คำนำกรมศิลปากร

กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ๔๑๗ ปี แต่เอกสารที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยามีไม่มากนัก เอกสารหลักได้แก่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นพระราชพงศาวดารที่คัดลอก รวบรวม หรือชำระในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ พระราชพงศาวดารฉบับร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญว่าถูกต้องแม่นยำที่สุดคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้เขียน เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่สันนิษฐานว่าเก่าที่สุดเท่าที่พบคือ ฉบับที่นายไมเคิล วิกเคอรี (Michael Vickery) ค้นพบจากหอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นสมุดไทยดำ มี ๓๗ หน้า เป็นฉบับคัดลอกจากฉบับที่เก่ากว่า ไม่พบตอนเริ่มต้นและตอนจบ นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์จากเนื้อเรื่องและภาษาสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรื่องราวความสำคัญของกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏในเอกสารไทยร่วมสมัยมีน้อยมาก อีกส่วนหนึ่งจึงได้จากงานวรรณกรรมร่วมสมัย ซึ่งต้องสกัดคัดกรองข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากงานที่ให้ความสำคัญกับความงดงามและไพเราะของภาษามากกว่าจะสะท้อนความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ยังได้ข้อมูลรายละเอียดจากเอกสารชาวต่างชาติที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาและจดบันทึกเรื่องราวไว้ ข้อมูลส่วนนี้ให้ประโยชน์ในการสอบค้นกับเอกสารและหลักฐานอื่นๆ แต่ต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากความเข้าใจของชาวต่างชาติที่อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปบ้าง

การค้นพบเอกสารจากหอหลวงเรื่องคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมนั้น ถือว่าเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยมากในฐานะที่เป็นเอกสารร่วมสมัยบรรยายสภาพกรุงศรีอยุธยาโดยละเอียด เริ่มต้นด้วย ภูมิสถาน กำแพงป้อมคูประตูหอรบ สภาพภายในเขตกำแพงพระนคร การวางผังเมืองเขตพระราชฐานในและนอกเกาะเมือง ขุมชนโดยรอบ ตลาดในกรุงและรอบกรุง ชนต่างเมืองและต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายในพระนคร สิ่งสำคัญที่เป็นหลักเมือง ได้แก่ พระราชมณเฑียร พระมหาธาตุ พระมหาเจดีย์และพระพุทธปฏิมากร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกพระนคร ข้อมูลที่บันทึกไว้นั้นเมื่อศึกษาสำรวจพื้นที่แล้ว พบว่ามีความถูกต้องแม่นยำ ทำให้เห็นภาพความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา และการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น

ในส่วนหลังของเอกสารบรรยายถึงโบราณราชประเพณี ได้แก่ ธรรมเนียมถือน้ำ พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า พิธีโสกันต์ ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ กระบวนแห่พระบรมศพ แบบอย่างการพระเมรุ จากนั้นบรรยายถึงตำแหน่งยศพระราชาคณะฐานานุกรม ทำให้ทราบถึงลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยอยุธยา อีกตอนหนึ่งว่าด้วยพระพิไชยเสนา เป็นตำราสอนข้อควรประพฤติของข้าราชการ มี ๒๔ ข้อ แสดงให้เหินถึงภูมิปัญญาและธรรมจริยาของผู้ปกครองสมัยนั้น ตอนสุดท้ายเป็นคำให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนปลายตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) ถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์

เอกสารประเภทคำให้การที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การชาวกรุงเก่า มีประวัติความเป็นมาในการพบเอกสาร ดังนี้

หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอสมิท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เนื้อหาเป็นเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้ในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช และพรรณนาภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา ทำเนียบต่างๆ ตลอดจนราชประเพณี เชื่อกันว่าเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรที่พระเจ้าอังวะโปรดให้สอบถามและจดไว้ แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่ามีความคลาดเคลื่อนหลายตอน อาจจะเนื่องจากการแปลต้องผ่านล่าม ซึ่งไม่เข้าใจธรรมเนียมกัน หรือไม่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ชาวกรุงเก่าผู้มีอายุอยู่มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์เรียบเรียงไว้ตามที่รู้เห็น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่าได้เคยทอดพระเนตรเห็นหนังสือเรื่องนี้ที่หอหลวง และทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในพระราชนิพนธ์หลายแห่ง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔ หอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดที่เป็นฉบับหลวงมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงสันนิษฐานว่าเมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้พาชาวไทยนับตั้งแต่พระเจ้าอุทุมพร ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และชาวเมืองไปเมืองพม่า พระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้จดคำให้การของชาวไทยเป็นภาษามอญ แล้วแปลเป็นภาษาพม่ารักษาไว้ในหอหลวง เมื่ออังกฤษตีเมืองมัณฑะเลย์ได้จึงนำมาเก็บไว้ที่เมืองย่างกุ้ง ฉบับที่สันนิษฐานว่าเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพร เรียกว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ส่วนคำให้การของคนอื่นๆ เรียกว่าคำให้การชาวกรุงเก่า ความถูกต้องแม่นยำของเอกสารยังคลาดเคลื่อนตามความทรงจำของผู้เล่า และความเข้าใจของผู้จดบันทึกและผู้แปล

ส่วนคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเป็นเอกสารสำคัญมากในกลุ่มคำให้การและเป็นเอกสารร่วมสมัยที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ความเป็นมาของเอกสารนี้ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยได้บรรยายไว้ในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ฉบับปีที่ ๓ เล่ม ๑ เดือนมกราคม ๒๕๑๒ ความว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ งานในหน้าที่กรมราชเลขาธิการในพระองค์โอนมาอยู่ในหน้าที่ของกรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ได้มอบเอกสารสมุดไทย ใบบอก ใบลาน และอื่นๆ มาเก็บรักษาไว้ ต่อมาจึงส่งเอกสารดังกล่าว ให้กรมศิลปากรดูแลรักษา นายปรีดา ศรีชลาลัย ข้าราชการกรมศิลปากรอ่านพบและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย พิจารณาเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ตั้งแต่ฉบับปีที่ ๓ เล่ม ๑ (มกราคม ๒๕๑๒) ถึงฉบับปีที่ ๕ เล่ม ๒ (พฤษภาคม ๒๕๑๔) เรียกชื่อเอกสารนี้ว่า “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” โดยเข้าใจว่าเป็นเอกสารครั้งกรุงเก่า และเป็นคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คือพระเจ้าอุทุมพร และในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยมอบหมายให้ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ตรวจสอบชำระเอกสารนี้อย่างละเอียดและพบว่า ต้นฉบับที่มีผู้คัดลอกจากเอกสารเดิมในหอหลวงมี ๓ ฉบับ กล่าวคือ ฉบับแรก ต้นฉบับเป็นมรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานแก่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ใช้ศึกษาในการทำแผนที่ภูมิสถานพระนครศรีอยุธยาที่ปรากฏในงานของท่านเรื่องตำนานกรุงเก่า ประกอบด้วยประวัติกรุงเก่า พระราชพงศาวดารสังเขป ภูมิสถานพระนคร และอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา (รวมพิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ และตรวจสอบชำระใหม่ในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕) ซึ่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในงานพระราชพิธีรัชมงคล พ.ศ. ๒๔๕๐

ต้นฉบับคัดลอกจากหอหลวงฉบับที่ ๒ กรมศิลปากรได้มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นสมุดไทยเมื่อสอบทานกับต้นฉบับแรกแล้วปรากฏว่ามีข้อความมากกว่าฉบับเดิมหลายหน้า สำนวนเดียวกัน จึงได้คัดสำเนาข้อความตอนที่ได้มาใหม่ส่งไปให้คณะกรรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดพิมพ์ใช้ชื่อว่า “ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยาฉบับต่อจากที่เคยพิมพ์แล้ว” แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดตูม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

ต้นฉบับคัดลอกจากหอหลวงฉบับที่ ๓ คือ ฉบับที่นายปรีดา ศรีชลาลัย ค้นพบดังที่ได้กล่าวถึงรายละเอียดแล้ว ถือเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะนักวิจัยของโครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส ได้ตรวจสอบชำระ จัดเรียงเนื้อความให้เป็นหมวดหมู่เป็นระบบขึ้น จัดทำคำอธิบายศัพท์ยากเพิ่มเติมจากที่พระยาโบราณราชธานินทร์ได้จัดทำไว้แต่เดิม และได้ลงพื้นที่สำรวจพร้อมทั้งจัดทำแผนที่ แผนผัง ประกอบ จัดพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ชื่อหนังสือว่า “มรดกความทรงจำแห่งพระนครศรีอยุธยา เล่ม ๑ พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง (ฉบับความสมบูรณ์)” หากนำมาศึกษาประกอบด้วยจะได้ความกระจ่างยิ่งขึ้น

การที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนำ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” มาจัดพิมพ์เผยแพร่ โดยเพิ่มบทนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ มีกุศล นับว่าเป็นประโยชน์ทางวิชาการสำหรับนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจประวัติศาสตร์อยุธยา โดยเฉพาะด้านสังคม และเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ กรมศิลปากรหวังว่า ทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากเอกสารนี้สมเจตนารมณ์ทุกประการ

(นางโสมสุดา ลียะวณิช)

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

พฤศจิกายน ๒๕๕๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ