เดือน ๑๑ จุลศักราช ๑๒๕๓

วันที่รัชกาล ๘๓๖๒ วัน ๗ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๓ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาเช้า ๔ โมงเสศโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถเสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แลปักฉลากโถเข้ายาคู ๔๑ โถ ที่พระบรมวงษานุวงษฝ่ายในจัดออกมาถวาย แลมีเข้าทิพย์ปายาศของหลวงถวายด้วยโถพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ส่งไปถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โถพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอาง ถวายพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ โถพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส โถพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ถวายพระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แลพระสงฆ์ที่มารับพระราชทานฉัน ได้รับพระราชทาน โถเข้ายาคูแลเข้าทิพย์ปายาศทุกองค์ แล้วส่งไปถวายสมเด็จพระทั้ง ๓ แลหม่อมเจ้าเณรดนัยวรนุช ที่ไม่ได้มารับพระราชทานฉันท์ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันท์เสร็จแล้ว ถวายอนุโมทนา ถวายพระพรลากลับ

แล้วโปรดให้พระสงฆ์ที่อนุโลมในพระบรมอัฐิ แลพระอัฐิสดัปกรณ์กาลานุกาลพิธีสาทร แลสดัปกรณ์รายร้อย ๕๐๐ รูป แล้วส่งไปสดัปกรณ์หอพระนาค ๑๐๐ รูป พระราชวังบวร ๑๐๐ รูป

วันที่รัชกาล ๘๓๖๓ วัน ๑ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๔ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนางตามเคย พระศรีเสนานำศุภอักษรฉบับ ๑ ใบบอกสองฉบับในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูลในศุภอักษรพระเจ้านครเชียงใหม่ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๑๑๐ ว่าพระเจ้านครเชียงใหม่จะลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกรุงเทพฯ หามีผู้ใหญ่จะรักษาราชการไม่ ขอเจ้าพระยาพลเทพที่สมุหพระกระลาโหมไว้รักษาราชการบ้านเมือง

ในใบบอก ๒ ฉบับนั้นฉบับที่ ๑ บอกนายจ่ารงข้าหลวงผู้ช่วยราชการหัวเมืองลาวกลาง ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ร,ศ, ๑๑๐ ว่าซึ่งมีตราขึ้นไปว่า เมื่อกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์จัดข้าหลวงหัวเมืองลาวกลางเสร็จแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปจัดเมืองหลวงพระบางราชธานีต่อไปนั้นนายจ่ารงได้นำความขึ้นกราบทูลกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ทุกประการแล้ว

ฉบับ ๒ บอกพระศรีพิทักษข้าหลวงเมืองคุขันธ์ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ร,ศ, ๑๑๐ ว่าซึ่งเจ้าเมืองกรมการบอกกล่าวโทษพระศรีพิพักษลงมามีตราขึ้นไปให้พระพิศณุเทพข้าหลวงแต่งข้าหลวงลงมาชำระไต่สวนนั้น หามีข้าหลวงลงมาชำระไม่ ครั้นมีราชการขึ้นเจ้าเมืองกรมการขัดขวางไปต่างๆ พระศรีพิทักษขอฃ้าหลวงขึ้นไปเปลี่ยนรักษาราชการต่อไป

พระสุรินทรามาตย์นำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองเพชรบุรี ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนม์พรรษา

ฉบับ ๒ บอกเมืองนครเขื่อนขันธ์ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนม์พรรษา

จึ่งมีพระราชดำรัสแก่พระยาศรีสิงหเทพว่า เรื่องพระศรีพิทักษนี้เป็นแต่กรมมหาดไทยสั่งคร่าว ๆ ไปเท่านั้นจึ่งไม่เป็นการตกลงได้ กรมหลวงพิชิตจะขึ้นไป มอบให้กรมหลวงพิชิตชำระ เมื่อเห็นใครควรจะเปลี่ยนเป็นข้าหลวงได้ก็แล้วแต่กรมหลวงพิชิต

แล้วรับสั่งถามพระยาสุริยวงษาเจ้าเมืองหล่มศักว่า คนที่เมืองเชียงขวางมีสักกี่มากน้อย พระยาสุริยวงษากราบบังคมทูลว่าประมาณสักสองหมื่น แล้วรับสั่งถามต่อไปว่าเป็นลาวมากฤๅข่ามาก พระยาสุริยวงษากราบบังคมทูลว่าเป็นข่ามากเป็นลาวพวนน้อย แล้วรับสั่งถามว่าข่านั้นเรียกว่าข่าอะไร พระยาสุริยวงษากราบบังคมทูลว่าเรียกกันแต่ว่าพวกข่าเท่านั้นหาทราบกลับว่าข่าอะไรไม่ แล้วรับสั่งถามว่าทำไมข่าพวกนั้นจึงไม่ตั้งอยู่ที่เชียงขวางจึ่งได้ตั้งถอยเข้ามา พระยาสุริยวงษากราบบังคมทูลว่าเมื่อหนีพวกฮ่อเข้ามาอยู่ก็เป็นการสบายจึ่งไม่ได้ยกกลับออกไป แล้วรับสั่งถามว่าที่เชียงขวางมีเรือนสักกี่มากน้อย พระยาสุริยวงษากราบบังคมทูลว่ามีประมาณสักสองร้อยเรือน

แล้วดำรัสแก่พระองค์เจ้าไชยันตมงคลว่า เสด็จออกขุนนางไม่มีตำรวจเฝ้าเลขผิดแบบทีเดียว ให้เกาะเจ้ากรมปลัดกรมจ่าตำรวจแลสมทบด้วย แต่ต้นเวรนั้นให้มีพระกะทู้ถามว่าทำไมจึ่งไม่มา ต้นเวรนั้นควรจะจำตรวนจึ่งจะพอ

แล้วพระยาศรีสิงหเทพ นำเจ้าราชวงษเมืองหนองคาย ๑ พระประชาชนบาลเจ้าเมืองสหัศขันธ์ ๑ กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานผ้าพรรณนุ่งห่มตามสมควร

แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๑๐ นายให้นายอุ่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ บุตรพระมหาราชครูพิธี เป็นหลวงราชมุณี ปลัดกรมพราหมพิธี ถือศักดินา ๖๐๐ ให้หมื่นเทพบรรทมนายเวร เป็นขุนศรีราชอาศน์ ปลัดกรมชาวที่พระบรรทม ถือศักดินา ๖๐๐ ให้พระนราบริรักษ์เมืองนครราชสีห์มา เป็นพระศรีสิทธิสงครามผู้ช่วยราชการเมืองนครราชสีห์มา ถือศักดินา ๘๐๐ ให้ท้าวอินทกุมารเมืองอัตปือ เป็นราชบุตรเมืองอัตปือ ให้ท้าววรบุตรเมืองยะโสธร เป็นราชบุตรเมืองยะโสธร ให้ท้าวจันศรีสุลาศเมืองยะโสธร เป็นหลวงวรราชผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร ให้ท้าวไชยกุมารเมืองสุวรรณภูม เป็นหลวงรัตนวงษา ผู้ช่วยราชการเมืองสุวรรณภูม ให้ราชบุตรเมืองมุกดาหาร เป็นพระจันทรเทพสุริยวงษา เจ้าเมืองมุกดาหาร ให้ราชบุตรเมืองเกษตรวิไสย เป็นพระศรีเกษตราธิไชย เจ้าเมืองเกษตรวิไสย ขึ้นเมืองสุวรรณภูม ให้อุปฮาดเมืองสาลวัน เป็นพระเอกราชา เจ้าเมืองสาลวัน เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย.

วันที่รัชกาล ๘๓๖๔ วัน ๒ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๕ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนางตามเคย พระศรีเสนานำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๔ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกกรุงเก่า ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีสิงหปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ ร้อยเจดสิบหกเซน น้ำท่าในวันที่ ๑๕ กันยายน ปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว ราษฎรทำนาแล้วได้ประมาณ ๒ ส่วนยังส่วนหนึ่ง

ฉบับ ๒ บอกเมืองลพบุรี ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีสิงหปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ห้าทสางค์ น้ำท่าในรามีสิงหปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ศอกคืบ ๗ นิ้ว ราษฎรไถหว่านผลเมดเข้าเสร็จแล้ว ราคาเข้าเปลือกตวงด้วยสัด ๒๕ ทนาน เกวียนละ ๗ ตำลึง ๑ บาท

ฉบับ ๓ บอกเมืองสรบูรี ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ร,ศ, ๑๑๐ ว่า น้ำฝนในราษีสิงหปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ หนึ่งนิ้ว ๔ ทสางค์ น้ำท่าในราษีสิงหปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สองสอกคืบห้านิ้ว ราษฎรปักดำทำนาได้ประมาณส่วน ๑ ยังสามส่วน ราคาเข้าเปลือกตวงด้วยสัด ๒๕ ทนาน เกวียนละ ๙ ตำลึง ๒ บาท

ฉบับ ๔ บอกเมืองสิงคบุรี ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีกรกฎปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ หนึ่งนิ้ว ๓ ทสางค์ ราษฎรไถหว่านได้ประมาณส่วน ๑ ยัง ๓ ส่วน ราคาเข้าเปลือกตวงด้วยสัต ๒๕ ทนาน เกวียนละ ๗ ตำลึง ๒ บาท

พระสุรินทรามาตยนำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูลฉบับ ๑ บอกเมืองนครเขื่อนขันธ์ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่า ซึ่งมีตราโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงโกษานุรักษไปเก็บเงินค่านาปี ๑๐๙ นั้นเก็บเงินได้ ๑๔๐ ชั่ง ก่อนยังหาเสร็จจำนวนเงินจำนวนนาไม่

จึ่งมีพระราชดำรัสเป็นพระกะทู้ถามพระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวาว่าพระยามหามนตรีเป็นผู้ใหญ่ถึงว่าเป็นแต่ที่เจ้ากรมจะบังคับบัญชาใครไม่ได้ก็ดีก็ควรจะตักเตือนกัน มีอย่างอยู่ฤๅเสด็จออกท้องพระโรงไม่มีตำรวจเฝ้าแต่สักคนหนึ่ง พระยามหามนตรีกราบบังคมทูลสารภาพว่าซึ่งไม่ได้เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทมีความผิดพระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ

แล้วดำรัสแก่กรมหลวงพิชิตว่า การที่กรมหลวงพิชิตกราบทูลนั้นถูกต้อง กรมมหาดไทยสำหรับจะทำให้การช้าเท่านั้น เหมือนอย่างการเงินเดือนที่กรมหลวงพิชิตจะเสด็จไปนั้นก็ได้รับสั่งกับกรมหลวงพิชิตแล้วว่าให้กรมหลวงพิชิตทรงคิดควรให้กรมมหาดไทยถวายเท่านั้น ข้อหนึ่งกรมหมื่นประจักษจะเสด็จไปครั้งนี้จะเอาปืนไปเท่าไร กรมมหาดไทยก็ไม่ทราบ นึกว่าท่านทรงทำได้เองก็เป็นแล้วกัน ถ้ากรมหมื่นประจักษจะไปเป็นกระบถขึ้นจะถามกรมมหาดไทยว่า กรมหมื่นประจักษเอาปืนไปเท่าไรคงจะรู้ทราบไม่ได้นี่เรียกว่ากรมมหาดไทยทำการไม่รักษาเต็มน่าที่ แล้วรับสั่งแก่พระยาศรีว่าที่กรมหมื่นประจักษเอาปืนไปเท่าไรแลอะไรบ้างถ้า ไม่มีบาญชีถวายจะต้องว่ากรมมหาดไทยมีความผิด การที่กรมหลวงพิชิตจะเสด็จไปครั้งนี้ ให้กรมหลวงพิชิตทำบาญชีมายื่นต่อกรมมหาดไทยให้กรมมหาดไทยส่งบาญชีเข้าไปถวายเท่านั้นก็พอ

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๕๓๖๕ วัน ๓ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๖ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันนี้เวลาทุ่มเสศโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายอาภากรเกียรติวงษ์เสด็จออกจุดเทียนเครื่องนมัศการที่พระที่นั่งสุไธยสวรรย อาลักษณอ่านประกาศตามพระราชพิธี พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีคเชนทรสนานตามเคย มีพระสุเมธาจาริยเป็นประธาน

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนาง พระยาศรีสิงหเทพนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๔ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองนครสวรรค์ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีกรกฎปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ห้านิ้ว ๖ ทสางค์ น้ำท่าในราษีกรกฎปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ศอกหกนิ้ว ราษฎรทำนาได้ประมาณ ๒ ส่วนยังส่วนหนึ่ง

ฉบับ ๒ บอกเมืองสระบุรี ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีสิงหปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ แปดนิ้ว น้ำท่าในราษีสิงหปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สามศอกคืบแปดนิ้ว ราษฎรปักดำทำนาแล้วประมาณ ๓ ส่วนยังส่วนหนึ่ง

ฉบับ ๓ บอกเมืองอินทรบุรี ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีเมถุนปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สองทสางค์ น้ำท่าในราษีเมถุนปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สองศอกคืบนิ้วกึ่ง น้ำฝนในราษีกรกฎปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สามนิ้วเจดทสางค์ น้ำท่าในราษีกรกฎปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ ศอกสามนิ้ว ราษฎรกำลังไถหว่านราคาเข้าเปลือกตวงด้วยสัด ๒๕ เกวียนละ ๗ ตำลึง

ฉบับ ๔ บอกเมืองสรรคบูรี ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ร,ศ, ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีกรกฎปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สี่ทสางค์ ราษฎรกำลังไถหว่านปักดำ ราคาเข้าเปลือกตวงด้วยสัต ๒๕ เกวียนละ ๘ ตำลึง ๒ บาท

มีพระราชดำรัสถามกรมหมื่นศิริธัชสังกาศว่า รายมรฎกพระยาสมบัติยาธิบาลนั้นฟ้องเป็นมรฎกกันหรือ กรมหมื่นศิริกราบบังคมทูลว่าต้องเป็นความมรฎกกัน จึ่งดำรัสต่อไปว่าตัวแกก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีลูกควรจะทำพิไนยเสียแต่คนมักพูดว่าทำพิไนยกันเป็นการแช่งตัว ให้เขาฟ้องร้องกันเสียให้เสร็จแล้วจึงส่งเข้าไปถวาย แล้วดำรัสถามต่อไปถึงเรื่องมรฎกพระยาราไชสวริย์ ว่าภรรยามาร้องว่ากลัวโจรผู้ร้ายจะปล้นการค้างอยู่เพียงไร

กรมหมื่นศิริกราบบังคมทูลว่าเดิมภรรยาพระยาราไชยนำหนังสือลายมือพระยาราไชยที่ยกทรัพยสมบัติถวายเป็นหลวงเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ได้สอบถามญาติพี่น้องของพระยาราไชยก็ว่าเป็นลายมือของพระยาราไชย จึ่งพระราชทานหนังสือนั้นส่งมาในที่ประชุม ๆ ปฤกษาว่าให้ข้าพระพุทธเจ้าตรวจทำบาญชีทรัพยสิ่งของ ๆ พระยาราไชย แลพวกญาติว่ามีมากน้อยเท่าใด ข้าพระพุทธเจ้าได้ทำบาญชีส่งเช้าไปทูลเกล้า ฯ ถวายนานแล้วยังหาตกออกมาไม่

เรื่องหนึ่งพวกญาติของพระยาราไชยทำเรื่องราวมาร้องต่อฃ้าพระพุทธเจ้าว่าภรรยาพระยาราไชยบังทรัพยสิ่งของของพระยาราไชยไว้ประมานสามร้อยชั่งเสศหาลงมาในบาญชีไม่ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่รับด้วยว่าทรัพย์มรฎกของพระยาราไชยที่ทูลเกล้า ฯ ถวายเข้าไปยังหาตกออกมาไม่ พวกญาติพี่น้องพากันร้องถวายฎีกากล่าวโทษศาลฎีกาว่าไม่รับเรื่องราว

จึ่งดำรัสสั่งให้ยกฎีกาที่ญาติพี่น้องพระยาราไชย กล่าวโทษศาลฎีกาแลภรรยาพระยาราไชยนั้นเสีย

แล้วกรมหมื่นศิริกราบบังคมทูลว่า จมื่นราชภัณฑารักษทำเรื่องราวกล่าวโทษพระยาราไชยว่า บังเงินค่าเช่าตึกของหลวงที่สัมเพงไว้แห่งหนึ่ง จนถึงปีชวดสัมฤทธิศกจึ่งได้ยกเก็บค่าเช่าเป็นของหลวง ข้าพระพุทธเจ้าว่าทรัพย์มรฎกของพระยาราไชยก็ยกทูลเกล้า ฯ ถวายมากแล้วเหลือกับที่ปิดบังค่าเช่าตึกของหลวงไว้ จึงดำรัสถามกรมหมื่นศิริว่าตึกของหลวงอะไรไปอยู่ที่สัมเพง กรมหมื่นศิริกราบบังคมทูลว่าตึกนี้เดิมได้ยินว่าทำให้พวกจีนที่รับการคลังในซ้ายไปอยู่ ครั้นต่อมาจีนพวกนั้นยกเลิกไปตึกนั้นก็ชำรุดหักพังลง พระยาราไชยจึ่งได้ซ่อมแซมขึ้นพวกจีนก็มาเช่าอยู่

แล้วดำรัสถามกรมหมื่นศิริว่า พระพิภาคษาร้องจะฃอกลับมาอยู่ลูกขุนตามเดิมว่าวิวาทกันกับพระยาเจริญ ได้ถามกรมหลวงเทวะวงษ์แล้วยอมให้มา ตำแหน่งลูกขุนที่อะไรจะว่างบ้างให้เอามาเป็นเสียด้วย กรมหมื่นศิริกราบบังคมทูลว่าที่หลวงจักรปาณีปลัดพระมหาราชครูว่างอยู่ จึงดำรัสว่านั่นก็ได้แต่ให้เป็นพระตามเดิม

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๘๓๖๖ วัน ๔ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๗ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาเช้าพระสงฆ์ ๑๐ รูปมารับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งสุทไธยสวรรย์เสร็จแล้ว ถวายของเครื่องไทยธรรมตามสมควร

เวลาบ่าย ๕ โมงเสศโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนารถ เสด็จออกทอดพระเนตรคเชนทรัศวสนานที่พระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ตามเคย

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนาง พระสุรินทรามาตยนำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูลฉบับ ๑ บอกเมืองเพชรบุรี ลงวันที่ ๑ กันยายน ๑๑๐ ว่าน้ำฝนในราษีเมศปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สองนิ้วสองทสางค์ น้ำฝนในราษีพฤศภปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ห้าทสางค์ น้ำฝนในราษีเมถุนปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ เก้าทสางค์ น้ำฝนในราษีกรกฎปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สองทสางค์ ราษฎรปักดำทำแล้วได้ประมาณสามส่วนยังส่วนหนึ่ง ราคาเข้าเปลือกตวงด้วยสัตย์ยี่สิบห้า เกวียนละ ๑๑ ตำลึง

มีพระราชดำรัสถามพระยาทิพยโกษาว่า พลับพลาพระปะถมเจดีย์นั้นทำแล้วฤๅยัง พระยาทิพยโกษากราบบังคมทูลว่าทำแล้ว

แล้วรับสั่งด้วยพระองค์เจ้าไชยันตมงคลว่า กรมหมื่นสถิตย์ยกเลขถวายเป็นหลวงแล้วลูกชายกลับจะมาทูลขอเอาไป การเลขกรมหมื่นสถิตย์นี้ จนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วว่าเลขเหล่านี้หนีขึ้นไปพึ่งบุญเจ้านายวังน่ามาก การที่ใครมีเลขมากสำหรับให้มีทุกข์มากเหมือนอย่างเลขในพระองค์เมื่อยังไม่ได้ราชสมบัติมีถึงพันกว่า ครั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้น เลขเหลือไม่ถึงพันเพราะพากันกลัวจะเป็นทหารหนีเสียหมดเวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๘๓๖๗ วัน ๕ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๘ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาเช้า ๔ โมงเสศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษศิลปาคม กับผู้ที่จะตามเสด็จด้วยมาลงเรือพร้อมกันท่าตำหนักแพ

เวลา ๒ ทุ่มเสศฝนตกเกิดพยุห์พัดกล้า ยอดพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์ด้านตวันตกหักพลัดตกลงมาถูกสิงหโตที่น่าประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทคอหักคัวหนึ่ง กับลูกแก้วยอดพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนสาศดารามลุดพลัดตกแตกลงมาแห่งหนึ่ง

ยอดเจดีย์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ที่ประดิฐสถานไว้ในวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามแห่งหนึ่ง

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนาง พระยาศรีสิงหเทพนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๕ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกกรุงเก่า ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๑๑๐ ฉบับ ๒ บอกเมืองอ่างทอง ลงวันที่ ๖ กันยายน ๑๑๐ ฉบับ ๓ บอกเมืองอินทรบูรีลงวันที่ ๙ กันยายน ๑๑๐ ฉบับ ๔ บอกเมืองสรรคบุรี ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๑๑๐ ฉบับ ๕ บอกเมืองลพบุรี ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนม์พรรษาทุกฉบับ

แล้วพระยาพิพัฒโกษา นำบอกในกรมท่าขึ้นกราบบังคมทูล ๖ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกเมืองสมุทสงคราม ว่าน้ำฝนในราษีเมศปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ หนึ่งนิ้วหนึ่งทสางค์ ในราษีพฤศภปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สามนิ้ว ราษฎรกำลังปักดำทำนา ราคาเข้าเปลือกสัต ๒๕ เกวียนละ ๑๑ ตำลึง

ฉบับ ๒ ว่าน้ำฝนในราษีเมถุนปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สามนิ้ว ในราษีกรกฎปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สองทสางค์ ราษฎรทำนาได้สองส่วนยังส่วนหนึ่ง

ฉบับ ๓ บอกเมืองตราษ ว่าน้ำฝนในราษีเมศปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สองนิ้ว ในราษีพฤศภปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ ห้านิ้ว ราษีเมถุนปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สิบสองนิ้ว ในราษีกรกฎปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ สิบสองนิ้ว ในราษีสิงห์ปี ๑๑๐ มากกว่าปี ๑๐๙ ยี่สิบห้านิ้ว ราษฎรไถหว่านได้ทั่วกัน ราคาเข้าเปลือกสัด ๒๕ เกวียนละ ๑๐ ตำลึง

ฉบับ ๔ บอกเมืองระยอง ว่าน้ำฝนในราษีเมศปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สิบเจดนิ้วสามทสางค์ ในราษีพฤศภปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ ยี่สิบสองนิ้วสามทสางค์ ในราษีเมถุนปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สองนิ้วสองทสางค์ ราษฎรยังหาได้ไถหว่านปักดำได้ไม่ ราคาเข้าเปลือกสัต ๒๕ เกวียนละแปดตำลึง

ฉบับ ๕ บอกเมืองสมุทปราการ ว่าเดือนเมษายนพฤศภาคมฝนหาตกไม่ เดือนมิถุนายนกรกฎาคมฝนตก ๕ ครั้ง ราษฎรกำลังไถหว่าน ราคาเข้าเปลือกสัต ๒๕ เกวียนละ ๑๑ ตำลึง

ฉบับ ๖ บอกเมืองนนทบุรี ว่าน้ำฝนในราษีพฤกภปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สิบเก้านิ้วสองทสางค์ ในราษีเมถุนปี ๑๑๐ น้อยกว่าปี ๑๐๙ สิบเอจนิ้วสามทสางค์ ราษฎรกำลังไถหว่านตกกล้ายังหาเต็มพูมไม่ ราคาเฃ้าเปลือกสัต ๒๕ เกวียนละ ๑๑ ตำลึง

แล้วพระยานรินทรราชเสนี นำบาญชีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือไรซิงซันออกไปรับแขกเมืองที่คุมต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการเข้ามา คือเมืองไทรบูรี ๑ ปริด ๑ ตานี ๑ สายบูรี ๑ เมืองยิหริ่ง ๑ ยะลา ๑ หนองจิก ๑ ระแงะ ๑ แต่เมืองสตูนนั้นยังหาเข้ามาถึงไม่

จึ่งดำรัสถามพระยานรินทรว่าเมืองสตูนยังไม่ได้เข้ามาฤๅ พระยานรินทรกราบบังคมทูลว่ายังไม่ได้เข้ามา แล้วดำรัสว่าถ้าอย่างนั้นรอไว้เฝ้าพร้อมกัน แล้วดำรัสด้วยพระองค์ไชยันต์ว่าการตักบาตรน้ำผึ้งที่พระพุทธรัตนสถานนั้นไกลนัก ให้ยกมาทำที่พระที่นั่งจักรกรีก็ได้ แล้วดำรัสถามพระยาวุฒิการบดีว่าพระกี่องค์ พระยาวุฒิกราบบังคมทูลว่ารวม ๑๑ องค์ด้วยกัน แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นสมมตว่าหนังสือสักบัพของหลวงสมเด็จพระบรมโอรสเอาไปไว้ที่วัดทั้งสองผูกขอคืนมาถวายผูกหนึ่ง

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๖๘ วัน ๖ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๙ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาเช้าโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานยกยอดพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทขึ้นประดิสถานบนแท่นน่าพระที่นั่งจักรกรีด้านตวันตก เวลาเช้า ๕ โมงเสศโหรพราหมมาตั้งเครื่องกระยาสังเวยบ่วงสรวงเทพยุดา

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนาง พระยาศรีสิงหเทพนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๓ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองสระบูรี ลงวันที่ ๒๐ มีถุนายน ๑๑๐ ว่าเจ้าอธิการพระวัดศรีไกรลาศ ขอที่ผูกพัฒเสมาวัดศรีไกรลาศ ยาว ๘ วา ๒ ศอก กว้าง ๗ วา

ฉบับ ๒ บอกเมืองอุไทยธานี ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๑๐ ว่าพระครูอุไทยธรรมวินิจ ขอผูกพัทธสีมาวัดโนนเหล็ก ยาว ๘ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก

ฉบับ ๓ บอกเมืองกำแพงเพชร ลงวันที่ ๒ พฤศภาคม ๑๑๐ ว่าจีนหันตุ้มอำแดงสุ่น ฃอผูกพัทธสีมาวัดทุ่งสวน ยาว ๙ วา กว้าง ๖ วา

พระสุรินทรามาตยนำบอกเมืองนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๑๑๐ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาความว่าเรือแครดิฐที่จะออกไปรับแขกเมืองซึ่งคุ้มต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการมาจากเมืองสงขลา ถึงเกาะสมุยเหล็กข้อเสือหักไปไม่ได้ พระศริธรรมบริรักษ์ปลัด ได้หาช่างมาทำ เสร็จแล้ว แลได้จัดสะเบียงอาหารน้ำฟืนส่งไปตามสมควร

พระยาศรีสิงหเทพ นำนายมานิตรัฐยา ๑ หม่อมราชวงษ์ชื่น ๑ นายเยน ๑ ซึ่งขึ้นไปทำแผนที่พระราชอาณาเขตรลาวฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือ กลับลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

หลวงเทษาจิตรวิจารณ์ ๑ หม่อมราชวงษ์วิน ๑ นายเฮงนักเรียน ๑ กราบถวายบังคมลาขึ้นไปทำแผนที่พระราชอาณาเขตรทางหัวเมืองลาวเฉียง

พระพิรมย์ราชา กราบบังคมลาคุมเงินรางวัลขึ้นไปพระราชทานเจ้าของช้างพร้อมด้วยพระยาศุโขทัย แลพระยาพิไชย

จึงมีพระราชดำรัสด้วย หลวงเทษาจิตรวิจารณว่าเป็นการเหนื่อยมากไม่ค่อยได้หยุด แล้วมีพระบรมราโชวาทกับพระพิรมย์ราชาว่า เจ้าจะขึ้นไปแจกเงินอย่าให้มันผิดเนื้อผิดตัวกัน แล้วดำรัสถามพระยาวุฒิการบดีว่า ฝรั่งสองคนที่จะขึ้นไปทำแผนที่นั้นยังไม่ขึ้นไปพร้อมกับพวกนี้ทีเดียวหรือ พระยาวุฒิกราบบังคมทูลว่าจะขึ้นไปครั้งหลัง แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ๔ นาย ให้พระพิพากษานานาประเทศกิจ เป็นพระจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิปลัดพระราชครูพิราม ถือศักดินา ๓๐๐๐ ให้นายสายมหาดเล็กเวรฤทธิ บุตรพระยาโชฎึกราชเสรฐี เป็นหลวงนริศรราชกิจ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ถือคักดินา ๖๐๐ ให้นายนุ่มมหาดเล็กเวรศักดิบุตรนายเชยมหาดเล็ก เป็นขุนสมุทโคจร มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ถือศักดินา ๓๐๐ ให้นายมานิตรัฐยานายเวร เป็นขุนนภาภาคภัดติการ มีตำแหน่งราชการในกรมแผนที่ ถือศักดินา ๕๐๐

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๖๙ วัน ๗ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๐ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาเช้าโมงเสศเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลาง พระสงฆ์ ๙ รูป พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเป็นประธาน สามเณร ๒ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๑ หม่อมเจ้าดนัยวรนุช ๑ รวมเป็น ๑๑ รูปด้วยกัน รับพระราชทานฉันแลตักบาตรน้ำผึ้งตามเคย เวลาเช้า ๓ โมงเสศพอพระสงฆ์แลสมเด็จพระบรมโอรสเสด็จกลับแล้วเสด็จขึ้น

เวลา ๔ ทุ่มเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทประทับมุขเด็จ ดำรัสสั่งให้เอาตัวพระยาอนุรักษ์ราชมณเทียรเฃ้าหลักคาที่น่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้หม่อมอนุวงษ์วรพัฒ เชิญกระแสพระบรมราชโองการไปอ่านให้พระยาอนุรักษ์ฟัง

ในพระกระแสว่า

ตรวจดูคำให้การพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรได้ความว่าวันที่ ๙ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ ได้พบกับพระยาเจริญราชไมตรีมานั่งอยู่ที่น่าห้องเอดเดอกง พระยาอนุรักษ์ไต่ถามได้ความว่ามานั่งคอยรับตัวทาษ ซึ่งพระบรมนารินทร์จะส่งให้แลเล่าข้อความให้ฟังว่าทาษสมคบกับลูกเลี้ยงลักสิ่งของหนีเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง นาคนำเงินไปวางค่าตัว ว่าพระนางเจ้าพระวรราชเทวีให้วางเงิน พระยาเจริญได้กราบทูลกรมหลวงเทวะวงษ์กราบเรียนเจ้าคุณแลบอกพระยาราชประสิทธิ์แล้ว จึ่งใช้ให้พระบรมนารินทร์มากราบทูลพระนางเจ้า พระวรราชเทวี พระยาเจริญมาคอยอยู่นานแล้วยังไม่ได้ตัว ฃอให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรช่วย พระยาอนุรักษ์จึ่งได้เรียกนาคออกไปถามว่า การเรื่องนี้พระยาเจริญได้กราบทูลกรมหลวงเทวะวงษ์แลพระยาประสิทธิ์แล้ว จึ่งให้พระบรมนารินทร์มาคอยอยู่ที่ประตูย่ำค่ำ เดี๋ยวนี้ตัวทาษอยู่ที่ไหน นาคจึ่งแจ้งความว่า เมื่อไปวางเงิน พระยาเจริญไม่รับเงินแล้ว พระนางเจ้าพระวรราชเทวีก็รับสั่งให้บอกเปิดตัวทาษนั้นไปเสีย ตัวทาษก็ไปเสียแล้ว พระยาอนุรักษ์กลับขู่ว่า นาคเป็นผู้ไปวางเงิน เฃาจะมิเอาตัวทาษกับนาคฤๅ ให้นาคส่งตัวให้เสียเถิด ได้ใจความดังนี้ เห็นว่าการเรื่องนี้เดิมตัวทาษมาหาเงินที่พระนางเจ้าพระวรราชเทวี พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางจึ่งได้ไห้นาคนำเงินไปวางค่าตัว ที่พระยาเจริญราชไมตรีนายเงิน พระยาเจริญราชไมตรีไม่รับเงิน ว่าทาษสมคบบุตรเลี้ยงลักฃองหนีได้ฟ้องศาลหลวงไว้แล้ว นาคกลับเข้ามาแจ้งความดังนี้ พระนางเจ้าพระวรราชเทวี เห็นว่าทาษเกี่ยวข้องเป็นความ จึ่งไม่ต้องการรับสั่งให้บอกเปิดตัวทาษไปเสีย ตัวทาษนั้นก็ไปตั้งแต่วันที่ ๗ เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นวันวางเงินนั้นต่อวันที่ ๙ พระยาอนุรักษ์จึงได้เรียกนาคออกไปแจ้งความว่าทาษพระยาเจริญราชไมตรีหนีมาอยู่ที่พระนางเจ้าพระวรราชเทวี กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการมีรับสั่งให้ส่งตัวให้เฃาเสีย นาคแจ้งความว่า เมื่อไปวางเงินพระยาเจริญไม่ยอมรับเงินแล้ว พระนางเจ้าพระวรราชเทวีก็รับสั่งให้บอกเปิดตัวทาษไปแล้ว พระยาอนุรักษ์กลับว่านาคเป็นผู้ไปวางเงิน เฃาจะเอาตัวกับนาคบังคับให้นาคส่งตัวทาษให้จงได้ดังนี้

เห็นว่าการซึ่งพระยาอนุรักษ์บังคับบัญชาทั้งปวงนี้ไม่มีหลักหลายอันใดซึ่งจะเป็นที่ตั้ง ด้วยพระยาเจริญก็หาได้มาร้องเรียนต่ออธิบดีกรมวังประการหนึ่งประการใดไม่ เป็นแต่พระยาเจริญเล่าให้ฟังแล้วขอให้ช่วย แลเมื่อนากแจ้งความว่าวางเงินไม่ได้ พระนางเจ้าพระวรราชเทวีรับสั่งให้บอกเปิดตัวทาษไปเสียแล้วดังนี้ ก็ไม่เป็นการจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพระนางเจ้าพระวรราชเทวี ฤๅนากซึ่งจะเป็นผู้ต้องส่งตัวทาษ ด้วยว่าทาษมาหาเงินมิได้ช่วยไว้แล้วก็ปล่อยไปเป็นธรรมดา ถึงว่าพระยาเจริญจะฟ้องกล่าวโทษนากว่าสมคบทาษตาม ซึ่งนากแจ้งความว่าพระยาอนุรักษได้บอก (ซึ่งพระยาเจริญมิได้ฟ้องจริงดั่งนั้น เป็นแต่คำขู่) ก็ดี ก็ยังหาใช่กาลสมัยที่พระยาอนุรักษจะบังคับให้นาคส่งตัวทาษซึ่งจำหน่ายว่า มิได้อยู่แล้วนั้นไม่ ด้วยพระยาอนุรักษไม่ได้เป็นตระลาการบังคับบัญชาความ ซึ่งอ้างว่าฟ้องนั้นเลย อีกประการหนึ่ง ถึงว่าจะเป็นความจริงตามที่นากแจ้งว่า พระยาอนุรักษ์บอกพระยาเจริญได้กราบทูลกรมหลวงเทวะวงษ์เรียนเจ้าคุณแลบอกพระยาราชประสิทธิ์ ท่านทั้งนั้นบังคับให้ส่งตัวให้ได้ ถ้าพระยาอนุรักษ์เชื่อพระยาเจริญก็ควรจะไปกราบทูลสอบถามกรมหลวงเทวะวงษ์ให้ได้ รับคำสั่งต่อพระโอฐฤๅเป็นลายพระหัตถ์จึ่งจะสมควร ซึ่งจะเชื่อเอาแต่ถ้อยคำผู้มาอ้างถึงท่านผู้มีบันดาศักดิ์แล้วทำตามไปไม่พิจารณาว่าผิดแลชอบนั้นก็ไม่ควรอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว นี่พระยาเจริญก็เป็นแต่อ้างถึงว่าได้กราบทูลแลได้กราบเรียนท่านทั้งนั้นใช้ให้ผู้อื่นมาพูดกับผู้อื่น พระยาอนุรักษ์ไปเก็บเอาข้อความมาเป็นธุระเอื้อเฟื้อเหลือเกิน บังคับขู่รู้จากทางที่ถูกที่ชอบ เห็นว่าพระยาอนุรักษ์ก็เป็นกรมวังผู้ใหญ่มีชื่อเสียงไม่สู้ดีมาแต่เดิม ครั้งนี้ก็มาปรากฏชัดว่าทำการเดินนอกทางเป็นการตะลบตะแลงละทิ้งแบบอย่าง บังคับการที่ไม่ชอบดังนี้ ครั้นจะยกโทษภาคทัณฑ์ให้ก็เห็นว่าจะเป็นทางประพฤติอีกร่ำไปของพระยาอนุรักษ์ แลจะเป็นเยี่ยงอย่างของกรมวัง ซึ่งจะไม่รักษาแบบอย่างทางราชการ หากินด้วยขู่กันโชกผู้หญิงซึ่งไม่รู้จักความต่อไปภายน่า ให้ตีหลังพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรเสียสามสิบทีให้เฃ็ดหลาบจะเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

สยามินทร์

เวลายามเสศเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๗๐ วัน ๑ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๑ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนางตามเคย พระยาศรีสิงหเทพนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๔ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองสระบูรี ลงวันที่ ๒๗ พฤศภาคม ๑๑๐ ว่าได้รับหีบศิลาน่าเพลิง ผ้าขาวร่มรองเท้าพระราชทานในการเผาศพหลวงศรีสรภูมยกระบัตรเสร็จแล้ว ขอถวายพระราชกุศล

ฉบับ ๒ ถวายพระราชกุศลในการผูกพัฒเสมาวัดหนองแซง ฉบับ ๓ บอกเมืองลพบุรี ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๑๑๐ ว่าหลวงรักษาบุรี ฃอที่ผูกพัทเสมาวัดมะปรางหวาน ยาว ๙ วา กว้าง ๘ วา

ฉบับ ๔ บอกเมืองสิงคบูรี ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการเบิกพระเนตร์พระพุทธรูป ๙ องค์ในพระวิหารวัดพระพุทธไสยาศน์

พระสุรินทรามาตย์นำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกเมืองสงขลา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๑๑๐ ว่าเครื่องราชบรรณาการปี ๑๑๐ ต้นไม้ทอง ๖ เงิน ๖ ต้น เทียนพนมหนักเล่มละบาท ๑๐๐๐ เล่ม ผ้าฃาวยาว ๕๐ ศอก ๒๐ พับ กระเปื้องปูพื้น ๒๐๐๐ แผ่น เสื่อลวด ๑๕ ลวด มอบให้หลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ผู้ช่วยราชการคุมเฃ้ามา

ฉบับ ๒ ว่าพระยาสงขลาได้ให้หลวงอุดมภักดีผู้ช่วย ไปเร่งต้นไม้ทองเงิน คือเมืองตานี ๑ เมืองสายบูรี ๑ เมืองยะลา ๑ เมืองหนองจิก ๑ รวม ๔ เมืองจำนวนปี ๑๑๐ ซึ่งอยู่ในบังคับเมืองสงขลา เฃ้ามาพร้อมกับหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์เสร็จแล้ว จำนวนคนนาย ๑๘ ไพร่ ๔๙ รวม ๖๗ คน

แล้วพระยานรินทร์ราชเสนี นำหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จัดได้ผ้ายกทอง ๒ ผืน ผ้าโสรงไหม ๒๐ ผืน ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย

แล้วนำพระนรเทพภักดีศรีราชยกระบัตร ๑ พระพลพยุหสงครามจางวางด่าน ๑ เมืองตะกั่วป่า ๒ หลวงโภคาพิพัฒน์ปลัดเมืองกระบี่ ๑ รวม ๓ นายกราบถวายบังคมลากลับไปรักษาราชการบ้านเมือง

จึงดำรัสถามหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ว่า เข้ามาพักอยู่ที่บ้านใคร หลวงบริรักษ์ภูเบนทร์กราบบังคมทูลว่ามาอยู่ที่บ้านนายปั้น แล้วดำรัสถามต่อไปถึงมารดาหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ว่าอยู่ดีดอกฤๅ หลวงบริรักษ์กราบบังคมทูลว่าป่วยมาสามเดือนแล้ว จึ่งดำรัสถามว่าเจบเป็นไข้อะไร หลวงบริรักษ์กราบบังคมทูลว่าเป็นโรคชรา

แล้วดำรัสด้วยพระนรเทพภักดีศรีราชยกระบัตรเมืองตะกั่วป่าว่า พระนรเทพก็เป็นคนเฉลียวฉลาดในราชการ ออกไปให้ช่วยกันจัดราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อย แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานผ้าพรรณนุ่งห่มแลเครื่องยศตามสมควร แล้วพระราชทานสัญญาบัตร ให้หลวงเสนาภักดี เป็นพระมนตรีพจนกิจ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดไทย ถือศักดินา ๘๐๐

แล้วมีพระราชดำรัสว่า ขุนนางที่ไม่รู้เรื่องหน่อยจะมีความสดุ้งตกใจว่าลงพระราชอาญาพระยาอนุรักษ์ เพราะคนพระยาเจริญหนีเข้ามาอยู่ในวัง พระยาอนุรักษ์รับตามให้จึงต้องรับพระราชอาญา การไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพระยาอนุรักษ์ทำการล่วงน่าที่ทิ้งแบบอย่าง คือความเดิมอีทาษสองคนแม่ลูกหนีเข้ามาหาเงินกับพระองค์สร้อยเป็นเงินตราสี่ชั่ง พระองค์สร้อยจึ่งให้นากคนเครื่องไปขอวางเงินกับพระยาเจริญ ๆ จึ่งว่าซึ่งจะให้รับเงินนั้นไม่ได้ เพราะอีสองคนแม่ลูกสมคบกับบุตรเลี้ยงแล้วลักเข้าของหนีมา ได้ฟ้องไว้ศาลหลวงแล้ว ถ้าจะวางให้ได้จะต้องไปเรียนเจ้าคุณ นากก็กลับมาทูลกับพระองค์สร้อย ๆ จึ่งเล่าความถวายพระวรราชเทวี เพราะในการที่จะวางทาษของพระวรราชเทวี แล้วมอบให้พระองค์สร้อยทรงจัด เวลาที่พระองค์สร้อยไปทรงเล่านั้นนั้นเจ้านายฝ่ายในประชุมอยู่พร้อมกัน จึงได้ทรงพระสรวลขึ้นว่าเป็นการขันเขาไปฃอวางทาษเมื่อไม่ให้วางก็แล้วกัน ทำไมจึ่งจะไปฟ้อง แล้วพระองค์สร้อยก็ไล่อีทาษนั้นไป ถึงวันที่ ๙ พระยาอนุรักษ์ว่าพบกับพระยาเจริญที่น่าห้องเอดเดอกง พระยาอนุรักษ์ถามพระยาเจริญว่ามานั่งอยู่ทำไม พระยาเจริญก็เล่าให้พระยาอนุรักษ์ฟังว่าได้ทูลกรมหลวงเทวะวงษ์แลกราบเรียนเจ้าคุณ แลเรียนพระยาราชประสิทธิแล้ว พระยาราชประสิทธิให้พระบรมนารินทร์มาเอาตัวส่งให้ มาคอยอยู่นานแล้วขอให้พระยาอนุรักษ์ช่วย พระยาอนุรักษ์จึ่งให้คนไปเรียกนากออกมาจะเอาตัวทาษส่งให้พระยาเจริญ นากว่าออกไปวางเงินพระยาเจริญไม่รับแล้ว พระองค์สร้อยท่านก็ไล่ตัวทาษไป พระยาอนุรักษ์ขู่จะให้นากส่งตัวให้ได้ ว่าถ้าส่งไม่ได้เขาจะต้องฟ้องนาก จึ่งเห็นการว่าพระยาอนุรักษ์ทำการทิ้งแบบอย่าง คือเป็นแต่พระยาเจริญอ้างว่าได้ทูลกรมหลวงเทวะวงษ์แลกราบเรียนเจ้าคุณแล้ว พระยาอนุรักษ์ก็ไม่ได้ไปทูลถามกรมหลวงให้ได้ยินแก่หูเป็นแต่พระยาเจรีญบอกเท่านั้น ก็เป็นความผิดอยู่ชั้นหนึ่ง แล้วท้าวนางข้างในก็มีทำไมจึ่งไม่บอกให้ส่ง พระยาอนุรักษ์เป็นแต่กรมวังอยู่ข้างนอกไปบังคับข้างในล่วงน่าที่มีความผิดอีกชั้นหนึ่งจึ่งต้องลงพระราชอาญา

อีกเรื่องหนึ่งยังถามกันอยู่ คือพระยาเจริญไปทูลกรมหลวงเทวะวงษ์ว่าภริยาหนีไปอยู่ตำหนักพระอรรคชายาสามคน กรมหลวงจึ่งว่าให้คนไปทูลท่านสิท่านคงประธานให้ มิฉนั้นให้เจ้าเพิ่มไปทูลฃอก็ได้ แล้วพระยาเจริญไปเล่ากับพระยาราชประสิทธิว่าห้าคน แล้วไปเล่ากับผู้อื่นว่าสิบคน ได้สอบถามฃ้างในแล้วมีอยู่ห้าคน คือเข้ามาปีละคนเข้ามาคนไรก็ได้เอาเงินไปวางให้ทุกคน พระยาเจริญก็รับเงินไว้แล้วทั้งนั้น เป็นการโกหกมากเต็มที แล้วก็โกงปล่อยผู้ร้ายด้วย

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการฃ้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๘๓๗๑ วัน ๒ ๑๐ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๒ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนางตามเคย พระยาศรีสิงหเทพนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๕ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกกรุงเก่า ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๑๑๐ ส่งเงินจีนผูกปี้ ๑๐๐๐ คนเงิน ๕๐ ชั่ง ยังหาเสร็จสิ้นจำนวนไม่

ฉบับ ๒ บอกเมืองอ่างทอง ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๑๑๐ ส่งเงินจีน ผูกปี้ ๕๐๐ คน เงิน ๒๕ ชั่ง ยังหาเสร็จสิ้นจำนวนไม่

ฉบับ ๓ บอกเมืองพรหมบูรี ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๑๑๐ ส่งเงินจีนผูกปี้ ๔๐๐ คน เงิน ๒๐ ชั่ง ยังหาเสร็จสิ้นจำนวนไม่

ฉบับ ๔ บอกพระยาสุรเดชฃ้าหลวงหัวเมืองลาวพวน ฉบับ ๕ บอกเมืองบริคัณหนิคมความต้องกันว่า ขุนอุดมภักดีผู้ช่วยเมืองบริคัณหนิคมป่วยเป็นไข้จับถึงแก่กรรม ขอหีบศิลาน่าเพลิงเผาศพ

พระสุรินทรามาตยนำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองไทรบุรี ว่าได้แต่งให้ ตนกูหมิศ ๑ ตนกูหมัดอาเกบ ๑ เจะมะหมุด ๑ เจะมะหมัดอาซัน ๑ คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการปี ๑๑๐ เฃ้ามา

ฉบับ ๒ บอกเมืองปลิต ว่าได้แต่งให้ ศรีเลลามักะตา ๑ ห้วนหำเดาะ ๑ ปังลิมาเงาะ ๑ คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการปี ๑๑๐ เฃ้ามา

จึงดำรัสถามพระยานรินทร์ราชเสนีว่า เมืองสตูนยังไม่ได้เฃ้ามาถึงฤๅ พระยานรินทร์กราบบังคมทูลว่ายังไม่ได้เข้ามาถึง จึงดำรัสต่อไปว่าเสด็จออกเสียทีหนึ่งก็ได้ แล้วดำรัสถามพระองค์เจ้าไชยันตมงคลว่าทำบุญพระอฐิวันใด พระองค์เจ้าไชยันกราบบังคมทูลว่าวันที่ ๑๖ ตุลาคมสวดมนต์ จึงดำรัสกับพระยานรินทร์ว่าวันที่ ๑๕ ตุลาคมออกแขกเมือง

แล้วดำรัสถามพระยามหามนตรีว่า น้ำปีนี้มากฤๅน้อย พระยามหามนตรีกราบบังคมทูลว่า เวลาน้ำลงยังแห้งขาดคลอง จึงดำรัสว่าถ้าน้ำน้อยพระราชทานกะฐินในคลองเล็กเห็นจะไม่ได้

แล้วดำรัสถามพระยาวุฒิการบดีว่า วัดไชยพฤกษใครอยู่ พระยาวุฒิการกราบบังคมทูลว่าพระรัตนมุนี แล้วดำรัสว่าจะพระราชทานให้สมเด็จพระบรมโอรสทรงทอด แล้วดำรัสถึงพระองค์ต่อไปว่าเมื่อทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็เกณฑ์ให้ทรงถอดเหมือนกัน ที่จะพระราชทานให้ทรงถอดวัดไชยพฤกษเสียก่อน แล้วจึ่งจะให้ทรงถอดวัดพระปถมเจดีย

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๘๓๗๒ วัน ๓ ๑๑ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๓ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสศเสด็จออกขุนนางตามเคย พระมนตรีพจนกิจนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๕ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองฉะเชิงเซา ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนม์พรรษา

ฉบับ ๒ บอกเมืองนครนายก ลงวันที่ ๑๒ พฤศภาคม ๑๑๐ ว่าในราษีพฤศภปี ๑๑๐ น้ำฝนน้อยกว่าปี ๑๐๙ สิบเบดนิ้ว ๗ ทสางค์ น้ำท่าน้อยกว่าปี ๑๐๙ ศอกคืบ

ฉบับ ๓ ว่าในราษีเมถุนปี ๑๑๐ น้ำฝนน้อยกว่าปี ๑๐๙ สิบห้านิ้ว สี่ทสางค์ น้ำท่าน้อยกว่าปี ๑๐๙ ศอกสี่นิ้ว

ฉบับ ๔ ว่าในราษีกรกฎปี ๑๑๐ น้ำฝนมากกว่าปี ๑๐๙ สามนิ้ว ๙ ทสางค์ น้ำท่ามากกว่าปี ๑๐๙ สิบเจดนิ้ว ราษฎรไถหว่านเสร็จแล้ว ราคาเข้าเปลือกสัต ๒๕ เกวียนละ ๙ ตำลึง ๒ บาท

ฉบับ ๕ บอกเมืองอุไทยธานี ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๑๑๐ ว่าในราษีสิงหปี ๑๑๐ น้ำฝนมากกว่าปี ๑๐๙ เจดนิ้วสามทสางค์ น้ำท่าน้อยกว่าปี ๑๐๙ สิบสามนิ้ว ราษฎรทำนาได้ประมาณ ๓ ส่วนยังส่วนหนึ่ง ราคาเข้าเปลือกสัต ๒๕ เกวียนละ ๙ ตำลึง

พระสุรินทรามาตยนำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองหนอกจิก ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๑๑๐ ฃอหีบศิลาน่าเพลิงเผาศพพระยาเพทราธิบาลผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก กับได้มอบเครื่องยศถาดหมาก คนโฑกาไหล่ทอง กระบี่บั้งทองเล่ม ๑ เครื่องราชอิศริยาภรณ์มัณทนาภรชั้นที่ ๓ ดวงหนึ่ง ให้นายรื่นมหาดเล็กคุมเข้ามาส่ง

ฉบับ ๒ บอกเมืองนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๑๑๐ ว่าได้แต่งให้กรมการพร้อมกับศรีตวันกรมการคุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเมืองปลิดเข้ามา แต่เมืองสตูนนั้นยังหาได้เข้ามาไม่

แล้วพระยานรินทร์ราชเสนีนำนายรื่นมหาดเล็ก บุตรพระยาเพทราธิบาลเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จัดผ้าพื้นต่างๆศรี ๒๐ ผืน ผ้าซับอาบ ๒๐ ผืน ฃอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย

แล้วพระยาพิพัฒโกษานำขุนชาญสะกลผู้ช่วยราชทูตสยาม ณ กรุงเยอรมณีกลับเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

จึแ่งดำรัสถามพระยาสีหราชเดโชชัยว่า กลับมาถึงเมื่อไร พระยาสีหราชเดโชชัยกราบบังคมทูลว่ามาถึงเมื่อเวลาวานนี้ แล้วดำรัสถามว่าเรือแน่นกันเต็มที่ฤๅ พระยาสีหราชบังคมทูลว่าแน่นกัน ดำรัสถามว่านอนกันที่ไหน พระยาสีหราชกราบบังคมทูลว่าขึ้นนอนบนดาดฟ้า

แล้วดำรัสถามเจ้าหมื่นเสมอใจราชว่ายังไม่ทูลลาฤๅ เจ้าหมื่นเสมอใจกราบบังคมทูลว่าในวันที่ ๑๔ ตุลาคมจึงจะได้กราบถวายบังคมลา เพราะเรือจะออกได้วันที่ ๑๕ ฤๅที่ ๑๖ ตุลาคม

แล้วดำรัสสั่งเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีว่า จางวางหัวหมื่นฃาดให้นายเวรลงเรือพระที่นั่งแทนก็ได้ แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงประชาคดีกิจ เป็นพระประชาคดีกิจ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดไทย ถือศักดินา ๘๐๐

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๘๓๗๓ วัน ๔ ๑๒ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๔ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสด็จออกฃุนนางตามเคย พระมนตรีพจนกิจนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๔ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองพิไชย ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๑๑๐ ว่าได้รับหีบศิลาน่าเพลิงแลของเครื่องไทยทานที่พระราชทานในการเผาศพพระสงครามภักดีเจ้าเมืองน้ำปาดเสร็จแล้ว ขอถวายพระราชกุศล

ฉบับ ๒ บอกเมืองพรหมบูรี ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๑๑๐ ว่าพระมงคลเทพมุณี ฃอที่ผูกพัทธสีมาวัดบางน้ำเชี่ยว ยาว ๑๓ วา กว้าง ๘ วา

ฉบับ ๓ บอกเมืองอินทรบูรี ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการโรงพยาบาล

ฉบับ ๔ บอกเมืองมโนรมย์ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๑๑๐ ถวายพระราชกุศลในการพระราชทานที่ผูกพักธสีมาวัดโคกสุทธาวาศ

พระสุรินทรามาตยนำบอกในกรมพระกระลาโหมขึ้นกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกเมืองสงขลา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๑๑๐ ว่าพระอนันตสมบัติได้หาตัวนิเงาะหลานพระยาระแงะมาเฝ้าพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ที่เมืองกลันตันแลได้ชี้แจงให้นิเงาะส่งต้นไม้เงินทองเข้าไปเมืองสงขลาในเดือนสิงหาคม นิเงาะหาส่งต้นไม้เงินทองมาเมืองสงขลาไม่

ฉบับ ๒ บอกนิเงาะเมืองระแงะ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๑๑๐ ว่านิเงาะทำต้นไม้เงินทองเสร็จแล้ว จะเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระอนันตสมบัติหาให้เข้ามาเฝ้าไม่ จึ่งได้หนีเข้ามา พระยาสุรินทเสนีนำบอกกรมพระกระลาโหมฝ่ายพระราชวังบวร ฯ ขึ้นกราบบังคมทูลฉบับ ๑ บอกเมืองสงขลา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๑๑๐ ว่าของสำหรับต้นไม้เงินทองเมืองแขกซึ่งอยู่ในบังคับเมืองสงขลาปี ๑๑๐ เมืองตานีทองคำทรายหนักสามตำลึงแฃก ผ้าขาวยาวห้าสิบศอกสิบพับ พรมเทศห้าผืน เมืองสายทองคำทรายหนักสามตำลึงแฃก ผ้าฃาวยาวห้าสิบศอก ๑๐ พับ พรมเทศห้าผืน เมืองยิหริ่งทองคำทรายหนักสามตำลึงแฃก ผ้าขาวยาวห้าสิบศอกสิบพับ พรมเทศห้าสิบผืน เมืองหนองจิกทองคำทรายหนักสามตำลึงแขก ผ้าฃาวยาวยี่สิบสี่ศอกยี่สิบพับ กันแซงเตยยี่สิบผืน เมืองยลาทองคำทรายหนักสามตำลึงแฃก ผ้าขาวยาวยี่สิบสี่ศอกยี่สิบพับ กันแซงเตยยี่สิบผืน รวมห้าเมือง

มีพระราชดำรัสด้วยพระยานรินทร์ราชเสนีว่า ให้สอบถามปากคำนิเงาะมันดู ว่าทำไมจึงไม่มาตามพระอนันตสมบัติสั่ง

แล้วพระยาศรีสิงหเทพ นำพระเอกราชาเจ้าเมืองสาลวัน ๑ ราชบุตรเมืองยะโสธร ๑ หลวงศรีวรวงษ์ผู้ช่วย ๑ รวม ๓ ราชบุตรเมืองอัตปือ ๑ หลวงรัตนวงษาผู้ช่วยเมืองสุวรรมภูม ๑ พระกระเษตรพิไสย เจ้าเมืองกระเษตราไสยขึ้นเมืองสุวรรณภูม ๑ พระศรีสิทธิสงครามผู้ช่วยราชการเมืองนครราชสีห์มา ๑ ราชวงษเมืองภูเขียว ๑ รวม ๘ นายกราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเครื่องยศแลผ้าพรรณนุ่งห่มตามสมควร

แล้วพระยานรินทรราชเสนี นำพระยาทิพยโกษากรมท่า ผู้กำกับราชการ ๑ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ฃ้าหลวงที่ ๑ หลวงนริศรราชกิจ ฃ้าหลวงที่ ๒ ฃุนสมุทโคจรผู้ช่วยราชการ กราบถวายบังคมลาออกไปเปลี่ยนพระยาศรีสรราชภักดีรักษาราชการหัวเมืองไทย แขก } ฝ่ายทเลตวันตก

โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงตามอัตราเดิม เจ้าหมื่นเสมอใจราช เดือนละ ๕ ชั่ง เสมียนเอก ๒ คน เดือนละ ๓๐ บาท เสมียนสามัญ ๖ คน เดือนละ ๑๒ บาท หลวงนริศรราชกิจ เดือนละ ๒ ชั่ง ๔๐ บาท เสมียนเอก ๑ คน ๆ ละ ๓๐ บาท เสมียนสามัญ ๓ คนๆละ ๑๒ บาท ขุนสมุทโคจรผู้ช่วยราชการเดือนละ ๑ ชั่ง รวมเป็นเงินเดือนละ ๑๐ ชั่ง ๗๒ บาท แล้วมีพระราชดำรัสว่าพระยาทิพยโกษาออกไปดูการพอจัดการเรียบร้อยแล้วกลับเข้ามาก็ได้ เจ้าหมื่นเสมอใจราชนั้นออกไปอยู่แล้วถ้าจะกลับเข้ามากรุงเทพฯบ้างก็ได้ แต่ฃุนสมุทนั้นตำแหน่งคลังอะไรว่างๆ ก็ให้เจ้าหมื่นเสมอใจจัดให้เข้าทำเสียในตำแหน่งนั้นก็ได้ เมื่อคนเก่ามีตัวอยู่ก็ให้กลับเข้ามาเสียบ้าง อนึ่งให้พระยาทิพย์โกษาตรวจดูวิธีที่จะถลุงแร่ของมิสเตอสดินเนอที่จะทำให้แร่ได้เนื้อมากเขาได้โปรดเกล้าให้มีหนังสือมาขอซื้อแร่ในเมืองนี้ทั้งสิ้น อริศปอนเตนที่กรมท่าก็ยังมี ให้ตรวจมาให้ละเอียดควรจะทำเป็นของคอเวอแมนต์ได้ก็จะได้ทำ

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๘๓๗๔ วัน ๕ ๑๓ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๕ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๒ ทุ่มเสศเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยานรินทร์ราชเสนีนำแขกเมืองซึ่งคุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ จำนวนปี ๑๐๐ รวม ๘ เมือง

เมืองไทรบุรี แต่งให้ตนกูหมิศ ๑ ตนกูมะหมัดอาเกบ ๑ เจะมหหมุด ๑ เจะมหมัดอาซัน ๑ รวม ๔ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๕ ศอก มีชั้น ๗ ชั้น ๘ ทั้งยอด มีกิ่ง ๒๘ กิ่ง ดอกกลีบสองชั้น ๒๘ ดอก ใบ ๕๙๒ ใบ ต้นไม้เงินต้นหนึ่งสูงต่ำกาบกิ่งใบเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ หอกฅอทองเถลิงทอง ๓ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๓ คู่ หอกฅอทองเลว ๑๕ คู่ ผ้าขาวยาว ๘๐ ศอก ๔๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๕๐ ศอก ๔๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๒๔ ศอก ๘๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๒๔ ศอกแทนพรมเทศ ๖๐ พับ ปิไสไม้เขียนลาย ๒ คู่ บิไสหวาย ๑๐ คู่

เมืองปลิต แต่งให้เสดดาโหรย ๑ สีเลหลามักกะตา ๑ ห้วมฮำกะ ๑ ปังลิมางา ๑ คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๐ ๒ ๐ ๕ } มีชั้น ๕ ชั้น มีกิ่ง ๔ กิ่ง กาบ ๑๖ กาบ ก้าน ๔๘ ก้าน ดอก ๖๕ ดอก ใบ ๒๐๘ ใบ ต้นไม้เงินต้นหนึ่งสูงต่ำกาบกิ่งดอกใบเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ หอกฅอทองเฉลิงทอง ๑ คู่ หอกฅอเงินเฉลิงเงิน ๑ คู่ หอกฅอทองเลว ๕ คู่ ผ้าฃาวยาว ๘๐ ศอก ๒๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๕๐ ศอก ๒๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๒๔ ศอกแทนพรมเทศ ๒๐ พับ ผ้าลายนอกอย่าง ๒๐ ผืน ผ้าลายชายสบัด ๒๐ ผืน ปิไสหวาย ๕ คู่

เมืองตานีแต่งให้ แม่กองสามัน ๑ แม่กองอุเสง ๑ แม่กองเจะแล ๑ แม่กองเจะหะ ๑ รวม ๔ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๐ ๒ ๑ ๗ } ศอกมีชั้น ๖ ชั้นทั้งยอด มีกิ่ง ๑๖ กิ่ง กาบ ๑๐ กาบ ก้าน ๖๘ ก้าน ใบประจำกิ่ง ๓๒ ใบ ใบโพห้อย ๑๖๐ ใบ ดอก ๖๙ ดอก นก ๑ นก ต้นเงินต้นหนึ่งสูงต่ำเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ ทองคำทรายหนัก ๓ ตำลึงไทย หอกฅอทองเถลิงทอง ๒ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๒ คู่ หอกฅอทองเลว ๓ คู่ ผ้าขาวยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๕๐ ศอก ๒๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๒๐ ศอกแทนพรมเทศ ๑๐ พับ หวายตาค้า ๒๐๐ กำ หวายหิน ๒๐๐ ฃด กันแชงเตย ๒๐ ผืน

เมืองสายบุรี แต่งให้แม่กองคุมา ๑ แม่กองหวันโดย ๑ แม่กองบะสอ ๑ แม่กองสาวิต ๑ รวม ๔ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๕ ชั้นทั้งยอด มีกิ่ง ๑๖ กิ่ง กาบ ๑๐ กาบ ใบประจำกิ่ง ๓๒ ใบ ใบโพห้อย ๑๐๔ ใบ ดอก ๖๑ ดอก ต้นไม้เงินตนหนึ่งสูงต่ำกาบกิ่งดอกใบเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ ทองคำทรายหนัก ๓ ตำลึงไทย หอกฅอทองเถลิงทอง ๒ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๒ คู่ หอกฅอทองเลว ๓ คู่ ผ้าฃาวยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าขาวยาว ๕๐ ศอก ๒๐ พับ ผ้าขาวยาว ๘๐ ศอก ๑๐ พับ หวายตาค้า ๒๐๐ กำ หวายหิน ๒๐๐ ขด กันแชงเตย ๒๐ ผืน

เมืองยิหริ่ง แตงให้แม่กองฮามัด ๑ กูเด ๑ ดะโตะ ๑ ปังลูมะ ๑ รวม ๔ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๐ ๒ ๐ ๑ มีกิ่ง ๑๒ กิ่ง มีกาบ ๘ กาบ มีก้าน ๔๑ ก้าน ก้านมีใบประจำกิ่ง ๒๔ ใบ มีใบโพน้อย ๘๐ ใบ มีดอก ๕๓ ดอก ต้นไม้เงินต้นหนึ่งสูงต่ำกาบกิ่งก้านใบดอกเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ ทองคำทรายหนัก ๓ ตำลึงไทย หอกฅอทองเถลิงทอง ๑ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๑ คู่ หอกฅอทองเลว ๓ คู่ ผ้าขาวยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าขาวยาว ๕๐ ศอก ๑๐ พับ ผ้าขาวยาว ๘๐ ศอกแทนพรมเทศ ๕ พับ หวายตาค้า ๒๐๐ กำ หวายหิน ๒๐๐ ฃด กันแชงเตย ๒๐ ผืน

เมืองยลา แต่งให้แม่กองสาอีก ๑ นิรามัญ ๑ ปังลูอาบู ๑ รวม ๓ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๐ ๑ ๑ ๔ มีกิ่ง ๑๖ กิ่ง มีกาบ ๑๖ กาบ มีก้าน ๕๖ ก้าน มีดอก ๖๑ ดอก มีใบประจำกิ่ง ๔๐ ใบ มีใบโพห้อย ๑๕๑ ใบ ต้นไม้เงินต้นหนึ่งสูงต่ำเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ ทองคำทรายหนัก ๓ ตำลึงไทย หอกฅอทองเถลิงทอง ๑ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๑ คู่ หอกฅอทองเลว ๓ คู่ ผ้าฃาวยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าฃาวยาว ๕๐ ศอก ๑๐ พับ หวายตาค้า ๒๐๐ กำ หวายหีน ๒๐๐ ขด กันแชงเตย ๒๐ ผืน

เมืองหนองจิก แต่งให้หลวงต่างตา ๑ หลวงเทพอาญา ๑ ขุนอักษร ๑ รวม ๓ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๐ ๑ ๐ ๑๐ } มีกิ่ง ๑๒ กิ่ง มีกาบ ๘ กาบ มีก้าน ๔๑ ก้าน มีใบประจำกิ่ง ๑๑๔ ใบ มีใบโพห้อย ๖๐ ใบ มีดอก ๔๕ ดอก ต้นไม้เงินสูงต่ำเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ ทองคำทรายหนัก ๓ ตำลึงไทย หอกคอทองเถลิงทอง ๑ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๑ คู่ หอกฅอทองเลว ๓ คู่ ผ้าขาวยาว ๒๔ ศอก ๒๐ พับ ผ้าขาวยาว ๕๐ ศอก ๑๐ พับ หวายตาค้า ๒๐๐ กำ หวายหิน ๒๐๐ กำ กันแชงเตย ๒๐ ผืน

เมืองระแงะ คือนิเงาะห ๑ แม่กองสาลำ ๑ แม่กองปะตง ๑ แม่กองสุลง ๑ แม่กองอาหวังปะยัน ๑ แม่กองหะยีมะยามัน ๑ โต๊ะหะยิกุใจ ๑ รวม ๗ นาย คุมต้นไม้ทองต้นหนึ่งสูง ๐ ๑ ๑ ๓ } มีกิ่ง ๑๖ กิ่ง มีกาบ ๑๐ กาบ มีก้าน ๖๑ ก้าน มีใบประจำกิ่ง ๒๘ ใบ มีใบโพห้อย ๑๕๒ ใบ มีดอก ๖๑ ดอก ต้นไม้เงินต้นหนึ่งสูงต่ำเท่าต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ ทองคำทรายหนัก ๓ ตำลึงไทย หอกฅอทองเถลิงทอง ๒ คู่ หอกฅอเงินเถลิงเงิน ๑ คู่ หอกฅอทองเลว ๑ คู่ ผ้าขาวยาว ๒๕ ศอก ๒๐ พับ ผ้าขาวยาว ๕๐ ศอก ๒๐ พับ ผ้าขาวยาว ๕๐ ศอกแทนพรมเทศ ๑๐ พับ

มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควร แล้วเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๗๕ วัน ๖ ๑๔ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๖ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันนี้เป็นวันสมภพในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาเช้าพระสงฆ์ ๒๐ รูปมีพระราชานุพัทธมุนีเป็นประธานจะได้รับพระราชทานฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำจะได้เจริญพระพุทธมนต์ตามเคย

เวลาเช้า ๔ โมงเสศโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธเสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ตามที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว มีสดัปกรณ์ร้อยหนึ่ง

เวลาทุ่มเสศเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนเครื่องนมัศการพระบรมอัฐิ แลทรงจุดเทียนเครื่องนมัศการ พระสงฆ์ ๒๐ รูปนั้นเจริญพระพุทธมนต์ เวลายามเสศเจริญพระพุทธมนต์จบทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๒๐ รูปสดัปกรณ์พระบรมอัฐิเสร็จแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระกิติสารมุนีเข้ามาถวายเทศนาทานมัยกัณฑ์หนึ่ง จบแล้วทรงถวายไตร เครื่องบริขารตามสมควร เวลา ๔ ทุ่มเสศพระสงฆ์ถวายอติเรก ถวายพระพรลากลับ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินสลึงแก่พระบรมวงษานุวงษ์ตามเคย แล้วเสด็จทรงพระราชยานแต่เกยพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเสด็จลอยพระปทีบตามเคย เวลา ๕ ทุ่มเสศลอยพระปทีบเสร็จเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๗๖ วัน ๗ ๑๕ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันนี้เป็นวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาเช้า ๔ โมงเสศโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธเสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ ๒๐ รูป มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธานที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วมีสดัปกรณ์ร้อยหนึ่ง

เวลา ๕ ทุ่มเสศเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดเทียนเครื่องนมัศการพระบรมอัฐิแลเครื่องนมัศการพระพุทธรูปตามเคย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตั้งกรรมสัมปาทิกให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์เป็นสภานายก หม่อมอนุวัตรวรพงษ์เป็นเลขาธิการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์เป็นเหรัญญิก พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ์เป็นสาราณิยกร พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์เป็นบรรณารักษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิตเป็นประฏิคม หลวงสโมสรพลการเป็นผู้ช่วยสาราณิยกร หลวงไพศาลศิลปสาตรเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ หม่อมเจ้าอลังการเป็นผู้ช่วยปฏิคม เวลา ๒ ยามเสศพระสงฆ์เจริญพระพุทมนต์จบ ทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์พระสงฆ์ ๒๐ รูปเสร็จแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเข้ามาถวายเทศนาภาวนามัยกัณฑ์หนึ่งเมื่อจบแล้วทรงถวายไตรเครื่องบริขาร แล้วทรงพระราชทานเงินสลึงแก่พระบรมวงษานุวงษ์ตามเคย เวลา ๗ ทุ่มเสศพระสงฆ์ถวายอติเรกถวายพระพรลากลับ เสด็จทรงพระราชยานไปประทับลอยพระปทีบตามเคย เวลา ๘ ทุ่มเสศลอยพระปทีบแล้วเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๗๗ วัน ๑ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๘ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาเช้า ๔ โมงเสศโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธเสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ ๓๔ รูปมีพระกิตติสารมุนีเป็นประธานในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในการกาลานุกาล ครั้นรับพระราชทานฉันแล้วสดัปกรณ์กาลานุกาลตามเคย แล้วมีสดัปกรณ์รายร้อยอีกห้าร้อยรูป ส่งไปสดัปกรณ์หอพระนาคร้อยรูป ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ร้อยรูป

เวลาทุ่มเสศโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธเสด็จออกมาจุดเทียนนมัศการ พระโพธิวงษ์ถวายเทคนาศิลมัยกัณฑ์หนึ่ง จบแล้วถวายไตรแลเครื่องบริขารตามเคย เวลา ๕ ทุ่มเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทเสด็จทรงพระราชยานแต่เกยน่าพระที่นั่งไปประทับลอยพระปทีบตามเคย เวลา ๒ ยามเสศลอยพระปทีบเสร็จเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๗๘ วัน ๒ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๔ ทุ่มเสด็จออกขุนนางตามเคย พระมนตรีพจนกิจนำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นกราบบังคมทูล ๓ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกพระพิศณุเทพข้าหลวงที่ ๒ รักษาราชการหัวเมืองลาวฝ่ายตวันออก ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ ลงวันที่ ๗ มินาคม ๑๐๙ ว่าได้รับหีบศิลาน่าเพลิงแลของไทยทานในการเผาศพขุนพิไชยชาญยุทธปลัดกรมเขนทองข้างฝ่ายพระราชวังบวร ฯ เสร็จแล้วขอถวายพระราชกุศล

ฉบับ ๒ ถวายพระราชกุศลในการเผาศพหมื่นพินิจวาตาหมอนวด ฉบับ ๓ บอกเมืองสุรินทร์ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๑๐๙ ขอหีบศิลาน่าเพลิงเผาศพพระยาสุรินทร์ภักดีเจ้าเมือง

จึงดำรัสถามพระยามหาอำมาตยว่า เมืองเหล่านี้ยังไม่มีเจ้าเมืองทั้งนั้นฤๅ พระยามหาอำมาตยกราบบังคมทูลว่า เมืองสุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ทั้งสามเมืองนี้ยังไม่มีเจ้าเมือง

พระยาศรีสิงหเทพนำเจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางกราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง

จึ่งดำรัสด้วยเจ้าอุปราชว่า ให้ช่วยเจ้านครหลวงพระบางจัดราชการบ้านเมือง ถ้ากรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์เสด็จขึ้นไปถึงแล้ว การสิ่งไรที่ขัดข้องก็ให้ปฤกษาหาฤๅกรมหมื่นสรรพสิทธิ แล้วดำรัสถามพระยาศรีว่าสะเบียงแลอะไรจัดให้เขาขึ้นไปพร้อมแล้วฤๅ พระยาศรีกราบบังคมทูลว่าจัดพร้อมแล้ว

แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ๔ นาย ให้จหมื่นรัตนโกษาปลัดกรม เป็นพระศุภรัตกาสายานุกิจ เจ้ากรมพระคลังศุภรัต ถือศักดินา ๑๔๐๐ ให้นายเจริญสมบัตินายเวร เป็นจมื่นวิสูตรสมบัติ ปลัดกรมพระคลังศุภรัตขวา ถือศักดินา ๘๐๐ ให้นายพิศาลภักดีนายเวรชาววังเป็นขุนพิพัทธราชกิจ มีตำแหน่งประจำราชการที่ห้องชาววัง ถือศักดินา ๕๐๐ ให้ขุนบันเลงบันฤๅศับท์ เป็นขุนสกลมณเฑียร ปลัดกรมวังนอก ถือศักดินา ๖๐๐ แล้วเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๓๘๐ วัน ๔ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลา ๒ ทุ่มเสศเสด็จทรงรถพระที่นั่งไปประทับวัดบวรนิเวศทรงทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามที่สมเด็จพระบรมโอรสตั้งถวายในการพระราชทานพระกฐิน ประทับทอดพระเนตรอยู่จนเวลา ๗ ทุ่มเสศเสด็จกลับ

วันที่รัชกาล ๘๓๘๑ วัน ๕ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๒ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

วันนี้เป็นวันพระราชทานพระกฐินกระบวนรถพระที่นั่งตามเคย เวลาบ่าย ๒ โมงเสศเสด็จทรงรถพระที่นั่งไปประดับวัดราชประดิษฐที่ ๑ มีพระสงฆ์จำพรรษา สมเด็จพระราชาคณะ ๑ หม่อมเจ้าพระ ๓ ถานานุกรม ๘ พระมหาดเล็ก ๒ พระอันดับ ๑๗ รวมพระสงฆ์ ๒๙ รูป สมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์เป็นผู้ครองผ้ากฐิน พระรับไตรปี ๙ รูป พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จกลับมาทรงรถพระที่นั่งไปประทับวัดบวรนิเวศที่ ๒ มีพระสงฆ์จำพรรษา พระเจ้าบรมวงษ์เธอ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ ๑ หม่อมเจ้าพระราชาคณะ ๑ พระครูถานานุกรม ๙ อันดับ ๒๖ รวมพระสงฆ์ ๓๘ รูป พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นผู้ครองกฐิน พระรับไตรปี ๑๑ รูป พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา

เสด็จกลับมาทรงรถพระที่นั่งมาประทับวัดพระเทพศิรินทราวาศที่ ๓ มีพระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ พระครู ๑ ถานานุกรม ๓ เปรียญ ๒ อันดับ ๓๙ รวมพระสงฆ์ ๔๖ รูป พระอริยมุนีเป็นผู้ครองกฐิน พระรับไตรปี ๖ รูป สามเณร ๑ พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จกลับมาทรงรถพระที่นั่งไปประทับวัดมหาธาตุที่ ๔ มีพระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๓ พระครู ๑ ถานานุกรม ๑๐ เปรียญ ๖ พิธีธรรม ๔ อันดับ ๒๑๙ รวมพระสงฆ์ ๒๓๗ รูป พระเทพโมลีเป็นผู้ครองกฐิน พระสงฆ์รับไตรปี ๒๑ รูป พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จมาขึ้นทรงพระที่นั่ง เวลาย่ำค่ำเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

วันที่รัชกาล ๘๓๘๒ วัน ๖ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๒ โมงเสศเสด็จทรงเครื่องเต็มยศ ประดับนพรัตนราชวราภรณ์เสด็จทรงราชยานแต่เกยน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท โดยกระบวนราบในการพระราชทานพระกฐิน ประทับวัดจักรวัดิราชาวาศที่ ๑ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๒ พระครู ๑ ถานานุกรม ๕ เปรียญ ๗ อันดับ ๒๘๖ รวมพระสงฆ์ ๓๐๑ รูป พระวรญาณมุนีเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๔ พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จมาทรงราชยานไปประทับวัดสัมพันธวงษ์ที่ ๒ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๓ อันดับ ๓๓ รวมพระสงฆ์ ๓๗ รูป พระวินิจวินัยเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๓ พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จทรงราชยานไปประทับวัดประทุมคงคาที่ ๓ พระสงฆ์จำพรรษา สมเด็จพระราชาคณะ ๑ พระครู ๑ ถานานุกรม ๘ เปรียญ ๑ พระอินสูงอายุ ๑ อันดับ ๑๗ รวมพระสงฆ์ ๓๑ รูป สมเด็จพระพุฒาจาริย์เป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๑ พอถวายเครื่องบริขารแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เสด็จทรงราชยานกลับ เวลาย่ำค่ำเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

วันที่รัชกาล ๘๓๘๓ วัน ๗ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

ไม่เสด็จออก

วันที่รัชกาล ๘๓๘๔ วัน ๑ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๒ โมงเสศเสด็จทรงเครื่องเต็มยศ ประทับเครื่องราชวราภรณ์ช้างเผือกมหาวราภรณ์ เสด็จทรงราชยานงาแต่เกยน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทโดยกระบวนราบในการพระราชทานพระกฐินประทับวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามที่ ๑ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๔ พระครู ๓ ถานานุกรม ๑๘ เปรียญ ๔ พิธีธรรม ๔ อันดับ ๒๐๔ รวมพระสงฆ์ ๒๓๘ รูป พระมงคลเทพมุนีเป็นผู้ครองกฐิน เมื่อกรานกฐินแล้วทรงทอดผ้าไตรปีพระราชาคณะ ๑ ถานานุกรมในพระอัฐิ ๗ สดัปกรณ์พระอัฐิ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสตามเคย แล้วทรงถวายไตรปี พระราชาคณะ พระครู ถานานุกรม เปรียญรวม ๒๒ รูป เณร ๑ แล้วเสด็จประทับวัดราชบูรณที่ ๒ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๓ ถานานุกรม ๑๓ เปรียญ ๔ พิธีธรรม ๔ พระมหาดเล็ก ๑ อันดับ ๑๗๖ รวมพระสงฆ์ ๒๐๑ รูป พระธรรมไตรโลกาจาริย์เป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๒๐ รูป ครั้นเสร็จแล้วเสด็จประทับวัดราชบพิธที่ ๓ พระสงฆ์จำพรรษา พระองค์เจ้าพระราชาคณะ ๑ หม่อมเจ้าพระราชาคณะ ๑ หม่อมเจ้าพระเปรียญ ๑ หม่อมเจ้าพระ ๑ หม่อมราชวงษ์ ๑ ถานานุกรม ๘ เปรียญ ๕ พระขุนนาง ๑ พระมหาดเล็ก ๑ อันดับ ๑๗ รวมพระสงฆ์ ๓๗ รูป พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๖ เสร็จแล้วเสด็จประทับวัดสุทัศน์เทพวรารามที่ ๔ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๒ ถานานุกรม ๑๐ เปรียญ ๗ พระพิธีธรรม ๔ อันดับ ๑๔๙ รวมพระสงฆ์ ๑๗๒ รูป พระธรรมวโรดมเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๘ รูป เสร็จแล้วเสด็จกลับเวลาย่ำค่ำเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินวัดสุทัศน์เทพวรารามนี้เคยเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปประทับในพระวิหารก่อน ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูป แล้วจึ่งเสด็จเข้าไปประทับพระอุโบสถ แต่วันนี้มหาดเล็กเวรเดช ยามขันธ์หาได้เอาพานเทียนเข้าไปถวายในพระวิหารไม่ เอาพานเทียนเข้าไปคอยถวายเสียในพระอุโบสถ เสด็จเข้าไปในพระวิหารหามีเทียนเครื่องนมัสการไม่

จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระยานรรัตนราชมานิตจางวางมหาดเล็กประกาศแก่มหาดเล็กว่า ตั้งแต่จางวางหัวหมื่น หลวงนาย จ่าหุ้มแพรนายรอง ในพระบรมมหาราชวัง แลฝ่ายพระราชวังบวรฯ ให้มานมัสการพระพุทธรูปในพระวิหาร แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ รับพระบรมราชโองการประกาศ ว่าในวันที่ ๓๐ ตุลาคม เวลาเช้า ๔ โมงให้มหาดเล็กมานมัสการพร้อมกัน

วันที่รัชกาล ๘๓๘๕ วัน ๒ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

จะได้เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานพระกฐินโดยชลมารค

เวลาบ่าย ๒ โมงเสศเสด็จทรงเครื่องเต็มยศอย่างพลเรือน ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า เสด็จทรงพระราชยานแต่เกยพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งเทวาธิวัตร ที่ท่าราชวรดิษฐ

ประทับวัดอรุณราชวรารามที่ ๑ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๕ เปรียญ ๒ พิธีธรรม ๔ อันดับ ๑๐๑ รวมพระสงฆ์ ๑๑๓ รูป พระราชมุนีเป็นผู้ครองกฐิน พระรับไตรปี ๘ รูป สามเณร ๑ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับวัดโมลีโลกยที่ ๒ มีพระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ พระครู ๑ ถานานุกรม ๓ อันดับ ๒๒ รวมพระสงฆ์ ๒๗ รูป พระราชานุพัทธมุนีเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๔ เสร็จแล้วเสด็จประทับวัดหงษรัตนารามที่ ๓ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๓ เปรียญ ๑ พระพิธีธรรม ๔ อันดับ ๕๐ รวมพระสงฆ์ ๕๙ รูป พระประสิทธิศิลคุณเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๕ รูป เสร็จแล้วเสด็จกลับ เวลาย่ำค่ำเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

อนึ่ง วัดราชสิทธิธาราม ซึ่งกำหนดเป็นวัดที่ ๔ นั้น เพราะเวลาจวนค่ำเสียหาได้เสด็จไม่ เมื่อประทับในพระอุโบสถวัดที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้าไตรกฐิน ให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศร์ไปทอด

วันที่รัชกาล ๘๓๘๖ วัน ๓ ๑๐ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๗ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๒ โมงเสศเสด็จทรงเครื่องครึ่งยศอย่างทหาร ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ กรุงรุซเซีย ชื่อ แซนต์แอนดริว เสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งเพชร์รัตนดาราราย ไปประทับวัดมกุฎกษัตริย์ที่ ๑ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ หม่อมราชวงษ์พระ ๑ พระครู ๒ ถานานุกรม ๘ เปรียญ ๒ อันดับ ๔๔ รวมพระสงฆ์ ๕๙ รูป พระกิติสารมุนีเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๓ รูป เสร็จแล้วเสด็จไปประทับวัดโสมนัศวิหารที่ ๒ พระสงฆ์จำพรรษา สมเด็จพระวันรัต ๑ พระราชาคณะ ๒ พระครูถานานุกรม ๑๘ เปรียญ ๑ พิธีธรรม ๒ อันดับ ๖๖ รวมพระสงฆ์ ๙๐ รูป สมเด็จพระวันรัตอาพาธหาได้ลงมาในที่ประชุมสงฆ์ไม่ พระราชพงษ์ปฏิพัตรเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๕ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมสมเด็จพระวันรัตที่กุฎี แลทรงถวายไตรด้วยแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับวัดบรมนิวาศที่ ๓ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๕ เปรียญ ๑ พระมหาดเล็ก ๑ อันดับ ๒๗ รวมพระสงฆ์ ๓๕ รูป พระพรหมมุนีเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๖ รูป เสร็จแล้วเสด็จกลับ เวลาย่ำค่ำเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

วันที่รัชกาล ๘๓๘๗ วัน ๔ ๑๑ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๒ โมงเสศเสด็จทรงเครื่องครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มหาจักรกรีบรมราชวงษ์ เสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ไปประทับวัดรฆังโฆสิตารามที่ ๑ พระสงฆ์จำพรรษา หม่อมเจ้าพระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๖ เปรียญ ๔ พระพิธีธรรม ๔ อันดับ ๑๑๔ รวมพระสงฆ์ ๑๒๙ รูป หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันท์ธรรมเจดีย์เป็นผู้ครองกฐิน พระรับไตรปี ๑๑ รูป สามเณร ๑ เสร็จแล้วเสด็จไปประทับวัดกัลยาณมิตรที่ ๒ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๒ พระครู ๑ ถานานุกรม ๘ เปรียญ ๑ อันดับ ๗๕ รวมพระสงฆ์ ๘๗ รูป พระวิเชียรธรรมคุณาธานเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๑๑ เสร็จแล้วเสด็จไปประทับวัดบพิธภิมุขที่ ๓ พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๔ เปรียญ ๓ อันดับ ๗๘ รวมพระสงฆ์ ๘๖ รูป พระโพธิวงษาจาริย์เป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๔ รูป เสร็จแล้วเสด็จกลับ เวลาย่ำค่ำเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

วันที่รัชกาล ๘๓๘๘ วัน ๕ ๑๒ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๓ โมงเสศเสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งกราบประจำทวีปพระราชทานพระกฐิน ประทับวัดจันทารามที่ ๑ พระสงฆ์จำพรรษา พระครู ๑ ถานานุกรม ๒ อันดับ ๓๓ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๖ รูป พระโพธิวงษาจาริย์เป็นผู้มานำสงฆ์ พระครูธรรมกิจานุรักษเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๒

แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรกฐิน ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ เสด็จไปทอดพระกฐินวัดนางนอง ซึ่งกำหนดเป็นวัดที่ ๒ แล้วเสด็จไปประทับวัดราชโอรส พระสงฆ์จำพรรษา พระราชาคณะ ๑ ถานานุกรม ๕ อันดับ ๕๕ รวมพระสงฆ์ ๖๑ รูป พระสังวรวิมลเป็นผู้ครองกฐิน รับไตรปี ๕ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ์ ไปจุดเทียนนมัสการพระพุทธไศรยาศน์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ เวลาทุ่มเสศเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง

วันที่รัชกาล ๘๓๘๙ วัน ๑ ๑๓ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๕ โมงเสศเสด็จทรงรถพระที่นั่งแต่เชิงบันไดน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทด้านตวันออก ไปประทับวัดบวรนิเวศ เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในพระอุโบสถ เสด็จขึ้นบนเกยซึ่งตั้งน่าพระพุทธชินศรีปฏิมากร ทรงปิดทองพระพุทธชินศรีที่พระภักตร์ พระสงฆ์ ๒๐ รูป มีพระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธานสงฆ์สวดถวายไชยมงคล เจ้าพนักงานประโคมเครื่องดุริยางค์ดนตรี แล้วเสด็จกลับลงมาประทับทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายน่าปิดทองต่อไป

เวลาทุ่มเสศเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

วันที่รัชกาล ๘๓๙๐ วัน ๗ ๑๔ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรี๒๔ศก ๑๒๕๓

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ร,ศ, ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔)

เวลาบ่าย ๕ โมงเสศสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี เสด็จทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายใน ไปประทับวัดบวรนิเวศ ทรงปิดทองพระพุทธชินศรีอย่างที่กล่าวมาแล้ว เวลาย่ำค่ำเสศเสด็จกลับ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ