- คำนำกรมศิลปากร
- ภูมิสันฐาน
- ว่าด้วยเรือจ้างรอบกรุง
- ว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง
- ว่าด้วยเรือต่างๆ ในโรง
- ว่าด้วยในพระนครกรุงศรีอยุธยา
- ว่าด้วยในกำแพงพระนครตั้งค่ายผนบบ้านหล่อรักษาพระนคร
- ว่าด้วยตะพานในพระนคร
- ว่าด้วยตลาดในพระนครศรีอยุธยา
- ว่าด้วยพระคลังโรงช้างโรงม้าคุกหอกลองซึ่งมีอยู่ในกำแพงกรุงศรีอยุทธยาดังนี้
- ว่าด้วยที่ประทับนอกพระนคร
- ว่าด้วยพระราชวังน่า
- ว่าด้วยธรรมเนียมถือน้ำ
- ว่าด้วยสิ่งซึ่งเปนหลักเปนประธานเปนศรีพระนคร
- ว่าด้วยตำแหน่งยศพระราราชาคณุฐานานุกรม
- ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ
- กระบวนแห่พระบรมศพ
- แบบอย่างการพระเมรุ เอก โท ตรี
- พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า
- พิธีโสกันต์เจ้าฟ้า
- เรื่องพระพิไชยเสนา เป็นตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ
- ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย
ภูมิสันฐาน
๑จะกล่าวถึงภูมิลำเนากรุงเทพมหานคร บวรทวารวะดีศรีอยุธยา ราชธานี พระนครตั้งอยู่บนเกาะหนองโสนในประเทศสยาม มีแม่น้ำล้อมรอบเกาะ เกาะนั้นมีสัณฐานคล้ายสำเภานาวา พระนครนั้นมีนามปรากฏว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสฐ้าน มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เสด็จดำรงศิริราชสมบัติในพระมหานครเปนพระบรมราชาธิราชใหญ่ในสยามประเทศ มีพระราชอาณาเขตรกว้างขวาง ทิศเหนือถึงแดนลาว ทิศใต้ถึงแดนแขกมาลายู ทิศตะวันออกถึงแดนเมืองเขมร ทิศตะวันตกถึงแดนมอญ มีเจ้าประเทศราชลาวพุงขาว ลาวพุงดำ เขมร แขกมาลายู มาถวายดอกไม้ทองเงินเสมอมิได้ขาด มีพระราชอภินิหารเดชานุภาพล้ำเลิศประเสริฐยิ่งนักหนา ทรงรักษาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยทางทศพิธราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา และสมณพราหมณจาริยแลไพร่ฟ้าประชากร ให้อยู่เย็นเป็นสุขสโมสรหาสิ่งเสมอมิได้ พวกพานิชนานาประเทศ ทราบเหตุว่า กรุงศรีอยุทธยาผาศุกสมบูรณ ด้วยสินค้าอุดมดี พวกพานิชก็แตกตื่นกันเข้ามาถวายบรรณาการ ขอพระราชทานพึ่งพระบรมโภธิสมภาร ค้าขายในพระมหานครเปนอันมากจะนับคณะนามิได้ กรุงศรีก็ไพศาลสมบูรณเป็นรัตนราชธานี ศรีสวัสดิพิพัฒมงคลแก่ชนชาวสยามความเจริญทั่วพระนคร
อนึ่งกรุงศรีอยุธยา มีด่านขนอนคอยเหตุการต่างๆ ตั้งอยู่ตามลำแม่น้ำรอบกรุงทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งเปนทางแม่น้ำใหญ่จะเข้ามาในพระนครนั้น ทิศตะวันออกตั้งด่านที่ตำบลบ้านเข้าเม่าด่าน ๑ ทิศใต้ตั้งด่านที่ตำบลบ้านบางตะนาวศรีด่าน ๑ ทิศตะวันตกตั้งด่านที่ตำบลบ้านปากคูด่านหนึ่ง ทิศเหนือตั้งด่านที่ตำบลบ้านบางหลวงด่านหนึ่ง ๑ รวมเปนด่าน ๔ ตำบล เรียกว่าขนอนหลวง ๔ ทิศ รอบกรุงมีขุนด่าน หมื่นขนอน แลไพร่หลวงรักษาด่าน นาย ๒ ไพร่ ๒๐ ในเดือน ๑ ผลัดเปลี่ยนเวียนเวรละ ๑๕ วัน สำหรับตรวจตราของต้องห้ามตามกฎหมายแลเครื่องสาตราวุธที่แปลกปลาด แลผู้คนที่แปลกปลอมเข้าออก ต้องทักท้วงไต่ถามตามเหตุการที่ด่านทั้ง ๔ ตำบลนั้น มีม้าใช้ เรือเร็วไว้สำหรับคอยบอกเหตุการมาในกรุง
-
๑. อักขรวิธีใช้ตามต้นฉบับ ↩