- เจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔
- ข้าพเจ้าขออุทิศกุศล
- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๒ ว่าด้วยประวัติพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๓ สมัยแรกพระพุทธสาสนาเปนประธานของประเทศ
- ตอนที่ ๔ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพระพุทธรูป
- ตอนที่ ๕ ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
- ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในคติมหายาน
- ตอนที่ ๗ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในนานาประเทศ
- ตอนที่ ๘ ว่าด้วยพระพุทธสาสนาในประเทศสยาม
- ตอนที่ ๙ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในสยามประเทศ
ตอนที่ ๕ ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
เมื่อล่วงรัชกาลแห่งพระเจ้ากนิษกะแล้ว กษัตริย์กุศานะราชวงศก็หย่อนอานุภาพลง ไม่สามารถปกครองราชอาณาเขตเปนพระเจ้าราชาธิราชอยู่ได้ แต่นั้นแผ่นดินอินเดียก็แยกกันเปนหลายราชอาณาเขต ต่างมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง มีอานุภาพมากบ้างน้อยบ้าง เปลี่ยนราชวงศบ้าง ตามเหตุการณ์ในประเทศนั้น ๆ สืบต่อมาอีกช้านาน หามีกษัตริย์พระองค์ใดได้เปนราชาธิราชอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระเจ้ากนิษกะไม่ ส่วนข้างสาสนาตั้งแต่พระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองขึ้นทางฝ่ายเหนือดังกล่าวมาแล้ว สงฆมณฑลในพระพุทธสาสนาก็ปรากฎต่างกันเปน ๒ นิกาย นิกายมหายานนับถือกันแพร่หลายทางฝ่ายเหนือ นิกายหินยานนับถือกันแพร่หลายทางฝ่ายใต้ แต่มิได้เบียดเบียนกันแลกัน๒๔ พวกพระสงฆ์กายหินยานขึ้นไปตั้งสำนักสั่งสอนอยู่ทางฝ่ายเหนือก็มี พวกพระสงฆ์นิกายมหายานลงมาตั้งสั่งสอนทางข้างฝ่ายใต้ก็มี แลในสมัยนั้นสาสนาพราหมณ์ซึ่งนับว่าเสื่อมมาช้านาน ก็เกิดมีคณาจารย์คิดแก้ไขคติสาสนาเปนลัทธิศิเวฏซึ่งนับถือพระอิศวรขึ้นแข่งพระพุทธสาสนา สาสนาไชนะของพวกเดียรถีย์ก็ยังสอนกันอยู่สืบมา แต่ถึงกระนั้นพระพุทธสาสนายังเจริญรุ่งเรืองกว่าสาสนาอื่นๆ
ว่าถึงส่วนตำนานพุทธเจดีย์ในระยะนี้ ตั้งแต่พระพุทธรูปเกิดมีขึ้นในคันธารราฐ ความนิยมบูชาพระพุทธรูปก็แพร่หลายลงมาทางข้างฝ่ายใต้ จนชาวมคธราฐแลมณฑลอื่น ๆ ละคติเดิมที่ถือว่าไม่ควรสร้างรูปเคารพ พากันเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูปทั่วไปในอินเดีย แต่แบบอย่างพระพุทธรูปซึ่งมาสร้างขึ้นข้างฝ่ายใต้ พวกช่างชาวมคธราฐไม่เห็นชอบด้วยความคิดของช่างโยนกหลายอย่าง ทั้งนี้ก็เปนธรรมดา คงค้านว่าเปนความคิดของคนต่างประเทศ พวกช่างชาวมคธราฐไม่ชอบลักษณพระพุทธรูปของช่างโยนกตรงไหน ก็คิดแก้ไขไปเปนอย่างอื่น เปนต้นว่าดวงพระพักตร ซึ่งทำเปนอย่างหน้าเทวรูปฝรั่งนั้น ก็แก้ไขมาให้งดงามตามลักษณชาวมัชฌิมประเทศ พระเกศาซึ่งช่างโยนกทำเช่นเส้นผมคนสามัญ ช่างชาวมคธราฐก็คิดแก้ไขทำให้เส้นพระเกศาวงเปนทักษิณาวัฏ ตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณข้อว่า อุทฺธคฺคโลโม แลเพิ่มมหาปุริสลักขณตามข้ออื่นๆ เข้าอีก อีกประการหนึ่งมาถึงสมัยเมื่อสร้างพระพุทธรูปกันแพร่หลายในมัชฌิมประเทศนั้น พวกที่ถือสาสนาพราหมณ์ก็คิดสร้างเทวรูปขึ้นตามเยี่ยงอย่างการสร้างพระพุทธรูปบ้าง ก็ลักษณรูปภาพในมคธราฐนั้น ถ้าเปนรูปเทวดาหรือเป็นรูปกษัตริย์ย่อมทำแต่งอาภรณ์กับตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ช่างจึงคิดทำรูปทรงส่วนตัวให้งดงาม อาศรัยเหตุนี้พวกช่างชาวมคธราฐเห็นว่าแบบพระพุทธรูปที่ทำครองผ้าเปนกลีบให้เหมือนห่มจริง ๆ เช่นชาวโยนกชอบทำนั้นเสียทรวดทรงพระพุทธรูปไปจึงคิดแก้ไขในข้อนี้ ทำแต่พอเปนเค้าให้เห็นเหมือนอย่างว่าครองผ้าบาง ๆ แลมักทำแต่ห่มดอง โดยประสงค์จะเอาความงามไปไว้ที่ทรวดทรงองค์พระพุทธรูป เปนแบบอย่างเกิดขึ้นในมคธราฐอีกอย่างหนึ่ง อนึ่งพระรัศมีซึ่งช่างชาวโยนกทำเปนประภามณฑลไว้ข้างหลังพระพุทธรูปนั้น พวกช่างชาวมคธราฐก็คิดแก้เปลี่ยนทำพระรัศมีเปนรูปเปลวบนพระเกตุมาลา บางทีจะเกิดขึ้นเมื่อคิดทำพระพุทธรูปตั้งเปนพระประธาน เพราะจะทำพระรัศมีอย่างประภามณฑลขัดข้อง จึงได้คิดแก้ไขไปเปนอย่างอื่น ส่วนกิริยาท่าทางพระพุทธรูปนั้น พวกช่างโยนกได้ตั้งแบบไว้แล้ว ๙ ปาง๒๕ คือ
๑ ปางสมาธิ ทำเปนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ๒๖ วางพระหัดถ์ขวาเหนือพระหัดถ์ซ้ายหงายซ้อนกันที่หน้าตัก หมายเรื่องพระพุทธประวัติตรงตรัสรู้ประโพธิญาณ เครื่องประกอบมักทำรูปเทวดาห้อมล้อม
๒ ปางมารวิชัย ทำเปนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ (เหมือนปางสมาธิ แต่) พระหัดถ์เบื้องขวาวางคว่ำที่ประเพลา ปลายนิ้วประหัดถ์ชี้ลงแผ่นดิน หมายเรื่องพระพุทธประวัติเมื่อทรงอ้างพระธรณีแปนพยานแก่พระยามาร เครื่องประกอบมักทำเปนรูปยักษ์มารหรือนางมาร
๓ ปางปฐมเทศนา ทำเปนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิก็มี นั่งห้อยพระบาท (เช่นนั่งเก้าอี้) ก็มี เครื่องหมายเปนสำคัญอยู่ที่พระหัดถ์เบื้องขวา ทำนิ้วพระหัดถ์กรีดเปนวงกลม เปนเครื่องหมายว่าพระธรรมจักร ส่วนพระหัดถ์เบื้องซ้ายนั้นทำประคองพระหัดถ์เบื้องขวาบ้าง วางบนพระเพลาบ้าง ถือชายจีวรบ้างไม่ยุติ เครื่องประกอบมักทำรูปวงล้อ (ธรรมจักร) กับรูปกวางในมฤคทายวันไว้ตรงพุทธบัลลังก์ แลบางทีมีรูปพระเบญจวัคคีกับรูปเทวดาด้วย พระพุทธรูปปางทรงเทศนาที่อื่นก็ทำพระหัดถ์เช่นว่ามาเหมือนกัน เปลี่ยนแต่เครื่องประกอบไปตามเรื่อง (พระพุทธรูปปางนี้ที่ไทยเอามาสมมตเรียกว่า พระคันธารราฐสำหรับขอฝน)
๔ ปางอุ้มบาตร ทำนั่งขัดสมาธิอย่างปางสมาธิ แต่พระหัดถ์ทั้งสองประคองถือบาตร
๕ ปางประทานอภัย (น่าจะเรียกว่าปางโปรดสัตว์) ยกพระหัดถ์เบื้องขวาตั้ง หันฝ่าพระหัดถ์ไปข้างหน้า (อย่างที่เรามักเรียกว่าพระห้ามญาติ) ส่วนพระองค์ทำเปนพระยืนก็มี เดิรก็มี นั่งขัดสมาธิก็มี
๖ ปางประทานพร ทำห้อยพระหัดถ์เบื้องขวา หันฝ่าพระหัดถ์ไปข้างหน้าเปนเครื่องหมาย แต่ส่วนพระองค์พระพุทธรูปนั้นทำนั่งขัดสมาธิก็มี ยืนก็มี เดิรก็มี ไม่ยุติ
๗ ปางมหาปาฏิหาร (คือยมกปาฏิหาร) ทำดอกบัวรองพระพุทธรูปเปนเครื่องหมาย๒๗ ส่วนพระพุทธรูปนั้น ทำนั่งก็มี ยืนก็มี พระหัดถ์มักทำเช่นเดียวกับปางปฐมเทศนา
๘ ปางลีลา ทำเปนพระพุทธรูปอาการกำลังก้าวพระบาททรงพระดำเนิร
๙ ปางปรินิพาน ทำเปนพระพุทธรูปบันทมตะแคงเบื้องขวา (อย่างที่เรามักเรียกกันว่า พระนอน หรือ พระไสยา)
ช่างชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้มาคิดทำพระพุทธรูปขึ้นอีกปาง ๑ คือปางนาคปรก เดิมทำพระยานาคเปนมนุษย์ มีรูปงู ๗ หัวเปนพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกศีร์ษะ กิริยาพระยานาคนั้นนมัสการพระพุทธเจ้า ชั้นหลังมาทำพระยานาคเปนรูปงูขดตัวเปนฐาน ตั้งพระพุทธรูปสมาธิบนนั้น ส่วนตอนหัวนาคชะเง้อขึ้นทางข้างหลังพระไปแผ่พังพานปรกอยู่ข้างบนพระพุทธรูป รูปอย่างนี้ดูเหมือนพวกชาวกาลิงคราฐข้างฝ่ายใต้จะคิดแก้ไขทำขึ้น หาแพร่หลายในมัชฌิมประเทศไม่
มีพระพุทธรูปปางอีกชนิดหนึ่ง ทำปลีกก็มี ทำเปนชุดก็มี กล่าวกันว่าเดิมเกิดขึ้นที่พระบริโภคเจดีย์ คือที่สังเวชนียสถานที่พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้ ๔ แห่ง กับที่ซึ่งนิยมกันว่าพระพุทธองค์ได้ทรงทำปาฏิหารอีก ๔ แห่ง เพราะเจดียสถานทั้ง ๘ แห่งนี้มีสับปรุษพากันไปบูชา (ทำนองเดียวกับที่ชาวเราขึ้นไปบูชาพระพุทธบาทตามระดูกาล) ปีละมาก ๆ พวกสัปรุษปราถนาจะใคร่ได้สิ่งอันใดอันหนึ่งเอามาเปนสำคัญหรือเปนคะแนน เก็บรักษาไว้เปนที่ระลึกว่าตนได้ศรัทธาอุสาหะไปถึงที่นั้น ๆ เมื่อมีประเพณีสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้น พวกที่อยู่ในท้องถิ่นแห่งพระบริโภคเจดีย์ก็คิดทำพระพุทธรูปปาง ซึ่งเนื่องด้วยพระบริโภคเจดีย์นั้น ๆ แกะพิมพ์ตีขึ้นไว้ตั้งร้อยตั้งพันสำหรับจำหน่ายแก่สัปรุษให้ซื้อหาได้ทั่วหน้าโดยราคาถูก จึงเกิดมีพระพิมพ์ขึ้นด้วยประการฉนี้ พระพิมพ์ที่ทำจำหน่ายณพระบริโภคเจดีย์ทั้ง ๘ แห่งนั้นเปนพระพุทธรูป ๘ ปางต่างกัน คือ
๑ ปางประสูติ ทำเปนรูปพระราชกุมารโพธิสัตว์ยืน มีรูปพระพุทธมารดาแลรูปเทวดาเปนเครื่องประกอบ
๒ ปางตรัสรู้ ทำพระมารวิชัยดังกล่าวมาแล้ว
๓ ปางปฐมเทศนา ทำดังกล่าวมาแล้ว
๔ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ มักทำเปนพระลีลา แต่ทำเปนพระยืนก็มี มีรูปพระพรหมกับพระอินทรอยู่สองข้างเปนเครื่องประกอบ
๕ ปางมหาปาฏิหาร ทำพระพุทธรูปมีดอกบัวรองหลายพระองค์ด้วยกัน มักมีรูปเทวดาแลรูปมนุษย์เดียรถีย์เปนเครื่องประกอบ
๖ ปางทรงทรมานช้างนาฬาคิรี ทำพระพุทธรูปลีลา มีรูปพระอานนท์แลรูปช้าง บางทีมีแต่รูปช้างเปนเครื่องประกอบ
๗ ปางทรงทรมานพระยาวานร ทำเปนพระพุทธรูปนั่งอุ้มบาตร มีรูปวานรเปนเครื่องประกอบ
๘ ปางมหาปรินิพาน ทำพระพุทธรูปบันทมอย่างกล่าวมาแล้ว มักมีรูปพระสถูปรูปพระสาวกแลรูปเทวดาเปนเครื่องประกอบ
พระพุทธรูป ๘ ปางนี้เลยถือกันเปนพระชุด ชอบสร้างรวมในศิลาแท่งเดียวกันให้ปรากฎทั้ง ๘ ปาง สันนิษฐานว่าจะเกิดแต่สับปรุษผู้ที่ได้พยายามไปบูชาพระบริโภคเจดีย์ครบทั้ง ๘ ปางแล้วสร้างขึ้นฉลองความศรัทธาอุสาหะ จึงเกิดประเพณีสร้างพระ ๘ ปางขึ้นในมัชฌิมประเทศ
การสร้างพระพิมพ์เมื่อแพร่หลายไปถึงประเทศอื่น ชาวประเทศนั้นๆเห็นเปนของสร้างง่ายก็ชอบทำตาม โดยประสงค์แจกจ่ายให้คนทั้งหลายได้พระพุทธรูปไปบูชาง่ายขึ้น แต่การสร้างพระพิมพ์ เมื่อมิได้อาศรัยพระบริโภคเจดีย์เปนมูลเหตุ ดังเช่นที่ในมัชฌิมประเทศ ประโยชน์ที่มุ่งหมายก็กลายเปนเพื่อจะสืบอายุพระสาสนาให้ถาวรเปนสำคัญ
อนึ่งเมื่อเกิดมีพระพุทธรูปแลเทวรูปเปนเจดียวัดถุขึ้นแล้ว พวกเดียรถีย์ที่ถือสาสนาไชนะก็คิดทำรูปศาสดาจารย์ของตนขึ้นเปนเจดียวัดถุบ้าง ทำคล้ายกับพระพุทธรูปผิดกันแต่ไม่มีผ้าครอง ด้วยตามคติของพวกเดียรถีย์ถือการเปลือยกายเปนศีลวัตอันหนึ่ง จึงทำรูปศาสดาจารย์เปนรูปนั่งสมาธิเปนพื้น.
-
๒๔. ความข้อนี้ปรากฎในจดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียน ซึ่งไปสืบสวนพระสาสนาในอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๙๔๒ ↩
-
๒๕. ว่าตามที่สังเกตพระพุทธรูปฝีมือช่างโยนก ซึ่งยังมีปรากฎอยู่ ↩
-
๒๖. พระพุทธรูปฝีมือช่างชาวคันธารราฐ ทำแต่ขัดสมาธิเพ็ชร ข้างชาวมัชฌิมประเทศมาคิดทำอย่างนั่งขัดสมาธิราบอีกอย่างหนึ่ง ↩
-
๒๗. แต่มาถึงชั้นช่างชาวมคธราฐชอบทำดอกบัวรองพระพุทธรูปปางอื่น ๆ ต่อไปอีก จึงเลยเกิดเปนแบบมีบัวหงายบัวคว่ำรองพระพุทธรูปแทบทุกอย่าง ↩