- เจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔
- ข้าพเจ้าขออุทิศกุศล
- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๒ ว่าด้วยประวัติพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๓ สมัยแรกพระพุทธสาสนาเปนประธานของประเทศ
- ตอนที่ ๔ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพระพุทธรูป
- ตอนที่ ๕ ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
- ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในคติมหายาน
- ตอนที่ ๗ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในนานาประเทศ
- ตอนที่ ๘ ว่าด้วยพระพุทธสาสนาในประเทศสยาม
- ตอนที่ ๙ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในสยามประเทศ
ตอนที่ ๓ สมัยแรกพระพุทธสาสนาเปนประธานของประเทศ
เมื่อพุทธกาลล่วงมาได้ราว ๒๐๐ ปี พระเจ้าอาเลกซานเดอ เมืองมสิโดเนียมีอานุภาพขึ้นในยุโรป ยกรี้พลพวกโยนก
ตรงนี้จะแสดงความวินิจฉัยแทรกลงสักหน่อย ด้วยเรื่องราชประวัติแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ก่อนกล่าวกันมาตามความที่ปรากฎในหนังสือเรื่องมหาวงศ ซึ่งพระมหานามเถรแต่งในลังกาทวีปเปนสำคัญ ครั้นภายหลังนักปราชญ์ตรวจค้นของโบราณในอินเดีย พบศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก อ่านได้ความแตกต่างกันกับที่กล่าวในหนังสือมหาวงศหลายข้อ อีกประการหนึ่ง ในเรื่องมหาวงศ เมื่อกล่าวถึงเหตุที่ทำให้พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสพระพุทธสาสนา มักอ้างไปในทางข้างปาฏิหาร มิได้พิจารณาพฤติการทางฝ่ายอาณาจักร จึงลองวินิจฉัยเหตุที่พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาดูในที่นี้ เห็นว่าแม้พระเจ้าอโศกจะทรงเบื่อหน่ายการทำศึกสงครามก็ดี ก็ยังคงเปนพระเจ้าราชาธิราชปกครองพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล หน้าที่ของพระราชามหากษัตริย์ยังมีประจำพระองค์อยู่ คือที่จะต้องระวังรักษาพระราชอาณาเขต มิให้อริราชศัตรูภายนอกบังอาจเข้ามาย่ำยี แลอย่าให้มีศัตรูภายในก่อการกำเริบขึ้น ครั้งนั้นพระเจ้าอโศกได้แผ่พระราชอาณาเขตกว้างขวางออกไปกว่าเดิมอีก ๒ มณฑล เรียกชื่อในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกว่ามณฑล “โตสาลี” (ซึ่งผู้ศึกษาโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะเปนแว่นแคว้นเธาลีในอาณาเขต โอริสสะ) มณฑล ๑ มณฑล “สุวรรณคิรี” (ซึ่งผู้ศึกษาโบราณคดียังหาหลักฐานไม่พบว่าจะเปนที่ไหน เข้าใจว่าจะอยู่มาทางข้างตวันออก
การที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภกยกพระพุทธสาสนาขึ้นเปนประธานสำหรับประเทศ แม้เนื่องในรัฏฐาภิปาลโนบายก็ดี แต่ปรากฎหลักฐานในที่ทั้งปวง มีคำจารึกของพระเจ้าอโศกทรงประกาศเองเปนต้น ว่าทรงเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาโดยแท้จริงอย่างมั่นคง ถึงได้อุทิศถวายพระองค์เปนอุบาสก แล้วได้เสด็จออกทรงผนวชเปนพระภิกษุภาวะอยู่คราวหนึ่ง (เปนต้นแบบอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินผู้เปนพุทธสาสนูปถัมภกในสมัยชั้นหลังต่อมา มีบางพระองค์ออกทรงผนวชชั่วคราวปรากฎจนในสยามประเทศนี้ เช่นพระมหาธรรมราชาลิทัย ซึ่งครองกรุงสุโขทัย แลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาเปนต้น) แล้วทรงพระราชอุสาหะเสด็จไปนมัสการถึงที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง แลทรงสร้างพุทธเจดียสถานขึ้นณที่ต่าง ๆ เปนอันมาก บันดาโบราณเจดีย์ไม่ว่าสาสนาใด ๆ ที่ปรากฎอยู่ในอินเดียจนทุกวันนี้ ของเก่าที่สุดล้วนเปนพุทธเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างทั้งนั้น ด้วยแต่ก่อนนั้นชาวอินเดียมักชอบสร้างแต่ด้วยเครื่องไม้ มาเริ่มสร้างเปนเครื่องศิลาในครั้งพระเจ้าอโศก จึงอยู่มาได้ถาวร
ข้อสำคัญอันเปนคุณแก่พระพุทธสาสนา ซึ่งพระเจ้าอโศกได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงนั้น ถ้าว่าโดยลักษณการก็เปน ๓ อย่าง คือการสังคายนาพระธรรมวินัยอย่าง ๑ การสอนพระพุทธสาสนาให้แพร่หลายไปยังนานาประเทศอย่าง ๑ กับการสร้างพุทธเจดีย์ด้วยอีกอย่าง ๑ เรื่องการสังคายนานั้นเดิมเมื่อพระเจ้าอโศกเริ่มทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนา พระภิกษุสงฆ์ในอินเดียยังต่างกันเปน ๒ นิกาย คือ เปนพวกที่ถือลัทธิเถรวาทนิกาย ๑ ถือลัทธิอาจริยวาทนิกาย ๑ เนื่องมาจากเหตุซึ่งเกิดขึ้นครั้งทำทุติยสังคายนาดังกล่าวมาแล้ว แต่เมื่อถึงสมัยชั้นนี้ยังเกิดถือลัทธิต่าง ๆ ในนิกายอันเดียวกัน นิกายหนึ่งมีลัทธิเรียกชื่อต่างๆ กันกว่าสิบลัทธิ พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสในพระโมคลีบุตรดิศเถร ผู้เปนสังฆนายกนิกายเถรวาทที่ถือลัทธิเรียกว่าวิภัชชวาที จึงทรงอุปการะยกย่องพระสงฆ์ซึ่งเปนสหธรรมิกแห่งพระโมคลีบุตรดิสเถร ในหนังสือมหาวงศกล่าวว่า เมื่อพวกเดียรถีย์เห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ได้ลาภสักการต่าง ๆ แต่ราชสำนัก ก็พากันเข้าปลอมบวชเปนพระภิกษุเปนอันมาก จนเปนเหตุให้เกิดรังเกียจกันขึ้นในสงฆมณฑล ความทราบถึงพระเจ้าอโศกมหาราช จึงให้พิจารณาด้วยการไล่เลียงคติ ถ้าภิกษุรูปใดแสดงคติวิปลาศเห็นพิรุธก็ให้สึกเสียจนสิ้นมลทินในสงฆมณฑลแล้ว จึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ มีพระโมคลีบุตรดิสเถรเปนประธาน ให้ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยที่กรุงปาตลีบุตรมหานครราชธานีอีกครั้งหนึ่ง นับเปนครั้งที่ ๓ เรียกว่า “ตติยสังคายนา” เรื่องตรงนี้สันนิษฐานว่าเหตุที่แท้เห็นจะเกิดแต่ข้อที่พระสงฆ์แตกกันเปนนิกายเถรวาทแลอาจริยวาท มาแต่ครั้งทำทุติยสังคายนานั้นเอง ในระยะเวลา ๑๐๐ ปีตั้งแต่แตกกันมานั้น พวกภิกษุสงฆ์นิกายอาจริยวาทเห็นจะแก้ไขพระธรรมวินัยให้ฟั่นเฟือนหนักขึ้นอีกจนสงฆ์ ๒ นิกายกลายเปนนานาสังวาสร่วมสังฆกรรมกันไม่ได้ เห็นจะเปนด้วยเหตุนี้ พระเจ้าอโศกจึงให้กำจัดภิกษุพวกอาจริยวาทเสียจากสงฆมณฑล
พระธรรมวินัยที่สาธยายในครั้งทำตติยสังคายนาครั้งที่ ๓ ใช้ภาษามคธ วิธีสังคายนาที่ทำก็เห็นจะเปนทำนองเดียวกับที่ได้ทำมา ๒ ครั้งแต่ก่อน จะผิดกันเปนข้อสำคัญก็แต่ที่ต้องเลือกคัดวาทะอื่นซึ่งมีแซกแซงในพระธรรมวินัยออกเสียเปนอันมาก คงไว้แต่ที่เชื่อว่าตรงตามวาทะซึ่งพระอริยสาวกได้เรียบเรียงไว้เมื่อครั้งทำปฐมสังคายนาแล้วท่องจำสั่งสอนกันสืบมา ด้วยในสมัยครั้งพระเจ้าอโศกนั้น ก็ยังมิได้เขียนพระไตรปิฎกลงไว้เปนตัวอักษร ถึงกระนั้นก็เปนประโยชน์ยั่งยืนมาจนกาลบัดนี้ เพราะพระธรรมวินัยไตรปิฎกอันเปนภาษามคธตามระเบียบซึ่งทำตติยสังคายนาแพร่หลายไปถึงนานาประเทศ พร้อมกับพระพุทธสาสนาไปประดิษฐานแต่เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกยังเปนหลักของพระพุทธสาสนาอยู่จนทุกวันนี้
เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชให้สอนพระพุทธสาสนาแพร่หลายไปยังนานาประเทศนั้น มีหลักฐานปรากฎทั้งในหนังสือมหาวงศแลในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก แต่รายการที่กล่าวผิดกันชอบกล ในหนังสือมหาวงศกล่าวว่า พระเจ้าอโศกทรงอาราธนาให้พระสงฆ์ไปเที่ยวสอนพระสาสนา แสดงนามพระสงฆ์แลนามประเทศที่ไปสอนไว้ดังนี้ คือ
๑ ให้พระมหาเทวเถรไปยังมหิสมณฑล (คือแว่นแคว้นข้างใต้ลำน้ำโคทาวารี อันเปนประเทศไมสอบัดนี้)
๒ ให้พระรักขิตเถรไปยังวันวาสีประเทศ (คือแว่นแคว้นกะนาราเหนือ อันเปนเขตเมืองบอมเบบัดนี้) แห่ง ๑
๓ ให้พระธรรมรักขิตเถรไปยังปรันตปะประเทศ (คือแว่นแคว้นตอนชายทะเลข้างเหนือเมืองบอมเบบัดนี้) แห่ง ๑
๔ ให้พระมหาธรรมรักขิตเถรไปยังมหารัฐประเทศ (คือแว่นแคว้นข้างยอดลำน้ำโคทาวารี) แห่ง ๑
๕ ให้พระมัชฌันติกะเถรไปยังกัสมิระแลคันธาระประเทศ (คือที่เรียกว่าประเทศแคชเมียแลอาฟฆานิสถานบัดนี้) แห่ง ๑
๖ ให้พระมัชฌิมเถรไปยังหิมวันตประเทศ (คือมณฑลที่ตั้งอยู่เชิงเขาหิมาลัย มีเนปาลราฐเปนต้น) แห่ง ๑
๗ ให้พระมหารักขิตเถรไปยังโยนโลกประเทศ (คือเมืองที่พวกโยนกได้มาเปนใหญ่ อยู่ในแดนประเทศเปอเซียบัดนี้) แห่ง ๑
๘ ให้พระมหินทรเถร อันเปนราชบุตรของพระเจ้าอโศก ไปยังลังกาทวีป แห่ง ๑
๙ ให้พระโสณะเถร กับพระอุตรเถร ไปยังสุวรรณภูมิ
ความซึ่งกล่าวในหนังสือมหาวงศมีหลักฐานที่พบอัฐิธาตุณเจดียคิรี (ในหมู่พระสาญจิเจดีย์) ในอินเดีย มีหนังสือจารึกบอกไว้ที่ผะอบว่าเปนอัฐิธาตุของพระมัชฌิมเถร ผู้เปนสังฆนายกในหิมวันตประเทศดังนี้ จึงฟังได้ว่าเปนความจริงส่วนหนึ่ง
ส่วนศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมิได้กล่าวถึงการที่ให้พระสงฆ์ไปเที่ยวสอนพระสาสนา แต่กล่าวว่าได้ให้ราชทูตเชิญพระธรรมไปแสดงถึงนานาประเทศ บอกนามไว้ตรงกับประเทศตริโปลี อียิปต์ สิเรีย ตลอดจนถึงประเทศครีสแลมสิโดเนียในยุโรป เหตุที่กล่าวแตกต่างกันดังนี้ สันนิษฐานว่าเห็นจะเปนเพราะท่านผู้แต่งหนังสือมหาวงศได้ฟังแต่เรื่องส่วนที่เกี่ยวด้วยพระภิกษุสงฆ์ ฝ่ายการที่จารึกศิลา (แผ่นนั้น) ประสงค์จะแสดงพระเกียรติแก่มหาชนในพระราชอาณาจักร จึงตัดเอาแต่เรื่องซึ่งแต่งราชทูตไปแสดงคุณพระพุทธสาสนายังนานาประเทศมาประกาศ เมื่อพิจารณาดูหลักฐานทั้งปวงที่ปรากฎอยู่ สอบกับภูมิแผนที่แลคิดสันนิษฐานประกอบ เห็นว่าลักษณการที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้สอนพระพุทธสาสนาไปยังนานาประเทศ น่าจะเปนเช่นกล่าวต่อไปนี้
คือพระเจ้าอโศกทรงบำรุงพระพุทธสาสนาเนื่องในรัฏฐาภิปาลโนบาย หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง ทรงพระราชดำริห์จัดวิธีปกครองขึ้นอย่างใหม่ให้พุทธจักรกับอาณาจักรเปนเครื่องอุปการแก่กัน คงลงมือจัดการปกครองอย่างนั้นในราชธานีแลมณฑลที่ใกล้ชิดติดต่อกับราชธานีก่อน แล้วขยายต่อออกไปเปนลำดับ ก็ในเวลานั้นชาวอินเดียถือพระพุทธสาสนาอยู่แพร่หลายในมัชฌิมประเทศมาแต่ก่อน พระสงฆ์ก็คงมีอยู่มากบ้างน้อยบ้างทั่วไปทุกบ้านทุกเมืองในมัชฌิมประเทศ แต่ส่วนปัจจันตประเทศที่อยู่ภายนอกออกไป พระภิกษุสงฆ์ซึ่งทรงศีลบริสุทธิ์ยังหามีไม่ พระเจ้าอโศกจึงทรงอาราธนาพระโมคลีบุตรดิศเถรให้จัดคณะสงฆ์ส่งออกไปยังเหล่าปัจจันตประเทศอันอยู่ในพระราชอาณาจักร ให้ไปอยู่สั่งสอนพระพุทธสาสนาแลให้อุปสมบทกุลบุตรตั้งสงฆมณฑลขึ้นในแว่นแคว้นนั้นๆ ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยประเทศทั้งหลายที่กล่าวนามไว้ในหนังสือมหาวงศอยู่ต่อแดนมัชฌิมประเทศเปนพื้น สงสัยแต่ประเทศที่เรียกว่า “โยนะโลก” กับ “หิมวันต์” บางทีจะเปนแต่ประเทศที่มีทางพระราชไมตรี มีรู้เรื่องได้แน่แต่ลังกาทวีป เวลานั้นเปนประเทศมีอิศระแก่ตน แต่พระเจ้าเทวานัมปิยดิศซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินเปนมิตรกับพระเจ้าอโศกมหาราช เหตุที่พระพุทธสาสนาจะไปประดิษฐานในลังกาทวีป กล่าวในหนังสือมหาวงศเจือไปข้างทางปาฏิหารมากนัก พิจารณาดูโดยภูมิแผนที่ประกอบกับเรื่องพงศาวดารเมืองลังกา สันนิษฐานว่าเพราะเมืองลังกามีพวกทมิฬเปนศัตรูตั้งอยู่ณประเทศปาณฑยแลประเทศโจละข้างปลายแหลมอินเดีย พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเห็นจะมุ่งหมายเอาอานุภาพพระเจ้าอโศกช่วยกีดกันศัตรู จึงขอแบบแผนวิธีปกครองซึ่งพระเจ้าอโศกทรงดำริห์ขึ้นไปจัดในลังกาบ้าง ข้อนี้น่าจะเปนต้นเหตุที่พระเจ้าอโศกส่งคณะสงฆ์ไปยังลังกาทวีป แลทรงเลือกพระมหินทรเถรอันเปนราชโอรสให้ไปเปนสังฆนายก เพราะเมืองลังกาเปนประเทศที่มีอิศระภาพ ชาวลังกาจะได้ยินดีแลเชื่อฟัง ครั้นการที่พระเจ้าอโศกทรงจัดวิธีปกครองอย่างใหม่ได้ผลดีดังพระราชประสงค์ มีกิติศัพท์เลื่องลือไปถึงนานาประเทศอันเปนมิตรไมตรีที่อยู่ไกล ผู้ปกครองประเทศนั้นจะชมหรือทูลถามมายังพระเจ้าอโศก ๆ จึงได้ทรงแต่งราชทูตให้ไปชี้แจงจนถึงยุโรป แต่ประเทศเหล่านั้นถือขนบธรรมเนียมแลสาสนาเปนอย่างอื่นมาช้านานไม่เลื่อมใส พระพุทธสาสนาจึงมิได้แพร่หลายไปจนยุโรปแต่สมัยครั้งนั้น
เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพุทธเจดีย์นั้น ข้อสำคัญซึ่งมีผลยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ ๒ อย่าง คือการแจกพระบรมธาตุอย่าง ๑ กับคิดแบบอย่างเจดียสถานอย่าง ๑ เรื่องแจกพระบรมธาตุนั้นความปรากฎว่าพระเจ้าอโศกได้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูรักษาไว้ณเมืองราชคฤหมหานคร แล้วแบ่งแจกไปบัญจุในพระสถูปทั้งหลาย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยเมื่อทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนาอีกมากมายหลายแห่ง (กล่าวโดยนัยว่าแปดหมื่นสี่พันแห่ง) เปนเหตุให้พระธาตุเจดีย์มีแพร่หลายแต่นั้นมา ถ้าว่าตามความสันนิษฐาน เห็นว่าเมื่อพระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนา มีพุทธบริษัทขึ้นมากกว่าแต่ก่อนอีกเปนอันมาก จะไปบูชาพระบริโภคเจดีย์ ๔ แห่งซึ่งมีมาแต่เดิมไม่ได้ทั่วถึงกัน ในเวลานั้นพระสถูปธาตุเจดีย์เดิมทั้ง ๘ แห่งก็ชำรุดซุดโซมสูญหายไปเสียหลายแห่ง พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระราชประสงค์จะให้พระบรมธาตุอยู่ถาวร แลให้พุทธบริษัทได้บูชาเจดียวัดถุที่เนื่องกับพระพุทธองค์ได้สดวกทั่วกัน จึงทรงรวบรวมพระบรมธาตุแบ่งใหม่ให้เปนส่วนละน้อย บัญจุไว้ที่ในพระสถูปเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้างณที่ต่างๆ บ้าง นอกนั้นเมื่อบ้านใดเมืองใดสร้างพุทธเจดีย์ขึ้นเห็นมั่นคงจะอยู่ได้ถาวร ก็ประทานพระบรมธาตุให้ไปบัญจุไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับพุทธบริษัทในบ้านนั้นเมืองนั้นจะได้สักการะบูชา การสร้างพระธาตุเจดีย์ก็แพร่หลายมาแต่ครั้งนั้น ตลอดไปจนถึงความนิยมที่สร้างพระสถูปเจดีย์ด้วย
แบบอย่างพระสถูปเจดีย์ที่สร้างครั้งพระเจ้าอโศก มักสร้างด้วยอิฐแลศิลาเปนของถาวร ยังปรากฎเค้าเงื่อนอยู่จนปัจจุบันนี้หลายแห่ง มักทำตัวสถูปกลมรูปทรงเหมือนโอหรือขันน้ำคว่ำ ข้างบนทำเปนพุทธอาสน์สี่เหลี่ยม
แบบอย่างการสร้างพุทธเจดีย์ที่เกิดขึ้นครั้งพระเจ้าอโศกอีกอย่างหนึ่งนั้น คือมักจำหลักลวดลายที่รั้วเขื่อนแลฐานพระสถูปเปนรูปภาพ เรื่องชาดกบ้าง เรื่องพระพุทธประวัติบ้าง ให้มหาชนทราบด้วยยังไม่มีหนังสือจะอ่านทราบเรื่องกันได้แพร่หลาย แต่ในสมัยนั้นที่ในอินเดียยังถือประเพณีอันมีมาแต่ก่อนพุทธกาลอย่าง ๑ คือถือว่าไม่ควรทำรูปเคารพ เพราะฉนั้นในลวดลายที่ทำเรื่องพระพุทธประวัติ แห่งใดจะต้องทำพระพุทธรูป ที่ตรงนั้นจึงคิดทำรูปสิ่งอื่นแทน พอเปนเครื่องหมายแทนพระพุทธรูป เปนต้นว่าในเรื่องตอนก่อนตรัสรู้ มักทำรูปภาพเปนรอยพระพุทธบาทหรืออาสนเปล่า เช่นเรื่องตรงเสด็จออกพระมหาภิเนษกรมณ์ก็ทำเปนแต่ม้าผูกเครื่องอานเปล่า ตรงที่ตรัสรู้ก็ทำเปนรูปพระพุทธอาสนเปล่าตั้งอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ตรงที่ประทานปฐมเทศนาทำเปนรูปกงจักร (หมายความว่าพระธรรมจักร) แลมีรูปกวางอยู่ด้วย แลตรงที่เสด็จดับขันธปรินิพาน ทำเปนรูปพระสถูปที่บัญจุพระบรมธาตุแทนพระพุทธรูปฉนี้ เปนต้นตำราที่ทำรอยพระพุทธบาท กงจักร (เช่นมีณพระปฐมเจดีย์) พระแท่น แลฐานชุกชีที่มักทำในโบสถ์วิหารแลพระสถูปขนาดน้อย เปนพุทธเจดีย์ณที่อื่นๆ นับในอุเทสิกะเจดีย์ต่อมา แต่ในสมัยพระเจ้าอโศกแลต่อมาอีกช้านานประมาณกว่าร้อยปี พระพุทธรูปยังหาเกิดมีขึ้นไม่
-
๑๑. คือฝรั่งชาติคริ๊ก ที่ชาวอินเดียเรียกว่า ยะวนะ หรือ โยนก มาแต่คำ Iavon หรือ Iôn ภาษาคริ๊ก ↩
-
๑๒. บางทีจะเปนแห่งเดียวกับที่เรียกในหนังสือมหาวงศว่า “สุวรรณภูมิ” ↩
-
๑๓. มีความปรากฎในจารึกของพระเจ้าอโศกว่าให้สึกพระภิกษุทุศีล แต่ปรากฎในเรื่องประวัติพระพุทธสาสนาต่อมา ว่าพระเจ้าอโศกหากำจัดได้สิ้นเชิงไม่ ↩
-
๑๔. นามประเทศที่สันนิษฐานว่าจะเปนที่ไหนในปัจจุบันกล่าวตามวินิจฉัยของศาสตราจารย์วินเซนต์ เอ สมิท ↩
-
๑๕. ที่เรียกว่าสุวรรณภูมิประเทศนี้ พวกพม่ามอญอ้างเอาว่าเมืองสะเทิม อันเปนเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ แต่ไม่ปรากฎว่ามีสิ่งสำคัญอันใดสมกับคำอ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าอ้างเอาเมืองที่พระปฐมเจดีย์ยิ่งกว่า เพราะมีโบราณวัดถุ เช่นศิลาธรรมจักรเปนต้น ทันชั้นสมัยพระเจ้าอโศก แลมีชื่อเมืองสุพรรณภูมิอยู่เปนสำคัญ ↩
-
๑๖. มีสันนิษฐานกันอิกนัยหนึ่ง ว่าเปนรูปเรือน แทนศาลซึ่งปลูกด้วยไม้ในสมัยก่อนนั้น ↩