บทที่ ๑๗ ชีวิตที่ท่องเที่ยวไป

เป็นคราวเคราะห์ดีที่สุดสำหรับข้าพเจ้าที่ได้มีโอกาสเป็นเลขานุการส่วนตัวชั่วคราวของมิสเตอร์เอ็ดเวอร์ดเบลล์เบ็นสันในวาระนี้ เพราะได้เป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่ได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ทั่วทวีปยุโรป……ไปอย่างผู้มีภูมิรู้ และไปกับท่านผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ และนายกของสโมสรหนังสือพิมพ์ที่ตำบลเฮยมาร์เก็ตในลอนดอน มิสเตอร์เบ็นสันเป็นคนมีชื่อเสียง จะไปไหนก็มีคนรู้จักรับรอง ส่วนงานเลขานุการซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าก็ไม่สู้ยากอะไรนัก ประกอบด้วยน้ำใจอันเยือกเย็นและกรุณาของบุรุษผู้เป็นนายกิจการจึงดำเนิรไปได้โดยราบรื่น.

เขียนมาได้เพียงนี้ ข้าพเจ้าพึ่งมารู้สึกว่าเรื่อง ‘ละครแห่งชีวิต’ นี้จะต้องยืดยาวเสียนี่กะไร การท่องเที่ยวซึ่งเป็นเวลาแรมปีของข้าพเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่รู้จบ เมืองและประเทศต่างๆ ที่ข้าพเจ้าไป สิ่งต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้เห็น เป็นเรื่องยืดยาวเหลือวิสัยที่จะนำมาพรรณนาให้ถี่ถ้วนได้.

ทางฝั่งทะเลทิศใต้ของประเทศฝรั่งเศสตอนหนึ่งมีอาณาเขตต์จดไปจนถึงอ่าวบอดีเกียราของประเทศอิตาลี เราเรียกกันว่า ‘รีเวียรา’ ของฝรั่งเศส มีเมืองคานส์ เมืองนีส เมืองมอนตีคาร์โล เมืองม็องต็องและจังหวัดมอนาโก พื้นภูมิประเทศของ ‘รีเวียรา’ เป็นภาพที่งดงามที่สุดในโลก เป็นที่สำหรับมหาเศรษฐี และผู้มีทรัพย์ทั้งหลายทุกชาติทุกภาษา มีพรรณพฤกษาชาติของประเทศหนาวและประเทศร้อนขึ้นอยู่เป็นหมู่เป็นซุ้มคละกันไป มีภูเขา ที่ราบ ตึกราม สถานที่เที่ยวเตร่ มีบ่อนการพะนันที่มีชื่อเสียงที่สุด มีภัตตาคารที่มีราคาแพงที่สุดและต่ำพอประมาณ เหมาะสำหรับพวกเศรษฐีและมหาชนที่มีฐานะกลาง อากาศสดชื่นอยู่เสมอไม่ว่าฤดูร้อนหรือฤดูหนาว มีดนตรีที่โลกนิยมว่าดีที่สุด ‘รีเวียรา’ คือเมืองสวรรค์.

ที่ ‘รีเวียรา’ เรามีโอกาสได้พบผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ในโลก มีนักประพันธ์ ช่างเขียน ช่างปักร้อย นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เป็นที่ซึ่งสตรีนานาชาติที่งามที่สุดมามั่วสุมกันอยู่ บ้างก็มาเที่ยว บ้างก็มาหาเงิน และบ้างก็มาหาสามี เวลาค่ำคืนพวกหนุ่มสาวที่ไม่รู้จักกันก็ไปพบและรู้จักกันตามสถานที่เต้นรำต่างๆ ซึ่งมีอยู่ดกดื่นในมอนตีคาร์โล บางพวกก็เป็นแต่เพียง ‘นักสปอร์ต’ สนุกกันไปชั่วคราว บางพวกก็เอาจริงเอาจังถึงกับกลับไปแต่งงานกันตามปกติภาพที่บ้านเมืองของตน.

ที่มอนตีคาร์โลมีคนหากินหลายชะนิด แต่พวกที่มีชื่อเสียงพึงชังที่สุดก็คือพวก ‘ยิโกโล’ และ ‘ยิโกเล็ตต์’ ‘ยิโกโล’ คือชายนักเต้นรำหนุ่มรูปสวยคอยรับจ้างเป็นคู่เต้นรำและ ‘คู่สนุก’ ของสตรีที่มีอายุอยู่ในวัยชรา หรือค่อนข้างชราที่ยังต้องการความสนุกสนานซึ่งสำหรับคนอายุปูนนั้นธรรมดาอำนวยให้ไม่ไหว ‘ยิโกโล’ เต้นรำกับหล่อน ไปเที่ยวกับหล่อน ฯลฯ และในที่สุดก็ปอกลอกหล่อนเสียจนพอใจ ส่วน ‘ยิโกเล็ตต์’ ก็คือ ‘ยิโกโล’ ผู้หญิงนั่นเอง คือหญิงที่มีวุฒิพอที่จะปอกลอกชายเฒ่าได้ ในทำนองเดียวกับพวก ‘ยิโกโล’

ที่มอนตีคาร์โล มีนักการพะนันที่สามารถหาเงินโดยทางพะนันอย่างเดียวก็ได้พอที่จะมีบ้านเป็นตึกหรู มีบุตรภรรยา และมีเงินที่จะพาครอบครัวเที่ยวรอบโลกได้สองสามปีครั้งหนึ่ง และที่มอนตีคาร์โลมีนักการพะนันที่ต้องทำการอัตตวิบาตกรรมเพราะตนหมดเงิน หมดเกียรติยศ และหมดหวังในชีวิต.

ที่มอนตีคาร์โล ไม่มีขอทาน ไม่มีชีวิตที่ตกต่ำ.

ที่มอนตีคาร์โล มีคนซุกซนบ้าง พวกนี้แม้จะมีสามีหรือภรรยาของตนแล้วก็จริง แต่ก็ยังต้องการความสนุกสนานทุกชะนิดที่ตนไม่มีสิทธิ์ ‘รีเวียรา’ เป็นปฐมเหตุแห่งความคู่เคียงสมรัก ปฐมเหตุแห่งความแตกร้าว การวิวาห์และการหย่าร้าง.

จะพูดกันตามจริง มอนตีคาร์โลก็คงเช่นเดียวกับนครหลวงทั้งหลายในโลก กรุงลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน และกรุงเทพฯ มีทั้งสุขทั้งทุกข์ มีคนดีคนร้าย มอนตีคาร์โลมี ‘โลกันต์แห่งการถ่ายทรัพย์’ ที่ลือชื่อที่สุดก็จริง แต่นครหลวงหรือนครใดๆ ทั่วโลกก็คงมีเหมือนกันไม่ใช่หรือ? การพะนันเป็นมฤดกของมนุษย์ชาติ สติหรือความฉลาดไหวพริบอาจช่วยบางคนให้พ้นจากความหายนะได้บ้าง แต่มนุษย์เรายังคงต้องเล่นการพะนันอยู่นั่นเอง ถ้ากฎหมายบ้านเมืองห้าม ก็ยังพยายามแอบเล่นจนได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ในประเทศสยามต้องการจะจับการพะนันจริงๆ แล้ว คุกตะรางก็คงไม่พอใส่.

มอนตีคาร์โล! มอนตีคาร์โลแห่งชีวิต! มอนตีคาร์โลแห่งโลก!

ในฐานะที่เป็นเลขานุการคนสนิทของนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ข้าพเจ้ามีโอกาสที่ได้ไปพบและฟังการสนทนาระหว่างมิสเตอร์เบ็นสันและเอ็ดการ์วอลเลส และ ฟิลิปโอเป็นไฮม ผู้ที่ได้เขียนหนังสืออ่านเล่น (โดยมากชะนิดนักสืบ) เป็นเล่มๆ มาแล้วมากกว่า ‘นักประพันธ์ทั้งหลายในโลกรวมกัน’ นี้เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์บางฉะบับ ได้มีโอกาสรู้จักยอร์ชเบอร์นาร์ดชอว์ เซอร์ฮอลเคนย์ เซอร์ฟิลิปกิบส์ และพวกละครที่มีชื่อเสียง เช่น ไอวอร์โนเวลโล แกลดีสคูปเปอร์ ยูเลียนและเฟย์คอมป์ตัน ฯลฯ มีโอกาสได้อินเตอร์วิวมหาเศรษฐีเวนเดอร์บิลต์แห่งประเทศอเมริกา.

เรา-‘เอ็ดดี้’ และข้าพเจ้า-พักอยู่ที่ภัตตาคารเดลมา ถนนรูย์เดส์มูแลงส์ เดิรจาก ‘คาซีโน’ เพียง ๔ นาฑี ดังนั้นเราจึงมีโอกาสไปเดิรเล่นในบริเวณ ‘คาซีโน’ ได้สะดวก เดิรไปตามสวนดอกไม้ สนามหญ้าอันเขียวตัดไว้เรียบงามเสมอ และทางเดิร ‘เทอเรส’ ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างสวนดอกไม้และสนาม ทางข้างตึก ‘คาซีโน’ ด้านหนึ่งมีภัตตาคารน้อยๆ มีนามอุคโฆสว่า ‘คาเฟเดอปารีส์’ แห่งมอนตีคาร์โล ที่นี่มีที่นั่งจัดไว้ข้างนอก เรามักจะไปนั่งชมนักการพะนันซึ่งเสร็จจากการเสี่ยงโชคมาแล้ว หน้าตาของพวกเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ชัดว่าตนมีโชคหรือกรรมมาแล้วอย่างไร เว้นเสียแต่พวกเศรษฐีบางคนที่มีหน้าตายิ้มแย้มอยู่เสมอเพราะว่าแม้จะเสียสักแสนแฟรงค์ก็ไม่ทำให้ตนสะดุ้งสะเทือนอะไรเลย หลังตึก ‘คาซีโน’ อีกด้านหนึ่งมีที่ยิงนกพิราป และมีที่จัดไว้ฉะเพาะสำหรับผู้ต้องการจะยิงอวดฝีมือ ถัดจากผู้ยิงราว ๒๐ หลามีนกพิราปขังอยู่ในกรงเรียงเป็นแถวคราวละสิตัว พอได้เวลาเขากดปุ่มอะไรปุ่มหนึ่ง กรงเปิด นกบินขึ้น แล้วก็ยิงกันทันที ในตึกคาซีโนตอนนี้มีห้องพักพิเศษไว้ห้องหนึ่งซึ่งธรรมดาเป็นที่สำหรับนักการพะนันทำอัตตวิบาตกรรม เวลาพวกนี้ใช้อาวุธปืนยิงตนเอง เสียงปืนลั่นก็ไม่มีใครสงสัย เพราะต่างก็เชื่อกันว่าเป็นเสียงปืนที่ยิงนกพิราป ส่วนนักเลงคนใดที่หมดตัวแต่ไม่กล้ายิงตัวตาย ก็ได้รับคำขอร้องให้ไปแจ้งต่อผู้จัดการ ‘คาซีโน’ จะได้ค่ารถกลับบ้าน.

ในตึก ‘คาซีโน’ มีห้องนั่งเล่น โรงละคร ห้องเล่นการพะนันเช่นรูเลตต์และบักคารา ทุกห้องล้วนแต่งไว้ราวกับห้องในเมืองสวรรค์ หน้าตึกซึ่งหันไปทางทะเลมีดาดฟ้าใหญ่ มีสตรีเดิรกรีดกรายโชว์รูปอยู่ไม่ว่าเวลาไหน ริมฝั่งทะเลตรงหน้าตึก มีบ่อน้ำอุ่นทำไว้พิเศษในอ่างแก้วสำหรับอาบ มีที่สำหรับทำให้ร่างกายสบาย มีเครื่องนวด เครื่องบีบต่างๆ และที่อาบน้ำทะเล ตามบริเวณ ‘คาซีโน’ นี้แหละท่าน เราได้พบและอินเตอร์วิวผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ในโลก แล้วนำเอาข้อสนทนาของเราไปใส่ในหน้าหนังสือพิมพ์ในกรุงอังกฤษซึ่งได้จ่ายไปทั่วโลก.

วันใดว่าง ข้าพเจ้าชอบทิ้ง ‘เอ็ดดี้’ ไว้คนเดียวในภัตตาคารเดลมา ตนเองขึ้นรถรางจาก ‘คาซีโน’ รถรางวิ่งไต่ไปตามเขาริมทะเล ขึ้นเขาเข้าถ้ำเรื่อยตลอดทางจนถึงม็องต็องและการาวังดินแดนอิตาลี แล้วลงรับประทานน้ำชาที่คามีตาเดลครอส ถ้าไม่นั่งรถราง ก็รวมหมู่กับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ไปในรถ ‘เอกสเคอร์ชั่นคาร์’ ขับสนุกสนานกันไปในที่ต่างๆ ในรถ ‘เอกสเคอชั่นคาร์’ คันหนึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสได้พลเคานเตสบรินเดนฮาบรูก คุยกันอยู่สักครู่ก็รู้ว่าเราอยู่ที่เดียวกันในมอนตีคาร์โล โฮเตลเดลมา.

วันนั้นพอกลับมาถึงที่พัก ข้าพเจ้าได้รับจดหมายฉะบับหนึ่งจากมาเรีย ส่งข่าวมาว่าหล่อนได้ออกจากเมืองนีส เดิรทางกลับไปลอนดอนตามคำสั่งจากสำนักงานของเราแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องเที่ยวไปในยุโรปกับมิสเตอร์เบ็นสันไม่มีกำหนดว่าจะนานเท่าใด อาจเป็นปีหนึ่งหรือสองปี มิสเตอร์เบ็นสันไม่เคยบอกเพราะดูเหมือนแกเองก็ไม่ทราบแน่ ส่วนข้าพเจ้าก็ไม่มีหน้าที่ ๆ จะถามหรือพยากรณ์ ส่วนมาเรียก็จะต้องเที่ยวไปเช่นเดียวกัน เมื่อไรเล่าเราจะได้พบกันอีก……

อยู่ในภัตตาคาร เดลมา ได้เดือนเศษ ความสนิทสนมระหว่างเคานเตสบรินเดนฮาบรูกและข้าพเจ้าก็เจริญยิ่งขึ้นทุกวัน เราคุยกัน อยู่ด้วยกันสองต่อสองในห้องจนดึก เราไปเที่ยวดูหนังดูละครด้วยกัน หล่อนเป็นสตรีที่มีอัธยาศัยดีและเป็นเพื่อนที่น่ารัก ข้าพเจ้าเหงา หล่อนมาเป็นเพื่อนอยู่ด้วย ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกว่าหล่อนเป็นคนชะนิดใดนอกจากจะรู้แต่เพียงว่าหล่อนมีอายุราว ๓๐-๓๒ สวย ยังคงสาว ผมดำ ตาคม และฉลาด ได้เคยเห็นโลกมามาก หล่อนเป็นชาวฮังกาเรียนแต่งงานไปกับนายทหารออสเตรียนผู้มีศักดิ์คนหนึ่งชื่อ เคานต์ (ออสการ์) บรินเดนฮาบรูก เมื่อเจ็ดปีเศษมานี้.

สนิทสนมกับเคานเตสผู้นี้นานเข้า ก็มีนายทหารผู้หนึ่งในโฮเตลเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงประวัติแห่งความซุกซนของหล่อน เคานเตสบรินเดนฮาบรูกเป็นคนซุกซน ชอบเที่ยว และทิ้งสามีให้ประจำการอยู่ในกรุงเวียนนาแต่ผู้เดียว หล่อนเป็นคนมีทรัพย์ซึ่งเป็นมฤดกตกทอดมาจากปู่ของหล่อนและเป็นคนมีนิสสัยรุนแรงเป็นที่ยำเกรงของสามี ข้าพเจ้าไม่ใช่คนแรกที่หล่อนซุกซนสนุกสนานอยู่ด้วยเช่นนี้ ข้าพเจ้าเป็นคนแปลกหน้า เป็นคนผิวเหลืองคนแรกที่หล่อนรู้จัก ทีแรกข้าพเจ้ารู้สึกสะดุ้งทั้งตัว เกรงว่าแม้เราจะไม่ได้เป็นอะไรกันเกินกว่าเพื่อน ถ้าสามีหล่อนมาที่โฮเตลเดลมาและพบเราโดยไม่ได้บอกกล่าว เกียรติยศของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไร เกียรติยศที่ข้าพเจ้ารัก! เกียรติยศของหนังสือพิมพ์!

เพื่อนร่วมโฮเตลบางคนตักเตือนให้ข้าพเจ้าระวังตัว บางคนเมื่อเห็นก็ยิ้มเยาะและอวยพรขอให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนุกอยู่เรื่อยๆ เช่นนี้เถิด ความสนิทสนม ความมิตรภาพระหว่างเคานเตสและข้าพเจ้าก็ยังคงหมุนอยู่ดังเครื่องจักร บางเวลาข้าพเจ้าก็หวั่นคิดไปว่าการสมาคมของเราคงจะต้องเกินขีดไปบ้างเป็นแน่…เกินขีดแห่งมรรยาทของผู้มีเกียรติยศ เพราะเคานเตสเป็นผู้ที่มีคำพูดอันอ่อนหวาน พูดสนุก และ……เกี้ยวเก่ง……

แม้ว่าจะมีอายุเกินสามสิบมาแล้ว เคานเตสบรินเดนฮาบรูกก็ได้เก็บตัวไว้ดี ยังสาว สวย ไม่มีบุตรหรือธิดาที่จะมาเป็นภาระให้หล่อนแก่ลงบ้างตามธรรมชาติ ส่วนข้าพเจ้ายังเป็นเด็กหนุ่มคะนองอายุยี่สิบห้า เคานเตสเป็นคนสวย เป็นคนซน วันหนึ่งข้าพเจ้าก็คงจะต้องพ่ายแพ้อำนาจความเสน่หาของหล่อนเป็นแท้ สามีของหล่อนนั่นเป็นเรื่องอนาคตซึ่งคนตาบอดเช่นข้าพเจ้าไม่สามารถจะเล็งเห็นได้

คืนวันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนอนอยู่ในห้องนอน ได้ยินเสียงใครมาเคาะประตูเบาๆ สองครั้ง เวลานั้นราว ๑๑ น. ข้าพเจ้าพึ่งเข้านอนได้เพียง ๑๕ นาที นึกว่าคงเป็นเด็กคนใช้ในโฮเตลซึ่งเคยเอาโทรเลขมาให้เสมอ และเชื่อว่าคงมีข่าวด่วนอะไรอันหนึ่งเป็นแน่ ข้าพเจ้าลุกขึ้นไปเปิดประตู แต่......ยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้า......ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเคานเตสบรินเดนฮาบรูก หล่อนแต่งตัวชุดเสื้อนอนอันงาม มีเสื้อแพรหนาคลุมชั้นนอก น้ำอบหอมอยู่ขจร......นี่แหละชีวิต ท่านเอ๋ย ชีวิตที่ข้าพเจ้าเคยได้พบได้เห็นมาแล้ว.

สองเดือนต่อมา ก็ถึงวันที่ข้าพเจ้าจะต้องออกจากมอนตีคาร์โลตามมิสเตอร์เบ็นสันไปสภาสันนิบาตชาติที่เมืองเยนีวา การลาระหว่างเราทั้งสอง...เคานเตสบรินเดนฮาบรูกและข้าพเจ้า......เมื่อจะจากกันนั้น เศร้าเช่นเดียวกับเมื่อข้าพเจ้าจากโอเดตต์.........เช่นเดียวกับที่ได้เคยชินมาแล้ว หล่อนไปส่งข้าพเจ้าถึงสถานี พูดเป็นคำสุดท้ายว่า “เราคงจะพบกันอีกในไม่ช้า ยอดรัก ถ้าเรายังคงมีชีวิตอยู่”

พอถึงเยนีวาก็มีพวกหนังสือพิมพ์มารับที่สถานีหลายคน เยนีวาเป็นเมืองที่เงียบสะอาดสมเป็นที่ตกลงเพื่อความสงบสุขของโลก ออกจากสถานีเราจับรถ ‘แท๊กซี่’ สั่งให้แล่นไปโฮเตลแกรนด์ เวลานั้นบ่ายราว ๔ น. อากาศสดชื่นไม่หนาว รถยนตร์ที่เรานั่งเป็นรถชะนิดโอเปิล สองตอน ใหม่ หรู เปิดประทุน ในขณะที่รถแล่นไปตามถนนต่างๆ ซึ่งมีตึกใหญ่น้อยตั้งอยู่สองข้างห่างกันได้ระยะอันงาม เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยที่ได้นั่งมาในรถไฟนาน ข้าพเจ้ารู้สึกเพลีย เวียนศีรษะ คล้ายเป็นลม สิ่งต่างๆ ที่เห็นอยู่โดยรอบก็หมุนเวียนเปลี่ยนกลับกันไปตามเพลง.

“เอ็ดดี้ครับ” ข้าพเจ้าพูด “ผมไม่สบายเสียแล้ว เวียนหัวเหลือเกิน ผมเห็นอะไรหมุนไปหมด”

“เธอเหนื่อยมากนะ บอบบี้” มิสเตอร์เบ็นสันตอบ “ไปนอนเสียที่โฮเตลประเดี๋ยวก็หาย”

ถึงโฮเตลแกรนด์ ‘เอ็ดดี้’ พะยุงข้าพเจ้าไปนอนในห้องอันหรูใหญ่ห้องหนึ่ง แล้วสั่งให้สาวใช้จัดการดูแลข้าพเจ้าให้เต็มที่ ข้าพเจ้านอนเป็นลมอยู่จนถึงเจ็ดนาฬิกากว่าจึงได้มีคนมาปลุกให้ไปรับประทานดินเนอร์กับมิสเตอร์เบ็นสันที่ห้องข้างล่าง ข้าพเจ้าลุกขึ้นล้างหน้าแต่งตัวไปทั้งๆ ที่ยังงงอยู่ เสร็จแล้วเดิรลงไปหาเบ็นสันที่ห้องนั่งเล่น เราเดิรเข้าไปรับประทานอาหารในห้อง ‘ฮอลล์’ ใหญ่ เราได้โต๊ะในมุมห้องด้านหนึ่ง นั่งอยู่ได้สักครู่ก็เห็น ‘ท่านผู้มีอำนาจที่สุดทั้งสาม’ (‘The Big Three’)-มี เมสิเออร์บรียอง แห่งประเทศฝรั่งเศส แอร์สเตรสแมน แห่งประเทศเยอรมนี และเซอร์ (เวลานั้นเป็นมิสเตอร์) ออสตินเชมเบอร์เลน แห่งประเทศอังกฤษเข้ามารับประทานอาหารกับมิสเตอร์เฮอร์สเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายชะนิดในประเทศอเมริกา ในระหว่างที่อยู่ในห้อง ข้าพเจ้ารู้สึกไกลจากความสบายมาก สิ่งต่างๆ ที่เห็นอยู่โดยรอบคงหมุนเวียน รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ คล้ายจะเป็นไข้ เรานั่งห่างจากโต๊ะคนสำคัญทั้งสี่เพียงสองสามหลาเท่านั้น แต่แม้ว่าจะพยายามดูหน้า ‘ท่านผู้มีอำนาจทั้งสาม’ เท่าไรก็ไม่สามารถจะเห็นได้ถนัด ข้าพเจ้าบอกอาการแก่มิสเตอร์เบ็นสัน แกวิตกทันที.

“มะรืนนี้เป็นวันที่สภาสันนิบาตชาติจะประชุม” แกพูดอย่างเสียใจ “ถ้าเรามัวแต่เจ็บอยู่เสียเช่นนี้ จะได้เห็นอย่างไรเล่า?”

“พรุ่งนี้ก็คงหายครับ” ข้าพเจ้าแข็งใจพูด.

ข้าพเจ้าแข็งใจรับประทานอยู่จนเสร็จ พอเห็นข้าพเจ้าเดิรเซ มิสเตอร์เบ็นสันก็เข้ามาพะยุงพาเดิรไป เวลานั้นมีคนจ้องดูอยู่หลายคน.

วันรุ่งขึ้นแทนที่จะหายหรือค่อยยังชั่ว ข้าพเจ้ากลับเป็นไข้ปรอทขึ้นตั้ง ๑๐๒ ตอนเย็นเป็น ๑๐๔ เป็นอันว่าหมดหวังที่จะได้เข้าไปเป็นเลขานุการของมิสเตอร์เบ็นสันในสภาฯลฯ ตอนกลางคืนมีหมอมาเยี่ยม พอตรวจเสร็จหมอก็สั่งให้พาข้าพเจ้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลซางลาม็อง ข้าพเจ้าป่วยอยู่ที่นั่นสิบห้าวัน สภาฯลฯ ประชุมปรึกษากิจธุระกันเสร็จเสียแล้ว เป็นอันว่าข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้เห็น ออกจากเจนีวา เบ็นสันและข้าพเจ้าเดิรทางไปกรุงเบอร์น นครหลวงแห่งประเทศสวีตเซอแลนด์ พักอยู่ที่นั่นอาทิตย์หนึ่งแล้วไปกรุงเบอร์ลิน.

มิสเตอร์เบ็นสันเป็นชาวอังกฤษที่ยังไม่หายเกลียดชาติและชาวเยอรมัน เนื่องจากมหาสงครามที่แล้วมา แกเสียน้องชายทั้งสองคนเพราะความโหดร้ายของทหารเยอรมัน พวกเยอรมันเป็นผู้พาลก่อเหตุ ประเทศเยอรมนี --- กรุงเบอร์ลิน-- เป็นที่ๆ เบ็นสันชังที่สุด ไม่เคยเหยียบเข้ามาเลยนอกจากจำเป็นเท่านั้น ถึงเบอร์ลินแกไม่ได้พาข้าพเจ้าไปเที่ยวที่ไหน อยู่ที่นั่นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็ออกเดิรทางไปกรุงเวียนนา นครหลวงแห่งประเทศออสเตรีย.

แม้ว่าออสเตรียจะได้เป็นสัมพันธมิตรของเยอรมนีมาแล้ว ข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นว่ามิสเตอร์เบ็นสันไม่มีความรู้สึกสำหรับชาวออสเตรียนเช่นเดียวกับสำหรับชาวเยอรมัน ชาวออสเตรียนมีอะไรในนิสสัยและมรรยาทซึ่งเป็นที่สง่าและน่ารัก น้ำใจโอบอ้อมอารี กรุงเวียนนา แม้ว่าจะแพงก็สนุก ดนตรีที่ดีที่สุดในโลก ละครและภาพยนตร์ ที่นี่มีสิ่งแปลก เป็นของใหม่ในโลก เป็นเครื่องประกอบ ออกจากเวียนนาเราไปบูดาเปสต์นครหลวงแห่งประเทศฮังการี.

บูดาเปสต์ นครแห่งความรัก แห่งแสงจันทร์ แห่ง ‘โอเอซีส’ แห่งความสมหวัง เราเที่ยวกันอยู่สามสัปดาห์ก็เดิรทางต่อไป ข้าพเจ้าเดิรทางกับมิสเตอร์เบ็นสันอยู่เป็นปีเศษ เที่ยวไปทุกประเทศในยุโรป ใช้ปารีสเป็นศูนย์กลางแห่งการเดิรทางของเรา เสร็จจากกิจธุระอื่นก็กลับไปกรุงปารีสเสียครั้งหนึ่ง แล้วเดิรทางจากที่นั่นไปยังประเทศต่างๆ มีอิตาลี และสเปญเป็นอาทิ ในระหว่างเวลานั้นข้าพเจ้าอยู่ที่ปารีสหลายครั้ง บางเวลาก็ได้มีโอกาสเที่ยวไปในเวลาค่ำคืน แต่ไม่เคยได้พบโอเด็ตต์มาเซลลา หรือเรย์มอนด์เพื่อนหล่อนเลย.

วันหนึ่ง ก่อนถึงวันที่ข้าพเจ้าจะต้องกลับไปกรุงลอนดอน ข้าพเจ้าได้พบเรยมอนด์ในคาเฟ่เอมิลล์ ข้าพเจ้าถามหล่อนถึงโอเด็ตต์.

“โอเด็ตต์ได้ตายเสียนานแล้ว” หล่อนตอบอย่างจริงจัง “เธอไม่ทราบดอกหรือ?”

สองสามวันต่อมา ข้าพเจ้าเห็นโอเด็ตต์เต้นรำอยู่กับหนุ่มอเมริกันคนหนึ่งที่ ‘เลอมีตาช’ หล่อนไม่ได้ทักข้าพเจ้า คืนนั้นข้าพเจ้าไปต่อว่าเรยมอนด์ว่าหล่อนพูดปด.

“จริงๆ นะ บอบบี้” หล่อนตอบ “สำหรับเธอ โอเด็ตต์ได้ตายเสียแล้ว พูดละยังไม่เชื่ออีกเล่า”

ข้าพเจ้าหวัวเราะ แล้วกล่าวอำลาหล่อนว่า “โอร์วัวย์ เรย์มอนด์”

รุ่งขึ้น ข้าพเจ้าก็กลับลอนดอนกับมิสเตอร์เอ็ดเวอร์ดเบลล์เบ็นสัน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ