เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๕๓

วันที่รัชกาล ๘๑๙๑ วัน ๔ ๕ ค่ำ ปีขาลโท๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๕ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันที่รัชกาล ๘๑๙๒ วัน ๕ ๕ ค่ำ ปีขาลโท๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๖ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันที่รัชกาล ๘๑๙๔ วัน ๗ ๑๐ ๕ ค่ำ ปีขาลโท๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๘ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลายามเศษเสดจออกขุนนาง กรมมหาดไทยนำบอกขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๔ ฉบับ ๑ บอกพระอนันตภักดีผู้ว่าที่พระยาสังขบุรี เมืองสังขบุรี ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ร,ศ, ๑๐๙ ความว่ามีตราพระราชสีห์ขึ้นไปหาให้ลงมาเฝ้าในการพระราชพิธีโสกันต์สมเดจพระบรมโอรสาธิราช พระอนันตภักดีกำลังทำบาญชีสำมโนครัวตัวเลขแลเร่งเงินส่วยอยู่จะลงมาหาทันไม่ จึงพร้อมกันกับพวกเมืองขึ้นแลกรมการเมืองสังขบุรีจัดได้เงิน ๘ ชั่ง ๒ บาท แต่งให้พระยาผลประสิทธิ หลวงแก้ววิไชย } คุมมาสมโภชในการพระราชพิธีโสกันต์สมเดจพระบรมโอรสาธิราช

๒ บอกพระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่าที่ ๖๕ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ร.ศ. ๑๐๙ ว่าเจ้าอธิการพุ่มนายกลิ่น นายพร } สร้างพระอุโบสถที่บ้านนาวุ่น พระยาไชยวิชิตฃอผูกพุทธสีมา ๓ บอกพระยาไชยวิชิตที่ ๖๖ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ ว่าตำแหน่งที่หลวงสมัคสโมสรยกกระบัตรซ้ายยังว่างอยู่ พระยาไชยวิชิตขอให้นายติ่งบุตรพระยาไชยวิชิตเปนที่หลวงสมัคสโมสร ๔ บอกหลวงไชยสงครามปลัดผู้รักษาเมืองอ่างทอง ๘๕ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ ว่าพระพุทธรักขิตมุนีจะปลงศพพระครูปาโมกษมุนี วันที่ ๒๐ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ ขอพระราชทานหีบศิลาน่าเพลิงไปปลงศพพระครูปาโมกษมุนี แล้วกรมพระกระลาโหมนำบอกขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ ๑ บอกพระยาเสนานุชิตผู้ว่าราชการเมืองตกั่วป่า ว่าพระพรเทพภักดีศรีราชยกรบัตรพระพลพยุหสงครามจางวางด่านถึงแก่กรรม ตำแหน่งที่ว่างอยู่พระยาเสนานุชิตขอพระราชทานให้นายสิทธิมหาดเล็กเปนที่พระนรเทพภักดีศรีราชยกรบัตรนายพร้อมมหาดเล็กเปนที่พระหลพยุหสงครามจางวางด่านเมืองตกั่วป่า ๒ บอกพระยาอัมรินทรฦๅไชยผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ว่าเมื่อวันที่ ๗ มินาคม ร,ศ, ๑๐๙ มีผู้ร้ายปล้นเรือนจีนฉอง จีนเทียนซู จีนกุย } บ้านปากบางแขวงเมืองราชบุรีอ้ายผู้้ร้ายยิงจีนกุยตายกับเก็บทรัพยสิ่งของไปด้วย พระยาอัมรินทรได้ให้กรมการออกสืบจับได้ตัวอ้ายผู้ร้าย คืออ้ายแดง อ้ายเบี้ยว อ้ายสอน อ้ายบ่าย อ้ายพลอย } ถามให้การซัดถึงอ้ายเขียว อ้ายพลอย อ้ายบ่าย อ้ายพรม อ้ายสุน } ได้ส่งลงมาด้วยแล้ว

เพลา ๔ ทุ่มเศษเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๑๙๕ วัน ๑ ๑๑ ๕ ค่ำ ปีขาลโท๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๙ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายามเศษเสดจออกขุนนาง กรมพระกระลาโหมนำบอกขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๓ ฉบับ ๑ บอกบริสุทธิโลหภูมินทรผู้ว่าราชการเมืองตกั่วทุ่ง ว่าได้จัดตั้งโปลิศขึ้นที่เมืองตกั่วทุ่งนายยาม ๑ คนเงินเดือนๆ ละเจดเหรียญ โปลิศเลว ๒๔ คนเงินเดือนคน ๑ เดือนละหกเหรียญ กับเข้าสารคน ๑ เดือนละสองถัง รวม ๒๕ คนได้จัดตั้งขึ้นไว้รักษาบ้านเมือง

ฉบับ ๒ บอกพระเทพธนพัฒนาผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ ว่าที่ปลัดเมืองกระบี่ยังว่างอยู่ พระเทพธนพัฒนาขอให้หลวงภักดีสมบัติเปนที่ปลัดเมืองกระบี่ ๓ บอกพระยาพิทักษทวยหาญผู้ว่าราชการเมืองประทุมธานี ว่าขุนไชยอาวุธกับราษฎรได้สร้างอุโบสถวัดฉางขึ้นใหม่ พระยาพิทักษทวยหาญขอผูกพัทธสีมาภอจบลง พระยานรินทรราชเสนี นำพระยามนตรีสุริยวงษ ๑ พระทรงสุรเดช ๑ พระวิจารณาอาวุธ ๑ หลวงภูเบนทรสิงหนาท ๑ หลวงยศรักษา ๑ หลวงจำนงทวยหาญ ๑ นายบริบาลบรรยง ๑ รวม ๗ นาย กราบถวายบังคมลาออกไปตรวจจับผู้ร้ายที่เมืองราชบุรี เพลา ๔ ทุ่มเศษเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๑๙๖ วัน ๒ ๑๒ ๕ ค่ำ ปีขาลโท๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๐ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายามเสศเสด็จออกขุนนางกรมมหาดไทยนำบอกพระยาจันตประเทศธานีผู้ว่าราชการเมืองสกลนคร ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ร,ศ, ๑๐๙ ทั้งสองฉบับ ฉบับ ๑ มีความว่าพระยาจันตประเทศจะลงมาเฝ้าในการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชไม่ทันพร้อม ด้วยกรมการเมืองสกลนครกับเมืองขึ้นจัดได้เงิน ๑๘ ชั่ง ให้กรมการคุมลงมาสมโภช

ฉบับ ๒ ว่าพระสิทธิศักดิ์ประสิทธิเจ้าเมืองสว่างแดนดิน หลวงประชาราชรักษาเจ้าเมืองวานรนิวาทว่างอยู่ยังหามีตัวไม่ พระยาจันตประเทศขอให้ราชวงษเปนอุปฮาด ราชบุตรเปนที่ราชวงษ ท้าวสุรีเปนที่พระสิทธิศักดิประสิทธิ ท้าววรบุตรเปนที่พระประชาราชรักษา จัดได้ผ้าม่วง ๑๐ ผืน สีพึ่งหนัก ๑ บาท

ฃอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย แล้วกรมพระกระลาโหมนำบอกพระยาศรีสรราชภักดี ข้าหลวงรักษาราชการหัวเมืองฝ่ายทเลตวันออกขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๑ ฉบับ มีความว่าได้เก็บอากรดีบุกคอเวอนเมนต์เมืองภูเก็จจำนวนปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ได้เงินสามหมื่นหกพันแปดร้อยเก้าเหรียญหกสิบหกเซน ได้ส่งหลวงทวีปสยามกิจฝากแบงก์เมืองปินัง พระยาศรีสรราชได้ส่งลิสิตเข้ามา ๘ ฉบับ พอจบลง กรมท่านำบอกขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๓ ฉบับ ๑ บอกเมืองจันทบุรีว่าพระครูสงฆปาโมกกับราษฎรบ้านเขาพลอยแหวนสร้างอุโบสถวัดรัตนคิรีอาราม ๑ พระยาจันทบุรีขอผูกพัทธสีมา ๒ บอกเมืองนนทบุรี ว่าเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม อำแดงสุดบุตรจจีนโป๊มาแจ้งความว่าอ้ายรอดเอาปืนยิงถูกจีนโป๊บิดา จีนฮวดพี่ชาย } จีนโป๊บิดานั้นตาย แต่จีนฮวดยังรักษาตัวอยู่ ได้ตัวอ้ายรอดมาถามรับเปนสัตยจะส่งสงมาโจทยยังทุเลารักษาตัวอยู่ ๓ บอกเมืองสมุทสงครามว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ นายเจียมกับอำแดงเลียบภรรยาอำแดงล้อมมารดา ภรรยามาทำกฎหมายตราสินมีความว่า นายเจียมอำแดงล้อม อำแดงเลียบ } พากันบันทุกสินค้าออกไปเมืองเพชรบุรี ภอถึงปากอ่าวเมืองสมุทสงคราม มีอ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงถูกนายเจียมแล้วนายเจียมกับภรรยาพากันโดดน้ำหนีไป อ้ายผู้ร้ายเก็บทรัพยสิ่งของไปหมด จำนวนสิ่งของมีแจ้งอยู่ในคำตราสินนั้นแล้ว ได้สืบจับได้ตัวอ้ายจีนเปลี่ยน อ้ายรื่น } มาถามรรับเปนสัตยยังสืบจับพวกเพื่อนอยู่ ได้ตัวครบเมื่อไรจึงจะส่งลงมา แล้วพระยาศรีนำพระสุนทรราชวงษาเจ้าเมืองยะโสธร อุปฮาดเมืองร้อยเอจราชวงษเฃมราษฎร์ กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาบ้านเมืองแล้วพระยาพิพัฒนนำหลวงบริบาลผู้ช่วยเมืองพัฒลุงกราบถวายบังคมลาออกไปรักษาบ้านเมือง

พอเพลา ๔ ทุ่มเสศเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๑๙๗ วัน ๓ ๑๓ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๑ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายามเสศเสด็จออกขุนนาง กรมมหาดไทยนำบอกพระยาไชยวิชิตผู้ว่าราชการกรุงเก่า ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๓ ฉบับ ฉบับ ๑ ที่ ๖๘ ว่าขุนประเสริฐ อำเภอแขวงนครใหญ่ยืนริโปดมีความว่าวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ เพลาบ่ายสองโมงเศ มีอ้ายผู้ร้ายประมาณ ๑๔, ๑๕ คนเข้าปล้นเรือนจีนพึ่ง อำแดงฃำ } อ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงถูกจีนพึ่งตายแล้วเก็บทรัพยสิ่งของไป อำแดงขำกับชาวบ้านตามผู้ร้ายไปทันที่บ้านดอนงิ้วแขวงเมืองลพบุรี อ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงถูกนายเหมือนที่ไปช่วยจับตายอิกคน ๑ ช่วยกันจับได้ตัวผู้ร้ายคน ๑ ชื่ออ้ายยิ้มแสง เอาส่งไว้ที่เมืองลพบุรี อ้ายยิ้มแสงรับเปนสัตยซัดพวกเพื่อนอิกหลายคนอยู่เมืองลพบุรีบ้างอยู่กรุงเก่าบ้าง พระนครพราหมปลัดเมืองลพบุรีมีหนังสือมาขอตัวอ้ายที่ต้องซัด พระยาไชยวิชิตยังให้สืบจับอยู่ ฉบับ ๒ ที่ ๖๙ ว่าครั้งก่อนได้มีบอกลงมาว่า อ้ายผู้ร้ายประมาณ ๔๐ คนเข้าปล้นเรือนนายหุ่นบ้านสามเขาแขวงกรุงเก่า ยังไม่ได้ตัวผู้ร้าย ครั้งนี้สืบจับได้ตัวอ้ายผู้ร้ายพวกนั้น ชื่ออ้ายปาด หลานนายหุ่นนั้นเองมาถามรับเปนสัตยซัดอ้ายหรุ่นกับพวกเพื่อนอยู่แขวงเมืองสระบุรีบ้างกรุงเก่าบ้าง พระยาไชยวิชิตได้มีหนังสือขอตัวอ้ายที่ต้องซัดไปยังเจ้าเมืองสระบุรี ถ้าได้ตัวพร้อมเมื่อไรจึงจะส่งลงมา ฉบับ ๓ ที่ ๗๑ ว่า เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ เพลาบ่ายสองโมงเสศ มีอ้ายผู้ร้าย ๗ คนเข้าปล้นเรือนนายเนตร อ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงถูกนายไผ่พวกนายเนตรตายคน ๑ แล้วเก็บทรัพยสิ่งของไป พระยาไชยวิชิตได้สืบจับได้ตัวอ้ายผู้ร้าย คืออ้ายโพบุตรเขยนายเนตร อ้ายโพซัดถึงอ้ายหมาในได้ตัวอ้ายหมาในมารับเปนสัตยซัดพวกเพื่อนอยู่แขวงเมืองพระพุทธบาทบ้างเมืองสระบุรีบ้าง พระยาไชยวิชิตมีหนังสือไปยังเจ้าเมืองทั้งสองแล้ว ถ้าได้ตัวครบเมื่อไรจึ่งจะบอกลงมา แล้วกรมพระกระลาโหมนำบอกพระวิชิตชาญณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองปราณบุรีขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป มีความว่าเมื่อเดือนมินาคม ร,ศ, ๑๐๙ มีอ้ายผู้ร้ายปล้นราษฎรในแขวงเมืองปราณบูรี ๒ ราย ราย ๑ ผู้ร้ายตีฟันเจ้าของทรัพยเจบหลายแห่งเจ้าของทรัพยหารู้จักตัวผู้ร้ายไม่ ราย ๑ เจ้าของทรัพยรู้จักตัวผู้ร้ายคน ๑ ชื่ออ้ายชื่นอยู่บ้านค่ายแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ พระวิชิตให้หลวงวิชิตภักดผู้ช่วย ขุนราชรองเมือง ขุนบำรุง } ออกสืบจับ พบอ้ายชื่นผู้ร้ายกำลังซื้อน้ำตาลกระแชรับประทานอยู่ หลวงวิชิตภักดีพากันเข้าจับ อ้ายชื่นชักมีดออกต่อสู้ หลวงวิชิตเอาปืนยิงถูกอ้ายชื่นตายหาทันได้ถามปากคำไม่ พระวิชิตชาญณรงค์ยังให้ออกสืบจับพวกผู้ร้ายต่อไป เพลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๑๙๘ วัน ๔ ๑๔ ๕ ค่ำ ปีขาลโท๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๒ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายามเสศเสด็จออกขุนนาง กรมมหาดไทยนำบอกพระภักดีณรงค์ข้าหลวงที่ ๒ ประจำหัวเมืองลาวฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร,ศ, ๑๐๙ ทั้งสองฉบับขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ฉบับ ๑ ที่ ๓๔ มีความว่าได้ออกสืบจับได้ตัวอ้ายชุ่ม อ้ายปาน อ้ายคร้ำ } อ้ายคำ อ้ายแจ้ง } ผู้ร้ายปล้นจีนเงี้ยวเตกมาถามรัปเปนสัตยได้ส่งคำให้การอ้ายผู้ร้าย ๕ คนลงมา ฉบับ ๒ ที่ ๓๕ ว่าในปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๘ ๑๐๙ } ราษฎรทำนาได้ผลเมลดเข้าไหม่บริบูรณ ได้แต่พอรับประทานเท่านั้นหามีเข้าที่จะปลูกทำพรรณในปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ไม่ พระภักดีณรงค์ขอรัปพระราชทานเงินส่วยจัดซื้อเข้าเปลือกให้ราษฎรทำพรรณ กับขอให้ข้าหลวงผู้ช่วยราชการจัดนายกองปลัดกองคุมตัวเลขกองด่านไปตั้งทำนาที่เมืองพิน พระภักดีณรงค์จะจัดโคกระบือส่งไปให้ แล้วกรมพระกระลาโหมนำบอกพระยาอัมรินทรฦๅไชยขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ ว่าวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ มีอ้ายผู้ร้ายปล้นเรือนหมื่นพิทักษ อำแดงไล่ อำแดงเขียว } ได้ออกสืบจับ อ้ายแดงนำของกลางมาลุแก่โทษซัดถึงอ้ายหุ่นกับเพื่อน ๕ คน ได้ตัวอ้ายหุ่นมาถามรับเปนสัตยชำระแตกออกไปได้อีกสองราย ได้ของกลางคืนให้เจ้าของไปบ้างยังบ้าง รวมได้ตัวอ้ายผู้ร้าย ๑๖ คน ทั้งอ้ายแดงผู้มาลุแก่โทษกับคำตราสินแลบาญชีรายชื่ออ้ายผู้ร้ายที่ยังหนีอยู่ ได้ไห้ขุนรองจ่าเมืองคุมเข้ามาส่ง ฉบับ ๒ มีความว่าพระยาอัมรินทรฦๅไชยจับได้ตัวอ้ายจีน ยุ่ง จีนทรงกุย จีนก๊กยุ่น } อยู่แขวงเมืองราชบุรี ๓ คน อ้ายจีนบุน จีนบุ๋น } แขวงเมืองนครไชยศรี ๒ คน รวม ๕ คนลักต้มกลั่นน้ำสุราเถื่อน ซัดถึงอ้ายจีนชง จีนชู } ว่าตั้งมั่วสุมกันกับพวกจีนที่อยู่ตำบลบ้านปากไก่ บ้านกาเลี้ยงลูก บ้านตแพง } เที่ยวคุมเหงราษฎรในแทบนั้นอยู่เสมอ ครั้ง ๑ นายหนูบ้านบางแฟไปลักปืนอ้ายพวกจีนเหล่านี้จับได้ตีนายหนูตาย ครั้ง ๑ นายออดกำนันไปจับอ้ายแดงผู้ร้ายลักโคนายแดง นายดุ่น } ไป อ้ายจีนพวกนี้กลับจับนายออดไปเรียกเอาเงินหกตำลึงบาท นายออดต้องเสียเงินให้จึ่งปล่อยตัวมา ครั้ง ๑ หลงจู๊สายกับทหารกรมการพากันไปจับพวกจีนต้มน้ำสุราเถื่อนบ้านตแพง อ้ายจีนชง จีนชู } ต่อสู้ ทหารเอาปืนยิงถูกหลงจู๊สายตาย พระยาอัมรินทรฦๅไชยจัดให้ขุนจ่าเมืองกรมการคุมอ้ายจีนยง จีนทรงกุ่ย จีนก๊กยุ่น จีนบุน จีนบุ๋น } รวม ๕ คนเข้ามาส่งกับคำให้การด้วยนอกนั้นยังสืบจับอยู่ เพลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๑๙๙ วัน ๕ ๑๕ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๓ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันที่ ๒๓ ไม่เสด็จออก

วันที่รัชกาล ๘๒๐๐ วัน ๖ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๔ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายามเสศเสด็จออกขุนนาง กรมมหาดไทยนำบอกอุปฮาดผู้ว่าที่พระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูม ๔ ฉบับ พระไกรสิงหนาทเจ้าเมืองภูเขียว ๑ ฉบับ พระพิเรนทรเทพข้าหลวงนครราชสีห์มา ๑ ฉบับ พระยาพิไชยรณรงค์สงครามเมืองสระบุรี ๑ ฉบับ ขึ้นกราบบังคมทูล ในใบบอกอุปฮาดผู้ว่าที่พระรัตนวงษาเจ้าสุวรรณภูม ๔ ฉบับ นั้นลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ ฉบับ ๑ ว่ามีตราพระราชสีห์ให้หาเจ้าเมืองกรมการท้าวเพี้ยลงมาเฝ้าในการพระราชพิธีโสกันต์ อุปฮาดผู้ว่าที่พระรัตนวงษาพร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการจัดได้เงินตราห้าชั่งแต่งหลวงรัตนวงษาผู้ช่วยว่าที่อุปฮาดกับท้าวเพี้ยคุมลงมาถึงเมืองบูรีรำ มีอ้ายผู้ร้ายประมาณ ๓๐ คนเช้าตีปล้นเอาปืนยิงถูกพระภิกษุที่จะลงมารับสัญญาบัตรเปนเจ้าคณะถึงแก่มรณภาพองค์ ๑ กับเกบเอาทรัพยสิ่งของไปด้วย หลวงรัตนวงษาผู้ว่าที่อุปฮาดบนผู้ที่ชื่อจับตัวอ้ายหลวงติเสศ อ้ายทอง } ผู้ร้ายได้ พระรัตนวงษาเจ้าเมืองพร้อมด้วยท้าวเพี้ย กรมการจัดได้เงินอีกห้าชั่งให้หลวงรัตนวงษาผู้ว่าที่อุปฮาดคุมลงมาใหม่ฃอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ในการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฉบับ ๒ ว่าอุปฮาดผู้ว่าที่พระรัตนวงษาได้เกณฑ์เข้ากับท้าวเพี้ยตัวเลขเมืองสุวรรณภูมแลเมืองขึ้นได้เข้า ๒๗๔๘ สัดส่งพระยาราชเสนาข้าหลวงเมืองอุบลครบตามจำนวนท้องตราที่มีไปแล้ว ฉบับ ๓ อุปฮาดผู้ว่าที่พระรัตนวงษาเจ้าเมือง ขอรับพระราชทานเจ้าอธิการบาลักคำเปนเจ้าคณะใหญ่ เจ้าอธิการสอนเปนเจ้าคณะรอง } แต่เจ้าอธิการบาลักคำนั้นสูงอายุลงมาหาได้ไม่ ฃอให้เจ้าอธิการสอนรับสัญญาบัตรขึ้นไปแทน ฉบับ ๔ อุปฮาดผู้ว่าที่พระรัตนวงษาเจ้าเมืองฃอให้หลวงรัตนวงษาผู้ว่าที่อุปฮาดได้รัปพระราชทานสัญญาบัตรที่อุปฮาด บอกพระไกรสิงหนาทเจ้าเมืองภูเขียว ที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๙ ว่าตำแหน่งราชวงษยังว่างอยู่ ขอพระราชทานให้ท้าวบุญเรืองบุตรพระจันทรประเทศเปนที่ราชวงษ บอกพระพิเรนทรเทพข้าหลวงเมืองลาวกลางแลกรมการเมืองนครราชสีห์มา ที่ ๕๓ ลงวันที่ ๔ มกราคม ร,ศ, ๑๐๙ ว่าหลวงยกรบัตรเมืองบูรีรำมีบอกมาฃอให้หลวงลครบูรีบุตรหลวงยกรบัตรคนเก่าเปนที่พระนครบูรีศรีนัคราผู้ว่าราชการเมืองบุรีรำ พระพิเรนทรเทพเห็นสมควรชอบด้วยแล้ว บอกพระยาพิไชยรณรงค์สงครามเมืองสระบุรี ที่ ๒ ลงวันที่ ๗ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าด้วยหลวงศรีสรภูมยกรบัตรถึงแก่กรรม ฃอพระราชทานหีบศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพหลวงสรภูม กับหลวงลครบุรีผู้จะเปนที่พระนครภักดีเจ้าเมืองบูรีรำหลวงรัตนวงษาผู้ช่วยว่าที่อุปฮาดลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทจัดได้คี่ผึ้งคนละ ๑ บาท ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระราชดำรัสถามว่าพระพิเรนทรเทพมีบอกมาด้วยฤๅไม่ พระยาศรีกราบบังคมทูลว่ามีมา มีพระราชดำรัสว่าผู้ร้ายรายนี้มีความกล้าหาญมากแลตัวอ้ายผู้ร้ายก็เปนกรมการแล้วฆ่าพระสงฆ์ถึงแก่มรณภาพเช่นนี้โทษถึงตายอยู่แล้ว ให้มีตราถึงกรมหมื่นสรรพสิทธิให้รับพิจารณาถ้าได้ความจริงแล้วอย่าให้รอสืบจับพวกเพื่อนให้ครบเลย ความจะยืดยาวไป ให้กรมหมื่นสรรพสิทธิทำคำปฤกษาที่นอกไม่ต้องส่งลงมาให้ลูกขุนปฤกษา ถ้าโทษควรประหารชีวิตรแล้วก็ให้มีใบบอกขออนุญาตมาจะให้ประหารชีวิตรที่นอกเป็นฤกษในการที่กรมหมื่นสรรพสิทธิจะทำการต่อไปจะได้มีอำนาจ แล้วมีพระราชดำรัสถามว่าการที่จะจัดการกรมมหาดไทยใหม่นั้น เจ้าพระยารัตนบดินทร์ว่ายังไร พระยาศรีกราบบังคมทูลว่าได้นัดประชุมวันนี้แต่หาได้ประชุมไม่ เพราะพระยามหาอำมาตย์ติดการทำบุญเจดวันศพหลวงเสนีพิทักษอยู แล้วมีพระราชดำรัสว่ารายการที่จะจัดนี้เปนดีอยู่แล้ว แต่เกรงว่าจะไม่เรียบไปได้ ตัวเจ้าพระยารัตนบดินทรเปนสำคัญ ให้บอกแก่เจ้าพระยารัตนบดินทร์ว่า ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์อ่านข้อบังคับเสียให้เข้าใจแลจำได้ทุกข้อ ถ้าข้อใดไม่เข้าใจฤๅขัดข้องอย่างใดก็อย่าให้เดาแก้ไปเองให้บอกผู้ที่เรียบเรียงให้เขาช่วยแก้ไปให้ ถ้าตั้งหลีกลงเสียได้แล้วการอื่น ๆ พอประจบรอบปีก็คงแก้ไปได้ ถ้าคนไม่พอให้บอกจะได้หาให้ แล้วกรมพระกระลาโหมอ่านนำใบบอกพระยาประสิทธิสงครามผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป ในบอกพระยาประสิทธิสงครามมีความว่า มีตราพระคชสีห์ออกไปให้ตามจับพวกรามัญบ้านบางเลาที่พากันหนีออกไปนอกพระราชอาณาเขตร พระยาประสิทธิสงครามได้ให้หลวงรามฤทธิแรงหลวงพลสงครามไปตามจับกลับมาทำริโปตยื่นว่า วันที่ ๒๐ มินาคม ร,ศ, ๑๐๙ หลวงรามฤทธิแรง หลวงพลสงคราม } ไปถึงบ้านกองนินนายโปลิศตำบลหลักช้างแฃวงเมืองทวาย พบพวกรามัญ ๒ ครัว หลวงรามฤทธิแรง หลวงพลสงคราม } ได้ถามมะแป้นเม้ยบางว่าเปนเหตุอย่างไรจึ่งหนีมา มะแป้นเม้ยบางบอกว่าขัดสนจึงได้หนี แล้วกองนินนายโปลิศแจ้งความว่าพวกรามัญหนี ๒๙ ครัว มาถึงที่กองนินอยู่ตายชาย ๔ หญิง ๖ เหลือนั้นไปทางมรแมน มีพระราชดำรัสว่าพวกรามัญที่มีบอกมานี้หนีใหม่ฤๅพวกเก่า พระยานรินทร์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าหนีไปสองคราวที่บอกมานี้เปนพวกคราวหลัง มีพระราชดำรัสว่าให้พระยามนตรีคิดตัดต้นรากเสียให้จงได้หาไม่ก็คงหนีร่ำไป แล้วพระราชทานสัญญาบัตรท้าวขัติยเมืองสหัสขันธ์เปนพระประชาชลบาลเจ้าเมืองสหัสขันธ์ แล้วมีพระราชดำรัสว่ายังมีอีกเรื่อง ๑ มีผู้ร้องถวายฎีกาว่าถูกผู้ร้ายปล้น เจ้าของทรัพย์ไปทำคำตราสินไม่มีค่าธรรมเนียมให้กำนันไม่รับ การที่เปนนี้มีแต่หัวเมืองในกรุงจะมีบ้างฤๅไม่ กรมหมื่นนเรศร์กราบทูลว่าถ้าการใหญ่ ๆ แล้วยังไม่เคยมี แต่ถ้าการเล็กน้อยเจ้าของทรัพย์มักไม่ใคร่จะตราสิน เพราะต้องเสียฃองที่ผู้ร้ายเอาไปแล้วยังต้องเรียกค่าตราสินอีก มีพระราชดำรัสว่าการที่เปนเช่นนี้เปนที่น่าสงสารนัก เปนเพราะให้อำเภอรับเงินเดือนฃองเจ้าฃองทรัพย์ ไม่ได้ทำตามเจ้าพนักงาน ถ้าเจ้าฃองทรัพย์ไม่มีเงินเดือนให้ก็ไม่ทำให้จะมีทางแก้ไขอย่างไรได้บ้าง พอเพลา ๔ ทุ่มเสศเสดจขึ้น เวลา ๔ ทุ่ม ๑๕ นาที เสด็จลงประทับที่ชุมนุมเสนาบดี เวลา ๕ ทุ่ม ๑๐ นาทีเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๒๐๑ วัน ๗ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๕ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายาม ๔๕ นาทีเสด็จออกขุนนาง กรมพระกระลาโหมนำใบบอกขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ คือ ๑ บอกพระยาพิทักษทวยหาญผู้ว่าราชการเมืองประทุมธานีมีความว่า ได้ส่งเงินค่ารางวัดนาตราจองที่ข้าหลวงกรมการพร้อมกันได้เดินรางวัดนาราษฎรหมดแขวงเมืองประทุมธานี ครั้งแรกส่งมาเปนเงิน ๒๓๐ ชั่ง ครั้งนี้เงิน ๑๗๐ ชั่งแปดบาท ๔๐ อัฐ ได้ส่งเงินไปยังพนักงานกรมเกษตราธิการแล้ว เปนหมดจำนวนค่ารางวัดนาเมืองประทุมธานี ๒ บอกหลวงราชเสนีข้าหลวงตรวจสายโทรเลขมีความว่า หลวงราชเสนีได้ไปพักอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ส่งเงินลงมาสมโภชในการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๑ ชั่ง พอจบลงมีพระราชดำรัสถามพระยาศรีสิงหเทพว่าเรื่องผู้ร้ายที่ฆ่าพระตาย ได้ความในบอกพระพิเรนทรเทพว่าอย่างไร พระยาศรีกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระพิเรนทรเทพได้มีใบบอกมาครั้งหนึ่งเปนเรื่องผู้ร้ายฆ่าพระตายเหมือนกันแต่ไม่ใช่รายนี้ รายนี้ไม่มีบอกมามีแต่ใบบอกพระภักดีณรงค์ มีพระราชดำรัสถามว่า ผู้ร้ายนั้นส่งให้พระภักดีณรงค์ชำระฤๅ พระธาศรีกราบบังคมทูลว่าเมื่อจับผู้ร้ายได้แล้วก็พาไปเมืองอุบล มีพระราชดำรัสว่าพวกผู้ร้ายคงจะอยู่เมืองนครราชสีห์มาให้มีตราออกไปให้ส่งผู้ร้ายมาชำระที่เมืองนครราชสีห์มา ให้มีท้องตราไปยังกรมหมื่นสรรพสิทธิตามที่สั่งวานนี้ แล้วให้สั่งบอกรายนี้มาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย แล้วพระยาศรีนำเจ้าราชภาคินัย เมืองนครเชียงใหม่ พระวิชิตคีรีเจ้าเมืองด่านนางพูนกราบถวายบังคมลาออกไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้าฯ พระราชทานกาน้ำ คนโท พานหมาก กระโถน } ถมเจ้าราชภาคีนัยแลผ้าพรรณแก่เจ้าเมืองด่านนางพูนตามสมควร แล้วพระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๓ นาย คือพระประเทศอุไทยทิศเปนพระยานุภาพไตรภพ ๑ พระสยามสิมานุรักษเปนพระวิชิตสงครามปลัด ๑ หลวงจ่าเมืองเปนพระพยุหาภิบาล ๑ แล้วมีพระบรมราชโองการพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พระยานุภาพ แลพระวิชิตก็ไม่ใช่คนอื่นเปนอาว์เปนหลานกัน การที่เกิดแต่ก่อนกร้าวกันขึ้นแต่ก่อนนั้น อย่าให้มีความอาฆาฏบาดหมางกันสืบไป ผู้ใหญ่ก็ให้มีความกรุณาช่วยทำนุบำรุงเด็ก ฝ่ายเล็กก็ให้มีความอ่อนน้อมนำเกรงผู้ใหญ่ อย่าให้ถือการที่วิวาทซึ่งเปนส่วนตัวเปนใหญ่ ให้ถือเอาราชการเปนประมาณ ถ้าไม่มีความปลองดองกันแล้วจะเปนที่ให้เสียราชการ เพลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น เวลา ๔ ทุ่ม ๓๓ นาทีเสด็จลงประทับที่ชุมนุมเสนาบดี เพลา ๒ ยาม ๔๐ นาทีเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๒๐๒ วัน ๑ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๖ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันที่รัชกาล ๘๒๐๓ วัน ๒ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๗ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายาม ๕๐ มินิตเสด็จออกขุนนาง กรมพระกระลาโหมนำใบบอกพระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดีผู้ว่าราชการเมืองตกั่วทุ่ง ๒ ฉบับ ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ฉบับ ๑ ว่ามีตราออกไปให้พระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดี จัดกรมการแทนข้าหลวง ๑ พร้อมด้วยอำเภอกำนันออกเดินประเมินนาราษฎรในแขวงเมืองตกั่วทุ่งจำนวนปีจออัฐศก พระบริสุทธิได้จัดการตามตามท้องตราที่มีไปแล้วเก็บเงินค่าประเมินนาเมืองตกั่วทุ่งในจำนวนปีจออัฐศกได้ ๔ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๓ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง ดวงตราเหลือ ๑๖๑๘ ดวง พระบริสุทธิได้จัดให้กรมการคุมดวงตรากับหางว่าวจำนวนนา ๑ ฉบับเข้ามาส่งยังเจ้าพนักงานกรมเกษตราธิการแล้ว ฉบับ ๒ ว่ามีท้องตราออกไปให้จัดกรมการผูกปี้จีนเมืองตกั่วทุ่งจำนวนปีชวดสัมฤทธิศกนั้น พระบริสุทธิได้จัดการตามท้องตราที่มีไปแล้ว ได้จำนวนเงินที่ผูกปี้จีนเมืองตกั่วทุ่งในจำนวนปีชวดสัมฤทธิศกรวมเปนเงิน ๙๑๙ ๓๙ เหรียญ ดวงตราเหลือ ๖๐ ฉบับ พระบริสุทธิได้จัดให้กรมการคุมดวงตรากับหางว่าวจำนวนจีน ๑ ฉบับเข้ามาส่งยังเจ้าพนักงานแล้ว เพลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๒๐๔ วัน ๓ ๕ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๘ เมษายน ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เพลายามกับ ๓๕ มินิตเสด็จออกทรงตั้งพระที่พระที่นั่งจักรกรีองค์ขวา จำนวนพระที่ตั้งนั้น พระราชาคณะ ๒ พระครูเจ้าคณะใหญ่ ๙ เจ้าคณะรอง ๑๑ รวมทั้งสิ้น ๒๒ รูป รายนามตามลำดับดังนี้ ๑ พระมหากันตสาโรเปลียญ ๔ ประโยค วัดเสนาศนาราม เปนพระพรหมเทพาจารย เจ้าคณะใหญ่เมืองตาก มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ พระมหาญาณ เปรียญ ๓ ประโยค วัดพระเชตุพน เปนพระญาณวิริยะ เจ้าคณะใหญ่เมืองพระตบอง มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๓ พระใบฎีกากลิ่น วัดคูหาสวรรค์ เปนพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ เจ้าคณะรองเมืองสุโขไทย ๔ พระสมุหภู วัดประตูสาร เปนพระครูวิบูลยเมธาจาริย เจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณ ๕ เจ้าอธิการเงิน วัดใหญ่อินทราธิบดี เปนพระครูปัญญาคธาวุธ เจ้าคณะรองเมืองพระตบอง ๖ เจ้าอธิการเปรียบ วัดราชบุรณ เปนพระครูอธิมุตสยามรัฐ เจ้าคณะใหญ่เมืองนครเสียมราฐ ๗ เจ้าอธิการเตียง วัดราชบุรณ เปนพระครูศิลวัดอุดม เจ้าคณะรองเมืองนครเสียมราฐ ๘ เจ้าอธิการดก วัดวิเสศมุนีศรัทธาวาศ เปนพระครูพนมนิวาศ เจ้าคณะใหญ่เมืองพนมศก ๙ เจ้าอธิการอยู่วัดอัทยา เปนพระครูวินัยสาสน์โกศล เจ้าคณะรองเมืองพนมศก ๑๐ เจ้าอธิการพรมวัดประเวศ เปนพระครูมงคลคุณาธาร เจ้าคณะรองเมืองมงคลบุรี ๑๑ เจ้าอธิการแป้ด วัดโพบ้านสิง เปนพระครูศิลสารโสภณ เจ้าคณะใหญ่เมืองศรีโสภณ ๑๒ เจ้าอธิการเฟื้อย วัดศิศะเกษ เปนพระครูธรรมวินยานุยุค เจ้าคณะใหญ่เมืองหนองคาย ๑๓ เจ้าอธิการหนู วัดศรีเมือง เปนพระครูพุทธพจนประกาศ เจ้าคณะรองเมืองหนองคาย ๑๔ เจ้าอธิการภูมี วัดมีไชย เปนพระครูชิโนวาทธำรง เจ้าคณะรองเมืองหนองคาย ๑๕ เจ้าอธิการจุนลาวัดกลาง เปนพระครูเอกุตตสตาธิคุณ เจ้าคณะใหญ่เมืองร้อยเอจ ๑๖ เจ้าอธิการดิษา วัดบึง เปนพระครูอะดุลยศีลพรต เจ้าคณะรองเมืองร้อยเอจ ๑๗ เจ้าอธิการพุทราวัดมหาธาตุ เปนพระครูจิตตวิโสธนาจารย เจ้าคณะใหญ่เมืองยโสธร ๑๘ เจ้าอธิการเกษ วัดธรรมหายโศก เปนพระครูญาณวิสุทธคุณ เจ้าคณะรองเมืองยะโสธร ๑๙ เจ้าอธิการบาหลักคำ เปนพระครูสุพรรณภูมคณาจาริย เจ้าคณะใหญ่เมืองสุวรรณภูม แต่ตัวไม่ได้มารับสัญญาบัตรโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวุฒิการรับส่งไป ๒๐ เจ้าอธิการสอนวัดใต้ เปนพระครูกาญจนสังกาศ เจ้าคณะรองเมืองสุวรรณภูม ๒๑ เจ้าอธิการภิลาวัดโพสิทธาราม เปนพระครูมหาสารธรรมธร เจ้าคณะใหญ่เมืองมหาสารคาม ๒๒ เจ้าอธิการแสงวัดสิงทอง เปนพระครูวิเวคธรรมปฏิบัติ เจ้าคณะรองเมืองชนบท เมื่อเวลาทรงตั้งคือทรงประเคนไตรแพรสัญญาบัตรตาลิปัตรแฉกหักทองขาว ย่ามหักทองขวางย่ามเข้มขาบบาตรมีถุงเข้มขาบฝาบาตรเชิงบาตรมุกขันน้ำถมปัดกระโถนถมปัดผ้าฃาวพับธูปเทียนหม่ากพลู ของข้างในแก่พระราชาคณะทั้งสอง นอกนั้นทรงประเคนไตรผ้าสัญญาบัตรตาลิปัตรแฉกเปลวเพลิงทองแผ่ลวดพัดรรองโหมด ย่ามสักหลาดบาตรถุงสักหลาดกาน้ำถ้วยกะโถนถ้วยร่มรองเท้าผ้าขาวพับธูปเทียนของข้างในแปลกแต่ตาลิปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด ที่ทรงตั้งพระครูเจ้าคณะใหญ่อีก ๓ เจ้าคณะรอง ๑๑ คณะเมื่อทรงตั้งพระสงฆ์นั้นพระสงฆ์นำ ๑๐ รูป มีพระธรรมไตรโลกาจารยเป็นประธาน สวดไชยมงคลตามธรรมเนียม ทรงตั้งตำแหน่งสงฆ์แล้ว ทรงประเคนไตรปริขานเครื่องกุฎีแด่พระครูวิจิตรธรรมภานีเจ้าคณะใหญ่แลถานา ๓ รูป ซึ่งจะไปอยู่วัดเมืองนครจำปาศักดิ์ตามสมควร พระสงฆ์ที่รับตำแหน่งไปครองไตรมานั่งที่พร้อมแล้วถวายอติเรกถวายพระพรลาเสด็จขึ้น แล้วเสด็จออกขุนนาง กรมพระกระลาโหมนำบอกพระบริสุทธิโลหภูมินทรขึ้นอ่านกราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ คือ ๑ ว่าพระบริสุทธิได้จัดกรมการแทนเสนานาย ๑ พร้อมด้วยอำเภอกำนันออกเดินประเมินนาราษฎรในจำนวนปีรกาสัปตศกหมดแขวงเมืองตกั่วทุ่งได้เงิน ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๒ ว่าได้ออกเดินประเมินนาราษฎรในแขวงเมืองตกั่วทุ่งในจำนวนปีกุนนพศกได้เงิน ๔ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๓ บาท ๑ เฟื้อง รวมทั้งสองจำนวนเปนเงิน ๙ ชั่ง ๔ ตำลึง ๑ เฟื้อง พระบริสุทธิโลหภูมินทรจัดให้ขุนศรีสมบัตรกรมการกับนายเกลี้ยงคุมเงินกับดวงตราที่เหลือ ๓๒๒๔ ดวงเข้ามาส่ง แล้วพระยาศรีนำเจ้าอุปราชเข้าราชภาติกวงษพระยาไชยสงครามพระยาอุตรการโกศลเมืองนครลำปาง ราชวงษพระบริรัตนเมืองเถินพระวรศักดาเดชพระเสนาพิพิธหลวงกำโภชพิทักษหลวงสุนทรวรกิจวิจารณเมืองพระตบองพระยานุภาพไกรภพพระวิชิตสงครามปลัดพระอภัยพิทักษเมืองนครเสียมราฐ ๑๔ นายกราบถวายบังคมลาออกไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้า ฯพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่เจ้าอุปราช ว่ากลับออกไปแล้วอย่าเพิกเฉยลเลยราชการบ้านเมืองเสียให้เอาใจใส่ทำนุบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุข เพราะเจ้านครลำปางนั้นเปนคนชรา ใครชักชวนว่ากระไรก็จะเปนไปตาม จะเปนที่เสียราชการไปทรงหวังใจอยู่แต่เจ้าอุปราชคนเดียว ให้ช่วยตักเตือนว่ากล่าวเจ้านครลำปางบ้าง อย่าทิ้งบล่อยให้เสียราชการได้ แล้วมีพระราชดำรัสกับพระยานุภาพไกรภพต่อไปว่า การรักษาบ้านเมืองเปนการสำคัญถ้าทำลๆ หลวมๆ แล้วจะเปนที่ให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้น ให้พระยานุภาพเอาใจใส่สอดส่องเหนแก่ราชการให้มากๆ ถ้าสิ่งใดขัดขวางจะทำไม่สำเร็จได้ด้วยตัวเองก็ให้บอกเข้ามาแล้วมีพระราชดำรัสแก่เจ้าราชวงษเมืองเถินว่า เข้าบอกเข้ามาว่าตามลำน้ำเมืองเถินมีโจรผู้ร้ายชุกชุมเที่ยวตีปล้นเรือลูกค้าอยู่เสมอ เมื่อก่อนเจ้าราชวงษเปนคนออกสืบจับผู้ร้าย เดี๋ยวนี้เลิกไปโจรผู้ร้ายจึ่งได้ชุกชุมมากขึ้นเปนเหตุอย่างไรจึ่งได้เลิกเสีย เจ้าราชวงษกราบบังคมทูลว่าป่วยจึ่งได้หยุดไป มีพระราชดำรัสว่าถึงป่วยก็ควรให้มีผู้แทนที่จะทิ้งเฉยเสียนั้นใช้ไม่ได้ ถ้ากลับไปให้ออกจับผู้ร้ายให้สงบจงได้ แล้วมีพระราชดำรัสถามเจ้าอุปราชว่าเมืองเถินกับเมืองตากไกลกันสักกี่มากน้อย เจ้าอุปราชกราบบังคมทูลว่าหนทางเรือ ๓ วัน แต่หนทางบกสองวันถึง แล้วมีพระราชดำรัสถามกรมหลวงพิชิตว่า เมื่อขึ้นไปโจรผู้ร้ายที่เมืองเถินเปนอย่างไร กรมหลวงพิชิตกราบบังคมทูลว่ามีบ้างแต่ได้ใช้อุบายให้คนที่ไปปลอมเปนลูกค้าแล้วมีเรือเที่ยวซุ่มอยู่ อ้ายพวกผู้ร้ายเหนตรงเข้ามาแย่งชิงได้จับได้หลายราย แล้วพระราชทานคนโท โต๊ะ กโถน } ทองแก่เจ้าอุปราช นอกนั้นพระราชทานผ้าพรรณพอสมควร เพลา ๔ ทุ่ม ๔๓ นาทีเสด็จขึ้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ