- คำนำกรมศิลปากร
- ภูมิสันฐาน
- ว่าด้วยเรือจ้างรอบกรุง
- ว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง
- ว่าด้วยเรือต่างๆ ในโรง
- ว่าด้วยในพระนครกรุงศรีอยุธยา
- ว่าด้วยในกำแพงพระนครตั้งค่ายผนบบ้านหล่อรักษาพระนคร
- ว่าด้วยตะพานในพระนคร
- ว่าด้วยตลาดในพระนครศรีอยุธยา
- ว่าด้วยพระคลังโรงช้างโรงม้าคุกหอกลองซึ่งมีอยู่ในกำแพงกรุงศรีอยุทธยาดังนี้
- ว่าด้วยที่ประทับนอกพระนคร
- ว่าด้วยพระราชวังน่า
- ว่าด้วยธรรมเนียมถือน้ำ
- ว่าด้วยสิ่งซึ่งเปนหลักเปนประธานเปนศรีพระนคร
- ว่าด้วยตำแหน่งยศพระราราชาคณุฐานานุกรม
- ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ
- กระบวนแห่พระบรมศพ
- แบบอย่างการพระเมรุ เอก โท ตรี
- พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า
- พิธีโสกันต์เจ้าฟ้า
- เรื่องพระพิไชยเสนา เป็นตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ
- ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย
เรื่องพระพิไชยเสนา เป็นตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ
สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์ ทรงพระนามว่าดังนี้ สมเด็จพระบรมนารถศาสดาจาริย์ญาณะพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชร พระองค์เสด็จสถิตย์เหนือรัตนบรรลังก์ในโรงธรรมภาคย์ศาลา ณ มหาวรวนาราม ทรงพระมหากรุณาตรัสพระสัทธรรมเทศนา พระราชทานสั่งสอนวิไชยเสนานุวัตแก่เสนาบดี ด้วยพระสารพระคาถาเป็นไนยะ พระอาจาริย์ผู้ประกอบด้วยความกรุณาจิตรแก่เสนาบดี กุลบุตรซึ่งจะมาอุบัติภายหน้า ท่านจึงสาทกยกข้ออธิบายตามวาระพระพุทธฎีกาเป็นเอกเทศดังนี้มี ๒๕ ข้อเป็นมาตรา
ข้อ ๑ ผู้เป็นเสนาบดีมีปรีชาสามารถให้ตั้งอยู่วิริยะ เพียรภักดีซื่อตรงต่อพระบวรพุทธศาสนาแลพระมหากษัตริยาธิราชสมณพราหมณาจาริย์ ประชาราษฎร์เป็นต้น และให้คิดตั้งจิตรทำนุบำรุงพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถาวรขจรฟุ้งเฟื่องไปโดยทิศนุทิศ จงหมั่นตรวจตราราชกิจสนองพระเนตรพระกรรนดังพระราชหฤทัย แห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จงลงใจในราชการโดยยุติธรรมตามแบบโบราณราชประเพณีให้รุ่งเรืองสืบไป
ข้อ ๒ ผู้เป็นเสนามาตยาธิบดี จงตั้งจิตรอยู่ในพระรัตนตรัยาธิคุณ หมั่นรักษาอุโบสถศีลและเบญจศีลต้องรักษาเป็นนิจ หมั่นสดับพระสัทธรรมเทศนา เพื่อจะได้เป็นปัจจัย เป็นทางสุนทรอันประเสริฐ แล้วต้องปราศจากทุจริตจิตรในสันดานเสีย จึงตั้งจิตรอยู่ในสุจริตธรรมสามประการ กายวจีใจ สุจริตเจริญแล้วในอารมณ์ สติ ปัญญา ก็อาจสามารถเห็นทุขภัยของนรชน แลมหาภัยพิบัติในอิทโลกย์ประโลกย์ ปัญญาก็จะรุ่งเรืองระงับความร้อนได้ในครั้ง ๑ ก็จะเป็นที่พี่งของจตุบรรพสัตว์สืบไปในราชอาณาจักร
ข้อ ๓ ผู้เป็นเสวะกามาตย์ราชปรินายกพึงให้คำรพ กตัญญูต่อ บรมมิตร ทั้ง ๑๐ ประการ คือ พระพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจตโพธิ์เจ้า ๑ พระธรรมเจ้า ๑ พระอริยสงฆ์ ๑ พระมหากษัตริย์ ๑ บิดา ๑ มารดา ๑ เชษฐา ๑ ญาติผู้ใหญ่ ๑ ผู้มีศีล ๑ บัณฑิต ๑ เป็น ๑๐ ประการ ควรเคารพ๑
ข้อ ๔ ผู้เป็นราชบุรุษสมมติเสนาบดี ให้รอบรู้ศิลปศาสตร คุณอธิปรีชาสามาตย์ องอาจทราบในไตรศาสตรพิไชยสงคราม แลความรู้ตามขนบธรรมเนียมราชกิจทุกประการ แลเครื่องศาสตราวุธยุทธนา ตระเตรียมรักษาพระนครจงจัดไว้ให้พร้อม และธัญญาหารเครื่องอุปโภคสำหรับทหารหาไว้อยู่ให้พร้อม และทหารหมั่นฝึกหัดเพลงอาวุธให้ชำนาญการยุทธนา ช้าง ม้า โค กระบือ เกวียนต่างๆ จัดไว้โดยปรกติ เมื่อมีข้าศึกภายในภายนอกมา จะได้สู้รบทันท่วงทีข้าศึก ไม่เสียเปรียบลงใจในการรักษาพระนครสิ่งนี้
ข้อ ๕ ผู้เสวะกาตมาตย์ราชมนตรี พึงมีใจโอบอ้อมอารี เลี้ยงดูหมู่จตุรงค์พระยุหะทั้ง ๔ หมู่ให้รื่นเริงกล้าหาญชำนาญรบ คือพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ซึ่งเป็นพาหนะพระมหากษัตริย์ให้เลี้ยงจตุรงค์ทั้ง ๔ หมู่นี้มีกำลังไว้เสมอ ข้าศึกภายนอกภายในก็ยำเกรง ถึงมาทว่าจะมีศึกสงครามมาก็จะรักษาพระนครเป็นสุขได้ถ้ามีเหตุควรจะยาตราไปประจันรณรงค์ด้วยอรินราชภัยรีย์ โดยทิศานุทิศก็จะเอาชัยชนะได้โดยเร็ว เหตุที่ประพฤติมิได้ประมาท แลกำลังจตุรงค์พลสปรียบูรณ์พร้อมมูลอยู่
ข้อ ๖ ผู้เป็นมุขมนตรีพึงให้วิจารณะด้วยปัญญาอันสุขุมให้พึงรู้กำลังตนกำลังท่าน กำลังปัญญา กำลังพาหนะ ให้รอบรู้จักคุณานุรูปฐานานุรูปแห่งทหารไพร่พลทั้งหลาย ว่าบุคคลผู้นั้นมีคุณอย่างนั้นคนโน้นมีคุณอย่างนี้ และให้ไกรตราตรึกตรองตรวจดู หมู่พิริยะโยธาพลากรทั้งปวงว่าผู้นี้มีกำลัง ผู้นี้หากำลังมิได้ ผู้นี้มีคุณวุฒิ ผู้นี้หาคุณวุฒิมิได้ ผู้นี้มีศิลปศาสตร์ ผู้นี้หาศิลปศาสตร์มิได้ ผู้นั้นผู้นี้มีคุณศิลปศาสตร์จะควรกับอาการอย่างไร ให้พึงแจ้งทุกประการ จะได้ชุบเลี้ยงผู้นั้นตามสมควรกับความดีและกำลังผู้นั้นๆ คนทั้งหลายเหล่านั้นก็จะมีน้ำใจประกอบในราชกิจยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ได้คิดโทรมนัสน้อยใจต่อราชการ
ข้อ ๗ ผู้เป็นมาตยาธิบดีมนตรี ให้พึงตรึกตราอย่ามีอาฆาตพยาบาทแก่ผู้น้อย ถ้าเห็นเหตุผู้น้อยมีพยศร้ายก็ให้ทรมานพยศร้ายผู้นั้นให้ราบคาบเป็นอันดี ดุจนายสารถฝึกสอนม้า ถ้าผู้นั้นยังไม่ละพยศร้าย ยังกระด้างกระเดื่องอยู่ไซร้ ให้ขับไล่ผู้นั้นเสีย ฤๅจะลงทัณฑกรรมตามอาญา ก็ตามแต่โทษานุโทษ ให้พึงปลงใจว่าเป็นผลวิบากสัตว์เอง
ข้อ ๘ ผู้เป็นเสนามาตยาธิบดีพึงมีด้วยคำอันไพเราะอ่อนหวาน จะเจรจากับผู้น้อยและผู้ใหญ่ให้ไพเราะห์ตามควรเมื่อกิจนั้น กิจทั้งหลายก็อาจสำเร็จโดยประสงค์ มาทว่าจะใช้ไปในป่าดงทางกันดานก็อาจสามารถจะไปได้เพราะวาจา
ข้อ ๙ ผู้เป็นเสนาบดีพึงให้รู้จักลักษณะอังคาพยพแห่งพระนครทั้งสี่ประการ คือ จักษุพุงไส้เอ็นแห่งพระนคร จักษุคือบัณฑิตปราชญ์ โหราจาริย พุงคือพ่อค้า พานิชที่ประกอบกิจค้าขายให้กำลังพระนคร ไส้คือนรเสรษฐีผู้มีทรัพย์ สำหรับพระนครจะได้เจริญ พระนครคือมุขมนตรีมาตยาธิบดีพิริโยธาทวยหารรักษาพระนครให้เจริญ สี่อย่างนี้คืออังคาพยพสี่ เป็นเครื่องประดับพระนครให้เกษมสุขบริบูรณ์วัฒนาการ ผู้เป็นเสนาบดีพึงจงมีใจโอบอ้อมอารี ทำนุบำรุงอังคาพยพสี่ให้บริบูรณ์ พระนครจึงจะวัฒนาถาวรได้มั่นคง
ข้อ ๑๐ ผู้เป็นปรินายกมนตรีพึงแสวงหาฉบับตำหรับราชประเพณีไว้ทำนุบำรุงพระนคร ให้เกษมสุขดังโบราณ อนึ่งฉบับขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณสำหรับพระนคร ให้ทำนุบำรุงไว้ให้ปกติให้ดีอย่าให้สาปสูญ ล้างราชประเพณีโบราณได้ จะไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนพลเมืองเป็นอันมาก
ข้อ ๑๑ ผู้เปนเสนาบดีให้พึงพิจารณาดูประชาราษฎร ประพฤติกิจการงานสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ปัจจุบันแลประโลกย์ ก็จึงเตือนให้กระทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ลดภาษีอากร ให้ล่อใจคนให้ทำมากขึ้น ถ้าไพร่ฟ้าประชาราษฎรประพฤติการงานไม่เปนประโยชน์แก่ปัจจุบันแลประโลกย์ ก็ให้ห้ามปรามเสียด้วยคำดี หรืออาญาตามควร
ข้อ ๑๒ ผู้เปนเสนาบดีถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินให้พึงพิจารณา ถ้าผู้ใดมากล่าวความประการใด ได้ฟังก็อย่าเชื่อคำนั้นก่อนให้สอบสวนดูจงดี
ข้อ ๑๓ ผู้เปนเสนาบดีจะวินิจฉัยตัดสินความราษฎรต้องตั้งใจให้เปนธรรม ใจปราศจากอคติสี่ประการ ฉันทา โทษา โมหา ภยา คือปราศจากการโลภอย่าเห็นแก่อามิศ สินบน สินจ้าง ทำใจให้เป็นกลางดังตราชู แลปราศจากพยาบาทอาฆาตจองเวรแก่ผู้มีคดีทั้งสองฝ่าย ตั้งใจเป็นกลางดังคนมาต่างเมืองหารู้จักไม่ ดุจดังเขาเมรุ แลตั้งจิตรให้องอาจแก่ความยุติธรรม จะตัดสินความของผู้ใดก็ตัดสินตามพระราชกำหนดกฎหมายแผ่นดินโบราณ อย่าเกรงว่าท่านผู้นั้นมีบรรดาศักดิ์ และมีบุญคุณมียศ มีลาภ อย่าถือว่าญาติแลมิตร จงตัดสินตามยุติธรรมจึงจะควร เสนาบดีประพฤติได้ดังนี้ ก็จะเป็นที่พึ่งแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ดุจปริมณฑลพระศรีมหาโพธิมีคุณแก่แผ่นดินหนัก
ข้อ ๑๔ ผู้เปนเสวะกามาตยาธิบดีจงประพฤติน้ำจิตรให้เปนปฏิภาคมัทยัตถ้าอ่อนหนักมักเปนที่ตระหนกตกใจ ไพร่พลผู้พึ่งพาว่าปลาดนัก ก็จะเปนที่ติเตียนดูหมิ่นดูถูก เสียเกียรติยศ ศักดานุภาพก็เสื่อมจะลงหนัก ถ้าองอาจกล้าแข็งแรงร้ายกาจหนักไพร่พลทั้งปวงก็จะกริ่งเกรงเข็ดขาม ไม่อาจสามารถจะเข้าสู่สมาคมสโมสรได้ ก็จะถดถอยเกียรติยศ เพราะหากำลังพาหนะมิได้ ให้ประพฤติกิจตั้งจิตรเปนทุติยะมัชชิมาปานกลางไม่คลาดไม่คลา ดุจสายพิณเส้นกลางไพเราะหนักจงมัทยัตดุจดังกล่าวนั้นควรหนัก
ข้อ ๑๕ ผู้เป็นเสนาบดีมิอำนาจถืออาชญาสิทธิ์ อาชญาจักรเปนอธิบดี ถ้าแม้นมุขมนตรีพิริยะโยธามาตยทหารแลไพร่พลทั้งปวงที่อยู่ในบังคับบัญชานั้นไซร้ ถ้าพลั้งพลาดผิดในราชการมหันตโทษแลอุกฤษฐโทษ แลมัชชิมะโทษให้มีจิตรกรุณาถ้าผู้นั้นผิดแต่ครั้ง ๑ ถ้าโทษเปนมหันตะโทษให้ลงแต่โทษมัชชิมะ มัชชิมะโทษให้ลงแต่ลหุโทษฤๅลหุโทษให้พากฑันฑ์ไว้ครั้งหนึ่งก่อนสั่งสอนกำชับขู่ลู่ดี ถ้าผู้ผิดเปนคนสุระทะนงองอาจมิฟังคำสั่งสอนไซร้ ยังขืนกระทำความผิดสืบต่อไปเปน ๒-๓ ครั้งอีกเล่า ครั้นจะลดงดหย่อนผ่อนโทษอีกผู้ผิดนั้นก็จะมีใจกระทำความชั่วเหิมฮึกไปอีกเล่า คนอื่นที่ดีที่ชั่วก็จะดูเยี่ยงอย่างกันต่อไปจะไม่เข็ดขามขยาด ราชอาณาจักรจะเสื่อมเสีย ธุระสิงหนาทราชบัญญัติพระมหากษัตริย์ควรลงโทษานุโทษตามยะถากรรมของสัตว์ผู้ผิด ถ้าผู้ทำผิดคิดหาความชอบมาก่อกู้ตัวไซร้ให้ดีก็อย่าผูกไพรีอาฆาตแก่ผู้นั้นต่อไปให้มีรางวัลบำเหน็จบำนาญ ตามสมควรแก่ความชอบ จึ่งจะควรด้วยความยุติธรรมราชประเพณีสืบไป
ข้อ ๑๖ ผู้เป็นเสนาบดีปรีนายกให้พึงหมั่นตรึกตราด้วยธรรมดาผูกช้างด้วยปลอกให้มั่นคงจะชอบกับการจะผูกใจมนุษย์ทั้งหลาย ต้องใช้ไมตรีจิตรเปนต้นให้ผู้ที่มาสู่สำนักที่ตนตั้งอยู่ในความสุขพอควร ตามความดีและความชั่วของเขา ให้แผ่ไมตรีจิตรแก่ผู้อาสาให้เสมอสมานรอบคอบ ประกอบไปด้วยความกรุณาทั่วทั้งหมู่คณะ เช่นนั้นจึ่งจะผูกใจยุติไว้ได้โดยสุนทร เหล่าพิริโยธาหารก็มีความปฏิพัทรักใคร่ยำเกรง ด้วยคุณธรรมเที่ยงตรง จะสู้เสียชีวิตแลร่างกายเข้าอาสาสืบไป ไม่คิดแก่ความยากลำบากด้วยเห็นผลความกรุณา
ข้อ ๑๗ ผู้เปนเสนาบดีไซร้ ให้ทราบในคติจร ตั้งตนให้เปนที่นิยมนับถือของหมู่นิกรบัพสัตว์ไซร้ ดุจดังพฤกษาป่ากว้างทะเลภูเขาเปนที่อาศรัยของสัตว์ธรรมดานกทั้งหลายย่อมอาศรัยต้นไม้ อันมีปริมณฑลกิ่งก้านสาขาตระการด้วยลูกดอกที่จะเปนประโยชน์แก่สัตว์ อนึ่งสัตว์จตุบาททั้งหลายย่อมอาศรัยราวป่าเปนกำบังกายและอาศรัยเปนภักษาหารเลี้ยงชีพ แลผลาหารที่จะปองประโยชน์เลี้ยงอาตมาสัตว์ ถ้าไม้ปราศจากกิ่ง ก้าน ลูก ดอกไซร้ ก็ไม่มีสัตว์จตุบททวิบาทมาอาศรัยไม้นั้นก็ไม่รุ่งเรืองเจริญงาม ป่าไม่มีไม้และภูเขาไม่มีสัตว์อาศรัยฉันใดได้แก่เสนาบดีย่อมเปนที่พึ่งพำนักของไพร่พลอันทุพลภาพ ขัดข้องต้องปกครองตามควรที่ชอบ ไพร่ฟ้าประชาราษฎรที่ย่อมอาศรัยใบบุญบารมีเสนาบดี ผู้มีปรีชาญาณที่จะทำนุบำรุงไพร่ ให้ชุ่มชื่นปกป้องไพร่ให้สำเร็จประโยชน์ตามคุณานุคุณความดีความชอบตะบะ เดชเกียรติยศอำนาจของท่านเสนาบดีนั้นไซร้ก็จะวัฒนาถาวรยิ่งๆ ขึ้น ดุจป่าไม้ฤดูฝน เปนการเจริญด้วยอำนาจวสันตฤดูกลบเกื้อการไม้ไม่มีกิ่ง ไม่มีผล ได้ป่าไม่มีไม้ สระบัวไม่มีประทุมชาติก็จะไม่มีสัตว์อาศรัย เปนสิ่งสง่างามตามธรรมเนียม ดุจเสนาบดีไม่มีความกรุณาวิจารณ์ปัญญาไม่ได้ทำนุบำรุงเลี้ยงไพร่พลตามชาติตามวงศ์ตามความดี แลความชั่วให้มีสุขตามควรไพร่พลทหารทั้งหลายก็จะเหนื่อยหน่าย ไม่รักใคร่ไม่ภักดีโดยความกตัญญูก็จะมีไปอาศรัยที่ชุ่มชื่นโดยทางอื่นที่เปนสุข เสนีมนตรีผู้นั้นก็จะเสื่อมสูญเกียรติยศ ไป เพราะไม่มีไพร่พลจะเปนเครื่องอุดหนุนกำลังตนให้งามดีได้ฉันใดได้แก่ป่าไม้หาที่พึ่งมิได้ ก็ไม่มีสัตว์อาศรัยดุจกัน ผู้เป็นเสนีมนตรีมุขมาตยาธิบดี พึงสดับคิดยุติธรรมดังนี้ แลคิดที่อื่นที่ชอบด้วยยุติธรรม ควรประพฤติเปนกำลังสติปัญญาประกอบเกียรติยศสืบไป
ข้อ ๑๘ ผู้เป็นเสนีมนตรีมุขมาตยาธิบดีไซร้ ให้หมั่นประพฤติใจเปนกลาง ตั้งอยู่ให้อุเบกขาหาฉันทาพยาบาทมิได้ ย่อมเปนเกื้อกูลแก่ผู้น้อยให้ยิ่งใหญ่ตามความดีของเขา ตนเปนผู้ใหญ่ต้องเอาใจเกื้อหนุนผู้น้อย ดุจดั่งปริมณฑลพระไทรสาขามีกิ่งก้านอันพระโรจน์ เปนที่อาศรัยแห่งสกุณาแห่งปักษาชาตินกใหญ่น้อยทั้งปวงมาอาศรัยจับและบังแสงพระสุริยา แลอาศรัยผลาผลพระไทรด้วย ถ้าไม่ใช่ฤดูผลไทรต้องอาศรัยทำรวงรังถ่ายฟองฟักเมื่อนกนั้นออกจากไข่เป็นตัวมีปีกหางอันเจริญกล้าก็ย่อมบินไปสู่ประเทศทุกทิศานุทิศฉันใดก็ดี ท่านผู้เป็นเสนาบดีมุขมนตรีต้องเปนดุจต้นไทรเปนที่อาศรัยของนิกรบันพสัตว์โยธา ผู้อาสาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมิได้มีความรังเกียจอิจฉาดุจพระไทรฉันนั้น ธรรมดานกอาศรัยไม้ สัตว์เดินเท้าอาศรัยป่า ปลาอาศรัยสมุทรและแม่น้ำ ข้าอาศรัยจ้าว บ่าวอาศรัยนาย ไพร่อาศรัยมุขมนตรี เสนีปรินายกราษฎรทั่วเขตอาศรัยพระมหากษัตริย์เปนที่พึ่งพำนักนิ สิ่งที่สัตว์อาศรัยทั้งนี้ไม่มีแล้ว พระนครก็ไม่ถาวรวัฒนาการนานได้
ข้อ ๑๙ ผู้เปนมุขมาตยาเสนาบดีผู้รับพระราชโองการพระมหากษัตริย์ดำรงพระราชหฤทัยไว้ในที่อคฐานอันประเสริฐรุ่งเรืองด้วยอุกฤษยศเกียรติยศบริวาณยศดุจดั่งสุวรรณบรรพตเปนที่อาศรัยแห่งนิกรบรรพสัตว์ฉันใดให้มีจิตรเจตนาดั่งมหาปัตพีเปนชื่อาศรัยแห่งสรรพสัตว์มิได้หวาดหวั่นไหวสดุ้งแก่ภัยใกล้และไกลให้ตั้งใจดั่งภูเขาหลักพระนคร ก็จะเปนที่ยำเยงเกรงกลัวแห่งสตรูหมู่ปัจจามิตร
ข้อ ๒๐ ผู้เปนมาตยาธิบดีมุขมนตรีอำมาตย์นั้นไซร้ให้รู้จักลักษณะชัยชนะสามประการ คือ ธารณพล ๑ กาลเทศพล ๑ วิไสยพล ๑ ก็ธารณพลนั้นคือให้รู้จักกำลังนายทหาร ที่จะเข้าสู่ณรงค์นั้นว่าผู้นี้มีกำลังปัญญาอาวุธแลกล้าหาญหรือไม่ กาลเทศพลนั้น คือให้รู้จักชัยภูมิที่จะสู้ศึกสงครามว่าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบประการใด วิไสยพลนั้น คือให้รู้จักอัชฌาศัยว่า ผู้นั้นกล้าหาญหรือขลาดจึ่งใช้ตามวิสัยกำลังทหารอย่าขืนใจจะเสียการ ถ้าเมื่อการจวนจราจล จึ่งระดมตามหมู่มากและน้อยพอควร กาลในปัจจุบันถ้ารู้จักผ่อนปรนกำลังศึกสงครามแล้วอาจเอาชัยชำนะได้
ข้อ ๒๑ ผู้เปนอำมาตยาราชมนตรีเสนาบดี ให้พึงทราบการบำเหน็จบำนาญที่ควร ถ้าจะประสาทรางวัลแก่ทหารไพร่พลทั้งปวงที่มีความชอบมากและน้อย จึ่งวิจารณ์ก่อนว่าผู้นั้นมีความ มาก หรือกลางหรือเลวประการใด จงให้ตามมากแลกลางหรือน้อยเลวจะได้เปนบันเทิงใจในลาภผู้นั้นจะได้อาสาตามความนิยมลาภยศตามมากและน้อยกำลังราชการก็จะกล้าหาญเจริญยิ่งขึ้นไปตามความรางวัล
ข้อ ๒๒ ผู้เปนเสวะกามาตยาธิบดีให้มีปรีชาญาณวิจารณ์การสมาคม มิตรมีหลายสถานเมื่อจะผูกไมตรีให้ดูว่ามิตรจะมาซ้อนกลอุบายแยบด้วยคารม จะมาเกลี้ยกล่อมเอาความในไปฝักใฝ่อรินทรราชปัจจามิตร คิดเอาชัยชำนะแก่เราหรือเปนผู้ซื่อตรงจริงให้วิจารณ์ก่อน จึ่งสมาคมคบหามาสู่สำนักที่สุดแต่อย่าให้เสียเปรียบ
ข้อ ๒๓ ผู้เปนอำมาตย์ราชเสนีมุขมนตรีจะคบหาสมาคมให้พิจารณาโดยละเอียดเห็นว่าสมควรจะสมาคมจึ่งคบหา แต่อย่าแสดงความลับอันตรายร้ายแรงออกให้แจ้งปรากฏแก่มิตรที่สนิทนั้นหาควรไม่ ถ้าได้พิโรธกัน ก็จะแสดงความลับออกให้ปรากฏแก่ผู้อื่นก็จะเปนการอัปยศ แลอันตรายแก่ตน จงมัทยัตไว้ในอารมย์
ข้อ ๒๔ ผู้เปนเสนาบดีให้พึงทราบว่า ตนมีอำนาจสนองพระโองการ ดุจดังอำนาจแห่งพระยาราชสีห์ จึงต้องประพฤติกิริยาบทดุจดั่งพระยาไตรสรราชสีห์ ธรรมดาว่าพระยาราชสีห์เปนสัตว์ใหญ่ร้ายกาจในราวป่า แต่เช่นนั้นยังไม่มีความประมาท ประกอบไปด้วยความหวังมีกิริยาบท ๔ ประการคือ กินนอนเดินหยุดพัก ๔ อย่าง มิประมาท ผู้เปนเสนาบดีควรประพฤติกิริยาบทดั่งพระยาราชสีห์
ข้อ ๒๕ ท่านผู้เปนเสวะกามาตย์ราชมนตรี ควรประพฤติดังที่กล่าวมานี้ก็จะเปนการดีงามแก่พระเกียรติยศซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมให้มีอำนาจศฤงคารบริวาร จะได้ทำนุบำรุงพระนครไพร่ฟ้าประชากร นครเขตประจันต์ประเทศขอบเขตขันธเสมามณฑลทุกตำบล อาณาจักรของพระมหากษัตริย์เจ้าให้วัฒนาการ เปนที่พำนักของจตุบรรพสัตว์ เปนที่รื่นเริงบันเทิงใจ หมู่ไพร่ราษฎรนิกรโยธาหารบริวาร เสวะกามาตย์ราชมนตรีประพฤติได้ปานดั่งฉบับนี้ ก็จะมีเกียรติยศปรากฏยืนนานชั่วกาลปาวสารดุจปริมณฑลพระจันทรแจ่มกระจ่างในนภางค์ ปราศจากหมอกเมฆโอภาสด้วยรัศมีรุ่งเรืองสว่างในนภางค์วิถี เทพเจ้าก็จะซร้องสาธุการสรรเสริญอำนวยพระพิพัฒน์เฉลิมสวัสดิมงคลโดยสราผลเห็นประจักษ์ในปัจจุบันทันทโลก ใช่แต่เท่านั้นจะเปนทางกุศลสุจริตที่ประพฤติซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็เปนผลานิสงส์เปนบัจจัยอุปถัมภ์ร่างกายไปในอิทธิโลกและประโลก อาจสำเร็จมนุษย สมบัติ และ สวรรค์สมบัติ เปนอนุโลมปฏิโลมแก่พระอะมัถะมหานครนฤพาน ระงับดับชาติทุขกันดานเปนประโยชน์สาระยิ่งเลิศประเสริฐแท้
-
๑. ความจริงในที่นี้นับได้ ๑๑ ประการ ที่กล่าวว่า “บิดา ๑ มารดา ๑” นั้นอาจเป็น “บิดามารดา ๑” บรรณาธิการ ↩