บทที่ ๗ ชีวิตใหม่

ในการเขียนประวัติส่วนตัวเรื่องนี้ ไม่มีตอนใดที่ข้าพเจ้าจะเขียนได้เป็นสุขเท่าตอนนี้ ข้าพเจ้าเขียนได้ด้วยความภาคภูมิใจ เขียนได้ด้วยความรักจะเขียน ความสุข ชีวิตใหม่นี่ท่าน ของใหม่ย่อมดีกว่าของเก่าเป็นธรรมดา--?

อยู่ในลอนดอนได้ในราวสองสัปดาห์ เจ้าคุณราชทูตก็สั่งให้ข้าพเจ้าเดิรทางไปอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษที่เมืองเบ็กสฮิลล์ ทางใต้ของเกาะอังกฤษ โดยรับรองว่าถ้าข้าพเจ้าไปอยู่กับนายร้อยเอก แอนดรู จะสนุกสบายมาก เพราะบุทคลผู้นี้ไม่ใช่ตาพระอะไรโง่ๆ เช่นที่ประดิษฐ์ไปอยู่ด้วยมาแล้ว ข้าพเจ้าออกเดิรทางตั้งแต่สิบนาฬิกาเช้าวันหนึ่ง นั่งรถไฟอยู่เพียงสองชั่วโมงครึ่งก็ถึงเบ็กสฮิลล์ พอรถหยุดได้ประเดี๋ยวก็มีชายผู้หนึ่งแต่งตัวเครื่องแบบเล่นกอลฟเดิรตรงมาหยุดที่หน้าต่างรถแล้วถามข้าพเจ้าว่า:

“ท่านมาจากสถานทูตไทยใช่ไหม?”

“ใช่ครับ” ข้าพเจ้าตอบ.

“ฉันคือนายร้อยเอก แอนดรู” เขาแนะนำตนเอง “มากับฉันเถอะ”

ข้าพเจ้าลงจากรถ นายร้อยเอก แอนดรู ยื่นมืออันมหิมาออกมาสัมผัสส์กับข้าพเจ้า สั่นอย่างแรงจนรู้สึกเจ็บ แล้วเราก็ช่วยกันขนของเล็กๆ น้อยๆ ลงจากรถ.

“ไปทางโน้นซี” เขากล่าวชวน “ไปดูว่าหีบของๆ ท่านมีอะไรบ้าง เขาวางไว้ทางหัวรถทั้งสิ้น”

ครั้นแล้วเราก็เดิรเคียงข้างกันไปจนถึงหัวรถ ข้าพเจ้าชี้ให้ดูหีบของใหญ่ใบหนึ่งที่วางอยู่ในกอง กล่าวว่า “นั่นแหละ หีบของ ๆ ผม”

ทันใดนั้น นายร้อยเอกแอนดรูหันมาดูข้าพเจ้าด้วยแววตาอันพิศวงแล้วกล่าวว่า “เอ๊ะ ท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดี”

“เปล่าครับ” ข้าพเจ้าตอบ “ผมเรียนบ้างเล็กน้อยเมื่ออยู่ที่บ้านและมาตามทางในเรือ”

“ดีจัง” นายร้อยเอก แอนดรู ตอบ.

เขาสั่งให้กุลีคนหนึ่งขนของไปบรรทุกรถกุดังใหญ่ บอกตำบลที่อยู่ แล้วก็พาข้าพเจ้ามาที่หน้าสถานี มีรถยนตร์เก๋งงามคันหนึ่งคนขับแต่งเครื่องแบบเรียบร้อยจอดอยู่ตรงหน้าเรา.

“นี่รถของเรา” เขากล่าว.

นายร้อยเอก แอนดรู เป็นคนที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์ห้าสิบ รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้านเล็กน้อย ผิวพรรณไม่สดชื่น ตาแดงปรือคล้ายเป็นคนเสพสุราจัด แต่เป็นคนมีอัธยาศัยดี ในขณะที่นั่งมาในรถซึ่งขับเลียบไปตามชายทะเลนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่านายร้อยเอก แอนดรู พยายามสังเกตดูข้าพเจ้าด้วยความสนใจ.

“เธอรู้ไหมว่า ฉันไม่เคยเป็นครูและไม่เคยรับนักเรียนที่ไหนเลยในชีวิต” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงอย่างคนที่สนิทสนม “เธอจะเป็นนักเรียนคนแรกที่ฉันรับและอาจเป็นคนสุดท้าย”

“ทำไม?” ข้าพเจ้าถาม.

“ในระหว่างสงคราม ฉันได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในเมืองไทยสองเดือน ได้รับความอุปถัมภ์ที่นั่นอย่างดีมาก และรู้สึกว่าแม้เมืองไทยจะยังไม่เป็นเมืองที่เจริญอย่างบ้านเราแต่ก็ยังสงบ เป็นสุข คนไทยช่วยเหลือฉันมากในสิ่งต่างๆ ฉันรู้จักคนใหญ่ๆ โตๆ ที่นั่นหลายคน บิดาเธอฉันก็รู้จัก ฉันได้รับความสุขมากที่เมืองไทย และต้องการจะทำอะไรบางอย่างตอบแทนจึงได้รับเธอมาไว้”

“ทำไมถึงรู้ว่าผมมาเล่าครับ?”

“อ้าว ! ก็เมื่อหน้าร้อนปีก่อน ฉันเชิญท่านราชทูตของเธอมาฮอลลีเดย์ที่นี่สัปดาห์หนึ่ง” เขาตอบแล้วจุดบุหรี่สูบ “เราพูดถึงเรื่องเมืองไทยกันแทบทุกวัน ท่านราชทูตบอกฉันว่าจะมีนักเรียนมาถึงใหม่อีกคนหนึ่ง ฉันก็ขอให้ท่านส่งมาให้ฉัน”

“แหม ผมเคราะห์ดีจัง” ข้าพเจ้ากล่าวอย่างชื่นชม.

“ฉันยินดีมากที่เธอรู้สึกเช่นนั้น” นายร้อยเอกแอนดรูตอบ “เราจะพยายามทำให้เธอเป็นสุขสบายที่สุดที่เราจะทำได้ มิสซิส แอนดรู จะดูแลเธอเป็นอันดี ที่บ้านเรามีลูกสาวเล็กคนหนึ่งอายุ ๑๑ ปี ชื่อสเตเฟนี เป็นเด็กที่สวยช่างพูด ถ้าเธอเห็นเธอคงชอบ”

“แน่เทียวครับ” ข้าพเจ้าตอบรับรอง.

เบ็กสฮิลล์-ออน-ซีย์ เป็นที่เงียบ สะอาด ตระการตา ระหว่างเวลาที่เราแล่นรถเลียบฝั่งทะเลไปช้าๆ นั้น อากาศช่างสดชื่นเย็นสบายเสียนี่กะไร ข้างๆ ฝั่งมีลูกคลื่นซัดมาโดนอยู่เป็นระยะ ทำให้แตกเป็นฟองกระจาย แม้ว่าจะเป็นเวลาเที่ยงวันก็ดี แสงทินกรก็มิได้ร้อนจนทำให้เรารู้สึกไม่สบาย เราผ่านโรงมหรสพเล็กๆ สองสามโรง ผ่านภัตตาคารเซวิลล์ แล้วเลี้ยวเข้าถนนมิดเดิลเสกส์ สักครู่ก็จอดอยู่หน้าบ้านอันงามสองชั้นหลังหนึ่ง ซึ่งมีพรรณไม้เลื้อยอยู่เขียวงามตามกำแพง บ้านนี้แต่เดิมเป็นพระตำหนักประทับแรมในฤดูร้อนของพระนางวิกตอเรียแห่งกรุงอังกฤษ พระองค์ทรงขนานนามบ้านนี้ว่า ‘กะท่อมนางพญา’ (The Queen’s Cottage) ทันใดนั้นก็มีคนใช้แต่งตัวเรียบร้อยเปิดประตูบ้านออกมารับ.

“ถอดเสื้อหมวกไว้ที่นี่ซี” นายร้อยเอกแอนดรูบอกเมื่อเราเข้ามาในห้องเล็กหน้าบ้าน ข้าพเจ้าถอดเสื้อคลุมชั้นนอกและหมวกออกแขวนแล้วก็ยืนลังเลอยู่โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร.

“เอลซี! เอลซี!” นายร้อยเอก แอนดรู เรียกภรรยา.

“อะไรจ้ะ เบอร์ตี” เป็นเสียงตอบมาจากห้องชั้นบน.

“เพื่อนของเรามาถึงแล้ว” บุรุษผู้เป็นสามีว่า “ลงมาซี”

ทันใดนั้น สตรีผู้ที่ถูกเรียกก็วิ่งลงบันไดมา หล่อนเป็นคนมีอายุไม่น้อยกว่าสามี รูปร่างอ้วนใหญ่ แต่มีดวงหน้าอันเต็มไปด้วยแววแห่งความกรุณา หล่อนตรงเข้ามายื่นมือให้ข้าพเจ้าจับ ข้าพเจ้าโน้มศีรษะลงคำนับแล้วจับมือหล่อนสั่นค่อยๆ.

“จับมือค่อยๆ อย่างนั้นไม่ถูก มิสเตอร์ ‘วิสุตรา’” มิสซิสแอนดรูเตือนด้วยดวงหน้าอันยิ้มแย้ม “ต้องจับแรงๆ แสดงให้ฉันเห็นว่า เธอยินดีที่จะพบฉันมาก จับเสียใหม่”

ข้าพเจ้ายอมปฏิบัติตามโดยดี ซึ่งเป็นที่พอใจของสตรีผู้มีใจกรุณาคนนี้มาก.

“สเตเฟนี ไปไหน?” นายร้อยเอก แอนดรูถาม.

“ประเดี๋ยวลงมา” หล่อนตอบ “เราเข้าไปนั่งคุยกันในห้องก่อนเถิด”

ครั้นแล้วเจ้าของบ้านทั้งสองก็พาข้าพเจ้าเข้าไปในห้องรับแขกอันประดับประดาไว้หรูหรา ตามกำแพงมีฉายาลักษณ์พระนางเจ้าวิกตอเรีย และพระราชารัชชกาลปรัตยุบันของประเทศอังกฤษกับภาพอื่นๆ เครื่องแต่งบ้าน เช่น เก้าอี้นวม โต๊ะมาฮอกกานี ตู้หนังสือ ฯลฯ แลดูสะอาดงามยิ่งนัก.

“วันนี้เหนื่อยไหมจ้ะ?” มิสซิสแอนดรูถาม.

“ไม่เหนื่อยครับ เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากนั่งรถไฟมาสองชั่วโมงเศษเท่านั้น” ข้าพเจ้าตอบ.

“เราตั้งใจจะพาเธอไปขับรถเที่ยวเวลาเย็นๆ จะไปจนถึง อิสต์บอร์น แล้วไปรับประทานน้ำชาที่นั่น” หล่อนกล่าว “ชอบไหม เราจะเอาสเตเฟนีไปด้วย”

“ไปซีครับ” ข้าพเจ้าตอบรับ “จะสนุกจังทีเดียว ผมรู้”

“เอ๊ะ นี่เธอพูดภาษาอังกฤษดีถึงเพียงนี้เทียวรึ?” มิสซิสแอนดรูพูดด้วยความแปลกใจ “จะต้องมาเรียนทำไมกันนี่ นี่ --- ชื่อเธอเขียนว่า ‘วิสุตรา’ เราจะเรียกเธอว่าอย่างไร?”

“ผมชื่อวิสูตร์” ข้าพเจ้าตอบ.

“งั้นเราจะเรียกเธออย่างนั้นนะ?”

“ครับ”

ทันใดนั้นมีเสียงคนเคาะประตูที่ปิดอยู่ แล้วเป็นเสียงเด็กเรียกเข้ามาว่า: “แม่ แม่จ๋า!”

“เข้ามาซีจ๊ะ สเตเฟนี” มิสซิสแอนดรูกล่าวด้วยน้ำเสียงอันอ่อนหวานไพเราะ.

ประตูค่อยๆ เผยออก แล้วเด็กหญิงน้อยผู้ที่ได้กล่าวนามมาแล้วก็วิ่งเข้ามายืนอยู่ตรงหน้าข้าพเจ้า.

“นี่ลูกคนเดียวของเรา มิสเตอร์วิสูตร์” มิสซิสแอนดรูแนะนำ “นี่เพื่อนของหนูที่แม่ได้พูดไว้ สเตเฟนี”

ข้าพเจ้าจับมือสเตเฟนี แล้วก็ตกตะลึงด้วยความงาม ความน่าเอ็นดูของเด็กน้อยนี้ พูดกันตามจริง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสเตเฟนีเป็นเด็กหญิงที่สวยและน่าเอ็นดูที่สุดที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาในชีวิต หล่อนมีอายุได้ ๑๑ ปี รูปร่างเล็กๆ ดวงพักตร์ขาวนวลเป็นรูปไข่ ดวงเนตรสีน้ำเงินคมเป็นประกาย แก้มแดง ปากนิด จมูกหน่อย แต่สิ่งที่สเตเฟนีงามจนเลิศเหลือคาดนั้น คือผมสีทองอันหยิกเป็นระยะยาวไปจนถึงสะเอว ในระหว่างที่จับมืออยู่นั้นหล่อนจ้องดูหน้าข้าพเจ้าด้วยความพิศวงน้อยๆ เพราะสำหรับสเตเฟนี ข้าพเจ้าเป็นคนที่แปลก ผิวพรรณ ดวงหน้า และกิริยาผิดกับคนอื่นๆ ที่หล่อนได้พบเห็นมา แต่ความพิศวงของเด็กนี้หาใช่เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความแตกร้าวรังเกียจไม่ ความพิศวงของสเตเฟนีเป็นชะนวนอันวิเศษซึ่งได้นำเอาความรัก ความสนิทสนม ความชอบพอมาสู่เราทั้งสองในภายหลังเมื่ออยู่ร่วมกันไป พอจับมือกับข้าพเจ้าเสร็จแล้ว สเตเฟนีก็ไปนั่งอยู่บนแขนเก้าอี้ของมิสซิสแอนดรู เอาแขนโอบสะเอวมารดาหล่อนไว้.

“เรากินเข้ากันเวลาบ่ายโมง” มิสซิสแอนดรูบอกข้าพเจ้า “เธอขึ้นไปล้างมือ ล้างหน้าล้างตาเสียในห้องบนก่อน เราได้จัดห้องสวยที่สุดไว้สำหรับเธอแล้ว” หันไปทางนายร้อยเอก แอนดรู หล่อนกล่าวต่อไป “เบอร์ตี พามิสเตอร์ วิสูตร์ ไปห้องเขาทีนะจ๊ะ”

“ได้ซี เอลซี” สามีหล่อนตอบรับ แล้วก็พาข้าพเจ้าออกจากห้องรับแขกขึ้นไปชั้นบน.

นายร้อยเอก แอนดรู พาข้าพเจ้าไปดูห้องน้ำแล้วก็ไปที่ห้องนอนอันแต่งไว้หรู แม้ว่าค่อนข้างจะแคบเพราะตัวบ้านเล็กอยู่แล้วก็ดูสบาย เขาอธิบายให้ข้าพเจ้าทราบถึงการใช้ตู้เสื้อผ้า เตียงและสิ่งต่างๆ ในห้อง แล้วจึงได้พาเดิรไปทางฝาผนังด้านหนึ่ง ชี้ให้ดูตู้เล็กที่ติดไว้กับผนังมีรูปร่างคล้ายหีบ มีรูปนกตัวหนึ่งเกาะอยู่ข้างบนฝา.

“นี่เป็นหีบสำหรับเธอเก็บเงินส่วนตัว” นายร้อยเอก แอนดรู ชี้แจง “เธอกดดุมอันนี้ นกนั้นจะชะโงกหน้ามาหาแล้วร้อง ฝาหีบจะเปิด เมื่อเธอเอาเงินไว้แล้วพอกดดุมอีกทีหนึ่ง นกจะร้องเหมือนกัน ฝาหีบก็จะปิด”

เขาทำให้ข้าพเจ้าดู แล้วเราทั้งคู่ก็ต่างหวัวเราะกัน เพราะนกนั้นร้องมีเสียงขันมาก.

พอล้างหน้าแต่งตัวเสร็จ เจนกิ้นคนใช้ที่ไปเปิดประตูให้เราเข้าเมื่อเรามาถึง กะท่อมนางพญา เมื่อสักครู่ ได้เข้ามาในห้องด้วยกิริยาอันสุภาพ กล่าวว่า “อาหารเรียบร้อยแล้วครับ มิสซิสแอนดรูให้ผมมาเชิญลงไป” ข้าพเจ้าเดิรลงบันไดตามคนใช้ไปที่ห้องอาหาร ซึ่งเวลานั้นมีท่านเจ้าของบ้านทั้งสองและบุตรีรออยู่พร้อมแล้ว ข้าพเจ้าแสดงความเสียใจที่ลงมาช้า อ้างว่าแต่งตัวช้าและไม่ค่อยถูกเรื่อง.

“ไม่ต้องวิตกดอก มิสเตอร์ วิสูตร์” มิสซิสแอนดรูพูด “เราจะสอนเธอให้แต่งตัวเร็วได้ในสองสามวันนี้แหละ”

นายร้อยเอกแอนดรูชี้เก้าอี้ที่โต๊ะอาหารให้ข้าพเจ้านั่ง แต่พอได้เห็นโต๊ะ ข้าพเจ้าก็ตกตะลึงเสียแล้ว เพราะโต๊ะนั้นทำด้วยไม้ดำขัดและทาน้ำมันเสียเป็นเงาวับ ผ้าปูโต๊ะก็ไม่มี

“เราไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะกันหรือครับ?” ข้าพเจ้าถาม.

“นี่เป็นของสมัยใหม่” มิสซิสแอนดรูตอบ “เวลาเธอรับประทานต้องระวังอย่าให้อะไรหยดหรือหกได้ ถ้าหกจะต้องเสียหกเพ็นทุกครั้ง สามีของฉันต้องเสียเกือบปอนด์ทุกเดือน”

ข้าพเจ้านั่งตรงกับสเตเฟนี มีนายร้อยเอกแอนดรูอยู่ข้างซ้าย มิสซิสแอนดรูทางขวา พอรับประทานกันไปได้สักครู่ ข้าพเจ้าก็ทำน้ำหกทั้งถ้วยแก้ว เจ้าของบ้านทั้งสามเห็นสนุกฮากันตึงใหญ่

“นี่เธอจะต้องเสียเท่าไร วิสูตร์?” นายร้อยเอกแอนดรูถาม.

“ไม่เป็นไร” ภรรยาของเขาแก้แทนข้าพเจ้า “เรียกเจนกิ้นมาเช็ด แอ๊กซีเด้นต้องมีบ้าง มิสเตอร์วิสูตร์ เราจะยกโทษให้เธอครั้งนี้”

รับประทานแล้วเรานั่งคุยกันอยู่ในบ้านสักครู่ก็นั่งรถขับไปเที่ยวกันตามถนนต่างๆ มิสซิสแอนดรูคอยชี้ให้ข้าพเจ้าดูสถานที่สำคัญที่เราผ่าน ส่วนหนูสเตเฟนีก็คอยถามบิดาของหล่อนอยู่เสมอว่าเมื่อไรเราจะถึงอิสต์บอร์น.

“เมื่อเธอได้มาอยู่กับเราแล้ว” มิสซิสแอนดรูพูดขึ้นขณะเมื่อรถกำลังแล่น “เธอควรจะต้องรู้จักว่าเราเป็นใครเสียก่อน เบอร์ตีกับฉันแต่งงานกันเมื่อแก่ แต่เรารักกันมาตั้งแต่เรายังเด็กๆ แล้วเกิดอุปสรรคบางอย่างซึ่งทำให้ต้องจากกันไปเสียหลายสิบปี เราแต่งงานกันระหว่างสงครามและระหว่างที่เราอยู่อินเดีย สเตเฟนีเกิดที่อินเดียในระหว่างสงครามเหมือนกัน เบอร์ตีรบอยู่ที่เมืองฝรั่งเศสสามปี ถูกปืนสามครั้ง ในที่สุดก็ถูกปลดเป็นกองหนุน แล้วไปอยู่สยามสองปี ชอบเมืองไทยมาก เราพึ่งกลับมายุโรปเมื่อสองปีนี่เองอยู่ด้วยกันที่ลอนดอนพักหนึ่ง รู้สึกเบื่อเลยมาซื้อบ้านที่นี่ (เมืองเบ็กสฮิลล์).

“การที่เรารับเธอมาอยู่ด้วยก็เพราะอยากจะรู้จักคนไทย” หล่อนกล่าวต่อด้วยน้ำเสียงอันกรุณา “อีกประการหนึ่งเราออกรู้สึกหงอยไม่มีเด็กผู้ชายอยู่ด้วย ต่อไปถ้าเธอชอบเรา เราจะต้องขอให้เธอเรียกเบอร์ตีว่า ‘แด็ดดี’ (พ่อ) เรียกฉันว่า ‘แม่’ จะอยู่ด้วยกันสนิทสนมเป็นสุขมากกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้”

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ท่านอาจเล็งเห็นได้กะมังว่าข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีในคำพูดไพเราะจับใจของมิสซิสแอนดรูนี้เพียงไร เวลานั้นข้าพเจ้าดีใจอย่างเหลือที่จะแสดงความขอบใจเป็นคำพูดให้มิสซิสแอนดรูเข้าใจได้ ข้าพเจ้า--จะเป็นบุตรชายของคนทั้งสองที่มีน้ำใจอันบริสุทธิ์น่ารัก ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนอยู่ในฝัน ไม่เชื่อหูตนเองว่าสิ่งใดที่ได้ยินมาแล้วเป็นความจริง อา! ท่านสหายที่รัก ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีความจริงอะไรในโลกที่บริสุทธิ์ มีค่าเท่าความจริงที่มิสซิสแอนดรูได้พูดกับข้าพเจ้ามาแล้ว นายร้อยเอกแอนดรูจะเป็นบิดาข้าพเจ้า มิสซิสแอนดรูจะเป็นมารดา สเตเฟนีจะเป็นน้องสาว จะมีสวรรค์ชั้นใดที่เป็นสุขสำหรับข้าพเจ้ายิ่งไปกว่าสวรรค์ชั้นนี้ละหรือ ในทันใดนั้นความหลังต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตของข้าพเจ้าในเมืองไทยเมื่อยังเป็นเด็กก็มาลอยเด่นอยู่ในความทรงจำ -- บ้านสามเสน -- ยายพร้อม -- แพเจ๊กตี๋ -- เด็กหญิงบุญเฮียง -- การพะนันกับพวกกุลีที่โรงสีหลังบ้าน -- บ้านบางจาก -- ลำจวน เมืองน้ำตาที่ข้าพเจ้าได้เคยอยู่มาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องส่งเสริมให้ความสุขเวลานี้-ความสุขที่ได้มาอยู่กับนายร้อยเอกและมิสซิสแอนดรู--เลิศขึ้นไปอีก เป็นข้อเปรียบเทียบระหว่างความทุกข์กับความสุข ความจริงและความฝัน.

นั่งรถมาได้ราวสองชั่วโมง ก็เข้าเขตต์เมืองอิสต์บอร์น ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และหรูครึกครื้นเมืองหนึ่งทางภาคใต้ของเกาะอังกฤษ เราหยุดที่ภัตตาคาร ‘แกรนด์’ เข้าไปล้างหน้าแต่งตัวแล้วก็ออกมารับประทานน้ำชาฟังดนตรีในห้องโถงใหญ่ซึ่งมีคนนั่งอยู่ล้นหลาม นั่งอยู่ที่นั่นจนห้านาฬิกาจึงนั่งรถกลับบ้าน.

คืนวันนั้น มิสซิสแอนดรู เข้ามาในห้องนอนข้าพเจ้า จัดแจงอะไรต่อมิอะไรเป็นพิเศษให้ข้าพเจ้าด้วยตนเอง หล่อนแนะนำให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ จะใช้สะบู่ล้างหน้า ยาสีฟันชะนิดใดจึงจะดี บอกเวลารับประทานอาหารที่บ้านและอื่นๆ พอได้เวลาก็ลาข้าพเจ้าไปนอน วาระนี้คืออวสานแห่งความบรมสุขวันแรกของข้าพเจ้าที่ ‘กะท่อมนางพญา’.

ยิ่งอยู่ที่ ‘กะท่อมนางพญา’ นาน ความสุขที่ข้าพเจ้าได้รับก็ยิ่งเจริญขึ้นอย่างไม่มีชั้นสิ้นสุด ข้าพเจ้าเรียกนายร้อยเอกแอนดรูว่า ‘แด็ดดี’ เรียกภรรยาเขาว่า ‘แม่’ สเตเฟนีเป็นน้องสาวคนเดียวของข้าพเจ้า ความกลมเกลียวระหว่างเราทั้งสี่ดำเนิรไปได้โดยราบรื่น ปราศจากข้อกินใจใดๆ ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ พยายามที่จะทำให้ข้าพเจ้าเป็นสุขสบาย ให้รู้สึกว่าบ้านที่เราอยู่ด้วยกันเป็นบ้านของข้าพเจ้าด้วย ส่วนข้าพเจ้าก็พยายามบำเพ็ญตนเป็นคนดีให้สมกับความดีความงามที่ได้รับ บางทีแม้จะรู้สึกหงอย-เพราะเบ็กสฮิลล์เป็นเมืองที่เงียบ-ข้าพเจ้าก็ได้เรียนไว้แล้วที่จะใช้ความเหงาหงอยให้เป็นประโยชน์ ไม่มีนาฑีใดที่ข้าพเจ้าไม่เป็นสุข เมืองนอกคือเมืองสวรรค์​! ข้าพเจ้าได้พบบ่อเงินบ่อทองเข้าแล้ว และได้มีโอกาสมาลิ้มรสสุคนธารและชุบตัว ถ้าข้าพเจ้าจะทำดีอะไรได้บ้างในภายหน้า ความดีความงามนั้นจะอยู่กับตระกูลแอนดรูที่ข้าพเจ้าได้ไปอยู่มาด้วยที่เมืองอังกฤษ.

เนื่องจากความสุขนั้น ชีวิตได้สอนให้ข้าพเจ้านึกถึงทุกข์สุขของผู้อื่น ไม่นึกถึงแต่ตัวคนเดียว สอนให้รู้จักความรักที่แท้จริง ให้ลืมความขมขื่นต่างๆ ที่ได้เป็นมาแล้ว เวรจงระงับด้วยเวร!

ข้าพเจ้าอยู่ที่ ‘กะท่อม่นางพญา’ อย่างชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ไม่มีอะไรที่เป็นไทยเสียเลยนอกจากตัวข้าพเจ้า เมื่อมีนิสสัยอ่อนดัดง่ายและเมื่อการดัดนั้นเป็นสิ่งชอบ ไม่ช้าข้าพเจ้าก็มีกิริยาอัธยาศัยดีคนหนึ่ง จะเข้ากับใครก็ไม่เขิน ตลอดเวลาปีเศษที่อยู่และท่องเที่ยวกับนายร้อยเอกและมิสซิสแอนดรู ข้าพเจ้าไม่ได้พบคนไทยและไม่ได้พูดภาษาไทยแม้แต่คำเดียว.

ถ้าจะเล่าเรื่องความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าที่ ‘กะท่อมนางพญา’ แล้ว จะไม่มีสิ้นสุดได้เลย ล้วนเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความหวาน เป็นเรื่องเมืองสวรรค์ ทุกเช้าเย็นมีคนมาดูแลทุกข์สุข มีคนเอาใจประคบประหงมราวกับข้าพเจ้าเป็นเพ็ชรอันมีค่าชะนิดหนึ่ง เช้าวันอาทิตย์เขาพาข้าพเจ้าไปวัด กลับจากวัดก็ไปขี่ม้าเล่นกับ ‘แด็ดดี’ ตามชายทะเลหรือบางทีก็ไปตกปลากับ ‘แม่’ และสเตเฟนี ถ้า ‘แม่’ อยากจะไปเที่ยว.

แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ใช่คนศาสนาคริสเตียนก็ไม่เคยรู้สึกรังเกียจในการไปวัดเนืองๆ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเห็นความจริงของชีวิตบทหนึ่งที่ว่า: “จงเป็นคนใจกว้าง เล็งเห็นทุกข์สุขของผู้อื่น ถ้าทำได้เช่นนั้นท่านจะเป็นสุข” เทศน์ที่ข้าพเจ้าฟังทุกอาทิตย์ที่วัดเซนต์มารีย์ ซึ่งหลวงพ่ออังเด๎ร เมอร์นาลิสต์ เป็นผู้เทศนา ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าศาสนาทุกชะนิดที่ไม่ใช่ป่าดงมีค่าและความหมายเหมือนกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีทางดำเนิรไปคนละอย่าง ปลายทางก็ลงรอยกัน ศาสนาต้องการจะช่วยให้ชีวิตอยู่ได้โดยได้รับรางวัลเท่าที่เราได้ทำความดีไว้ ดังนั้นศาสนาคริสเตียน ศาสนาของ ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ และศาสนาพุทธ ศาสนาของข้าพเจ้า จะมีความผิดแผกอะไรกันเล่า--?

นอกจากความสุขอันใหญ่ยิ่งและความคิดอันดีนี้แล้ว ตระกูลแอนดรูยังให้ประโยชน์อันมีค่าสูงสุดแก่ข้าพเจ้าอีกอย่างหนึ่งด้วย กล่าวคือให้การศึกษาที่น้อยคนได้รับ การศึกษาในทางศิลปต่างๆ ของโลก มีอักษรศาสตร์ ดนตรี และตำนานแห่งชีวิต นายร้อยเอกแอนดรูเคยเป็นนักเรียนที่แฮโรว์ และมหาวิทยาลัยเคมบริดช แม้จะไม่เคยเป็นครู แต่เมื่อข้าพเจ้าเป็นศิษย์และเป็นลูกอยู่คนเดียว ก็สามารถที่จะเผยแผ่ความรู้ได้เต็มที่ ‘แด็ดดี’ สอนให้ข้าพเจ้ารู้จักนักอักษรศาสตร์ และนักดนตรีอันมีชื่อเสียงเยี่ยมที่สุดของโลก มี ตอลสตอย วอลเตอร์สก๊อต ดิ๊กเก็นส์ ไบรอน เชกเปียร์ เมนเดลสัน ชูเบอร์ต ฯลฯ และอื่นๆ สอนให้ข้าพเจ้าเข้าใจความมุ่งหมายในสิ่งต่างๆ ของผู้มีชื่อเหล่านี้ได้สร้างไว้ในพงศาวดารของโลก.

จนทุกวันนี้ แม้จะหลับตานึกถึงตระกูลแอนดรูนี้ครั้งไร ข้าพเจ้ายังรู้สึกว่ายังไม่เคยสนองคุณเขาได้เต็มที่ ความสุขและประโยชน์ที่เขาได้ให้ข้าพเจ้ามาแล้วนั้น ย่อมเหลือที่จะสนองคุณได้ไม่ว่าวิธีใด.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ