๑๑

ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้น เมื่อพระเจ๋าอลองพญาถอยทัพไปและสวรรคตแล้ว มังลอกราชบุตรองค์ใหญ่ได้ขึ้นครองราซสมบัติ แต่บ้านเมืองก็ไม่เป็นที่สงบเรียบร้อยได้ ก็ต้องรบพุ่งปราบปรามกันเองเสมอมาหลายปี เพราะบรรดาขุนนางนายทหารและบรรดาเมืองขึ้นประเทศราชต่างๆ เมื่อรู้ว่าพระเจ้าอลองพญาสวรรคต ต่างก็มีใจกำเริบตั้งแข็งเมือง และบ้างก็มาฝักใฝ่ขอขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาก็มีมาก กระทั่งสิ้นแผ่นดินพระเจ้ามังลอกราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งเสวยราชอยู่ในกรุงอังวะ ๔ ปี ก็พอบ้านเมืองได้ปราบปรามราบคาบแล้ว

จึงมังระราชบุตรซึ่งเป็นอนุชาก็ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน แต่เป็นผู้ใฝ่พระทัยนิยมการศึกสงคราม เพราะได้คุ้นมาตั้งแต่ครั้งตามเสด็จพระเจ้าอลองพญา เมื่อปราบปรามราชศัตรูภายในสำเร็จแล้ว ก็คิดแผ่อำนาจจะปราบปรามบรรดาประเทศข้างเคียง และด้วยฝ่ายกรุงศรีอยุธยารับบรรณาการของเมืองประเทศราชที่เคยขึ้นแก่กรุงอังวะ ประการหนึ่งนั้น เพราะได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาอ่อนแอด้วยกำลังทหาร เพราะแตกพวกแตกหมู่กัน มังระเจ้าแผ่นดินใหม่ซึ่งย้ายเมืองหลวงจากกรุงรัตนสิงห์ไปอยู่อังวะ จึงเป็นสาเหตุและช่องทางจะยกทัพมาทำศึก เพราะจะได้กำไรในส่วนเชลยและทรัพย์สมบัติจากการสงครามมาก จึงเกณฑ์ทัพใหญ่ให้ยกมาสองทาง ทั้งเหนือและใต้ เพื่อประชิดกรุงศรีอยุธยา บรรดาหัวเมืองรายทางก็หาอาจมีผู้ใดอยู่สู้รบไม่ ต่างพากันอพยพหนีเข้าป่าจนหมดสิ้น ที่พ่ายแพ้ก็ถูกจับริบทรัพย์ และเกาะตัวเป็นเชลยส่งไปเมืองพม่า

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งถูกข้าหลวงคุมตัวอยู่ ครั้นพม่ายกเข้าตีทวาย จึงรีบเสด็จออกจากเมืองตะนาวศรีหนีมาเพชรบุรี และพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ซึ่งขึ้นปกครองแผ่นดินอีก เพราะสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จออกทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ ด้วยเกรงขืนอยู่บ้านเมืองก็จะเกิดจลาจลฆ่าฟันกันเอง และข้าราชการทหารที่มีฝีมือก็ปลีกตัวหมด พระเจ้าเอกทัศน์เมื่อทรงทราบว่าเสียหัวเมืองรายทางแก่ทัพใหญ่พม่า จึงรับสั่งให้คุมตัวกรมหมื่นเทพพิพิธจากเพชรบุรีไปไว้จันทบุรี

กระทั่งถึงปีระกา ทัพใหญ่ทั้งบกทั้งเรือทุกทางของพระเจ้ามังระก็แยกกันมาทุกทาง จนเข้าเขตใกล้พระนคร ค่ายเมืองนนท์ก็เสียแล้วแก่พม่าข้าศึก เมฆราโบ แม่ทัพ จึงยกทัพเรือรุดขึ้นมาตั้งอยู่ ณ สามแยกบางไทร ล้อมพระนครเพราะทราบว่ากองทัพบกมังมหานรธาได้ตั้งอยู่ที่บ้านสีกุก จนทัพหลวงเนเมียวสีหบดียกจากฝ่ายเหนือหนุนมาทางชัยนาท อุทัยธานี และเมืองสวรรคโลก ฯลฯ มังมหานรธาจึงยกมาตั้งอยู่วัดป่าฝ้าย ต่างก็แต่งกองโจรออกตีปล้นบ้านเมือง จับผู้คนเป็นเชลย และเผาบ้านเผาเมืองเสียเป็นอันมาก ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่

ข้างฝ่ายในกรุงก็เกิดวุ่นโกลาหลกันตลอดหมด เพราะทัพใดที่แต่งออกไปก็แตกพ่ายยับเยินกลับมาเสมอ จนเป็นที่ขยาดกลัว ไม่มีผู้ใดจะอาสา ด้วยแม้แต่กองทัพเรือซึ่งล้วนแต่ทหารอาสาทั้งหกเหล่ามีฝีมือที่แต่งออกไป และมีนายฤกษ์ถือดาบสองมือยืนรำอยู่หัวเรือนำทัพ แต่พม่าได้ยิงตกน้ำไปแล้ว ทัพนั้นก็ถอยกลับเข้ากรุงเสียทั้งหมด ไม่มีผู้ใดคิดจะอยู่สู้อีก

เพลาเย็น แม้เสียงปืนจักกระหึ่มขู่พระนครเป็นพักๆ บ้านเมืองชายกำแพงจะพินาศสิ้นแล้วด้วยกระสุนปืนใหญ่พม่า แต่พระตำหนักน้อยต้นจันทน์ และในห้องบรรทมพระองค์หญิงนั้น พระองค์ท่านซึ่งประทับสันโดษอยู่กำลังทรงพระอักษรด้วยอารมณ์สงบ และด้วยแผ่นกระดาษข้างท้ายที่เหลือว่าง เป็นฉบับเดียวกันกับที่บุรุษทหารได้ชุบเลือดเขียนถวายไว้เมื่อ ๒ ปีโน้น แต่ถึงจะ ๒ ปี ซึ่งมิได้ข่าวเดือนอีกเลย พระองค์หญิงก็ทรงคิดว่าเสมือนทหารพระบัณฑูรนั้นเคียงเฝ้าอยู่เสมอ กระทั่งศึกมาประชิดพระนครทุกด้าน กระทั่งทัพไทยยับเยินสิ้นทุกทัพ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นแต่งให้ข้าหลวงคนสนิทลอบมารับหม่อมห้ามและบรรดาหม่อมเจ้า อันเป็นพระโอรสธิดาออกไปอยู่ ณ ค่ายเมืองปราจีนบุรี แต่ข่าวของเดือนก็คงสูญ มิได้ร่องรอยเช่นเดิม

เมื่อทรงรำลึกถึงถ้อยคำของเดือนที่กล่าวไว้แล้ว จึงตระหนักพระทัยว่าอย่างไรเสียก็คงจะไม่ได้พบหน้ายอดทหารพระบัณฑูรอีก จึงทรงพระอักษรไว้ล่างลายมือเดือน พรรณนาความประหนึ่งว่า แม้สิ่งอื่นจักแพ้แก่วาสนาแล้ว แต่ลายลักษณ์อักษรทั้งสองนี้จะอยู่ร่วมกัน ดังทรงไว้ประหนึ่งเป็นเครื่องเตือนพระทัย ดังนี้

“เจ้าของเลือดและลายอักษรนี้เห็นจะตายแล้ว สัญญาไว้ว่าหากพระนครถูกล้อมด้วยศึกสักร้อยหมื่นก็จะยกมาหัก จึงศึกครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นสิ่งที่ทำนายได้ว่า สิ้นชีวิตพ่อเดือน ๒ ปีแล้ว พ่อเดือนเอ๋ย พระองค์หญิงของหลวงกลาโหมได้คอยพ่อมา ๒ ปี ศึกก็มาติดแล้ว ยังคอยแต่วันเสียพระนคร และพระธิดาพระบัณฑูรจักต้องตกไปเมืองพม่า แต่อักษรนี้จักฝังฝากไว้ในแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของฉัน แม้เราทั้งสองจะตายห่างกันมิว่าแห่งหนตำบลไหน แต่ลายมือของสองเราก็ประจักษ์อยู่ร่วมกันแล้ว และขอบุญกุศลในชาตินี้อยู่ค้ำชูให้เราเกิดในสกุลเสมอกันในชาติหน้า เมื่อนั้นเราจักอยู่ร่วมหมอน”

แล้วก็ซบพระพักตร์กันแสง ถึงพระชนม์ท่านจะใกล้ ๓๐ หรือกาลได้ล่วงไปแล้ว ๒ ปีเต็ม แต่พระฉวีวรรณก็ยังเสมอเหมือนรุ่น เป็นแต่เศร้าคล้ำเพราะทุกข์ถึงประการเดียว และการขณะนั้น เมื่อซบพระพักตร์กันแสงอยู่ ก็พอดีข้าหลวงมาทูลว่ามีผู้มาคอยเฝ้า ครั้นเงยพระพักตร์ ท่านก็เห็นหญิงหนึ่งกับบุตรเล็กยืนอยู่นอกประตู

“ยมโดยหรือนั่น” ท่านรับสั่งทักแปลกพระทัยที่เมียหลวงภักดีจูงลูกมาเฝ้าหน้าตื่น “ธุระอะไรรี อ้อ เอาลูกมาด้วย หนูมานี่ซิ”

เด็กน้อยนั้นหน้าตาเหมือนหลวงภักดี และเป็นชาย ก็วิ่งเข้ามาซบพระเพลาด้วยคุ้นเคย เมื่อข้าหลวงพ้นห้องไปแล้ว ยมโดยจึงกรากมากราบพระองค์ท่าน และทันทีนั้นเอง นางข้าหลวงเก่าก็น้ำตาหยด

“หม่อมฉันไม่อยากจะทูลให้ทรงทราบเลย แต่เป็นเรื่องสำคัญนัก ถ้าทรงทราบ อย่าเพิ่งตกพระทัยก็แล้วกัน”

“เอ๊ะ อะไร ยมโดย เรื่องสำคัญอะไร”

“ที่รับสั่งว่า เสด็จในกรมตั้งทัพอยู่ประจินจะยกมาช่วยนั้น และสงสัยว่าพี่เดือนจะไปพึ่งอยู่”

“ก็นั่นน่ะซี แล้วยังไงอีกล่ะ ยมโดย”

“หามิได้เพคะ พระองค์หญิง” ข้าหลวงทูลเสียงสะอื้น “หลวงภักดีบอกหม่อมฉันสักครู่นี้เอง ว่ามีคนลือกันว่า ทัพเรือที่แตกถอยมาวานซืนนั้น มีพี่เดือนยืนรำดาบอยู่หัวเรือนำหน้า และพม่ายิงตกน้ำตายแล้ว”

รับสั่งเต็มเสียง

“ต๊าย โธ่ พ่อเดือนตายแล้ว ไม่รู้ข่าวกันเลยว่าอาสาไปทัพ โธ่ พ่อเดือนตายแล้ว”

แล้วก็ทรงกันแสงอีก รำลึกถึงพระอักษรที่ทรงจบเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นสิ่งทำนายว่าจะสิ้นชีวิตพ่อเดือน แล้วจึงทรงยื่นกระดาษข่อยขาวซึ่งมีอักษรนั้นให้ยมโดยอ่าน

กำลังตกพระทัย และทรงเห็นว่ากาลที่สุด ทั้งชาตาพระนครก็ร่อแร่นัก จึงทุกสิ่งที่เคยปกปิดตลอดมากระทั่งบัดนี้ พระองค์หญิงก็ทรงสารภาพหมด ทรงเล่าด้วยต่างๆประการ ถึงเหตุเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ประทานแก่นางข้าหลวงแล้ว ทรงปรารภถึงพระองค์และสิ่งร้ายอันจะต้องเกิดขึ้นต่างๆประการ

“พวกเรากำลังจะสูญนะ ยมโดย” รับสั่งปรับทุกข์ต่อไปอีก “อย่าช้าอีกไม่ถึงเดือน พวกเราจะตายหมด รู้ไหมล่ะ”

“อย่าเพิ่งทรงวิตกเลย”

ข้าหลวงทูลปลอบพระทัย แลชำเลืองบุตรซึ่งทรงกอดอยู่ แล้วยมโดยเองก็ใจคอไม่สู้ดีเช่นเดียวกัน เพราะเสียงปืนที่ไม่ห่างหู ทั้งกระสุนตกต้องบ้านเรือนและผู้คนป่วยตายมากเสมอ ทุกวัน ทหารถึงจะขึ้นประจำป้อมและเชิงเทิน ก็สักแต่ประจำพอเป็นหน้าที่ มิได้เข้มแข็งหรือเต็มใจจะสู้รบกับข้าศึกเท่าใดนัก

จึงไม่ทรงเห็นด้วยกับคำทูลของข้าหลวง และรับสั่งว่า

“อย่าปลอบฉันเช่นนั้นเลย เรามาร่วมความคิดปรึกษากันดีกว่า ปรึกษากันว่าเราจะคิดฉันใดดี ถ้าหากพระนครนี่ต้องเสียแก่พม่าข้าศึก หากเรานิ่งอยู่เช่นนี้แล้ว อย่างไรเสียก็ต้องตาย หาไม่ก็คงมิพ้นต้องเป็นเชลยแก่เขา ต้องไปอยู่เมืองพม่าอังวะ”

“กระหม่อมฉันก็สิ้นปัญญา ได้เคยถามหลวงภักดีเหมือนกัน แต่เขาก็ได้แต่ตอบหนักใจ เพราะรอบกรุงล้วนแล้วแต่ทัพพม่าทั้งสิ้น จะหนีออกก็เท่ากับไปให้ถูกฆ่าตายเสียเร็วๆเท่านั้น”

“กรรมเรา” รับสั่งทอดอาลัยแล้วรำพันว่า “เป็นกรรมของศรีอยุธยาที่จะดับรัศมี โธ่เอ๋ย หากมิสิ้นทูลกระหม่อมท่าน และราชสมบัติเป็นของท่านแล้ว บ้านเมืองจะเกิดแก่งแย่งเป็นยุคเข็ญหรือ ทหารก็จะเพียบแผ่นดิน ล้วนทรงฝีมือและรักใคร่กลมเกลียวกัน เพียงศึกเท่านี้ก็น่าจะใช้ทหารตีแตกถอยไปเสียนานแล้ว ไม่อาจกำเริบมาตั้งยิงฆ่าพวกเราได้ทุกๆวันเช่นนี้เลย”

แล้วก็ทรงเล่าความเป็นเชิงรำพันและสลดพระทัยถึงชาตากรุงศรีอยุธยาที่จักสิ้นเสียแล้ว ด้วยปฐมเหตุสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ทรงโลภหลงในราชสมบัติ มิได้เห็นความร่มเย็นของข้าแผ่นดิน ทรงสำแดงรังเกียจแก่พระอนุชา จนเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงเบื่อหน่าย เสด็จหนีไปทรงผนวชเสียพร้อมด้วยข้าราชการทหารฝีมือดี ที่เหลืออยู่ส่วนมากก็ล้วนแต่ผู้เขลา มิใส่ใจแก่ราชการงานศึก จึงทรงเห็นว่าแน่แล้ว ศรีอยุธยาใกล้จะสิ้นตามทำนาย แล้วจึงทรงท่องทำนายชาติเมืองแต่โบราณ

๏…...…………………… ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์ จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สารสัตว์เนื้อเบือ นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาฬจะมาผลาญแผ่นดิน จะสูญสิ้นการรณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว …………………………....

มิทันทรงท่องทำนายโบราณจบ ทั้งเด็กน้อยและพระองค์เองกับนางข้าหลวงก็ตระหนกขวัญผวากอดกัน เสียงปืนกระหึ่มขึ้นรอบพระนครข้างด้านเหนือและฟากใต้ กระสุนตกไปทั่วทุกหนแห่ง และหนักหนายิ่งกว่าทุกวัน แม้นางข้าหลวงและนางใช้ประจำพระตำหนักก็พากันวิงอลหม่านด้วยเสียงร้องตะหนกตกใจไปตามกัน

ครู่นั้น บุรุษหนึ่งก็วิ่งสุดฝีเท้าขึ้นพระตำหนักตรงมา

“เออ สิ้นเคราะห์”

หลวงภักดีพูดยังไม่หายหอบ เมื่อเห็นบุตรและภรรยาอยู่พร้อม ก็อ้าแขนรับบุตรชาย ถอนใจใหญ่

พระองค์หญิงรับสั่งถามละล่ำละลัก

“เป็นอย่างไรบ้าง หลวงภักดี ถ้าจะเป็นอย่างไร”

“หนักพ่ะย่ะค่ะ อย่างไรเสียก็คงถูกปล้นเมืองคืนนี้แน่ เพราะเห็นข้าศึกเตรียมการใหญ่” สามีแม่ยมโดยทูล น้ำตาคลอๆ “กำแพงเมืองก็ถูกไฟล่มทรุดแล้ว นี่หม่อมฉันมาหาลูก จะฝากลูกและยมโดยไว้แก่พระองค์หญิงเพราะแต่นี้ต่อไปจะมามิได้อีกแล้ว”

ยมโดยจ้องหน้าสามีแล้วก็ร้องไห้

“มิตายหมดหรือเรา โธ่เอ๋ย ลูกยังเล็กอยู่ เกิดมามิทันจะกี่ขวบ”

“ตามกรรมเถิด ยมโดย”

พระองค์ท่านยิ่งทรงกันแสงหนัก พระทัยสั่นรับสั่งผิดๆ ถูกๆ เสียงปืนโทรมพระนครก็ยิ่งครางกระหึ่ม เสียงกระสุนตกต้องหลังคาเรือนและพระตำหนักใกล้ๆ หลวงภักดีก็กอดบุตรแน่นขึ้น จ้องหน้าภรรยาและพระองค์หญิง พลอยร้องไห้ แล้วน้ำใจทหารก็เกิดมานะ ทูลฝากฝัง ทั้งความจริงที่ทราบ

“หม่อมฉันจะต้องทูลลา แต่นี้ต่อไปคงมาไม่ได้อีก ทัพเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธที่ว่าจะมาช่วย ค่ายหน้าที่ปากน้ำโยทะกาก็แตกถอยไปแล้ว ทัพเรือป้องกันพระนครก็ยับเยินหมด เจ้าคุณเพชรบุรีก็ตายแล้วกลางศึก จึงไม่เห็นหนทางว่าผู้ใดจะรักษาไว้ได้ หม่อมฉันก็ต้องล้อมพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ จึงขอฝากลูกและยมโดยด้วย”

“ฝากฉัน โธ่ หลวงภักดี ฝากฉันแล้วจะหนีพ้นตายอย่างนั้นหรือ”

“ก็ยังพอมีเพื่อนตาย เพราะไม่แล้ว หม่อมฉันจะพาไปได้อย่างไร”

แล้วหลวงภักดีก็จูบบุตร สั่งเสียภรรยาเป็นครั้งสุดท้ายให้อยู่แต่ที่พระตำหนัก คิดว่าอย่างไรก็พอจะรู้ทีกันเมื่อฉุกเฉิน แล้วก็หักใจอำลาไปทั้งเสียงปืนป้อมที่ยิงโต้ตอบจากป้อมมหาไชย และปืนพม่าที่ยิงโทรมพระนครทุกทิศนั้น กลบเสียงใดอื่นเสียสิ้น

ส่วนพระตำหนักน้อยต้นจันทน์นั้น แม่ยมโดยข้าหลวงก็ได้แต่กอดบุตร และพระองค์หญิงเล่าก็ทรงแนบพระสมุดประทับพระทรวง

“พ่อเดือนเอ๋ย มาหนีตายเสียก่อนหญิง เขาจะปล้นกรุงและปล้นหญิงไปสู่อังวะแล้ว จะรู้หรือ ท้องแม่น้ำก็จะเป็นเรือนของพ่อเดือน แล้วทหารพระบัณฑูรสิ้นชีพเสียก่อน ด้วยหนีรักไปโดยเห็นแก่เผ่าราชศักดิ์”

แล้วพระกรจึงโอบกอดรอบคอสนมแม่ข้าหลวงที่เป็นเพื่อนตาย และได้รู้เห็นความหลังกันมา คิดถึงทูลกระหม่อมและสมัยเมื่อสุข สมัยเมื่อศรีอยุธยายังรุ่งโรจน์ด้วยพระบารมีอันอุ่นใจ กับยามนี้เล่า ก็รู้สึกว้าเหว่พระทัย ตั้งพระกรรณสดับเสียงปืนและคอยฟังโห่ร้องกำหนดปล้นพระนคร

ใกล้ ๒ ทุ่ม พระจันทร์ขึ้นแจ่มเด่นดวง ด้วยเป็นวัน ๙ ค่ำ ข้างขึ้น ใต้ร่มจันทน์มิใช่พระตำหนักน้อย แต่หากเป็นไม้จันทน์อายุนานอยู่หลังโบสถ์วัดข้างคนละฟากน้ำคูขื่อหน้าพระนคร เป็นด้านที่สงัดด้วยกองทหารพม่าซึ่งตั้งล้อม เป็นแต่นานๆก็พายเรือผ่านมาตรวจสักครั้งหนึ่ง เพื่อสกัดชาวพระนครที่จะข้ามน้ำหนี

บุรุษหนึ่งยืนอยู่กลางหมู่ทหารของกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งออกจากค่ายปากน้ำโยทะกาที่เสียแล้ว เพราะหมื่นศรีนาวาตายในที่รบ จึงทัพหลวงก็ถอยหนีออกจากช่องเรือแตกขึ้นนครราชสีมาเสียก่อน

ทหารทั้งหมู่นี้ก็สิ้นนาย ยังฝากตัวแก่ผู้มีฝีมือประจักษ์ตาในศึกร่วม ๒๐ คน ทั้งหมู่แทนนายภูบาลและตามั่นทหารมุทะลุ

อีกครู่ เสียงปืนยิงพร้อมจากค่ายเป็นสัญญาณกลองศึกระดมเร่งเร็ว จนผู้อยู่ใต้ต้นไม้จันทน์ตื่นหัวใจนัก

“ข้ามน้ำเถอะ อย่างไรเสีย พม่าคงจะเร่งเข้าปล้นพระนครด้านอื่นแล้ว ทางนี้เราพอจะรอดตายไปได้”

“นั้นซี พ่อหลวง” หมู่แทนก็ร้อนใจนัก เพราะครัวตัวทั้งลูกเมียก็ยังอยู่พร้อมกันทั้งสิ้น “ข้ามเดี๋ยวนี้ละน่ะ เมื่อหนักหน้าก็สู้กัน เพราะบางทีเราจะได้ทันเข้าช่วยกันในกรุงมั่ง”

ออกกลาโหมซึ่งอำลาสูญหายไปจากพระนคร สิ้นเวลา ๖ ปี และเพิงจะมีข่าวลือสองสามวันนี้ว่าถูกพม่ายิงตาย แต่ความจริงหาเป็นดังที่เล่าลือไม่ ที่แท้เป็นผู้อื่น เขายังลังเลใจตัวว่าพระองค์ท่านจะทรงชีพอยู่หรือสิ้นพระชนม์ก่อนแล้ว แต่เสียงปืนและข่าวร้ายแก่ศรีอยุธยา ซี่งพบชาวเมืองปีนกำแพงหนีได้ซักไซ้เนื้อความ ก็หนักใจร้อนใจที่สุด เมื่อคิดทบทวนไปต่างๆ ถึงเรื่องเชลยศึก แต่เมื่อการนี้เป็นส่วนตัวที่จะต้องพาผู้อื่นพลอยเดือนร้อนด้วย เดือนจึงกล่าวถามความสมัครใจ

“ต้องถามกันทั่วๆก่อน คือว่าจะข้ามไปนี้ต้องนึกกันว่าข้ามไปหาความตายด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อผู้ใดทหารเรามิสมัครใจแล้ว ก็อนุญาตให้ถอยไปตามสมัคร จะว่าอย่างไร” คงนิ่งเงียบ จึงถามซ้ำความอีก “ว่าอย่างไร”

จึงมีเสียงตอบซ้อนแซงกันมาว่า

“ทั้งหมดนี้เป็นไทย แม้จะมิใช่ทหารหลวง แต่หากได้ข้ามไปช่วยเพียงลูกบ้านราษฎรอันเป็นชาวเมืองเพื่อนไทยแล้วก็เต็มใจ”

จึงออกหลวงกลาโหมก็แหงนดูจันทร์ ดูแสงอันโอภาสรัศมีเป็นมหาฤกษ์ แล้วก็ยกออกแบ่งพวกหมู่ระวังหลังตามที่มีพลน้อยทั้ง ๓ กอง ให้หมู่แทนและตามั่นเข้าคุมตามหลังมา กระทั่งพ้นวัด เดินเรียบคลองน้อยแฝงมากระทั่งถึงฟากคูเมืองก็พบกองเรือพม่าตระเวนด่านตีฆ้องรับกัน

“หยุด” เดือนยกมือห้ามทหารและโบกสัญญาณให้เข้าซุ่ม แล้วเรียกตามั่นกับนายหมู่ “หมู่แทน มานี่เร็ว ตามั่นด้วย”

สองทหารก็ปราดมา

“เห็นไหม โน่น” เดือนชี้ให้ดูเรือที่กำลังตระเวนอ่าว “พม่าออกเรือตระเวนด่าน เหมาะนักแล้ว ทั้งน้อยคนและมีเรือให้เราพอข้ามน้ำด้วย ตามั่นกับหมู่แทนไปยืนล่อเถอะ ฉันกับนายภูบาลจะซุ่มคนไว้ พอมันขึ้นมา จะเกาะตัวมันทีเดียว เอาทหารไปด้วยอีก ๓ คน มันอะได้ขึ้นจากเรือทั้ง ๒ ลำ สะดวกแก่การเรา”

ตามั่นคัดลูกหมู่ได้พร้อมแล้วก็แล่นไปริมฝั่งน้ำ หมู่แทนนั้นเดินอยู่ท้ายคุมข้างหลังตามกำหนด

ครู่นั้น เสียงฆ้องกระแตถามและขานบอกสัญญาณแก่กัน ไม่ช้า เรือก็ปราดเข้าเทียบฝั่งทั้งคู่ ทหารค่ายอังวะเกือบ ๑๐ คน กรูกันขึ้นมาเข้าห้อมล้อมเพราะเห็นน้อยตัว พอเห็นช่องได้ขณะกับทหารตัวกระจายกันอยู่แล้ว ตามั่นจึงชักดาบปราดโดดฟันเจ้าคนหน้า แล้วการก็เกิดเป็นตะลุมบอน เดือนที่ซุ่มทหารเดินเลียบฝั่งมาถึงก็เร่งพลเข้าล้อมพิฆาต หมู่แทนสันทัดศึกกับตามั่นก็แล่นไล่โดยฝ่ายข้าศึกไม่ทันสำนึกตัว จะหันสู้จึงตระหนกตกใจเมื่อถูกล้อม จักหนีก็สิ้นทางแล้ว หารู้ไม่ว่าทหหารหลวงกองใด หรือทัพโจรซึ่งแต่งออกรังควาน อีกเพียงครู่หนึ่งเท่านั้น พลน้อยของข้าศึกพม่าและตื่นใจไม่รู้ตัวก็ถูกประหารนอนเรียงอยู่ตลอดฟากฝั่งคูขื่อหน้านั้นทั้งสิ้น พลในเรือก็โดดน้ำหนีเอาตัวรอด

จึงทหารทั้งยี่สิบก็ลงประจำเรือมาได้สักเพียงครึ่งแม่น้ำ ก็เห็นแสงเพลิงจ้าขึ้นในพระนคร หลังคาเรือนนั้นติดเพลิงขึ้นทีละหลังไล่ๆกัน

“จ้ำเร็วเถิด พม่าเข้าเมืองแล้ว” เดือนตะโกนทั้ง ๒ ลำ แสงเพลิงนั้นเหมือนจะจี้ถูกหัวใจตัว “มันเผาพินาศหมดแล้ว เห็นไหม”

ฝีพายซึ่งเพียบมาลำละสิบ ก็เร่งพายจนเข้าเทียบฝั่งกรุง กำแพงกรุงด้านสงัดนั้น บัดนี้เห็นแต่คนเผ่นหนีทั้งหญิงชาย พม่าก็คุมกองรายมาจะเข้าจับ เดือนก็ถอดดาบเร่งทหาร

“ฆ่าให้หมด” แต่ที่ปืนหนีนั้นมีทั้งทหารและพลเรือน เดือนจึงตะโกนบอกทหารที่คิดหนี “อย่าเพิ่งหนี เราจะเข้าเมือง นี่ออกหลวงกลาโหม ทหารพระบัณฑูรจะเข้าเมือง จงช่วยกันก่อน”

เมื่อเป็นที่รู้กันอยู่ทั้งชื่อและฝีมือ บรรดาทหารป้อมและเชิงเทินที่จะหนีก็หันเข้าคุมกันอีกเป็นหมู่เป็นกอง เมื่อการได้สมคิดแล้ว เดือนก็แล่นนำ

“พี่น้องไทยทั้งหลาย จงตามหลวงกลาโหม”

ขาดคำนั้น กองทหารอันมีพลเกือบห้าสิบ ก็แล่นเข้าประจัญบาน ทั้งกองดาบและเขน กองโล่ดั้งซึ่งผสมกันก็มุมานะ ปล่อยให้ผู้คนพลเมืองทั้งเด็กและหญิงหรือผู้เฒ่าพ้นไป องครักษ์องค์พระบัณฑูรทหารยอดฝีมือก็แล่นเข้าปะทะศึกด้วยมานะ และร้อนใจที่จะเข้ากรุงได้ทันเชิญเสด็จองค์หญิง ก่อนที่จะตกไปเป็นเชลย ทหารอื่นอันเคยฝากฝีมือด้วยเห็นมาแล้วก็กลับฮึกโหมให้เข้าประหารตั้งหน้าสู้ เร่งสู้รุดไปอีก กระทั่งพลศึกข้างหนึ่งปั่นป่วนยับลง แล้วแล่นเรียบมาตามกำแพงถึงประตูพระราชวังหลังซึ่งเปิดให้ราษฎรหนีออก เมื่อเข้าประตูเมือง บ้านเมืองของศรีอยุธยาเมื่อนี้ ก็สว่างดังกลางวันด้วยพระเพลิงติดหลังคาเรือน ปราสาทราชฐานก็ลุกรุ่งโรจน์ มนุษย์ชาวเมืองล้มร่วงดุจใบไม้ถูกริดด้วยดาบ ออกหลวงกลาโหมก็เข้ารัดชีพทหารนั้นด้วยใจกระหึ่มเพราะบ้าเลือด และบ้าที่เห็นเผ่าไทยต้องล้มตายน่าอนาถ มิเคยเห็น แล้วก็ประจัญบานละตลอดมาโฉมทิศสู่วังกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ที่ประทับ

เพลิงพลุ่งขึ้นทั่วเมืองแล้ว ๙ ค่ำ เดือน ๕ ข้างขึ้น วันอังคารปีกุนนี้เป็นนางสงกรานต์ ซึ่งกรุงศรีอยุธยาต้องกลายเป็นที่เที่ยวอันละเมิดทางของข้าศึก พระตำหนักน้อยต้นจันทน์ แม้เพลิงยังจะไปยังไม่ถึง แต่ทหารข้าศึกได้ถึงแล้ว เข้าค้นพระตำหนักใหญ่เก็บเข้าของเงินทองริบเล่นตามสนุกแล้วจ่อเพลิง หลวงภักดีที่คุมทัพราชองครักษ์แตกมาก็รุดหนีมาแต่ผู้เดียวขึ้นสู่พระตำหนัก บุตรน้อยหลวงภักดีกับแม่นั้นกอดมันกับองค์พระธิดามหาอุปราช หน้าเผือดดังผู้สิ้นชีพ

“เชิญเสด็จเดี่ยวนี้ เร็ว ยมโดยอุ้มลูกเดี๋ยวนี้ ไปออกทางประตูจีน” ทรงกอดพระสมุดซึ่งยังถืออยู่ ทรงยืน แต่ขาดคำหลวงภักดีก็เสียงฝีเท้าระทึกเข้ามา เสียงโห่จากพระตำหนักใหญ่ โฉมหน้ามาทางสวนต้นจันทน์ หลวงภักดีกอดดาบทูลและบอกกับภริยา “ไม่ทันเสียแล้ว แต่ที่จะเป็นเชลยก่อนตายนั้นอย่าหมาย”

และขณะนั้น ทหารข้าศึกก็วิ่งพัลวันขึ้นมา คนแรกกลิ้งมิรู้ตัวด้วยดาบราชองครักษ์ คนหลังก็ทำนองเดียวกัน แล้วจึงกรูกันขึ้นจะล้อมหลวงภักดี แม้สถานที่แคบพอจะบ่ายเบี่ยงสู้ฝีมือได้ แต่ก็ยากแก่ฝีมือผู้เดียวของหลวงภักดีซึ่งพลาดถูกฟันเซมาปะทะภรรยาและบุตรเล็ก

ขณะนั้นจึงเสียงอึงคะนึงที่เชิงบันไดพระตำหนักและตามชานระเบียง ก็ได้ยินแต่เหล็กดาบกระทบกัน เสียงสั่งรบสั่งตะลุมบอนและตะโกนกู่หาพระองค์หญิง

“ประทับอยู่ไหน พระองค์หญิงประทับอยู่ไหน ขานสักหน่อย นี่ออกหลวงกลาโหม”

ท่านทรงกันแสงโฮด้วยปีติ พ่อเดือนยังไม่ตาย ทหารพระบัณฑูรที่กำลังระลึกถึงมาแล้ว ก็ทรงขานรับ

“อยู่นี่ พ่อเดือน เร็วซี ช่วยหลวงภักดีด้วย”

ทหารศึกที่จุกช่องประตูล้มร่วงอีกทหารหนึ่ง ที่กรากจะซ้ำหลวงภักดีนั้นก็พับไปโดยสิ้นเสียงร้อง ศีรษะตกอยู่แทบเท้าหลวงภักดี และครู่นั้น ทหารของพระบัณฑูรก็ประจักษ์แก่พระเนตร ดาบสองมือชุ่มตลอดด้วยเลือดชุ่มแขนและผ้าเสื้อหหารค่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ

“เชิญเสด็จเถิด ไป หลวงภักดี ตั้งสติให้ดี” เดือนตรงเข้าเขย่ามือ เห็นนางข้าหลวงอุ้มเด็กน่ารักละม้ายแม่ ทั้งหลวงภักดีก็เข้าใจความ “อ้อ ยมโดย ลูกหรือ ดีดี อย่าตกใจ อ้ายเดือนจะพาหักออกให้ได้”

แล้วเรียกนายหมู่แทนกับตามั่นให้คุมลูกหมู่เข้าล้อมวง ยมโดยกับสามีนั้นเคียงกัน และนายหมู่แทนเข้าคุมใกล้ๆ พระองค์หญิงทรงโผประทานพระหัตถ์ให้จูง

“พ่อเดือนต้องระวังหญิงนะ ชีวิตหญิงนี้ให้แล้วแก่พ่อเดือน”

“ให้สักหมื่นหนึ่ง องค์หญิงเอ๋ย ๖ ปีแล้วที่ได้ทันมาถวายกตัญญูเช่นนี้ ใครเล่าจะหนี เสด็จเกาะหลังเถิด”

แล้วถอดดาบถือแต่เพียงเล่มเดียว มือชุ่มและลื่นเลือดที่สวมธำมรงค์ก็จูงพระกร หลีกศพอันหาหัวมิได้ หลีกซากสะพายแล่งและแขนขามิติดตัว ออกสู่หน้าลานพระตำหนัก ให้ทหารเข้าไปล้อมอีกเป็นชั้นๆ หมู่ละ ๓ หรือ ๕ และแยกออกประตูวัง แสงเดือนก็ขับด้วยแสงเพลิงทั่วพระนคร เสียงทั่วพระนครนั้นล้วนแต่อาวุธกระทบกันยิ่งจลาจล เสียงให้เหมือนพระนครตื่นร้องไห้ระงมเสียงโห่กระหึ่มด้วยพลพม่ายกเข้าสู่กรุงทางด้านป้อมมหาไชย มหาปราสาทอันเป็นที่ประทับงามดังสวรรค์เมืองฟ้านั้น พินาศลงแล้วด้วยเพลิงด้วยฝีมือพม่าข้าศึกเผาผลาญ พระองค์หญิงก็มิทันได้เก็บทรัพย์สมบัติสิ่งใดติดพระหัตถ์ออกมาเลย จึงได้แต่ทอดพระเนตรลาพระตำหนักน้อยต้นจันทน์ พระตำหนักซี่งเคยประทับตั้งคอยทหารของพระบัณฑูรถึง ๖ ปีเต็ม แต่การมาเฝ้าของพ่อเดือนกะทันหันนี้ก็ต้องตะลุยเลือดมาอย่างจงรักภักดี

ทหารคงล้อมมากระทั่งถึงประตูเจ้าจันทน์กุฏิทั้งสามก็ประจันหน้ากับกองเรือพม่าซี่งลาดตระเวนออกไล่จับราษฎรที่ข้ามแม่น้ำ เดือนจึงตะโกนแก่บรรดาทหาร

“วิ่งเข้ารบ อย่าให้ทันตั้งตัวได้ เอาเรือข้ามให้ได้”

หลวงภักดีก็แล่นขึ้นหน้าภรรยา ตามั่นกับทหารประดาทัพวิ่งปาดเข้าใส่ แต่สักครู่ เดือนก็ได้ยินเสียงหมู่แทนตะโกนอยู่ข้างหนี

“คอยก่อน ออกหลวงกลาโหม คอยก่อน”

เมื่อเหลียวไปก็เห็นหมู่แทนคุมทหารห้อมล้อมมาทั้งหมู่ และเมียลูกอันเป็นครัวของหมู่แทนสี่ห้าคน จึงเข้ามาร่วมหมู่ แล้วหัวหมู่ก็วิ่งเข้าใส่ข้าศึกพวกเรือตระเวนด่านนั้น เมื่อแรกสำคัญว่ากองราษฎรจะคิดหนีจึงต้อนพลเข้าจะจับเป็นเชลย แต่ครั้นรู้ว่าเป็นทหารทั้งฝีมือก็ล้วนองอาจ จึงพากันแตกระส่ำระสาย บ้างหนีเลียบตามกำแพงเที่ยวระดมพวกกันจะมาคุมครัวหมู่แทนก็ลงเรือพร้อมกับหลวงภักดีและทหารอื่น บ่ายหัวเรือออกกลางน้ำ แต่บนฝั่งก็ยังรบติดพันอยู่

พระองค์หญิงประทับแอบดาบอยู่ในอ้อมแขนออกหลวงหนุ่มผู้ทรงฝีมือ ยิ่งใกล้จะลงเรือ ศึกก็ยิ่งรุกกระชั้น ทหารล้อมก็เสียชีวิตสู้ตายลงทีละคน บ้างก็พลัดพรากเข้าสู่ราษฎร บ้างกระโดดน้ำหนี แต่ข้าศึกก็ร่วงโรยจนเหลือแต่ ๒ คน แล้วคนหนึ่งก็ล้มสิ้นชีพพลัดตกน้ำ จึงปล่อยประทับแต่ลำพัง จนเร่งศึกพอชักอีกดาบปราดออกสักครู่ก็เป็นศพกลิ้งไป หลวงกลาโหมจึงหันมาเชิญเสด็จก้าวสู่เรือ บ่ายหัวออก ทรงเหลียวดูพระมหานครอันกระจ่างด้วยแสงเพลิง รับสั่งว่า

“กรุงศรีอยุธยาต้องสูญแล้ว นี่เราจะไปไหนกัน เขาไปไหนกันหมด”

“คงขึ้นบก พลัดกันหมด แต่วางพระทัยเถิด เพราะยมโดยกับสามีเขาก็รอดเป็นเชลยแล้ว เพราะทหารทั้งลำฝีมือดีทั้งนั้น”

“แล้วเราจะไปไหน”

“ขึ้นบางกอก”

เสียงฆ้องกระแตไล่หลังมาก็พอหัวเรือเกยฝั่ง ออกหลวงผู้ทรงฝีมือจึงถวายแขนให้เกาะขึ้น แล้วเชิญเสด็จขึ้นเหยียบทุ่ง พระองค์หญิงทรงกันแสงเมื่อทอดพระเนตรข้ามน้ำไปเห็นพระนครปราสาทราชมณเฑียรซึ่งกำลังพินาศอยู่ด้วยเพลิงผลาญ รับสั่งอำลา

“ลาก่อนกรุงศรีอยุธยา พระตำหนักและทูลกระหม่อมที่สิ้นบารมีไปแล้วเช่นกรุง”

เกรงจักช้าเสียการ เดือนยอดทหารฝีมือดีของพระบัณฑูร ตรงเข้าอุ้มพระองค์หญิงออกวิ่งตัดทุ่งปากข้าวสารตะคุ่มไปตามมืดที่หลบแสงเดือน เห็นแต่ท้องฟ้าแดงจับตามเมฆมาเป็นทางเพลิง จนเข้าสู่ละเมาะก็ปล่อยให้ทรงพระดำเนินต่อไป

เพลาก็รุ่งแล้ว เห็นแสงทองจับปลายละเมาะไม้ อันเป็นหนทางจักตกทุ่งแสนแสบในมิช้านี้ ซึ่งนับเป็นเพลาเสียกรุงแก่พม่าข้าศึกได้ ๓ วัน ออกหลวงกลาโหมผู้พลัดหนีมาจากมิตรสหายด้วยหลงทาง ต้องรอนแรมรีบเชิญเสด็จหนีมา แม้เขาจักแสนยากคับแค้นด้วยอาหาร ต้องเที่ยวขอแก่ชาวบ้านกินตลอดหนทางมายแต่ชั่วอิ่มตัวและพอถวายพระองค์ท่านชั่วมื้อหนึ่ง และเดินอ้อมทั้งหลบหลีกเข้าดงเพื่อหลบทนทางแก่ข้าศึกตลอดมาก็ดี ขัดห้างถวายให้ทรงบรรทมในเพลาค่ำคืน และตัวต้องนอนดินเป็นยามโคนไม้ ดุจองครักษ์พระบัณฑูรก็ดี ตลอดจนความลำบากยากแค้นในการณ์ข้างหน้าที่ยังมิแน่

แต่การนี้ ออกเดือนหาได้พรั่นพรึงสะทกสะท้านน้ำใจไม่ ซ้ำกลับปีติเสมอว่า เพราะการหลังแล้วมานั้นหวุดหวิดนัก ถ้าหากอ้ายเดือนนี้เพียงไปช้าสักหน่อยหนึ่ง ถึ่งชั่วทุ่มแล้ว วรกายพระองค์หญิงตลอดจนพระรูปพระโฉมอันสุดแสนงามนั้น ไฉนจักพ้นมือพม่า ทั้งพระเกียรติก็จะต้องถูกขยี้หยามให้ป่นไปดุจเป็นนางทาสเชลยศึก กำลังคิดเพลิดเพลินและทอดตาไปอื่น ทั้งทุ่งนาป่าละเมาะเบื้องหน้าและตะวันส่องแสงรุ่งเรือง ก็พลันกิ่งไม้น้อยหักตกมาตรงหน้า เมื่อแหงนขึ้นดูเล่าองค์เทพพระธิดาแม่ไม้รักษาคบกำลังประทับ ทรงพระสรวล ชูสองพระหัตถ์ให้

“รับฉันด้วยซี กลาโหม หรือเมื่อไม่รับ ก็ไม่ปรารถนาลงเหมือนกัน สุดแต่ใจเถอะ”

ออกเดือนก็พลันลุกยืน

“แม้มิยอมเสด็จลง หม่อมฉันก็จะขึ้นไปถวายอุ้มเดี๋ยวนี้”

“พูดพิกลขึ้นทุกๆวันละนะ พ่อหลวง”

“หลวงเหลิงที่ไหนมี พระองค์เอ๋ย บ้านเมืองมาคราวยุคเข็ญเป็นไปเช่นนี้ ยศศักดิ์ใครจะมีอยู่ เอ้า เสด็จลงเถิด ทรงเหยียบแขนหม่อมฉันลงมา”

ออกเดือนก็เอื้อมแขนเกาะคบไม้มั่นเชิญเสด็จ ท่านก็ทรงพระสรวลหลบพระเนตรไปเสียทางอื่น ทรงเหยียบแขนเป็นชั้นๆ แต่พอใกล้ หลวงกลาโหมจึงปล่อยแขนเข้าอุ้ม ทำประหนึ่งพลั้งมือแล้วทรุดลงไปนั่งด้วยกัน

รับสั่งเสียงสั่น ดุจตระหนกตกใจ

“ถึงดินแล้วก็ปล่อยฉันซี พ่อเดือน”

“หม่อมฉันมีอะไรอีกสักสิ่งหนึ่งจะทูลให้ทราบ”

“เออ รำคาญจริง” ทรงถอนพระทัย “พูดกะพ่อเดือน กว่าจะรู้เรื่อง ช่างอดโยกโย้ไม่ได้เสียเลย ไฉนเล่าจะบอกอะไรก็บอกๆเถอะ เมื่อยนัก”

“อพิโธ่ หม่อมฉันอยู่ยังงี้ มิเมื่อยกว่าหรือ ยังไม่บ่นสักคำหนึ่ง”

“นั้นพ่อสมัครเองหรอก” รับสั่งละอายและเร่งเร้า “ไหนล่ะ จะพูดอะไร ก็พูดมาเถอะ ให้เร็วสักหน่อย มิต้องอ้อมค้อมไปเรื่องอื่นอีก”

แต่ออกกลาโหมก็อดจะอ้อมค้อมมิได้ โดยเอยขึ้น

“กรุงศรีอยุธยาก็เสียแล้ว หม่อมฉันจำได้มั่นแล้วว่า วันอังคาร เพลา ๒ ทุ่ม เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๙ ปีกุน ออกเดือนนี้ได้เห็นบ้านเกิดเมืองนอนตัวซึ่งแสนรักได้เสียไปแล้วแก่ข้าศึก”

“ช่างจำละย่ะ นี่หรือไม่อ้อมค้อม แล้วอะไรอีกจะบอกฉัน”

“หลวงกลาโหมแย่งเชลยจากพม่าได้คนหนึ่ง งามยิ่งหญิงศรีอยุธยาทั้งหลายนัก จะให้พระองค์หญิงประทานอนุญาตและขอพระพรสักหน่อยเพราะออกเดือนนี้ต้องเหินรักตรากตรำมาถึง ๖ ปีแล้ว แต่แม่เชลยแม่นั้นอุตสาหะคอยหม่อมอยู่จนตราบนี้”

“พิโธ่ นิ่งฟังอยู่นาน” ทรงสลัดแต่มิพ้นสองแขนออกเดือนไปได้ และยิ่งดิ้นนั้นเสมือนยิ่งเร้าให้รัดหนักขึ้น “ช่างพูดนัก พ่อเดือนเอ๋ย พ่อไม่กลัวกฎมนเทียรบาลหรอกหรือ”

“เพราะกลัวจึงต้องก้มหน้าหนีรักไปเสียก่อน แต่บัดนี้ แม้จักผิดหนักในพระมนเทียรบาลใดๆก็ดี หม่อมฉันก็คิดว่ายังดีกว่าจะต้องให้ข้าศึกมาทำลายพระเกียรติยศเสีย พระองค์หญิงเอ๋ย กรุงศรีอยุธยาก็สูญแล้ว แต่ความรักของหม่อมฉันแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นยังมิรู้จักสูญ ยังจีรังยั่งยืนมาตราบนี้และเสมอตลอดไป” แล้วออกเดือนก็ก้มกระซิบว่า “แม้ผืนแผ่นดินนี้จะเป็นบางกอก ไม้นี้จักมิใช่ร่มจันทน์พระตำหนักน้อย หม่อมฉันก็ขอประทานเถิด”

ทรงแสดงกิริยาฉงน และแบสองพระหัตถ์ให้

“หมดตัวแล้ว ไม่มีอะไรจักให้”

“หม่อมฉันขอประทานตัว ขอประทานตลอดพระองค์หมดสิ้น”

“ก็หากหัวใจฉันมิสมัคร ออกเดือนพ่อมิได้ครบตัวหรือ เพราะขาดหัวใจไปเสียอย่างหนึ่ง”

“แล้วสมัครไปเอง”

ทรงพระสรวล เมินพักตร์หนีไปทางหนึ่ง นึกละอายด้วยแต่ก่อนเคยแต่ทอดองค์อยู่หว่างข้าหลวง แต่ครั้งนี้มาเกลือกอยู่บนตักบุรุษ

“ทรยศแก่เผ่าพระบัณฑูรแล้วออกเดือน”

ท่านรับสั่ง แต่เพียงขาดคำสั่ง ยอดทหารฝีมือดีก็ถือใจแนบจมูกกับปรางท่าน ทูลสรวลเสียงเครือ สองแขนรัดหนักขึ้น

“แม่ยอดเชลยศึก แม้หม่อมฉันจะมิใช่พม่า แต่ก็ฆ่าศึกเข้าชิงพม่ามาแล้ว และเผ่าศรีอยุธยาก็เหลือแต่เพียงพระองค์เท่านั้นแล้ว จึงต้องขอประทานองค์แก่อ้ายเดือนเป็นยอดเชลย”

กลับรับสั่งย้อนว่า

“อ้อ เมื่อไปอยู่ค่ายปากน้ำโยทะกาก็เห็นจะเที่ยวต้อนจับเชลยเช่นนี้หรือไร ฮะ ฟังพูดเถิด ทหารพระบัณฑูรช่างไม่อายแก่ปากเสียบ้าง ที่คุยอวดมาจับเชลยหญิง”

“เพราะทรงบังคับหม่อมฉัน ใช้เป็นเชลยก่อนดอก หรือมิใช่”

แล้วออกเดือนก็รำพันถึงเรื่องเก่าขึ้นถวายแต่ครั้งเชิญเสด็จฝ่าหนีมาจากวัง

“เอ๊ะ แล้วพ่อเดือนจะเป็นเชลยฉันด้วยประการใด” รับสั่งถามไม่สู้เข้าพระทัยนัก นอกจากหยิบผ้าผืนน้อยขึ้นชูอวด แม้จะเก่าแก่เวลานานก็ยังขาวสะอาด “ถ้าเป็นมหาดเล็กละก็ ว่าไม่ถูก นี่ยังไง ผ้าที่ถวายตัว หาใช่เชลยไม่”

“ก็เพราะตั้งแต่วันนั้นหรอกพ่ะย่ะค่ะ น้ำใจอ้ายเดือนก็ต้องตกเป็นเชลยเสียยิ่งกว่าเป็นทาสพม่าอีก อา องค์หญิงเอ๋ย แม้จะล่วงพระขันษามาอีกถึงคำรบ ๖ ปี แต่ก็งามเสียกว่าสาวรุ่นๆ”

ทรงพระสรวลและปัดมือหลวงกลาโหมและผลักไสให้ห่างไป

“มุสาแล้ว พ่อเดือน ปากนี้น่ะเคยได้พรอดสำออยแก่ยมโดยเขาเยี่ยงนี้เสมอ จนเคยตัวแล้วซี จึงได้ใจนัก”

ทหารพระบัณฑูรยิ่งเหิมน้ำใจขึ้นกว่าเดิม ๖ ปีมาแล้วเต็มๆ ซึ่งห่างเหินกัน เมื่อใกล้แก่กันครั้งไร ก็มักจะต้องเป็นเพลาศึกสู้รบ และบัดนี้กรุงศรีอยุธยาก็สูญแล้วอยู่เบื้องโน้น ขณะนั้นเอง พระองค์หญิงก็ทรงลุกขึ้นวิ่งหนีจนเข้าสู่ละเมาะไม้ แต่มิช้าก็อ่อนพระทัยกำลัง ถูกจับได้ในละเมาะไม้นั้น

“ประทานรักแก่หม่อมฉันเถิด”

ทหารกล้าเข้าอุ้มสวมกอดพระองค์ไว้แน่น แม้จะยากไร้เป็นยามเข็ญถึงป่านนี้ ต้องทรงสละถิ่นฐานและพระตำหนักอันสมควรแก่เผ่าราชศักดิ์ หากแต่ผู้มีเผ่า แม้จะยากเข็ญประการใดก็ยังทรงไว้ซึ่งราชศักดิ์นั้น

“ข่มเหงหญิงแล้วซี พ่อเดือน” ท่านรับสั่งอายๆ “นี้หรือทหารรักษาองค์พระบัณฑูร และเอ่ยปากภักดี อ้อ ครั้นเผลอก็แอบ...”

“จูบ” เดือนต่อคำ “โธ่ พระองค์เอ๋ย อย่าว่าแต่เดือนอันมีศักดิ์เสมอนี้เลย ถึงพระองค์ชายอื่นหากประสบเข้าเช่นนี้ก็จะต้องรักตาย”

“มุสาละก็เป็นเอกนัก มีหรือ ในโลกนี้ว่าเขารักกันตาย ดูเถิด ข่มเหงฉันอีกแล้ว”

“เดือนนี่แหละจะรักตาย เออ ก็ทำไมจะห้ามรักกันไว้เล่า เพราะเพียงพระภูษาทรงก็หอมตลบแล้ว ใครจะเว้นได้”

“ย่ะ นี่เคยจูบผ้านุ่งชายห่มนางข้าหลวงฉันบ่อยละซี”

“ยังเลย เป็นความสัตย์” หลวงกลาโหมกระซิบทูล “แล้วอย่าทรงอึงไป เมื่อคืนนี้หม่อมฉันอดนอนเป็นคืน ๓ มิหลับเลย ง่วงนักหนา”

“แล้วจะทำไม”

“ขอประทานตักพอเอนสักงีบเดียว แล้วจะอดนอนอีกสัก ๑๐ รุ่ง ก็มิว่า”

ทรงสงสาร เพราะความจริงก็ทรงทราบตระหนักว่า ทหารคู่พระทัยสมเด็จพระบัณฑูร อุตส่าห์เฝ้าโคนไม้มิเป็นอันหลับอันนอนเลย นับแต่เตลิดหนีมา จึงทรุดพระกาย ประทับราบกับพื้น รับสั่งว่า

“อย่าทำเจ้าเล่ห์เพทุบายเป็นอื่นนะ จะบอกให้ หากมิหลับละก็จะโดนดี”

ออกหลวงกลาโหมนิ่งเสีย เอนกายรำลึกเสมือนว่า พระเพลานั่นถึงอย่างไรก็ย่อมประเสริฐกว่าจักนอนหนุนไม้ขอนหรือกลางดิน เมื่อหนุนแล้วก็ดูไม่ใคร่ถนัด พลิกกลับไปมา กระทั่งเมื่อเผลอก็โอบอ้อมพระองค์ท่าน ทูลถามขึ้นลอยๆ

“ทรงตกลงพระทัยแล้วหรือยัง”

“ตกลงอย่างไร”

“สละพระเกียรติประทานแก่หม่อมฉัน” แล้วเดือนก็แหงนจ้องสบพระเนตรพระองค์หญิง ทรงถอนพระทัยใหญ่ รับสั่งเมินๆ “หญิงก็มิรู้จะไปไหนแล้ว เชื้อวงศ์ก็สิ้นแล้ว นับวันแต่จะต้องหลบซ่อนซุกไปวันหนึ่งๆ กว่าจะสิ้นชีวิต แต่พ่อเดือนเอ๋ย แม้การจะป่นปี้ไปแล้วถึงเพียงนี้ ทั้งผู้คนและศรีอยุธยาซึ่งเห็นอยู่ด้วยกัน โธ่เอ๋ย พ่อเดือนจักเคยได้ยินอยู่มั่งหรือว่า มหาดเล็กกับนายตัวเคยประพฤติฝืนประเพณีท่านให้เสื่อมเสีย”

“หม่อมฉันมิเคยเห็น” เดือนทูลเศร้า ๆ เห็นพระทัย รู้สึกเคารพในเผ่าที่ทรงศักดิ์ แม้จักสูญแล้วด้วยสิ่งอัน ทั้งปราสาทราชฐานและราชวงศ์ แต่ผู้ที่เหลืออยู่ก็ยังสงวนศักดิ์นั้นเป็นที่ยิ่ง จึงทูลว่า “หม่อมฉันจะหลับละ ประทานแต่เพียงพระบาทให้หนุนก็พอแล้ว”

“ไม่ได้ พ่อเดือน” ท่านทรงสะอื้น น้ำพระเนตรคลอ รู้ใจเดือนและก็แสนจะรักน้ำใจ “เวลานี้ก็ไม่เห็นใครแล้ว เราอย่าเพิ่งเสียน้ำใจแก่กันเลย ตักหญิงแม้จะเคยกราบนบซบไหว้เคารพกันแต่ก่อน ถืงเช่นนั้นก็นับวันจะเสื่อมไปแล้ว เมื่อสิ้นราชศักดิ์และบารมีของศรีอยุธยา หญิงนี้ก็เสมือนแต่หญิงไทยที่มีชีวิตอยู่เป็นธรรมดาเท่านั้น ตักนี้เสียอีกไม่สมควรแก่ศักดิ์พ่อเดือนยอดทหาร นอนเสียเถิด เดือนเอ๋ย เมื่อตื่น หญิงจะตอบคำแก่พ่อเดือน ขอให้หญิงนี้ได้นั่งคิดความหลังสักหน่อย ขอร้องไห้อีกสักหน่อยเพื่อขอขมาราชวงศ์ท่าน”

ออกหลวงกลาโหมทหารกล้าประนมมือขึ้นกล่าวสัตยาธิฐาน “หากการนี้อ้ายเดือนจักผิดพลั้ง มิสมควร ก็ขอให้สิ้นชีพเสียขณะหลับ”

แล้วทหารพระบัณฑูรก็หลับตาสนิท น้ำตาคลอ กระสับกระส่ายอยู่สักครู่ใหญ่ ลมป่าปลายละเมาะพัดพลิ้วมา และด้วยความแสนง่วงเพราะต้องนั่งยามอยู่หลายคืน มิช้าก็เคลิ้มหลับไป พระองค์หญิงทรงฝืนเมื่อย เมื่อจะพลิกขยับก็สู้ค่อยช้อนศีรษะบุรุษหนุ่มแต่เพียงเบา แล้วก็เหลือจะทรงทนความทุกข์พระทัยอีกต่อไปได้ เพราะทหารผู้ภักดีและวอนอยู่เมื่อสักครู่นั้น สะอื้นทั้งหลับเหมือนผู้ละเมอ

ท่านก็พลอยทรงกันแสง น้อยพระทัยว่าควรจะสิ้นพระชนม์เสียพร้อมกับกรุงพินาศด้วยพระเพลิง ยังจะทรงเกียรติยิ่งใหญ่ และมิต้องทรมานพระทัยท่านเช่นนี้ ครั้นหวนรำลึกว่าเหล่าพระประยูรญาติผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้ งลายเหล่าโน้นก็ต้องตกเป็นเชลยเขาแล้วแก่กรุงอังวะ จึงรำลึกว่าแท้จะเสื่อมศักดิ์ท่านด้วยความจำเป็นก็สมควรหนักหนาที่จะให้เสื่อมแต่ภายในเขตไทยมิแปลกไปอื่น

แม้เดือนผู้หลับสนิทจะเคยเป็นเสมอข้าที่ถวายกตัญญูและภักดีเสมอมา แต่เมื่อทรงรำลึกถึงความดีของเดือน ซึ่งบัดนี้เป็นไทยแต่เพียงหนึ่งเท่านั้นที่ได้เห็น ก็ทรงหักพระทัยรำลึกอีกว่า เขาเป็นบุรุษศรีอยุธยาที่มีเกียรติประดับสูงยิ่งเกินมนุษยชาติอื่นภาษาใด ทรงเสยผมทหารกล้า แล้วซบพักตร์จดหน้าผาก รับสั่งปลุก

“ตื่นเถิด พ่อเดือน ยอดทหารพระบัณฑูร จงตื่นขึ้นฟังคำเถิด”

แต่ออกกลาโหมนั้นเล่า หลับสนิท นานครั้งก็สะอื้นเสียครั้ง และลางคำก็เพ้อบ่นศรีอยุธยาที่สูญแล้ว จักเชิญไปสู่แห่งใดก็สิ้นปัญญาอ้ายเดือน ครั้นจะตามเสด็จต่อไปเล่า ท่านก็ทรงรังเกียจด้วยพระเกียรติท่าน จึงคำท้ายของเดือนนั้นเองที่ต้องทรงกันแสงดัง

“ได้เห็นไทยแต่หนึ่งในยามนี้เท่านั้น พ่อตื่นเถิด”

ขาดรับสั่ง ท่านก็กอดกายช้อนศีรษะเดือนจนผวาตื่น แต่เสียงโห่ร้องบุกรุกล้อมมาแต่แนวไม้ มีครัวหญิงสามสี่คนทั้งแม่ลูกที่ต้องถูกกุมตัวฉุดกระชากมาให้รีบตาม ถึงเช่นนั้น ครัวซึ่งถูกต้อนก็อุตส่าห์ตะโกนบอกให้หนี

“ใครนั่น แม่เอ๋ย หนีเสียเร็วๆ ถ้าอยู่จะตกเป็นเชลยเขา”

ชาวพม่าซึ่งแต่งเป็นกองโจรนั้นปลอมปะปนเป็นไทยออกเที่ยวกวาดต้อนเชลยและค้นหาทรัพย์ ตั้งแต่ตลาดขวัญเมืองนนท์ระเรื่อยมา ข้างใต้ก็ขนาบจากธนบุรีขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ถึงหากจะฟังคำมิออกก็พอจะรู้เค้ากิริยาจึงเมื่อได้ยินตะโกนดังนั้น แม่เฒ่าผู้ตะโกนก็ต้องได้รับโทษจนล้มกลิ้ง แล้วก็พากันวิ่งเกรียวมาเป็นหมู่

เสียงโห่กึกก้องทำให้เดือนสิ้นความงัวเงียทันที ผุดขึ้นนั่งจ้องทหารอังวะซึ่งเกินกว่า ๑๐ และประพฤติผิดเมตตาเช่นนั้นก็แค้นใจนัก เรื่องหนีนั้นอย่าหมายเลย นอกจากไม่พ้นแล้วก็จักได้ชื่อว่าเป็นชายขลาด และก็ครั้งนี้เท่านั้นจักถึงวาระของออกหลวงกลาโหม ศึกหนักหนาครั้งอื่นก็ยังตัวคนเดียวและพรั่งพร้อมเพื่อนทหาร แต่ครั้งนี้ศึกน้อยก็เสมือนมากด้วยมีห่วงอยู่ จักรู้รักหนีก็ตายวันยังค่ำ ก็จะขอสู้ตายดีกว่า ยอมพินาศนอนแผ่นดินต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์หญิงท่านทรงถลาเข้ากอด

“ครั้งนี้สุดชีวิตเราแล้ว พ่อเดือนเอ๋ย ขอให้หญิงได้ตายพร้อมพ่อเดือนเถิด”

“อย่า พระองค์หญิง” เดือนกางแขนกั้น “อย่าทรงเกาะหม่อมฉันเหมือนศึกครั้งอื่น จะเสียการ เชิญเสด็จขึ้นต้นไม้เร็ว ถึงอ้ายเดือนจะต้องทูลลาก็จะถวายฝีมือทหารพระบัณฑูร แม้ศรีอยุธยาจะสิ้นไปแล้ว แต่เมื่อเหลือไทยสักเพียงคนหนึ่ง อ้ายเดือนก็จะสู้ให้มันเกลี้ยงแผ่นดินเสียดีกว่าอยู่อายเขา เสด็จขึ้นเร็วเถิด คอยทอดพระเนตรเถิด อ้ายเดือนจะขอสิ้นชาติต่อพักตร์พระองค์หญิง”

แล้วพระองค์หญิงก็ถูกอุ้มขึ้นสู่คบไม้ ทรงกันแสงโหยหวนดังจะขาดพระทัย ทรงตระหนักดีว่าหลวงกลาโหมนั้นยอมปลงชีวิตตัวเสียแล้วด้วยเหตุผลหลายสถาน สองพระหัตถ์ทหารกล้าที่ชัก ๒ ดาบ ปราดวิ่งจากโคนไม้เข้าสู้ศึกพริบตานั้น

เดือนวิ่งเข้าฟันคนหน้าซึ่งกำลังหันต้อนทหารให้เข้าจับซวนไป ซ้ำด้วยแค้นที่มาบุกรุกเข้าเผาเมืองให้ได้เดือดร้อนตลอดทุกเส้นหญ้าแล้วยังจะตามมาล้างอีก พอคุกเข่าถึงดินก็แต่กายคนละท่อน แล้วก็ถึงนายหมู่และทหารเลว ยิ่งนึกถึงครั้งเมื่อเชิญธงพระยายมราช ศึกสำคัญ เดือนก็ยิ่งมุน้ำใจเข้าหักฟันเอา สองสามถึงสี่ทีได้ถูกปลิดชีพเป็นเครื่องเซ่นแก่แผ่นดินแล้ว แม้ทหารพม่าข้าศึกซึ่งแต่งปลอมเป็นเหล่าโจรมานั้น จะขยาดน้ำใจเพราะเครื่องแต่งกายทหารและฝีมือเหี้ยมหาญของเดือนก็ดี กระนั้นก็เข้าห้อมล้อมรุมฟันจะจับเชลยกล้าเอาแต่เพียงศพ

พระองค์หญิงประทับยึดคบไม้ขบพระทนต์แน่นนิ่งตะลึงอยู่ แม้จะปีติว่าได้ชมฝีมือแกล้วของอดทหารสมเด็จพระบัณฑูรซึ่งประหารศึก ป้องกันพระองค์ไว้ และตายเกลื่อนสี่ห้าศพก็ดี แต่พระองค์ท่านก็สุดตระหนกพระทัยเป็นที่ยิ่ง ด้วยออกกลาโหมพ่อเดือนถูกรุมล้อมหน้าหลังรอบตัวเป็นตะลุมบอนแล้ว บางแผลเปรอะเลอะไป เห็นแต่โลหิตท่วมหน้าท่วมกาย ยืนซวดเซจะสิ้นแรงล้มอยู่ในขณะหน้านี้ ก็ทรงอธิษฐานแก่พระยาไม้ซึ่งประทับอยู่ทั้งเทพยดาเทพารักษ์อันจักต้องพลีและเซ่นสรวงบนบานต่างๆ ขอแต่เพียงให้บุรุษฝีมือฉกาจแกล้วผู้นี้เพียงรอดชีวิตมิถึงฆาต แม้ยามขัดหักเพียงน้อยหนึ่งในสมบัติซึ่งติดพระองค์มา คือสไบทรงก็จะเปลื้องออก ถวายห่มแก่พระยาไม้นี้ไปพลางก่อน ต่อเมื่อหน้ามีพำนักหลักแหล่งและพอหาแล้วเครื่องเซ่นพลี ก็จักถวายทีหลังอีกสารพัดสิ่ง

พลันเสียงอื้ออึงอีกทางหนึ่ง เบื้องหลังชาวอังวะและหงสาวดีนั้น ระหว่างที่ออกกลาโหมยืนซวดเซอะล้มแล้ว ได้แต่อาศัยอิงไม้อยู่เท่านั้น

“หลวงภักดี เร็วเข้าเถิด” พระองค์หญิงทรงโบกหัตถ์และกันแสงอยู่

“พ่อมั่น พ่อแทน อย่าช้าเลย นายภูบาลด้วย เร็วหน่อย พ่อเดือนของฉันจะตายอยู่แล้ว”

“ยืนไว้ก่อน พ่อหลวง” ตามั่นวิ่งปราดขึ้นหน้า “กัดฟันไว้สักอึดใจเถิด นี่อ้ายมั่นมาแล้ว”

หมู่แทนก็ตะโกนเสียงสั่นสะอื้น ทิ้งหมู่ครัวและลูกเมีย ถอดดาบแล่นตามตามั่นมาติดๆ

“พ่อหลวงแข็งใจหน่อย นี่หมู่แทนอีกคนหนึ่ง”

“เอ๊ะ จะลืมฉันเสียกระไรได้” หลวงภักดีตะโกนลั่น เหลียวบอกแก่ภริยาและคนอื่น “อยู่นี่นะ ยมโดย ทุกๆคนอยู่นี่แหละ แล้วเร่งทหารให้เขาตามกันไป”

แล้วก็ยินเสียงเช่นฟันคำรามต่างๆกัน สุดแต่โทสะและความแค้น

อ้า เหล่าศัตรูปล้นเผาเมืองแม้ศรีอยุธยาก็มอดไปแล้วเป็นถ่านเถ้า ดูหรือ ยังมิหนำใจติดตามมาประหารชาวบ้านรายทางอีก หากพบทหารกลาโหมเข้าจึงรู้สำนึก และประเดี๋ยวเถิด จักตายนอนเกลื่อนทุ่ง

ดาบหนึ่ง ตามั่นมุทะลุ และดาบสอง หัวหมู่ทหารพระบัณฑูรซึ่งฝีมือแกล้วหาญละม้ายครู ทั้งหลวงภักดีผู้ชำนาญช่ำชองเคยแก่สงคราม ก็กวาดตะลุยเข้ากลางหมู่ศึกพร้อมกัน หัวขาดทั้งขาแขนก็หล่นเกลื่อนแผ่นดินแฉะฉ่ำอยู่ด้วยโลหิต หญ้าแพรกอันมีพรรณเขียวก็เปลี่ยนเป็นย้อมหม่่นและแดงฉาน

แม้เลือดจะเข้าตางงอยู่ และได้เจ็บสาหัสเพราะบาดแผลเหล่านั้น ออกเดือนยอดทหารศรีอยุธยาก็มานะกัดฟันเพราะสตินั้นเตือนใจว่า ดวงใจอันเป็นที่สุดเสน่หา แม่แอบอยู่บนคบไม้ ก็หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง เมื่อเลือดเข้าตาแล้วฟันกระหน่ำใหญ่จนกระทั่งได้ยินพระองค์หญิงทรงกันแสงตะโกนเรียก ได้ยินออกชื่อออกนามของหลวงภักดีและนายหมู่ แทน ตามั่น เห็นศึกแตกตื่นกระจุยกระจาย ก็รู้ว่าตนนั้นมิถึงฆาต จึงยิ่งเกิดมานะสู้ โหมกำลังฟันตลบตะลุยเข้าหา

นายภูบาลวิ่งสุดฝีเท้านำหน้าทหารมาถึงประจวบกันอีก

“ล้อมไว้ อย่าให้รอดจนชีวิตเดียว ถ้าออกด้านใคร เราจะตัดหัวคนนั้นเสีย”

ตามั่นหัวเราะแค้นๆ เหลียวมาดู

“อ้อ ล้อมแล้วรึ บ๊ะ ยังธี้ถ้าปล่อยให้รอดไปได้ละก็ สิ้นมนุษย์ละ อย่าเกิดเป็นคนเลย ฉันน่ะ ตัดโยนเล่นเสียสี่ห้าหัวแล้ว ว่าแต่อ้ายทุ่งนี้เขาเรียกทุ่งอะไรกันแน่”

นายภูบาลก็ตอบพลางและหัวเราะดุจสนุก ตอบตามั่นว่า

“แสนแสบ นี่ละ มันทุ่งแสนเจ็บแสนแสบละ”

“บ๊ะ นายภูบาล พ่อช่างเปรียบนัก” ตามั่นร้องอึง หัวเราะร่วน “แต่ฉันจะช่างเปรียบ เรียกมันเสียว่าทุ่งพม่าหัวหาย จะเป็นยังไง เอ้าอีกหัวหนึ่งแล้ว”

ขาดคำตามั่น พลพม่าข้าศึกก็ล้มด่าวดิ้นลงหมดชีวิต แม้หัวก็หามีจักติดกายมิได้เหมือนเช่นกัน และบ้างก็สะพายแล่ง มิอาจเล็ดลอดหนีไปได้แต่สักคนหนึ่ง หัวหมู่แทนก็ชูดาบตะโกนขึ้นว่า

“หนำใจกู เอ้า โห่ซิ ตามั่น นับเอาเป็นมหาฤกษ์ขอยเรา เพื่อว่าข้างหน้าจะได้พบกันอีก”

ตามั่นก็ป้องปากโห่ขึ้น สำเนียงลอยโหยหวน จักให้เพราะและฮึกหาญไปในตัวเสร็จ จึงต้องเตือนกันให้ทอดเสียงลง แล้วก็รับกันอยู่กึกก้องร่าเริง ด้วยทั้งได้ชัยชนะและมาพบกันอีกโดยมิคาด

หลวงกลาโหมก็สิ้นแรงล้ม มือซึ่งกำตามก็ค่อยคลาย ด้วยไร้สมประดี แล้วโลหิตนั้นท่วมหน้าท่วมกายชวนให้เห็นอาการนั้นน่าปริวิตกนัก

หลวงภักดีจึงเข้าประคอง รำพันด้วยเป็นห่วงชีพทหารกล้า และให้นายภูบาลเชิญเสด็จรับพระองค์หญิงลงจากคบไม้ ซี่งขณะนั้นพวกครัวที่ยืนตระหนกดูอยู่ ครั้นเห็นเสี้ยนศึกแผ่นดินสิ้นชีพหมดแล้ว จึงกรากเข้ามา ทั้งยมโดยและพระองค์หญิงก็ต่างกรากเข้าช่วยประคอง

“โอ้ ทหารทูลกระหม่อมแก้ว พ่อเอ๋ย” ทรงกันแสงไห้และสะอื้นรำพัน “กลาโหม พ่อเดือนของฉัน พ่อชนะมาร้อยทิศจบแดน เป็นที่ลือฝีมือ แล้วก็ดูหรือยมโดย น้ำใจว่าเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พ่อก็จะเสียชีพมลายตามไปกระนี้ มิน่าเลย”

ยมโดยแม่ผูกใจลึกซึ้งแก่ออกกลาโหมนั้นหนักหนา แต่เมื่อแรกเป็นคนรัก พ่อทนรักทนกรรมคอยมาโดยอยู่ด้วยแสนลำบาก แต่ว่าเวรของออกหลวงหนุ่มนั้นมิสิ้นยังมีกรรมซัดให้พรากผิดคู่กันไปเสีย และพ่อก็มิได้ถือเคืองนึกเป็นกรรมตัว น้ำใจพ่อนั้นประเสริฐนักแล้ว และรักกันดุจฐานพี่น้องอยู่ขณะนี้ ยิ่งยินทรงรำพัน ข้าหลวงพระองค์หญิงก็อึ้งด้วยตีบตั้นหัวใจ ถอนสะอื้นแล้วก็ส่งเสียงไห้

“แม้สิ้นบุญพ่อเสีย ก็เหมือนสิ้นสกลุทหารฝีมือเอกพระบัณฑูรดุจศรีอยุธยาสลายลง และเหล่าเราก็จักว้าเหว่นัก ซึ่งจะอพยพต่อไปอีก เพราะดุจองค์ทัพและฉัตรชัยมาพลันสะนั้นเสีย”

แล้วสองอิสตรีก็พร่ำให้ ทั้งข้าหลวงและพระธิดามหาอุปราช อันโลหิตกลาโหม แม้จักแดงฉานท่วมกายแปดเปื้อนอยู่ก็หาจะคิดรังเกียจไม่ และโลหิตนั้นก็ไหลรินอยู่ทุกแผลดุจธารน้ำเร่งไหลแข่งกัน เหล่าบุรุษซึ่งยืนล้อมดูอยู่ก็พากันใจคอไม่สบาย

ตามั่นทรุดลงปลายฝ่าเท้า พูดสำเนียงเครือจักร้องไห้

“โธ่เอ๋ย พ่อหลวง แต่อยู่ด้วยกันมาเป็นนายเป็นบ่าว อ้ายมั่นยังมิเคยเห็นเช่นนี้ อ้อ ฝ่าเท้ายังอุ่นอยู่ เห็นจะเพียงสลบไปเท่านั้น”

แล้วตามั่นก็ฮึดลุกขึ้น ดูกองศพก่ายของพม่าข้าศึก เที่ยวสำรวจดู หากเห็นสงสัยจะมิตายหรือเพียงสลบก็ฟาดฟันเสียให้สิ้นชีวิต ด้วยความแค้นลึกซึ้ง มันเผาเรือนเผากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยากรุงหลวง อยู่มาชั่วปู่ชั่วทวดให้เป็นถ่าน ทั้งจับเชลยชายหญิงยังไม่หนำแก่ใจ อุตส่าห์ตามมาอีก ก็อย่ากลับแล้วเพื่อให้เป็นที่แม่น้ำใจ ตามั่นก็ปั่นหัวเสียหมดทุกคน ให้ทหารเก็บประดับขึ้นเป็นกองสูง

เห็นเวลาจักเนิ่น และเกรงกองลาดตระเวนหาเชลยของพม่าจะติดตามมาอีก ซึ่งอาจจะทำให้หนักแรงเพราะออกหลวงมาล้มเสียคนหนึ่งและห่วงแก่ครัวเรือน จึงหลวงภักดีก็สั่งตามั่นให้คุมทหารตัดไม้ผูกขึ้นเป็นแคร่หามกว้างขวางพอแก่หลวงกลาโหมจักนอนตลอดไป รวมทั้งพระองค์หญิงให้ประทับเป็นผู้ปฏิบัติไปตามทาง เมื่อสำเร็จแล้วจึงให้ทหารหามมุ่งหน้าเอาตะวันออกเป็นทิศที่ตั้งยกไป

แม้ไก่จะขันเมื่อรุ่งระเบ็งไปตลอดบ้านนาบ้านไร่ตลอดทุ่งและสารทิศอื่นนั้น ลมทุ่งพัดหันหวนอลวนแล้วก็พลันสงบ เห็นแสงตะวันออกขึ้นเรื่อเรืองสันโดษอยู่ดวงเดียว ดุจพลอยเศร้าว่าศรีอยุธยานั้นพินาศแล้ว เหลือแต่ซากเถ้าและถ่านถมดิน เหลือแต่ทหารและพลเมืองซึ่งพลพม่าล้างเสียให้เพลิงบ้าง ด้วยศัสตราวุธบ้าง มิได้ละเว้นว่าหญิงชายหรือผู้ชราแก่เฒ่า ตลอดทรัพย์สมบัติและวัดวาอาราม มหาปราสาทราชฐานซึ่งเคยตระหง่านขึ้นเสียดฟ้ารับแสงตะวันทุกๆขณะเวลานี้มาหลายชั่วอายุคน ก็ล้มโค่นอยู่เหนือผืนแผ่นดิน

บุรุษหนุ่มนอนลืมตาอยู่เหนือแคร่ เพิ่งจะได้สติรำลึกหวนไปด้วยการหลังต่างๆ บางครั้งก็ฉงนใจตัวว่ามาหลับใหลอยู่แห่งหนใด ทั้งฝันกระท่อนกระแท่น เมื่อขณะหลับแล้วย้อนไปความหลังทั้งสิ้น เห็นองค์สมเด็จพระบัณฑูรทรงกวักหัตถ์เรียกออกเดือนกลาโหมให้ไปใกล้ รับสั่งพึมพำให้เตรียมทหารด้วยพระพักตร์เศร้า ยินสำเนียงแจ๋วของแม่ยมโดยทัวเราะเรื่อย เห็นพักตร์พระองค์หญิงแต่รางๆ ทั้งทรงกันแสงและทรงพระสรวลพิกลอยู่ในฝันของตัวนั้น

แต่ออกเดือนก็หารู้มิได้ว่า บัดเดี๋ยวนี้ตัวนอนอยู่ในกระท่อมโรงนาแห่งใดของผู้ใด ตราบกระทั่งยินเสียงอิสตรีร้องไห้กระซิกสะอื้นอยู่ข้าง หากแต่สุดกำลังตัวจะเหลียวเห็น เพราะบาดแผลระบมนั้น

“เอ๊ะ ใครมาร้องไห้หนอ” ออกเดือนถามเปรยๆ มิแน่ใจ” ใครมาร้องให้อยู่ เมตตาให้เห็นหน้าสักหน่อยเถิด”

เสียงสะอื้นก็พลันหายดุจกลืน แล้วโฉมพระธิดาพระบัณฑูรท่านก็ปรากฏคุกเข่าอยู่ที่แคร่

“พ่อทูนหัวเอ๋ย ไม่ตายแน่แล้ว” รับสั่งโดยปีติ น้ำพระเนตรคลอๆ

“พ่อเดือนสลบไร้สติมาถึง ๒ คืน และจะ ๓ วัน ทั้งวันนี้”

“พระองค์หญิง” เดือนตะโกนเรียกดุจเกรงไม่ได้ยิน ทั้งเสียงตนก็แหบแห้งนัก “นี่ใช่พระองค์หญิงของหม่อมฉันหรือ หม่อมฉันหลับหรือตื่นอยู่ รับสั่งหน่อยเถิด”

“กลาโหม พ่ออย่าเพิ่งลุกขึ้นนั่งมิได้” พระองค์หญิงทรงเข้าปะทะประคองห้าม แย้มพระสรวลปลอบน้ำใจ “พ่อได้สติแล้ว หาใช่หลับใช่ตื่นหรือฝันไปมิได้ และนี่ก็หญิง ซึ่งพ่อเดือนได้หอบหิ้วมา”

ทหารหนุ่มค่อยฝืนยิ้ม ค่อยได้สติจำความได้

“อ้อ ถูกละ หม่อมฉันถูกพม่าล้อมตะลุมบอน และหลวงภักดีพวกเรามาช่วย หาไม่ก็จบชีวิตหม่อมฉันแล้ว เอ ก็แล้วพวกนั้นเขาไปเสียข้างไหนหมดเล่า และโรงนานี้อยู่แห่งหนตำบลใดเล่า พระองค์หญิง”

“เขานั่งตากลมรุ่งอยู่กลางนาโน้นทุกคน และพวกผู้หญิงก็หุงหาอาหาร ดูเขาสนุกสนานดี หากรู้ว่าพ่อเดือนฟื้นอันตรายแล้ว ก็คงจะดีใจหนักหนา”

เดือนนิ่งนึกนิ่งฟัง พลอยยินดีด้วยพวกครัวเหล่านั้นตลอดบรรดาพล แล้วก็ทูลถามอีก

“รับสั่งสักหน่อยเถิดว่า เดี๋ยวนี้หม่อมฉันอยู่ที่ไหน”

รับสั่งตอบเป็นธรรมดาว่า

“ทุ่งกาหลง พวกเขาต่อแคร่หามพ่อเดือนมาแต่วานซืน มิได้สติ ยินเพ้อถึงใครต่อใคร”

“หม่อมฉันไปเฝ้าสมเด็จพระบัณฑูร” เขาเอาความฝันมาตอบ แต่มีทีท่าเสมอจริงๆ ก็ได้กล่าวทูลต่อ “ได้หมอบอยู่แทบฝ่าพระบาท มีเสียงพระราชบัณฑูรอยู่พึมพำ ฟังมิถนัด แล้วจึงลูบศีรษะและไล่หม่อมฉันให้รีบกลับ ว่าพระองค์หญิงจะคอย และรับสั่งเสียดายความงามของมหาปราสาทราชมณเฑียรนัก”

ทรงมีพระพักตร์เศร้า และสะท้านพระองค์ดุจต้องลมหนาว

“แหม พ่อเดือน ฉันขนลุกเกรียวทั้งตัวหมด ยินอยู่เหมือนกัน เมื่อขณะเพ้อ สองมือขวักไขว่ถวายบังคม เอ่ยนามทูลกระหม่อม”

ทรงหยุดแต่เพียงเท่านั้น มิได้รับสั่งต่อไปอีก ทั้งเมินพระพักตร์จนกลาโหมฉงนใจตัว จะนิ่งอยู่มิได้

“และอะไรพ่ะย่ะค่ะ”

พระองค์หญิงซ่อนพระสรวลและเหลียวหา แต่เค้ายิ้มยังมีอยู่

“เดือน พ่อนึกไม่ออกหรือ ว่าฝันอะไรอีก”

เขาส่ายหน้าเฉยเมย มิรู้ตัว

“เปล่าเลย หม่อมฉันนึกอย่างไรมิออกอีกเลย อ้อ เดี๋ยวก่อน ดูเหมือนว่าจะได้เรียกใครต่อใคร”

“ยมโดยน่ะซี” รับสั่งพักเสียก่อน “ทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอนพ่ออ่านเรื่อยมาตลอดจนสิ้นหนทาง กระทั่งถึงกระท่อมนี้”

“ตายจริง” เดือนหัวเราะได้ยินเสียงเป็นครั้งแรก “หม่อมฉันนี้เพ้อเอามากๆ”

“รักเอามากๆด้วย พอสลบมิรู้ตัว ความหลังที่พ่อเดือนเอาแอบไว้ก็ผุดขึ้นมาดุจตอไม้ในน้ำขณะที่ไหลลดเพราะน้ำใจพ่อลดลงขณะสลบ”

เดือนแสร้งหลับตาด้วยความละอายแล้วพูดด้วยเชิงเป็นเล่นว่า

“แม่ลูกอ่อนยมโดย”

“พ่อติเขาแต่ปากหรอกกระมัง หาไม่ จะเพ้อถึงแม่ลูกอ่อนหรือ”

เดือนหัวเราะเก้อ ลืมตา เอื้อมมือกุมพระหัตถ์ท่าน

“คนเราไร้สติก็เหมือนบ้า แต่กระนั้น หม่อมฉันก็จำได้แม่นยำเป็นแน่นอนว่าได้ตะโกนเรียกพระนามจนเต็มเสียง”

“แน้ พ่อเรียกใคร”

“พระองค์น้อย” เขาตอบ ช้องพระเนตรเป็นปัญหา “เรียกอยู่หลายคำเหมือนกัน”

มิได้ทรงชักพระหัตถ์หนี แม้จักละอายพระทัยบ้าง ก็จะฝืนเอาใจคนไข้ยิ่งกว่า และความจริงก็ทรงได้ยินมาตลอดทาง กระทั่งถึงกระท่อม ถ้าหากเขาเพ้อแล้วก็มักจะเรียกหาพระองค์ท่าน ทั้งยิ้มและหัวเราะและดุดัน คงจะนึกถึงสู้ศึก

“ก็เรียกน่ะสิ และพ่อทูลรำพันอย่างไรบ้าง จำได้ไหม”

“เปล่า”

“มุสาเสียกระมัง พ่อเดือน” รับสั่งล้อๆ และเล่าว่า “พ่อรำพันแก่ฉันเสมือนแม่ยมโดย เมื่ออยู่พระตำหนัก พ่อเพ้อลาตาย จะไปอยู่กับทูลกระหม่อมแก้ว และอื่นๆอีก”

เดือนพลิกตะแคงตัว ทูลถามไถลเสียคนละเรื่อง

“นี่เราอยู่โรงนาใคร พระองค์หญิง”

“ของครัวแม่ลูกที่ถูกพม่าฉุดเอาไป และพ่อเดือนได้ช่วยไว้นั่นแหละ”

“อ้อ” ออกกลาโหมพยักหน้านึกอยู่ครู่หนึ่ง ทั้งเหลือบตามองหลังคากระท่อมที่พำนัก “หม่อมฉันคงหลับไม่ได้สติไปเสียนาน และก็รู้สึกตัวว่าถูกรุม รบครั้งนี้บาดแผลมากมายผิดเคยนัก เป็นเพราะด้วยห่วงแต่โคนไม้จึงยืนรับมิอาจตะลุยข้าศึกให้แพ้ในฉับพลันดุจเคยๆมาแล้ว”

“พ่อห่วงโคนไม้” ทรงย้าและถอนพระทัย พอจะเดารู้ “พ่อเดือนมาพลาดพลั้งครั้งนี้เพราะห่วง”

“โคนไม้” เขายืนคำอยู่เช่นเดิม ฝืนยิ้มเศร้าใจตัว “เพราะเหนือคบไม้นั้นมีเจ้าแม่เทพารักษ์แห่งหม่อมฉันสถิตอยู่ แม้จะรุกรอดไปก็จะเป็นเชิงฆ่าศึกให้ล้อมหลัง แล้วอัญเชิญเจ้าแม่ชิงไปเป็นเชลยเสียก็น่าเสียดาย จึงคิดเสี่ยงชีวิตตัวถวายกตัญญูท่าน แม้สืบไปนี้จะต้องตายด้วยพิษไข้พิษแผลเสียก็ยังดีกว่าจะตายด้วยพิษใจกำเริบ”

ทรงสะอื้น ด้วยรู้ว่าออกเดือนกล่าวพ้อต่อว่าในเชิงรัก บัดนี้กรุงหลวงก็สูญเป็นเถ้าไปแล้ว ทั้งราชวงศ์ทั้งยศถาบรรดาศักดิ์พระองค์ท่านก็เหมือนนกเพิ่งพ้นกรงพ้นแก่พระมนเทียรบาลแน่แล้ว จึงก้มกระซิบหูทหาร รับสั่งเสียงเครือ

“พ่อยอดบุรุษและนักรบ ไยจักกล่าวเช่นนั้นเล่า ขณะนี้หญิงก็มองไม่เห็นใครอีก ผิว์พ่อมรณะเสียแล้ว อย่าหมายเลยว่าอายุหญิงจะยืนอยู่ไปได้อีก พ่อจงสิ้นทุกข์เสียเถิด เพราะเดี๋ยวนี้กรุงแก้วก็ดับสูญสิ้นเชื้อวงศ์ และหญิงนี้ก็จะคืนยศเป็นราษฎรสามัญสืบไป และตามพ่อเดือนไปทุกหนทุกแห่งสุดแต่การ”

“แม่ยอดเชลยศึกของกลาโหม เพียงรับสั่งหนหนึ่งนี้ก็เหมือนไม่ต้องรักษาแผลแล้ว คงจะหายได้ในเร็ววัน”

ทรงถอนสะอื้นและสิ่นเทิ้มทั้งพระองค์

“หญิงเจตนาใจแล้วจะเปลี่ยนชื่อ จักคืนยศและเพื่อไว้อาลัยถวายกตัญญูแก่ราชตระกูล จึงขอให้พ่อเดือนกล่าวแก่หญิงอีกคำเดียวในสถานะที่เป็นเจ้าครั้งสุดท้ายเท่านั้น”

“พระพุทธเจ้าค่ะ” กลาโหมประนมมือ “หม่อมฉันออกกลาโหมก็สิ้นยศแล้วเหมือนกัน เชิญรับสั่งเถิด”

“ฉันขอเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ จึงขอเชิญพ่อเลือกสรรขึ้นคำหนึ่งมาตั้งให้”

ออกเดือนนิ่งครู่ก็ยิ้มแย้ม ตั้งแต่ก่อนล้มเจ็บจนตราบนี้เพิ่งจะรู้สึกสำราญใจตัวจริงๆ เพราะได้ฟังรับสั่งครั้งนี้เอง

“แม้ทรงมั่นพระทัยเช่นนี้แล้ว หม่อมฉันก็คงจะหายวันหายคืนเพราะด้วยดีใจตัวนัก ซึ่งจะได้ถวายกตัญญูอีกตลอดไป”

“พอแล้ว” รับสั่งและโบกพระหัตถ์ห้าม “แต่นี้ต่อไป ขอพ่อเดือนอย่าได้พูดคำทูลแก่ฉันดุจก่อนอีกเลย และเมื่อหายหรือพอค่อยยังชั่วก็จะได้เดินทางอีกต่อไป จนกว่าจะพบกองทหารไทยที่รวบรวมกันขึ้นคิดกู้ชาติบ้านเมือง เพราะฉันเชื่อหนักหนาว่า ศรีอยุธยาไม่ไร้ทหาร ไม่สิ้นคนดี จักเกิดขึ้น และขอออกกลาโหมจงเร่งเปลี่ยนชื่อฉันเสียเถิด”

เขากลับขมวดคิ้ว ดุจตรึกแก่การสำคัญสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นหาใช่อื่น คือที่รับสั่งถึงกู้ชาติ และศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดีนั่นเอง

“องค์หญิงก็อย่ารับสั่งเรียกหม่อมฉันว่ากลาโหมอีกเลย” ออกเดือนทักเถียง ไม่ยอมจักผิดแต่ฝ่ายเดียว “ก็ดีแล้วที่จะเปลี่ยนชื่อ เพราะหม่อมฉันเมื่อเป็นกลาโหมก็ต้องเคราะห์ตลอดมา แม่เปลี่ยนเรียกชื่อเดิมเสียบ้าง บางทีจะพ้นเคราะห์ แต่ขอให้ทรงประคองหม่อมฉันพอให้ได้นั่งสักครู่เถิด เพราะนอนอยู่เช่นนี้กี่คืนก็ไม่รู้ตัว เมื่อยนัก จะเอาสติปัญญาที่ไหนมาติดตั้งพระนามถวายได้”

ทรงค้อนสัพยอก หากยิ่งจับใจ ออกเดือนลึกซึ้งยิ่งกว่าประทานความหมายใดๆทั้งสิ้น แล้วก็ทรงค่อยช้อนประคองขึ้น

“ไม่ต้องรักษาด้วยอื่นหรือหยูกยากันละซี เพียงแต่ประคองลุกประคองนั่งก็คงหายไปเองกระมัง”

ข้าพระบัณฑูรซึ่งลุกนั่ง ยืดกายสบายขึ้น ก็ตอบว่า

“หม่อมฉันก็เจตนาอยู่ จักให้เป็นเช่นนั้นด้วย ว่าจักต้องสงสัยว่า ไข้นี้หายด้วยขนานยาอื่น หากเป็นพระโอสถซี่งประทานมาจากน้ำพระทัยของพระองค์หญิงเอง”

“ไม่หญิง ไม่พระองค์ ไม่พระทัย อะไรอีกละ บอกให้พูดเฉยๆ”

“ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ก็ต้องพูดไปตามเดิมกระนั้นก่อนจะเป็นไรไป”

“ก็เปลี่ยนเสียซี ไหนว่าเมื่อลุกนั่งได้แล้วจะเกิดปัญญาความคิดอย่างไรเล่า”

หนุ่มพ่อเดือนก็หันชำเลืองมอง โอบแขนหนึ่งอ้อมพระกายก่าย และที่จริงซึ่งนามจะเปลี่ยนถวายนั้นได้นึกไว้แล้ว

“ฟังทูลเถิด พระองค์เอ๋ย ออกเดือนจักถวายนามแต่บัดนี้ ก็ตามสถานภูมิประเทศที่มาถึง และเปรียบเหมาะในส่วนพระองค์และหม่อมฉันคือว่าทุ่งนี้เขาเรียกชื่อว่า ทุ่งกาหลง หม่อมฉันก็จักถวายพระนามแม่ว่า กาหลง คือชื่อถิ่นสถานที่ทรงสละอิสริยยศประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง หม่อมฉันก็เสมือนศักดิ์กาซื่อจักต้องหลงแม่ไปจวบจนวันตาย”

ทรงยิ้มพีงใจในนามนั้น แต่ละอายไม่สิ้น ก็แอบหน้าเมินไปเสียทางหนึ่ง

“ช่างเปรียบเทียบนัก แต่ก็ช่างเลือกสรรมาตั้งได้เพราะดี และส่วนตัวพ่อเดือน ฉันก็จะเรียกออกเดือน เพื่อรำลึกถึงทูลกระหม่อมแก้วได้ทรงตั้งไว้บ้าง”

“สุดแต่ใจสิ แม่กาหลง”

เขาเชยคางพระธิดาสมเด็จฯ ให้หันมาสู้หน้า พระพักตร์ท่านก่ำระเรื่อและยิ่งอาย แล้วออกเดือนก็จุมพิตแต่โดยเบาพอเป็นพิธี

“กาหลง แม่เป็นราษฎรแล้ว เยี่ยงอิสตรีสามัญทั้งหลาย”

มิทันได้พูดจบก็ยินเสียงจิ้งจกทัก แต่ที่ร้องขึ้นกลับเป็นเสียงตุ๊กแกของตามันแง้มประตู สาวกาหลงแม่ก็ผละหนีด้วยความแสนละอาย

“อ้ายมั่นเห็นหรอก แม่หญิงกาหลง” แกเดินหัวเราะเรื่อยตรงมา “ทั้งได้ยินจัดการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงกันเรียบร้อยแล้ว ตุ๊กแกถึงได้ร้องกลางวัน ว่าแต่ออกเดือน พ่อเห็นจะค่อยยังชั่ว หายวันหายคืนละกระมังครั้งนี้”

“ก็เห็นจะเป็นได้” เดือนตอบ วางหน้าไม่ค่อยสนิท “พวกนั้นเขาไปไหนกันหมดเล่า”

“หลบอยู่กลางทุ่งโน่นแน่ะ”

“บ๊ะ หลบใครกัน กลางทุ่ง ถ้าหลบ มันต้องที่อื่นซี ตามั่น”

“เขาหลบคนสองคนเท่านั้นแหละ”

แกพยักหน้าเอาซึ่งๆ

“ก็ออกเดือนกับแม่หญิงกาหลงน่ะซี เออแน่ะ ไหนๆ เรื่องมันก็จะแดงปิดไม่ไหวแน่แล้ว อ้ายมั่นจะให้พ่อช่วยอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรหรอก”

“ฮือ อะไรกัน”

แกชะโงกหน้ามาใกล้ ค่อยป้องปากบอกที่ข้างหูว่า

“อ้ายมั่นจะริมีเมียบ้างน่ะซี คือว่า...”

“ช้า ตามั่น” ออกเดือนทักด้วยพิศวงนัก “เรามานี่ก็เสมือนอยู่กลางทัพกลางศึก แกจะหาผู้หญิงที่ไหนเล่า”

แกหัวเราะกำก อันความละอายนั้นแทบจะไม่มีเลย แล้วก็ชี้ตัวโดยละเอียดถี่ถ้วน

“พ่อหลวงหลับเสีย ๓ คืน และเจ้าแม่ก็มัวแต่โศกเศร้าไม่รู้เรื่องอะไรเขาข้างภายนอกหรอก แน่ะ แม่เจ้าของกระท่อมนี้ และฉันได้พูดจากันเป็นที่ตกลงแล้ว คือขอลูกสาวแกให้กับนายภูบาล”

“อ้าว ก็แล้วจะว่าแกมีเมียอย่างไรเล่า”

“เดี๋ยวก่อนซี” แกโบกมือ “ฉันพูดจนเป็นที่ตกลงเรียบร้อยเพราะเห็นนายภูบาลเขายังหนุ่มอยู่ และต่อเมื่อพ่อหลวงฟื้นจึงจะให้ตกลงเข้าพิธี”

“ก็แล้วตัวของแกเอง” เดือนยืนคำเดิมอยู่นั้น “ แกว่าจะมีเมียจึงมาออกปากฉัน ก็นี่มันโอละพ่อ เป็นนายภูบาลไปเสียแล้ว จะโกหกกันกระมัง”

แกยิ้มจืดๆ รู้สึกหน้าแดงด้วยสีเลือด

“มันก็มีโอละพ่อกันอยู่มั่ง คือว่าเมื่อฉันพูดสำเร็จทางลูกสาวเรียบร้อยแล้ว ให้นายภูบาลเขาช่วยพูดบ้าง คืออ้ายมั่นคิดจะเป็นโอละพ่อ พ่อตาเขาอีกที”

“ถุย ตามั่นเจ้าเล่ห์นัก”

แล้วประตูที่แง้มไว้ก็เปิดสว่าง โฉมนายภูบาลและคนอื่นๆ ซึ่งเห็นตามั่นแอบมาย่องๆ มองๆ แล้วหลบเข้ามา ก็สำคัญว่าออกเดือนจะอาการหนัก แต่ครั้นมาเห็นตรงกันข้าม ก็พากันดีเนื้อดีใจ ทั้งเข้าห้อมล้อมถามอาการ

ชายทุ่งกาหลงในเช้านั้น แสงแดดอ่อนและลมโชยแต่เบาแผ่วผิว์เพียงสบาย พื้นดินเรียบสะอาดและหญ้างอกในทุ่งนั้น กลุ่มครัวอพยพก็ห้อมล้อมแคร่นอนซึ่งมีออกหลวงนั่งประจำคู่เคียงกับพระธิดาสมเด็จฯ เมื่อกระโน้นแล้ว ประกาศให้บรรดาพวกครัวและทหารพลได้รู้ว่า ทรงสละพระเกียรติตามศรีอยุธยาที่พินาศมา เปลี่ยนชื่อไปตามสถานทุ่งว่า แม่กาหลง แล้วประกาศต่อไปอีกด้วย พูดพลางหัวเราะพลางถึงเรื่องตามั่นจะมีเมีย หนึ่งสำรับอาหารเช้าชายทุ่งในวันนี้จึงเป็นเสมือนงานมงคลแต่งตามั่นและนายภูบาล

เสียงโห่ก็กึกก้องเต็มใจ บ้างที่มีดาบก็ถอดดาบกวัดแกว่ง และมีปืนก็ตีชุดจุดยิงเป็นเอิกเกริก ทั้งต่างอวยพรให้ออกหลวงเร่งหายสนิทไปตามวันตามคืน ผิว์จักพบกองทหารเสียทัพก็จะเรียกผสม แม้ได้พลมากแล้วก็จัดคิดกู้ศรีอยุธยาสืบไปตามวิสัยรักชาติของผู้เกิดในแผ่นดิน

จบบริบูรณ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ