ทรงพระกรุณาให้เป็นหลวงกลาโหมดังเดิมแล้ว”

เหมือนบรรทมหลับและทรงพระสุบินว่ากันแสงและน้ำพระเนตรคลอๆ ตื้นต้นพระทัยจนมิอาจรับสั่งถามได้ พอดีหลวงภักดีเอ่ยทูลขึ้นอีกว่า

“พระองค์หญิงคงมิทรงเชื่อเป็นแน่ หากหม่อมฉันจะทูลว่า หลวงกลาโหมกับหลวงภักดี กอดคอรักกันแล้ว”

รับสั่งฉงนพระทัยนัก

“เอ๊ะ ฉันไม่รู้เรื่องเลย และไม่น่าเชื่อจริงๆด้วยซี”

“นั่นไหมล่ะ” สามียมโดยหัวเราะ เมื่อรำลึกถึงกาลวันนั้นได้ ก็ทูลเสียงเครือๆ “จริงนัก พระองค์หญิง หม่อมฉันแตกทัพ กำลังถูกล้อมและสิ้นแรงกำลังจะตายอยู่เดี๋ยวนั้น ก็พอดีได้ยินเขาเรียกชื่อหม่อมฉัน ตะโกนให้ตั้งสติไว้ แล้วก็เห็นทหารพระยายมราชที่ตาย เชิญธงบุกเข้ามาช่วย และก็หลวงกลาโหมนั่นเอง อันฝีมือเขาก็ทราบกันอยู่ และหากผิดเป็นผู้อื่นจะช่วยหม่อมฉันก็คงมิรอดแน่ กระทั่งพาหักที่ล้อมข้ามลำน้ำมาแล้ว หม่อมฉันจึงรู้สึกเสียใจในความหลังว่าตัวผิด จึงเล่าเรื่องให้ฟัง แต่หลวงกลาโหมกลับบอกว่าพระองค์หญิงทรงเล่าประทานแล้ว จึงรักน้ำใจที่เขามิได้อาฆาตหม่อมฉันเลย มินึกเลยว่าหลวงกลาโหมจะมีน้ำใจประเสริฐล้นฝีมือเช่นนั้น”

รับสั่งด้วยเสียงเครือว่า

“ฉันอยากร้องให้ เพราะหากทูลกระหม่อมอยู่แล้ว ทหารพระบัณฑูรคงจะเพียบค่าย และจะทรงปีติพระทัยนักที่ได้ทอดพระเนตรฝีมือทหารท่าน”

“ยอดทหารแล้ว พระองค์หญิง” หลวงภักดีทูลด้วยปีติ ที่เคยริษยาเก่าก่อนก็สิ้นไป “เมื่อเข้าตีทัพมังนรธา หม่อมฉันเห็นไกลๆ ว่าทหารนายธงพระยายมราชหาญนัก เห็นแต่ธงฝ่าศึกแต่เช้าจนใกล้เพลาล่าทัพ กระทั่งเข้ากันพระยายมราช หนีแล้ว เข้าช่วย หม่อมฉันจึงรู้ว่าทหารพระบัณฑูรหลวงกลาโหม หากมิได้เขาแล้ว ยมโดยก็จักต้องเป็นม่ายแน่”

“พิลึก” ข้าหลวงภรรยาหันค้อนและข่วน “เมื่อครั้งโน้น แต่ก่อนสิริษยาสารพัด ทั้งหึงทั้งหวง เพียงเอ่ยชื่อก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้หลวงกลาโหมกลับเป็นเลิศ”

“มันเป็นธรรมดาน่ะ แม่เอ๋ย” หลวงภักดีตอบหัวเราะหึหึ “คนเราเมื่อเป็นศัตรูอยู่ ก็ใครเล่าจะยอมใคร”

พระองค์หญิงก็รับสั่งตัดบทขึ้น

“ฉันพลอยเป็นสุขเหลือเกินที่หลวงกลาโหมของทูลกระหม่อมมาดีกับหลวงภักดีได้อย่างไม่คาด”

“รักกันยิ่งชีพเชียวพ่ะย่ะค่ะ”

หลวงภักดีทูลเน้นและซ้ำเล่าอากัปกิริยาของหลวงกลาโหม ทั้งถ้อยคำกล่าวไว้วันนั้น ถวายทุกประการ

แม่ข้าหลวงก็นั่งปีติ และด้วยความดีของชู้เก่านั้น แม้สามีซึ่งไม่ได้รักก็พลอยเกิดน้ำใจรักเพราะชายเขารักกันแล้ว

แต่พระองค์หญิงท่านกลับทรงเศร้าหมอง ด้วยพระปัญญานั้นหยั่งไกลและลึกซึ้งไปว่า เมื่อการถึงกระนี้แล้ว ต่อไปเบื้องหน้าไหนเลย หลวงกลาโหมจะยับยั้งเป็นบุรุษผู้ครองเรือนอีก ด้วยใจสันโดษแล้วสิ้นจะหวังและอาลัยแก่ลาภยศและทรัพย์สมบัติ แล้วก็จะเตลิดไปเสียประการหนึ่งเมื่อสิ้นศึก และหากเกิดศึกก็จะหนักไหนอาสานั้น ไม่ห่วงใยแก่ชีวิตตัว จึงพลอยหนักพระทัยและเศร้าไปล้นเหลือ

จนล่วงเพลา ๔ ทุ่ม พระจันทร์ยิ่งแจ่มนัก และก็เป็นยามชุลมุนด้วยการภายใน หลวงภักดีเมื่อเฝ้ากรมหมื่นแล้วก็จักต้องรีบเข้าวังหลวงเพราะเป็นชาวตำรวจ ก็ตระเตรียมจะทูลลา ครู่นั้น ข้าหลวงบนพระตำหนักก็เข้ามาทูลพระองค์หญิง และชี้ไปที่คนตะคุ่มแฝงเงาพระจันทร์อยู่ ทูลว่า

“เขาให้มาทูลพระองค์หญิงว่า เสด็จในกรมสั่งให้มาคอยเฝ้าสักครู่จะเสด็จกลับ แต่จะเลยขอเฝ้าพระองค์หญิงก่อน”

ทรงทอดพระเนตรร่างคนที่อยู่ในเงามืด ยังทรงจำไม่ได้ ก็รับสั่งถามข้าหลวงว่า

“ใครล่ะ เขาชื่อไร”

“เขาบอกว่า ชื่อเดือนเพคะ”

จึงเอะอะขึ้น พร้อมกับตะโกนชื่อหลวงกลาโหม ส่วนสามีของแม่ข้าหลวงยมโดยนั้น ด้วยความปีติก็ออกวิ่งตรงไปถึง

“พี่หลวง โธ่ คิดถึง”

หลวงภักดีเรียกเต็มปากสนิทใจ

“คิดถึงมากเหมือนกัน หลวงภักดี เป็นห่วงเหลือเกิน” หลวงกลาโหมกอดคอพูด ทั้งตอบถามด้วยอารมณ์ผู้ใหญ่ “จำไม่ได้เลย หายดีแล้วหรือ หลวงภักดี”

“หายสนิทแล้ว ดีใจจริงๆ ที่รู้ว่าพี่ชายฉันกลับได้ยศศักดิ์เป็นหลวงเช่นเดิม ยังไงบ้างที่อาสา”

“ตามเขาไม่ทัน พอทัพเราถึงตาก ทัพพม่าก็ถึงด่านแม่ละเมาเสียแล้ว”

“ไปเฝ้าเถิด กำลังรับสั่งถึงอยู่เดี๋ยวนี้ ยมโดยก็คิดถึง กำลังคอยอยู่”

“เอ๊ะ มาเฝ้าด้วยรึ”

เดือนใจหาย เพราะความตั้งใจของเดือนนั้น คิดไว้ว่า ตลอดสิ้นชาตินี้มิอยากให้นางข้าหลวงได้เห็นหน้ากันอีกเลย

“ไปเถอะน่ะ พี่หลวงเอ๋ย นี่ฉันกำลังทูลลาอยู่แล้ว เพราะจะต้องเข้าวัง ๕ ทุ่ม ก็พอดีมา ไปเถอะ”

แล้วสองชายก็ประคองไหล่กันมา ทะนงองอาจของทหารเอกพระบัณฑูรนั้น ดุจพี่ชายที่กอดคอน้องด้วยเมตตารักใคร่ กระทั่งถึงยมโดย แม่นั่งโฉมหน้ารับแสงเดือน แต่พอเห็นเข้าก็ปีติน้ำใจนัก แม่กลั้นแล้วก็มิวายจักสะอื้น กรากมาจะกราบ

“ไม่เอา ยมโดย” เดือนรีบคุกเข่าประคอง นั่งสนทนากันแต่โดยดีเถิด นิ่งเสีย อย่าร้องไห้”

“คิดถึงพี่เดือน และดีใจมาก”

แม่ข้าหลวงตอบเสียงสะอื้น

“ขอบใจนัก ยมโดยเอ๋ย พี่ก็เพิ่งกลับมาถึงวานซืนนี้เอง พักอยู่บ้านท่านพระยายมราช นี่กรมหมื่นรับสั่งให้มาเฝ้า จะเสด็จกลับสองยาม”

แล้วข้าทหารสมเด็จพระบัณฑูรก็คลานเข้าไปหาพระองค์หญิง ถวายบังคมท่าน

ทรงเมินพระพักตร์เหมือนจะซ่อนเสียบางอย่างในพระนคร แล้วจึงหันกลับ ถึงจะฝืนนัก แล้วรับสั่งก็มิวายจะสั่นเครือ

“คิดถึงหลวงกลาโหม ได้ข่าวจากหลวงภักดีสิ้นแล้ว หญิงนี้ดีใจแทน และคิดถึงทูลกระหม่อมว่า หากทรงชีพอยู่แล้ว คงตบหัตถ์รับทหารพระบัณฑูรเป็นแน่”

“ก็เพราะบารมีหรอก องค์หญิง” เดือนทูลตามทางสมควร “หม่อมฉันระลึกบารมีทูลกระหม่อมและชาติบ้านเกิดเป็นกำลังตัวเข้าทำศึกเท่านั้นเอง”

แล้วจึงถอยมานั่งเคียงกับหลวงภักดี ระหว่างสามีและภรรยานั้น แม้จะมิตั้งใจเหลียวก็อดเหลียวไม่ได้ อดสังเกตลอบดูไม่ได้ ลางครั้งลางทีก็พบแววตาเข้าจัง และจะเอ่ยพูดแก่กันได้ก็ด้วยเฉพาะแต่ดวงใจเท่านั้น เพราะเสมือนน้ำท่วมปากแล้ว ถึงจะคุยกันได้ก็แต่เพียงเล็กน้อยเกี่ยวแก่เรื่องไปทัพจับศึก ข้างฝ่ายหลวงภักดีก็รู้เชิงอยู่ และชวนจะพูดให้เกิดสนุก ทั้งเย้าภรรยากับเดือนเรื่องรักใคร่เป็นชู้เก่ากันโดยมิรังเกียจสนิทใจ จนเดือนพลอยสนุกและรักนิสัยน้ำใจหลวงภักดีขึ้นอีกมากมาย

พระองค์หญิงซึ่งทรงได้รู้เห็นความหลังมานานตลอดมา ก็พลอยทรงพระสรวลสนุกขึ้นบ้าง ข้าหลวงเก่าก็ยิ่งอับอายจนเคืองสามี ก็บอกกับเดือนว่า

“ฉันจะบอกพี่เดือนให้รู้ตัว ทำใจดีไปยังงั้นแหละ พอกลับบ้านเถอะ เอ่ยชื่อพี่เดือนก็ไม่ได้”

“ใครบอก” หลวงภักดีชะโงกหน้าหัวเราะมาทางภรรยา แล้วก็พูดความจริงกับเดือนบ้าง “เมื่อแต่แรกก็จริงละซี แน่ะ ฉันจะบอกกับพี่หลวงสักอย่าง เป็นเรื่องจริงๆ คือว่าคนนอนหลับละเมอ แต่เมื่อแรกแต่งงานกันใหม่ พอพลิกตัวกระทบ เป็นเรียกพี่เดือนทุกคำ อ้ายฉันก็กลุ้มเหมือนจะตาย”

“มุสา”

“ไม่มุสาละ จริงเชียว” หลวงภักดียืนยัน และก็ขยายต่อไปอีก “โอย เพลงยาวนั่นเขียนไว้สัก ๒๐ เห็นจะได้กระมัง ขอลาแล้วขอลาก่อน โดยสารพัดจะครวญ”

“หยุดที” ยมโดยผ่านหน้าเดือนมาอุดปาก “งัดอะไรขึ้นมาไม่เห็นเข้าหูคน”

เดือนครางฮึม จะจริงเท็จของหลวงภักดีก็รู้ไม่ได้ แต่ที่ตัวได้รู้นั้น ฝีปากเพลงยาวของนายข้าหลวงนี้กระบวนครวญเป็นเอก ก็พูดหน้าเฉยกับหลวงภักดี

“ฝีปากดีทีเดียว กระบวนครวญแล้ว ฉันอ่าน เคยร้องไห้หลายหน”

“พากันบ้าไปเสียหมดแล้ว” ยมโดยอึงด้วยเกิดโทสะ ทั้งขบขันแล้วก็ร้องไห้ “ทั้ง ๒ คนน่ะแหละ อย่าอวดดี พี่เดือนก็เคยมีแผลอยู่นะจะบอกให้ ยิ่งหลวงภักดีก็แผลเบ้อเร่อเชียว ขืนอวดดีจะขยายขึ้นมั่ง”

สามียื่นหน้ามา

“บอกหน่อยเถอะ แม่เอ๋ย ไหนฉันทำผิดคิดร้ายอะไรแน่”

“ฉันก็เหมือนกัน”

พระองค์หญิงผู้เป็นประธานก็รับสั่งว่า

“ฉันอยากฟัง ยมโดยอย่าแพ้เขานะ”

นางข้าหลวงสิ้นโทโสแล้วหัวเราะคิก ชี้ที่เดือน

“คนนี้แต่งไม่เป็น แอบลอกกาพย์โคลงข้างพระที่ทูลกระหม่อมมาเกี้ยวแล้วบอกของตัวเอง กระทั่งทูลกระหม่อมรับสั่งให้อาลักษณ์อ่านประทานข้าหลวง ถึงจับได้ว่าขโมยฝีพระโอษฐ์ แล้วโน่น...” ยมโดยชี้เฉียดหน้าหลวงภักดี “เมื่อคุมพระตำรวจไปจับ พอต่อหน้าคนก็วางอำนาจใหญ่โต เราสิ นึกว่าชีวิตมิรอดแล้ว แต่พออีกหน่อย โธ่ คุณหลวงมิน่าเลย มาร้องไห้กราบอยู่บนตักเหมือนกับเด็กๆ จริงไหมล่ะ”

ทรงตบพระหัตถ์และพระสรวลคิก สองชู้ก็จ้องหน้ากัน แล้วหลวงภักดีผู้ไม่อายก็ถามชู้เก่าว่า

“พี่หลวง จริงเขาหรือ”

“จริง รู้กันเกือบทั้งวัง แล้วพ่อหลวงล่ะ”

“ฮือ อ้ายฉันรู้กันสองต่อสอง” หลวงภักดีพูดอ้อมแอ้มแล้วทำสะบัดเสียง “เฮ่ย อายเอยอะไรกันนะ กราบอีกสักคนละร้อยก็ได้”

เดือนร้อง

“เอ๊ะก็ฉันจะได้อะไรด้วยล่ะ”

“เป็นเพื่อนกันหน่อยซี”

“ม่ายละ ถ้างั้นฉันกราบพระองค์หญิงดีกว่า”

เดือนทูล หวังสนุกมิทันคิด แต่พระองค์หญิงทรงคิดเหมือนผู้อื่น แลตระหนกพระทัย รับสั่งขึ้นอื้ออึง

“ตายจริง หลวงกลาโหมจะกราบกันเหมือนอย่าง...”

“โอ้ หามิได้” เดือนแก้ตัวฉับพลัน ค่อยได้สติ คิดว่าพูดต่อธารกำนัลโดยเผลอสนุกฝ่ายเดียว จึงยกมือไหว้เคารพ “หม่อมฉันขอประทานอภัย เผลอจริงๆ กำลังคุยสนุก เพราะอยู่ๆ หลวงภักดีชวนกันกราบภริยาเขา โดยหม่อมฉันต้องขาดทุนมิได้อะไรเลย จึงตอบว่ากราบพระองค์หญิงมิเหมาะกว่าหรือ ด้วยเป็นเจ้านาย”

ท่านแย้มพระสรวลไม่สู้สนิท แล้วก็ชวนกันเกลื่อนหายไปเอง

พระจันทร์เข้าเมฆสักครู่ก็กระจ่างอีก และล่วง ๕ ทุ่มมานานแล้ว

นางข้าหลวงจึงเตือนให้ทูลลากลับ เพราะต้องถึงเวรเข้าพระราชวัง เดือนก็เดินมาส่งสองสามีภริยา กระทั่งพ้นประตูแล้วก็หวนกลับไปเฝ้า แต่ก็มิเห็นพระองค์ท่าน ณ ที่เคยประทับเสียแล้ว ก็ประหลาดใจ เดือนจะกู่หาเรียกทูลเล่า เขตวังก็จะอื้ออึงเป็นผิดมิสมควร จึงได้แต่ต้องมองเสาะหาเท่าไรก็มิพบ กระทั่งฉงนใจว่าหรือจะกริ้วด้วยสถานใด หรือทรงขัดเคืองว่าละพระองค์ท่านไปส่งยมโดยกับสามีเขาเสีย กระทั่งนางหนึ่งเป็นข้าหลวงจากพระตำหนักน้อยข้างหลังเดินมาบอกแก่หลวงกลาโหมด้วยนอบน้อมว่า

“มีรับสั่งเชิญท่านหลวง ข้างหน้าพระตำหนักใต้ต้นจันทน์โน้น”

เดือนพยักหน้า ใจที่หายกลับมาสู่ดังเดิม

“ประทับหน้าพระตำหนักหรือ ขอบใจ อุตส่าห์ลำบากมาตามถึงที่นี่ ฉันจะไปเฝ้าเดี๋ยวนี้แหละ”

แล้วเดือนทหารเรืองฝีมือ จึงออกตามพวกข้าหลวงเดินอ้อมพระตำหนัก หนทางเดินมา แม้จะเป็นทหารช่ำชองแก่ศึกมาหนักแล้ว แต่เดือนก็พิศวงใจตัวว่า นี่เป็นด้วยประการใดเล่า ยิ่งใกล้จะลุพระตำหนัก แลเห็นองค์ตะคุ่มรำไร ด้วยแสงอันทร์และร่มไม้ใบจันทน์อยู่โน้น เดือนก็ยิ่งประหม่ายิ่งกว่าจะเข้าประหารศึกใหญ่นับหมื่น นางข้าหลวงก็เข้าไปทูลให้รู้องค์ก่อน แล้วแยกขึ้นพระตำหนัก และทรงกวักหัตถ์อนุญาตเฝ้า ทหารหนุ่มก็ประหม่าลนลานจนแปลกใจตัวเองนัก

พระองค์หญิงทรงเปลี่ยนที่ประทับนี้เสียฉับพลัน มิใช่เห็นเป็นการสนุก แต่ด้วยพระสติรอบคอบเกรงแก่ข้อครหาที่จะประทับกลางสวนแก่ออกหลวงหนุ่มแต่เพียงสองเท่านั้น จึงรีบเสด็จมา พระทัยท่านแม้เป็นสุขอยู่ที่เห็นออกเดือนยอดทหารกับสามีนางข้าหลวงนั้นกลับรักใคร่กันจริงก็ตาม แต่พระวิตกอีกอย่างหนึ่งก็ยังประจำอยู่ เกรงอยู่เสมอว่า นับแต่นี้สืบไปทหารพระบัณฑูรคงจะไม่อยู่ติดเมืองแน่ กระทั่งนางข้าหลวงมาทูลและกวักหัตถ์ ชำเลืองพระเนตร ทอดพระเนตรเห็นร่างทะนงองอาจนั้นเดินยับยั้งแช่มช้ากระทั่งถึง

“หม่อมฉันเที่ยวตามเฝ้าจนเกือบทั่วสวนแล้ว” เดือนทรุดตัวนั่งในที่ต่ำซึ่งปูลาดด้วยเสื่อเตรียมไว้แล้ว จึงทูลต่อ “นึกว่ากริ้วหม่อมฉัน และเสด็จหนีบรรทมเสียอีก”

“หญิงมีเรื่องอะไรจะโกรธหลวงกลาโหมเล่า” รับสั่งย้อนถามแต่เสียงสรวลนั้นพร่าๆ “ที่โน่น ลมแรงนัก และกลางน้ำค้าง กลัวจะไม่สบายอีก”

“เอ๊ะ เคยประชวรมาแล้วหรือ”

“เพิ่งจะหายน่ะ หลวงกลาโหม” ท่านรับสั่งเป็นจริงเป็นจัง และทรงเล่าถึงที่ประชวรไข้มาแต่ก่อน และเพิ่งหายสักเจ็ดแปดวันให้เดือนฟัง แต่การที่จะเปลี่ยนพระทัยมาประทับตรงนี้เพราะสาเหตุใดไม่ทรงเล่า แลซ้ำเสถามถึงแต่เรื่องไปศึกว่า “หญิงได้ข่าวว่าพ่อเดือนมีความชอบในศึกมาก และโปรดพระราชทานคืนยศให้ ก็ดีใจแทน แล้วไม่ต้องอาวุธเจ็บบ้างเลยหรือ”

“ก็มีบ้างพ่ะย่ะค่ะ แต่เพราะบารมีเจ้าชีวิตและชาติบ้านเกิดจึงแคล้วคลาดไป อนึ่ง หม่อมฉันก็รำลึกเสมอในบารมีพระบัณฑูรท่านและองค์หญิง”

รับสั่งล้อว่า

“ผิด หญิงไม่เคยเอาใจช่วยเดือนเลย”

หลวงกลาโหมกระเถิบเข้าไปใกล้ ถึงจะแสนประหม่าด้วยบารมี แต่หัวใจหนึ่งก็อยากจะเฝ้าให้ชิดพระองค์นักหนาแม้จะเพียงพระบาท

“มิน่าเล่า หม่อมฉันอ้ายเดือนจึงหวิดจะมิรอด แต่ถ้ารู้ว่าทรงหมดเมตตาฉะนี้แล้ว หม่อมฉันก็จะยืนนิ่งให้พม่าฟันเล่น มิขอรบเลย”

“เพราะอะไรไม่ทราบ”

“พระองค์หญิงมิได้ใฝ่พระทัยช่วยมหาดเล็กน่ะซี” เดือนทูลตรงๆ “หรือขัดพระทัยว่า เมื่อมาถึงสักครู่ก็มิได้กราบพระเพลา”

“พิลึกใหญ่” รับสั่ง ละอายพระทัย แล้วทรงชี้พระดัชนีมาจดฝีปากเจ้าออกหลวงหนุ่ม “เมื่อสักครู่ก็พูดต่อหน้าหลวงภักดีหนหนึ่งแล้ว รู้ไหม ถามจริงๆเถอะ นี่พ่อเดือนจะมาซ้อมฝีปากกับหญิง ประสงค์สิ่งใด”

“อย่าเพิ่งกริ้ว” เดือนประนมมือ “ หม่อมฉันพูดเพราะหวังพระคุณที่เคยเคารพมากกว่า และก็เคยกราบมาจริงๆ ”

“เมื่อไรกัน ที่ไหนยะ”

“ที่นี่ ตรงนี้แหละพ่ะย่ะค่ะ” ออกหลวงหนุ่มยอดฝีมือตบไม้พื้นข้างที่ประทับ “เมื่อวันก่อนที่มาทูลลาไปศึก คงจะลืมเสียกระมัง หม่อมฉันกราบลาพระเพลาจริงๆ”

“น่าไม่อาย กราบตักผู้หญิง นี่หรือทหารกล้าพระบัณฑูร เที่ยวประพฤติแอบกราบผู้หญิงอย่างนี้เองหรอกหรือ”

“เฉพาะพระองค์หนึ่งในโลกนี้เท่านั้นเอง หม่อมฉันจะซบศีรษะให้”

แล้วก็กระเถิบอีก เดือนกระเถิบจนชิดพื้นอันล้อมโคนต้นจันทน์ใกล้พระองค์หญิงท่านจักทรงถอย แต่ก็เชิญข้อพระบาทไว้ ทูลว่า “แม้อ้ายเดือนทรงฤทธิ์ดังกระบี่หนุมานแล้ว อย่าว่าแต่เพียงซบเศียรเลย เมื่อเกิดภัยยุคเข็ญก็จะเชิญเสด็จขึ้นเหนือเศียร ประหนึ่งอัญเชิญองค์สีดา”

“แล้วจะไปส่งพระรามที่ไหน” รับสั่งเย้า น้ำเสียงสั่น “พระรามของฉันอยู่ที่ไหนกันล่ะ”

“ขอให้มีแต่เดือน ทหารสีดาเถิด พระรามหรือพระองค์ชายองค์นั้น ขออย่าจุติมาเลย”

“อิจฉาเขาละซี”

รับสั่งแล้วรั้งข้อพระบาทคืน ทรงประหวั่นพระทัยอย่างประหลาด ฝ่ามือทหารซึ่งเคยจับดาบสังหารศึกนั้น เสมือนจะบีบดวงพระทัยท่านเพียงกำข้อพระบาทไว้ จึงทรงตระหนักแล้วเป็นที่ยิ่งว่าพระองค์ประสูติมาผิด ทรงเชื้อขัตติยะอันประเสริฐก็จริง แต่ก็เพียงศักดิ์ราชตระกูลเท่านั้น ส่วนอื่นที่เป็นสิ่งคับแค้น มิเสมอหน้าเหล่าญาติวงศ์ก็มิสูงกว่าสามัญชนสักเท่าใดนัก ก็เศร้าพระทัย จันทร์จากห้วงเมฆออกพ้นดวงลอดร่่มไม้จันทน์กระจ่างต้องเต็มพระพักตร์

เดือนก็ทูลบ่นพึมพำอยู่ว่าที่รับสั่งว่า อิจฉานั้น แต่นี้ต่อไปก็จะต้องประพฤติตัวเป็นผู้อิจฉาให้สมรับสั่ง สองมือเสียดสีประหนึ่งจะปัดฝุ่นมิให้ติดเปื้อนบาทท่านเลยแม้แต่เมล็ดเดียว จนสุดท้ายก็รับสั่งบ่นว่า

“ง่วงนอน ตั้งแต่ฉันหายเจ็บแล้ว อดนอนไม่ทนเลย”

หลวงกลาโหมก็เหงาลงถนัด ทูลด้วยเสียงแห้งๆ

“หม่อมฉันแสนจะเสียดาย อยากจะตามพระทัยเหลือเกิน แต่จะประทับต่อไปอีกเพียงสักครู่ไม่ได้หรือ”

“อ๋อ ไม่เป็นไรหรอก” รับสั่งแข็งแรง “ถ้าง่วง ฉันนอนที่นี่ก็ได้ ดูเดือนเพลินๆ พอง่วงจักขึ้นพระตำหนัก”

“หม่อมฉันจะเล่านิทานถวาย”

“โอ๊ย หญิงมิใช่เด็ก ถึงเมื่อเป็นเด็กก็ไม่ชอบฟังนิทาน แต่จะบรรทมกล่อม”

แล้วก็แย้มพระสรวล ทอดพระเนตรเจ้าออกหลวงหนุ่มที่ประจบหนักหนา ทั้งถวายอยู่แต่งานบีบนวดอยู่เพียงพระบาท

“เมื่อเยาว์ ทรงพระอู่มีคนเห่ ถึงได้โปรดเห่” เดือนทูลขึ้นลอยๆ และก็รับขันอาสา “แต่ถ้าต้องพระประสงค์แล้ว หม่อมฉันก็เห่ถวายได้เหมือนกัน”

ทรงพระสรวลกิ๊ก ขบขัน แล้วจึงอ้างนางข้าหลวงที่ขยายขึ้น

“แต่มิใช่ว่าเพลงยาวของทูลกระหม่อม แล้วบอกว่าแต่งเองนะจ๊ะ พ่อเดือน”

เขาหัวเราะ นึกอายและบ่นนางข้าหลวงที่ไขความจริง แล้วทูลว่า

“เปล่าพ่ะย่ะค่ะ หม่อมฉันจำไว้เมื่อต้องประสงค์ก็จะเห่ถวาย จะทรงบรรทมหรือยัง หรือจะอ่านกาพย์ตาม ยามฆ้องตีห้าและย่ำรุ่งก่อน”

“อย่าเลย ฟื้นมาพูดอีกแล้ว” รับสั่งกระเง้า และลงพระอาญา “ปากนี้ไม่สมฝีมือทหารเลย หัดฝีปากเหมาะแต่จะริเป็นกวี พ่อเดือนกล่อมหญิงได้หรือ”

“ได้ตามสติกำลังพ่ะย่ะค่ะ”

ทรงตกลงและรับสั่งว่า

“ตั้งแต่สิ้นพระบารมีแล้ว เสียงเห่พระหน่อและพระโอรสธิดาก็ไม่ได้ยินนานแล้ว เอาละ หญิงจะเอนลงบนไม้จันทน์ดูเดือน เดือนเห่ไปเถิด ถ้าหลับได้จะให้รางวัล”

“โอ้ องค์หญิง เสียงทหารเคยคำรามศึก ไฉนเล่าจะเห่ได้ถึงทรงบรรทมสนิท สักแต่พอเป็นราชการเถิด แต่หม่อมฉันอยากจะอ่านกาพย์ถาายเสียก่อน”

ก็พอเสียงฆ้องขาน ๕ ทุ่ม เพราะแก่ค่ำ เดือนจึงทูลว่า

“แน่ ทรงฟัง ๕ ทุ่ม พอดีเชียว”

“ลองดูก็ได้ แม่นหรือ”

“แม่นยำพ่ะย่ะค่ะ”

แล้วเดือนก็ขึ้นเสียงอ่านกาพย์และทำนองถวายเบาๆ ทั้งโคลงที่กาพย์ห่อ

เพลาห้าหึ่งทุ่ม คือเพลิงรุมสุมกลางใจ
ร้อนเทียมเรียมร้อนไฟ อีกหนามรุมกลุ้มเสียบทรวงฯ
๏ เพลาห้าทุ่มนี่ คนึงใน
เพลิงผ่าวเผาดวงใจ คลั่งคลุ้ม
ร้อนเรียมเทียมร้อนไฟ ลมล่าว
อีกหนามหนามากลุ้ม เสียบไส้ในทรวงฯ”

รับสั่งว่า

“อ้าว อ่านกาพย์ห่อโคลงทำไมต้องอิงด้วย เถอะ หญิงจะนอนฟังเห่ดีกว่า”

แล้วออกหลวงหนุ่มจึงเงยดูพระพักตร์แหงนรับเดือน พระปรางและราศีปราศจากพระอัศสิวฝ้าดูจะทรงสำราญอยู่ จึงขยับกายใกล้ ประคองพระบาทพระองค์หญิง แล้วขึ้นสำเนียงเห่

๏ เห่เอยพระโฉมเถิด ดังแก้วเกิดกลายปทุม
เทพชวนกันชุมนุม ประชุมเชิญจุติมา
จากทิพย์พิมารทอง อันเรืองรองรจนา
เอาเอกองค์ชายา นารีเลิศประเสริฐกรมฯ
๏ พระกรรณเกษเนตรขนง พระวรองค์ก็งามสม
ดังช่างเกลากลึงกลม ประสงค์สมในรำทรง
เชิญเถิดพระหน่อนาถ ไสยาสน์หลับพระเนตรลง
ข้าบาทประยูรวงศ์ ประจงกล่อมถนอมนวลฯ
๏ ไร้นางสนมและพี่เลี้ยง ประคองเคียงให้เรรวน
บรรทมเถิดพระทรามสงวน เวลาก็จวนจะลาไป
อย่าทรงเพลินให้ล่วงเวลา เชิญนิทราสำราญพระทัย
ให้แคล้วคลาดนิราศภัย พระชนม์ได้สักร้อยเอยฯ

พอขาดเสียงเห่ของออกหลวงหนุ่ม พระองค์หญิงก็ตั้งพระองค์ชะเง้อดู

“พ่อเดือนนี่สำคัญนักทีเดียว”

“เหตุใดพ่ะย่ะค่ะ”

“หลอกหญิงน่ะซี” ท่านรับสั่งเสียงเครือๆ จนแปลกใจเดือน และทรงชี้แจงว่า “หญิงจำได้ว่าเปลี่ยนเสียหลายตอน เช่น ทั้งนางนมและพี่เลี้ยง พ่อเดือนก็เปลี่ยนเป็นไร้นางสนมและพี่เลี้ยง และอื่นๆ แต่ก็จริง ถูกของพ่อเดือน”

แล้วออกหลวงหนุ่มกลับทูลบ้าง เศร้าๆ

“หม่อมฉันเห่พระองค์หญิง เมื่อยามยากก็ต้องว่า ไร้นางนมและพี่เลี้ยง และเปลี่ยนอื่นๆ เป็ฯข้าบาท”

ทรงถอนพระทัยระลึกถึงความหลัง แล้วก็อิงไม้จันทน์แหงนพักตร์รับแสงเดือนที่หมดเมฆ ทั้งกำลังทรงกลดเต็มดวง พระเนตรมิสู้จะเบิกปรือ เหมือนทรงรำลึกอย่างไรสักสิ่งหนึ่ง และใกล้บรรทมแล้ว ออกหลวงหนุ่มผู้ยอดทหารจึงขึ้นบทเห่ถวายอีก

๏ เห่เอยพระจันทร์เพ็ญ ดูปลั่งเปล่งวิมลโฉม
เคลื่อนคล้อยลอยโพยม ดูน่าประโลมละลานใจ
ทรงกลดดูหมดเมฆ และวิเวกนภาลัย
ยามเพลินเจริญใจ จะหายไปกับนัยนาฯ
๏ ดูดวงเดือนก็เลื่อนลอย แช่มช้อยดังเลขา
ดูน่ารักลักษณา พระจันทราช่างงามจริง
ด้วยเดือนช่างเหมือนพักตร์ นรลักษณ์พระองค์หญิง
พริ้มเพริศประเสริฐยิ่ง น่าประวิงใจข้าเอยฯ

เมื่อสิ้นเสียง ออกหลวงหนุ่มก็ซบหน้าลงสู่พระชานุองค์หญิง ๒ แขนก็โอบห้อมบั้นเอว พระองค์หญิงเล่าก็น้ำพระเนตรคลอ ประทับเฉยอยู่เป็นดุษณี ฉันท์เห่บทสุดท้ายทำให้กังวลพระทัยนัก กังวลด้วยออกหลวงหนุ่มช่างจดจำและเลือกเฉพาะบทที่ตรงแก่การเปรียบเทียบจันทร์ อันเหมือนพักตร์พระองค์ และน้ำใจตัว

“โธ่เอ๋ย หลวงกลาโหม” ท่านทรงข้อนหน้าออกหลวงหนุ่มโดยรู้สึกพระองค์ รับสั่งสะอื้น “พ่อหลวงกลาโหม อย่าให้ฉันหม่นหมองเลย พ่อหลวงก็เป็นทหารพระบัณฑูรมาเสียเองกระนี้ หากรู้ไปถึงไหน ตายน่ะ ช่างเถิด แต่มิอายเขาแย่หรือ”

“ก็ปลงใจอ้ายเดือนแล้ว ถวายชีวิตแก่ฝ่าพระบาทพระองค์ หญิง” เดือนทูลเน้นถ้อยคำ “หม่อมฉันผิดเพราะใฝ่สูง ก็จะก้มหน้าตาย”

“แต่คิดถึงหญิงบ้าง” รับสั่งเมินๆ และด้วยมีเผ่าขัตติยะมานะ จึงรับสั่งตัดพ้อ “ฉันไว้ใจออกหลวง วางใจแก่พ่อเดือนสนิทแล้วทุกสถาน นึกเสียว่าแม้จะสิ้นบารมีทูลกระหม่อม แต่ทหารท่านยังอยู่ ทหารสมเด็จพระบัณฑูรกตัญญูต่อฉัน ก็ค่อยอุ่นใจ เพราะทุกวันนี้หญิงเหมือนตัวคนเดียว เมื่อพ่อเดือนมาแกล้งเช่นนี้ หญิงก็อาย แล้วจะหันหน้าไปพึ่งใครอีก”

แล้วก็ทรงกันแสง แต่จะด้วยแค้นเสียดายศักดิ์ หรือประการไฉนนั้น ก็มิอาจเข้าใจได้ หลวงกลาโหมก็ตกใจยิ่ง แค้นตัวที่เผลอไผลล่วงเกินองค์ท่าน ในชั่วขณะน้ำใจหนึ่งที่มืดมน จึงลุกขึ้นยืนถอดดาบไปคุกเข่าถวาย

“นี่ดาบพระบัณฑูร หม่อมฉันทรยศพระเกียรติท่านแล้ว หลู่พระเกียรติองค์หญิงแล้วด้วยความเขลา จงลงพระอาญาเถิด ด้วยอื่นก็มิเสมอเหมือนพระแสงที่ทูลกระหม่อมประทาน”

แล้วจึงวางไว้เหนือพระเพลาองค์หญิง กลับทรงกันแสงใหญ่ ทอดพระเนตรออกหลวงหนุ่มผู้ประนมมือคุกเข่าอยู่เบื้องพระพักตร์เล่า ยากจะรับสั่งด้วยสิ่งใด จับดาบนั้นชูขึ้น รับสั่งทั้งที่ทรงกันแสง

“หญิงอยากจะฆ่าตัวตายเสียเอง”

“พระองค์หญิง” เดือนตกใจ โดดเข้าคว้าแย่งดาบมา “แล้วกันซิพระองค์ ความผิดเป็นของอ้ายเดือนที่ก่อไว้ และพระองค์หญิงท่านเหลือแค้นแต่อ้ายเดือน ถึงกับจะทำลายชีพพระองค์เอง พุทโธ่”

แล้วออกหลวงหนุ่มก็ก้มลงกราบใกล้ที่ประทับ วิงวอนขอประทานอภัย พระองค์ท่านก็ทรงกันแสงสะอื้นอยู่ มิอาจรับสั่งคำใดได้

“หญิงไม่สบายแล้ว หลวงกลาโหม หนาวเหมือนจะเป็นไข้ หรือไข้กลับ สอดดาบเก็บเสียเถิด แล้วไปส่งหญิงสักหน่อย”

เดือนก็ลนลานสอดดาบ นึกตำหนิตัว ทรุดถวายบังคมแล้วทูลเชิญ

“เสด็จเถิด พระองค์หญิง หากทรงพระดำเนินมิได้ หม่อมฉันขอถวายตัวเป็นพาหนะ”

“พอเดินเกาะไปได้ดอก พ่อเดือน”

“แต่ขออย่าทรงกันแสงเลย หม่อมฉันจะตัดหัวหม่อมฉันเองหากประชวรและพระกันแสงนี้ช้ำพระทัยเพราะอ้ายเดือน”

พระวรกายซวนถลามา จนเดือนต้องเข้าถวายประคอง แล้วรับสั่งค่อยๆ สุรเสียงแหบเครือ

“พ่อเดือนน้อยใจหญิงหรือ ที่ว่าพ่อเดือน โธ่เอ๋ย ยอดทหารของทูลกระหม่อม โธ่ ทหารพระบัณฑูร ฉันนี้เกิดมาเป็นพระองค์หญิงนั้น ผิดชาติแล้ว พ่อเดือนไปตรองดูแล้วอย่าน้อยใจฉัน”

ทหารกล้าพระบัณฑูรกลับทรุดกายลง เสียน้ำตา ประนมมือถวายบังคม โอบบั้นเอวพระองค์ท่าน ลูบเลื่อนมาประทับห้อยพระบาทอยู่ จึงเชิญพระบาทหนึ่งไว้บนฝ่ามือ

“พระองค์หญิง บัดนี้มอญเป็นกบฏแล้ว” เขาทูลลอยๆ หามีเหตุมีผลกับเรื่องไม่ แล้วทูลต่อไปว่า “เดือนมาวันนี้ก็มิทราบเลยว่าการจะเปลี่ยนไป แต่เมื่อการมาเปลี่ยน อ้ายเดือนจะทูลลาไปปราบกบฏประการหนึ่ง เสด็จในกรมหมื่นเทพพิพิธก็ประทับอยู่หัวเมือง หากสิ้นศึกกบฏ แม้หม่อมฉันมิได้เฝ้าพระองค์ท่าน อ้ายเดือนก็จะทูลลาออกไปพ้นกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่มะรืนนี้ หม่อมฉันตระหนักน้ำพระทัยแล้ว องค์หญิงเอ๋ย พระบาทองค์หญิงแม้จะมิได้เชิญอยู่อีกในต่อไป แต่สองพระบาทนี้จะแทรกหัวใจอ้ายเดือนตลอดชีพ แม้จะอยู่ห่างศรีอยุธยาไกลแสนไกล”

สองหัตถ์ก็ปิดพระพักตร์กันแสง เมื่อออกหลวงหนุ่มซบหน้าลงสู่พระบาท แม้จักนองน้ำตาก็รู้สึกพระองค์ท่านว่า ได้นิ่งประทานสองบาทนั้นเป็นเครื่องบูชาหัวใจชาย แม้มิใช่เชื้อพระองค์อันสมควรแก่ศักดิ์ท่าน แต่ชายยอดทหารพระบัณฑูร อันเป็นชาติชาตรีก็เทิดขึ้นจูบ เดือนรู้พระทัยว่า เผ่าขัตติยะมานะย่อมสงวนศักดิ์และเกียรติอันตราไว้เป็นพระมนเทียรบาลซึ่งขวางอยู่ดุจแผ่นดิน มิอาจเอื้อมสูงถึงชั้นสวรรค์ช่อฟ้าได้ด้วยราชตระกูลเป็นใหญ่

จนสุดเวทนาแล้ว พระองค์หญิงก็ก้มลงประทานพระหัตถ์ให้ ทรงกันแสงมิหยุดหย่อน เมื่อเดือนถวายรัก จูบถนอมฝ่าพระหัตถ์นั้นแล้ว ก็เทิดทูนไว้สูงสุด

“หม่อมฉันเกิดมานี่ประเสริฐแล้ว” เดือนทูลเสียงสะอื้น “เพียงเท่านั้นเอง อ้ายเดือนก็จะทูลลาไปให้พ้นพระเนตรได้ ตายเดี๋ยวนี้หรือเมื่อไหร่ข้างหน้า ก็เต็มใจตาย เชิญเสด็จสู่บรรทมเถิด”

รับสั่งเป็นปัญหาเมื่อทรงลุกยืน

“เดือนเอ๋ย ทหารทูลกระหม่อมของหญิงเอ๋ย จะพ้นราชอาณาจักรไทยนั้น ช่างมิคิดหรือว่า ศรีอยุธยากำลังวุ่นทั้งศึกนอกและศึกใน ถึงทหารสักร้อยหมื่นจักล้อมหญิงอยู่ ก็มิอุ่นใจเสมือนแขนของทหารพระบัณฑูร”

เดือนก็ร้องไห้ ครั้งแรกหนหนึ่งเท่านั้นที่หลวงกลาโหมทหารยอดฝีมือต้องร้องไห้ ทูลว่า

“ขืนอยู่ก็ตายด้วยราชอาญา องค์หญิงของหม่อมฉันก็จะเสียพระเกียรติ แลจักเสื่อมตลอดถึงพระบัณฑูรผู้ทิวงคตมิทรงทราบเรื่อง อ้ายเดือนนี่ก็สุดจะทนอยู่ ขืนอยู่ ชีวิตตัวก็จะต้องตายด้วยความรัก คนรักก็จะพินาศพระเกียรติเพราะเวทนาหม่อมฉัน แต่ที่ทรงเกรงศึกอื่นหรือวุ่นจลาจลนั้น แม้อ้ายเดือนจักอยู่ไหน องค์หญิงเอ๋ย อ้ายเดือนนี้ชอบเป็นข้าเจ้าเดียว ให้มันสักสิบแสนมาล้อมศรีอยุธยา หากแม้องค์หญิงประทับอยู่แล้ว เดือนก็จะคุมทัพมาหักหั่นเสียให้พินาศถวายพระขวัญที่ตระหนก หาไม่ก็ยอมตาย”

ทรงกันแสงจนสิ้นพระกำลัง พอก้าวจะทรงพระดำเนินก็ชวนจะล้ม เดือนจึงเข้ารับพระวรกายไว้ พระเนตรหลับสนิท และถอนพระทัยแรง รับสั่งเบาๆ

“พาหญิงไปนอนเถิด ทุกข์เหลือเกินแล้ว พ่อเดือนเอ๋ย ทำไมฉันจะได้ตายเสียเดี๋ยวนี้”

“ถ้าสิ้นพระชนม์ อ้ายเดือนจะเชือดคอตายเหมือนกัน พระองค์หญิงหลับพระเนตรฟังทูลเถิด ชาตินี้กรรมแล้วของเรา หม่อมฉันเคยรักหญิงสนมเป็นเบื้องแรก ก็เสมอดวงใจใฝ่รัก แต่ความรักอันเสมือนแม่ของความรักอื่นนั้นพร้อมอยู่แต่พระองค์หญิง ขอถวายจักแต่เพียงจูบแล้วจักปรับโทษตัวเองด้วยดาบทูลกระหม่อมก็ยอมประทานนะ”

ทรงแย้มพระเนตรมอง หายใจยาวแล้วหลับต่อไปอีก มิรับสั่งประการใดนอกจากทรงผวา เมื่อผู้ใฝ่รักท่านกอดประทับทรง ตลอดพระทรวงกระทั่งปรางระเรื่อนั้น ไฉนเล่าจักว่างเสน่หา ด้วยเหลือรักของทหารพระบัณฑูรได้ ทรงตื่นเต้นทั่วพระรัญจวนอื่นสารพัด พระองค์นั้นประหนึ่งลูกนกห่างรังและตกถึงมือพรานบุรุษแล้ว อ้า ราชอาณาจักรศรีอยุธยาช่างแสนสุข ปราสาทราชมนเฑียรอันงามนักที่เปรียบดังวิมานชั้นฟ้า แต่อำนาจของอาณาจักรและมนเทียรบาลนั้นดังหนึ่งจะขับไล่พระองค์หญิงกับยอดทหารหนุ่มให้พ้นไป

แล้วเดือนก็เชิญเสด็จประคององค์ขึ้นสู่พระต๋าหนัก บอกแก่ข้าหลวงให้จัดโอสถประชวร แล้วจึงตามส่งเสด็จกระทั่งประตูห้องบรรทม ขอประทานกระดาษและปากกาออกมาเขียนหนังสือ และพระองค์ท่านให้บรรทมต่อไปโดยสันโดษ

เดือนเขียนแล้วก็ร้องไห้เมื่ออ่านทวน

พระองค์เอ๋ย แม้จักสุดใจรักของเดือน แต่ก็ต้องทูลลาแล้ว ขืนอยู่ก็จะเป็นบุรุษทรยศด้วยราชอาญา เผ่าราชศักดิ์และศักดิ์ของพระองค์หญิงจักหมองเสียเปล่าแต่เพียงบุรุษทหารพระบัณฑูร จงประทับอยู่ด้วยทรงจำเริญเถิด ทุกอักษรนี้หม่อมฉันเร่งเขียนนัก เพราะน้ำตาเร่งไหลเป็นที่สุดเหลือจะกลั้นได้ อันอักษรที่เลอะนี้ขอให้ใฝ่พระทัยว่าเลอะแล้วด้วยน้ำตาทหารที่ถวายด้วยกตัญญู อันอักษรสีแดงที่วาดถวายเล่า ก็ทรงสังเกตเถิด แม้มิตายจักมีชีวิตอยู่ถึงเฒ่า และนอกราชอาณาจักร เดือนก็มิจืดจางเลย กลิ่นพระภูษาทรงหรือพระฉวีวรรณอันหอมประเสริฐได้ประทานให้แก่หม่อมฉัน พระองค์เอ๋ย จักหอมติดใจจนจบชาตินี้ของเดือน หม่อมฉันขอทูลลา เมื่อตื่น หากทรงสุบินร้ายใดอื่น เดชะบารมีพระบัณฑูร ขอการจากของเดือนนี้จงเป็นการแก้พระสุบินและสะเดาะพระเคราะห์ บรรทมเถิด พระองค์เอ๋ย แม้จักมิทันเห็นกันอีก แต่เมื่อตื่นพระบรรทมแล้ว ก็อย่าทรงกันแสงนัก แม้นเดือนจักอยู่แห่งหนสารทิศใด ก็จะสำนึกตัวเสมอว่าเป็นข้าของพระบัณฑูร แม้ขณะขาดใจก็จะกล่าวพระนามองค์หญิงเป็นที่กำหนดว่าสิ้นชาติของตนแล้ว”

เดือนยื่นอักษรจะถวายนั้นให้แก่ข้าหลวง บังคับคุมให้ไปซุกใต้พระเขนยต่อหน้า แม้จะบรรทมหลับสนิท เดือนก็สู้คลานไปกราบถวายบังคม กายสั่นระริก นึกอยู่ว่า หากตื่นบรรทม พรุ่งนี้ได้เห็นลายอักษรชุบเลือด ได้ทรงอักษรทราบเนื้อความ คงทรงกันแสงหนักหนา หรือถ้าตื่นแต่เดี๋ยวนี้ เผ่าราชศักดิ์จะเป็นที่เสื่อมหมองต่อหน้านางข้าหลวง จึงหักใจคลานถอยกลับมาพ้นห้องบรรทม ลงบันไดเหลียวลาพระตำหนัก ลาต้นจันทน์และแสงเดือนที่ได้เห่ถวายเมื่อสักครู่ แล้วก็มุ่งไปสู่พระตำหนักใหญ่เพื่อคอยเฝ้าเสด็จในกรมหมื่นแต่เพลานั้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ