เป็นฤดูน้ำท่วมนั้นลดแล้ว หากยังไหลเชี่ยวจัดเพียบเสมอฝั่งด้วยเป็นเวลาน้ำขึ้น ทั้งสวะอื่นในลำน้ำลอยมาแน่น บ้างเป็นหมู่เป็นแพและมีกอหญ้าที่เขาถางนาขาดข้าวเกี่ยวคละปะปน และลางกอกลางหมู่ก็หนาแน่น มีทั้งไม้ขอนท่อนหักผสมมา เมื่อพ้นคุ้งก็เข้าฝั่งแล้วเลียบตามลำน้ำล่องลิ่ว อันหมู่สวะและแพสันตะวานี้ ในยามสบัดเกือบจะรุ่งก็ย่อมเป็นที่คร้ามเกรงแก่ผู้ร้อนซึ่งจักลงอาบอาศัย

ครั้นเข้าคุ้งแล้ว สวะกออื่นสิตามกระแสน้ำล่องไปเป็นธรรมดา แต่อีกแพหนึ่งนั้นซึ่งมีขอนไม้ปะปนและสวะสันตะวาหนาทึบก็เหตามกระแสน้ำไหลตะคุ่มมาในมืดเลี้ยวเข้าสู่คลองฉะไกรใหญ่ท้ายป้อมผ่านโรงดีบุกแลทหาร ผู้รักษาป้อมเชิงเทินเนินรบตลอดมา ตราบเมื่อพ้นแล้วก็ยินเสียงฆ้องย่ำบอกเพลาตี ๕ ทั้งป้อมสวนองุ่นและท้ายกบก็ย่ำรับ สันตะวาและสวะผักบุ้งหญ้าแพนั้นก็ลอยเลียบมาติดอยู่เสาสะพานลำเหยสี่แยยกถนนตะแลงแกง และสวะใหญ่กอนั้นก็ขาดกระจุยกระจาย

บุรุษทั้งสี่ห้าคนซึ่งอาศัยกอสวะกำบังมาทนยุงริ้นและทนหนาวตลอดลำน้ำไหลกว้างเวิ้ง ตราบเข้าคลองฉะไกรใหญ่ คันคายมิได้คิดแก่อื่นนอกไปกว่ากิจตัว แต่ก็ไต่เสาสะพานพากันมาซุ่มอยู่ริมถนนใกล้สะพานมีร่มไม้ครึ้ม ผู้หนึ่งในเหล่านั้นสังเกตว่าเป็นบัณฑิตเพิ่งจักลาสิกขา ก็ถามด้วยร้อนใจว่า

“ป่านนี้เขาจักลงมือกันแล้วรึยังก็มิรู้ และเสด็จพระท่านไปอย่างไรบ้าง”

นายภูบาลมหาดเล็กเข้าในกรมก็ถอนใจใหญ่ ตอบตามคะเนตัว

“นั่นแหละ ออกกลาโหม ตั้งแต่เราละค่ายวัดพระแพนงเชิงสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าก็เที่ยวตามหาท่านนัก แต่มิได้พบเลย”

“จะมัวคอยพบกันอย่างไรเล่า เพราะใครๆก็ต่างหนีเอาตัวรอดด้วยราชภัย กลาโหมผู้ลาจากสิกขาเข้าร่วมคิดการใหญ่จนตั้งค่ายและละค่ายจากวัตพระแพนงเชิงหนีพลัดพรายไป “ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้เมื่อเช้านี้เองว่า มีรับสั่งจับและค้นตามวังและให้ริบ อนึ่ง ขุนจิตรมันเมื่อคุมพระตำรวจไปก็ได้พบกันอีกปะทะหน้า อย่างไรเสียก็คงได้กราบบังคมทูลจึงต้องเตลิดเปิดไป ว่าแต่เสด็จในกรมเถิด”

“นัยว่าจะเสด็จไปประทับที่พระแท่นดงรัง และก็รับสั่งว่าอย่างไรแล้ว ขอให้ตามหากลาโหมจนพบตัว และให้รีบทูลความแก่บรรดาหม่อมและพระโอรส ให้รีบเสด็จไปเฝ้ากรมขุนที่ทรงผนวชแล้วคงจะได้พระราชทานอภัย แต่ข้าพเจ้าเกรงเขาจักจับเสียก่อนเท่านั้นแหละ กลาโหมพี่เอ๋ย”

“เรียกเราอ้ายเดือนดีกว่า นายภูบาล” ออกเดือนถอนใจใหญ่ ยิ่งตรึกยิ่งมืด ถึงการนี้ว่าน่าสำเร็จแล้ว ไฉนจึงมาแปรไปได้ อนึ่ง มาคิดด้วยชะตาตัวก็ ๒ ครั้งแล้วที่ทำการใกล้สำเร็จ แต่ก็หาเป็นผลไม่จนต้องหนีบวช และครั้งนี้ก็ซุ่มซ่อนอยู่ดุจครั้งแรกเมื่อสมเด็จพระมหาอุปราช เพราะตัวเข้าตั้งค่ายรายล้อมรักษาองค์ และสู้ตะลุมบอนกับเหล่าพระตำรวจทั้งแปดกรมมิเลือกหน้า แล้วก็ถอนใจใหญ่ “นายภูบาลที่รักเอ๋ย หรือชาตาข้าพเจ้าจักเป็นไปเองเสียกระมัง ดูเถิด เมื่อคราแรกท่านก็ได้ตามเสด็จพระองค์หญิงไปถึงกระท่อม ครั้นสืบมาวมิกี่วันราชการงานเมืองก็ผันแปรจนต้องออกบวชแก่ราชภัยอีกครั้ง ครานี้เล่าก็เหลวไปเสียอีก เออ ข้าสมเด็จพระบัณฑูรทั้งหลายมาลำบากหลีกลี้หนีซ่อนเพราะข้าพเจ้าคนเดียว อนึ่ง การนี้ก็ปรึกษากันเป็นลับแล้ว ไฉนจะมีผู้ทราบและนำความขึ้นกราบบังคมทูลโทษฟ้องได้ประหลาดนัก”

“มิใช่กระนั้นหรอก กลาโหมพี่ชายเรา” นายภูบาลตอบพึมพำด้วยความรู้แท้มาแล้ว ก็เล่าแต่โดยย่อๆ ว่า “ออกกลาโหมพี่เรามิรู้การก็เพราะอุปสมบทอยู่ คือว่าขณะนั้น เมื่อท่านสามพระยาไปเฝ้าเสด็จในกรมทรงเห็นชอบแล้วจึงพากันไปเฝ้าเจ้าฟ้าท่าน แต่ท่านก็รับสั่งเป็นแต่โดยนัยว่าเป็นสมณะจักร่วมคิดด้วยมิได้ ขอให้พวกคฤหัสถ์คิดกันเอง จึงพากันสำคัญไปเสียว่าท่านจักทรงรับ แต่ต่อมาท่านกลับไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้พระตำรวจทั้งแปดกรมและเจ้ากรม ปลัดกรมออกตามจับ”

“เวรของพวกเรา กรรมของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจักเดือดร้อนเอง” ออกเดือนกล่าวเปรยๆ ด้วยเสียน้ำใจ และห่วงใยถึงยมโดยและพระองค์หญิง ทั้งเห็นเพลาค่อยดึกนัก แล้วจึงถามว่า “นี่เรายังต้องคอยใครอีกเล่า เพราะเพลาสงัดนักแล้ว เกลือกเข้าชิงเข้าล้อมเสียก่อนก็จักมิทันการ”

“คนของหมื่นทิพ”

กลาโหมก็กระวนกระวายอยู่ เพราะเพลาใกล้รุ่งนั้นก็มักจะมีเหตุจับกุม และนอกจากพระโอรสธิดาน้อยๆ กับหม่อมในวังแล้วยังมีอีก ๒ หญิงซี่งออกเดือนผูกใจเป็นห่วงนัก

“ที่ต้องคอยเขานี่ ธุระสำคัญนักหรือ”

นายภูบาลก็รับคำ

“สำคัญอยู่มิน้อยเลย เพราะเขาจักรีบไปเฝ้ากรมหมื่นท่านให้ทรงทราบเสียล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงจะเลยสืบคดีให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งประการใดอย่างไร สำหรับพระญาติพระวงศ์ซึ่งมิรู้มิเห็นด้วยเพราะสำนักอยู่แต่ทางวังเท่านั้น ก็หากจะรีบหนีไปเสียก่อนก็จะเสมือนว่าร้อนตัวได้รู้เห็นแก่การนี้”

“ป่วยการแก่เพลา” ออกเดือนกล่าวห้วนๆ ด้วยใจร้อน “ไหนๆ เราก็มาแล้ว จักมัวคอยคนให้ไปสืบจะไม่ทันการกระมัง สมควรแต่ว่าจักรีบไปสู่วังเสด็จเฝ้าพระโอรสธิดาและหม่อมท่าน ทูลเชิญเสด็จให้หนีเสีย เพราะโทษกบฏนั้นแม้ขี้ข้าในกรมและไพร่สมเขาก็ไม่ละไว้”

อีกสามสี่คนซึ่งยืนเงียบฟัง ล้วนเป็นทหารพระบัณฑูรตัวกล้า ทั้งติดตามช้างเถื่อนและขัดตาทัพแล้ว คราออกหลวงชิงพระองค์หญิง ก็เคยเข้ารบแล้ว คนหนึ่งมุทะลุโทสะกล้าก็กล่าวขึ้น

“อย่างออกหลวงท่านว่านั้นก็สมควรแล้ว เพราะหากจะมัวช้าคอยกันอยู่ ผิว์ว่าเขาเข้าล้อมวังเสียก่อนจะเสียการข้างฝ่ายเรา เดี๋ยวนี้บัดนี้น่ะ พระนายศรีมันร้ายกาจโอหังนัก อนึ่ง เจ้าใยขุนจิตรก็ไปอยู่ด้วย ได้ดิบได้ดี ไฉนมันจะละไว้ และพระองค์หญิงก็ยังประทับที่วังเสด็จพระท่านมิใช่หรือ”

ออกกลาโหมก็ร้อนใจหลายสถานนัก เพราะคู่อริขุนจิตรไปได้ดีนั้น สถานหนึ่งก็เคยเป็นชู้ผู้ชอบแก่สาวรักแม่ยมโดยมาแต่ก่อนถึงผิดใจกัน และบัดนี้เล่าก็ไปพำนักเป็นผู้สนิทของจมื่นศรีสรรักษ์พี่ชายพระสนมเอก พระพุทธเจ้าอยู่หัวจักทำอะไร ก็สุดแต่ใจชอบทั้งสิ้น แลอีกอย่างอีกสถานที่สำคัญเวลานี้ ก็โดยเจ้าชายพระองค์หนึ่งเป็นโอรสในเจ้าสามกรมซึ่งถูกสำเร็จโทษแล้ว ยังทรงชอบทรงแค้นพระองค์หญิงอีกเป็นสองสถาน

“ไปละ ใครๆก็อย่ารอเลย” กลาโหมออกปากด้วยมานะ แหงนดูฟ้าเห็นดาวเดือนกระจ่างบอกเพลายามปลายใกล้แล้วก็ร้อนใจ “ตัวเรานี้ ๒ ครั้งแล้ว ทั้งคราวนี้ต้องลาจากสมณะเพศ ไหน ๆ ก็เมื่อการมันเป็นอย่างไร ก็คงให้เลยตามเลยเถิด”

“ไปฟันกันที่โน่นดีกว่า” หัวหมู่ทหารพระบัณฑูรกล่าวขึ้น “จักผิดถูกอย่างไร เราก็มากันแล้ว ขอถวายภักดีอีกครั้งหนึ่ง หนเดียวเท่านั้น ไปเถอะ”

“หมู่แทน เจ้าพูดเหมือนใจ” กลาโหมหันมาตอบ “ขืนคอยอยู่ที่นี่ชักช้าคอยกันตลอดไป สักหน่อย พระนครบาลมาพบแล้วก็จะเสียการเปล่า เออ ก็คนอื่นๆ ว่าอย่างไรเล่า เพราะการที่เราพูดเราชวนไว้นั้นมาแปรไปเสียแล้วจะว่าอย่างไร”

“สุดแต่ออกกลาโหมท่านเถิดที่จักคิดการ” หมู่แทนหัวหน้าถัดไปเป็นผู้บอกความ เพราะทุกคนเหล่านี้รักใคร่และเคยเสมือนเป็นดังศิษย์ฝึกฝีมือต่อออกหลวงมาแต่กาลโน้น “ทุกคน ใครๆเขาที่มานี่ก็เพราะกลาโหมแต่ผู้เดียว อนึ่ง ยิ่งรู้ว่าพระองค์หญิงขณะนี้จักต้องอันตรายก็สมควรไปเสียแต่โดยเร็วนั้นแหละจะดีนัก”

แล้วอีกทหารหนึ่ง อายุผู้ใหญ่เกิน ๓๐ มุทะลุ ก็ถอดดาบที่พกออกมาถือและประนมไปข้างฝ่ายทิศพระราชวังบวรโน้น

“ทูลกระหม่อมก็สิ้นแล้ว เหลือแต่พระธิดาท่าน เหลือแต่เหล่าทหารพระบัณฑูรที่ใครๆยินแต่ฝีมือ ก็ให้มันรู้เสียบ้างเถิด พ่อหลวง จะได้เสมือนฉลองพระเดชพระคุณท่าน แม้จักล่วงลับไปก่อน”

กลาโหมก็หัวเราะเสียงครั่นพึงใจ

“พูดถูกใจเราจริง ตามั่น สมควรแล้วที่ทหารพระบัณฑูรจักต้องถวายจงรักภักดีเยี่ยงนั้น ตายเสียเพื่อสนองคุณยังจะดีเสียกว่าอยู่มีชีวิตดุจผู้ที่เนรคุณ มิใช่หรือ”

นายภูบาลก็อีกผู้หนึ่ง เมื่อยินแล้วก็ถอดดาบที่ซุ่มมาถือชูร่า ประกาศ “ข้าพเจ้าก็เหมือนกัน เสด็จพระที่ทรงผนวชก็เสด็จหนี สินห่วงแล้วเหลือแต่รับสั่งเท่านั้นที่จักต้องปฏิบัติให้สมแก่ภักดีท่าน ไปเถิด รบเป็นรบ มิเลือกใคร”

ครั้นพร้อมใจกันดังนั้นแล้ว ออกกลาโหมผู้ถูกถอดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชสมบัติแทนเจ้าฟ้าอุทุมพรผู้ไปทรงผนวชเสีย ก็ถอดดาบพระบัณฑูร ซึ่งเสด็จในกรมหมื่นได้ประทานคืนมาให้อีก

เมื่อออกกลาโหมจัดตั้งค่ายรายล้อมรักษาองค์ที่วัดพระแพนงเชิง เสมือนถืออาญาสิทธิ์ออกนำหน้า เบื้องถัดและเบื้องท้ายนั้น นายภูบาลกับทหารนายหมู่ ซึ่งต่างก็เปลี่ยนความคิด จักคอยคนของหมื่นทิพ แล้วก็พากันเดินมุ่งไปสู่วังกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งมีนายภูบาลผู้รู้ลู่ทางดีนั้นนำไป และเดินโดยหนทางอ้อมลัดเลี้ยวเข้าหลังวัง เพื่อมิให้เอิกเกริก แต่กลับต้องใจสั่นสิ้นทุกคน แม้แต่ออกหลวงกลาโหมแห่งสมเด็จพระมหาอุปราชทหารเอกที่เคยเลื่องลือก็ไม่วายจะหวั่นไหวใจ เสียงเอะอะในยามดึก ซึ่งพูดกันเสียงมากมายหลายสิบ แสงไฟตามสว่างพรึ่บทมด เมื่อแฝงไปใกล้รั้ววังอันมีซุ้มไม้เถาวัลย์พันหนาก็ได้ยินเสียงหวีดว้ายและร้องไห้

“ตายโหง” ออกกลาโหมสบถ ปากสั่นริก “ไหนล่ะ บอกแล้ว นี่จะเข้าทางไหน”

“โน่น ประตูหลัง” นายภูบาลชี้ไปข้างใต้ ครู่นั้นก็เห็นคน ๓ ๔ คน “เอ๊ะ เขาล้อมหมด กระทั่งประตูหลัง จะทำยังไงล่ะ ออกกลาโหม”

หัวหมู่ถอดดาบปราดขึ้นหน้า

“เข้าดื้อๆซี อาวุธสั้น มันก็ต้องตะลุมบอนกันเข้าไปยังงี้แหละ”

“เดี๋ยว หมู่แทน” ออกกลาโหมกางแขนกั้นไว้ “เข้าไปน่ะ พริบตามันก็ถึง แต่ข้างในมันจะมีอีกกี่สิบกี่ร้อย เราก็ไม่รู้ งี้เถอะ เสื้อพระตำรวจหลวง เครื่องแต่งมันนั่นแหละ เอาลอยชายมันเข้าไป”

“แล้วผีเอาไว้ที่ไหน” ตามั่นถามตรงๆ “ถึงจะได้แต่งเครื่องพระตำรวจแล้ว ผ้าม่วงดำผืนนี้จะแต่งให้ผีนุ่งลงหลุมน่ะไม่ได้ ใครจะมัวมานุ่งให้มัน”

นายภูบาลมหาดเล็กดุฉุนๆตามั่น

“เมื่อแต่งแล้วจะมัวมาห่วงผ้าผืนเก่าอยู่ จะตายโหง”

แล้วพากันขยับใกล้ไปอีกจนชิดรั้ว แล้วทหารพระบัณฑูรทั้งสิ้นก็พากันสะดุ้ง พระตำหนักใกล้ที่ถัดรั้วไปนี่เอง เสียงว้ายเสียงห้ามมิได้สบประมาณ แต่กลับมีเฮฮาหัวเราะกันครืนครึกครื้น

“พระองค์หญิง” ออกกลาโหมหันมาบอกหมู่แทน และรั้งหัวข้อมือนายภูบาลมหาดเล็ก “พระองค์หญิงอยู่พระตำหนักนี่ใช่รึ”

“ใช่นั่นแหละ ร้องนั่นแหละ” นายภูบาลตอบเสียงแค้นๆ “ถุย ข่มเหงเหลือเกิน แต่พระตำหนักใหญ่เงียบจริงๆ”

เสียงแต่ขบฟันจากออกกลาโหม เสียงถอนหายไจและเหมือนสะอื้น แล้วเรียกหมู่แทนกับตามั่น

“หมู่แทน แกไปกับข้า ตามั่นอีกคน เพราะอ้ายที่ประตูมี ๓ คนแล้วลากศพมานี่ นายภูบาลกะเจ้านี่ ชื่อไร อ้อ อ้ายเหลือ ช่วยกันตัดเถาวัลย์เตรียมไว้”

แล้วออกกลาโหมจึงออกเดินเลียบแฝงไปตามรั้ว หัวใจร้อนยิ่งเพลิง ใคร่จักให้ถึงประตูเสียโดยเร็ว แล้วเข้าชิงเครื่องพระตำรวจโผนขึ้นสู่พระต๋าหนัก แต่ที่ต้องช้านักก็เพราะตลอดริมรั้วนั้น ล้วนแต่ใบไม้แห้งและไม้ผุทั้งสิ้น ต้องระวัง ด้วยเกรงเสียงจักกรอบแกรบให้ยามรักษาประตูนั้นได้ยินเสียง จึงสู้ระงับใจร้อนนั้น ค่อยเดินเลียบระวังไปอีก จนใกล้สัก ๒ วาจะถึงตัว กลาโหมก็ได้ยินสนทนากันว่า

“ที่พระตำหนักใหญ่เสด็จพระนั้น คุมไปหมดแล้วมิใช่หรือ”

“ป่านนี้จะจำหมดแล้วด้วยซ้ำไป” อีกคนหนึ่งตอบ “เหลือแต่หม่อมเล็กๆ หลังพระตำหนักโน่นกับหลวงภักดีสงครามท่าน และเจ้าอีกองค์หนึ่งเสด็จมาพระตำหนักนี้”

คนถามทีแรกก็หัวเราะสนุกสนาน ไม่คิดและสำนึกตัวว่า ถ้อยคำซึ่งจักกล่าวนั้น จักยินไปถึงหูอื่น

“เสียงข้างในเหมือนจะสัพยอกกัน มิใช่ขับกุมเลย ฟังดูรึ”

และก็หัวเราะสนุกขึ้นพร้อมกันตามประสาแลผู้เสมอนอก แต่ฝ่ายออกกลาโหมหนุ่มซึ่งแอบฟังการ ทั้งยามประตูและเสียงเฮฮาข้างภายในก็คะเนการว่าพระองค์หญิง หรือหาไม่ก็พระธิดาในกรม พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจักถูกหยามแล้ว ยมโดยจักป่นปี้แล้วป่านนี้ ก็พลันพลุ่งโทสะ อันหนทางอื่นก็มิเห็นจักเข้าสู่ภายในได้ทันแก่การ จึงแสร้งผวาถลาไป แล้วร้องครวญครางขึ้น

“พวกเราช่วยด้วยเถิด ถูกลอบฟันแล้ว”

นายประตูซึ่งแต่งเครื่องพระตำรวจหลายต่างสะดุ้งวิ่งปราดเข้ามา จึงในทันใดนั้นเอง ดาบซึ่งไขว้หลังซ่อนมานั้นก็ประหารซ้อนๆ แล้วอีก ๒ ดาบของนายหมู่และตามันก็ปราดเข้าข้างหลังประชิดติดตัว เพียงแต่ร้องได้โอยคำหนึ่งก็สิ้นเสียงสิ้นชีพฟุบลง

“อ้ายนี่คอหอยขาด บ๊ะ นี่ก็ขาด อ้าว” ตามั่นก้มลงจับพลิกตรวจดู “ฮือ คอหอยทั้งนั้น มือยังกะนัดกันมา มิน่า มันถึงร้องแต่โอ้กไม่โอยเลย”

“หามไปเร็วเข้าเถอะ คนละคน”

ออกกลาโหมก้มลงหิ้วคนหนึ่งขึ้นไหล่ ตรงไปที่นายภูบาลกับเจ้าเหลือ ซึ่งตัดเถาวัลย์คอยหมู่แทนกับตามั่นก็แบกตามมาติดๆ ทันกัน

ชั่วครู่เดี๋ยวหนึ่ง สามทหารเก่าแห่งสมเด็จพระมหาอุปราชก็แต่งเครื่องพระตำรวจหลวง นายภูบาลเมื่อรู้แล้วว่าเจ้านายตัวถูกกุมไปเป็นนานจึงเสียน้ำใจ และเครื่องพระตำรวจก็ไม่มี เป็นฤดูน้ำเพิ่งลง แผ่นดินยังเปียกชุ่ม จึงรบอาสากับเจ้าเหลือ ๒ คน ใช้ดาบขุดหลุมฝังศพชาวพระตำรวจทั้งสามนั้น ส่วนออกกลาโหมจึงนำหน้าพระตำรวจหลวงที่เพิ่งได้เป็น ล่วงเข้าประตูไป

พระตำหนักใหญ่นั้นอยู่ห่างสัก ๑๐ วา มีไม้พุ่มประดับรอบ ถึงจะเงียบ ไม่มีใครกล้า แล้วทั้งบนพระตำหนักแลข้างล่าง ก็ยังมีทหารหลวงและชาวพระตำรวจเฝ้ารักษากระจายกันอยู่สัก ๑๐ คน แต่กลางสระอันมีสะพานทอดมาถึงพระตำหนักน้อยนี้ยังสว่างอยู่ด้วยแสงเทียนและอัจกลับ ยังหัวเราะคิกด้วยเสียงของเจ้าชายหนุ่มกรมพระตำรวจ และหลวงภักดี

“องค์หญิงไม่ควรดื้อกับพี่เลย” ท่านรับสั่งเหมือนเหตุธรรมดา “ถ้าเสด็จแต่โดยดีแล้ว พี่รับจะช่วยพระองค์หญิงได้แน่ ที่จะรับสั่งว่าไม่ผิดนั้นแหละ

ผิดสองต่อละ ใครเขาก็รู้ว่าเสด็จไปหาอ้ายเดือนถึงวัดกระโจม แล้วมันก็หายหน้าลาสิกขาไป คิดการนี้ร่วมด้วยใช่ไหมล่ะ แต่ข้อนี่น่ะ ยังไม่ทรงทราบหรอก เอาเถอะ เมื่อประทับวังพี่แล้วเป็นรับรอง ไม่เชื่อถามหลวงภักดีเขาดูเถอะ ว่าพี่พูดกับพระนายศรีเขาหรือเปล่า”

ขุนจิตรที่ได้เลื่อนเป็นหลวงภักดีหัวเราะอย่างผู้ใหญ่

“อย่าขัดพระทัยดีกว่า เชื่อหม่อมฉันเถอะ ท่านองค์หญิงน่ะ ผิดหลายกระทงนัก เท่ากับกบฏเหมือนกัน เพราะทรงเป็นกำลังวิ่งเต้นมาหลายครั้งแล้ว หม่อมฉันรู้นะ”

“ก็รู้ไปซี ตาใย” ท่านทระเรียกชื่อเดิม มองแผลเป็นที่หน้าและระลึกถึงทหารพระบัณฑูร ทรงแน่พระทัยอยู่ว่าคงจะถูกเขาคร่าตัวไปเช่นนางข้าหลวงแล้วจึงแค้นพระทัย ก็รับสั่งไม่เกรงกลัว “เมื่อฉันต้องหาเป็นกบฏ ท่านองค์ชายก็กราบบังคมทูลตามพระทัยชอบ หรือไม่ก็ส่งหม่อมฉันไปเป็นสนมตามหนทางราชการดีกว่า”

“อ้าว หญิง ก็เพราะพี่สงสาร ไม่อยากส่งมิใช่หรือ ถึงได้เสียเพลาอ้อนวอนอยู่” เจ้าชายรับสั่งขุ่นๆพระทัย “ถ้าพี่สั่งหรือกราบบังคมทูล หญิงก็ต้องถูกสำเร็จโทษ จริงแล้ว เสด็จพ่อเรา พระทัยท่านเป็นอริแก่กัน แต่ท่านทั้งสองก็สิ้นพระชนม์แล้วด้วยกัน และป่านนี้ท่านอาจกอดพระศอทรงกันแสงรักกันที่เมืองผีด้วยซ้ำ เราผู้ลูกท่านอยู่หลังจะพลอยถืออาฆาตตามเสด็จด้วยทำไม อีกสถานหนึ่ง พี่นี้ว่าหากพระองค์หญิงปรองดองกับพี่ กุศลเราก็จะส่งถวายไปถึงท่าน เชื่อเถิด ไปประทับกับพี่ที่วังเป็นสุขกว่า”

ถึงจะทรงทราบว่าพระองค์ชายมีรับสั่งคำหวานตามอุปนิสัยเสมอก็ดี หากมิระแวงว่าโอรสศัตรูซึ่งกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศให้ลงพระราชอาญาสมเด็จพระมหาอุปราชถึงทิวงคตแล้ว หรือเคยทรงรักใคร่พิศวาสมาก่อนโน้น แต่โดยจริง ท่านก็อาจต้องเอียงพระทัยตามที่รับสั่งหวานนักเช่นนี้ จึงรับสั่งว่า

“องค์ชายทรงเมตตาหม่อมฉันอย่างอื่นเถิด”

“ประการใดเล่า หญิงเอ๋ย” ท่านทรงก้าวใกล้มาอีก คว้าข้อพระหัตถ์แต่เบาๆ เพียงประคอง กระซิบรับสั่งอ้อนวอน “หญิงคงจะไม่เกลียดพี่หรอก พี่รู้ แต่องค์หญิงทรงระแวงพี่ว่าเป็นลูกเสด็จพ่อเท่านั้น แต่จะทำฉันใดเล่า หญิงเอ๋ย มันกรรมของท่านก่อกันไว้ต่างหาก ควรหรือที่เราจะรับมรดกเช่นนั้นมาเป็นของเรา พี่จะถวายเมตตาได้ทุกประการ แต่หญิงก็ควรประทานพี่บ้างจึงจะยุติธรรม เสด็จเถิด”

“อย่า” พระองค์หญิงสะบัดเต็มแรงเพราะอายหลวงภักดีหรือขุนจิตรเมื่อก่อนซึ่งยืนยิ้มอยู่ “อย่าข่มเหงหม่อมฉันนะ ที่วังน่ะ หม่อมของเจ้าพี่กี่สิบแล้ว ยังไม่เพียงพออีกหรือ”

หลวงภักดีตอบสนุกสวนมา

“ต้องพระองค์หญิงอีกหนึ่งละก็ ทรงเป็นอันยุติละ”

“ทะลึ่งนัก ตาใย”

“อ้าว ทำไมรับสั่งง่ายๆเซ่นนั้น” หลวยภักดีเกิดโทสะ “พระองค์หญิงเป็นนักโทษของหม่อมฉัน ทรงทราบไหม”

“อ๋อ รู้ แต่พวกแกไม่ทำตามพระราชโองการเลย แกให้คนจับข้าหลวงของฉันไปแยกไว้ไหนแล้วนี่” แล้วทรงผลักเจ้าชายซึ่งกรากเข้ามาจะรั้งข้อพระหัตถ์อีก “เป็นเจ้าเป็นนายก็จะตกลงมาคิดแบ่งกันเล่นเหมือนริบราชบาตรเช่นนี้ไม่อายหรือ”

เจ้าพระองค์นั้นรู้สึกเคือง เพราะยิ่งนานยิ่งแน่พระทัยว่ามิเป็นผล ซ้ำถูกหลู่พระเกียรติ จึงรับสั่งห้ามตรัสพ้อเป็นนัย

“อย่ากริ้วเกินไปนัก ที่พูดดีด้วยเพราะยังรักอยู่ ก็อย่าให้เกินไปนัก อย่าดูถูกกัน”

“ใครดูถูกใคร เชิญซี เชิญประพฤติได้ แต่ตามราชโองการ แต่ถ้าตามพระทัยก็ไม่ยอม”

“อย่าเพิ่งอวดดี”

“จะทำไม รับสั่งให้จริงเหมือนลูกผู้ชายสักหน่อยเถิด”

“อ้าว ฮะ แม่หญิงพระธิดาพระบัณฑูร” แล้วก็ทรงพระสรวลแค้นๆ “จะให้รับสั่งจริงอย่างลูกผู้ชายน่ะหรือ ฮึ ลูกผู้ชายอื่นไม่จริงเหมือนมีเมียหรอก”

พระองค์หญิงทรงสะอื้น

“อย่าดูถูกกันนัก ที่รับสั่งนั้น ไม่ใช่เป็นเจ้าเลย แน่ะ องค์ชาย ถึงหม่อมฉันเพลานี้จะเหมือนไม้ล้มแล้ว นับแต่วันผุ นับแต่จะเป็นไพร่กระฎุมพีก็จริง ขอให้ทรงเชื่อเถอะว่า อย่างพระองค์ท่านแล้ว หม่อมฉันไม่ปรารถนาเลย”

“หนอย โอหังนัก” ท่านปราดเข้าจับข้อพระหัตถ์ กระชากเต็มแรง กำลังกริ้ว “ส่งไปสำเร็จโทษเสียเถิด”

พระองค์หญิงท่านผวาและล้มลงในบัดนั้น พระตำรวจหลวง ๓ นายก็พลันปราดเข้าประตูมา

“ถอดพระแสงเถิดพ่ะย่ะค่ะ” คนหน้าชักดาบปราดแล้วร้องทูล

“พระองค์ชายถอดพระแสงคอยรับหม่อมฉันเดี๋ยวนี้ อ้ายเดือนจะกบฏ”

อีก ๒ คนเข้าคุมตัวหลวงภักดี แต่พระองค์หญิงพอเงยพระพักตร์ทอดพระเนตรเห็น ก็ดีพระทัยจนทรงกันแสง

“หลวงกลาโหมของทูลกระหม่อม ช่วยด้วยเถิด” ขาดรับสั่งก็ทรงวิ่งปราดโผไปหา เข้ากอดกายยอดทหารพระบัณฑูร สะอื้นอีกหนักหนา “พ่อเดือนช่วยหญิงด้วยเถิด”

“ถวายชีวิตอ้ายเดือน” แล้วแขนข้ายทหารพระบัณฑูรก็อ้อมองค์ท่าน เสมือนแขนนี้คือกองทัพใหญ่ที่รักษาพระองค์ ยืนชี้แจงซ้ำอีก เมื่อเห็นเจ้าชายพระองค์นั้นยังทรงตะลึง เพิ่งจำได้ “หม่อมฉันเป็นข้าแผ่นดินได้บังอาจแล้ว หม่อมฉันเห็นตำตาแล้วก็แทบหัวใจจะแตก นี่พระธิดาพระบัณฑูรที่ถูกลบทลู่ อ้ายเดือนก็ข้าพระบัณฑูร ขอยอมหัวขาดถวายกตัญญู หัวอ้ายเดือนนี่แน่ะ มาหิ้วไปแต่ต้องชักพระแสงมาทรงตัดเอง”

ได้สติ จึงรับสั่งเรียกด้วยเคยปาก

“หลวงกลาโหม แก...เออ...แกกบฏ”

ยอมทั้งสิ้น หม่อมฉันถูกถอดเป็นอ้ายเดือนแล้ว” แล้วออกกลาโหมก็หัวเราะ ทูลต่อไป “ที่ทรงล้อมวังไว้น่ะ สักหยิบมือหนึ่งของทหารเก่าพระบัณฑูรที่หม่อมฉันเอามาล้อม แต่มิใช่จะกบฏกินบ้านผ่านเมืองเลย เพียงแต่มิอยากเห็นพระองค์หญิงถูกใครหลู่พระเกียรติเล่าเท่านั้น และจะเชิญเสด็จท่านไปด้วย”

“ข้ารับราชโองการ”

เดือนหัวเราะ ชี้ศัตรูเก่าซึ่งบัดนี้เป็นหลวงภักดีกำลังยืนกะพริบตาหายใจได้น้อยและสั้น เพราะสองพระตำรวจหลวงวางคมดาบไว้ที่คอหอย แล้วก็ทูลว่า

"อ้ายใยโน้นก็เคยอ้างราชโองการในพระบรมโกศ จะเชิญเสด็จท่านองค์หญิงเหมือนกัน แต่มันดื้อนักถึงต้องมีแผลเป็น และก็เมื่อหม่อมฉันทูลตรงๆ ว่ายอมเป็นกบฏ อ้ายเดือนก็สู้ทั้งนั้น ถึงได้ทูลให้ชักพระแสง หาไม่ก็ต้องประทานพระแสงเร็วหน่อย”

“อ๊ะ ไม่ได้หรอก”

“ต้องได้ซีพ่ะย่ะค่ะ ไม่แล้ว หม่อมฉันจะให้เฉือนคออ้ายใยเสียเดี๋ยวนี้ พระตำรวจหลวงข้างนอกมิมากมายหรือ ยังตกเป็นเชลยคุมไว้หมด”

“ประทานเขาเถิด ฝ่าพระบาท เดี๋ยวก่อน หมู่แทน อย่าเพี่ยกดคุมนักซี” หลวงภักดีร้องห้ามแล้วก็ร้องทูลมาอีก “ประทานเขาไปก็แล้วกัน หาได้ใหม่ถมไป”

“เร็วหน่อย ไม่หม่อมฉันจะเข้าแย่ง” ออกกลาโหมเร่งขู่ใหญ่เพราะเสียงฆ้องตี ๕ แล้ว “เมื่อไม่ประทานก็ชักออกมา หม่อมฉันจะเข้าแย่งเดี๋ยวนี้แหละ”

“เอาไปสุมหัวก็เอาไปเถอะ”

ออกกลาโหมหัวเราะเมื่อเห็นท่านตกลงพระทัยง่ายดาย ปลดพระแสงดาบยื่น จึงทูลแก่พระองค์หญิง

“เสด็จไปรับด้วยเถิด ท่านประทานแล้ว”

พระองค์หญิงทรงรับพระแสงดาบมาถือไว้ และเดินเกาะแขนยอดทหารพระบัณฑูร ถอยมาที่ประตู ตามั่นก็เข้าปลดดาบหลวงภักดี และเรียกชื่อเก่า

“ขอให้ข้าพเจ้าเถิด ขุนจิตร แหมสวยนัก เอามาเสมเดียวแหละหรือ”

เสียงฆ้องเพิ่งหยุดไป ออกกลาโหมจึงสั่งตามั่น

“ดับเทียนและตะเกียงให้หมดตามั่น แล้วถือมานี่ดวงเดียว”

ตามั่นถือไว้ดวงหนึ่ง นอกนั้นแกดับมืดหมดทุกดวงเทียนและอัจกลับถอยมาถึงประตู ออกหลวงกระซิบนายหมู่แทน แล้วถวายพระหัตถ์พระองค์หญิงให้ทรงเกาะและถอยออกประตูไปก่อน นายหมู่กับตามั่นก็ออกพร้อมกันปิดประตูโครมคราม และตะโกนบอกพระตำรวจหลวงให้จับกบฏที่ปลอมกาย

ทหารยอดฝีมือของพระบัณฑูรทรงจูงพระกรองค์หญิงผ่านท้ายพระตำหนักใหญ่ จะเลี้ยว ชาวพระตำหนักหลวงที่เฝ้ารักษาอยู่หน้าพระตำหนัก ครั้นได้ยินเสียงตะโกนก็วิ่งมาตักหน้ากันเป็นหมู่ เพราะเห็นชายถือดาบก็ชักดาบออกกั้นทาง

“ใคร นั่น หยุดก่อน จะคุดผู้หญิงไปไหน”

“หลีกกันเถอะน่ะ”

เดือนตอบง่ายๆ พระองค์หญิงทรงหวั่นภัย ก็เข้าทรงกอดแขนมัน

“พ่อเดือนอย่าทิ้งฉันนะ แล้วตอบเขาว่ายังไงดี ถึงจะไม่ต้องสู้กัน”

“ต้องโกหก และหม่อมฉันขอประทานอภัย”

พระตำรวจหลวงก็ตวาดซ้ำมา

“อย่างไรเล่า ไม่ตอบ เจ้าไม่รู้รึ ว่าวังนี้พระตำรวจเข้ารักษาแล้ว”

หลวงกลาโหมหัวเราะให้ได้ยิน

“โธ่ พี่เอ๋ย จะให้กราบก็กราบละ เมตตาปล่อยไปดีกว่า เห็นอกลูกผู้ชายเถิดน่ะ เรารักกันมานานแล้ว แต่กลัวหลังลาย ก็มาสบเหมาะเคราะห์ดี กรมหมื่นท่านเป็นกบฏ ฉันจึงได้กำหนดไว้มาพาหนี”

ท่านพระองค์หญิงทรงหยิกเนื้อเขามิตั้งใจ เม้มเน้นริมฝีพระโอษฐ์เพื่อให้เจ็บ เพราะได้ยินทุกถ้อยคำว่านัดผู้ชายพาหนี แต่พระตำรวจหลวงกลับก้าวเข้ามา

“อา งั้นละ ก็ไม่เป็นเรื่องละโว้ย ข้าน้ำคนหลวงทำงั้นไม่ได้หรอก อ้ายพวกฉันก็โง่แย่ซี รับไว้เสียเองมิดีหรือ”

“อา” เดือนถอนฉิว ใดอื่นไม่คิดยิ่งไปกว่าศักดิ์ของพระองค์หญิงที่ตนเคารพ แล้วก็กวาดดาบแจ้งนามทหารพระบัณฑูร “หลีกทางเถอะ นี่ออกหลวงกลาโหมของสมเด็จพระบัณฑูร เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ อย่าได้เป็นอริแก่กันอีกเลย”

ตั้งแต่นายตลอดจนพลที่ยืนออกันอยู่สะดุ้งใจ พอได้ยินชื่อก็นึกท่าทางออก ทหารฝีมือลือของพระมหาอุปราชพระองค์ก่อน ซึ่งรู้กันทั้งราซสำนักและหลายคนที่อยู่นี่ บัดนี้ ก็เคยแตกพ่ายมาแต่ครั้งเดือนเข้าชิงเชิญเสด็จแต่ครั้งก่อน จึงพากันเรรวน และถึงแม้จะรู้ว่าถูกถอดแล้ว ตัวนายก็ยังทัดทานเรียกชื่อเดิม

“ข้าพเจ้าต้องจำใจติดขัดเสียแล้ว หลวงกลาโหมจงคืนหญิงนั้นเถิด”

“ขอกันสักครั้งเถิด เพื่อนเอ๋ย หญิงนี้ก็ซุกซ่อนหลงอยู่หรอก ทางสารบัญชีก็คงจะอยู่นอกจำนวนเขาแล้ว เถอะน่ะ ทำคุณแก่หลวงกลาโหมสักครั้งจะเป็นไร”

แต่เสียงข้างหลังนั้นตะโกนมา

“จับไว้ อ้ายกบฏพาพระองค์หญิงหนี ฝืนพระราชโองการ”

ท่านทรงสะอื้น

“จะฟันเขาหรือ พ่อเดือน อย่างไรอย่าทิ้งเลย ขอไปตายกลางทางดีกว่า ถ้าพันนีก็ส่งวังกรมหมื่นเสด็จพี่”

ออกกลาโหมจึงพลันนึกได้ ถึงรับสั่งให้ไปเฝ้ากรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ซึ่งพอจะเป็นที่พึ่ง ก็ปลอบพระทัย อ้าแขนอ้อมแขน

“หลับพระเนตรเสีย ถึงร้อยหนึ่ง อ้ายเดือนก็จะหักออก มิให้พระโลหิตต้องตกเลยสักเลือดซิบๆ พูดดีกันไม่ได้เสียแล้ว ถ้าสิ้นชีพ อ้ายเดือนนั่นก็เหลือจะหากตัญญูอื่นถวายได้อีก”

“หญิงจะขอตายเคียงๆกัน”

“ฮะ ตายไม่ได้ซี” แล้วทหารฝีมือลือก็เกิดน้ำจิตมุทะลุ ควงดาบเดินเข้าใส่ “ใครจะรบกับหลวงกลาโหมก็เชิญ ตามั่นระวังหลัง หมู่แทนขึ้นมา”

ทั้งเรียกและสิ่งปะปนกัน หมู่แทนก็ปราดขึ้นเคียงแล้วฟันตะลุย อันชื่อของนายหมู่ก็เป็นที่เลื่องลืออยู่หนักหนา ว่าเป็นทหารคู่ใจของหลวงกลาโหมเช่นกัน พลที่สกัดหน้าจึงแยกออกรับไว้พอให้เป็นราชการ แล้วค่อยหลีกเร่งแหวกทาง ตามั่นก็คอยไล่หวดระวังหลังที่จะล้อม เพราะได้ดาบ ๒ เล่มถนัดมือ หมู่แทนก็ได้อีกเล่มหนึ่งจากพระองค์หญิงที่รับจากพระแสงมาเป็นเชลย

ออกกลาโหมจึงค่อยรบอย่างสบาย เสียงรับดาบที่ฟันและฟันตอบแก่ผู้ชะล่าแหลมมานั้น ทุกฝีดาบรู้สึกมั่นน้ำใจหนัก คำนึงอยู่ว่า อันทหารฝีมือเยี่ยมนั้น หน้าไหนใดเล่าที่มีเกียรติประเสริฐเยี่ยงกู แม้พลาดสักเพียงดาบ กายน้อยของพระองค์ท่านก็จักอาบเลือดหรือสิ้นพระซนม์ ก็ใครเล่าจะปล่อยให้สตรีประเสริฐมาสิ้นชีพในแขนทหาร ฟันมาเถิด เท่าไหร่ก็ฟันมา แต่หากอ้ายเดือนมิติดประคองอ้อมกับท่านไว้แล้ว อย่าว่าแต่คนเพียงกระหยิบมือน้อยหนึ่งเลย ให้ทัพหนึ่งก็จะลุยไปให้ถึงข้างนอกจนได้ แต่ก็จะถึงประตูแล้ว พระองค์ท่านก็สั่นดังลูกนก ทรงกันแสงสะอื้นฝากชีพแก่ทหารพระบัณฑูร ยิ่งฟังก็อยากจะโอบอุ้มพระองค์ท่านมือหนึ่ง อีกมือจะรบให้แหลกไปกับมือ จะไล่ฆ่าเสียให้สมกับที่มาแสร้งให้ท่านทรงเสียมิ่งขวัญโดยใช่การ

ที่จริง พระองค์ท่านเกือบจะสิ้นสมประดีแล้ว ที่ทรงก้าวตามมาได้เองก็เพราะแรงแขนออกกลาโหมหิ้วมาบ้าง พระองค์หญิงได้ยินฝีดาบรับและตอบเหมือนเสียงสับมีดลงกระทบเหล็กตลอดเวลา ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกนับครั้งด้วยเรือนร้อย ก็ปลงพระทัยว่าจะสิ้นพระชนม์ในอ้อมแขนของยอดทหารเสด็จพ่อ อันครหาอื่นใดนั้นประทานแก่กรรมเวร แล้วแต่ผู้จะคิดไปเอง แล้วพระองค์ท่านก็สิ้นสติ

ได้พระสติต่อเมื่อสำนึกพระองค์ดังหนึ่งทรงเป็นอยู่ในพระตำหนักครั้งกระโน้น ไกวโยกและเขย่าไป เสียงหอบและช้ามั่งเร็วมั่งกับเสียงฝีเท้าพูดพีมพำจึงทรงรู้ว่าเขาอุ้มพระองค์ท่านวิ่งมา วิ่งและซวนเซจนรู้สึกสงสาร แล้วก็ถลาคุกเข่าลง เกรงพระองค์ท่านจะทรงรับเจ็บปวดก็รัดพระองค์ไว้

“ถึงพอดี โธ่เอ๋ย พระองค์หญิง” ท่านทรงได้ยินเขาบ่น รู้สึกองค์ว่าเขารัดท่านไว้ด้วยความเมตตาแท้ ทั้งปลุกสั่น “พระองค์หญิงถึงแล้ว ถึงวังเสด็จกรมหมื่นแล้ว”

พอลืมพระเนตรเห็นฟ้าเกือบสางเป็นปัจจุสมัย และเสียงรบเสียงดาบไม่มีอีก บรรทมเหนือแขนออกหลวงกลาโหมทหารกล้า ทรงได้ยินเสียงหอบได้ยินหัวอกเต้น

“ถึงไหนแล้ว หลวงกลาโหม”

“ข้างวังกรมหมื่นเสด็จพี่พระองค์หญิง ถ้าจะตกพระทัยมาก เชิญขวัญสู่องค์เถิด นี่พ้นมาลิบลับแล้ว”

กลับทรงถามว่า

“พ่อเดือนอุ้มหญิงมา เหนื่อยมากหรือ โธ่เอ๋ย ฉันนี้แหละ ก่อเวรให้พ่อเดือน” แล้วก็ทรงนิ่งอึ้งอยู่ขณะหนึ่ง “ฉันนึกว่าตัวตายแล้วด้วยซ้ำ ยมโดยเขาแยกคุมตัวไปกับพระตำหนักใหญ่ พระองค์ชายจะข่มเหงฉัน”

“ใคร”

“หลวงภักดีน่ะซี”

“ใครเป็นหลวงภักดี”

“ตาใย จิตรสุนทรนั่นแหละ” ทรงชี้บ่งตัว แล้วรำพันถึงข้าหลวง “นึกแล้วฉันก็ไม่อยากหนีมาเลย คิดถึงยมโดย ป่านนี้เขาคงจะจำแล้วเป็นแน่”

ทหารพระบัณฑูรนิ่งงัน เขาช้าเพราะเพิ่งรู้จากนายภูบาล และเกาะสวะไปตามน้ำจึงต้องให้แล้วแต่น้ำไหล หวนคิดถึงนางข้าหลวงแล้วก็ใจหายนัก อยากรู้และตระหนักว่าถูกขังอยู่แห่งใดแล้ว เดือนก็ใคร่พยายามจนสิ้นทุกหนทุกทาง พระองค์หญิงเมื่อทรงสติว่าพ้นภัยแล้วก็พระพักตร์เผือด รีบเขยิบจากแขนทอดแต่กลาโหมก้มจ้องมองพระพักตร์แล้วก็ปล่อยให้ทรงยืน ตัวเองก็ถวายบังคม ถึงกับต้องทรงยืดข้อมือห้าม

“อย่าสิ พ่อเดือน กราบไหว้ฉันเช่นนี้มิถูกเลย”

“หม่อมฉันล่วงเกินทั้งกายและวาจา”

“เอ๊ะ ยังไง”

“เพราะบอกพวกนั้นว่าพระองค์หญิงเป็นที่รัก ประการหนึ่ง และอุ้มพระองค์หญิงมาอีกประการหนึ่ง”

ท่านก้มพระพักตร์อายแต่ทรงพระสรวล ทรงประคองให้ยืน รับส่งเมินๆ

“หญิงไม่ถือเลย พ่อเดือนเดือดร้อนเพราะหญิงคนเดียว ยังไม่รู้จะได้แทนคุณเมื่อไหร่”

“ที่รับสั่งนี้ ประเสริฐกว่าจะแทนคุณอ้ายเดือนเสียอีก”

ท่านทรงกันแสงต่อหน้า ไม่รับสั่งเหตุผล ทรงสีสองพระหัตถ์ และดัดลั่นกรอบแล้วบิดพระองค์ รับสั่งเศร้าๆ ว่า

“ฟ้าสางแล้ว หญิงจะต้องรีบเฝ้าทูลเสด็จพี่ ถ้าหากการหนักหนาก็จะให้ท่านทรงส่งไปสนมเอง เพราะไม่แล้ว ท่านองค์ชายก็ข่มเหง แล้วหลวงกลาโหมจะไปไหนอีก”

“ต้องหนีตามสติกำลัง”

แล้วก็เล่าถวายถึงศพพระตำรวจหลวงทั้งสาม ทรงตกพระทัยมาก ท่านประนมหัตถ์วิงวอนแก่วิญญาณพระมหาอุปราช

“ทูลกระหม่อมท่านทรงทราบแล้ว หากท่านทรงพระชนม์ ได้เห็นทหารของท่านเช่นนี้ คงทรงพระกันแสงอย่างหญิงเป็นแน่ โธ่ พ่อเดือนจะจากหญิง ยมโดยก็มิได้พบปะกัน แล้วนี่คงจากกันไปจนตาย”

ยอดทหารฝีมือดีของพระมหาอุปราชน้ำตาคลอ แต่ห้ามผู้อื่น

“อย่าทรงกันแสงเลยพระองค์หญิง ถึงจะอยู่ไหนอีกแสนไกล เดือนนี้ก็รำลึกเสมอว่าเป็นข้าถวายชีพแด่ท่านองค์หญิงต่อหนึ่งจนตลอดชีวิต”

ฟ้าสางจางอนเห็นหน้ากันและกัน ข้าพระบัณฑูรซึ่งเคยสดใส หน้าสะอาดสง่านั้นเศร้าคล้ำ พระองค์หญิงก็น้ำพระเนตรไม่ขาดสาย ทรงจ้องออกกลาโหม แล้วก็ถอดพระธำมรงค์ยื่นประทาน

“รับไว้ต่างหน้าหญิง” แล้วท่านก็สะอื้นกันแสงอีก ส่ายพระพักตร์มิอาจรับสั่งได้อยู่ครู่นาน “พ่อเดือนรับแหวนวงนี้ไว้เถิด พระธำมรงค์ของทูลกระหม่อมมหาอุปราชทรงพระเมตตาแก่หญิงว่าเป็นลูกเล็ก หญิงก็รักดังดวงใจ นับถือเสมือนทูลกระหม่อมท่านยังมีพระชนม์ปกครองลูกและค่าของแหวนนี้มิสมควรแก่ใครเลย ข้าหลวงหรือทหารสัก ๒๐๐ ก็มิบังควร พ่อเดือนเป็นทหารคู่พระทัยของท่าน แม้จะสิ้นทูลกระหม่อมแล้ว ศักดิ์พระมหาอุปราชยังทรงอยู่ แม้หญิงจะเสมอเพียงลูกพระสนมหม่อมห้ามแต่ก็สืบศักดิ์ชาติตระกูลจากพระองค์ท่าน แต่หากมิมีพ่อเดือนแล้ว หญิงก็สิ้นศักดิ์อับอายขายหน้า จึงพระธำมรงค์เพชรนี้ก็เหมาะแล้วหลายสถาน ที่หญิงจะมอบเสมือนหนึ่งผู้รักษาตระกูลป้องกันเกียรติยศ”

น้ำตาไหลอาบสองแก้มทหารกล้า เขาและพระธำมรงค์วงนั้นก็รำลึกได้ว่า เห็นทรงติดก้อยอยู่นานหนักหนา ท่านสู่ทิวงคตคาลัยโดยตัวมิอยู่ แม้สักน้อยสิ่งก็มิได้ประทาน และเมื่อแจ้งแล้วว่าสิ่งประทานนี้เป็นของพระธิดาพระองค์ที่เมตตาปรานีนัก และท่านพระองค์หญิงก็ประทานต่อจึงเสมือนธำมรงค์เพชรวงเดียว เสมือนอยู่พร้อมทั้งพระบัณฑูรและพระองค์หญิง จึงคุกเข่าลงประนมมือบังคม เมื่อแบรับก็สั่นระริก

“นี่แหละจะเป็นเครื่องคงกระพันชาตรีเหนืออื่นใดแล้ว แต่อ้ายเดือนนี่ก็สิ้นประดาตัว จะถวายสิ่งใดไว้เป็นเครื่องบูชาเล่า” แล้วก็เหลือบเห็นกำลังทรงซับพระเนตรด้วยผ้าผืนน้อย จึงฉวยกระชากมิให้ทันรู้สึกพระองค์ กระชากดาบสับแขนตัวแล้วจึงจุ่มปลายนิ้วจนชุ่ม เขียนชื่อตัวซึ่งพระบัณฑูรประทานให้ว่า “เดือน” แล้วก็ยื่นถวาย “นี่ข้าพระองค์หญิง หลวงกลาโหมนั้น ถูกถอดแล้ว”

ทรงรับพระทัยสั่น เลือดสดสีแดงเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “เดือน” บนผืนผ้าซับพระเนตรนั้น ก็มิใช่เพชรทองหรือธำมรงค์เรืองค่า แต่ก็เป็นเลือดอันจงรักภักดีของทหารเก่าพระบัณฑูรถวายตัว พระองค์หญิงรีบซุกลงฉลองพระองค์ชั้นใน ฟ้าก็สางกระจ่างเร่งเวลาอยู่ ทรงอาลัยอยู่นัก จึงฝืนพระทัยสักครู่หนึ่งให้กล้า แล้วรับสั่ง

“ฉันจักลาเดือนไปก่อน เมื่อตกไปถึงไหน ขอได้รู้กันบ้าง หากชีวิตไม่สิ้นเสีย เราคงได้พบกันอีก”

เดือนถวายบังคม

"เชิญเสด็จเป็นสุข หากพบยมโดยแล้ว รับสั่งแทนหม่อมฉันด้วย”

“ขอได้วางใจเถิด หญิงลาละ”

แม้จะทรงฝืนประการใด เมื่อเสด็จเกือบถึงประตูวังก็อดเหลียวมองอีกมิได้ ทหารพระบัณฑูรก็ยืนแลเศร้าน้ำใจตัวเอง อ้อมพระองค์ฝ่ากองดาบมาอุ้มพระองค์วิ่งซุกซ่อนหนีมา และก็เสด็จจากไปแล้ว เหลือแต่พระธำมรงค์ที่ประทานต่างพักตร์ของพระองค์ท่าน เห็นทรงชะงักอยู่เพียงประตูก็ประนมมือเชิญเสด็จ แล้วก็ก้มมองพระธำมระค์นั้น เมื่อเงยก็ไม่เห็นพระองค์ท่านองค์หญิงเสียแล้ว

จึงเดินย้อนหนทางเดิม หมู่แทนกับตามั่นตลอดจนนายภูบาลกับอ้ายเหลืองส่วยเลขก็ยังคอยอยู่ จึงพากันรีบรุดเดินเพราะตะวันขึ้นแล้ว เพื่อเร่งให้ถึงประตูจีนเสียเร็วๆ เพราะจะฟังสาเหตุทางบ้านเจ้าพระยาอภัยราชา พระสมุหนายก แล้วจะลงน้ำอาศัยสวะหรือชุ่มอยู่ พอดีตรงเลี้ยวท้ายป้อมจะเข้าประตูช่องกุฏีก็ประจันหน้ากับพระตำรวจหลวงอีกเหล่าหนึ่งต่างหาก ซึ่งมาคุมตัวเจ้าพระยาอภัยราชา พระตำรวจหลวงเหล่านั้นรู้จักหลวงกลาโหมทุกคน และกำลังจะสืบหาตามตัวอยู่จึงกรากเข้ามา

“มีราชการให้คุมตัวออกหลวงไปสนมเดี๋ยวนี้”

“ฮึ อะไรหนอ ขุนพิชัย” เดือนวางหน้าเฉย “ข้าพเจ้าก็ถูกถอดแล้ว ยังจะมีพระราชโองการรับสั่งสิ่งไรอีกหรือ”

“ต้องหากบฏ” ขุนพิชัยตอบห้วนๆ แต่ยังยิ้มเชิงไมตรี “เชิญท่านให้สะดวกแก่ข้าพเจ้าเถิด พระราชโองการ สุดปัญญาจริงๆ”

เดือนหัวเราะหึ ตรองแล้วว่าถ้าหากจะดั้นด้นหนีก็หาหนทางรอดยาก จึงคิดแต่สิ่งเดียวว่า ด้วยเดชะกตัญญูตัวต่อผู้มีพระคุณ ด้วยรักถิ่นฐานบ้านเมือง ด้วยเกรงเดือดร้อนก็ประพฤติไป แล้วขุนพิชัยก็กรากมากอด กระซิบข้างหู

“หลวงกลาโหมไปโดยดีเถิด เพราะกรมขุนหาวัดท่านทรงขอประทานชีวิตหมด เพียงแต่จำรอไว้เท่านั้น ศึกพม่าก็ได้ข่าวร้ายๆ แล้วคนดีคงไม่ไปไหนเสีย”

เดือนยกมือไหว้

“ชอบน้ำใจมิตรนัก คนอื่นแล้ว คอขาดเสียก็ไม่ไป แต่ขอฝากของสักสิ่งเถิด ขืนติดตัวไปก็จะถูกริบเสีย”

“ได้ซี อะไร”

“ดาบกับพระธำมรงค์เพชรนี้ พระบัณฑูรทรงพระเมตตาประทานให้”

แล้วเดือนก็ถอดดาบจากที่พกซ่อน ยกมือไหว้ ส่ง ถอดแหวนซึ่งได้ประทานเมื่อสักครู่ ไม่ทันชั่วโมงนี่เองจะส่งให้ แต่ขุนพิชัยกลับผลักมือ

“ออกหลวงเก็บไว้เองดีกว่า เพราะของประทานและราคามากนัก อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้าจะช่วยพูดจาเอง แต่ขอดชายผ้าซ่อนเสียก่อนแหละดี”

เดือนเห็นสมควร เพราะเพียงถอดธำมรงค์ก็รู้สึกหวิวใจตัวอยู่ ได้ยินรับสั่ง จำได้ทุกๆคำ ว่า “หญิงรักดังดวงใจ” แล้วจึงหันหน้าพยักกับพวกพล

“เราเป็นข้าแผ่นดิน ก้มหน้าไปเถิด คงจะทรงพระกรุณาสักวันหนึ่ง

หมู่แทนและคนอื่นๆต่างจ้องหน้า เสียน้ำใจ แต่ครั้นเห็นเดือนขยิบตาละกระซิบกับขุนพิชัยเมื่อสักครู่ จึงพากันถอดดาบออกฝากฝังไว้ทุกคน ขุนพระตำรวจหลวงก็เต็มใจรับโดยยิ้มแย้มเป็นอันดี แล้วออกเดือนก็นำพลเข้า หมู่ครัวเจ้าพระยาอภัยราชา โดยปกปิดข่าวเมื่อคืนเสียสิ้น และนึกเป็นบุญกุศลที่พบกองขุนพิชัยพอจะอ้างเป็นพยาน และพระองค์หญิงก็เป็นสุขพ้นภัยแล้ว จึงออกเดินเรื่อยมาเป็นหมู่ครัวเจ้าพระยาอภัยราชา เพื่อไปให้ซักคดีที่ลูกขุนแต่เพลานั้น

ข้างฝ่ายพุกามประเทศโน้น เมื่อพระเจ้าอลองพญาผู้ครองกรุงรัตนสิงห์ ซึ่งทำสงครามกับรามัญประเทศจนมีชัยชนะ ตีได้กรุงหงสาวดีแล้ว แต่ขุนนางมอญผู้หนึ่งที่เคยเป็นแม่ทัพของพระเจ้าหงสาวดีมาก่อนยังหลบซ่อนอยู่ ครั้นเมื่อพระเจ้าอลองพญายกกลับไปกรุงรัตนสิงห์แล้ว จึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นเมืองสิเรียมปากน้ำกรุงหงสาวดี ด้วยเป็นเมืองค้าขายท่าเรือมีสมบัติสมบูรณ์ ครั้นข่าวนี้รู้ไปถึงบรรดาแม่ทัพซึ่งตั้งอยู่เมืองใกล้เคียงจึงพากันยกมาจะตีเมืองสิเรียมคืน ขุนนางรามัญผู้เป็นแม่ทัพปล้นเมืองสิเรียมเห็นจะสู้มิได้ จึงรวบรวมทรัพย์สมบัติโดยสารกำปั่นของชาวฝรั่งเศสหนี แต่ถูกพายุซัดมาฟากตะวันออก จึงแวะอาศัยอยู่เมืองมฤท ทางฝ่ายพม่าจึงมีหนังสือแจ้งแก่พระยาตะนาวศรี ว่าขุนนางมอญเป็นกบฏ ขอให้จับตัวส่งพร้อมด้วยกำปั่น แต่ข้างฝ่ายไทยตอบว่ากำปั่นฝรั่งต้องพายุมา ขออาศัยซ่อมแซมเรือ ไม่ยอมปฏิบัติตาม กระทั่งเรือนั้นซ่อมเสร็จก็ปล่อยไป ฝ่ายพระเจ้าอลองพญาเมื่อทรงทราบดังนั้นก็ขัดเคืองพระทัยแต่หากยังต้องจำนิ่งอยู่

ครั้นถึงปีเถาะ มังระราชบุตรพระเจ้าอลองพญายกพล ๘,๐๐๐ ลงมาตีเมืองทวายได้ แล้วสืบทราบกำปั่นพวกพ่อค้าพากันหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองตะนาวศรีเขตแดนไทยหลายลำ ทั้งรวบรวมทรัพย์สมบัติมามากและกองทัพไทยก็ไม่มีพอจะรักษา มังระจึงทูล พระเจ้าอลองพญาก็เห็นช่องทาง เลยอ้างที่ไทยไม่ยอมส่งตัวมอญกบฏ จึงสั่งให้เกณฑ์ทัพยกมาตีเมืองมฤทและตะนาวศรี พระยาตะนาวยังมีใบบอกมายังกรุงศรีอยุธยาแต่โดยด่วน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุธยาจึงมีรับสั่งเสนาบดีให้เกณฑ์กองทัพ แต่ขณะนั้นพระยายมราชยังเป็นโทษอยู่ครั้งต้องหากบฏ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอินทราราชรองเมืองเป็นที่พระยายมราชแม่ทัพถือพล ๓,๐๐๐ พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตร พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีกับพระนนทบุรีเป็นทัพหลัง พร้อมด้วยช้างเครื่องม้าเครื่องยกไปรักษาเมืองมฤท แล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์คุมพลอีกสองหมื่น ยกหนุนไปอีกทัพหนึ่งพร้อมด้วยกองอาทมาฏราวสี่พันคน มีขุนรองปลัดชูกรมการเมืองวิเศษไซยชาญซึ่งเข้ารับอาสาพร้อมด้วยไพร่พลเป็นหัวหน้ายกสมทบไปด้วย แต่มิทันที่ทัพหน้าจะยกไปถึง ก็ได้ข่าวว่าเมืองมฤทและตะนาวศรีเสียแก่พม่าแล้ว ทัพพระยายมราชจึงตั้งรับอยู่ตำบลแก่งตุ่ม ปลายน้ำตะนาวศรี พระยารัตนาธิเบศร์ ตั้งอยู่เมืองกุยบุรี

ฝ่ายพระเจ้าอลองพญาจึงยกกองทัพใหญ่หนุนมาตั้งที่ตะนาวศรีซึ่งตีได้แล้ว โปรดให้มังระราชบุตรและแม่ทัพนายกองถือพลสองหมื่นเป็นกองหน้า ยกล่วงเข้าตีทัพพระยายมราชที่แห่งตุ่มแตกฉาน เพราะมีพลน้อยกว่าข้าศึก ครั้นพระยารัตนาธิเบศร์ได้แจ้งว่าทัพพระยายมราชแตกพ่ายมา จึงเกณฑ์พล ๕๐๐ เข้าบรรจบกองขุนรองปลัดชูแล้วให้ยกไปรับทัพพม่า ไปตั้งอยู่ตำบลหว้าขาวริมชายทะเล

ข้างฝ่ายทัพหน้าพม่าก็พลันยกไปถึงตำบลนั้น เพลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูแม่กองอาทมาฏพร้อมด้วยไพร่พลก็กรูกันออกโจมตีทัพพม่า รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอนฟันแทง พม่าล้มตายลงเป็นอันมาก ตัวขุนรองปลัดชูแม่กองนั้นถือดาบสองมือวิ่งเข้าในท่ามกลางศึกฟาดฟันพม่าตายล้มลงไปก่ายกันดังขอนไม้ พลพม่าอันมีจำนวนมากล้นเหลือนั้นต่างก็หนุนเนื่องกันเข้ามาไม่ขาดสาย ดุจคลื่นในมหาสมุทร ขุนรองปลัดชูกับพลอาสากองอาทมาฏได้สู้รบกับพม่าเป็นตะลุมบอนอย่าแกล้วกล้า แต่เพียงรบตะลุยอยู่เช่นนี้ตั้งแต่เช้าจนเที่ยง จนเหลือเรี่ยวเหลือแรงแก่ทหารไทยซึ่งมีพลเพียงหยิบมือหนึ่ง ขุนรองปลัดชูผู้เป็นแม่กองก็เหนื่อยอ่อนสิ้นแรงจนพม่าล้อมจับไปได้ แล้วให้กองช้างไสช้างเข้าเหยียบย่ำบุกตะลุยทหารไทยลงทะเลไปตายเสียเป็นจำนวนมาก ที่หนีรอดไปได้นั้นน้อย แล้วนำความมาแจ้งแก่พระยารัตนาธิเบศร์ พระยารัตนาธิเบศร์ตกใจ เร่งถอยทัพหนีมาพร้อมกับทัพพระยายมราช พากันพ่ายหนีพม่าข้าศึกกลับไปยังพระนคร ขึ้นเฝ้ากราบบังคมทูล

ทัพหน้าพม่าก็ยกมาถึงเมืองกุย เมืองปราณ และเมืองเพชรบุรีกระทั่งเมืองสุพรรณบุรี ก็ไม่มีเมืองใดออกต่อรบ พากันแตกหนีไปสิ้น จนทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญายกมาตั้งอยู่เมืองสุพรรณบุรีแล้ว ทัพไทยที่เมืองราชบุรีก็แตกแล้ว

ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยาก็เกิดโกลาหลด้วยราษฎรทั้งหลายเห็นว่าพระเจ้าเอกทัศน์มิสามารถจะสู้พม่าข้าศึกป้องกันกรุงศรีอยุธยาได้ บรรดาข้าราชการก็พากันไปทูลวิงวอนให้พระเจ้าอยู่หัววัดประดู่องค์ก่อนที่ยังทรงผนวชให้ลาเพศสมณะออกเป็นฆราวาส ทรงบัญชาการศึกป้องกันพระนคร

ข้างฝ่ายพระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงเห็นชอบอยู่เช่นกัน จึงมีรับสั่งให้เชิญเสด็จพระอนุชาลาผนวช แล้วมอบราชการแผ่นดินให้ทรงบังคับบัญชาแทนพระองค์

ครั้นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงลาผนวชแล้ว จึงยกสมเด็จพระเชษฐาไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และมีรับสั่งให้ถอดเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี กับสมัครพรรคพวกทุกคนซึ่งต้องโทษอยู่แต่ครั้งต้องหาเป็นกบฏจะเชิญพระองค์ขึ้นเสวยราชแต่คราวก่อน และให้คงฐานาศักดิ์ตามเดิมเพื่อช่วยราชการศึก แล้วให้กวาดต้อนไพร่พลเมืองและครอบครัวเสบียงอาหารเข้ามารวมไว้ในพระนครหลวงทั้งสิ้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ