- คำนำกรมศิลปากร
- ภูมิสันฐาน
- ว่าด้วยเรือจ้างรอบกรุง
- ว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง
- ว่าด้วยเรือต่างๆ ในโรง
- ว่าด้วยในพระนครกรุงศรีอยุธยา
- ว่าด้วยในกำแพงพระนครตั้งค่ายผนบบ้านหล่อรักษาพระนคร
- ว่าด้วยตะพานในพระนคร
- ว่าด้วยตลาดในพระนครศรีอยุธยา
- ว่าด้วยพระคลังโรงช้างโรงม้าคุกหอกลองซึ่งมีอยู่ในกำแพงกรุงศรีอยุทธยาดังนี้
- ว่าด้วยที่ประทับนอกพระนคร
- ว่าด้วยพระราชวังน่า
- ว่าด้วยธรรมเนียมถือน้ำ
- ว่าด้วยสิ่งซึ่งเปนหลักเปนประธานเปนศรีพระนคร
- ว่าด้วยตำแหน่งยศพระราราชาคณุฐานานุกรม
- ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ
- กระบวนแห่พระบรมศพ
- แบบอย่างการพระเมรุ เอก โท ตรี
- พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า
- พิธีโสกันต์เจ้าฟ้า
- เรื่องพระพิไชยเสนา เป็นตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ
- ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย
ว่าด้วยเรือจ้างรอบกรุง
อนึ่งกรุงศรีอยุทธยานั้นมีแม่น้ำล้อมรอบกำแพงพระมหานคร มีทำนบรอฃ้ามแม่น้ำมาแต่ฝั่งฟากตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาที่ชานกำแพงพระนครตรงพระราชวังจันทน์บวรริมป้อมมหาไชยใกล้ฉางวังน่าทำนบรอนั้น กว้างสามวามีช่องกลางแม่น้ำ สำหรับเรือใหญ่น้อยไปมาได้ในระหว่างนั้น บนทำนบรอทั้งสองฝั่งมีกระดานปูเป็นพื้น มีลูกฟูกไม้ห่างศอกหนึ่งเป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่งทั้งสองฟากที่กลางนั้นปูกระดานเปนเหมือนตะพานช้าง ทำนบรอนี้สำหรับสมณพราหมณาจาริยอณาประชาราษฎรและช้างม้าเกวียนต่างเดินเข้าออกในพระนครแต่ทางเดียว เรียกว่าหัวรอ ที่เชิงลาดตะพานทำนบนั้นมีเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลรักษาอยู่ที่ศาลาเชิงทำนบ ห้ามไม่ให้ช้างม้าเกวียนกระบือต่างโคเดินเลยเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่ราชการหลวงเท่านั้นเดินได้ แต่มีบาดหมายมาบอกก่อน
ทำนบรอนี้มีขี้นเมื่อ จุลศักราช ๙๑๘ ปีมะโรงอัฐศก ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินที่ ๑๖ ในกรุงศรีอยุทธยา เพราะครั้งนั้นพระเจ้ากรุงหงษาวดียกกองทัพมาทำสงครามล้อมกรุง แล้วมอญเอาไม้ตาลโตนดมาปักเปนทำนบรอถมดินทำตะพานเรือก ข้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้ ภายหลังต่อมาก็ไม่ได้ทำลายรื้อถอน เอาไว้ใช้เปนตะพานใหญ่ ข้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้โดยสดวก เมื่อทำนบรอเก่าของพวกมอญนั้นผุหักพังไป ไทยก็ทำซ่อมแปลงผลัดเปลี่ยนต่อมาเนือง ๆ เป็นตะพานใหญ่
กรุงศรีอยุทธยาด้านกว้างทิศตะวันออก มีท่าเรือจ้างข้ามรับส่งคนไปมาเข้าออก ๕ ตำบล คือตั้งแต่หัวรอมาถึงวัดตะพานเกลือ มีเรือจ้างฃ้ามเข้ากรุงที่ท่า ๘ ตำรวจท้ายวังน่าตำบล ๑ เรือจ้างฃ้ามเข้ากรุงที่ท่าช้างวังน่า แลมาท่าวิลันดา ๑ เรือจ้างข้ามออกจากกรุงไปวัดนางชี ๑ เรือจ้างฃ้ามออกจากกรุงไปวัดพิไชย ๑ เรือจ้างฃ้ามออกจากกรุงไปวัดเกาะแก้ว ๑ เรือจ้างข้ามรับส่งคนเข้าออกกรุงด้านตะวันออก ๕ ตำบล
กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวทิศใต้นั้น มีท่าเรือจ้างฃ้ามรับส่งคนเข้าออกที่กรุงหกตำบลคือเรือจ้างท่าประตูช่องกุตหัวตลาดโรงเหล็ก ฃ้ามออกจากกรุงไปน่าวัดเจ้าพระนางเชิง ๑ เรือจ้างท่าหอยข้ามออกจากกรุงไปวัดป่าจาก ๑ เรือจ้างท่าพระยาราชวังสัน ฃ้ามออกจากกรุงไปขึ้นวัดขุนพรม ๑ เรือจ้างท่าด่านชีข้ามออกไปวัดสุรินทราราม ๑ เรือจ้างท่าฉะไกรน้อยข้ามออกจากกรุงไปวัดทาราม ๑ เรือจ้างท่าวังไชยฃ้ามออกจากกรุงไปวัดนาดปากคลองลคอนไชย ๑ รวมท่าเรือจ้างด่านยาวกรุงทิศใต้ ๖ ตำบล
กรุงศรีอยุทธยาด้านกว้างทิศตะวันตกนั้น มีท่าเรือจ้าง ๔ ตำบล คือ เรือจ้างท่าบ้านซีฃ้ามออกจากกรุงไปวัดไชยาราม ๑ เรือจ้างท่าพระราชวังหลัง ฃ้ามออกจากกรุงไปวัดลอดช่อง ๑ เรือจ้างท่าด่านลมฃ้ามออกจากกรุงไปวัดกระษัตรา ๑ เรือจ้างท่าบ้านเจ้าพระยาพลเทพ ฃ้ามออกจากกรุงไปวัดธรมา ๑ รวมท่าเรือจ้างด่านกว้างกรุงทิศตระวันตก ๔ ตำบล
กรุงศรีอยุทธยาด้านยาวทิศเหนือนั้น มีท่าเรือจ้างเจดตำบล คือเรือจ้างท่าปตูสัตกปฃ้ามออกจากกรุงไปวัดฃุนญวน ๑ เรือจ้างท่าม้าอาบน้ำข้ามออกจากกรุงไปวัดตินท่า ๑ เรือคอยราชการประจำทั้งกลางวันและกลางคืนที่ท่าขุนนางพระราชวังหลวง ฃ้ามออกจากกรุงไปขึ้นท่าศาลากระเวรฟากสระบัวหลวง ๑ เรือจ้างท่าช้างวังหลวง คือท่าสิบเบี้ยนั้น ฃ้ามออกจากกรุงไปวัดสีโพ ๑ เรือจ้างท่าทรายฃ้ามออกจากกรุงไปวัดโรงฆ้อง ฃ้างบ้านเจ้าพระยาจักรกรีที่ท่าทรายนั้น มีศาลาคู่อยู่สองหลังสำหรับคนไปมาภักอาไศรยเปนศาลาฉ้อทาน ๑ เรือจ้างท่าวัดชรองตรงถนนโรงช้างพระราชวังน่านั้น ฃ้ามออกจากกรุงไปวัดป่าคนที ตรงถนนปั้นม่อ ๑ เรือคอยราชการประจำทั้งกลางวันกลางคืน ที่ท่าขุนนางวังน่าริมป้อมมหาไชยน่าพระราชวังจันทน์บวร ข้ามออกจากกรุงไปขึ้นที่วัดนางปลื้มแลท่าโขลง ๑ รวมท่าเรือจ้างด้านยาวกรุงทิศเหนือ เปนเรือจ้างแท้ ๕ ตำบล เรือคอยราชการ ๒ ตำบล รวมเปนเจดตำบล
แม่น้ำล้อมรอบกรุงทั้ง ๔ ด้าน มีตะพานใหญ่ ทำนบรอตำบล ๑ มีท่าเรือคอยราชการ ๒ ตำบล มีท่าเรือจ้างยี่สิบตำบล รวมทางคนฃ้ามแม่น้ำเข้าออกในกรุง ๒๓ ตำบล
มีตลาดเรือที่แม่น้ำรอบกรุงเปนตลาดท้องน้ำเปนตลาดใหญ่ในท้องน้ำมี ๔ ตลาด คือตลาดน้ำวนบางกะจะน่าวัดเจ้าพระนางเชิง ๑ ตลาดปากคลองคูจามท้ายสู่เราแขก ๑ ตลาดปากคลองคูไม้ร้อง ๑ ตลาดปากคลองวัดเดิมใต้ศาลเจ้าปูนเท่าก๋ง ๑ เปนตลาดเอกในท้องน้ำ ๔ ตลาดเท่านี้
มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนคร ตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้างติดแต่ในรอบบริเวณในขนอนใหญ่ทั้ง ๔ ทิศรอบกรุงเข้ามาจนฟากฝั่งแม่น้ำตรงกรุง และชานกำแพงกรุงนั้นด้วยรวมเปน ๓๐ ตลาด คือ ตลาดน่าวัดน่าพระธาตุหลังขนอนบางหลวง ๑ ตลาดลาวเหนือวัดคูหาสวรรค์ ๑ ตลาดริมคลองน้ำยา ๑ ตลาดป่าปลาเชิงทำนบรอ ๑ ตลาดน่าวัดแคลง แลวัดตะพานเกลือ ๑ ตลาดท่าเรือจ้างวัดนางชีน่าบ้านโปรตุเกต ๑ ตลาดบ้านบาตร์วัดพิไชย ๑ ตลาดวัดจันทนารามหลังวัดกล้วย ๑ ตลาดหลังตึกห้างวิลันดา แถววัดหมู ๑ ตลาดวัดสิงหน่าตึกยี่ปุ่น ๑ ตลาดวัดทองถนนลายสอง ๑ ตลาดวัดท่าราบน่าบ้านเจ้าสัวซีมีตึกแถวยาว ๑๖ ห้องสองชั้น ๆ ล่างตั้งร้านขายของ ชั้นบนคนอยู่หัวตลาดนี้มีโรงตีเหลกแลโรงเยบรองท้าว ทำยาแดง สูบกล้องฃายตลาด ๑ ตลาดบ้านปูนวัดเขียน ถนนลายสอง ๑ ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชยมีหญิงละครโสเภณี ตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด ๔ โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เปนตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ฃายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด ๑ ตลาดบ้านกวนลอดฉ้อง ๑ ตลาดท่าเรือจ้างวัดธรมา ๑ ตลาดบ้านป้อมตรงขนอนปากคู ๑ ตลาดแหลมคลองมหานาค ถนนบัณฑิตย์ ๑ ตลาดวัดขุนญวนศาลาปูน ๑ ตลาดคูไม้ร้องหลังโรงเรือพระที่นั่ง ๑ ตลาดน่าวัดตะไกรลงมาน่าวัดพระเมรุ ๑ ตลาดฃ้างวัดควายวัดวัว ถนนบ้านทำม่อ ๑ ตลาดป่าเหลกหลังบ้านเฃมรโยมพระ ๑ ตลาดวัดครุธ ๑ ตลาดคลองผ้าลาย ริมวัดป่าแดงหลังวังฟักเจ้าลาว ๑ ตลาดริมบ้านโรงกูบน่าวัดกุฎีทอง ๑ ตลาดวัดโรงฆ้อง ๑ ตลาดน่าวัดป่าคนที ๑ ตลาดบ้านป่าเหลกท่าโขลง ๑ ตลาดวัดมะพร้าวริมบ้านญวนทะเล ๑ รวมตลาดบกนอกกำแพงพระนคร ๓๐ ตลาด เปนตลาดใหญ่