บทที่ ๑๐ ความวิโยค

คืนหนึ่งก่อนวันที่เลดีมอยราและมาเรียจะต้องกลับไปประจำหน้าที่ในกรุงลอนดอน ‘แด็ดดี’ จัดให้เราไปเต้นรำกันที่อาเล็กซานดาฮอลล์ในเมืองเฮสติงส์ มิสซิสแอนดรูไม่ยอมไปด้วยอ้างว่าตนแก่แล้ว แต่บังคับให้ ‘แด็ดดี’ และข้าพเจ้าพาเลดีมอยราและมาเรียไป คืนนั้นหนาวจัด เพราะเข้าฤดูหนาวแล้ว ภายนอกมีฝน และลมหนาวพัดมาไม่หยุดหย่อน ในระหว่างที่นั่งไปในรถเก๋งซึ่งปิดอยู่โดยรอบก็ยังคงรู้สึกเย็น เพราะจากเบ็กสฮิลล์ไปเป็นเวลาเกือบชั่วโมง.

อาเล็กซานดราฮอลล์ สถานที่เต้นรำซึ่งได้ชื่อว่าหรูที่สุดในเฮสติงส์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนวิกตอเรีย พอเราลงจากรถยนตร์ก็มีเด็กแต่งตัวเครื่องแบบชะนิดหนึ่งมาต้อนรับให้เข้าไปข้างใน ภายในสถานที่นี้ประดับไว้หรู มีคนอยู่ราวสามสิบคน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากพอใช้สำหรับเมืองบ้านนอกของประเทศอังกฤษ แม้อาหารจะเลวและดนตรีจะกร่อย ข้าพเจ้าก็รู้สึกสนุกอย่างที่สุด เพราะจะได้เต้นรำกับมาเรียและเลดีมอยรา.

“บอบบี้” เลดีมอยรากล่าวกับข้าพเจ้าในขณะที่เรากำลังเต้นรำกันอยู่ “เธอเป็นพวกหนังสือพิมพ์หรือจะกลับไปเมืองไทยไปเขียนเรื่อง ‘ละครแห่งชีวิต?”

ข้าพเจ้าสะดุ้ง เพราะคำถามชะนิดนั้นจากเลดีมอยราเป็นสิ่งที่ไม่ได้นึกฝัน.

“เอ๊ะ แปลกจริง” ข้าพเจ้าพูด “นี่ทำไมเธอจึงรู้เรื่อง‘ละครแห่งชีวิต ? มาเรียบอกเธอหรือ?”

“ทำไม เธออายหรือ?” เลดีมอยราย้อนถาม “ความรักที่บริสุทธิ์ไม่เป็นสิ่งที่ควรอาย”

“ฉันไม่อายดอก มอยรา” ข้าพเจ้าตอบ “แต่ฉันแปลกใจว่าทำไมเธอจึงรู้”

“ฉันเชื่อว่าฉันเป็นเพื่อนดีที่สุดคนเดียวในโลกของมาเรีย” หล่อนตอบ “เพราะฉะนั้นมาเรียจึงได้บอกฉันหมดถึงเรื่องเธอ บอบบี้ เธอต้องเข้าใจนะจ๊ะว่าฉันก็เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเธอเหมือนกัน”

“เลดีมอยรา” ข้าพเจ้าตอบด้วยความปลาบปลื้ม “ฉันไม่เคยมีความมั่นใจในสิ่งใดยิ่งไปกว่าความมั่นใจในความบริสุทธิ์ของเธอ ฉันรู้ว่าเธอเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉันคนหนึ่ง และเชื่อว่าเธอจะเป็นเช่นนั้นเสมอไปถ้าฉันเป็นเด็กดีพอ”

“ถ้าเธอเป็นเด็กดี--“ หล่อนสวนคำแล้วยิ้ม “ตั้งแต่วันแรกที่ฉันรู้จักเธอจนวันนี้ เธอไม่เคยเป็นอะไรอื่นเลยนอกจากเป็นเด็กดี บอบบี้”

พอเลดีมอยราพูดจบ ดนตรีก็จบเพลงที่หนึ่ง เสียงคนตบมือให้บรรเลงอีกเพลงหนึ่งต่อไป.

“ยังไง บอบบี้” เลดีมอยราถาม “เธอจะเป็นพวกหนังสือพิมพ์หรือจะเขียนเรื่อง ละครแห่งชีวิต ?”

“ฉันยังไม่รู้ ฉันไม่รู้ว่าจะตกลงใจอย่างไร เธอแนะนำฉันซี มอยรา ฉันจะทำอย่างไรดี?”

“ฉันขอแนะนำให้เธอกลับไปเมืองไทยไปเขียนเรื่องละครแห่งชีวิตจะง่ายและสบายกว่ามาก” หล่อนกล่าวอย่างฉาดฉาน “ชีวิตของพวกหนังสือพิมพ์นั้นลำบากและมีอันตราย ฉันกลัวว่าเธอจะทนความตรากตรำไม่ไหว”

“แหม มอยรา เธอนึกว่าฉันเป็นคนอ่อนแอถึงเพียงนั้นเทียวหรือ?”

“เปล่า บอบบี้” หล่อนตอบ “อีกประการหนึ่ง เธอกับมาเรียก็พึ่งรู้จักกันได้เพียงอาทิตย์เดียว ทั้งเธอทั้งสองก็ยังเป็นเด็กอยู่มาก”

“เรารักกันมากนะ มอยรา” ข้าพเจ้าค้านเป็นเชิงให้หล่อนเห็นใจ “แม้ว่าจะรู้จักกันได้เพียงอาทิตย์เดียวก็จริง เราได้เป็นสุขกันมาตั้งแต่วันแรกที่พบกัน เธอเข้าใจไม่ใช่หรือ, มอยรา?”

“เธอนึกหรือเปล่าว่าเธอไม่มีสิทธิ์ที่จะรักมาเรีย?” หล่อนถาม.

“ฉันอาจไม่มีสิทธิ์ แต่ฉันเป็นคน - ไม่ใช่พระเจ้า เธอนึกว่าฉันจะช่วยตัวฉันเองได้หรือ?” ข้าพเจ้าย้อนถาม “เมื่อมาเรียเป็นเด็กดีเสียจนเลิศเช่นที่ฉันได้เคยรู้จักในระยะเจ็ดวันมานี้แล้ว ฉันห้ามความรักไม่ไหว”

“เธอพูดถูก บอบบี้ แต่ถ้าเธอยังคงต้องการคำแนะนำของฉันอยู่ ฉันขอแนะนำให้เธอกลับไปเขียนเรื่อง ละครแห่งชีวิตในเมืองไทย”

“เธอกับมาเรียอยู่บ้านเดียวกันในลอนดอนไม่ใช่หรือ มอยรา?”

“ถูกแล้ว เราอยู่บ้านเดียวกัน”

“ฉันไปหาเธอที่นั่นบ้างได้ไหม?”

เลดีมอยรานิ่งอยู่สักครู่แล้วจึงตอบว่า “ถ้าจะคิดถึงความสุขของเธอและของมาเรียแล้ว พูดตามจริง ฉันไม่อยากให้เธอพบเราอีกที่ลอนดอนหรือที่ไหน”

“ทำไม?” ข้าพเจ้าถามโดยเสียงอันระคนไปด้วยความโกรธ.

“ฉันเคยมีญาติอยู่คนหนึ่งซึ่งแต่งงานไปกับเจ้าชายในอินเดียเมื่อสี่ปีที่แล้วมา หล่อนฆ่าตัวตายเสียเมื่อหกเดือนเศษมานี้เอง ก่อนตายสองสามอาทิตย์ได้เขียนจดหมายเล่าทุกข์สุขมาให้ฉะบับหนึ่ง แต่-โอ บอบบี้-ฉันเล่าเรื่องจดหมายให้เธอฟังไม่ไหวมันเศร้าเหลือเกิน”

ดนตรีจบลงเป็นคำรบสอง เราเดิรไปนั่งที่โต๊ะมุมห้องด้านหนึ่งซึ่งมีนายร้อยเอกแอนดรูและมาเรียนั่งรออยู่ก่อนแล้ว ข้าพเจ้านั่งเฉย รู้สึกมึน ภายในโสตประสาทยังคงได้ยินเสียงเลดีมอยราพูดอยู่แว่วๆ ว่า “เพื่อความสุขของเธอและมาเรีย ฉันไม่อยากให้เธอพบเราอีกที่ลอนดอนหรือที่ไหน………ฉันมีญาติแต่งงานไปกับเจ้าชายคนหนึ่งในอินเดีย หล่อนฆ่าตัวตายเสียเมื่อหกเดือนมานี่เอง………”

อนิจจา ! โลกละคร ! ทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก !

รุ่งขึ้นเช้า แม่ชาวนครหลวงทั้งสองก็เริ่มจัดของเตรียมตัวจะออกเดิรทางไปลอนดอน ส่วนข้าพเจ้าไม่แยแสด้วยการนี้กับเขาเลย มิได้คิดที่จะช่วยเหลือในสิ่งใดทั้งหมด ก่อนรับประทานอาหารเช้า ข้าพเจ้าลงไปนั่งรออยู่ในห้องข้างล่าง อ่านหนังสือพิมพ์ไปพลาง แต่ก็หาเข้าใจไม่ว่าหนังสือพิมพ์นั้นมีข่าวอะไรบ้าง

“คุณต้องการให้ผมเปิดหน้าต่างบานนี้ไหมครับ?” เจนกิ้นส์ถามข้าพเจ้า “วันนี้อากาศดี”

“เปิดซี เจนกิ้นส์” ข้าพเจ้าตอบ.

แม้ว่าอากาศภายนอกจะสดชื่นสักเพียงไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังรู้สึกว่าอากาศนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าสลด ความว้าเหว่ และความลังเลใจ.

“เพื่อความสุขของเธอและมาเรีย ฉันไม่อยากให้เธอพบเราอีกที่ลอนดอนหรือที่ไหน......ฉันมีญาติแต่งงานกับเจ้าชายในอินเดียไปคนหนึ่ง หล่อนฆ่าตัวตายเสียเมื่อหกเดือนมานี้......” ถ้อยคำเหล่านี้ยังคงแว่วอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้ามิรู้หาย.

พอเจนกิ้นส์สั่นระฆังรับประทานอาหารได้สักครู่ พวกในบ้านก็ลงมาพร้อมหน้ากัน ‘แด็ดดี’ และ ‘แม่’ ดูสดชื่นตามเคย.

“สงสารบอบบี้จัง” ‘แม่’ พูด “เพื่อนๆ ของเธอจะไปเสียหมดแล้ว แต่ไม่เป็นไร ลูกรัก พอเธอไปอยู่ลอนดอนเธอก็ไปหาเขาได้”

ข้าพเจ้ายิ้ม แล้วชำเลืองดูเลดีมอยรา แต่หล่อนหลบตาข้าพเจ้าเสีย แล้วเดิรไปหานายร้อยเอกแอนดรู

พอรับประทานอาหารเสร็จ มาเรียเกรย์แสดงความเสียใจแล้วเดิรออกจากห้องอ้างว่าจะต้องรีบขึ้นไปจัดของต่อไปอีก.

“บอบบี้” เลดีมอยราบอกข้าพเจ้า “เธอควรจะขึ้นไปช่วยมาเรียจัดของ ฉันคิดว่าเขาต้องการเธอ”

“ได้ซี มอยรา งั้นเดี๋ยวฉันจะลงมาใหม่”

ข้าพเจ้าขึ้นบันไดไปยืนเคาะประตูอยู่ที่หน้าห้องมาเรีย สักครู่หล่อนก็ร้องตอบมาว่า “เข้ามาเถิด” ข้าพเจ้าเปิดประตูเข้าไป เห็นหล่อนนั่งหันหลังมาทางประตู ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสงสัยว่าคงมีอะไรเกิดขึ้นแล้ว เพราะหล่อนมิได้เหลียวมาดูว่าใครจะเข้ามาหา ข้าพเจ้าค่อยๆ เดิรเข้าไป พอถึงที่เอามือจับหัวไหล่หล่อนแล้วถามว่า “มาเรีย เธอไม่สบายหรือ?”

ทันใดนั้นหล่อนก็เหลียวหน้ามาหาข้าพเจ้า…หน้าอันเต็มไปด้วยความเศร้าสลดและดวงเนตรอันหล่อไปด้วยน้ำตา ในชั่วพริบตาเดียวนั้นข้าพเจ้ารู้สึกขึ้นมาทันทีว่ามาเรียยังคงรักข้าพเจ้าอยู่อย่างไม่มีความคลาดเคลื่อนใดๆ ข้าพเจ้าก้มลงจุมพิตริมฝีปากอันแดงงามซึ่งหล่อนมิได้ขัดขืนแม้แต่น้อย.

“เธอไปพบเราอีกที่ลอนดอนนะ บอบบี้” หล่อนกล่าวด้วยเสียงอันสะอื้นน้อยๆ “มอยราบอกที่อยู่ของเราให้เธอแล้วไม่ใช่หรือ?”

“อะไร มาเรีย!” ข้าพเจ้าเปล่งเสียงด้วยความแปลกใจ “มอยราไม่ยอมบอกที่อยู่ของเธอที่ลอนดอน”

“เอ๊ะ ทำไม?” หล่อนถาม.

“อ้าว นี่มอยราไม่ได้บอกเธอถึงเรื่องที่เขาพูดกับฉันในระหว่างที่เราเต้นรำกันเมื่อคืนนี้ดอกหรือ?”

“เปล่า มอยราไม่เคยพูดกับฉันถึงเธอมากกว่าจะว่าเธอเป็นเด็กดีที่สุดคนหนึ่งเท่านั้น”

“แล้วเธอเล่าให้มอยราฟังถึงความเป็นไประหว่างเราทั้งสอง.........?”

“แน่ละซีจ๊ะ บอบบี้ ก็มอยราชอบเธอและเป็นเพื่อนคู่ชีวิตของฉัน”

“เขาไม่อยากให้ฉันไปพบเธออีกที่ลอนดอนหรือที่ไหน.........”

“เอ๊ะ มอยรานี่แปลกจริง” หล่อนกล่าว “แต่เธอยังรักฉันอยู่ไม่ใช่หรือ บอบบี้ เราอยู่กันที่ ‘แฟล็ต’ ชั้นที่ ๒ นัมเบอร์ ๓๑๔ ปิกกาดิลี เธอไปหาเวลาบ่ายสามโมงหรือสี่โมงซีถ้าเธอไป เพราะเป็นเวลาที่มอยราไม่ค่อยอยู่”

“ได้ซี มาเรีย” ข้าพเจ้ารับ “ฉันจะไปหาเธอที่นั่น ‘แฟล็ต’ ชั้นที่ ๒ นัมเบอร์ ๓๑๔ ปิกกาดิลี”

“จดใส่สมุดของเธอไว้ซี ยอดรัก” หล่อนว่า “ฉันไม่ต้องการให้เธอลืม แต่ฉันก็จะเขียนจดหมายมาให้เธอเสมอเหมือนกัน”

ข้าพเจ้าควักกะเป๋าหยิบสมุดขึ้นจด ในที่สุดข้าพเจ้าบอกหล่อนว่า “มาเรีย ฉันขอบอกอะไรเธอสักนิด การที่เราได้อยู่ด้วยกันสนุกสบายรักใคร่กันมาในระหว่างสองสามวันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องจริงจังพอที่จะบังคับให้เธอซื่อตรงต่อฉันด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ในระหว่างที่เธอจากที่นี่ไป ถ้าเธอพบผู้ชายที่ดีเขามาชอบเธอแล้ว ฉันขอให้เธออย่านึกถึงฉันเป็นอันขาด อย่านึกว่าฉันกีดทางแห่งความสุขของเธอเป็นอันขาด ฉันรักเธอและฉันต้องการให้เธอเป็นสุขมากที่สุดที่จะเป็นไปได้ ฉันเป็นคนจน ต่างชาติกับเธอ และไม่มีชีวิตที่ราบรื่นอันจะมองไปในอนาคตได้”

“โอ บอบบี้ มอยราพูดถูก” มาเรียออกอุทานอย่างยิ้มละไม “มอยราบอกฉันว่าเธอเป็นเด็กดีที่สุดในโลก คิดถึงแต่ความสุขของคนอื่น เธอทำให้ฉันรักเธออย่างแน่นแฟ้นเสียแล้ว บอบบี้ โอ บอบบี้ ฉันเคราะห์ดีเหลือเกินที่ได้รู้จักและรักเธอ” หยุดอยู่สักครู่หล่อนกล่าวต่อไปว่า “งั้นสำหรับเธอก็เหมือนกันค่ะ ในระหว่างที่เราจากกัน ถ้าเธอพบผู้หญิงที่ดีที่ไหนก็จัดแจงรักและแต่งงานเขาเสียโดยเร็ว อย่านึกถึงฉันเลยเป็นอันขาด”

หล่อนกล่าวด้วยความขมขื่น ข้าพเจ้าอาจเห็นได้จากกิริยาและสีหน้าอันยิ้มของหล่อนในเวลานั้น.

“เธอไม่ได้หมายความอย่างนั้นไม่ใช่หรือ มาเรีย?” ข้าพเจ้าถาม.

“ฉันหมายความอย่างนั้น” หล่อนพูดอย่างจริงจัง สีหน้าอันยิ้มก็เปลี่ยนเป็นเฉย ค่อนข้างเศร้า “ฉันต้องการให้เธอเป็นสุข แต่เราจะพบกันอีกนี่บอบบี้ เราจะพบกันในลอนดอน”

พอใกล้เวลารถไฟจะออก เราก็จัดแจงขนของใส่รถอ๊อสตินเก๋งขับไปที่สถานี ในระหว่างที่มาตามทาง ข้าพเจ้าเฝ้านึกอยู่ว่า “มาเรียจะไปเสียเดี๋ยวนี้แล้ว....เมื่อไรเราจะได้พบกันอีก......” ข้าพเจ้าหวนนึกไปถึงวันแรกที่มอยราและมาเรียมาถึง เรามารับที่สถานี นั่งรถคันนี้ไปที่บ้าน รถแน่น ‘แด็ดดี’ กับสเตเฟนีต้องนั่งข้างหน้าเบียดกับคนขับ ‘แม่’ กับเลดีมอยรานั่งพะนักข้างหลัง มาเรียและข้าพเจ้านั่งที่นั่งเล็กตรงข้าม เช่นเดียวกับวันนี้ ผิดกันอยู่แต่ว่าวันนั้นรถแล่นตรงไปสถานที่อันบรมสุข ไป ‘กะท่อมนางพญา’ แต่วันนี้รถแล่นไปยังสถานที่อันว่างเปล่าสำหรับข้าพเจ้า มีแต่ความวิเวกวังเวงคะนึงถึง ความสุขกับความทุกข์ ความร่าเริงสนุกสบายกับความหงอยเหงาช่างอยู่ใกล้คลุกคลีเป็นมิตรสนิทเสียนี่กะไร!

“มอยรา” ข้าพเจ้าแสร้งพูด “เธอไปเสียแล้วฉันจะหงอยมากทีเดียว”

“บอบบี้” หล่อนถาม “เธอชอบฉันมากถึงเพียงนั้นเจียวหรือ?”

“ฉันชอบเธอมาก มอยรา เธอคุยสนุกและให้ความรู้ฉันมาก”

“เปล่า นี่เธอยังเด็กอยู่เธอจึงนึกว่าฉันอาจให้ความรู้เธอได้” หล่อนตอบ “แต่ตามธรรมดา ผู้ชายเรียนได้เร็วและมีโอกาสเรียนได้มากกว่าผู้หญิง พอเธอโตขึ้นอายุเท่าฉัน เธอจะมีความรู้ดีกว่าฉันหลายเท่านัก”

“ไม่จริงดอก มอยรา” ข้าพเจ้าค้าน “ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะมีโอกาสเรียนรู้ความเป็นไปต่างๆ ของโลกได้เท่าเธอ”

“มอยรา” มิสซิสแอนดรูกล่าวขึ้น “ฉันกลัวว่าเธอจะทำให้บอบบี้เป็นทุกข์ไปหลายวันเมื่อเธอไปแล้ว อย่างน้อยบอบบี้ก็คงจะรู้สึกหงอย”

“นี่ น้าจ๋า” เลดีมอยราถามย้อนขึ้น “น้านึกว่านั่นเป็นความผิดของฉันหรือ?” ยิ้มอย่างสัพยอกและกล่าวต่อไป “น้าลองถามมาเรียดูบ้างซี”

“เปล่า ‘แม่’” ข้าพเจ้าสอดขึ้น “ความหงอยเหงาสำหรับฉันเห็นจะไม่ร้ายแรงอะไรนัก ความจริงฉันออกจะชินกับชีวิตที่เงียบเสียดีแล้ว ยิ่งกว่านั้น ฉันยังได้เคยพยายามอยู่เสมอที่จะทำความเงียบเหงาของฉันให้มีประโยชน์มากที่สุดแต่-แน่ละ-ฉันจะคิดถึงมอยราและมาเรียมากทีเดียว”

“ตามเสียงพูด เธอก็ดูไม่โศกเศร้าอะไรมากนัก บอบบี้” เลดีมอยรากล่าว

“ไม่มากนักดอกมอยรา ตั้งแต่รู้จักเธอฉันได้พยายามฝึกการบริหารทางใจ ปลงตกเสียหมดแล้ว”

“ตั้งแต่วันแรกที่เราพบกันจนวันนี้” หล่อนยิ้มตอบ “เธอเปลี่ยนไปเป็นคนละคนทีเดียว แต่ก่อนเธอเป็นคนเงียบ เดี๋ยวนี้พูดเก่ง นับว่าฉันก็มีอำนาจมากที่สามารถทำให้เธอฉลาดเฉลียวมากขึ้นถึงเพียงนี้ เธอควรจะเป็นหมอกฎหมายและเป็นนักประพันธ์ได้ดีแล้ว”

เวลานั้นข้าพเจ้าหยั่งไม่ถึงว่าเลดีมอยราจะมีความรู้สึกอันแท้จริงอย่างไร บางทีอาจพูดเป็นเชิงจำเป็นจนกว่าจะถึงสถานีโดยไม่ได้หมายอะไรเลยก็ได้ แต่สำหรับข้าพเจ้านั้นเชื่อดีว่าพวกเราคือละครโรงใหญ่! ข้าพเจ้าเล่นละครไป......เล่นไปจนกว่าจะจบฉากที่ตนต้องมีส่วนเล่นอยู่ด้วย.

รถถึงสถานี พบคนที่นั่นแต่เพียงเล็กน้อย เราช่วยกันขนของไปที่ชานสถานีแล้วยืนรอรถคุยกันอยู่.

“บอบบี้” มาเรียกะซิบกับข้าพเจ้า “อย่าลืมคิดถึงฉันบ้างนะจ๊ะ อย่าลืมเสียเมื่อฉันไปเสียแล้ววันแรก”

“ลืมอย่างไรได้ มาเรียที่รัก” ข้าพเจ้าตอบ “ที่เบ็กสฮิลล์พอเธอไปเสียแล้วก็เงียบ จะมีอะไรที่จะช่วยทำให้ฉันลืมความสุขในระหว่างที่เธอมาอยู่ด้วยได้เล่า? ว่าแต่เธอเถอะ ที่ลอนดอนสนุกมีอะไรสนุกสนานทุกหนทุกแห่ง มีเพื่อนฝูงมาก ฉันเกรงว่าเธอจะลืมฉันเสียอย่างเด็ดขาด เมื่อเธอไปถึงที่นั่นแล้ว”

“ฉันจะลืมเธอไม่ได้เป็นอันขาดในชาตินี้ บอบบี้”

“ยังงั้นก็ดีแล้ว เธอคิดถึงฉันบ้างบางเวลานะ อย่าลืมฉันเสียทีเดียว เพราะคงจะได้พบกันอีกที่ลอนดอนในเร็วๆ นี้”

“แน่นอน เราต้องพบกันอีกในเร็วๆ นี้” หล่อนพูดด้วยสำเนียงอันแน่นแฟ้น.

สักครู่รถไฟก็มาชะลอหยุดอยู่ตรงหน้า เราช่วยกันขนของขึ้น พอจัดไว้ตามที่เรียบร้อยก็ได้ยินเสียงหวีดอาณัติสัญญารถออก ข้าพเจ้าจับมือลากับเลดีมอยราแล้วก็เดิรไปหามาเรีย เราจ้องตากันอยู่สักครู่ แล้วประสานมือกันแน่น.

“ลาก่อน มาเรีย ลาก่อน” ข้าพเจ้าพูดเสียงสั่น

“ลาก่อน ยอดรัก ฉันต้องการให้เธอไปหาฉันอีกที่ลอนดอน” หล่อนตอบอย่างเศร้า “อย่าลืมที่อยู่ของฉันนะ ลาก่อน บอบบี้”

ข้าพเจ้าลงจากรถ รอให้รถเคลื่อนผ่านหน้าไปช้าๆ พาเอาเพื่อนและคู่รักของข้าพเจ้าไปเสียด้วย รถแล่นเร็ว...เร็วเข้าทุกวินาฑี ผ้าเช็ดหน้าที่เราโบกให้กันก็ห่างกันออกไปทุกที......ห่างไปจนไม่อาจแลเห็นกันได้.

ในระหว่างที่เรานั่งรถอ๊อสตินเก๋งกลับบ้าน ‘แม่’ เตือนข้าพเจ้าว่า: “บอบบี้ อย่าเศร้าไปนักเลย ผู้หญิงอื่นมีถมไปที่เธอจะรู้จักได้ ‘แม่’ ออกจะรู้สึกเสียใจที่พามอยราและมาเรียมารู้จักกับเธอเพียงอาทิตย์เดียวแล้วก็ปล่อยให้เขาไปเสียง่ายๆ ปล่อยให้เธอเป็นทุกข์”

“แม่ที่รัก” ข้าพเจ้ากล่าว “ฉันไม่เป็นทุกข์เลย ฉันเป็นสุข......เป็นสุขที่ได้อยู่กับ ‘แม่’ และ ‘แด็ดดี’ และเป็นสุขที่ได้มีโอกาสรู้จักมอยราและมาเรีย”

ความเงียบเหงาคราวเมื่อเลดีมอยราและมาเรียไปแล้วผิดกว่าคราวก่อนมาก เพราะความเงียบเหงาคราวนี้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความกะวนกะวายใจเป็นที่สุด ข้าพเจ้าพยายาม...พยายามระงับใจอันฟุ้งซ่านให้สงบลงบ้างแต่ก็ไม่ไหว ข้าพเจ้าคิดถึงมาเรียคิดถึงความเชื่อมั่น....ความรักของหล่อนซึ่งมีต่อข้าพเจ้า ต่อมาแม้จะได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนบ้านใกล้เคียงในเบ็กสฮิลล์อีกหลายคน ก็ไม่เห็นมีใครที่จะมาแทนที่มาเรียของข้าพเจ้าได้ หล่อนได้ตราตรึงความบริสุทธิ์แห่งความรักของหล่อนไว้ภายในความทรงจำของข้าพเจ้าอย่างไม่มีวันที่เสื่อมคลายไปได้ วันเดือนก็คงผ่านไปเรื่อยๆ ความฟุ้งซ่านในอกของข้าพเจ้าก็ยังไม่สงบอยู่นั่นเอง.

นานๆ ข้าพเจ้าก็ได้รับจดหมายจากมาเรียฉะบับหนึ่ง เล่าถึงชีวิตของหล่อนในการที่ได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ หล่อนชอบชีวิตของพวกหนังสือพิมพ์ และจะไม่ขอเปลี่ยนชีวิตกับใครทั้งหมดในโลก ฉะบับสุดท้ายหล่อนบอกมาว่า “บอบบี้ ฉันได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์แล้ว ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีหน้าที่ที่จะท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ สืบข่าวของพวกสมาคมชั้นสูงทุกชะนิดในยุโรปและต่อไปอาจเป็นในอเมริกาด้วยก็ได้ เมื่อไรเราจะได้พบกันอีกเล่า ยอดรัก?

“ในระหว่างที่ฉันจากเธอไป ฉันได้รู้จักกับเพื่อนผู้ชายหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครที่จะมาแทนที่เธอในความทรงจำของฉันได้ เพราะเขาทุกคนออกจะจริงจังเหลือเกิน เอะอะอะไรก็จะแต่งงานขอให้ฉันเลิกชีวิตหนังสือพิมพ์ ข้อนี้ฉันทำไม่ได้เป็นอันขาด ฉันยังต้องการอยู่คนเดียว เป็นพวกหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องการแต่งงานกับใครทั้งหมด ฉันต้องการพบเธอ อยู่กับเธอก็เพราะเราทั้งสองจริงจังกันแต่เพียงเป็นคู่รักเท่านั้น เราจะไม่มีโอกาสแต่งงานกัน หรืออย่างน้อยเธอก็ไม่ต้องการจะแต่งงานกับฉัน.

“บอบบี้ เธอยังรักฉันอยู่บ้างสักนิดหน่อยหรือไม่ ถ้าเธอยังรักฉันอยู่ก็มีทางที่เธอจะพบฉันได้ คือเธอต้องเข้าเป็นพวกหนังสือพิมพ์ นั่นแหละเราจะได้มีโอกาสพบและอยู่ด้วยกันเสมอ การที่จะเข้าเป็นพวกเราสำหรับเธอนั้นง่ายที่สุด เพราะ ‘แม่’ และ ‘แด็ดดี’ จะทำให้เธอแปลกใจที่สุดสักวันหนึ่ง ฉันไม่พยายามอธิบายในที่นี้เพราะไม่ต้องการจะทำให้กลวิธีของคนทั้งสองเปลี่ยนไป.

“ในที่สุด ฉันขอให้เธอเข้าใจไว้เสมอว่า แม้ว่าจะเป็นพวกหนังสือพิมพ์หรือไม่ และแม้ว่าฉันจะต้องอยู่ไกลกับเธอสักเพียงไหนก็ตาม ฉันก็จะขอรักเธอด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์เสมอไปทุกวันจนวันตาย ลาก่อน บอบบี้จ๋า”

มาเรียเกรย์เป็นชาวอังกฤษมีมารดาเป็นชาวอิตาเลียน ข้าพเจ้าเป็นคนไทยหล่อนยังรักข้าพเจ้าถึงเพียงนี้----

มาเรียบอกไว้ว่า ข้าพเจ้าจะเข้าเป็นพวกหนังสือพิมพ์ได้ง่ายที่สุด เพราะ ‘แม่’ และ ‘แด็ดดี’ จะทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจยิ่งสักวันหนึ่ง ไม่ช้าวันนั้นก็มาถึง ‘แม่’ เดิรเข้ามาหาข้าพเจ้าในห้องนั่งเล่น ส่งหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ให้ดู ทันใดนั้น ข้าพเจ้าก็พบ สภาสันนิบาตชาติและประเทศเยอรมันนี ซึ่งเป็น ‘อาร์ติเกิล’ อันหนึ่งของข้าพเจ้าเขียนไว้ให้ ‘แด็ดดี’ ตรวจเมื่อเดือนเศษมานี้ข้างใต้ของ ‘อาร์ติเกิล’ มีชื่อผู้เขียนว่า ‘บอบบี้’ ข้าพเจ้าเกือบจะล้มทั้งยืนด้วยความปิติ เพราะไม่เคยนึกฝันว่าจะเป็นไปได้.

“บอบบี้ รับเอาอ้ายนี่ไปซี มันเป็นของเธอ”

ข้าพเจ้ารับเอากระดาษแผ่นหนึ่งจากมือของ ‘แม่’ พอเห็นว่าเป็นกระดาษเช๊กของธนาคาร ‘แบงก์ออฟอิงแลนด์’ สั่งจ่ายให้ข้าพเจ้าเป็นจำนวนตั้งสามสิบปอนด์ สิบห้าชิลลิงก์ ก็ยิ่งแปลกใจจนพูดไม่ถูก ข้าพเจ้าโผเข้ากอด ‘แม่’ แล้วจูบแกทั้งสองแก้มด้วยความรักและเคารพอย่างสูงสุด.

“ดูซี บอบบี้” ‘แม่’ พูด “บรรณาธิการหนังสือไทมส์รู้จักเธอแล้ว เขาเขียนชื่อเธอถูก เห็นไหมเล่าในเช๊กนั้น?”

แล้วข้าพเจ้าก็นั่งตรวจดู ‘อาร์ติเกิล’ ของข้าพเจ้าในหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ อ่านไปรู้สึกว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นหลายอย่าง จึงถามว่าใครเป็นผู้เปลี่ยนแปลงข้อความเหล่านี้ แม่ตอบว่า “เลดีมอยราดันน์!”

นี่ก็เป็นการเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า แม้เลดีมอยราดันน์จะได้พูดอะไรที่แสลงหูกับข้าพเจ้ามาแล้ว หล่อนก็ยังเป็นเพื่อนที่ต้องการข้าพเจ้าอยู่นั่นเอง.

“วันศุกรหน้าจะมี ‘อาร์ติเกิล’ ของเธออีกอันหนึ่ง ชื่อ ‘ชีวิตในซัสเสกส’” แม่พูด “และเธอจะได้รับเช๊กอีกใบหนึ่ง”

“จริงหรือ ‘แม่’?” ข้าพเจ้าถาม “รู้สึกว่าเป็นความฝันมากกว่าอื่น”

“เห็นหรือยังเล่า บอบบี้” ‘แม่’ พูด “เธอรู้ภาษาและรู้เรื่องโลกดีเพียงไหน แม่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องเข้าโรงเรียนกฎหมายหรืออะไรอย่างหนึ่งในลอนดอน แต่เมื่อไปอยู่ที่นั่นอย่าลืมว่าจะต้องมาฮอลลีเดย์ที่นี่ทุกครั้งไป”

สองสามวันต่อมา ข้าพเจ้าพบแจ้งความอันหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไทมส์ว่า “นักเรียนสุภาพบุรุษชาวสยามผู้หนึ่งประสงค์จะอยู่กับครอบครัวอังกฤษที่ดีในลอนดอน เพื่อเรียนกฎหมาย จะให้อาทิตย์ละ ๓ กินนีย์ครึ่ง ใครจะรับได้โปรดติดต่อกับ มิสซิสแอนดรู กะท่อมนางพญา เบ็กส์ฮิลล์-ออน-ซีย์”

สัปดาห์เศษต่อมา เราก็ได้รับตอบมากมาย ‘แม่’ เลือกอยู่หลายวัน จึงตกลงไปอยู่กับ มิสซิสฟรินดริช ที่แฮมสเตดทางเหนือของเมืองลอนดอน ครั้นแล้วข้าพเจ้าก็ออกเดิรทางจากเบ็กสฮิลล์ตัดตรงไปยังนครหลวง ตั้งใจจะไปเรียนกฎหมายไม่ใช่เป็นพวกหนังสือพิมพ์.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ