- เจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔
- ข้าพเจ้าขออุทิศกุศล
- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๒ ว่าด้วยประวัติพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๓ สมัยแรกพระพุทธสาสนาเปนประธานของประเทศ
- ตอนที่ ๔ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพระพุทธรูป
- ตอนที่ ๕ ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
- ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในคติมหายาน
- ตอนที่ ๗ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในนานาประเทศ
- ตอนที่ ๘ ว่าด้วยพระพุทธสาสนาในประเทศสยาม
- ตอนที่ ๙ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในสยามประเทศ
ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในคติมหายาน
ในสมัยเมื่อการถือพระพุทธสาสนาในอินเดียเกิดแยกกัน เปนนิกายฝ่ายเหนือแลนิกายฝ่ายใต้นั้น พระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกายก็ถือพระธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกด้วยกัน แต่นิกายฝ่ายใต้ถือพระวินัยเปนสำคัญ ส่วนพวกนิกายฝ่ายเหนือถือพระปรมัตถ์เปนสำคัญ ด้วยคติของพระสงฆ์นิกายฝ่ายใต้มุ่งหมายจะรักษาพระธรรมวินัย ตามซึ่งพระอริยสาวกได้ทำปฐมสังคายนาไว้ให้มั่นคง ประสงค์จะให้พระพุทธสาสนาคงอยู่อย่างเช่นพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มิให้ผันแปรไปเปนอย่างอื่น ส่วนคติของพวกนิกายฝ่ายเหนือ มุ่งหมายจะเผยแผ่พระพุทธสาสนาให้มหาชนเลื่อมใสแพร่หลายเปนสำคัญ ผิดกันดังนี้ พวกสงฆ์นิกายฝ่ายเหนือคิดเห็นว่า วิธีสอนพระพุทธสาสนามาแต่ก่อน ซึ่งพระสงฆ์ประพฤติระงับดับกิเลสตนเองให้เปนเยี่ยงอย่าง แล้วชักจูงคนทั้งหลายให้ประพฤติตามนั้นเปนทางแคบ เพราะว่าคนที่กิเลสกล้าปัญญาต่ำคิดไม่เห็นประโยชน์ ก็มิใคร่เลื่อมใสในพระพุทธสาสนา จึงคิดวิธีใหม่เปลี่ยนเปนมุ่งหมายเกลี้ยกล่อมชักจูงคนให้เลื่อมใสในพระพุทธสาสนาเสียก่อน แล้วจึงสั่งสอนให้ระงับดับกิเลสต่อภายหลัง เรียกว่าวิธี “มหายาน” หมายความว่าเปนยานพาหนะอันกว้างใหญ่ ที่จะรับขนสัตว์ข้ามสังสารวัฏ แล้วเลยเรียกลัทธิเดิมว่า “หินยาน” หมายความว่าเปนยานพาหนะอันคับแคบ แต่พวกนิกายฝ่ายใต้เรียกนามนิกายของตนเองว่า “สถวีร” หมายความว่าเปนนิกายเก่าแก่ แลเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สาวกยาน” หมายความว่าเปนยานพาหนะของพระพุทธสาวก แต่คนทั้งหลายในชั้นหลังมักเรียกตามคำที่พวกมหายานขนานไว้ว่า “หินยาน” โดยมาก เมื่อลัทธิของมหายานเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายดังกล่าวมา ต่อมาพระสงฆ์ฝ่ายมหายานก็แก้ไขคติในพระพุทธสาสนาผันแปรไปเปนอันดับ เปนต้นว่าพระนิพาน ตามคติเดิมถือว่า บุคคลจะพึงถึงได้แต่ด้วยเปนพระพุทธเจ้า หรือเปนพระปัจเจกโพธิ หรือเปนพระอรหันตขีณาสพ พวกมหายานถือว่าไม่ควรมุ่งหมายที่จะเปนพระปัจเจกโพธิ หรือเปนพระอรหันตขีณาสพ เพราะจะไปพระนิพานแต่ตัวไม่เปนประโยชน์แก่ผู้อื่น ควรมุ่งหมายแต่พุทธภูมิอย่างเดียว จะได้พาผู้อื่นข้ามสังสารวัฏเสียก่อน แล้วตนเองจึงเข้าพระนิพานต่อภายหลัง
พระพุทธรูปที่คิดขึ้นตามลัทธิมหายานมีหลายอย่าง มักเปนแต่ยักเยื้องไปจากแบบเดิมบ้างเล็กน้อย คือ
๑ พระอาทิพุทธเจ้า ทำเปนพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ
พระธยานิพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ทำเหมือนอย่างพระพุทธรูปสามัญผิดกันแต่ที่พระหัดถ์ คือ
๒ พระไวโรจนะ ทำพระหัดถ์อย่างปางปฐมเทศนา
๓ พระอักโษภยะ ทำพระหัดถ์อย่างปางมารวิชัย
๔ พระรัตนสัมภวะ ทำพระหัดถ์อย่างปางประทานพร
๕ พระอมิตาภะ ทำพระหัดถ์อย่างปางสมาธิ
๖ พระอโมฆสิทธะ ทำพระหัดถ์อย่างปางประทานอภัย
ต่อมาพวกถือลัทธิมหายานคิดพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีกปางหนึ่ง
๗ เรียกว่าพระไภษัชยคุรุ (สันนิษฐานว่าเห็นจะอนุโลมมาแต่พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร) ทำเปนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ แต่พระหัดถ์ถือหม้อน้ำบ้าง หรือวชิรบ้าง ถือพฤกษชาติที่เปนโอสถ มีผลสมอเปนต้นบ้าง นิยมกันว่ามีอานุภาพในการรักษาไข้เจ็บ บางพวกถือว่าเปนพระมนุษยพุทธเจ้าอีกพระองค์ ๑ (พระกริ่งเปนพระพุทธรูปปางนี้ทั้งนั้น)
นอกจากพระพุทธรูปที่กล่าวมาแล้ว พวกถือลัทธิมหายานยังคิดสร้างรูปพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ กับทั้งนาง “ดารา” ซึ่งสมมตว่าเปนภรรยาพระโพธิสัตว์ขึ้นบูชาเปนพุทธเจดีย์อีกหลายอย่าง แท้จริงรูปพระโพธิสัตว์มีมาก่อนแล้วช้านาน เปนต้นว่าลวดลายที่พระเจ้าอโศกมหาราชทำเรื่องชาดก ก็มีรูปพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในกำเนิดต่าง ๆ ต่อมาเมื่อช่างชาวคันธารราฐทำพระพุทธรูป ก็คิดทำรูปพระโพธิสัตว์ (คือพระพุทธองค์เมื่อก่อนตรัสรู้) ขึ้นหลายอย่าง มักจะทำงามน่าชม เช่นรูปพระโพธิสัตว์เมื่อกระทำทุกรกิริยา (เรามักเรียกกันว่า “พระผอม”ซึ่งจำลองหล่อไว้ณวัดเบญจมบพิตร) นั้นเปนต้น แต่ตั้งใจหมายว่าพระสักยมุนีพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ทั้งนั้น มีรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งจะเปนพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นแต่พระศรีอาริยเมตไตรยองค์เดียว แต่พระโพธิสัตว์ซึ่งพวกถือลัทธิมหายานคิดทำรูปขึ้น เปนพระโพธิสัตว์องค์อื่น ๆ ต่อออกไปอีกเปนอันมาก
ที่พวกถือลัทธิมหายานคิดทำรูปพระโพธิสัตว์เช่นกล่าวมา สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดเพราะพวกสอนสาสนาพราหมณ์ขันแข่งพระพุทธสาสนา เปนมูลเหตุ ด้วยคติสาสนาทั้งสองผิดกันเปนข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธสาสนาสอนว่าความดีความชั่วอันบุคคลจะพึงได้ อาศรัยความประพฤติของตนเอง พระพุทธเจ้าเปนแต่ผู้ตรัสรู้พระธรรมแล้วนำมาสั่งสอนเวไนยสัตว์ แลพระองค์ก็เสด็จเข้าสู่พระนิพานสูญไปแล้ว ฝ่ายคติสาสนาพราหมณ์สอนว่ามีพระเปนเจ้าอยู่บนสวรรค์ เปนผู้คอยให้ความดีความชั่วแก่มนุษย์ทั้งหลาย ใครทำผิดไม่ชอบพระหฤทัยพระเปนเจ้าก็ลงโทษ ถ้าใครวิงวอนอ่อนน้อมประพฤติให้ถูกพระหฤทัยพระเปนเจ้า ผู้นั้นก็อาจจะได้ดีตามประสงค์ ดังนี้ ก็วิสัยมนุษย์เคยพึ่งผู้อื่นเลี้ยงมาเมื่อยังเยาว์ ผู้ที่หย่อนปัญญาย่อมเข้าใจคำสอนให้หมายพึ่งพระเปนเจ้าได้ง่ายกว่าให้หมายพึ่งตนเอง ข้อนี้ที่ผู้สอนสาสนาพราหมณ์ได้เปรียบผู้สอนพระพุทธสาสนา พวกถือลัทธิมหายานจึงคิดแก้ไขคติ ถือเอาธรรมดาว่าพระโพธิสัตว์ย่อมจะต้องรักษาพระพุทธสาสนา สั่งสอนให้ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธสาสนาหมายพึ่งพระโพธิสัตว์ ทำนองเดียวกับพวกถือสาสนาพราหมณ์หมายพึ่งพระเปนเจ้า ตลอดไปจนถึงสมมตว่ามีนางดาราเปนชายาของพระโพธิสัตว์ เช่นเดียวกับนางเทพธิดาเปนชายาของพระเปนเจ้า อันการที่คิดแก้คติเอาข้อซึ่งเห็นว่าดีของสาสนาอื่นมาใช้ใช่จะทำแต่พวกถือลัทธิมหายานในพระพุทธสาสนาเท่านั้นหามิได้ ถึงพวกถือสาสนาพราหมณ์ก็คิดแก้ไขคติสาสนาของตน เอาข้อซึ่งเห็นว่าดีในพระพุทธสาสนาไปใช้ทำนองเดียวกัน จนเกิดนิกายขึ้นในสาสนาพราหมณ์อีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า “วิษณุเวฏ” ถือว่าพระนารายณ์เปนผู้บำรุงมนุษยโลก แม้เกิดความเดือดร้อนร้ายแรงแก่มนุษย์เมื่อใด พระนารายณ์ก็อวตารก็ลงมาเกิด ช่วยปราบปรามจลาจลให้ได้ความสุข อ้างวีรบุรุษซึ่งปรากฎมาในเรื่องพงศาวดาร เช่นพระกฤษณก็ดี พระรามก็ดี แม้พระสักยมุนีศรีสรรเพชญ์พุทธเจ้าก็ดี ว่าเปนพระนารายณ์อวตารทั้งนั้น
พระโพธิสัตว์ซึ่งพวกถือลัทธิมหายานคิดสมมตขึ้น กำหนดเปนธยานิโพธิสัตว์อย่าง ๑ มนุษย์โพธิสัตว์อย่าง ๑ ทำนองเดียวกับที่สมมตพระพุทธเจ้า แต่มีจำนวนมากมาย
๑ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระสาสนาของพระกกุสันธพุทธเจ้า
๒ วัชรปาณีโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระสาสนาของพระโกนาคมพุทธเจ้า
๓ รัตนปาณีโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระสาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า
๔ อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระสาสนาของพระโคดมสักยมุนีศรีสรรเพชญ์พุทธเจ้า
๕ วิศวปาณีโพธิสัตว์ จะเปนผู้รักษาพระสาสนาของพระศรีอารียเมตไตรยพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต
รูปพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายานซึ่งคิดทำขึ้นชั้นแรก มักทำเปนมหาบุรุษทรงเครื่องขัติยาภรณ์ นั่งบ้างยืนบ้างตามแต่เห็นงาม มีเครื่องหมายว่าเปนพระโพธิสัตว์ด้วยทำพระพุทธรูปติดไว้กับอุณหิศหรือกับเมาฬีเปนสำคัญ กับทำวัดถุที่ถือต่าง ๆ กัน เช่นถือดอกอุบลบ้าง ถือวชิรบ้าง ถือจินดามณีบ้าง สิ่งอื่นบ้าง แต่ภายหลังเห็นจะเปนในสมัยเมื่อพวกถือสาสนาพราหมณ์คิดทำเทวรูปให้ผิดแปลกกับมนุษย์ไปด้วยประการต่าง ๆ พวกถือลัทธิมหายานก็คิดทำรูปพระโพธิสัตว์ให้ผิดแปลกไปต่าง ๆ บ้าง จึงเกิดมีรูปพระโพธิสัตว์ทำเปนหลายหน้าแลมีมือตีนมากผิดมนุษย์สามัญ จนถึงทำเปนยักษ์เปนนางแลเปนนรสิงห์ก็มี รู้ได้ว่าเปนรูปพระโพธิสัตว์แต่ที่มีพระพุทธรูปติดอยู่กับเครื่องศิราภรณ์เปนสำคัญ
-
๒๘. ในเรื่องนี้อ้างเยี่ยงอย่างครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเปนสุเมธดาบส ไม่รับพยากรณ์ที่พระทีปังกรพุทธเจ้าจะให้ได้ถึงพระนิพานในชาตินั้น ขออุบัติเปนพระพุทธเจ้าให้ได้โปรดสัตว์เสียก่อน ↩
-
๒๙. พระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีในเมือง พม่า มอญ ไทย เขมร มีมาแต่ครั้งเมื่อประเทศเหล่านี้ถือลัทธิมหายาน เรื่องที่กล่าวในตำนานท้าวมหาชมพูนั้น เปนเรื่องคิดขึ้นชั้นหลัง ↩
-
๓๐. รูปพระธยานิพุทธ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้มาแต่เกาะชวาชุดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์วัดราชาธิวาส ๔ องค์ อยู่ที่ซุ้มปรางค์ข้างพระอุโบสถวัดบวรนิเวศองค์หนึ่ง ↩
-
๓๑. ที่พวกแขกกาลิงค์ไหว้พระพุทธรูป ไหว้โดยถือว่าเปนพระนารายณ์อวตาร ↩
-
๓๒. อธิบายเรื่องพระโพธิสัตว์มหายาน มีพิสดารอยู่ในหนังสือว่าด้วยพระเจ้าในลัทธิพระพุทธสาสนาฝ่ายเหนือ (Gods of the Northern Buddhism) ซึ่งนางสาว เอลิศ เคตตี แต่ง ↩