ตอนที่ ๙ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในสยามประเทศ

อาศรัยเหตุที่พระพุทธสาสนามาสู่สยามประเทศเปนหลายยุค แลเปนหลายลัทธิดังกล่าวมาแล้วในตอนที่ ๘ พุทธเจดีย์ที่มีปรากฎอยู่ในสยามประเทศ แบบอย่างจึงต่างกันเปน ๗ สมัย ดังจะสมมตชื่อเรียกต่อไปนี้ คือ

๑ สมัยทวาราวดี

๒ สมัยศรีวิชัย

๓ สมัยลพบุรี

๔ สมัยเชียงแสน

๕ สมัยสุโขทัย

๖ สมัยศรีอยุธยา

๗ สมัยรัตนโกสินทร

จะกล่าวอธิบายเปนลำดับไป ตามที่ได้พบเห็นตัวอย่างมีปรากฎอยู่

แบบสมัยทวาราวดี ประมาณว่าแต่ พ.ศ. ๕๐๐

พุทธเจดีย์สมัยทวาราวดีมีอยู่ที่เมืองนครปฐมมากกว่าแห่งอื่น เปนพุทธเจดีย์เก่าที่สุดที่มีในประเทศสยาม แลเชื่อได้ว่าได้แบบอย่างมาแต่มคธราฐ วัดถุที่สร้างเปนพุทธเจดีย์ในสมัยนี้เห็นจะมีทั้งธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ แลอุเทสิกะเจดีย์ ครบ ๔ อย่าง แต่ถือการสร้างพระธาตุเจดีย์เปนสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่น เนื่องด้วยการที่พระเจ้าอโศกมหาราชแจกพระบรมสาริริกธาตุ ไปประดิษฐานยังนานาประเทศดังกล่าวมาแล้ว ที่ในแขวงจังหวัดนครปฐมจึงมีสถูปอย่างใหญ่โตหลายองค์ คือพระปฐมเจดีย์เปนต้น พระสถูปที่สร้างในสมัยทวาราวดีใช้ก่ออิฐถือปูนปั้นลายประกอบ ไม่ก่อด้วยแลงหรือศิลาเหมือนพุทธเจดีย์ชั้นหลังต่อมา รูปสัณฐานพระสถูปซึ่งสร้างในสมัยนั้น๔๘ มีฐานทักษิณทำเปนสี่เหลี่ยม องค์พระสถูปกลมเปนทรงโอคว่ำ (ทำนองเดียวกับพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชทุกวันนี้) แต่ยอดเตี้ย ส่วนพระบริโภคเจดีย์สันนิษฐานว่า คงจะได้พรรณพระศรีมหาโพธิจากพุทธคยามาปลูกแต่ในสมัยนั้น เปนต้นประเพณีชอบปลูกต้นศรีมหาโพธิในสมัยต่อมา แต่ต้นเดิมสูญไปเสียไม่มีเค้าเงื่อนเหลือปรากฎอยู่ พระธรรมเจดีย์ในสมัยทวาราวดีชอบจารึกคาถาอริยสัจ “เย ธมฺมาฯ” เปนภาษามคธในเจดียวัดถุต่าง ๆ แม้จนจารึกแผ่นอิฐซึ่งใช้ก่อสร้างพระสถูป ส่วนพระบริโภคเจดีย์นั้นมีปรากฎอยู่หลายอย่าง มักทำด้วยศิลา ในสมัยชั้นก่อนมีพระพุทธรูปชอบทำเปนรูปกงจักร แลมีรูปกวางหมอบเหลียวหลังตั้งประกอบ ตามแบบที่ทำในอินเดียครั้งสมัยพระเจ้าอโศก๔๙ อิกอย่างหนึ่งทำเปนรูปพระสถูป (ฐานสี่เหลี่ยมองค์พระสถูปกลม) สัณฐานเหมือนบาตรคว่ำ ยอดทำคล้ายกับจานเถาวางซ้อนกันขึ้นไปเปนหลายชั้น๕๐ ของที่กล่าวมานี้มีอยู่ณพิพิธภัณฑสถานที่พระปฐมเจดีย์ สันนิษฐานว่าในพวกอุเทสิกะเจดีย์ที่เกิดมีขึ้นในสมัยทวาราวดี เห็นจะทำพุทธอาสน์ซึ่งเปนต้นเค้าของอาสนบูชาด้วยอีกอย่างหนึ่ง ครั้นถึงสมัยสร้างพระพุทธรูปก็สร้างตามแบบพระพุทธรูปอินเดีย ทำเปนพระประธานด้วยศิลาหรือปั้นด้วยปูนก็มี จำหลักพระพุทธรูปเปนภาพเครื่องประดับก็มี ทำเปนพระพิมพ์ก็มี ชอบทำพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา นั่งห้อยพระบาทเหมือนอย่างนั่งเก้าอี้อย่างหนึ่ง ทำพระพุทธรูปยืนกรีดนิ้วพระหัดถ์ข้างขวาเปนวง พระหัดถ์ซ้ายถือชายจีวร ตามแบบอินเดียว่าปางเสด็จลงจากดาวดึงส์อย่างหนึ่ง พระพุทธรูปยืนตั้งพระหัดถ์ข้างขวา ว่าเปนปางประทานพรอย่างหนึ่ง พระพุทธรูปปางยมกปาฏิหาร หรือที่เรียกตามแบบอินเดียว่าปางมหาปาฏิหาร ก็ชอบทำอีกอย่างหนึ่ง แต่มักทำเปนลายจำหลักแผ่นศิลา (เช่นที่ติดไว้ข้างหลังฐานพระศรีสักยมุนีที่วัดสุทัศน์) พระพุทธรูปปางอื่น เช่นปางประทานปฐมเทศนา ทำเปนลายจำหลักศิลาก็มีอยู่ที่พระปฐมเจดีย์

ในเรื่องแบบอย่างพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีมีประหลาทอยู่ข้อหนึ่ง ที่มีพระพุทธรูปลักษณอย่างเดียวกัน สร้างแพร่หลายไปจนถึงมณฑลนครราชสิมา ที่ลำน้ำมูลตำบลหนึ่งเรียกว่าวังปลัด อยู่ในท้องที่อำเภอผไทสง ในลำน้ำตรงนั้นมักงมพบพระพุทธรูปหล่อขนาดย่อม เปนพระนั่งสมาธิบ้าง พระยืนบ้าง ลักษณเปนพระพุทธรูปอย่างเดียวกับแบบทวาราวดีได้กล่าวมา สันนิษฐานว่าที่ตรงนั้นแต่เดิมเห็นจะเปนบ้านหล่อ หรือวัดเก่าอยู่ในสมัยเมื่อรับพระพุทธสาสนาไปจากกรุงทวาราวดี กงจักรที่ว่าพบในแขวงจังหวัดนครราชสิมาก็น่าจะเปนของเนื่องต่อสมัยนั้น ยังที่ดงศรีมหาโพธิในแขวงจังหวัดปราจิณบุรีอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีรอยเมืองโบราณ. ที่นั้นก็ขุดพบพระพุทธรูปลักษณอย่างทวาราวดี คือพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขนานพระนามว่า “พระนิรันตราย” นั้นเปนต้น เปนเค้าเงื่อนว่าอาณาเขตกรุงทวาราวดีจะแผ่มาถึงมณฑลปราจิณบุรีแลมณฑลนครราชสิมาในสมัยนั้น

สมัยศรีวิชัย ประมาณว่าแต่ พ.ศ. ๑๒๐๐

พุทธเจดีย์แบบสมัยนี้หายาก พบแต่ในมณฑลนครศรีธรรมราชเปนพื้น ที่พระปฐมเจดีย์มีบ้าง (เช่นรูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกกันว่า “รูปยายหอม”) แต่เห็นจะเปนของขนขึ้นมาจากข้างใต้ พุทธเจดีย์แบบสมัยศรีวิชัยสร้างตามลัทธิมหายาน เมื่อพระบรมธาตุหายากเสียแล้ว จึงมิได้ถือการสร้างพระธาตุเจดีย์เปนสำคัญเหมือนเมื่อสมัยทวาราวดี พุทธเจดีย์ซึ่งสร้างเปนหลักในสมัยศรีวิชัยมักทำเปนมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยอดเปนพระสถูป ดังเช่นพระมหาธาตุเมืองไชยายังมีอยู่เปนตัวอย่าง๕๑ พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช องค์เดิมก็สันนิษฐานว่าจะเปนเช่นเดียวกัน มณฑปซึ่งสร้างขึ้นในเมืองสวรรคโลก (เช่นวัดเจดีย์เก้ายอด) แลสร้างขึ้นในวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย เมื่อครั้งราชวงศพระร่วงเปนใหญ่ ก็สันนิษฐานว่าจะทำตามแบบศรีวิชัยที่กล่าวมา ฝีมือช่างศรีวิชัยทำภาพงามยิ่งนัก แต่ตัวอย่างมีอยู่มากในประเทศชวา ในประเทศสยามนี้แบบพระพุทธรูปอย่างศรีวิชัยพบแต่ที่ทำไว้เปนพระพิมพ์เปนพื้น รูปหล่อเปนขนาดใหญ่ พบแต่รูปพระโพธิสัตว์เมืองไชยาเก่าก็งามอย่างยิ่ง ในประเทศสยามนี้ยังมีพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์หล่อขนาดย่อม ๆ อยู่ตามพิพิธภัณฑ์สถานที่เปนส่วนของตัวบุคคล รู้ได้ว่าเปนแบบช่างศรีวิชัยอีกมาก แต่ทราบไม่ได้ว่าเดิมจะได้มาจากที่ใด พุทธเจดีย์สมัยศรีวิชัยนอกจากที่พรรณามา หาปรากฎว่ามีสิ่งใดในประเทศสยามไม่

สมัยลพบุรี ประมาณว่าแต่ พ.ศ. ๑๔๐๐

พุทธเจดีย์สมัยนี้มีปนกันทั้งฝ่ายลัทธิหินยาน (สถวีร) ซึ่งสืบเนื่องมาแต่สมัยทวาราวดี แลพุทธเจดีย์ฝ่ายลัทธิมหายานซึ่งมาแต่เมืองเขมรแลบางทีจะมาแต่ทางศรีวิชัยด้วย เจดียวัดถุมีมากมายหลายอย่างหลายแบบ หลักแห่งเจดียสถานแก้ไขมณฑปมาทำเปนปรางค์ บางแห่งทำปรางค์ใหญ่ อย่างเช่นที่วัดมหาธาตุเมืองลพบุรีบ้าง บางแห่งทำเปนปรางค์เรียงกัน ๓ องค์ เรียกว่าปรางค์ ๓ ยอค (ตั้งพระพุทธรูปไว้ตรงยอดกลาง ตั้งรูปพระโพธิสัตว์ไว้ตรงยอด ๒ ข้าง) พระสถูปทำแต่เปนอุเทสิกะเจดีย์ ขนาดย่อมลงมา แลแปลงรูปเปนทรงสูงมีเครื่องประดับ (ยังใช้เปนแบบอยู่ในกรุงกัมพูชาจนทุกวันนี้) ถึงสมัยนี้วัดถุเจดียสถานมักทำด้วยศิลาหรือแลง ต่อเปนของเล็กจึงหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ฝีมือดีทั้งช่างจำหลักศิลาแลช่างหล่อ

พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยลพบุรี มีทั้งพระศิลาพระหล่อแลพระพิมพ์ เกิดมีพระทรงราชาภรณ์หรือที่เรียกกันเปนสามัญว่า “พระทรงเครื่อง” ขึ้นในสมัยนี้ เพราะรับถือลัทธิมหายานซึ่งเชื่อว่ามีพระอาทิพุทธเจ้าประจำโลกพระองค์หนึ่งอีกต่างหาก จึงทำรูปพระอาทิพุทธเจ้าเปนพระทรงเครื่องให้ผิดกับพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ แบบพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งสร้างครั้งสมัยลพบุรีทำยักย้ายหลายอย่าง ทรงอุณหิศ (อย่างกระบังหน้า) ก็มี ทรงแต่จุฬาภรณ์ก็มี ทรงแต่กุณฑลกับฉลองศอก็มี อิริยาบถทำเปนปางต่างๆเช่นเดียวกับพระมนุษยพุทธเจ้า ผิดกันแต่เปนพระทรงเครื่องกับมิได้ทรงเครื่องราชาภรณ์เท่านั้น สันนิษฐานว่าจะเปนเพราะที่เมืองลพบุรีในสมัยนั้น คนถือพระพุทธสาสนามีทั้งถือลัทธิสถวีร (คือหินยาน) อย่างเดิม แลลัทธิมหายานซึ่งมารุ่งเรืองขึ้นใหม่ พวกที่ถือลัทธิหินยานชอบสร้างพระไม่ทรงเครื่อง พวกที่ถือลัทธิมหายานชอบสร้างพระทรงเครื่อง จะผิดกันด้วยเหตุเพียงเท่านั้นเอง แต่สังเกตดูพระพิมพ์สร้างสมัยลพบุรี สร้างตามคติมหายานเปนพื้น มีมากมายหลายอย่าง ทำเปนพระพุทธรูปนั่งในปรางค์ ๓ พระองค์ หมายเปนพุทธกายทั้ง ๓ ก็มี ทำรูปพระอาทิพุทธเจ้าเปนประธาน มีรูปพระมนุษยพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ๗ พระองค์เปนบริวารก็มี ทำพระพุทธรูปอยู่กลางรูปพระโพธิสัตว์อยู่ข้างก็มี ทำทั้งพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์มากมายหลายองค์ในแผ่นพิมพ์อันเดียวกันก็มี ลักษณพระพุททธรูปสมัยลพบุรีดูเหมือนจะเอาแบบทวาราวดีกับแบบขอมประสมกัน จึงเกิดเปนแบบขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยลพบุรี ดูชอบทำพระนั่งสมาธิมีพระนาคปรกหรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “พระนาคปรก” ยิ่งกว่าอย่างอื่น ทำด้วยศิลาตั้งแต่ขนาดใหญ่กว่าตัวคนลงมาจนขนาดย่อมที่หล่อเปนขนาดน้อย ๆ ก็มีมาก ได้พบตัวอย่างที่หล่อร่วมฐานติดกัน ๓ องค์ มีพระพุทธรูปนาคปรกอยู่กลาง รูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กรอยู่ข้างหนึ่ง รูปนางภควดีปัญญาบารมีอยู่ข้างหนึ่ง รูปทั้ง ๓ อย่างนี้ที่พบเปนปลีกก็มีชุกชุม สันนิษฐานว่าในปรางค์หรือวิหารของพวกถือลัทธิมหายานซึ่งสร้างในสมัยนั้น เห็นจะตั้งพระเปนชุด ๓ องค์เช่นกล่าวมา สังเกตดูพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสร้างในสมัยลพบุรีมีปางเหล่านี้เปนพื้น คือ

๑ ปางทรงนั่งสมาธิ มีนาคปรกบ้างไม่มีบ้าง

๒ ปางมารวิชัย

๓ พระยืนกรีดนิ้วพระหัดถ์ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

๔ พระยืนตั้งพระหัตถ์ปางประทานอภัย (ที่เรียกกันว่าพระห้ามสมุทร์)

๕ พระปาเลไลย แก้ไขมาแต่พระปางปฐมเทศนาแบบทวาราวดี รูปพระโพธิสัตว์ตามลัทธิมหายานในสมัยลพบุรีชอบสร้างแต่ ๒ องค์ คือ

๑ รูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร ทำอย่างเทวรูปสามัญ มีที่สังเกตแต่ที่มีพระพุทธรูปอยู่ตรงจุฬาธาตุ๕๒ ทำเปน ๒ กรบ้าง เปน ๔ กรบ้าง คล้ายรูปพระนารายณ์ แต่มือบน ๒ มือถือลูกประคำแลหนังสือ มือล่าง ๒ มือถือดอกบัวแลน้ำอมฤตอย่างนี้บ้าง ทำเปนมนุษย์หลายหน้า (ซ้อนกันอย่างหัวโขนทศกัณฐ์) หลายมือ หลายเท้าบ้าง

๒ รูปนางภควดีปัญญาบารมี ทำเปนรูปนางยกมือขวาถือหนังสือมือซ้ายถือดอกบัว ซึ่งมักเข้าใจกันไปว่า รูปนางอุมาภควดี

นอกจาก ๒ อย่างนี้ มิใคร่ทำรูปพระโพธิสัตว์องค์อื่นอย่างพวกทวาราวดีหรือชวา

พุทธเจดีย์ตามแบบสมัยลพบุรี สร้างแพร่หลายในประเทศสยามยิ่งกว่าแบบสมัยอื่น เพราะเนื่องกันกับแบบประเทศขอม แลสร้างสืบมาในสมัยเมื่อพวกขอมมาปกครองประเทศนี้ ทางตวันออกพุทธเจดีย์เปนแบบสมัยนี้ไปจนต่อแดนญวน ทางทิศเหนือแบบสมัยนี้มีสร้างขึ้นไปจนเมืองชเลียง (คือเมืองสวรรคโลกเก่า) เปนที่สุด ที่เมืองลำพูนก็ว่ามีพระพุทธรูปละโว้ แต่สังเกตดูเห็นเปนของขนขึ้นไปจากเมืองลพบุรีหาได้สร้างที่นั่นไม่ ทางตวันตกพุทธเจดีย์แบบลพบุรีมีสร้างลงไปเพียงเมืองเพ็ชรบุรี หาปรากฎว่ามีใต้ลงไปกว่านั้นไม่

สมัยเชียงแสน ประมาณแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐

พุทธเจดีย์แบบสมัยเชียงแสน มีมากอยู่ในอาณาเขตลานนา (มณฑลพายัพบัดนี้) ลักษณเปนของสร้างหลายยุคตามเรื่องพงศาวดารชั้นเดิมดูเหมือนชาวลานนาจะได้พระพุทธสาสนามาหลายทาง ที่ตรงมาจากอินเดียทีเดียวก็มีเค้าเงื่อนปรากฎอยู่ เช่นพระปรางค์วัดเจดีย์เจ็ดยอดซึ่งอยู่ทางข้างพายัพไม่ห่างเมืองเชียงใหม่นัก ก็จำลองแบบพระปรางค์ในอินเดียที่ตำบลต้นพระศรีมหาโพธิเมืองพุทธคยามาสร้าง เปนแต่ย่อส่วนให้เล็กลง พระปรางค์องค์นี้เปนหลักให้เห็นได้ว่า ที่ตรงเมืองเชียงใหม่ตั้ง เคยเปนเมืองมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ เห็นจะตรงกับเมืองที่เรียกในตำนานว่า “เมืองแม่ระมิง” แต่ร้างเสียในสมัยเมื่อตั้งเมืองหริภุญชัย (คือเมืองลำพูน) เปนราชธานี ครั้นพระเจ้าเมงรายไปสร้างราชธานีขึ้นที่นั่นอีกเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ จึงได้ชื่อว่าเมืองเชียงใหม่ พุทธเจดีย์สมัยที่กล่าวมานี้ นอกจากพระปรางค์วัดเจดีย์เจ็ดยอด ยังมีพระพุทธรูปของสร้างในอินเดียปรากฎอยู่ เช่นพระศิลาจำหลักปางปราบช้างนาฬาคิรี ยังรักษาไว้ที่วัดเชียงมั่นในเมืองเชียงใหม่ แลที่ขุดพบใหม่ณที่อื่นก็มี แต่สันนิษฐานว่าจะเปนของได้มาเมื่อชั้นพระพุทธศักราชกว่า ๑๐๐๐ ปี ไม่เก่าถึงของครั้งสมัยทวาราวดีที่เมืองนครปฐม มาถึงสมัยเมื่อนางจามเทวีขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย ในตำนานว่าพาพระพุทธสาสนาขึ้นไปจากเมืองลพบุรี ความข้อนี้ก็ดูประหลาทที่ยังมีพุทธเจดีย์แบบสมัยลพบุรีปรากฎอยู่ เช่นพระพุทธรูปองค์ ๑ อยู่ในวัดมหาธาตุเมืองลำพูน เรียกกันว่า “พระละโว้” แลเชื่อกันว่าเปนพระซึ่งนางจามเทวีเชิญขึ้นไป๕๓ แต่พุทธเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเมื่อพวกชาวภุกามครั้งพระเจ้าอนุรุทธมหาราชมาปกครองเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ แลสมัยเมื่อชนชาติไทยได้ปกครองแล้วรับลัทธิพระพุทธสาสนาลังกาวงศมาประดิษฐานแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐ มา มีหลักฐานแลแบบอย่างปรากฎอยู่มากกว่าสมัยอื่น คติการสร้างพุทธเจดีย์ซึ่งพวกลังกาวงศนำมาสอนในประเทศนี้เปนอย่างไร ของดรอไว้แสดงอธิบายในตอนว่าด้วยพุทธเจดีย์สมัยสุโขทัยต่อไปข้างหน้า ในที่นี้จะกล่าวต่อไปแต่ฉเพาะพุทธเจดีย์ซึ่งสร้างในประเทศลานนา

๑ พระธาตุเจดีย์ที่ปรากฎอยู่ดูเหมือนจะสร้างในสมัยเมื่อรับลัทธิลังกาวงศมาแล้วทั้งนั้น พระสถูปสร้างเปนอย่างลังกาเปนพื้น ที่สร้างตามแบบอื่นมีบ้าง เช่นเจดีย์พระยืนที่เมืองลำพูน ดูเหมือนจะสร้างตามแบบอานันทเจดีย์ที่เมืองภุกาม๕๔ แต่พระสถูปที่สร้างชั้นแรกในสมัยเมื่อประเทศลานนายังมีกษัตริย์ปกครองเปนอิศระ ทรวดทรงงามเช่นพระเจดีย์หลวง (เดี๋ยวนี้พังเหลือแต่ครึ่งองค์) แลพระสถูปวัดพระสิงห์ที่ในเมืองเชียงใหม่ แลพระสถูปที่วัดเวียงสวนดอกเปนต้น พระสถูปที่สำคัญ เช่นพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุสุเทพ แลพระธาตุลำปางหลวง เดิมก็เห็นจะงาม (หรือบางทีจะทำแบบอย่างอื่นก็เปนได้) แต่เมื่อหักพังแล้วปฏิสังขรณ์กันขึ้นใหม่ในชั้นหลังต่อมาทำในสมัยเมื่อฝีมือช่างเสื่อมเสียแล้ว ก็กลายเปนรูปทรงอย่างเช่นเรียกกันว่า “พระเจดีย์ลาว” อยู่อย่างทุกวันนี้ ในเรื่องพระธาตุเจดีย์โบราณในมณฑลพายัพมีประหลาทอยู่แห่ง ๑ คือพระธาตุจอมทอง อยู่ข้างใต้เมืองเชียงใหม่ เดี๋ยวนี้ยังมีประเพณีเชิญพระบรมธาตุออกให้คนสรงน้ำแลบูชา แลมีเครื่องประโคม เครื่องยศ แลมีพระสถูปเปนเครื่องสรวมรักษาพระบรมธาตุเปนหลายชั้น ประดิษฐานไว้ในมณฑปน้อยในวิหาร เวลาเมื่อจะเชิญออกมีพิธีอาราธนาพระบรมธาตุ กิริยาเปนอย่างเดียวกันกับลักษณรักษาแลพิธีเชิญพระเขี้ยวแก้วออกให้คนบูชาที่เมืองลังกาไม่มีผิด ผู้ใดได้เคยเห็นทั้งสองแห่ง ต้องเชื่อทีเดียวว่าพระบรมธาตุที่จอมทองแลวิธีที่ปฏิบัติบูชาได้มาจากลังกา สมดังกล่าวในหนังสือตำนานศรีจอมทองว่าได้มาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๔

พระบริโภคเจดีย์ เดิมก็เห็นจะมีต้นโพธิ์พรรณพระศรีมหาโพธิพุทธคยา แลคงจะได้พรรณพระศรีมหาโพธิอนุราธบุรีที่เมืองลังกามาในชั้นหลังอีก ความนับถือต้นพระศรีมหาโพธิจึงเหมือนกับข้างฝ่ายใต้ นอกจากนั้นมีความเชื่อซึ่งได้มาแต่คติลังกาวงศ ว่าพระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงประเทศนี้ ตำนานซึ่งแต่งขึ้นในพื้นเมืองอ้างว่ามีที่พุทธบริโภคมากมายหลายแห่ง๕๕

พระธรรมเจดีย์ จารึกเช่น “เย ธมฺมา” ไม่ปรากฎว่ามีในประเทศลานนา ข้อนี้เปนหลักฐานอันหนึ่งซึ่งเห็นว่าพระพุทธสาสนาซึ่งมาประดิษฐานในประเทศลานนาแต่แรก มิได้ขึ้นไปจากกรุงทวาราวดีข้างใต้ แต่ว่าพระธรรมเจดีย์รุ่งเรืองในประเทศลานนาในสมัยเมื่อรับลัทธิลังกาวงศแล้วโดยนัยอันหนึ่ง ด้วยพระภิกษุสงฆ์ชาวลานนาไปเล่าเรียนพระปริยัติธรรมรู้แตกฉานมาแต่ลังกาทวีป แล้วมาสั่งสอนกันที่ในประเทศลานนา จนมีผู้เชี่ยวชาญสามารถแต่งหนังสือในภาษามคธได้ เช่นเรื่องชินกาลมาลินี แลมงคลทิปนีเปนต้น ยังมีหนังสือซึ่งชาวลานนาแต่งเปนภาษามคธปรากฎอยู่จนทุกวันนี้กว่าสิบคัมภีร์ แลปรากฎในพงศาวดารว่าถึงได้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในรัชกาลพระเจ้าติโลกมหาราชเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘-๒๐๒๐ แต่ดูเหมือนความรู้ภาษามคธจะรุ่งเรืองอยู่ในสมัยอันเดียวตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๕๐ มาจน พ.ศ. ๒๒๐๐ แล้วก็เสื่อมทรามลงเปนอันดับมา

อุเทสิกะเจดีย์ มีพระพุทธรูปเปนสำคัญ พระพุทธรูปที่สร้างในประเทศลานนา ว่าตามลักษณที่ยังมีปรากฎอยู่ ชั้นเดิมดูเหมือนตั้งใจจะจำลองตามแบบอย่างพระพุทธรูปอินเดีย แต่เมื่อความเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาแพร่หลาย มีผู้พอใจสร้างพระพุทธรูปมากขึ้น ช่างที่สร้างพระพุทธรูปก็เกิดต่างกันเปนสำนัก หรือต่างกันตามเมือง แก้ไขดวงพระพักตรพระพุทธรูปไปเปนแบบต่างกันหลายอย่าง แต่ละอย่างทำพระพุทธรูปตั้งแต่ขนาดใหญ่ลงไปจนขนาดน้อย ๆ แต่สังเกตได้ว่าเปนแบบช่างสำนักเดียวกัน พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนชั้นแรก พระยืนมีน้อย ชอบทำพระนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยเปนพื้น พระรัศมีทำเปนต่อมกลมบ้าง ทำเปนตอกบัวตูมบ้าง พระอุระนูนชายจีวรสั้น มีดอกบัวรองพระพุทธรูป เปนแบบเดียวกันแทบจะทั้งนั้น ครั้นมาถึงชั้นหลังแก้ไขไปหาแบบพระพุทธรูปลังกา ทำนั่งขัดสมาธิราบเปนปางสมาธิก็มี ปางมารวิชัยก็มี พระอุระแบนกว่าแบบก่อน ชายจีวรยาวลงมากว่าอย่างก่อน พระรัศมีทำเปนเปลวบ้าง คงเปนบัวตูมอย่างแต่ก่อนบ้าง มีบัวรองเหมือนอย่างแต่ก่อน บัวแบบเชียงแสนเปนที่สังเกตได้ด้วยไม่เหมือนกับแบบประเทศอื่น พระพุทธรูปชั้นหลังสร้างเปนปางอื่นออกไปก็หลายอย่าง แต่เปนปางตามคติลังกาวงศ

พระพุทธรูปเชียงแสนที่ทำเปนพระทรงเครื่อง เช่น “พระหริภุญชัยโพธิสัตว์” อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร คล้ายแบบพระสมัยลพบุรีก็มี ทำเปนพระทรงเครื่องราชาภรณ์อย่างลานนาก็มี เหตุที่สร้างพระทรงเครื่องในประเทศลานนาน่าสงสัยอยู่ ด้วยพระทรงเครื่องเกิดขึ้นในลัทธิมหายานดังกล่าวมาที่อื่นแล้ว พระพุทธสาสนาลัทธิมหายานไม่ปรากฎเค้าเงื่อนว่าได้แพร่หลายขึ้นไปถึงประเทศลานนา เหตุที่สร้างพระทรงเครื่องสันนิษฐานว่าเห็นจะสร้างตามตัวอย่างซึ่งได้ขึ้นไปจากข้างใต้ แลสร้างโดยเจตนาว่าเปนพระอนาคตพุทธเจ้า

การสร้างพระพุทธรูปในประเทศลานนา ประหลาทอยู่อย่างหนึ่งที่มักสร้างพระหล่อด้วยโลหะ ไม่ชอบทำด้วยศิลาอย่างเช่นที่เมืองลพบุรีหรือเมืองทวาราวดี ก็ในอาณาเขตประเทศลานนานั้นมิได้มีบ่อแร่โลหะเช่นดีบุกหรือทองแดงเปนต้น ต้องหาโลหะสำหรับหล่อพระพุทธรูปมาแต่ต่างประเทศ จะหามาอย่างไร แลได้มาจากที่ไหน ข้อนี้น่าพิศวงอยู่

อุเทสิกะเจดีย์ในประเทศลานนามีพระบาทอีกอย่างหนึ่ง พระบาทซึ่งเปนที่นับถือกันมาก ก็คือพระบาทสี่รอยณเมืองเชียงดาวแขวงจังหวัดเชียงใหม่ แลยังมีพระบาทรอยเดียวที่อื่นอีกล้วนสร้างเปนอุเทสิกะเจดีย์ทั้งนั้น

พุทธเจดีย์แบบเชียงแสนเปนต้นแบบอย่างต่อไปถึงประเทศลานช้าง คือเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันท์ ลงมาจนเมืองจำปาสัก ในท้องที่เหล่านี้ ว่าตามโบราณวัดถุที่ปรากฎอยู่ ชั้นเดิมพระพุทธสาสนาลัทธิหินยานอย่างทวาราวดีเห็นจะแผ่ไปถึงข้างตอนใต้ จึงมีที่หล่อพระพุทธรูปแบบนั้นที่วังปลัดในแขวงอำเภอพุทไธสง ดังกล่าวมาแล้ว แลมีพระเจดีย์ที่เมืองนครพนมอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าพระธาตุพนม เปนของแปลกหนักหนา พิเคราะห์ดูแบบอย่างแลฝีมือที่สร้าง จะว่าเปนของสร้างเมื่อครั้งไหนยังไม่มั่นใจ ด้วยไม่เหมือนกับที่ไหนหมด ทั้งรูปแลลวดลาย นอกจากนั้นยังมีปราสาทหินซึ่งสร้างเมื่อครั้งขอมเปนใหญ่ ทั้งสร้างในพระพุทธสาสนา แลในสาสนาพราหมณ์ แบบอย่างพุทธเจดีย์เชียงแสนเห็นจะพึ่งมาเกิดชอบสร้างตั้งแต่พระเจ้าชัยเชษฐามาตั้งเมืองเวียงจันท์เปนราชธานีเมื่อภายหลัง พ.ศ. ๒๐๕๐ แต่ฝีมือช่างลานช้างสู้ช่างลานนาไม่ได้ พระพุทธรูปลานช้างจึงกลายไปเปนอีกอย่างหนึ่งมักเรียกกันว่า “พระลาวพุงขาว”๕๖

สมัยสุโขทัย แต่ราว พ.ศ. ๑๘๐๐

เมืองสุโขทัยเมื่อก่อนกษัตริย์ไทยได้ปกครองตั้งเปนราชธานีของประเทศสยาม เปนเมืองขึ้นของกษัตริย์ขอมซึ่งครองเมืองลพบุรีอยู่ช้านาน ชาวเมืองเห็นจะถือพระพุทธสาสนาลัทธิมหายานอย่างเช่นที่ถือกันในเมืองลพบุรี ยังมีพุทธเจดีย์ซึ่งสร้างตามแบบอย่างเมืองลพบุรีปรากฎอยู่หลายแห่ง เช่นปรางค์สามยอดที่วัดพระพายหลวง อยู่นอกเมืองสุโขทัย (เก่า) ไปทางด้านเหนือแห่ง ๑ ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองเชลียง (เมืองสวรรคโลกเก่าข้างใต้) แห่ง ๑ ปรางค์วัดจุฬามณีข้างใต้เมืองพิษณุโลก๕๗แห่ง ๑ แต่เมื่อกษัตริย์ราชวงศพระร่วงได้เปนใหญ่ครองประเทศสยามณเมืองสุโขทัยนั้น ประจวบกับสมัยที่เริ่มเลื่อมใสพระพุทธสาสนาลัทธิลังกาวงศแพร่หลายในประเทศนี้ พุทธเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัยจึงสร้างตามลัทธิหินยานอย่างลังกาวงศทั้งนั้น

ลัทธิลังกาวงศเกิดขึ้นครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชฟื้นพระพุทธสาสนาในลังกาทวีป ด้วยทำสังคายนาพระไตรปิฎกเปนต้น เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๐๐ แต่นั้นลัทธิลังกาวงศก็รุ่งเรือง เลื่องลือเกียรติคุณมาถึงประเทศเหล่านี้ มีพระสงฆ์ไทย พม่า มอญ เขมร ไปศึกษา แลศรัทธาบวชแปลงเปนภิกษุลังกาวงศ แล้วพาลัทธินั้นมาประดิษฐานในประเทศของตน ดังได้กล่าวมาแล้วในที่อื่น ในที่นี้จะแสดงข้อวินิจฉัยในเรื่องลัทธิลังกาวงศเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นว่าผิดกับลัทธิอื่นด้วยเหตุอย่างไร คือลัทธิลังกาวงศเกิดขึ้นในสมัยเมื่อการถือพระพุทธสาสนาในอินเดียเสื่อมสิ้นเสียแล้ว ยังนับถือกันอยู่แต่ในประเทศอื่น แลถือแตกต่างกันเปนลัทธิมหายานบ้าง เปนลัทธิหินยานบ้าง มิได้มีการศึกษาติดต่อกับอินเดียเหมือนแต่ก่อน ต่างประเทศต่างสั่งสอนกันตามความรู้แลความสามารถของสาสนาจารย์ในประเทศนั้น ๆ ด้วยอาศรัยคัมภีร์พระไตรปิฎกอย่าง ๑ กับตำราอาจารย์อย่าง ๑ เปนหลักของพระสาสนาด้วยกันทุกประเทศ ส่วนพระไตรปิฎกนั้น พวกชาวประเทศธิเบต จีน แลญี่ปุ่น ซึ่งถือลัทธิมหายาน เอาไปแปลเปนภาษาของตนเอง ไม่ศึกษาฉบับภาษามคธหรือสันสกฤตซึ่งเกิดขึ้นในอินเดีย แต่ประเทศลังกาพม่ามอญถือลัทธิหินยาน ยังคงศึกษาพระไตรปิฎกภาษามคธ ฝ่ายประเทศเขมรถือลัทธิมหายาน แต่ศึกษาพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตซึ่งได้มาจากอินเดีย ส่วนประเทศสยามนี้ (ว่าตามสังเกตโบราณวัตถุที่มีปรากฎอยู่) อยู่ในระหว่างประเทศมอญกับเขมร เดิมถือลัทธิหินยาน แล้วนับถือลัทธิมหายานไปตามเขมร พระไตรปิฎกที่ศึกษาก็เห็นจะมีในประเทศสยามทั้งภาษามคธแลภาษาสันสกฤต แต่พระไตรปิฎกที่มีอยู่ในประเทศพม่ามอญไทยเขมรในสมัยนั้น จะเปนภาษามคธหรือภาษาสันสกฤตก็ตาม คงบกพร่องวิปลาศคลาดเคลื่อนแตกต่างกัน ตามธรรมดาของหนังสือในสมัยซึ่งอาศรัยแต่คัดเขียน แลยังมีเหตุที่ร้ายกว่านั้น คือเปนภาษาซึ่งชาวเมืองไม่เข้าใจด้วย การศึกษาพระสาสนาจึงต้องอาศรัยตำราอาจารย์ คือคำอธิบายบอกเล่าของครูบาอาจารย์เปนสำคัญ พระไตรปิฎกในสมัยนั้นเห็นจะมีบริบูรณ์อยู่แต่ในลังกาทวีป เพราะหนังสือพระไตรปิฎกเกิดขึ้นในเมืองลังกา แลพระพุทธโฆษาจารย์ได้ทำสังคายนาไว้ด้วยอีกชั้นหนึ่ง ดังปรากฎอยู่ในตำนานสังคายนา ครั้นพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชฟื้นพระพุทธสาสนาในลังกาทวีป เช่นให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกแล้วทำนุบำรุงพระสงฆ์ให้นิยมเล่าเรียนภาษามคธจนเชี่ยวชาญอ่านพระไตรปิฎกได้เองโดยมาก พระสงฆ์ลังกาในครั้งนั้นก็ย่อมทรงพระธรรมวินัย แลรอบรู้พุทธวจนะวิเศษกว่าพระสงฆ์ประเทศอื่น ๆ ด้วยประการฉนี้ ที่พระสงฆ์ไทย มอญ พม่า เขมร พากันไปศึกษาพระสาสนาในลังกาทวีปครั้งนั้น คือต้องไปเรียนภาษามคธจนรอบรู้แตกฉานด้วย หาไม่ก็ไม่สามารถอ่านพระไตรปิฎกจนล่วงรู้พระธรรมวินัยโดยลำพังตนได้ เพราะฉนั้นจึงปรากฎในตำนานว่า ออกไปศึกษาอยู่องค์ละหลาย ๆ ปี จนอาจนำความรู้ภาษามคธมาสอนในประเทศของตน แลการเรียนภาษามคธถือว่าเปนสำคัญในสงฆมณฑลสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ นับว่าเปนประโยชน์อันเกิดขึ้นแต่รับลัทธิสาสนาลังกาวงศมาคราวนั้น

แต่พระสงฆ์ในลังกาในสมัยนั้น แม้รอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ก็ยังเชื่อถือตำราอาจารย์ซึ่งสั่งสอนกันสืบมาในเรื่องอื่นอันอยู่นอกพระไตรปิฎกหลายอย่าง เปนต้นเชื่อว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จเหาะเหิรไปถึงนานาประเทศ แลรอยพระพุทธบาทซึ่งประเพณีเดิมครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทำบูชาแทนพระพุทธรูป ก็เชื่อว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบประดิษฐานไว้เองในที่บางแห่ง ความเชื่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้น คือที่เชื่อว่าพระบรมสาริริกธาตุ ส่วนซึ่งแจกไปไว้ณรามคามเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธสริรนั้น พระยานาคได้ไปไว้ยังนาคพิภพ แล้วสามเณรชื่อโสณุตรองค์หนึ่งในลังกาทวีป บันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ไปเอาพระบรมธาตุมาได้๕๘ เปนเหตุให้เชื่อกันว่าพระบรมสาริริกธาตุยังอาจหาได้ในลังกาทวีป แลมีตำราพระบรมสาริริกธาตุว่าลักษณเปนอย่างนั้น ๆ แม้แต่พอเห็นก็รู้ได้ว่าเปนของแท้หรือไม่แท้ นอกจากข้อนี้ยังมีคติอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นในตำราอาจารย์เมืองลังกา เมื่อลัทธิสาสนาลังกาวงศมาประดิษฐานในประเทศสยาม พามาทั้งวิธีการเล่าเรียนพระไตรปิฎกแลข้อปฏิบัติพระธรรมวินัย ตลอดจนตำราอาจารย์ที่เชื่อถือกันในลังกา ชาวประเทศนี้ก็รับเชื่อถือประพฤติตามหมดทุกอย่าง การสร้างพุทธเจดีย์ในสมัยสุโขทัยจึงสร้างตามคติลังกาเปนพื้น แต่ถึงกระนั้นพึงสังเกตเห็นอุปนิสัยของชนชาติไทยได้ ว่าไม่ทิ้งของดีของงามแม้เกิดขึ้นในลัทธิอื่น ยังคิดเลือกลักษณที่ดีงามจากช่างต่างสำนักมาประสมกัน เพราะฉนั้นจึงเกิดเปนแบบอย่างพุทธเจดีย์สุโขทัย อันควรนับว่าเปนฝีมือเอกอาจสู้สมัยอื่น ๆ ได้ พุทธเจดีย์ที่สร้างในสมัยสุโขทัยนั้น มีครบทั้ง ๔ อย่างตามตำรา ดังจะกล่าวต่อไปโดยลำดับ

พระธาตุเจดีย์ เมื่อล่วงสมัยทวาราวดีแล้ว การสร้างพระธาตุเจดีย์ก็เสื่อมมา ด้วยห่างจากสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระบรมธาตุเปนของหาไม่ได้เสียแล้ว แม้สร้างพระสถูปก็เปนแต่เครื่องประดับ เช่นทำเปนยอดมณฑปเปนต้น ครั้นมาถึงสมัยสุโขทัย เมื่อถือลัทธิลังกาวงศกลับเชื่อกันว่าพระบรมสาริริกธาตุหาได้ในลังกาทวีป จึงกลับนับถือการสร้างพระธาตุเจดีย์เปนสำคัญขึ้นอิกในสมัยนี้ ความข้อนี้มีปรากฎอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามกำแหงมหาราช ว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๑ ได้ขุดพระบรมธาตุขึ้นให้คนบูชา แล้วสร้าง “พระเจดีย์เหนือ” (คือที่เรียกกันว่า พระเจดีย์วัดช้างล้อม) บัญจุไว้กลางเมืองศรีสัชนาลัย (เมืองสวรรคโลกเก่าตอนเหนือ) แลยังมีจารึกของพระมหาธรรมราชาพญาลิไท เรื่องสร้างพระเจดีย์บัญจุพระบรมธาตุไว้ที่เมืองนครชุม (อยู่ที่ปากคลองสวนหมาก แขวงจังหวัดกำแพงเพ็ชร๕๙ กล่าวว่า “พระมหาธรรมราชาธิราชหากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม ในปี (พ.ศ. ๑๘๙๐) นั้น พระมหาธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามาญ คือพระธาตุแท้จริงแลเอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย” ดังนี้ พระธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัย ถ้าว่าโดยรูปสัณฐานทำอย่างพระสถูปลังกาแทบทั้งนั้น เลยเปนต้นแบบอย่างพระสถูปซึ่งสร้างกันสืบมาจนทุกวันนี้ บางองค์ที่เปนพระสถูปสำคัญมักทำรูปช้างโผล่หน้าครึ่งตัวล้อมรอบ ก็เอาแบบมาแต่พระเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐคามิณีมหาราชในลังกาทวีป

มีพระเจดีย์แบบสุโขทัยอย่างหนึ่ง ซึ่งยังตรวจไม่ได้ความว่าเปนของคิดขึ้นใหม่ในสมัยนั้น หรือได้แบบแผนมาแต่ไหน ทำเปนฐานสี่เหลี่ยมสามชั้นตั้งซ้อนกันขึ้นไป แล้วถึงองค์เจดีย์เหลี่ยมยอดเปนทรงเข้าบิณฑ์กลม พระเจดีย์อย่างนี้สร้างไว้ในเมืองสุโขทัยหลายองค์ คือพระเจดีย์กลางอยู่ในวัดมหาธาตุเปนต้น สร้างไว้ในเมืองศรีสัชนาลัยก็มี ที่เมืองตากเก่า เมืองนครชุม และเมืองไตรตรึงศ์ (ที่วังพระธาตุแขวงจังหวัดกำแพงเพ็ชร) ก็สร้างเจดีย์เช่นว่านั้นไว้ (เห็นควรเรียกว่าแบบพระเจดีย์สุโขทัย สันนิษฐานว่าเปนต้นแบบอย่างที่แปลงมาเปนพระเจดีย์เหลี่ยมอย่างเช่นสร้างไว้ในวัดพระเชตุพน) พระปรางค์เขมรแบบลพบุรีซึ่งมีมาแต่ก่อน ก็แก้เปนพระธาตุเจดีย์ในสมัยนี้ โดยทำพระสถูปน้อยบัญจุพระบรมธาตุตั้งไว้ในกลางคูหาแทนพระพุทธรูป อนึ่งประเพณีที่สร้างพระเจดีย์เปนที่บัญจุอัฐิธาตุของบุคคลไว้ตามวัด อย่างที่เรียกกันว่า “พระเจดีย์ราย” ก็สันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นแต่สมัยนี้เปนต้นมา ด้วยพระเจดีย์รายเช่นว่ามีอยู่ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวในเมืองศรีสัชนาลัยเปนที่สังเกต

พระบริโภคเจดีย์ ถึงสมัยนี้มิได้มีการคมนาคมกับอินเดียด้วยเรื่องพระพุทธสาสนาเหมือนแต่ก่อน ก็ต้องหันไปแสวงหาพรรณพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่เมืองอนุราธบุรีในลังกามาปลูก มีปรากฎอยู่ในจารึกของพระมหาธรรมราชาพญาลิไทซึ่งได้กล่าวมาแล้ว ว่าได้ต้นพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกาพร้อมกับพระบรมธาตุในครั้งนั้นด้วย ประเพณีที่นับถือโพธิ์ลังกามีมาแต่ในสมัยสุโขทัยมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงได้เมล็ดพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยามาเพาะปลูก (ที่วัดบวรนิเวศเปนต้น) แต่พึ่งได้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองพุทธคยามาปลูกในประเทศนี้ (ที่วัดเบญจมบพิตร) ต่อเมื่อรัชกาลที่ ๕

พระธรรมเจดีย์ เมื่อถึงสมัยสุโขทัย ประเพณีจารึกพระธรรม เช่นคาถา เย ธมฺมา ฯ ประดิษฐานเปนธรรมเจดีย์เลิกเสียแล้ว เพราะมาถึงสมัยนี้พระธรรมวินัยได้เขียนลงรักษาไว้เปนตัวหนังสือ จึงถือกันว่าพระไตรปิฎกเปนธรรมเจดีย์ เมื่อรับลัทธิลังกาวงศมาประดิษฐานในประเทศนี้ ส่วนพระธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเปนข้อสำคัญที่เลิกภาษาสันสกฤตมาถือภาษามคธเปนหลักตามแบบลังกา ดังกล่าวมาแล้วในที่อื่น คัมภีร์พระไตรปิฎกภาษามคธที่ถือเปนหลักพระสาสนาในประเทศสยามอยู่ทุกวันนี้ ควรนับว่าได้ฉบับมาจากลังกาทวีปแต่ในสมัยสุโขทัยเปนต้นมา แม้ในสมัยสุโขทัยนั้นก็มีหลักฐานว่าได้คัมภีร์พระไตรปิฎกมามาก ด้วยมีชื่อปรากฎอยู่ในบานแพนกหนังสือไตรภูมิ์พระร่วง ซึ่งพระมหาธรรมราชาพญาลิไททรงแต่ง บอกชื่อคัมภีร์เหล่านี้ไว้ รวมถึง ๓๐ คัมภีร์ คือ พระอัตถกถาพระจตุราค พระอัตถกถาฎีกาพระอภิธรรมวดาร พระอภิธรรมสังคห พระสุมังคลวิลาสินี พระปัญจสูทนี พระสารัตถปกาสินี พระมโนรถปุรณี พระสิโนโรถปกาสินี พระอัตกถาฎีกาพระธรรมวินัย พระธรรมบท พระธรรมมหากถา พระมธุรัตถปุรณีวิลาสินี พระธรรมชาดก พระชินาลังการ พระสารัตถทิปนี พระพุทธวงศ พระสารสังคห พระมิลินทปัญหา พระปาเลยยกะ พระมหานิทาน พระอนาคตวงศ พระจริยาปิฎก พระโลกบัญญัติ พระมหากัลป พระอรุณวัตติ พระสมันตปาสาทิกา พระจักษณาภิธรรม พระอนุฎีกาหิงธรรม พระสาริริกวินิจฉัย พระโลกุปปัตติ๖๐ ดังนี้ คัมภีร์ที่ปรากฎชื่อดังกล่าวมา ทุกวันนี้ยังคงอยู่บ้าง สูญไปเสียแล้วบ้าง ในเรื่องพระไตรปิฎกเมื่อสมัยสุโขทัยมีข้อความควรสังเกตอิกข้อหนึ่ง คือคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้มาจากลังกา เปนตัวอักษรลังกาเอามาคัดลอกแปลงเปนอักษรขอม แลคงใช้อักษรขอมต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร แม้เมื่อพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ทรงคิดแบบตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ก็ให้ใช้แต่เขียนภาษาไทย หาได้เขียนพระไตรปิฎกเปนอักษรไทยไม่

อุเทสิกะเจดีย์ สมัยสุโขทัยนับถือพระพุทธรูปเปนสำคัญ สังเกตดูพระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัย แบบอย่างดูเหมือนจะเปน ๓ คราว คือคราวแรกมักทำดวงพระพักตรกลม ตามแบบพระพุทธรูปลังกา (เช่นพระอัฏฐารศอยู่ในพระวิหารวัดสระเกศบัดนี้) ชั้นกลางเมื่อฝีมือช่างเชี่ยวชาญขึ้นคิดแบบขึ้นใหม่ ทำดวงพระพักตรยาว พระหณุเสี้ยม (เหมือนเช่นพระร่วง ที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญไปไว้ที่พระปฐมเจดีย์ แลพระสุรภีพุทธพิมพ์ ที่เปนพระประธานอยู่ในอุโบสถวัดปรินายก) พระพุทธรูปที่สร้างแบบนี้มีมากกว่าชั้นแรก มาคราวหลัง สันนิษฐานว่าเห็นจะเปนในรัชกาลพระมหาธรรมราชาพญาลิไท ซึ่งในตำนานกล่าวว่าเอาเปนพระราชธุระบำรุงกิจในพระสาสนายิ่งกว่ารัชกาลก่อน ๆ ให้เสาะหาช่างที่ฝีมือดีทั้งในอาณาเขตลานนาแลอาณาเขตข้างฝ่ายใต้มาประชุมปรึกษากัน และทรงสอบสวนหาหลักฐานพุทธลักษณในคัมภีร์พระไตรปิฎกประกอบ คิดสร้างพระพุทธรูปเพื่อจะให้วิเศษสุดที่จะทำได้ จึงเกิดแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยขึ้นอิกอย่างหนึ่ง เช่นพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ อันดวงพระพักตรเปนทำนองผลมตูม คล้ายแบบอินเดียเดิม แต่งามยิ่งนัก และแก้พุทธลักษณที่แห่งอื่น เช่นทำปลายนิ้วพระหัดถ์ยาวเสมอกันทั้งสี่นิ้วเปนต้น แบบพระพุทธรูปอย่างที่ทำกันแพร่หลายขึ้นไปจนข้างเหนือและลงมาข้างใต้ แต่ที่ทำได้งามเหมือนองค์พระพุทธรูปที่เปนต้นตำรามีน้อย

พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ทำในสมัยสุโขทัย ดูเหมือนจะไม่มีตำราพระปางอย่างอินเดีย จึงหันไปชอบทำปางตามพุทธอิริยาบถ คือพระนั่ง พระนอน พระยืน พระเดิร พระนั่งทำปางมารวิชัยกับสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบทั้งสองอย่าง พระนอนไม่ถือว่าเปนปางนิพานอย่างอินเดีย พระยืนมีแต่ปางประทานพร ยกพระหัดถ์ข้างเดียวบ้างสองข้างบ้าง สมมตเรียกกันว่า ปางห้ามสมุทรแลห้ามญาติ พระเดิรไม่ได้ถือว่าเปนปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ พระกรีดพระหัดถ์แสดงเทศนาไม่ทำเลยทีเดียว พระพุทธรูปแบบสุโขทัยทำชายจีวรยาว พระรัศมีเปนเปลว พระแบบที่สร้างสองคราวแรกนิ้วพระหัดถ์ไม่เท่ากัน แบบคราวหลังจึงทำนิ้วพระหัดถ์ยาวเท่ากันทั้งสี่นิ้ว แบบบัวรองพระพุทธรูปเปนอย่างสุโขทัยอย่างหนึ่งต่างหากไม่เหมือนกับบัวเชียงแสน ว่าโดยทัพสัมภาระที่สร้างพระพุทธรูปตามที่สังเกตดูในเมืองสวรรคโลก สุโขทัย แลกำแพงเพชร ชั้นเดิมสร้างเปนพระก่อแล้วปั้นประกอบเปนพื้น มาถึงชั้นกลางแลชั้นหลังจึงชอบสร้างพระหล่อ ข้อนี้มีที่สังเกตที่ตามวัดในเมืองศรีสัชนาลัยแลเมืองสุโขทัย นอกจากที่เปนวัดสำคัญ พระประธานที่เปนพระปั้นยังอยู่โดยมาก แต่วัดสำคัญในเมืองพิษณุโลก สุโขทัย เมืองกำแพงเพชร มักไม่มีพระประธานเหลืออยู่ ด้วยเปนพระหล่อเชิญมาไว้กรุงเทพ ฯ ในสมัยรัตนโกสินทรโดยมาก เช่นพระศรีสักยมุนี ที่ในพระวิหารวัดสุทัศน์ พระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศ แลพระอัฏฐารศที่ในวิหารวัดสระเกศเปนต้น พระพิมพ์ก็ชอบสร้างในสมัยสุโขทัย เหมือนสมัยอื่นก่อนนั้น แต่แปลงมาเปนพระพุทธรูปตามคติหินยาน ทำต่างพุทธอิริยาบถ มักชอบทำพระลีลา เรียกกันเปนสามัญว่า “พระเขย่ง” อีกอย่างหนึ่งก็ทำเปนพระนั่ง แต่หลายๆ สิบองค์ในแผ่นพิมพ์อันหนึ่ง

อุเทสิกะเจดีย์ในสมัยสุโขทัย นอกจากพระพุทธรูปชอบทำรอยพระพุทธบาทอิกอย่างหนึ่ง หล่อก็มี จำหลักแผ่นศิลาก็มี (เดี๋ยวนี้รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพ ฯ ๒ รอย) แต่เปนของสร้างครั้งพระมหาธรรมราชาลิไทเปนพื้น สร้างตามแบบเมืองลังกา ถึงเปลี่ยนชื่อภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ให้เรียกว่า เขาสุมนกูฏ เหมือนในลังกาทวีป

พุทธเจดีย์สมัยสุโขทัย ถ้าว่าโดยภูมิมณฑลที่สร้างดูเหมือนจะเปนวงแคบกว่าพุทธเจดีย์สมัยอื่นๆ คือที่เกิดอยู่แต่มณฑลพิษณุโลกกับมณฑลนครสวรรค์เท่านั้น พบที่อื่น ๆ เช่นในมณฑลพายัพก็ดี หรือมณฑลอยุธยาแลนครชัยศรีก็ดี ดูเหมือนจะเปนแต่มีผู้สร้างเอาอย่างในสมัยเดียวกันนั้นบ้าง แต่มิได้แพร่หลาย

สมัยศรีอยุธยา แต่ราว พ. ศ. ๑๙๐๐

เรื่องตำนานพุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยาผิดกับสมัยอื่นด้วยภูมิมณฑลที่ตั้งกรุงศรีอยุธยาเคยเปนหลักแหล่งแห่งพระพุทธสาสนา ทั้งลัทธิหินยานซึ่งเคยรุ่งเรืองในสมัยทวาราวดี แลลัทธิมหายานซึ่งมารุ่งเรืองครั้งเมื่อพวกขอมเปนใหญ่ในสมัยลพบุรี แต่เมื่อชนชาติไทยได้ลงมาปกครองประเทศสยาม ตั้งแต่ในสมัยกรุงสุโขทัยเปนราชธานี รับถือพระพุทธสาสนาอย่างลังกาวงศเปนลัทธิหินยาน ไม่บลบวงขอความสงเคราะห์คุ้มครองของพระโพธิสัตว์อย่างลัทธิมหายาน การบลบวงเช่นนั้นไปถือเทวดาตามลัทธิสาสนาพราหมณ์ อาศรัยเหตุนี้ลัทธิมหายานก็เลยเสื่อมสูญไป ถือกันแต่ลัทธิหินยานอย่างลังกาวงศทั่วทั้งประเทศสยามแต่เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี อันนับว่าเริ่มสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พุทธเจดีย์ซึ่งมีอยู่แลนับถือกันในอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา มีทั้งที่สร้างในสมัยทวาราวดี เช่นพระปฐมเจดีย์๖๑เปนต้น แลที่สร้างอย่างลัทธิมหายานในสมัยลพบุรี มีพระพุทธรูปทรงเครื่องเปนต้น เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาความรู้ลัทธิมหายานเห็นจะเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ก็นับถือพุทธเจดีย์ทั้ง ๒ ลัทธิรวมเปนอันเดียวกัน๖๒ แต่ในสมัยเมื่อแรกสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ไทยชาวกรุงศรีอยุธยาได้คุ้นเคยกับขอมมามากกว่าไทยที่เปนชาวกรุงสุโขทัย มักชอบใช้ประเพณีแลภาษาเขมร ตลอดจนการช่างก็ชอบแบบอย่างข้างเขมร ด้วยเหตุนี้การสร้างพุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยาจึงชอบใช้แบบเขมรเจือปนกับแบบลังกาแลแบบไทย พิจารณาของโบราณที่ปรากฎอยู่ ดูเหมือนประเพณีการสร้างพุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยาจะนิยมต่างกันเปน ๔ ยุค คือ

ยุคที่ ๑ นับตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเปนอิศระเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕ แลในรัชกาลหลัง ๆ ต่อมาจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๔ ในระยะเวลา ๑๓๙ ปีนี้ พุทธเจดีย์ที่สร้างในกรุงศรีอยุธยาจะเปนพระธาตุเจดีย์ก็ดี พระพุทธรูปก็ดี ยังนับถือแบบอย่างสมัยลพบุรีอยู่ยิ่งกว่าแบบสมัยสุโขทัย ข้อนี้พึงเห็นได้ดงพระศรีรัตนมหาธาตุอันสร้างเปนหลักเจดียสถานในอารามหลวง เช่นที่วัดพุทไธศวรรย์ซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างก็ดี ที่วัดมหาธาตุในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างก็ดี ที่วัดราชบุรณะ ซึ่งสมเด็จพระอินทราชาทรงสร้างก็ดี ที่วัดพระราม และวัดมหาธาตุเมืองสุพรรณบุรี วัดมหาธาตุเมืองพิษณุโลกซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างก็ดี สร้างเปนพระปรางค์อย่างแบบสมัยลพบุรีทั้งนั้น พระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยนี้ลักษณก็คล้ายอย่างพระขอม๖๓

ยุคที่ ๒ นับแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเสวยราชย์อยู่ณะเมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๖ คงจะได้ไปทรงทราบราชประเพณีครั้งกษัตริย์ราชวงศพระร่วงครองกรุงสุโขทัยถ้วนถี่ ต่อมาอีก ๒ ปีเกิดทรงพระราชศรัทธาจะเสด็จออกอุปสมบทชั่วคราว เหมือนอย่างพระมหาธรรมราชาพญาลิไท จึงเอาแบบอย่างครั้งกรุงสุโขทัยให้ไปนิมนต์พระมหาสวามีในลังกาทวีปเข้ามาเปนพระอุปัชฌาย์๖๔ คติลังกาวงศเห็นจะรุ่งเรืองขึ้นอีกในครั้งนั้น ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งประสูติ และทรงพระเจริญณะเมืองพิษณุโลก (และบางทีฝ่ายพระราชชนนีจะเปนเชื้อสายกษัตริย์สุโขทัยด้วย) ได้เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๔ เสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ก็ทรงสร้างพุทธเจดีย์ตามแบบสมัยสุโขทัย เช่นพระมหาสถูปที่บัญจุพระบรมอัฐิธาตุของสมเด็จพระราชบิดา แลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ (ซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้จำลองมาสร้างพระศรีรัตนเจดีย์ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในกรุงเทพ ฯ นี้) ก็สร้างเปนพระสถูปอย่างลังกา แลพระพุทธรูปทรงหล่อเปนพระยืนองค์ใหญ่ ก็ถ่ายแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมาสร้าง๖๕ ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สืบมา ดูเหมือนจะนิยมสร้างพุทธเจดีย์ตามแบบลังกาวงศ เช่นเคยประพฤติมาครั้งกรุงสุโขทัย และยังมีการไปมาติดต่อกับลังกาทวีป จนสิ้นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รวมเปนระยะเวลา ๑๔๐ ปี ความที่กล่าวนี้มีหลักฐานเปนที่สังเกต ด้วยวัดซึ่งสร้างในระยะนี้ พระเจดีย์ที่เปนหลักวัดสร้างเปนพระสถูปอย่างลังกาเปนพื้น มิใคร่มีที่จะสร้างเปนปรางค์อย่างเขมร แลปรากฎการที่ได้ทำบางอย่าง เช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างพระเจดีย์ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ก็ทำตามแบบอย่างพระเจ้าทุษฐคามิณีมหาราชชนช้างชนะพระยาเอฬารทมิฬที่ในลังกาทวีป และที่สุดปรากฎในจดหมายเหตุเมื่อในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พระสงฆไทยออกไปลังกาทวีป ไปได้ความจากพระสงฆ์ลังกาว่ารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบประทานไว้ณเขาสุวรรณบรรพตอยู่ในประเทศสยาม นำความนั้นกลับมาทูลพระเจ้าทรงธรรมเปนเหตุจึงได้ค้นหาและพบรอยพระพุทธบาทที่ในแขวงจังหวัดสระบุรี ซึ่งเปนที่คนขึ้นไปบูชากันทุกปีจนทุกวันนี้

ยุคที่ ๓ นับแต่รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ มาจนสิ้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เปนระยะเวลา ๑๐๒ ปี ในระยะนี้เกิดนิยมก่อสร้างพุทธเจดีย์เปนอย่างเขมรขึ้นอีก เหตุด้วยเดิมประเทศเขมรเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม เขมรตั้งแขงเมือง พระเจ้าทรงธรรมปราบไม่ลงตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททองได้ประเทศเขมรกลับมาขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างแต่ก่อน จึงเกิดนิยมถ่ายแบบอย่างปรางค์เขมรมาสร้างในกรุงศรีอยุธยา เปนการเฉลิมพระเกียรติยศ เช่นสร้างพระปรางค์ใหญ่ที่วัดชัยวัฒนาราม แลสร้างพระนครหลวงทางลำน้ำสักเปนต้น พระพุทธรูปซึ่งเคยสร้างเปนพระก่อ หรือพระหล่อ มาแต่ก่อน ก็เกิดนิยมสร้างด้วยศิลาทราย เอาอย่างพระพุทธรูปที่นครวัด นครธม เมืองเขมร ฝีมือทำพระพุทธรูปลักษณเปนอย่างขอมกับไทยปนกัน ไม่สู้งาม มีพระประธานองค์ใหญ่ณวัดชุมพลนิกายารามที่บางปอินเปนตัวอย่าง แต่ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองนั้น พุทธเจดีย์นอกจากอย่างเขมรก็คิดประดิษฐสร้าง มีของดีงามที่ปรากฎอยู่หลายอย่าง ดังเช่นพระเจดีย์เหลี่ยม ๒ องค์ที่วัดชุมพลนิกายารามเปนต้น ในรัชกาลหลัง ๆ ต่อมาในยุคนี้ แม้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช ไม่ปรากฎว่าสร้างพุทธเจดีย์ใหญ่โต มีแต่การที่ทรงปฏิสังขรณ์ตามแบบอย่างที่มีอยู่แล้ว

ยุคที่ ๔ นับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐมาจนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่ข้าศึกเปนเวลา ๓๕ ปี ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐบำรุงฝีมือช่างแลโปรดสร้างวัดวาอาราม มักทำโดยประณีต มีตัวอย่างฝีมืออยู่ที่วัดกุฎีดาว๖๖ แต่พระเจ้าบรมโกษฐทรงบุรณะปฏิสังขรณ์วัดเก่าเปนพื้นมิใคร่มีที่จะสร้างขึ้นใหม่ แต่ทำแห่งใดคงเห็นได้ว่าทำโดยฝีมือประณีต๖๗ แบบอย่างแก้ไขเพียงลวดลาย แต่ว่ามาถึงชั้นนี้มิได้มีการศึกษาจากลังกา เพราะประเทศลังกาเกิดจลาจล พระสาสนาซุดโทรมเศร้าหมองจนสูญสิ้นสมณวงศ ต้องเข้ามาขอพระภิกษุไทยไปให้อุปสมบท ตั้งสมณวงศขึ้นใหม่ในลังกาทวีป ไทยกลับเปนครูของลังกา แม้ทางเมืองเหนืออันเปนท้องถิ่นต้นตำราพุทธเจดีย์สมัยสุโขทัย มาถึงยุคนี้ก็ซุดโทรม ช่างกรุงศรีอยุธยากลับขึ้นไปช่วยปฏิสังขรณ์ ฝีมือที่ทำยังปรากฎอยู่ เช่นวัดพระชินราชที่เมืองพิษณุโลก พระปรางค์เชลียงที่เมืองสวรรคโลกเก่า วิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองทุ่งยั้ง แลวัดพระฝางที่เมืองสวางคบุรี๖๘

พุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งสร้างใน ๔ ยุคที่กล่าวมา ถ้าว่าโดยลัทธิพระสาสนา สร้างตามลัทธิลังกาวงศทั้งนั้น แต่ถ้าว่าโดยแบบอย่างการช่าง เอาแบบทั้งสมัยทวาราวดี สมัยลพบุรี แลสมัยสุโขทัยมาใช้ปะปนกันตามเหตุการณ์ หรือตามความนิยมของผู้คิดแบบอย่าง ถ้าว่าโดยคติเพราะเหตุที่ความรู้ลัทธิมหายานเปนอันสูญมาเสียนานแล้ว ลัทธิลังกาวงศเล่าก็เสื่อมทรามมาช้านาน จึงสร้างโดยคติตามที่ไทยนิยม ยกเปนตัวอย่างดังเช่นพระพุทธรูปทรงเครื่องเปนของเกิดขึ้นในลัทธิมหายาน ถือว่าเปนรูปพระอาทิพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งต่างหาก ครั้นมาถึงสมัยลังกาวงศ ซึ่งถือคติหินยาน แสดงอธิบายพระทรงเครื่องว่าเปนพระศรีอาริยโพธิสัตว์ ซึ่งจะมาตรัสรู้ในภายหน้า๖๙ ครั้นในสมัยต่อมาถือว่าพระทรงเครื่องเปนพระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าทรงจำแลงพระองค์เปนพระเจ้าจักรพรรดิ์เมื่อปราบท้าวมหาชมพู ดังนี้ พุทธเจดีย์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาถ้าจำแนกอธิบายเปน ๔ อย่างตามตำรา ก็เปนทำนองดังกล่าวต่อไปนี้

พระธาตุเจดีย์ ทำเปนพระปรางค์อย่างสมัยลพบุรีอย่าง ๑ ทำเปนพระสถูปลังกาอย่างสมัยสุโขทัยอย่าง ๑ แก้ไขเปนพระสถูปแบบกรุงศรีอยุธยามีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ อย่าง ๑ คงเปนรูปพระสถูปลังกา แต่ทำเปนเหลี่ยมย่อมุมเปนไม้สิบสอง (อย่างเช่นพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงทหารกรุงศรีอยุธยา แลพระเจดีย์ที่วัดชุมพลนิกายารามอีกอย่าง ๑ นั้นเอาแบบพระเจดีย์เหลี่ยมอย่างสุโขทัยมาแก้ให้เปนทรวดทรงพระสถูปลังกา แลทำเปนเจดีย์ทรงเครื่องอาภรณ์ (อย่างพระเจดีย์ทอง ๒ องค์ที่อยู่ข้างหน้าปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) อนึ่งประเพณีที่สร้างสถูปสำหรับบัญจุอัฐิธาตุของบุคคลอื่น ซึ่งเริ่มสร้างกันในสมัยสุโขทัย หรือบางทีจะมีมาก่อนนั้นแล้ว มานิยมสร้างกันชุกชุมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้พึงสังเกตเห็นได้ที่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ อันอยู่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีพระเจดีย์ใหญ่น้อยทุกขนาดแทบนับจำนวนไม่ถ้วน ล้วนเปนที่บัญจุอัฐิเจ้านายในพระราชวงศทั้งนั้น ถึงพระเจดีย์ราย ซึ่งชอบสร้างกันตามวัดราษฎร์ก็เพื่อพระโยชน์อย่างเดียวกัน ด้วยในสมัยกรุงศรีอยุธยาอัฐิของบุคคลที่ทำฌาปนกิจแล้ว ย่อมถือเปนประเพณีฝังไว้ที่วัดทั้งนั้น ที่เปนบุคคลชั้นสูงจึงก่อพระสถูปบัญจุพระบรมธาตุ หรือพระพุทธรูปไว้ข้างบน แลฝังอัฐิบุคคลไว้ข้างใต้พระสถูป ถือกันเปนแบบทั่วไปดังนี้

พระบริโภคเจดีย์ คงนับถือพระศรีมหาโพธิพรรณลังกามาอย่างสมัยสุโขทัย มาในชั้นหลังทีเดียว เห็นจะเปนในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ ได้พรรณพระศรีมหาโพธิมาจากลังกา โปรดฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดระฆังอันอยู่ต่อเขตพระราชวัง เปลี่ยนชื่อวัดระฆังเปนวัดวรโพธิ์ เรียกกันมาจนบัดนี้ นอกจากพระศรีมหาโพธิ์ เกิดมีรอยพระพุทธบาทแลพระพุทธฉาย ในแขวงจังหวัดสระบุรี พระแท่นดงรัง ในแขวงจังหวัดราชบุรี แลพระแท่นศิลาอาสน์ในแขวงเมืองทุ่งยั้ง นับถือกันว่าเปนบริโภคเจดีย์มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย

พระธรรมเจดีย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาถือพระไตรปิฎกตามแบบอย่างครั้งสมัยสุโขทัยต่อมา แต่ความรู้ภาษามคธมาตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่ข้างจะเสื่อมทรามมาก

พระอุเทสิกะเจดีย์ มีพระพุทธรูปเปนสำคัญ สังเกตตามตัวอย่างที่ได้พบ พระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้นชอบทำตามแบบขอม ยุคที่ ๒ ชอบทำตามแบบช่างสุโขทัย มีพระพุทธรูปงามอยู่ ๒ ยุคเท่านี้ ต่อมาอีก ๒ ยุคฝีมือคลายลง ในตอนปลายดูชอบสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกันมาก พระพุทธรูปทรงเครื่องครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาดูเหมือนองค์ที่เปนพระประธานวัดหน้าพระเมรุจะงามกว่าองค์อื่น ๆ พระพิมพ์ก็ยังชอบสร้างกันสืบมา สร้างอย่างพระพิมพ์แบบสุโขทัยบ้าง ทำเปนพระทรงเครื่องแลมิได้ทรงเครื่องตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาบ้าง เรื่องตำนานพุทธเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยามีดังแสดงมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร แต่ พ.ศ. ๒๓๒๕

ตำนานพุทธเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร เรื่องเริ่มเมื่อพระพุทธสาสนาในประเทศสยามถึงความพินาศ เหตุด้วยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก พวกพม่าเผาบ้านเมือง แล้วเก็บเอาทรัพย์สมบัติกวาดผู้คน ไม่เลือกว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไปเปนเชลยมากกว่ามาก พุทธเจดีย์แลพระธรรมปิฎกอันเปนหลักพระสาสนาเปนอันตรายไปเสียในครั้งนั้นเปนอันมาก แม้ไทยตีได้บ้านเมืองคืนจากข้าศึกในไม่ช้า พระนครศรีอยุธยาก็ยับเยินเกินกำลังไทยที่มีอยู่เวลานั้นจะกลับตั้งเปนราชธานีอิกได้ จึงจำต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งณเมืองธนบุรี พม่าก็ยังพยายามเข้ามารบพุ่งจะเอาประเทศสยามไว้ในอำนาจให้จงได้ ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทำศึกสงครามต่อสู้พม่าอยู่ไม่ขาด มิโอกาศที่จะฟื้นพระสาสนาเพียงเลือกหาพระภิกษุสงฆ์ซึ่งยังเหลืออยู่ตามหัวเมือง องค์ไหนรู้พระธรรมวินัยก็เอามาตั้งเปนพระราชาคณะ ให้ว่ากล่าวสงฆมณฑลแลให้เที่ยวสืบหาคัมภีร์พระไตรปิฎกแต่ที่ต่าง ๆ เอามารวบรวมตั้งหอมนเทียรธรรมขึ้นใหม่ การยังไม่ทันสำเร็จก็ประจวบเหตุทำให้พระพุทธสาสนากลับเศร้าหมองไปอีก ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดสัญญาวิปลาศ สำคัญพระองค์ว่าเปนพระอริยบุคคลบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้ ลงพระราชอาญาสมเด็จพระสังฆราช ทั้งพระราชาคณะแลเหล่าพระภิกษุสานุศิษย์ที่ไม่ยอมกระทำตามพระหฤทัย บ้านเมืองเลยเปนจลาจล ถึงเกิดรบพุ่งกันเองในราชธานี

เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น ฝ่ายพระราชอาณาจักรมีราชการเปนข้อสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือต้องปราบปรามจลาจลในราชธานี ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กระทำให้เกิดขึ้นอย่าง ๑ เตรียมต่อสู้ข้าศึกพม่าซึ่งจะยกมาตีเมืองไทยอย่าง ๑ ถ้าไม่ทรงทำการ ๒ อย่างนี้สำเร็จได้ ไทยก็จะต้องตกเปนทาสของพม่า เพราะฉนั้นเมื่อทรงปราบปรามพวกที่ก่อการจลาจลราบคาบแล้ว จึงโปรด ฯ ให้ย้ายราชธานี ข้ามฟากจากเมืองธนบุรี มาสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทรข้างฟากตวันออกฝั่งเดียว ในที่นี้จะแสดงเหตุที่สร้างกรุงรัตนโกสินทรพอให้ปรากฎ คือเมื่อไทยได้บ้านเมืองกลับคืนจากข้าศึกแล้ว จะกลับตั้งพระนครครีธยุธยาเปนราชธานือย่างเดิมไม่ได้ ด้วยเหตุ ๒ ประการ ประการที่ ๑ พม่ายังกำลังพยายามจะกลับมาปราบปราม กำลังของไทยที่ยังเหลืออยู่ไม่พอจะรักษาพระนครศรีอยุธยาอันเมืองใหญ่โตต่อสู้ข้าศึกได้ ประการที่ ๒ พระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ที่ลำนำตื้น ข้าศึกอาจยกกองทัพบกมาประชิตติดพระนครได้ง่าย อาศรัยเหตุ ๒ ประการที่กล่าวมา ขุนหลวงพระยาตากจึงลงมาตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรี เพราะอยู่ใกล้ทเลมีประโยชน์ในการคมนาคมกับต่างประเทศเหมือนอย่างพระนครศรีอยุธยา แต่เปนเมืองเล็กกำลังที่มีพอจะรักษาได้และเมืองธนบุรีตั้งอยู่ที่ลำน้ำลึก ข้าศึกจะยกกองทัพมาถึงได้โดยยาก แลอาจจะใช้ทัพเรือต่อสู้กองทัพบกของข้าศึกได้ด้วย แต่เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ หรือแต่ก่อนนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่ากรุงธนบุรีตั้งทั้งสองฟาก เอาแม่น้ำไว้กลางเมือง ถ้าข้าศึกยกเข้ามาประชิตติดถึงชานพระนครได้ กองทัพที่รักษาข้างภายในจะไปมาช่วยกันยากด้วยกีดแม่น้ำ ทรงพิเคราะห์เห็นว่าทางฝั่งตวันออกเปนที่หัวแหลมมีลำแม่น้ำโอบอ้อม ถ้ามาตั้งพระนครทางฟากตวันออก จะได้ลำแม่น้ำลึกเปนคูพระนครสามด้าน ต้องขุดคูพระนครแต่ด้านเดียว ถึงข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงชานพระนครจะรักษาต่อสู้ข้าศึกก็ง่ายกว่ารักษาเมืองธนบุรี ด้วยเหตุนี้จึงมาสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทรทางฝั่งตวันออกแต่ฝั่งเดียว แลจะสร้างเปนเมืองราชธานีของประเทศสยามต่อไป โดยลงเนื้อเห็นเปนยุติแล้ว ว่าจะไม่กลับไปตั้งพระนครศรีอยุธยาเปนราชธานีอีก เรื่องที่กล่าวมานี้เปนต้นเหตุแห่งการสร้างพุทธเจดีย์ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ คือประสงค์จะให้พระนครใหม่รุ่งเรืองด้วยวัดวาอารามเรือนพระสาสนา “เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี” หมายความว่าให้เหมือนเช่นมีอยู่ในพระนครศรีอยุธยาในกาลก่อน ข้อนี้พึงเห็นได้ดังพระราชวังก็ดี วัดก็ดี มักสร้างตามแบบอย่างพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนชื่อวัดก็มักขนานตามที่เคยมีในพระนครศรีอยุธยา และถือเปนคติสืบมาหลายรัชกาล

แต่ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ยังต้องรบพุ่งพม่าเปนศึกใหญ่หลายคราว มิใคร่มีโอกาศที่จะได้จัดการฝ่ายพุทธจักร ถึงกระนั้นพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้ทรงจัดการฟื้นพระสาสนาเปนหลายอย่าง คือ สร้างพระอารามหลวงขึ้นหลายพระอาราม ที่เปนวัดสำคัญอยู่ในเวลานี้คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดระฆัง เปนต้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็ทรงสร้างวัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม กรมพระราชวังหลังทรงสร้างวัดอมรินทราราม กรมหลวงเทพหริรักษทรงสร้างวัดราชบุรณะขึ้นในรัชกาลที่ ๑ นั้น เมื่อทรงสร้างวัดขึ้นแล้ว ทรงพระราชปรารภถึงพระพุทธรูปของโบราณ ซึ่งต้องทอดทิ้งชำรุดทรุดโทรมอยู่ตามวัดร้างทั้งในพระนครศรีอยุธยา เมืองลพบุรี แลตามหัวเมืองเหนือทั้งปวง ด้วยบ้านเมืองยับเยิน ทรงสังเวชพระราชหฤทัย จึงโปรดฯ ให้เชิญที่เปนพระพุทธรูปหล่อพอจะยกขนได้ มาบุรณะปฏิสังขรณ์ประดิษฐานไว้ตามพระอารามซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ในกรุงรัตนโกสินทรกว่า ๑๒๐๐ องค์ เช่นพระศรีสากยมุนีวัดสุทัศน์ ที่เชิญมาจากเมืองสุโขทัยแลพระโลกนาถวัดพระเชตุพน ซึ่งเชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยาเปนต้น ส่วนพระไตรปิฎกก็โปรดฯ ให้หาฉบับรวบรวมต่อมา ครั้นสำเร็จแล้วให้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา สร้างพระไตรปิฎกอันเห็นว่าถูกต้องเปนฉบับหลวง แล้วให้ลอกคัดไปไว้ศึกษาพระธรรมวินัยตามพระอาราม ส่วนสงฆมณฑลนั้นก็ทรงกำจัดพวกอสัจสอพลอในครั้งกรุงธนบุรี แล้วเลือกสรรตั้งแต่งพระภิกษุซึ่งซื่อสัตย์ และทรงคุณธรรมตั้งเปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย แลทรงขวนขวายอุดหนุนให้ศึกษาพระธรรมวินัยโดยพระราโชบาย เปนต้นว่าเช่นมีพระราชปุจฉาให้พระราชาคณะถวายวิสัชนาเนือง ๆ โดยพระราชประสงค์จะให้ต้องค้นคว้าสอบสวนพระไตรปิฎกอยู่เสมอ การซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นพระพุทธสาสนาครั้งนั้น ไม่ได้อาศรัยประเทศอื่น เพราะประเทศลังกาก็เปนจลาจลทรุดโทรมจวนจะตกอยู่ในอำนาจฝรั่ง ประเทศเขมรแม้ขึ้นอยู่แก่ไทยก็เปนจลาจลมาช้านาน จนเกือบจะสูญสิ้นราชวงศ ประเทศรามัญก็ยับเยินด้วยถูกพม่าปราบปรามเอาไว้ในอำนาจ ประเทศพม่าก็เปนศัตรู การฟื้นฟูพระพุทธสาสนาเมื่อรัชกาลที่ ๑ จึงควรสรรเสริญด้วยทำได้โดยลำพังไทย

รัชกาลที่ ๒ ถึงไม่มีศึกใหญ่ก็ยังต้องตระเตรียมการสงครามอยู่เปนนิจ ด้วยพม่ายังไม่สิ้นปราถนาจะมาตีเมืองไทย และญวนก็เกิดเปนศัตรูขึ้นอิกทางหนึ่ง การบำรุงพระพุทธสาสนาด้วยประการอย่างอื่นมีน้อย ทรงสร้างวัดอรุณราชวรารามวัด ๑ บุรณะวัดโมลีโลกวัด ๑ แต่ได้จัดการซึ่งควรนับว่าสำคัญในการบำรุงพระสาสนาอย่าง ๑ คือแก้ไขวิธีสอบความรู้พระสงฆ์ซึ่งเล่าเรียนพระปริยัติธรรม แต่ก่อนมาวิธีสอบความรู้ภาษามคธ กำหนดเปน ๓ ชั้น พระภิกษุสามเณรองค์ใดเรียนรู้ภาษามคธพอสามารถแปลพระสูตรได้ ทรงตั้งเปนเปรียญตรี ถ้าแปลได้ถึงพระวินัยทรงตั้งเปนเปรียญโท ถ้าแปลได้จนพระปรมัตถ นับว่าสามารถแปลได้ทั้งพระไตรปิฎกทรงตั้งเปนเปรียญเอก วิธีสอบความรู้เช่นนั้น ความรู้เห็นจะไม่สู้แตกฉาน บางทีจะเปนด้วยเลือกคัมภีร์ที่เปนหลักสูตรสำหรับแปลแต่ง่าย ๆ ถึงรัชกาลที่ ๒ จึงแก้ไขใหม่ เปลี่ยนกำหนดชั้นเปน ๙ ประโยค กำหนดคัมภีร์ที่ใช้เปนหลักสูตรให้ยากขึ้นไปโดยลำดับ ความรู้ภาษามคธของผู้ที่ได้เปนเปรียญก็รุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

อนึ่งในรัชกาลที่๒ การติดต่อในระหว่างประเทศสยามกับลังกาทวีปกลับเริ่มขึ้นอิก เหตุด้วยพระสังฆราชาในเมืองลังกาให้พระภิกษุเชิญพระบรมสาริริกธาตุกับต้นโพธิ์ลังกาเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๆ ได้ทรงทราบว่าเมืองลังกาตกเปนของฝรั่งทรงพระปริวิตกถึงพระพุทธสาสนา ว่าจะเศร้าหมองผันแปรไปเปนประการใดบ้าง จึงโปรด ฯ ให้เลือกหาพระภิกษุซึ่งชอบเที่ยวธุดงค์ ได้พระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพเปนหัวหน้า กับพระสงฆ์อื่นอิก ๕ รูป (รูปหนึ่งชื่อพระเซ่งต่อมาได้เปนสมเด็จพระวันรัตนวัดอรุณ อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๕) รวม ๗ รูป เปนสมณทูตให้ออกไปสืบพระสาสนาถึงลังกาทวีป๗๐ แต่นั้นก็มีการคมนาคมในระหว่างลังกาทวีปกับประเทศสยามในกิจแห่งพระสาสนาสืบมาเนือง ๆ

ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาอุสาหะในการอุปถัมภกพระพุทธสาสนามาก ทั้งการสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามหลวง และทรงอุดหนุนให้ผู้อื่นสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้นในกรุงเทพฯ โดยความประสงค์จะให้พระนครอมรรัตนโกสินทร ฯ รุ่งเรืองเหมือนพระนครศรีอยุธยาตามคติที่ถือกันมาตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์นี้ การสร้างพระไตรปิฎกและการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ตลอดจนการแปลพระคัมภีร์ต่าง ๆ จากภาษามคธออกเปนภาษาไทย ก็ทรงขวนขวายอุดหนุนมาก วัดและหนังสือฝ่ายพระสาสนาในกรุงเทพ ฯ นี้ นับว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ มากกว่ารัชกาลอื่นแต่ก่อนมา

ยังมีข้อสำคัญในพระพุทธสาสนาซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ อิกส่วนหนึ่ง ด้วยอาศรัยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชเปนพระภิกษุอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ ทรงเล่าเรียนรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉานเปนอัศจรรย์ผิดกับผู้อื่น ด้วยผู้อื่นแม้จะเล่าเรียนรู้ภาษามคธเชี่ยวชาญจนอ่านพระไตรปิฎกเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ก็มิได้คิดวินิจฉัยความในพระไตรปิฎก เชื่อถือแต่ตามมติที่อาจารย์สั่งสอนมาเปนตำราแต่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาความในคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งนับอยู่ในพระไตรปิฎก เห็นว่าเปนหนังสือซึ่งพระโบราณาจารย์ทั้งหลายแต่งตามอัตโนมัติซับซ้อนกันมาหลายยุคหลายคราว ความที่แตกต่างกันก็มีมาก ทรงวินิจฉัยเปรียบเทียบเลือกแต่ที่เห็นว่าถูกต้องตามหลักฐานแห่งพระธรรมวินัย แล้วทรงประพฤติตามลัทธินั้น จึงเกิดลัทธิธรรมยุติกาขึ้น และแพร่หลายสืบมาจนทุกวันนี้ ยังอิกอย่างหนึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปนพระราชธุระเสาะหาคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ทั้งในลังกาทวีปและในเมืองรามัญ เอามารวบรวมแลสอบสวนกับฉบับที่มีอยู่ในประเทศสยาม ได้ทรงรับเปนพระราชธุระแต่งสมณทูตไปลังกาทวีปหลายครารัชกาลว ทั้งรับเลี้ยงพระสงฆ์ลังกาซึ่งเข้ามายังประเทศนี้จนตลอดรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ คนทั้งหลายมักคาดกันว่าคงจะทรงบำเพ็ญพระราชานุภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงคติสงฆมณฑล ให้เปนอย่างธรรมยุติกา ซึ่งทรงพระราชดำริห์สถาปนาขึ้นเมื่อครั้งยังทรงผนวช แต่พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า การถือสาสนาเกิดแต่ความเลื่อมใสศรัทธาเปนสำคัญ แม้เมื่อพระองค์ทรงผนวชอยู่ทรงเลื่อมใสลัทธิธรรมวินัยอย่างธรรมยุติกาก็ดี เมื่อเสวยราชย์เปนพระเจ้าแผ่นดินจำต้องเปนกลางในระหว่างลัทธิทั้งปวง ใครจะเลื่อมใสประพฤติลัทธิใดก็แล้วแต่จะถือกันตามศรัทธา แลยังทรงพระปริวิตกต่อไปว่าจะมีผู้แสดงความเลื่อมใสในลัทธิธรรมยุติกาเพื่อจะให้ต้องพระราชอัธยาศัย ด้วยเหตุนี้ในการพระราชพิธีหลวง โปรด ฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกายรวมกันเสมอ ตระกูลเจ้านายหรือข้าราชการตระกูลไหนเคยบวชเรียนในคณะมหานิกาย ก็ไม่โปรด ฯ ให้บวชเปนคณะธรรมยุติกา คงโปรด ฯ ให้บวชเปนธรรมยุติกา แต่พระเจ้าลูกยาเธอ ฯ กับเชื้อสายเจ้านายข้าราชการซึ่งเคยนับถือคณะธรรมยุติกามาแต่ครั้งยังทรงผนวช พระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกายจึงอยู่ในฐานะเสมอกันมาตลอดรัชกาล ส่วนการสร้างวัดวาอารามนั้น ทรงพระราชดำริห์ว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๓ สร้างมากมายพอกำลังบ้านเมืองอยู่แล้ว ทรงสร้างเพิ่มเติมแต่ตามหัวเมืองเปนพื้น มีพระปฐมเจดีย์เปนต้น พระอารามที่ทรงสร้างในกรุงเทพ ฯ มีจำนวนน้อย มีวัดราชประดิษฐ วัดมงกุฎกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหารแลวัดประทุมวันเปนสำคัญ การศึกษาพระปริยัติธรรมซึ่งพระองค์ได้ทรงเปนประธานมาแต่ครั้งยังทรงผนวช ก็คงเปนแต่ให้รักษาแบบแผนและทำนุบำรุงมิให้เสื่อมทราม แต่ในรัชกาลที่ ๔ ประจวบหัวต่อในเรื่องตำนานพุทธเจดีย์อย่าง ๑ ด้วยได้ทำทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ อาศรัยเหตุนั้นกลับเริ่มมีการติดต่อกับอินเดียในเรื่องพระพุทธสาสนา ซึ่งนับว่าเริศร้างมากว่า ๕๐๐ ปี ได้พระพุทธรูปอินเดียและเมล็ดพรรณพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยามาอิกในครั้งนั้น

อนึ่งการถือพระพุทธสาสนาลัทธิมหายานในประเทศสยามนี้ ซึ่งบางทีจะสูญมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย มาได้รับพระบรมราชูปถัมภ์เริ่มแต่ในรัชกาลที่ ๔ เหตุด้วยมีพวกญวนซึ่งถือพระพุทธสาสนาลัทธิมหายานอพยพเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในประเทศสยามหลายคราว นับแต่องเชียงชุนพาเข้ามาครั้งกรุงธนบุรีคราว ๑ องเชียงสือพาเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๑ อิกคราว ๑ ต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชาพาเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๓ อีกคราว ๑ มีพระญวนมาด้วยทุกคราว แต่มิได้รับความยกย่องของรัฐบาล ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชได้ทรงสมาคมคุ้นเคยกับพระญวน มีที่ชอบพระราชอัธยาศัย คือองฮึง (ซึ่งได้เปนที่พระครูคณานัมสมณาจารย์ อยู่วัดอุภัยราชบำรุงที่ตลาดน้อย) เปนต้น ถึงในรัชกาลที่ ๔ โปรด ฯ ให้นิมนต์พระญวนทำพิธีกงเต๊ก (ดูเหมือนจะเปนในงารพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีเปนคราวแรก) แล้วทรงทำนุบำรุงพระญวนต่อมา ควรนับว่าการบำรุงพระพุทธสาสนาลัทธิมหายานกลับมีขึ้นในประเทศสยามในรัชกาลที่ ๔ ด้วย

ในรัชกาลที่ ๕ การอุปถัมภกพระพุทธสาสนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา เปนต้นว่าทรงทำนุบำรุงพระสงฆ์ทั้งธรรมยุติกาแลมหานิกายเสมอกัน แลทรงตั้งพระสงฆ์ญวนแลจีนอันถือลัทธิมหายานซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงเริ่มทำนุบำรุงนั้น ให้มีสมณศักดิ์เปนตำแหน่งพระครูพระอาจารย์แลถานานุกรมขึ้นอีกแผนกหนึ่ง การสร้างพระอารามก็ทรงสร้างแต่จำนวนน้อยตามอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ มีวัดราชบพิธ วัดเบญจมบพิตร แลวัดเทพศิรินทราวาสซึ่งทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีเปนต้น แต่การสำคัญเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เนื่องด้วยเรื่องตำนานพุทธเจดีย์มีหลายอย่าง จะกล่าวเปนลำดับกันไป คือ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้ ๔ ปี ในปีมแม พ.ศ. ๒๔๑๔ เสด็จไปประพาสต่างประเทศ ถึงเมืองมอญเมืองพม่าแลประเทศอินเดีย เมื่อเสด็จประพาสในอินเดียครั้งนั้น ได้เสด็จไปนมัสการพระบริโภคเจดีย์เดิม ที่มฤคทายวันในแขวงเมืองพาราณสี อันเปนที่พระพุทธองค์ได้ประทานปฐมเทศนา แล้วทรงเสาะหาสาสนวัดถุแลรูปภาพพุทธเจดีย์ในมัชฌิมประเทศ ซึ่งไม่เคยเห็นกันในประเทศนี้ได้มาหลายอย่าง แต่นั้นบัณฑิตผู้เสาะแสวงหาความรู้เรื่องพุทธเจดีย์ก็หันไปสืบสวนเสาะหาทางอินเดีย แทนที่เคยเสาะหาแต่ลังกาทวีปมาแต่ก่อน แต่ว่าในสมัยนั้นรัฐบาลอินเดียยังไม่ได้จัดการตรวจค้นของโบราณ แลนักปราชญ์ชาวตวันตกก็ยังไม่มีความรู้ในเรื่องพุทธเจดีย์ แลไม่มีหนังสือแต่งไว้มากเหมือนอย่างทุกวันนี้ แม้โบราณวัดถุที่ได้ไปเห็นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงมัชฌิมประเทศ ก็ยังไม่สามารถจะให้ความรู้ที่แท้จริง จะยกอุทาหรณ์ เช่นที่มฤคทายวันณเมืองพาราณสีนั้น เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงบูชา มีปรากฎแต่พระสถูปใหญ่ เรียกว่า “พระธรรเมกเจดีย์” อยู่องค์หนึ่ง พระเจดีย์องค์นี้ เดิมก่ออิฐเปนแกน แล้วหุ้มศิลาจำหลัก พวกมิจฉาทิษฐิรื้อเอาศิลาที่หุ้มข้างตอนบนไปก่อเทวสถานเสียสักครึ่งหนึ่ง ตอนนั้นเหลือแต่แกน เวลาเมื่อเสด็จไปยังไม่ได้ถากถาง ก็แลเห็นเปนรูปสองลอน ครั้นได้รูปถ่ายเข้ามา ทำให้เกิดเชื่อกันอยู่คราว ๑ ว่ารูปทรงพระสถูปครั้งพุทธกาลแลครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช เปนสองลอนเช่นนั้น ถึงมีผู้สร้างพระสถูปรูปสองลอนขึ้นในกรุงเทพ ฯ๗๑ ตามความสันนิษฐานที่กล่าวมา แต่เปนอันเปลี่ยนวิถีทางสืบสวนเรื่องพุทธเจดีย์ไปหาอินเดีย ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปครั้งนั้น ครั้นจำเนียรกาลนานมาอาศรัยที่รัฐบาลอินเดียจัดการตรวจค้นของโบราณเจริญยิ่งขึ้น แลนักปราชญ์ชาวตวันตกเอาใจใส่พิจารณาแต่งอธิบายเรื่องพุทธเจดีย์ในอินเดียมีมากขึ้น ความรู้เรื่องพุทธเจดีย์ก็เจริญยิ่งขึ้นในประเทศสยามนี้เปนอันดับมา จนกาลทุกวันนี้

ข้อสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เนื่องด้วยเรื่องพุทธเจดีย์ มีเรื่องพระบรมสารีริกธาตุอีกเรื่อง ๑ ด้วยในประเทศพม่า มอญ ไทย เขมร นับถือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากลังกาทวีปช้านาน แลถือคติตามลังกาว่า พระบรมธาตุของพระพุทธองค์มีลักษณแลสัณฐานเปนเช่นนั้นๆ ทั้งมีอิทธิฤทธิอาจทำปาฏิหารไปสู่ที่แห่งหนึ่งแห่งใดได้โดยลำพัง เพราะฉนั้นพระธาตุที่ได้มาจากลังกาก็ดี หรือพบปะณที่ใด ๆ ก็ดี ต่อมีลักษณต้องตามตำราจึงเชื่อถือว่าเปนพระบรมสาริริกธาตุของพระพุทธองค์ เมื่อรัฐบาลอินเดียจัดการตรวจค้นของโบราณได้พบพระธาตุที่บัญจุไว้ในพระเจดีย์ มีอักษรจารึกบอกว่าเปนพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แลพระธาตุที่พบนั้นล้วนเปนอัฐิมนุษย์ ได้มีชาวประเทศสยาม๗๒ เคยเอาใจใส่ตรวจตราพระบรมธาตุที่ขุดพบในอินเดีย ซึ่งเขาส่งไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานณกรุงลอนดอนบ้าง เอาไว้ในพิพิธภัณฑสถานในอินเดียบ้าง ก็เห็นเปนอัฐิมนุษย์ทั้งนั้น แต่ไปเกิดสงสัยด้วยปรากฎว่าได้มาแต่ที่เจดียสถานหลายแห่ง ถ้าจะประมาณพระธาตุแม้ที่รักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานก็มากมายหลายทนาน จึงออกแคลงใจไม่คิดขอเอามา ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ มีผู้ขุดพบที่บัญจุอัฐิธาตุที่เมืองกบิลพัสดุ์ มีอักษรจารึกเปนอย่างเก่าที่สุดในอินเดียบอกไว้ว่าเปนพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คือส่วนซึ่งกษัตริย์สักยราชได้ไปเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธสริร เวลานั้นมาเควสเคอสัน (ซึ่งเคยได้เข้ามากรุงเทพ ฯคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน) เปนอุปราชครองประเทศอินเดียอยู่ ปรารภว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพุทธสาสนูปถัมภกมีอยู่ในโลกในปัจจุบันนี้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว จึงส่งพระบรมสาริริกธาตุที่พบณเมืองกบิลพัสดุ์นั้นมาถวาย แลครั้งนั้นพวกที่นับถือพระพุทธสาสนาในนานาประเทศ คือ ญี่ปุ่น พม่า ลังกา แลประเทศไซบีเรีย ต่างแต่งทูตเข้ามาทูลขอพระบรมธาตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แบ่งพระราชทานไปตามประสงค์ พระบรมธาตุที่เหลือนั้นโปรดให้สร้างพระเจดีย์ทองสัมฤทธิ์เปนที่บัญจุ ประดิษฐานไว้ในคูหาพระสถูปบนยอดบรมบรรพตวัดสระเกศ เปนที่สักการบูชาของมหาชนมาจนทุกวันนี้ เรื่องพระบรมธาตุที่กล่าวมาเปนข้อสำคัญ ที่บันดาพุทธสาสนิกชนในนานาประเทศโดยมาก ยอมยกสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เปนเอกอัคสาสนูปถัมภกมาแต่ครั้งนั้น

ข้อสำคัญอีกอย่าง ๑ ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เนื่องในพุทธเจดีย์ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาพระราชาคณะให้ช่วยกันชำระคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษามคธ แล้วทรงพระราชศรัทธาให้ยกขึ้นสู่อักษรพิมพ์เปนสมุดชุดละ ๓๙ เล่ม พิมพ์ ๑๐๐๐ ชุด เปนเหตุให้พระไตรปิฎกนั้นแพร่หลายไปถึงทั่วทุกประเทศ ได้เปนหลักการเล่าเรียนพระไตรปิฎกอยู่จนทุกวันนี้ ด้วยไม่มีประเทศใดสามารถจะทำได้มาแต่ก่อน

นอกจากข้อสำคัญที่กล่าวมา ยังมีการอย่างอื่นที่ได้ทรงทำนุบำรุงเนื่องในพุทธเจดีย์อีกหลายอย่าง คือบำรุงการเล่าเรียนภาษามคธแลแบบแผนการสร้างพุทธเจดีย์ มีพระพุทธรูปเปนต้นซึ่งได้ทำต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทีนี้จะกล่าวถึงพุทธเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร ว่าตามตำราทีละอย่างต่อไป

พระธาตุเจดีย์ สร้างในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร ดูเหมือนนิยมสร้างพระปรางค์กับพระเจดีย์เหลี่ยมเปนพื้น ที่สำคัญคือพระปรางค์ที่วัดระฆัง (มีในจดหมายเหตุว่าสร้างในรัชกาลที่ ๑ ก่อฤกษ์ณวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖) กับพระเจดีย์ศรีสรรเพ็ชดาญาณณวัดพระเชตุพน (พระเจดีย์องค์กลางในแถวพระเจดีย์ใหญ่ ๓ องค์ อีก ๒ องค์สร้างในรัชกาลที่ ๓) ถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงปรารภจะสร้างพระปรางค์ที่วัดอรุณ แต่การค้างอยู่ มาสร้างสำเร็จในรัชกาลที่ ๓ พระปรางค์องค์ที่วัดอรุณนี้ ควรนับว่าเปนหลักของพระธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยรัตนโกสินทรมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ สู้สมัยอื่นได้ทั้งรูปทรงแลฝีมือที่สร้าง แต่พระสถูปกลมทรงลังกาดูเหมือนจะเริ่มนิยมสร้างกันต่อรัชกาลที่ ๓ เหตุด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช เสด็จขึ้นไปธุดงค์ถึงเมืองเหนือ ทรงตรวจค้นแลศึกษาเรื่องพุทธเจดีย์ครั้งสมัยสุโขทัย ได้ทรงจำลองแบบพระสถูปครั้งราชวงศพระร่วงลงมาสร้างในกรุงเทพ ฯ ดูเหมือนจะสร้างพระสถูปที่วัดบวรนิเวศก่อนที่อื่น พระสถูปองค์นี้กล่าวกันว่า ทรงถ่ายแบบมาจากพระสถูปยอดเขาพนมเพลิงที่เมืองศรีสัชนาลัย พระสถูปองค์ใหญู่ณวัดประยุรวงศ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศสร้าง ก็น่าสันนิษฐานว่าจะสร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ เพราะพระปรางค์ใหญ่วัดพิชัยญาติการามนั้น กล่าวกันว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติสร้างตามอย่างพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงที่เมืองสวรรคโลก อันเห็นได้ว่าคงเปนด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ พระธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ นอกจากพระเจดีย์เหลี่ยมองค์ที่ ๔ ในวัดพระเชตุพน ซึ่งทรงถ่ายแบบมาแต่พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยในพระนครศรีอยุธยาฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเปนพระสถูปกลมทรงลังกาอย่างสมัยสุโขทัยทั้งนั้น เช่นพระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งถ่ายแบบมาแต่พระมหาสถูปในวัดพระศรีสรรเพชญ์พระนครศรีอยุธยา แลพระเจดีย์วัดราชประดิษฐ ซึ่งถ่ายแบบมาแต่พระธาตุพระฝางเมืองสวางคบุรีเปนต้น เว้นแต่องค์พระสถูปที่สร้างสวมพระปฐมเจดีย์เปนของใหญ่โตทรงคิดแบบใหม่ งามอย่างยิ่ง

พระบริโภคเจดีย์ มีต้นพระศรีมหาโพธิเปนอาทิ ในสมัยรัตนโกสินทร เมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้ต้นพระศรีมหาโพธิมาแต่ลังกาทวีปต้น ๑ สันนิษฐานว่าเห็นจะปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุซึ่งเปนที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อสมณทูตคราวพระอาจารย์ดีพระอาจารย์เทพไปลังกา กลับมาได้ต้นพระสรีมหาโพธิมาอีก ๓ ต้น โปรดฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศ (ข้างหน้าพระอุโบสถ) ต้น ๑ ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ (อยู่แถวสัตตมหาสถาน) ต้น ๑ ปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุอีกต้น ๑ ในรัชกาลที่ ๔ ได้เมล็ดพรรณพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยามาเพาะเปนต้นขึ้น สันนิษฐานว่าพระราชทานไปปลูกไว้ที่วัดบวรนิเวศต้น ๑ ที่พระปฐมเจดีย์ต้น ๑ เมล็ดพรรณพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาแต่เมืองพุทธคยาคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ไปเพาะเปนต้น แล้วพระราชทานไปปลูกไว้ ๔ แห่ง คือวัดเทพศิรินทรต้น ๑ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติต้น ๑ วัดมณีชลขันธ์ที่เมืองลพบุรีต้น ๑ วัดอุภัยราชบำรุง (คือวัดญวนตลาดน้อย) ต้น ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้นได้พรรณพระศรีมหาโพธิเมืองพุทธคยาเปนต้นเข้ามาแล้ว โปรด ฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตรต้น ๑ ที่วัดอัษฎางคนิมิตรเกาะสีชังต้น ๑

พระธรรมเจดีย์ ชั้นเดิมก็สร้างเปนคัมภีร์ใบลานอย่างสมัยศรีอยุธยา มาพิมพ์พระไตรปิฎกเปนฉบับแพร่หลายได้ไปเปนประโยชน์ถึงนานาประเทศเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แต่เมื่อฉบับพิมพ์ครั้งนั้นจำหน่ายจ่ายแจกหมดไปแล้ว ประจวบสมัยการเล่าเรียนพระพุทธสาสนาเจริญขึ้นทั้งในยุโรปแลอเมริกา วิทยาลัยแลนักปราชญ์ในนานาประเทศพากันเสาะแสวงหาพระไตรปิฎกสยามยิ่งขึ้น ให้ราคาซื้อกันถึงจบละกว่าพันบาทก็มี มาถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพุทธเจดีย์เปนที่ระลึก แลอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรด ฯ ให้ชำระแลพิมพ์พระไตรปิฎกเหมือนอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยโปรด ฯ ให้พิมพ์นั้นอีกครั้ง ๑ ก็มีผู้เสื่อมใสศรัทธาบริจาคทรัพย์โดยเสด็จในการพระราชกุศล ได้จำนวนทุนทรัพย์กว่า ๒ เท่าที่ประมาณในการพิมพ์ พระไตรปิฎกชุดใหม่นี้พิมพ์เรียบร้อยดีขึ้นกว่าครั้งก่อน แลพิมพ์ในเวลาความต้องการมีอยู่ในนานาประเทศโดยมาก เชื่อได้ว่าคงจะเปนประโยชน์ทั้ง ๓ ประการ คือสืบอายุพระสาสนาเปนพระราชกุศลสมดังพระบรมราชูทิศประการ ๑ เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงรับรัชทายาทเปนเอกอัคสาสนูปถัมภกพระพุทธสาสนาอยู่พระองค์เดียวในโลกประการ ๑ แลเปนเกียรติยศแก่ประเทศสยาม เพราะประเทศอื่นแม้ที่ประชาชนนับถือพระพุทธสาสนาก็ไม่สามารถจะทำได้ประการ ๑

พระอุเทสิกะเจดีย์ มีพระพุทธรูปเปนอาทิ ในรัชกาลที่ ๑ มิใคร่จะได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เพราะทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระพุทธรูปโบราณซึ่งทิ้งชำรุดซุดโทรมอยู่ที่อื่นมาบุรณะปฏิสังขรณ์เปนพื้นดังกล่าวมาแล้ว มีพระพุทธรูปทรงสร้างในรัชกาลที่ ๑ ที่ลักษณงาม แต่พระคันธารราฐซึ่งตั้งในพระราชพิธีแรกนา แลขอฝนอยู่จนทุกวันนี้ พระพุทธรูปซึ่งสร้างต่อมาในรัชกาลที่ ๒ แลรัชกาลที่ ๓ โดยฉเพาะรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งพระราชหฤทัยจะหล่อพระขนาดใหญ่อย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงหล่อพระประธานวัดราชโอรส พระประธานวัดสุทัศน์ พระประธานวัดราชนัดดา แลพระประธานวัดเฉลิมพระเกียรติเปนต้น ลักษณพระพุทธรูปซึ่งสร้างใน ๒ รัชกาลนี้ ดูประสงค์จะให้งามแต่ทรวดทรงกับเครื่องประดับ ยกตัวอย่างดังพระพุทธรูป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามงามอย่างเปนรูปหุ่น ด้วยช่างในสมัยนั้นไม่สู้จะนิยมที่จะทำให้เหมือนลักษณมนุษย์สามัญ ถือว่าพระพุทธลักษณแปลกเปนอย่างหนึ่งต่างหาก

มีคติการสร้างพระพุทธรูป เกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ อย่างหนึ่ง เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ มีความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เคยทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์ ตามเรื่องนิบาตชาดกทั้ง ๕๕๐ ชาติ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจว่ารูปพระพธิสัตว์ตามนิบาตชาดกนั้น เปนรูปเทวดาก็มี มนุษย์ก็มี สัตว์เดียรฉานก็มี ไม่สมควรจะสร้างขึ้นเปนเจดียวัดถุ จึงโปรด ฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงเลือกค้นในคัมภีร์มีเรื่องพุทธประวัติ คัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นนับรวมกับแบบเดิมเปน ๔๐ ปาง แล้วทรงสร้างพระพุทธเจ้าปางต่างๆ ตามระเบียบนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ประดิษฐานอยู่ในหอราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เปนต้นแบบพระปางสมัยรัตนโกสินทร์ ตำรามีฉบับอยู่ในหอพระสมุด ฯ ได้คัดมาพิมพ์ไว้ต่อไปนี้

๑ ปางทุกกรกิริยา นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองประสานพระอุระ

๒ ปางรับมธุปายาส นั่งห้อยพระบาท แบพระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระชานุเปนกิริยาคอยรับ

๓ ปางลอยถาด นั่งคุกพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงวางถาดลงในน้ำ

๔ ปางทรงรับหญ้าคา ยืนห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยื่นพระหัตถ์ขวาเปนกิริยารับ

๕ ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วชี้พระธรณี (ตรงกับปางมารวิชัยแบบอินเดีย)

๖ ปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองประสานบนพระเพลา (ตรงกับปางสมาธิแบบอินเดีย)

๗ ปางถวายเนตร ยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่พระเพลา

๘ ปางจงกรมแก้ว ยืนยกพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองประสานพระเพลา

๙ ปางประสานบาตร นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร พระหัตถ์ขวาทรงลูบปากบาตร

๑๐ ปางฉันสมอ นังขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงผลสมอ

๑๑ ปางลีลา ยกพระบาทซ้าย ห้อยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระ กิริยาอย่างไกวพระพาหา (ตรงตามแบบอินเดีย)

๑๒ ปางประทานเอหิภิกษุอุปสมบท นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงกวัก

๑๓ ปางปลงกรรมฐาน ยืน พระหัตถ์ซ้ายประสานพระเพลา ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปเปนกิริยาจับ

๑๔ ปางห้ามสมุทร์ ยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองป้องเสมอพระอุระ (แบบอินเดียเรียกว่าปางประทานพร)

๑๕ ปางอุ้มบาตร์ ยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตร (พระปางอินเดียนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรเหมือนกัน)

๑๖ ปางภุตตากิจ นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร์ พระหัตถ์ขวาจุ่มลงไปในบาตร์

๑๗ ปางพระเกศธาตุ นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาลูบพระเกศา

๑๘ ปางเสด็จลงเรือขนาน นั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกเพียงพระอุระ (พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแบบอินเดีย ทำเปนปางประทานปฐมเทศนา)

๑๙ ปางห้ามญาติ ยืน ห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระหัตถ์ขวาป้อง (แบบอินเดียเรียกปางประทานพร)

๒๐ ปางพระปาเลไลย นั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระเพลา แบพระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ เปนกิริยาทรงรับ

๒๑ ปางห้ามพระแก่นจันทน์ ยืน ห้อยพระหัตถ์ขวา ยกพระหัตถ์ซ้ายป้อง

๒๒ ปางนาคาวโลกน์ ยืน ห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ เบือนพระพักตรกลับมาข้างหลัง

๒๓ ปางปลงพระชนม์ นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาประทับพระอุระ

๒๔ ปางรับอุทกัง นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาทรงบาตร

๒๕ พระสรงน้ำ ยืน ห่มเฉียงผ้าอุทกสาฎก ห้อยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระเปนกิริยาลูบพระกาย

๒๖ ปางยืน ห้อยพระหัตถ์ทั้งสอง

๒๗ ปางคันธารราฐ นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายกวัก พระหัตถ์ขวาเปนกิริยารับน้ำ

๒๘ พระรำพึง ยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานพระอุระ

๒๙ ปางสมาธิเพ็ชร ขัดสมาธิไขว้พระชงฆ์ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุ (เหมือนปางมารวิชัย)

๓๐ ปางสำแดงชราธรรม นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายขวาจับพระชานุทั้งสอง

๓๑ ปางประดิษฐานพระพุทธบาท ยืน กดปลายพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่พระเพลา

๓๒ ปางสำแดงโอฬาริกนิมิต นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายป้องพระอุระ พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุ

๓๓ ปางรับผลมะม่วง นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาทรงผลมะม่วง

๓๔ ปางขับพระวักกลี นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาห้อยลงที่พระชงฆ์เปนกิริยาโบกพระหัตถ์

๓๕ ปางไสยา พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายวางทอดลงไปตามพระกาย พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา (ตรงกับปางเข้านิพพานของอินเดีย)

๓๖ ปางฉันมธุปายาส นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองถาด พระหัตถ์ขวาจุ่มลงในถาด

๓๗ ปางห้ามมาร นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาป้องที่พระอุระ

๓๘ ปางสนเข็ม นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกเสมอพระอุระเปนกิริยาจับด้ายข้างหนึ่งเข็มข้างหนึ่ง

๓๙ ปางชี้อัครสาวก นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาชี้เปนกิริยาทรงเลือก

๔๐ ปางเปิดโลก ยืน พระหัตถ์ซ้ายขวาห้อยกางออกไปแลกางนิ้วพระหัตถ์หน่อยหนึ่ง

นอกจากปาง ๔๐ ที่กล่าวมานี้ ยังพระมีปางตอนแรกตรัสรู้ที่เรียกว่าเสด็จประทับณสัตตมหาสถานอีก ๗ ปาง คือ

สัตตมหาสถานที่ ๑ ปางนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ

สัตตมหาสถานที่ ๒ ปางถวายเนตร ยืนประสานพระหัตถ์ที่พระเพลา

สัตตมหาสถานที่ ๓ ปางจงกรมแก้ว พระลีลา พระหัตถ์ทั้งสองประสานพระเพลา มีเรือนแก้ว

สัตตมหาสถานที่ ๔ ปางทรงพิจารณาพระธรรมในเรือนแก้ว นั่งขัดสมาธิหงายพระหัตถ์ทั้งสองประสานบนพระเพลา มีเรือนแก้ว

สัตตมหาสถานที่ ๕ ปางนั่งสมาธิใต้ต้นไทร

สัตตมหาสถานที่ ๖ ปางนาคปรก นั่งสมาธิใต้ต้นจิก

สัตตมหาสถานที่ ๗ ปางรับผลสมอ บาตร เข้าสัตตู นั่งสมาธิใต้ต้นไม้เกด

ปางสัตตมหาสถานทั้ง ๗ นี้ เห็นจะเปนปางเกร็จที่ทำยักเยื้องออกไปเพื่อให้มีเรือนแก้วแลต้นไม้ประกอบ พระพุทธกิริยาก็ซ้ำกับปางที่กล่าวมาใน ๔๐ นั้น

มีพระปางต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่ง กำหนดตามนพเคราะห์ สำหรับบูชาเนื่องด้วยพิธีทักษา จะเกิดตำราขึ้นเมื่อใดหาทราบไม่ แต่มีอยู่ในสมุดตำราฉบับหลวงเล่มเดียวกับตำราพระพุทธรูป ๔๐ ปางซึ่งกล่าวมาแล้ว คือ

พระอาทิตย์ พระถวายเนตร

พระจันทร พระห้ามสมุทร์

พระอังคาร พระไสยา (ในรัสกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนเปนพระคันธารราฐ)

พระพุธ พระอุ้มบาตร

พระพฤหัสบดี พระสมาธิ

พระศุกร์ พระรำพึง

พระเสาร์ พระนาคปรก

พระราหู พระปาเลไลย

พระเกตุ พระขัดสมาธิ์เพชร นั่งสมาธิ

พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามตำราที่กล่าวมานี้ ปรากฎว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้แต่ ๓๓ ปาง เว้น ๗ ปาง คือปางมารวิชัย ๑ ปางสมาธิ ๑ ปางห้ามญาติ ๑ ปางยืน ๑ ปางคันธารราฐ ๑ ปางขัดสมาธิ์เพชร ๑ ปางไสยา ๑ แลมีปางนาคปรกในปางเกร็ดเพิ่มเข้าด้วยเปน ๓๔ ปาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าไว้ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือนว่า พระปางเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชดำริห์ไว้ประการใดหาทราบไม่ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเปนเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ จึงโปรดให้หล่อเปนฐานเฉียงเติมขึ้นอีกชั้น ๑ แล้วให้กาไหล่ทองคำทุกปาง เมื่อเสร็จแล้วโปรดให้จารึกทรงพระราชอุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณแลกรุงธนบุรี

อนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระราชดำริห์สอบสวนพระพุทธลักษณในคัมภีร์ต่าง ๆ แล้วทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ตามที่ทรงเชื่อว่าต้องตามพระพุทธลักษณองค์ ๑ ถวายพระนามว่า “พระสัมพุทธพรรณี” เดี๋ยวนี้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ข้างด้านหน้าในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แบบพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์นั้นไม่มีพระเกตุมาลา แต่ฝีมือช่างครั้งแรกทรงสร้างทำไม่ได้ถึงพระราชหฤทัย มาจนในรัชกาลที่ ๔ มีช่างดีเกิดขึ้น คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ จึงทรงปรึกษาแก้ไขลักษณพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างต่อมา เช่นพระนิรันตรายเปนต้น แก้ไขพุทธลักษณคล้ายมนุมย์สามัญยิ่งขึ้นกว่าฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ แต่ก็ทำได้แต่พระของหลวง พระที่พวกบ้านหล่อรับจ้างสร้างให้ประชาชนก็ยังคงเปนแบบรูปหุ่นอยู่อย่างเดิม มาจนในรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการคิดแก้ไขแบบพระพุทธรูปต่อมา กลับให้มีพระเกตุมาลา แต่อย่างอื่นก็ยังคงอยู่ตามแบบครั้งรัชกาลที่ ๔ มาจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร โปรด ฯ ให้จำลองพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก หล่อเปนพระประธาน แลให้รวบรวมพระพุทธรูปแบบสมัยต่าง ๆ ในประเทศสยามนี้ แลแบบพระพุทธรูปประเทศอื่นๆ มาเรียบเรียงไว้ให้มหาชนบูชาที่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตร แต่นั้นการเลือกหาแลแก้ไขแบบแผนพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ จึงหันไปนิยมพระพุทธรูปแบบต่าง ๆ ช่างที่ฝีมือดีก็คิดแก้ไขหันเข้าหาความงาม ให้เห็นจริงอย่างสามัญมนุษย์ต่อมา ควรยกเปนตัวอย่างเช่นพระไสยาซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศทรงคิดแบบให้สร้างอุทิศถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย อยู่ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสองค์ ๑ แต่ที่ในอินเดียเดี๋ยวนี้ ซึ่งความเลื่อมใสพระพุทธสาสนากลับเจริญขึ้น ชาวอินเดียช่างสมัยใหม่ก็คิดแก้ไขแบบพระพุทธรูปมาให้คล้ายกับสามัญมนุษย์ ดังจำลองไว้ให้เห็นในหนังสือนี้ด้วยรูป ๑

ว่าโดยส่วนพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ มีข้อสำคัญซึ่งควรจะกล่าวอีกข้อ ๑ ด้วยพระพุทธรูปซึ่งนับถือกันว่าเปนพระสำคัญ มีเรื่องฉเพาะพระองค์ราวปรากฎมาในพงศาวดาร คือพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต พระพุทธบุษยรัตน พระพุทธสิหิงค์ แลพระพุทธชินสีห์เหล่านี้ แต่ก่อนมาไม่เคยอยู่รวมในราชธานีอันเดียวกัน พึ่งมารวมกันอยู่ในกรุงเทพ ฯ มหานครอมรรัตนโกสินทร์นี้ ควรนับว่าผิดกับสมัยอื่นในเรื่องตำนานด้วยอีกอย่าง ๑

• • • • • • • • •

เรื่องตำนานพุทธเจดีย์สยาม แต่งได้เพียงเท่านี้ พอหมดเวลาที่จะพิมพ์ให้ทันแจกงารศพ ซึ่งกำหนดวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

  1. ๔๘. ว่าตามรูปพระสถูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขุดได้ที่ในบริเวณพระปฐมเจดีย์ เจ้าอธิการวัดโพธิ์ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์ ๑

  2. ๔๙.ศิลากงจักรนี้ไม่ปรากฎว่ามีในประเทศพม่ารามัญหรือเขมร แม้ในประเทศสยามก็พบแต่ที่จังหวัดนครปฐม กับได้ยินว่ามีทางมณฑลนครราชสิมาบ้าง แต่มณฑลอื่นหาปรากฎว่ามีไม่

  3. ๕๐. มีคติทางประเทศธิเบต ว่าแบบพระสถูปนั้น พระพุทธองค์ทรงพระดำริห์ขึ้น โดยเอาผ้าไตรพับเปนสี่เหลี่ยมซ้อนกัน แล้วเอาบาตรคว่ำบนนั้น เอาทานพระกรปักเปนยอด

  4. ๕๑. ที่ในประเทศชวามีมาก เรียกว่า “จันดิ” เห็นจะมาแต่คำเจดีย์นั้นเอง

  5. ๕๒.รูปอย่างนี้มักกล่าวกันว่าเปนรูปพระอิศวร เมื่อซ่อนหากับพระพุทธเจ้าทำนองดังกล่าวในเรื่องชมพูบดีวัดถุ

  6. ๕๓. เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปมณฑลพายัพคราว พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้ไปพิจารณาดู เห็นว่าพระยืนองค์ที่เรียกกันว่า พระละโว้ เดี๋ยวนี้ เปนพระสร้างชั้นหลัง แต่พบพระพุทธรูปหล่ออีกองค์ ๑ ชำรุดเหลือแต่พระเศียรกับพระหัตถ์ (เห็นจะเปนเพราะถูกไฟไหม้) ลักษณเปนพระสมัยลพบุรีชั้นเก่าแน่แท้ ได้สั่งให้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่วัดมหาธาตุนั้น สันนิษฐานว่าจะเปนพระละโว้องค์เดิม

  7. ๕๔. ในตำนานแลศิลาจารึกว่าพระสุมนเถร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๒

  8. ๕๕. เมื่อข้าพเจ้าไปมณฑลพายัพครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๑ พระครูพุทธวงศาจารย์เมืองแพร่ได้เคยพาเที่ยวชี้ให้ดู ว่าพระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมายืนตรงนี้ จึงได้สร้างวัดขึ้น เรียกว่า วัดพระยืน อยู่จนปัจจุบันนี้

  9. ๕๖.พระพุทธรูปลานช้างที่งามยิ่งกว่าองค์อื่น คือ “พระเสิม” อยู่ในพระวิหารวัดประทุมวัน นอกจากนั้นยังมีที่ในโบสถ์วัดประทุมวันแลวัดหงส์ พอดูเปนตัวอย่างได้

  10. ๕๗. บางทีจะมีที่แห่งอื่น ซึ่งข้าพเจ้ายังมิได้เห็นอยู่อีก แต่พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองพิษณุโลกสร้างต่อสมัยกรุงศรีอยุธยา

  11. ๕๘. กล่าวไว้ในหนังสือมหาวงศ บริเฉทธาตุนิธานที่ ๓๑

  12. ๕๙. พระเจดีย์องค์นี้ เดิมสร้างเปนพระเจดีย์แบบสุโขทัย ครั้นชำรุด พวกพม่ามาปฏิสังขรณ์แปลงเปนรูปพระเจดีย์พม่า ยังปรากฎอยู่

  13. ๖๐. ชื่อคัมภีร์เหล่านี้เข้าใจว่ามีวิปลาศด้วยคัดกันต่อๆ มา ในเล่มนี้ได้คัดลงไว้ตามฉบับเดิม

  14. ๖๑. พระพุทธรูปปาเลไลยองค์ใหญ่ที่เมืองสุพรรณบุรี เดิมก็จะสร้างตามแบบทวาราวดี เปนปางประทานปฐมเทศนา ครั้นนานมาหักพังมาปฏิสังขรณ์ในสมัยลังกาวงศ จึงแปลงไปเปนพระปาเลไลย

  15. ๖๒. ปั้นแปลงรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งสร้างในลัทธิมหายานเปนพระพุทธรูปก็มีปรากฎมาแต่สมัยสุโขทัย เดี๋ยวนี้ดูเหมือนยังมีอยู่ที่วัดศรีสวายในเมืองสุโขทัยเก่า

  16. ๖๓. มักเรียกกันว่าแบบ “พระเมืองสรรค์.”

  17. ๖๔. มีความปรากฎอยู่ในหนังสือลิลิตเรื่องญวนพ่าย.

  18. ๖๕. พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้าง สูญเสียแล้ว แต่พระโลกนาถสร้างทีหลังไม่ช้านักยังอยู่ที่วิหารวัดพระเชตุพน พอดูแบบอย่างครั้งนั้นได้

  19. ๖๖. วัดกุฎีดาว พระเจ้าบรมโกษฐทรงสร้างแต่เมื่อยังเปนพระมหาอุปราช

  20. ๖๗. วัดในเมืองเพชรบุรีที่ปฏิสังขรณ์เปนฝีมือเก่า ทำในสมัยนี้เปนพื้น

  21. ๖๘. พระมหาธาตุพระฝางเดิมทำเปนพระสถูป กล่าวกันมาว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้จำลองมาสร้างพระเจดีย์ที่วัดราชประดิษฐในกรุงเทพ ฯ แต่เจดีย์พระฝางองค์เดิมนั้นต่อมาพังลง องค์ที่อยู่เดี๋ยวนี้เปนของพระสงฆ์สร้างขึ้นใหม่

  22. ๖๙. รูปพระศรีอารย์ทรงเครื่องมีอยู่ที่วัดใหม่เหนือพระนครหลวงองค์หนึ่ง ที่หน้าพระอุโบสถวัดชุมพลนิกายารามองค์หนึ่ง เปนของสร้างครั้งพระเจ้าปราสาททองทั้ง ๒ องค์ แต่องค์ที่วัดชุมพล ฯ ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร

  23. ๗๐. เรื่องพิสดารปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ หน้า ๓๐๒

  24. ๗๑. พระสถูปรูปสองลอน เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ที่ข้างกุฏิสมเด็จพระวันรัตน ทับ ที่วัดโสมนัสวิหาร องค์ ๑

  25. ๗๒. คือตัวข้าพเจ้าผู้แต่งหนังสือนี้ด้วยคน ๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ