บทที่ ๑๕ ‘กร็องต์ปารีส์’

ข้าพเจ้าจากลอนดอน-มารักปารีส-ปารีสในยามอรุณและในยามราตรี รักสิ่งต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเซนน์ และรักบริเวณทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นที่อนาถาหรือสมบูรณ์ สำหรับความรู้สึกของข้าพเจ้า ปารีสเป็นนครที่งามตระการตาน่าสนใจที่สุด ข้าพเจ้าชอบความงาม ชอบชาวฝรั่งเศส และชอบปีศาจของกรุงปารีส ถ้าจะต้องการรู้จักนครนี้จริงๆ แล้ว ท่านจะต้องรู้พงศาวดารและอักษรศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสที่ได้สร้างสมกันมาแล้วเสียก่อน ดังนั้นเมื่อจะเดิรไปไหนก็จะไม่เปลี่ยวเปล่าอยู่คนเดียว เดิรไปตามถนนรูย์ซางตองนอเร ซึ่งเป็นที่อยู่ของดางต็อง และเป็นที่ๆ โรปสเปียรปิดประกาศทำการฆ่าคนด้วยเครื่องกิโลตีนอยู่นับพัน ทั้งเป็นที่ที่มารีย์อังตัวเนตต์ได้ดำเนิรไปสู่ความมรณกรรมอย่างทุเรศ ท่านเดิรเข้าปาเลส์รอยยาลย์ เป็นที่ๆ คามิลล์เดส์มูเลงส์เด็ดใบพฤกษามาปักหมวกแทนขนนกซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของกรุงปารีสและของชาวฝรั่งเศส โบสถ์โนตเตรอดามซึ่งเป็นเวลานับตั้งพันปี ความเชื่อมั่นในศาสนา ในความรัก ความพยาบาท ความเจริญและความเป็นอยู่ของประเทศในปรัตยุบันและอนาคตยังคงฝังอยู่ในความจำของหินทุกก้อนที่สร้างวิหารนี้ขึ้น; เดิรตัดตรงไปยังปวงต์เนอรฟซึ่งเป็นที่ที่พระเจ้าอองรีพบผู้ปลงพระชนม์ เป็นที่ที่ชาวปารีเซียนผ่านไปมาไม่ขาดสาย คนดี คนเลว คนใจดี คนใจร้าย และพวกสตรีรูปงาม; ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ มีร้านขายหนังสือเล็กๆ ตั้งเรียงได้ระยะเป็นแถว เป็นที่ที่นักประพันธ์และนักเรียนเดิรไปมา บ้างก็หิวบ้างก็โหย ต่างก็ทะเยอทะยานที่จะอุททิศชีพเพื่อจะนำเอาความเจริญ ความดี ความงามของโลกมาเขียนลงเป็นตัวอักษรที่ตนนึกว่าถูก; เดิรขึ้นไปการ์เตียลาแตง ซึ่งมีกำแพงโบราณเป็นเครื่องแสดงถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกนักเรียนได้ดำรงทรงตัวมาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นที่ที่เด็กหนุ่มเคยฝันถึงความรักอันเป็นความฝันที่สั้น ดื่มสุราที่อ่อนและแรง หวัวเราะเยาะสิ่งต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในโลกตลอดจนชีวิตและความตาย; ขึ้นไปที่ภูเขามองต์มาตร์ ซึ่งมีกุ๊ยของกรุงปารีสหรือพวก ‘อาป๊าซ’ ยืนแอบแฝงอยู่ตามที่มืด ถือเอาความทารุณโหดร้ายเป็นเครื่องประดับอันงามแห่งชีพ; ในอุทยานลุกซัมเบอร์กซึ่งเป็นที่ที่หนุ่มสาวเดิรเคล้าเคลียกันเป็นคู่ ขณะที่เด็กน้อยกำลังเล่นอยู่ วิหคกำลังสะบัดปีกคะนอง ในขณะที่ใบพฤกษาชาติกำลังอ่อน อ่อนแล้วแก่ แก่แล้วเหี่ยว เหี่ยวแล้วตาย เช่นเดียวกับความรักซึ่งมีแต่จะแก่ชรา ถึงซึ่งความดับหาย.

กร็องด์ปารีส์!

นครปารีสจะเป็นแต่เพียงพิพิธภัณฑ์แห่งการก่อสร้างและที่เหมาะที่สุดสำหรับซื้อเครื่องแต่งตัวเท่านั้น นอกจากท่านจะเดิรจูงมือไปกับดาตาญัง ไปเห็นท่านคาร์ดิแนลเดิรผ่านไปมีเสื้อคลุมอันงาม ยืนชมมาร์การิตย์เดอวาลัวส์รับประทานอาหารว่างในเวลาเที่ยงคืนกับชู้รัก เดิรไปตามถนนอันหนาวเย็นกับฟรังซัวส์วิล์ย็อง ฟังเพลงที่ร็องสัดร้อง ห้องอยู่ของมาดามดูเดฟฟ็องและมาดามยอฟแฟรงค์ กร็องด์ปารีสเป็นนครของดูมาส์ วิกเตอร์ฮูโก เออคมัน-ชาตรีออง อูยีนซุย์ เมอร์แยร์ กีเดอโมปาซองต์และมิชเช็อเลต์ เนื่องจากที่ได้อ่านพงศาวดารฝรั่งเศส เรื่องนิยายต่างๆ และโคลงมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงสามารถเข้าใจและรู้จักความเป็นอยู่ของเมืองปารีสได้ดี ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ‘กร็องด์ปารีส์’ คือนครแห่งความรัก.

เช่นเดียวกับมหาชนหลายล้านที่ได้เคยไปมาแล้ว สำหรับข้าพเจ้า ปารีสเป็นนครที่ยั่วยวนใจที่สุด แต่ ในฐานที่เป็นผู้แทนและผู้ส่งข่าวหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเที่ยวค้นคว้าหาความจริงแห่งชีวิต ซึ่งแอบแฝงอยู่ใต้ความเคลือบคลุมแห่งความยั่วยวนใจ ความหรูหรา ความงามของนครปารีส.

ท่านผู้อ่านที่รัก ท่านเตรียมพร้อมแล้วหรือที่จะฟังนิยายของนครหลวงแห่งประเทศฝรั่งเศส? ท่านทราบแล้วไม่ใช่หรือว่าปารีสคือนครแห่งความสนุกสนานระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว?

ปารีสตามจริงเป็นนครของพวกผู้ชาย ดังนั้นสิท่านผู้หญิงสาวจึงชอบไปกัน! ผลของความสนุกสนานคือน้ำตา ผลแห่งความสุขคือความทุกข์ นี่คือนครปารีส!

พอไปถึงเราก็ไปอยู่ที่โฮเตลเล็กแห่งหนึ่งชื่อ โฮเตล ดู โครแฟ็ง ในถนนรูย์ซางต์รอคซ์-อันเป็นที่ๆ นะโปเลียนเคยเดิรท่องเที่ยวอยู่เสมอในสมัยที่ยังเป็นนายร้อยโท แทบทุกคืนจากโฮเตลนี้ อาร์โนลด์และข้าพเจ้าออกท่องเที่ยวไปตามภัตตาคารและโรงมหรสพต่างๆ ในกรุงปารีส ตั้งแต่ที่สูงสุดไปยังต่ำสุด บางคราวก็ใกล้กับอันตรายจนเกือบจะเอาตัวรอดไม่ได้ ไม่เคยรู้สึกหวาดกลัวหรือเบื่อ อดนอนเท่าใดเท่ากันมิได้ย่อท้อ เที่ยวไป เขียนข่าวไป เขียนอาร์ติเกิลไปไม่หยุดหย่อน ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กหนุ่มที่พึ่งแรกออกเห็นชีวิตที่ใหม่และร่าเริง ยังคงมีกำลังวังชา อ้วนล่ำ ต้องลักขณะของคนแข็งแรง เรารู้จักคนทุกชาติ ทุกชั้น รู้จักกันแต่ตัว ไม่รู้จักนาม นั่นมักจะเป็นกฎธรรมดาของกรุงปารีส.

ความแตกต่างระหว่างกรุงลอนดอนและกรุงปารีสตามที่ข้าพเจ้าสังเกตนั้นคือ ลอนดอนปลูกนิสสัยคนให้เป็นพลเมืองของประเทศอังกฤษ ส่วนปารีสปลูกนิสสัยเราให้เป็นพลเมืองของโลก เพราะที่นั่นมีแต่ชาวต่างประเทศเต็มไปหมดไม่ว่าที่ไหน.

เราอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้สองเดือน ก็เกิดเงินขัดสน ตลาดเงินใกล้จะถึงซึ่งความพินาศ ความฉิบหายอย่างสิ้นเนื้อสิ้นตัวจองอยู่ตรงหน้าชาวฝรั่งเศสทุกคน รัฐบาลล้มแล้วล้มอีก เมสิเออร์ บรียอง เมสิเออร์ แอริโอต์ ผลัดกันถือบังเหียนการเมือง แต่ก็หามีใครควบคุมพวกของตนให้ทรงไว้ได้ไม่ รัฐบาลก็ยังคงล้มลุกคุกคลานกันไปตามเพลง ที่ในสภารัฐมนตรี หรือที่เรียกว่าชองป์เดอเดปูตี เกิดตีกัน ขว้างปากัน ทะเลาะกันอยู่อลหม่านไม่เว้นวัน ส่วนเงินก็มีราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย เงินฟรังค์ร้อยฟรังค์เคยมีค่าอยู่ร้อยก็ตกลงเหลือแปดสิบ หกสิบ ห้าสิบ สี่สิบ ยี่สิบ จนในที่สุดก็ถึงสิบฟรังค์ ปารีสเต็มไปด้วยความปั่นป่วน จะเกิดสงครามกลียุค ราษฎรไปมั่วสุมกันอยู่เป็นหมู่ใหญ่ทุกเย็นที่หน้าสภารัฐมนตรี เตรียมการพร้อมที่จะประหารแอริโอต์ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี ชั่ววันสองวันเวลานั้น แอริโอต์ถูกหาว่าเป็นคนในคณะบอลเชวิค รับสินบลจากพวกรัสเซียนให้มาทำลายประเทศฝรั่งเศส.

“ปล่อยให้อ้ายแอริโอต์ออกมาซี!” เป็นเสียงร้องที่ดังอยู่สนั่น “ปล่อยให้อ้ายคนทรยศออกมาซี! เอามันไว้ทำไมกัน? อ้ายคนขายชาติ! เราจะช่วยกันฝังมันเสียในลำแม่น้ำเซนน์!”

เมื่อการประชุมสภารัฐมนตรีถึงที่สุด มีรถยนตร์หุ้มเกราะไปรับ มีตำรวจถือปืนคอยป้องกันอยู่ราว ๔-๕ คน พาแอริโอต์ไปบ้านซึ่งมีทหารเวรคอยป้องกันอยูห้าสิบคนทุกเวลา อาวุธพร้อมมือ แอริโอต์ยังคงมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ ยังไม่มีข้อความใดมาพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนทรยศต่อชาติ แต่ความบ้าของชาวเมืองใกล้จะถึงขีดที่สุดอยู่แล้ว แอริโอต์จะมีชีวิตอยู่ได้สักกี่วัน......? นี่เป็นปัญหาที่ปารีสกำลังลังเลใจคิดกันอยู่เวลานั้น.

ความขาดแคลน ความทุกข์ของชาวฝรั่งเศสในสมัยเงินตกเป็นที่น่าสังเวชใจที่สุด พวกเสมียนพนักงานตามกระทรวงการต้องรับประทานขนมปังกับเนยเป็นอาหารประจำวัน นอนตั้งแต่ ๑๘ น. เพราะถ้าขืนนอนดึกกลัวจะไม่มีเงินพอเสียค่าไฟและค่าขนมปังอีกถ้าตนรู้สึกหิว ของก็แพงอย่างใจหาย ขนมปังก้อนหนึ่งซึ่งเคยขายแต่เพียงสิบสตางค์ ก็ขึ้นไปตั้งแปดสิบสตางค์หรือหนึ่งบาท.

เวลานี้เป็นโอกาสของพวกชาวต่างประเทศที่จะเข้าไปสนุกสนานในกรุงปารีสโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด มีเงินแต่เพียงเล็กน้อยมาจากบ้านของตน พอถึงปารีสก็เป็นเศรษฐี เงินอังกฤษหนึ่งปอนด์ซึ่งเคยมีค่าแต่เพียง ๒๕ ฟรังค์ ก่อนมหาสงคราม เวลานี้มีค่าถึง ๒๒๐ ฟรังค์ ตามโรงเต้นรำและห้างร้านโดยมากไม่ยอมรับเงินฝรั่งเศส เงินอังกฤษหรือเงินอเมริกันจึงจะเป็นที่พอใจ การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ละเมิดกฎหมาย ตำรวจพยายามจับกุมพวกพ่อค้าที่รับเงินต่างประเทศ จับกุมไม่ใช่ในนามของรัฐบาล เพราะเวลานี้รัฐบาลกำลังล้มลุกหรือไม่มี แต่ในนามของประเทศฝรั่งเศส และประธานาธิบดีดูแมร์ก แต่ก็ยังคงจับไม่ไหว เพราะทำกันทุกหนทุกแห่ง พวกพ่อค้าที่ได้เงินมาแล้วก็เอาไปฝากไว้ตามธนาคารต่างประเทศ ฝากเป็นเงินอังกฤษหรืออเมริกัน.

ในที่สุด เมื่อการเงินของประเทศใกล้จะถึงซึ่งความพินาศที่สุดแล้ว ประเทศฝรั่งเศสจึงได้ขอร้องให้เมสิเออร์ปวงกาเรต์ นักการเมืองผู้เฒ่าซึ่งเคยกู้ชาติไว้ในระหว่างมหาสงคราม เป็นอัครมหาเสนาบดี ตั้งรัฐบาลขึ้น รวมหมู่นักการเมืองทุก ‘ปาร์ตี’ เข้าร่วมมือกันกู้ประเทศฝรั่งเศส ท่านปวงกาเรต์ผู้นี้เป็นที่รักใคร่ยำเกรงของมหาชนยิ่งนัก ท่านยอมรับตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนบดีและเป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง ประชาชนชาวฝรั่งเศสต่างก็โสมนัสส์ยินดีที่สุด หวังและเชื่อมั่นกันว่า ปวงกาเรต์จะกู้ประเทศไว้ได้อีกเป็นแท้เช่นเดียวกับที่ได้กระทำมาแล้วในระหว่างมหาสงคราม ความเชื่อมันอันนี้เป็นไปจริงสมหวังภายในเวลาเดือนเศษเท่านั้น รัฐบาลยังคงเป็นปึกแผ่น การเงินค่อยกะเตื้องขึ้นสู่ความเจริญเป็นลำดับ ปวงกาเรต์ได้กู้ชาติไว้อีกเป็นคำรบสอง เป็นคนๆ เดียวที่ทำได้.

เมื่อประเทศฝรั่งเศสยังคงอยู่ในความปั่นป่วนหมุนเวียนเช่นนี้ เรา-อาร์โนลด์และข้าพเจ้า-จึงมีเรื่องที่จะเขียนได้มาก มี ‘สกู๊ป’ ที่จะส่งไปให้โรงพิมพ์ในเมืองอังกฤษพอที่จะหาเงินมาเลี้ยงตัวเราได้อย่างสบาย เราย้ายจากโฮเตล ดู โครแฟ็ง มาอยู่ ‘แฟลต’ หรือส่วนหนึ่งของบ้านแห่งหนึ่งที่ถนนรูย์ลีโอเดย์

ดึกคืนวันหนึ่ง ขณะที่เรากำลังเดิรท่องเที่ยวอยู่ที่ถนนรูย์เดอโนตเตรอดาม ตำบลม็องมาตร์ อันเป็นที่รื่นเริงของชาวต่างประเทศ มีพวกอเมริกันเป็นอาทิ มีเสียงชายผู้หนึ่งร้องเป็นภาษาอังกฤษมาว่า “เฮ้ย เจ้าทแกล้วทหารสองเกลอ ลื้อจะไปไหนกัน?” เราจำได้ทันทีว่าเป็นเสียงแจ๊กปาร์เกอร์สหายร่วมสำนักงานหนังสือพิมพ์ซึ่งพบข้าพเจ้าอยู่กับตุ๊กตาแม่เต่าของประดิษฐ์ที่ร้านน้ำชาปิกาดีลีเมื่อสี่เดือนเศษมานี้.

“เฮ้ย แจ๊ก!” อาร์โนลด์ร้องตอบ “เราไม่รู้ว่าลื้ออยู่ปารีส”

“อะไร อาร์โนลด์เพื่อนรัก” ปาร์เกอร์ตอบ “ปารีสถูกราวกับเทน้ำจะให้กันไปอยู่ที่อื่นงั้นหรือ? โง่จัง”

“นอกจากจะมาใช้เงิน ลื้อมีธุระอื่นด้วยหรือเปล่า?” อาร์โนลด์ถาม.

“มี” แจ๊กตอบ “กันมาฮันนีมูน กันแต่งงานเมื่อสองอาทิตย์มานี่เอง”

“กันขอแสดงความยินดีด้วย ปาร์เกอร์” ข้าพเจ้าพูด “แต่เดี๋ยวนี้เจ้าสาวไปอยู่เสียที่ไหนเล่า?”

“กันจะมาพาลื้อไปหา” ปาร์เกอร์พูด “ลื้อจะแปลกใจมากถ้าเห็นหล่อน บอบบี้ เธอรู้จักเมียกันดี”

“เอ๊ะใครนะ แจ๊ก” ข้าพเจ้าถาม.

“เอาเถิด ประเดี๋ยวก็รู้”

เขาพาเราเข้าไปใน ‘คาเฟ’ เอมิลล์ ซึ่งมีคนกำลังนั่งดื่มอยู่แน่น พอถึงโต๊ะที่ตั้งอยู่ทางมุมด้านซ้ายของห้องใหญ่ ข้าพเจ้าก็ตกตะลึงด้วยความแปลกใจ. สตรีนั้นคือ-แคทลีนไมลส์ ตุ๊กตาแม่เต่าของประดิษฐ์!

“นี่ ทแกล้วทหารสองเกลอ” เขาแนะนำ “นี่ภรรยายอดที่รักของกัน”

เราจับมือสั่นกันอย่างปลาบปลื้ม แคทลีนคุยอย่างสนุกสบายที่สุด แต่ตลอดเวลานั้น ข้าพเจ้านึกถึงประดิษฐ์เสมอ ตลอดเวลาที่อยู่ปารีส ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับจดหมายจากประดิษฐ์เลย แคทลีนแต่งงานไปกับแจ๊กปาร์เกอร์ ประดิษฐ์จะรู้สึกอย่างไรหนอ-?

ปารีสคือวิมานแห่งความบรมสุขของหนุ่มสาว ทุกหนุ่มสาวที่ไปมีโอกาสที่จะประสพสิ่งที่ต้องใจ ประสพ ‘ความรักปารีเซียน’ หรือความรักแห่งนครปารีส ทุกคนที่เคยไปมาแล้ว ถ้ามีโอกาสต้องไปอีก ปารีสคือโลกของสตรี-หญิงปารีเซียน! ข้าพเจ้าเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยอยู่ปารีสมาแล้ว ดังนั้นจึงได้เคยอยู่ในวิมานแห่งความบรมสุข ได้เคยประสพสิ่งที่ต้องใจ ประสพ ‘ความรักปารีเซียน’

ตามที่ท่านเข้าใจอยู่แล้ว ปารีสเป็นนครที่เต็มไปด้วย ‘หญิงเที่ยว’ หรือที่เรียกกันว่า ‘หญิงนักสปอร์ต’ เช่นเดียวกับกรุงเวียนนาหรือกรุงบูดาเปสต์. นครทั้งสามนี้มีหญิงงามเมืองชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจำเป็นจะต้องบรรยายถึงเรื่องของผู้หญิง เพราะท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าปารีสคือโลกของสตรี.

คาเฟ เอมิลส์ โรงเต้นรำอย่างน้อยๆ แห่งหนึ่งในถนนรูย์เดอโนตเตรอดาม เดอลอเร็ตต์ในม็องมาตร์ เป็นที่ๆ ข้าพเจ้าพบผู้หญิงงามเมืองชั้นสูง หญิงปารีเซียน หรือหญิงนักสปอร์ตเข้าคนหนึ่งชื่อ โอเด็ตต์ มาเซลลา เรารู้จักกันโดยความแนะนำของ เรมอนด์ เพื่อนสาวของเราที่ข้าพเจ้ารู้จักตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปในคาเฟ่เอมิลส์กับอาร์โนลด์ ก่อนพบโอเด็ตต์ เรมอนด์เคยพูดกับอาร์โนลด์และข้าพเจ้าเสมอว่า หล่อนมีเพื่อนคนหนึ่ง-คือโอเด็ตต์-รูปร่างหน้าตาสวยที่สุดในหมู่พวกหญิงนักสปอร์ตทั้งหลายในปารีส ผมดำ ตาดำ ค่อนข้างสูง หน้ารูปไข่ มีเสียงอันไพเราะ เราขอให้เรมอนด์พาเพื่อนของหล่อนมานั่งที่โต๊ะเรา ทันใดนั้นหล่อนก็เดิรหายเข้าไปในหมู่คนที่กำลังเต้นรำอยู่ สักครู่ก็เดิรกลับมาจูงเอาหญิงสาวสวย ผมดำ ตาดำ เสียงไพเราะมากับหล่อนด้วย สังเกตดูตามเค้าหน้าโอเด็ตต์จะมีอายุไม่เกิน ๒๒ ปี.

“อาร์โนลด์” ข้าพเจ้ากะซิบถามสหายเป็นภาษาอังกฤษ “ลื้อต้องการหล่อนไหม?”

“ไม่ได้ดอก เพื่อนรัก” อาร์โนลด์ตอบ “กันนัดพบใครอีกคนหนึ่งที่ คาเฟซังฟรัวต์ เสียแล้ว คืนนี้เวลา ๑ น. ลื้อพาหล่อนไปเที่ยวซี บอบบี้ เด็กคนนี้สวยมาก อย่าปล่อยให้ไปอยู่กับคนอื่นเสียนะ ที่นี่ปารีส ใครๆ ก็ทำกัน”

“กันไม่เชื่อว่ากันจะพาหล่อนไปไหนได้” ข้าพเจ้าพูดเป็นเชิงปรึกษา “เพราะกันไม่รู้ว่าจะตั้งต้นอย่างไร”

“เมสิเออร์” โอเด็ตต์ถามข้าพเจ้าเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยดวงเนตรอันงามชะม้อย “เธอเป็นญวนหรือคะ?”

“ไม่ใช่ ฉันเป็นคนไทย”

“เซียมมัวส์?” (คนไทย) หล่อนย้อนถาม “ดิฉันชอบคนไทย ดิฉันเคยรู้จักมาแล้วคนหนึ่ง เราเต้นรำกันที่นี่แทบทุกคืนเมื่อหกเดือนเศษมานี้ เธอรู้จักเจ้าชาย-แห่งสยามไหมคะ?”

“รู้จัก โอเด็ตต์” ข้าพเจ้าตอบ “แต่ไม่รู้จักดีนัก”

“เขาเป็นเจ้าชายที่ดีที่สุดในโลกของดิฉัน” หล่อนออกอุทาน.

“บอบบี้” อาร์โนลด์พูดกับข้าพเจ้า “นี่ก็เกือบ ๑ น. แล้ว กันจะต้องไป, โอเรอวัวย์” พูดแล้วก็โน้มศีรษะคำนับหญิงทั้งสองเดิรออกจาก ‘คาเฟ’ ไป.

“เมสิเออร์” โอเด็ตต์พูด “ดิฉันได้ยินเพื่อนเธอเรียกเธอว่า บอบบี้ เป็นชื่อที่ง่าย ดิฉันดีพอสำหรับจะเป็นเพื่อนกับเธอไหมคะ?”

“แน่นอน” ข้าพเจ้าตอบ.

“งั้นดิฉันจะต้องเรียกเธอว่า บอบบี้ ตกลงนะคะ”

“ได้ โอเด็ตต์”

ข้าพเจ้าเต้นรำอยู่กับเด็กหญิงรูปงามผู้นี้จนดึก หล่อนเป็นคนช่างพูด ช่างเอาใจ ช่างฉอเลาะ ไม่พูดถึงเรื่องเงินทอง หล่อนเล่าถึงชีวิตของหล่อนในปารีส หล่อนมีบ้านเดิมอยู่ชนบท-เมืองลียอง พึ่งเข้ามาอยู่ในนครหลวงได้ปีเศษเท่านั้น ออกจากคาเฟเอมิลล์ โอเด็ตต์ชวนให้ข้าพเจ้านั่งรถยนตร์ขับเที่ยวกับหล่อน ฉอเลาะวิงวอนให้ข้าพเจ้าซื้อดอกไม้ให้หล่อนช่อหนึ่งซึ่งยายแก่กำลังยื่นมาให้ชมที่หน้าประตูโรงเต้นรำ ข้าพเจ้าปฏิบัติตามทุกอย่าง ว่าเช่ารถยนตร์ปิดหรูคันหนึ่งขับเที่ยวไปกับ ‘หญิงปารีเซียน’ ตามถนนต่างๆ ในนครปารีสในยามราตรี เราผ่านชองส์เอลีเซ่ เอตัวล์ แล้วเข้าสวนหลวง บัวส์เดอบูลอย์น

ราวสามนาฬิกาเศษข้าพเจ้าก็พาโอเด็ตต์ไปส่งที่บ้านถนน อเวนิว เดอ กิโอโต หญิงนักสปอร์ตผู้นี้แปลก ระหว่างที่เที่ยวกับข้าพเจ้าจนเราอำลาจากกัน หล่อนไม่พูดถึงเรื่องเงินทองเลยแม้แต่คำเดียว ข้าพเจ้ายื่นให้หล่อนสองร้อยแฟรงค์ หล่อนปฏิเสธ พูดว่า “ดิฉันไม่ใช่คนเช่นนั้น” พอส่งหล่อนถึงบ้าน ตอนลงจากรถหล่อนพูดว่า “พบดิฉันที่คาเฟ่ เอมิลล์ พรุ่งนี้เวลา ๒๑ น. นะคะ บอบบี้?” ข้าพเจ้ารับรอง แล้วก็สั่งคนขับรถให้พากลับบ้าน.

สำหรับชายหนุ่มที่ไปปารีสด้วยความตั้งใจว่าจะไม่ไปเหลวใหล จะเอาชะนะปารีสให้ได้ด้วยความตั้งใจนี้ ชายหนุ่มเหล่านั้นพูดได้ต่อเมื่อยังไม่เคยไป ไม่เคยรู้จักนครหลวงแห่งประเทศฝรั่งเศสมาก่อน หารู้ไม่ว่าปารีสไม่เคยแพ้ใคร!

ข้าพเจ้าเข้าบ้านที่ถนนรูยลีโดเตย์อย่างเงียบกริบ เกรงว่าจะทำให้อาร์โนลด์ตื่น เข้าห้องปิดประตูนอนในชั่วเวลาเพียงสิบนาฑี ตื่นขึ้นเช้าข้าพเจ้าสีฟันล้างหน้าเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ถอดเครื่องแต่งตัวนอน ได้ยินเสียงอาร์โนลด์เคาะประตูเรียกเข้ามาว่า “บอบบี้ นี่เกือบเที่ยงแล้ว ออกมากินอะไรหรือยังเล่า? อาหารเสร็จแล้ว”

ข้าพเจ้าเปิดประตูเดิรออกมา พอมาถึงในห้องกินเข้าก็ตกตะลึง เพราะเห็นหญิงปารีเซียนรูปงามคนหนึ่ง สวมเครื่องแต่งตัวสำหรับนอนอันเป็นแพรสีชมพูอย่างหรู ยืนอยู่ที่หน้าเตาผิงไฟ.

“นี่เมียของกัน บอบบี้” อาร์โนลด์แนะนำหันไปทางหญิงนั้น สหายข้าพเจ้าพูดว่า “อีว็อน นี่เกลอแก้วของฉัน ชื่อบอบบี้”

ชั้นแรกข้าพเจ้ารู้สึกพิศวงใจที่สุด แต่สักครู่ก็หาย จับมือกับอีวอน แล้วก็นั่งโต๊ะ ตั้งต้นรับประทานอาหารเช้าเวลาเที่ยงวัน.

ละครแห่งชีวิต ท่านเอ๋ย! ละครแห่งชีวิตในนครปารีส! กร็องด์ปารีส์!

ที่เมืองนอก ธรรมเนียมมีอยู่ว่า ถ้าชายสองคนอยู่บ้านเดียวกัน แบ่งการใช้จ่ายออกเป็นส่วนเมื่อมีสิทธิ์อยู่เท่ากันเช่นนี้ ฝ่ายหนึ่งจะทำอะไรซึ่งออกจะนอกแบบนอกแผน ก็ต้องอย่างน้อยบอกกล่าวอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน บ้านที่เราอยู่ด้วยกันนั้น ต้องเป็นสถานแห่งความสุขและความเกรงใจ ทีแรกข้าพเจ้ารู้สึกฉิวอาร์โนลด์ในการที่นำเอาหญิงเช่นอีว็อนมาอยู่โดยไม่บอกกล่าวให้ข้าพเจ้าทราบเสียก่อนแม้แต่คำเดียว ใครๆ ก็ทราบดีแล้วว่า อีว็อนเป็นคนชะนิดใด แต่ข้าพเจ้าเก็บเอาความโกรธอันนี้ไว้ มิได้พูดให้อาร์โนลด์รู้.

แต่ปารีสต้องเป็นปารีสเสมอ! เมื่ออีว็อนอยู่กับเรามาได้สองสามวัน ข้าพเจ้าก็เห็นได้ว่าหล่อนไม่ใช่เป็นคนมีนิสสัยอย่างที่ข้าพเจ้านึก ในหมู่ยาจกยังมีราชาแห่งพวกยาจกฉันใด ในหมู่คนเที่ยวก็ยังมีคนเช่นอีว็อน หล่อนเป็นหญิงสาวที่มีอัธยาศัยดี พูดจาเรียบร้อย เอาอกเอาใจเรา ทำของให้เรากินก็เก่ง จัดบ้านสะอาดหรูหราเสมอ หล่อนปรนนิบัติให้เราได้รับความสุข อาร์โนลด์เป็นสามีของหล่อนเดือนนี้ เดือนหน้าจะเป็นใครหนอ-? แต่สิ่งต่างๆ เป็นครื่องแสดงให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหล่อนรักอาร์โนลด์จริง ทำหน้าที่ของภรรยาได้เป็นอย่างดี และทำให้สามีชั่วคราวของหล่อนเป็นสุข.

ข้าพเจ้ารู้จักโอเด็ตต์มาเซลลา มาได้สี่วัน พบหล่อนเสมอตามภัตตาคารต่างๆ ในปารีส ความงามแห่งวงพักตร และอิริยาบถทุกประการของเด็กหญิงคนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าโอเด็ตต์ของข้าพเจ้าก็คงจะเป็นอีว็อนแห่งพวกหญิงนักเที่ยวอีกคนหนึ่งเป็นแท้ ข้าพเจ้าต้องการความสุข ความเอาอกเอาใจเช่นเดียวกับอาร์โนลด์ ทำไมข้าพเจ้าจะพาโอเด็ตต์ไปอยู่บ้านด้วยไม่ได้เล่า?”

“บอบบี้ ทำไมเธอจึงไม่พาโอเด็ตต์มาอยู่ที่นี่กับอีว็อนเล่า?” อาร์โนลด์ถาม “เธอจะสบายมากกว่าเดี๋ยวนี้หลายเท่าจริงๆ นะ อีกประการหนึ่งเวลาเราทำงานที่ออฟฟิศ อีว็อนจะได้ไม่หงอย”

ข้าพเจ้าตกลงใจเอาโอเด็ตต์มาอยู่ในคืนนั้น ข้าพเจ้าคาดถูก โอเด็ตต์มีนิสสัยดีเช่นเดียวกับอีว็อน และหญิงทั้งสองเข้ากันอย่างสนิทสนม.

อาร์โนลด์และข้าพเจ้าตกแต่งภรรยาชั่วแล่นของเราเสียหรู เราหาเงินมาได้ก็ใช้จ่ายในทางนี้เสียหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เวลาว่างจากสำนักงานที่ถนนรูย์สคริบย์ เรามักจะพาภรรยาไปซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวที่ถนนรูย์เดอลาเปส์ และกร็องด์บูลวาร์ด์ แต่งแม่สตรีทั้งสองนี้เสียงามเลิศราวกับเทพธิดา กลางคืนเราพาไปดูละครที่ออเปราคอมิค และบางทีก็ฟอลลีย์แบแยร์หรือคาซีโนเดอ ปารีส์ สนุกกันใหญ่ เย็นๆ เราพานั่งรถเที่ยวหรือเดิรเที่ยวในสวนหลวงแทบทุกแห่ง.

การที่ได้อยู่กับโอเด็ตต์ไปนานๆ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าชายใดหาภรรยาที่ต้องใจได้ เป็นหญิงที่ช่างปรนนิบัติ ช่างพูด ไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียวมากนัก ชายนั้นเป็นคนเคราะห์ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง โอเด็ตต์รู้จักข้าพเจ้า รู้ความต้องการ และ ‘รัก’ ข้าพเจ้ามากที่สุดเท่าที่หญิงปารีเซียนเช่นหล่อนจะรักได้ คำพูดของหล่อนทุกคำล้วนเป็นยาที่หวานหอม บางคราวอาจมีเฝื่อนบ้างแต่ก็เป็นยาที่ย้อมน้ำใจได้ดี ทุกเช้าพอข้าพเจ้าลืมตาก็เห็นภรรยาชั่วแล่นของข้าพเจ้านั่งอยู่ชิดกาย คอยจะให้ข้าพเจ้ารับประทานกาแฟซึ่งได้ตื่นขึ้นชงไว้ก่อน ข้าพเจ้าไม่เคยตื่นก่อนโอเด็ตต์เลยสักครั้งเดียว ทุกเช้าพอตื่นก็พบหล่อนแต่งตัวผัดหน้าผัดตาเสียเรียบร้อยแล้วเสมอ เข้าห้องน้ำ ก็พบเครื่องสีฟัน และน้ำอุ่นสำหรับอาบ ผ้าขน โสร่งเตรียมไว้พร้อม ออกจากห้องน้ำก็มีเครื่องแต่งตัววางอยู่บนเตียงให้เลือก เสร็จจากแต่งตัวก็เห็นโอเด็ตต์และอีว็อนเข้าห้องอาหาร กุลีกุจอเตรียมโต๊ะและเครื่องอาหารให้รับประทาน หญิงทั้งสองรู้จักวิธีหุงหา และสิ่งที่เรารับประทานล้วนมีรสต้องใจเราทั้งสิ้น เพราะหล่อนได้ถามเราเสียก่อนเวลาจัดทำ หนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ มีสาขาซึ่งเป็นสำนักของเราแห่งหนึ่งที่ถนนรูย์สคริบย์ เราต้องไปที่นั่นอย่างน้อยวันละสี่ชั่วโมง พอเรากลับเห็นโอเด็ตต์และอีว็อนไปรับที่หน้าประตูบ้าน ความเหน็ดเหนื่อยก็หายไปโดยฉับพลัน.

หล่อนสามารถทำให้เราได้รับความสุข ปรนนิบัติเอาอกเอาใจ ทำให้เราสนุก ‘รัก’ เรา อา ท่านเอ๋ย ! ความสุข.........ความคะนองของเด็กหนุ่มหญิงสาว ! กร็องด์ปารีส์ !

ชีวิตของเราดำเนิรไปอย่างราบรื่นเป็นเวลากว่าสามอาทิตย์ วันหนึ่งคนดูแลบ้านเอานามบัตรแผ่นหนึ่งมายื่นให้ พอแลปราดเดียวข้าพเจ้าก็สะดุ้งทั้งตัว เพราะในนั้นมีว่า มิสมาเรียเกรย์ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ