บทที่ ๖ ลอนดอนและประดิษฐ์

ก่อนจะออกจากปารีสสามวัน ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายถึงประดิษฐ์ บุญญารัตน์ ที่บ้านเลขที่ ๑๓ แลงแฮมการเด้น ลอนดอน ขอให้มารับที่สถานีเวลาหลวงวิเศษฯ กับข้าพเจ้าไปถึง พอถึงวันและเวลาที่กำหนดเราก็ทูลลาท่านราชทูตออกเดิรทางไปอังกฤษ เราจับรถที่สถานีการ์ดดูนอร์ดไปลงที่คาเลส์ แล้วลงเรือที่นั่นข้ามช่อง อิงก์ลิชแชนเน็ล อันมีคลื่นลมจัด ชั่วโมงครึ่งเศษก็ถึงเมืองโดเวอร์ดินแดนอังกฤษ เราจับรถไฟที่โดเวอร์เดิรทางไปลอนดอน ระยะทางจากปารีสถึงลอนดอนราวเจ็ดชั่วโมงครึ่ง.

รถถึงลอนดอนเวลา ๑๙ น.ตรง ที่สถานีได้พบข้าราชการจากสถานทูตมารับคุณหลวงวิเศษฯ และประดิษฐ์มารับข้าพเจ้า วันที่ไปถึงนั้นจำได้ว่าเป็นวันที่อยู่ในฤดูใบไม้ร่วง อากาศค่อนข้างหนาวและชื้น เนื่องจากอากาศชะนิดนี้ ประดิษฐ์จึงดูขาวผิดธรรมดาจนข้าพเจ้าจำเกือบไม่ได้ ประดิษฐ์วิ่งเข้ามาจับมือข้าพเจ้าสั่งโดยแรงด้วยความปีติยินดี แล้วเอามือโอบหลังข้าพเจ้าพาเดิรเข้าไปหาหลวงวิเศษฯ

“คุณหลวงครับ” ประดิษฐ์พูด “เจ้าคุณทูตได้อนุญาตให้ผมพาวิสูตร์ไปอยู่บ้านผมคืนนี้ทีเดียว ไม่ต้องไปหาท่านจนพรุ่งนี้เช้า ผมขอตัววิสูตร์ไปเลย”

“เอ๊ะ นี่เธอเป็นอะไรกับวิสูตร์?” คุณหลวงถาม.

“เหมือนพี่น้องกันแหละครับ” ประดิษฐ์ตอบ.

“งั้นก็เอาซี แต่นี่ - ฟังก่อน - เด็กเขาพึ่งมาถึงใหม่ๆ อย่าเพ่อพาไปเสียคนเสียนะ?” หลวงวิเศษฯ พูดสัพยอก.

“ตกลงครับ กู๊ดไนท”

พอออกมานอกสถานี ประดิษฐ์ก็แนะนำให้รู้จักเพื่อนนักเรียนไทยด้วยกันอีกสามคนชื่อ บุญช่วย จำรัส และมณี แล้วเราทั้งห้าก็จับรถเช่าสัปรังเคอะไรคันหนึ่งไปที่บ้านเลขที่ ๑๓ แลงแฮมการ์เด็น บ้านที่บุญช่วย จำรัส มณี และประดิษฐ์ร่วมทุนกันอยู่นั้น ปรากฏว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเช่าทั้งหลัง อยู่ชั้นสาม มีห้องนอนเล็กๆ สองห้อง ห้องนั่งเล่น ครัวและห้องน้ำ เครื่องประดับประดาก็ดูเก่าคร่ำคร่า อยู่กันอย่างนักเรียน.

“เฮ้ย ประดิษฐ์” บุญช่วยกล่าวเมื่อเรามาถึงบ้านแล้วไม่ทันได้ห้านาฑี “คืนนี้พาวิสูตร์ไปกินเข้าที่โรงเจ๊กเถอะ”

“ลื้อมีอัฐหรือ?” มณีถามขึ้น “กันไม่มี”

“ไม่เป็นไร” บุญช่วยตอบ “ใครมีช่วยกันออกก็แล้วกัน”

“ตกลง” ประดิษฐ์พูดแล้วหันมาทางข้าพเจ้า นี่วิสูตร์ ลื้อล้างหน้าล้างตาเสียก่อนซีจะได้ไป”

แต่งตัวเสร็จสรรพ สี่สหายก็พาข้าพเจ้าไปที่สถานี เอลสตอร์ต ลงลิฟต์ไปขึ้นรถใต้ดิน รถวิ่งไปยังช่องอุโมงค์อย่างรวดเร็ว หยุดทุกสถานีจนถึงปีกาดีลี เซอกาส เราเปลี่ยนรถไปขึ้นที่อ๊อกสฟอร์ดเซอกาส พอขึ้นสถานีเลี้ยวขวาก็มาถึงประตูใหญ่บานหนึ่ง มีคนแต่งเครื่องแบบคล้ายทหารยืนต้อนรับให้เราเข้าไปข้างใน พอเข้าประตูและขึ้นบันไดไปเพียงห้าขั้นก็ถึงที่ที่เราต้องการ ได้ยินเสียงดนตรีเต้นรำดังอยู่ และเสียงผู้คนพูดจาหวัวเราะกันดังพอใช้.

โรงเจ๊กเต้นรำอ๊อกสฟอร์ด ตามที่คนไทยเรียกกัน เป็นสถานที่กว้างใหญ่ สองชั้นมีเป็นยกพื้น เฉลียงอยู่โดยรอบ เมื่อยืนอยู่ชั้นบนชะโงกไปดูทางลูกกรงเฉลียง จะเห็นคนเต้นรำกันอยู่ชั้นล่างได้ถนัด ดนตรีเล่นอยู่ที่เฉลียงชั้นบน, สถานที่ไม่เห็นประดับประดาอะไรมากนักนอกจากจะจุดไฟไว้สว่าง ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเป็นโรงเต้นรำเจ๊กเลย นอกจากจะเห็นผู้เป็นเจ้าของเป็นจีนและหัวหน้าบ๋อยสองสามคนที่ยืนดูแลอยู่ก็เป็นจีนเท่านั้น สถานที่ก็ไม่เป็นจีน อาหารก็ไม่เป็นจีน แต่ก็ไม่เป็นฝรั่ง รสชาติไม่อร่อย ข้าพเจ้าเห็นแต่เขาไปเต้นรำกับผู้หญิง ดื่มเหล้า และคุยกันสนุกเท่านั้น.

คืนนั้นมีคนน้อย เพราะเป็นเวลาปลายเดือนหาเงินยาก มีแต่ชาวฮินดู ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ อยู่เพียงสิบห้าคนเศษ มีฝรั่งอยู่เพียงสองสามคน ส่วนผู้หญิงนั้นมองดูปราดเดียวก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นคนชะนิดใดและนั่งกันอยู่ล้นหลามตามเคย รอที่จะมีเพื่อนผู้ชายของตนมาเลี้ยง มาเต้นรำ และอื่นๆ บ้างก็หน้าสดชื่น บ้างก็เป็นทุกข์ คนไหนที่สวยเป็นดาราของ ‘โรงเจ๊ก’ ก็ถูกเชื้อเชิญให้เต้นรำไม่หยุดหย่อน ส่วนคนไหนที่ต่ำต้อยในความงาม ก็นั่งเฉยๆ ตลอดเวลาที่คนอื่นเต้นรำกันครั้งแล้วครั้งเล่า

เราห้าคนนั่งกันอยู่ที่โต๊ะกลางของเฉลียงชั้นบนด้านหนึ่งโดยลำพัง ไม่มีนารีงามเมืองมาปะปน พวกสหายทั้งสี่ของข้าพเจ้าผลัดเปลี่ยนกันไปเต้นรำ, ส่วนข้าพเจ้าก็คงนั่งดูเขาอยู่ด้วยความชื่นชม ข้าพเจ้าพึ่งไปถึงใหม่ เต้นรำไม่เป็น พูดภาษาไม่คล่อง ได้แต่นั่งดูเขาเท่านั้น แม้ว่าจะมีนารีเดิรผ่านโต๊ะหยุดชะม้อยตามมาเป็นบางครั้ง เห็นข้าพเจ้าไม่ชะม้อยตอบ หล่อนก็ทราบได้ทันทีว่าข้าพเจ้าเป็นท่อนซุง แล้วก็เดิรผ่านไป.

รุ่งเช้าเวลา ๑๑ นาฬิกา ประดิษฐ์พาข้าพเจ้าไปหาเจ้าคุณทูต พบท่านกำลังทำงานง่วนอยู่กับเลขานุการคนสนิท ท่านทักทายปราศรัยข้าพเจ้าเป็นอันดี รับว่าจะช่วยเหลือดูแลกิจการให้อย่างเต็มความสามารถ และยอมรับหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามอบเงินที่มีติดตัวมาให้ท่าน ๑๐๐ ปอนด์ ท่านชวนให้ประดิษฐ์ และข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกับท่านคืนนั้น

“ข้อสำคัญมีอยู่ว่า เธอจะเรียนอะไรแน่” ท่านราชทูตแนะนำ “ถ้าจะคิดไปมหาวิทยาลัย ฉันเห็นว่าควรจะไปอยู่โรงเรียนปัปลิกสกูลส์เสียก่อน แต่เธอเป็นนักเรียนส่วนตัวจะสมัครอย่างไรก็ได้ ถ้าจะเรียนกฎหมาย ฉันเห็นควรจะไปอยู่กับฝรั่งก่อน เอาจนรู้ภาษาดีพอจึงค่อยมาอยู่ลอนดอนเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย”

ท่านอธิบายถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ในเรื่องการเรียนโดยละเอียด ข้าพเจ้าตกลงใจว่าจะไปอยู่กับครอบครัวอังกฤษที่ไหนแห่งหนึ่ง เรียนภาษาให้ดีแล้วจึงกลับมาเรียนกฎหมายที่ลอนดอน ท่านราชทูตรับรองว่าจะจัดการให้ตามความประสงค์ และจะรีบจัดหาครอบครัวให้ไปอยู่เล่าเรียนเร็วที่สุดที่จะเร็วได้.

ออกจากสถานทูต ประดิษฐ์พาข้าพเจ้าไปขึ้นรถโดยสารเรียกว่า ‘บัส’ คันใหญ่ ใช้ยางตันมีเก๋ง นั่งได้ทั้งข้างล่างข้างบน แต่ข้างบนไม่มีหลังคา ตามข้างๆ รถ ‘บัส’ มีแจ้งความภาพยนตร์ละครและอะไรติดอยู่ทั่ว แลดูคล้ายของเล่นมากกว่าอื่น เช้าวันนั้นเคราะห์ดีที่อากาศสดชื่น แม้จะหนาวเล็กน้อยก็มีแดดพอสบาย เราจึงขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ ‘บัส’ ได้.

“นี่เธอหยุดฮอลิเดย์กันหรือ?” ข้าพเจ้าถามในระหว่างที่นั่งรถอยู่.

“เปล่า เราที่อยู่ด้วยกันทั้งสี่คนสอบเข้ามหาวิทยาลัยลอนดอนได้พร้อมกัน” ประดิษฐ์ชี้แจง “แต่ยังไปอยู่มหาวิทยาลัยไม่ได้จนเดือนหน้า จึงต้องมาพักไม่มีอะไรทำกันอยู่ก่อน”

“อยู่เมืองนอกเป็นอย่างไรบ้าง? พูดกันตามจริงกันออกกลัวจัง” ข้าพเจ้าถาม.

“มันก็ดีทุกอย่างเสียแต่จนเหลือเกินเท่านั้น เขาให้เดือนละเจ็ดปอนด์ ต้องเสียค่าซักฟอกเอง เครื่องแต่งตัวเอง ค่ารถและอะไรทุกอย่าง” ประดิษฐ์ตอบ “ลื้ออยู่ไปนานๆ ก็คงเห็น แต่สำหรับกันไม่สู้ลำบากอะไรนักเพราะคุณพ่อส่งเงินส่วนตัวมาให้สามสี่เดือนครั้งหนึ่ง พอทำให้สบายขึ้นบ้าง”

ข้าพเจ้า: “เคยไปอยู่กับฝรั่งบ้างไหม?”

ประดิษฐ์: “ลื้อหมายความว่าไปอยู่กับครอบครัว -- (Family)?”

ข้าพเจ้า: “ถูกแล้ว”

ประดิษฐ์: “กันไปเรียนภาษาอยู่ปีหนึ่งเต็มๆ จึงได้เข้ามาสอบ อยู่กับครอบครัวหงอยเหลือเกิน กันไปโดนอยู่กับตาพระบ้าอะไรคนหนึ่ง ไม่มีใครเลย นอกจากตากับยาย แกศาสนาจัดจนเกือบจะบวชกันเป็นคริสเตียนเสียแล้ว”

ข้าพเจ้า: “งั้นเห็นจะเรียนได้ดีกะมัง?”

ประดิษฐ์: “ไม่สู้แน่นัก มันหงอย กินเข้าไม่อร่อยและไม่อิ่มสักเวลาเดียว จะไปดูหนังสักทีก็ต้องขึ้นรถ ‘บัส’ ไปตั้งชั่วโมง การที่กันพยายามเรียนก็เพราะจะหนีมาเสียให้พ้น”

ข้าพเจ้า: “ทำไม เขาจะหาที่ที่ดีกว่านั้นให้เราอยู่ไม่ได้เทียวหรือ?”

ประดิษฐ์: “มันแล้วแต่โชคของเรา บางทีก็ได้อยู่กับครอบครัวที่ดี บางทีก็ระยำอย่างใจหาย กันตกอยู่ในพวกเคราะห์ร้าย”

ข้าพเจ้า: “นี่ประดิษฐ์ ที่บ้านฝากหนังสือมาให้เธอหลายฉะบับ อยู่ในหีบเดิรทางของกันทั้งสิ้น”

ประดิษฐ์: “ดีแล้ว พอเรากลับไปบ้านหีบเดิรทางของลื้อก็คงถึง เพราะกันสั่งให้เขาเอาไปจากสถานทูตแล้ว”

ตลอดเวลาที่นั่งรถเที่ยว ข้าพเจ้าพยายามที่จะไม่พูดถึงเรื่องเมืองไทยกับประดิษฐ์เลย เพราะข้าพเจ้าก็อยากจะลืมเสียด้วย และแปลกใจที่ประดิษฐ์ก็ไม่ถามถึงใครเสียเลย ประดิษฐ์ไม่ได้พูดถึงเจ้าคุณบรรลือฯ และคุณหญิง ไม่ได้พูดถึงลำจวนน้องสาวที่รัก

“นี่ประดิษฐ์ กันแปลกใจที่เธอไม่ถามข่าวคราวทางบ้านเอาเสียเลย แต่จากมาก็นานแล้ว” ข้าพเจ้าอดถามไม่ได้

“กันได้รับจดหมายของลำจวนบ่อยๆ” ประดิษฐ์ตอบ “กันออกจะรู้เรื่องเมืองไทยดีพอใช้”

“ลำจวนพูดถึงกันบ้างหรือเปล่า?” ข้าพเจ้าถาม.

“แต่ก่อนพูด เดี๋ยวนี้ดูเงียบไป เห็นจะเป็นเพราะเขาแต่งงานไปเสียแล้วกะมัง” ประดิษฐ์พูดทิ้งท้ายไว้แต่เพียงเท่านั้น ทำให้ข้าพเจ้าออกพิศวงไม่เข้าใจ

“นี่ เธอไม่ได้หมายความว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นระหว่างลำจวนกับกัน เมื่อลำจวนแต่งงานไปแล้ว?” ข้าพเจ้าถามด้วยน้ำเสียงอันแน่นแฟ้น.

“เปล่า แต่เมื่อลำจวนแต่งงานไปแล้ว เขาก็คงต้องการให้ลื้อลืมเขาเหมือนกัน เพื่อความสุขของลื้อเอง ชีวิตเป็นของแปลกนะ”

ข้าพเจ้าคิดอยู่สักครู่จึงตอบไปว่า “เป็นความสัตย์ ประดิษฐ์ กันไม่เคยรักลำจวนอย่างอื่นเลยนอกจากฐานพี่น้องหรือเพื่อน พอรู้เรื่องว่าเขาจะแต่งงานก็ดีใจอย่างที่สุด เที่ยววิ่งตามไปแสดงความยินดีทุกหนทุกแห่ง แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พบพวกเธอเลย พอนายร้อยโทกมลไปวันแรก คนที่บ้านเธอก็มีกิริยาแปลกๆ สำหรับกันเสียแล้ว”

“กันเข้าใจ วิสูตร์” ประดิษฐ์ตอบอย่างเศร้า แล้วรถก็คงวิ่งไปตามถนนต่างๆ เรื่อยๆ.

ลอนดอนเป็นที่เลื่องชื่อลือนามนักว่าเป็นนครที่ใหญ่ งามและพิเศษที่สุดในโลกนครหนึ่ง ตั้งแต่มหาสงครามเลิกไม่มีประเทศใดในยุโรปสงบเท่าประเทศอังกฤษ และลอนดอนเป็นนครหลวง เป็นที่ตั้งของสภารัฐมนตรี เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญและความใหญ่ยิ่งของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจปกแผ่ไปทั่วสารทิศ เมื่อเข้าใจว่าเมืองลอนดอนเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ข้าพเจ้าต้องนึกว่าจะได้เห็นลอนดอนงามสง่าดังเมืองสวรรค์ หรืออย่างน้อยก็คงเหมือนนครปารีสที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาแล้ว แต่ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายที่ความจริงลอนดอนหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จริงอยู่ ลอนดอนเป็นเมืองที่สะอาดสะอ้านใหญ่โต และมีผู้คนล้นหลาม แต่ถ้าจะว่าลอนดอนได้ก่อสร้างแก้ไขให้งามเลิศต้องด้วยศิลปอันดีที่โลกนิยมแล้ว ข้าพเจ้าจำเป็นต้องคัดค้าน ถ้าจะเปรียบลอนดอนกับปารีสในเรื่องความงามต้องตากันแล้ว ลอนดอนยังห่างความเจริญในเชิงศิลปอยู่ไกลลิบ กรุงปารีสมี อาเวนิว เดอ ชองเอลีเสย์, ปลาสเดสเซตวล ปลาสเดอลาคองคอร์ด มาดเดลีน และกร็องบูลวารด์ ส่วนอังกฤษแม้จะมี รีเยนต์สตรีต และปิกาดีลี กับอ๊อกสฟอร์ดเซอกาส ก็จะหาถนนหรือสถานที่ใดๆ งามเท่านครปารีสไม่ได้ อนุสสาวรีย์และรูปตามสี่แยกต่างๆ ของกรุงปารีสแลดูงามเป็นรูปร่างกะทัดรัดทุกอย่างทุกชะนิด ส่วนอนุสสาวรีย์และรูปตั้งต่างๆ ในลอนดอนแลดูทึมทึกเกือบไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ เนลสันสคอลัมน์ อยู่ที่ทราฟัลกาสแค๎วร์ เป็นเสาหินมหิมาท่อนหนึ่งสูงเทียมฟ้า บนยอดมีรูปเนลสัน ถ้าอยากจะเห็นเนลสันสักทีก็ต้องแหงนกันคอตั้งบ่า ยิ่งเวลาฤดูหนาว มีหมอกอยู่เสมอตลอดเช้าเย็น แม้ว่าจะใช้กล้องส่องก็คงไม่เห็น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าความประสงค์ของชาวอังกฤษที่ได้สร้างเนลสันไว้สูงเทียมฟ้านั้นคืออะไร ตึกรามในกรุงลอนดอนก็ดูทึมทึกโตเกินตัว ไม่เห็นมีความงามที่ตรงไหน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอังกฤษเป็นเกาะที่เคยถูกข้าศึกรบกวนอยู่เสมอ คิดแต่จะป้องกันต่อสู้ศัตรูอยู่จนลืมคิดถึงความสวยงามของศิลปแห่งโลกกะมัง? นั่งรถ ‘บัส’ เที่ยวอยู่ราวสองชั่วโมงก็หยุดรับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง ณ ถนนสแตรน ตำบลชาริงครอส ที่นี่แม้อาหารจะดีมีกลิ่นไอคล้ายอาหารจีนอยู่มาก คนครัวผู้เป็นเจ้าของและผู้จัดการก็เป็นญี่ปุ่น นักเรียนไทยเรียกกันว่า ‘โรงเจ๊กชาริงครอส’ เมื่อแรกโผล่เข้าไปเห็นแต่พวกเรา พวกเจ๊ก และชาวต่างประเทศที่มาจากประเทศทางบูรพทิศอยู่เต็ม สิ่งที่ทำให้คนติดมากสำหรับที่นี่ก็คือ เจ้าของได้จัดหาผู้หญิงสวยๆ หลายคนไว้ สำหรับเดิรโต๊ะและสนทนากับผู้มาอุดหนุน นอกจากผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนบ่อยๆ ยังมีพวกขาประจำทั้งกลางวันกลางคืนทุกมื้อก็มาก ผู้เป็นเจ้าของภัตตาคารนี้เป็นคนฉลาดจึงร่ำรวย.

เสร็จจากรับประทานอาหาร ประดิษฐ์พาข้าพเจ้าเดิรไปตามถนนสแตรน เลี้ยวไปโฮบอล์น เลยดูภาพยนตร์กลางวันที่สตอลล์พิเจอร์เฮาส พอภาพยนตร์หมดรอบก็พอดีถึงเวลากินน้ำชา เราลงรถใต้ดินไปที่กลอสเตอร์โรด เข้าร้านน้ำชาไลออนสแห่งหนึ่งใกล้สถานทูต ที่ในร้านเราพบข้าราชการไทยหลายคนกำลังนั่งรวมกันอยู่เป็นหมู่ เขาร้อง (ไม่ใช่เชิญ) ให้เราไปนั่งร่วมโต๊ะ ครั้นแล้วประดิษฐ์ก็ชวนให้ไปเล่นไพ่บริดชกันที่บ้านแลงแฮมการ์เด็น.

ที่บ้านเราคุยกันอยู่จนมืด พอได้เวลาประดิษฐ์กับข้าพเจ้าก็แต่งตัวไปรับประทานอาหารกับเจ้าคุณทูต หลังจากรับประทานอาหาร เจ้าคุณประภากรวงศ์สว่างจึงชวนให้เราอยู่คุยกับท่านจนดึก.

สามสี่วันต่อมา ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจที่ได้รับจดหมายจากลำจวนฉะบับหนึ่ง มีข้อความยืดยาวล้นหลามตั้งหลายหน้ากระดาษ หล่อนถามทุกข์สุขของประดิษฐ์และของข้าพเจ้า หล่อนขอให้ตอบโดยเร็ว ขอให้เล่าถึงเรื่องประดิษฐ์ให้มากๆ หล่อนเล่าถึงชีวิตใหม่ของหล่อน เล่าถึงความสุขและเล่าถึงกมล ในจดหมายหล่อนเขียนมาฉอเลาะข้าพเจ้า ยังคงถือวิสสาสะว่าข้าพเจ้าเป็นเพื่อนสนิทสนม หวังว่าเมื่อข้าพเจ้ากลับ เราคงจะได้ร่วมสมาคมกันอีก. มิตรภาพของเราก็มีแต่จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทุกวัน หล่อนเตือนข้าพเจ้าถึงเรื่องการมีเมียคนเดียวตามที่เราได้พูดจากันไว้.

“โอ คุณพี่วิสูตร์คะ” เป็นข้อความตอนหนึ่งในจดหมาย “หมู่นี้เราสนุกกันจังที่บ้าน พวกนักเรียนนอกเพื่อนกมลเขามาเฮฮากันทุกวัน พอคุณพี่กลับมา ดิฉันจะต้องไปลากตัวให้มาร่วมวงกับเราด้วย คงจะสนุกกันใหญ่ นะคะ คุณพี่เพื่อนที่รักยิ่งของลำจวนคนเดียว---”

อนิจจา! ลำจวนเอ๋ย! หล่อนจะทราบหรือไม่หนอ ว่าหล่อนได้ฆ่าความรักอันบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าซึ่งมีต่อหล่อนเสียแล้ว ความรักในฐานเพื่อนอันไม่มีความรักอื่นเทียม คำพูดอันไพเราะทุกคำที่หล่อนพร่ำรำพรรณมีค่าประดุจน้ำรดก้อนหิน ไม่มีหยดใดที่สามารถจะรั่วไหลเข้าไปในความรู้สึกของข้าพเจ้าได้ หล่อนได้ตัดข้าพเจ้าเมินหน้าหนี ทิ้งข้าพเจ้าให้กมลดูถูก เพราะรู้ว่าข้าพเจ้าหาโอกาสไปเมืองนอกไม่ได้ เรื่องชะนิดนี้หล่อนไม่ได้กล่าวถึงเลย ไม่ได้ออกปากขอโทษแม้แต่สักคำ มีแต่จะยกตนว่าดีเลิศด้วยประการทั้งปวง ถือเสียว่าหล่อนเป็นเพื่อนดีที่สุดของข้าพเจ้าตั้งแต่วันแรกพบจนทุกวันนี้ อนิจจา! ละครแห่งชีวิต! เราจะต้องสวมหน้ากากเข้าหากันเสมอกะมัง.

ชั้นแรก เมื่อเรือแล่นมาในท้องทะเล เมื่อข้าพเจ้าถึงฝรั่งเศส ถึงอังกฤษ ยังมีเวลาบ้างที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะยกโทษให้หล่อนได้ ถือเสียว่าการที่หล่อนต้องทำกับข้าพเจ้าเช่นที่หล่อนได้ทำมาแล้วนั้น เนื่องจากความยุยงของผู้อื่น รู้สึกว่าหล่อนเป็นเรือที่ลอยอยู่ในทะเลโดยปราศจากหางเสือและใบท้าย ไม่ว่าลมและคลื่นจะพัดพาไปทางใดก็ต้องไปทางนั้น อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ากมลจะเป็นคนดีพอสำหรับลำจวน กมลมีนิสสัยชอบดูถูกคน อยู่ไปด้วยกันนานๆ เข้าก็จะแลเห็นความผิดบางอย่างของหล่อน เขาก็จะดูถูกหล่อนเช่นเดียวกับดูถูกคนไทยที่ไม่มีโอกาสได้ไปเมืองนอกทั้งหลาย คนอย่างกมลไม่มีความรักที่แท้จริง แต่ลำจวนไม่ใช่เรือที่ปราศจากหางเสือและใบท้าย ลอยอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลลึก ตามที่จดหมายของหล่อนแสดงอยู่ชัดๆ สิ่งต่างๆ ที่หล่อนเคยทำกับข้าพเจ้าแล้วหล่อนทำโดยพละตนเอง ไม่มีใครอื่นมาเสี้ยมสอน หล่อนโตพอที่จะรู้จักใจของหล่อนเอง และหล่อนไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว อนิจจา ข้าพเจ้าเฝ้าถามตัวเองอยู่ว่า จะมีวันใดบ้างไหมที่ข้าพเจ้าจะยกโทษให้ลำจวนได้.

ข้าพเจ้าเคยนึกอยู่บ่อยๆ ว่า อีก ๔-๕ ปี ข้าพเจ้ากลับไปบ้าน เราพบกันอีก ลำจวนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหนอ เมืองไทยผู้หญิงแก่เร็ว หรืออย่างน้อยถือตนว่าแก่ในเมื่อตนยังคงเป็นสาวและสวย ลำจวนจะมีลูกสักกี่คน ดวงพักตร์หล่อนคงจะไม่สดชื่นดังเช่นที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมาแล้ว หล่อนอาจซูบซีดเพราะความทุกข์ ความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เวลานี้หล่อนเรียกว่าชีวิตใหม่ ความใหม่จะเป็นความเก่า ลำจวนจะเป็นอย่างไร?

พออ่านจดหมายจบ ข้าพเจ้าเงยหน้าขึ้นดูประดิษฐ์ซึ่งกำลังสวมถุงเท้าอยู่บนเตียง สบตากันเขาถามข้าพเจ้าว่า “ไง จดหมายลำจวนมีอะไรบ้าง?”

“เยอะแยะ” ข้าพเจ้าตอบอย่างเสียไม่ได้.

“สนุกไหม?”

“พอใช้”

“ผู้หญิงไม่ไหวละ” ประดิษฐ์พูด “กันออกเบื่อ ไม่เห็นมีจริงจังสักคน ยิ่งผู้หญิงฝรั่งซ้ำร้าย”

ข้าพเจ้าปาจดหมายลำจวนลงในลิ้นชัก ไม่ตอบประดิษฐ์ประการใด

นั่นแหละท่าน เมืองนอกได้เปลี่ยนนิสสัยประดิษฐ์ให้เป็นอย่างไร ทำให้ประดิษฐ์เป็นเด็กพูดจาสนุกสนานและไม่ค่อยมีสาระ พูดจาใช้ภาษานักเลง คำแทนชื่อ ‘เธอ’ สำหรับข้าพเจ้าในครั้งกะโน้น ก็กลายเป็น ‘ลื้อ’ แต่ประดิษฐ์เป็นสุข และชอบเป็นเด็ก--!

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ