ตอนที่ ๗ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในนานาประเทศ

พระพุทธสาสนาเริ่มแผ่ไปถึงนานาประเทศภายนอกอินเดีย เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสั่งสอน ในราว พ.ศ. ๓๐๐ ข้อที่อ้างกันในประเทศต่าง ๆ ว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จไปสั่งสอนพระสาสนาถึงประเทศนั้นๆ ก็ดี หรืออ้างว่าได้วัดถุอันเปนบริโภคเจดีย์ไว้แต่ในพุทธกาล ดังเช่นอ้างว่าได้พระเกศาของพระพุทธเจ้าไว้ก็ดี หรือว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทประทานไว้ก็ดี เปนแต่คำอ้างอันเกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น แม้การที่รับพระพุทธสาสนาไปในครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ที่มีเรื่องราวเปนหลักฐานฟังได้ในทางพงศาวดารก็แต่ลังกาทวีปประเทศเดียว นอกจากนั้นมีแต่โบราณวัดถุปรากฎอยู่เปนสิ่งสำคัญพอสังเกต ว่าพระพุทธสาสนาแพร่หลายไปประดิษฐานณประเทศไหนแต่เมื่อใด

ถ้าตามโบราณวัดถุที่ยังปรากฎอยู่ในประเทศต่าง ๆ จนบัดนี้มีเค้าเงื่อนว่าทางทิศตวันตกของอินเดีย พระพุทธสาสนาไม่แผ่ไปเท่าใดนัก ปรากฎอยู่เพียงในอาณาเขตประเทศเปอเซียเท่านั้น แต่ทางทิศอื่นแผ่ไปกว้างขวางมาก เปนต้นว่าทางทิศเหนือแผ่พ้นแนวเขาหิมาลัยไปจนกลางทวีปอาเซีย อันบัดนี้เปนอาณาเขตประเทศรุสเซียต่อมาจนแดนประเทศจีน ทางทิศตวันออกแผ่ไปไกลกว่าทุกทิศ ตั้งแต่ประเทศพม่า มอญ ไทย เขมร ญวน จีน เกาหลีไปจนสุดประเทศญี่ปุ่น ทางทิศใต้ก็แผ่ไปตามประเทศทั้งหลายที่เปนเกาะในมหาสมุทร์ ตั้งแต่ลังกาทวีป เกาะสุมาตรา เกาะชวา ตลอดไปจนเกาะบอนิโอ แต่การที่พระพุทธสาสนาแผ่ไปยังนานาประเทศดังกล่าวมา ค่อยแผ่ออกไปโดยลำดับนับเปนเวลาหลายร้อยปี อาศรัยเหตุที่ชาวอินเดียไปเที่ยวสั่งสอน แลชาวประเทศนั้นๆ เกิดเลื่อมใสรับพระสาสนาประดิษฐานไว้ในบ้านเมืองของตนแลสั่งสอนกันเองสืบมา

ก็ลักษณที่ชาวอินเดียพาพระพุทธสาสนาไปเที่ยวสั่งสอนยังนานาประเทศนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฎว่า เพราะการคมนาคมในระหว่างอินเดียกับต่างประเทศมีมาแล้วช้านาน บางทีจะมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ชาวอินเดียที่ไปค้าขายหรือไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ยังต่างประเทศ ใครถือสาสนาอย่างใดก็พาสาสนาอย่างนั้นไปประพฤติ แลสั่งสอนชาวประเทศนั้นๆ ให้ประพฤติตาม เปนทำนองเดียวกันทั้งสาสนาพราหมณ์แลพระพุทธสาสนา แต่คติสาสนาทั้งสองนั้นผิดกันในข้อสำคัญ ที่สาสนาพราหมณ์สอนศาสตราคมเกี่ยวข้องไปถึงการปกครองบ้านเมือง ฝ่ายพระพุทธสาสนาสอนแต่ทางธรรมปฏิบัติ หรือถ้าจะว่าอีกอย่าง ๑ สาสนาพราหมณ์ให้ประโยชน์ยิ่งแลหย่อนกว่ากันตามชั้นของบุคคล ฝ่ายพระพุทธสาสนาให้ประโยชน์เสมอกันมิได้เลือกชั้นบุคคล เหตุที่สาสนาทั้งสองไปเจริญรุ่งเรืองในต่างประเทศจึงผิดกัน ประเทศใดที่ชาวอินเดียได้ไปมีอำนาจปกครองประเทศนั้นสาสนาพราหมณ์มักเจริญรุ่งเรือง เช่นประเทศชวาแลประเทศกัมพูชาเปนต้น ประเทศใดที่ชาวอินเดียมิได้ไปปกครองประเทศนั้นพระพุทธสาสนามักรุ่งเรือง เช่นประเทศจีน ประเทศยี่ปุ่น แลประเทศพม่า มอญ ไทย เหล่านี้

คติสาสนาทั้งสองนั้นยังผิดกันอีกอย่างหนึ่ง ที่พวกถือสาสนาพราหมณ์ไม่สู้ขวนขวายในการเที่ยวสอนสาสนา เพราะสาสนาอาศรัยอำนาจดังกล่าวมาแล้ว ส่วนพระพุทธสาสนาอาศรัยแต่ความเลื่อมใส การเที่ยวสั่งสอนจึงเปนสำคัญมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธสาสนารุ่งเรืองแพร่หลายก็เพราะพระเจ้าอโศกให้เที่ยวสั่งสอน การสอนพระพุทธสาสนาไปยังนานาประเทศ จึงนับถือกันในอินเดียว่าเปนพระเกียรติยศอย่างสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้เปนพุทธสาสนูปถัมภก พระมหากษัตริย์พระองค์ใดซึ่งเลื่อมใสพระพุทธสาสนาได้เปนใหญ่ขึ้นในอินเดีย เช่นพระเจ้ากนิษกะเปนต้น ก็เอาแบบพระเจ้าอโศกมหาราชเปนเยี่ยงอย่าง ให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนายังนานาประเทศสืบกันมา ก็พวกที่ไปเที่ยวสอนสาสนาย่อมไปตามหนทางคมนาคมซึ่งชาวอินเดียเคยไปมากับประเทศนั้น ๆ มาแต่ก่อน เปนต้นว่าพวกที่ไปต่างประเทศทางทิศตวันตกแลทิศเหนือ โดยปรกติมักเปนชาวอินเดียฝ่ายเหนือเดิรบกจากคันธารราฐไปทางประะเทศเปอเซีย หรือทางกลางทวีปอาเซียไปจนประเทศจีน พวกมาทางทิศตวันออกมักเปนชาวมัชฌิมประเทศมาจากมคธราฐ ลงมายังลังกาทวีป หรือเลียบอ่าวเบงกอลมาทางประเทศหม่า มอญ ไทย ฝ่ายพวกที่ไปทางทิศใต้มักเปนชาวอินเดียทางปักษ์ใต้แล่นเรือข้ามทเลมายังเกาะสุมาตรา เกาะชวา แล้ววกมาเมืองจาม (คือประเทศญวนบัดนี้) แลเมืองขอม เพราะเหตุนี้การถือลัทธิพระพุทธสาสนา ตลอดจนแบบแผนพุทธเจดีย์ในนานาประเทศจึงต่างกัน เหล่าประเทศทางฝ่ายตวันตกแลฝ่ายเหนือ มักทำตามแบบแผนของชาวคันธารราฐ ประเทศทางฝ่ายตวันออกมักทำตามแบบแผนของชาวมคธราฐ ประเทศทางฝ่ายใต้มักทำตามแบบแผนของชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้

อีกประการหนึ่งลัทธิถือพระพุทธสาสนาซึ่งชาวอินเดียพาไปสอนตามนานาประเทศนั้น เนื่องด้วยเรื่องประวัติของพุทธสาสนาในอินเดีย ชั้นเดิมเมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนา ลัทธิพระพุทธสาสนาซึ่งถือกันในอินเดียยังเปนอย่างเถรวาท หรือเรียกกันชั้นหลังว่าหินยาน พระไตรปิฎกใช้ภาษามคธตามที่ทำตติยสังคายนา วัดถุที่เปนพุทธเจดีย์ก็ยังไม่มีพระพุทธรูป ต่างประเทศที่รับพระพุทธสาสนาไปในชั้นนี้ มีลังกาทวีปเปนต้น ย่อมถือลัทธิเถรวาท ครั้นเมื่อพระเจ้ากนิษกะทำสังคายนาแปลงพระไตรปิฎกเปนภาษาสันสกฤตแล้ว เลยเกิดลัทธิมหายานขึ้นในอินเดีย พวกชาวอินเดียพาลัทธิมหายานไปเที่ยวสั่งสอน ต่างประเทศที่รับถือพระพุทธสาสนาอยู่แล้วหันไปเลื่อมใสลัทธิมหายานโดยมาก เว้นแต่ชาวลังกากับพวกพม่ามอญยังถือลัทธิเถรวาทอยู่ ทำนองจะเปนเพราะอยู่ใกล้ได้ส้องเสพสมาคมกับนักปราชญ์ชาวมคธราฐที่ถือลัทธิหินยานมาสนิธสนม มีในเรื่องพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพุทธกาลล่วงได้ ๙๐๐ ปีเศษ มีชาวเมืองพุทธคยาคนหนึ่งศรัทธาออกบวชเปนพระภิกษุสงฆ์ในนิกายเถรวาท ได้นามปรากฎต่อมาว่าพระพุทธโฆษาจารย์ เล่าเรียนพระไตรปิฎกรอบรู้แล้ว ดำริห์ว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกในมคธราฐซึ่งเขียนลงไว้เปนตัวอักษร แสดงพระธรรมวินัยวิปลาดคลาสเคลื่อนมากนัก ทราบว่าที่ในลังกาทวีปก็ได้เขียนพระไตรปิฎก ตามวาทะที่พระมหินทรเถรได้นำไปสั่งสอน ลงไว้เปนอักษรแล้ว พระพุทธโฆษาจารย์จึงอุส่าห์ไปยังลังกาทวีป เอาฉบับพระไตรปิฎกในมคธราฐไปสอบทานกับฉบับในลังกาทวีป ก็หนังสือพระไตรปิฎกที่มีอยู่ในลังกาทวีปนั้นเปน ๓ ประเภทด้วยกัน ประเภท ๑ เรียกว่า “บาลี” คือตัวพระธรรมวินัยตามที่ทำตติยสังคายนาไว้เปนภาษามคธ พระมหินทรเถรท่องจำเอาไปสั่งสอนให้พระสงฆ์ชาวลังกาท่องจำไว้สั่งสอนกันสืบมา อีกประเภท ๑ เรียกว่า “อรรถกถา” คือคำชี้แจงความบางแห่งซึ่งมีในตัวบาลีแต่โดยย่อ ประสงค์จะบอกอธิบายให้ผู้ศึกษาเข้าใจโดยพิสดาร ความอธิบายเหล่านี้พระสงฆ์ชาวลังกาแต่งไว้ในภาษาสิงหฬอันเปนภาษาของชาวลังกาทวีป อีกประเภท ๑ เรียกว่า “ฎีกา” คืออธิบายความแห่งอรรถกถาให้ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง แต่งเปนภาษาสิงหฬเหมือนกันกับอรรถกถา พระพุทธโฆษาจารย์ชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกาให้ช่วยกันชำระพระไตรปิฎกส่วนบาลีเทียบทานให้ถูกต้องกัน แลคัดส่วนซึ่งเห็นว่าเปนของแปลกปลอมออกเสีย แล้วเลือกคัดอรรถกถาฎีกาซึ่งพระสงฆ์ชาวลังกาแต่งไว้ เห็นว่าคัมภีร์ใดแต่งเปนหลักฐานก็แปลเปนภาษามคธให้เข้าระเบียบเดียวกันทั้งบาลีอรรถกถาแลฎีกา อรรถกถาที่พระพุทธโฆษาจารย์พยายามแต่งขึ้นเองก็มี คือคัมภีร์วิสุทธิมรรคแลธรรมบท เปนต้น ส่วนหนังสือซึ่งคัดออกเสียจากพระไตรปิฎก โดยเห็นว่าไม่ต้องด้วยพระพุทธวจนะนั้น พระพุทธโฆษาจารย์ให้เผาเสียทั้งสิ้น พระไตรปิฎกภาษามคธ ซึ่งถือเปนหลักของพระพุทธสาสนาอยู่จนทุกวันนี้ เปนระเบียบเรียบร้อยเพราะพระพุทธโฆษาจารย์ชำระในครั้งนั้น จึงนับในตำนานข้างฝ่ายใต้ว่าเปนสังคายนาครั้งที่ ๖ (นับการที่พระมหินทรเถรกับพระสงฆ์ชาวลังกา สาธยายพระธรรมวินัยด้วยกันครั้งแรก เปนสังคายนาครั้งที่ ๔ นับการที่พระสงฆ์ชาวลังกาเขียนพระไตรปิฎกลงเปนตัวอักษร เปนสังคายนาครั้งที่ ๕) ด้วยประการฉนี้ ที่เอาเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ทำสังคายนามากล่าว เพราะเนื่องในตำนานของลัทธิพระพุทธสาสนา ซึ่งถือกันในประเทศพม่ามอญไทยเขมรในปัจจุบันนี้ อันจะมีอธิบายต่อไปข้างหน้า

เมื่อพุทธกาลล่วง ๑๐๐๐ ปี การถือพระพุทธสาสนาที่ในอินเดียเกิดผันแปร เหตุด้วยการแข่งขันในระหว่างพวกที่สอนสาสนาพราหมณ์ กับพวกที่สอนพระพุทธสาสนามีมาช้านาน จนชาวอินเดียมักถือพระพุทธสาสนากับสาสนาพราหมณ์ระคนปนกันไป ดังปรากฎในจดหมายเหตุของหลวงจีนฮ่วนเจียง (หรือยวนฉ่าง) ซึ่งไปอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๒ กล่าวว่าในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งเปนพุทธสาสนูปถัมภก ทรงพระนามว่าพระเจ้าศีลาทิตย์ครองเมืองกันยากุพช์ (เดี๋ยวนี้เรียกว่ากาโนช) เปนราชธานีอยู่ในมัชฌิมประเทศ ให้ทำการสังคายนา แต่งารนั้นวันแรกแห่พระพุทธรูปออกมาเปนประธาน วันที่สองแห่รูปพระอาทิตย์ออกมาเปนประธาน ถึงวันที่สามแห่รูปพระอิศวรออกมาเปนประธาน ดังนี้ ฝ่ายลังกาทวีปนั้นบ้านเมืองก็ไม่เปนปรกติมาได้เสมอ เพราะเกาะลังกาอยู่ต่อแดนกับเมืองพวกทมิฬมิจฉาทิษฐิที่ปลายแหลมอินเดีย พวกทมิฬข้ามไปตีเมืองลังกาหลายครั้ง แลบางครั้งได้ครอบครองบ้านเมืองอยู่นาน ๆ สมัยใดบ้านเมืองเปนจลาจลเช่นนั้นพระพุทธสาสนาก็เศร้าหมอง บางทีเกิดลัทธิต่าง ๆ กันไป จนพระมหากษัตริย์สิงหฬอันเปนสัมมาทิษฐิกลับได้บ้านเมืองคืน ก็จัดการทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาให้กลับรุ่งเรืองแลถือลัทธิเปนอันเดียวกันอีก แต่เปนดังนี้มาหลายคราว ครั้นเมื่อพุทธกาลล่วงได้ ๑๖๐๐ ปี เมืองลังกาเสียแก่พวกทมิฬอีกครั้งหนึ่ง แล้วพระเจ้าวิชัยพาหุ สิริสังฆโพธิกลับได้เมืองคืนจากพวกทมิฬ เมื่อจะบำรุงพระสาสนาได้ความว่าที่ในลังกาทวีปสิ้นวงศพระสงฆ์ซึ่งบริสุทธิ์ (แลในมคธราฐสงฆมณฑลก็เห็นจะเสื่อมทรามมาก) แลครั้งนั้นประจวบเวลาพระพุทธสาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในประเทศพม่า เหตุด้วยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช (หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งตามสำเนียงพม่าว่าพระเจ้าอโนรธามังช่อ) ซึ่งครองเมืองภุกามเปนราชธานี มีอานุภาพมาก ขยายอาณาเขตเข้ามาจนสยามประเทศนี้๓๓ แลเปนพุทธสาสนูปถัมภกทำนุบำรุงพระพุทธสาสนารุ่งเรืองในประเทศเหล่านี้ พระเจ้าวิชัยพาหุสิริสังฆโพธิจึงให้มาขอคณะสงฆ์จากประเทศพม่า๓๔ ไปให้อุปสมบทตั้งสงฆมณฑลอันบริสุทธิ์ให้กลับมีขึ้นอีก พระเจ้าอนุรุทธมหาราชจึงได้มีทางไมตรีกับกษัตริย์สิงหฬ เปนเหตุที่ให้ได้สำเนาหนังสือพระไตรปิฎกภาษามคธ ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ได้ทำสังคายนาไว้ในลังกาทวีปนั้นมายังประเทศพม่า แล้วแพร่หลายมายังประเทศสยาม๓๕

ฝ่ายข้างอินเดีย ตั้งแต่พุทธกาลล่วงพ้น ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว พระพุทธสาสนาก็เสื่อมทรามหนักลง เหตุด้วยพวกถือสาสนาพราหมณ์มีอำนาจขึ้นในอินเดีย แล้วเบียดเบียนพระพุทธสาสนา แลซ้ำพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงพระพุทธสาสนาก็หันไปนิยมลัทธิอาถรรพ์ทำเลขยันต์ปลุกเษกแสวงเกียรติคุณในทางกฤตยาคม โดยหวังจะให้คนนับถือแข่งพวกพราหมณ์ ไม่ถือพระธรรมวินัยเปนสำคัญเหมือนแต่ก่อน เปนเช่นเดียวกันทั้งพวกนิกายหินยานแลมหายาน ครั้นมาถึงสมัยพวกอาหรับมีอำนาจขึ้นเที่ยวรบพุ่งแผ่อาณาเขตแลเกลี้ยกล่อมคนทั้งหลายให้เข้ารีตถือสาสนาอิสลามไปด้วยกัน สาสนาอิสลามแพร่หลายมาโดยลำดับจนถึงประเทศเปอเซีย ประเทศอาฟฆานิสถาน แลที่สุดพวกที่ถือสาสนาอิสลามลงมาได้เปนใหญ่ในอินเดีย แต่ พ.ศ. ๑๗๐๐ ก็คติของสาสนาอิสลามนั้นสั่งสอนกันให้ถือว่าการทำลายล้างบันดารูปเคารพ ไม่ว่าของสาสนาใดๆ เปนการกุศล พวกอิสลามก็พากันรื้อทำลายเจดียสถานแลเบียดเบียนพวกถือพระพุทธสาสนาด้วยประการต่าง ๆ จนพุทธบริษัทในอินเดียเลยหมดสิ้นสูญไป การที่พระพุทธสาสนาถูกพวกถือสาสนาอิสลามทำลายครั้งนั้น ไม่แต่ที่ในอินเดียแห่งเดียว ด้วยมีพวกอาหรับอีกพวกหนึ่งมาเรือทางทเลแดง เที่ยวรบพุ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนตามเมืองชายทเลตั้งแต่อินเดียมาจนแหลมมลายู แลเกาะสุมาตราเกาะชวามาจนเมืองจามที่ปากน้ำโขง พวกอาหรับมามีอำนาจที่ไหน ก็ทำลายพระพุทธสาสนาในประเทศเหล่านั้นเสื่อมสูญไปด้วย ยังคงอยู่แต่ในเหล่าประเทศที่อำนาจพวกอิสลามแผ่ไปไม่ถึง คือข้างฝ่ายเหนืออินเดียมีประเทศเนปาล ประเทศธิเบต แลเหล่าเมืองทางกลางทวีปอาเซียอีกบางเมือง ข้างฝ่ายใต้มีลังกาทวีป ข้างฝ่ายตวันออกมีประเทศพม่า มอญ ไทย เขมร ญวน จีน เกาหลี แลญี่ปุ่น เปนประเทศที่ยังนับถือพระพุทธสาสนามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ถือลัทธิต่างกัน พวกชาวเนปาล ธิเบต แลชาวเมืองทางกลางทวีปอาเซีย ทั้งจีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี ถือลัทธิอย่างมหายาน พวกชาวลังกาแลพม่า มอญ ไทย เขมร ถือลัทธิอย่างหินยาน๓๖

เพราะเรื่องตำนานการที่พระพุทธสาสนาไปประดิษฐานในนานาประเทศเปนดังกล่าวมา พุทธเจดีย์ที่สร้างขึ้นในต่างประเทศ แม้ทำตามแบบอย่างพุทธเจดีย์ในอินเดียด้วยกัน จึงผิดกันโดยได้แบบอย่างไปจากต่างสำนักกัน แบบอย่างของช่างโยนกในคันธารราฐไปเปนต้นตำราพุทธเจดีย์ในประเทศธิเบต เนปาล แลเหล่าประเทศทางกลางทวีปอาเซีย จนถึงประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แบบอย่างของช่างชาวมคธราฐไปเปนต้นตำราพุทธเจดีย์ในลังกาทวีป ตลอดจนประเทศพม่ามอญไทย แบบอย่างของช่างชาวอินเดียปักษ์ใต้ไปเปนต้นตำราพุทธเจดีย์ในประเทศชวา จาม แลขอม

พุทธเจดีย์ที่ได้แบบอย่างจากอินเดียไปสร้างกันในนานาประเทศนั้น ที่เปนสิ่งสำคัญก็มี ๔ อย่าง คือ พระพุทธรูปอย่าง ๑ รูปพระโพธิสัตว์อย่าง ๑ พระสถูปอย่าง ๑ พระปรางค์อย่าง ๑ ลักษณของทั้ง ๔ อย่างนั้นผิดกันดังนี้ คือ

พระพุทธรูปเปนของพวกโยนกคิดสร้างขึ้นในคันธารราฐก่อน แล้วจึงนิยมสร้างกันแพร่หลายไปในที่อื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ลักษณพระพุทธรูปแม้เมื่อแรกสร้างขึ้น ช่างผู้คิดแบบอย่างก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เหมือนพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้า (อย่างเช่นช่างในยุโรปตั้งใจทำรูปพระเยซูคฤสต์) เพราะพระพุทธรูปเปนของคิดทำขึ้นต่อเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้วถึง ๔๐๐ ปี พ้นวิสัยที่จะทำให้เหมือนพระรูปโฉมที่จริงได้ จึงมุ่งหมายจะทำแต่เพียงให้ใครเห็นก็รู้ว่ารูปพระพุทธเจ้า โดยมีสำคัญดังได้อธิบายมาแล้วในที่อื่น รูปเช่นนั้นเลยใช้เปนแบบทำรูปพระพุทธเจ้าทั้งปวงไม่ว่าพระองค์หนึ่งพระองค์ใด อาศรัยเหตุนี้ ลักษณพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในนานาประเทศ ชาวประเทศใดนิยมว่ามนุษย์รูปโฉมอย่างไรในประเทศของตนงามก็ปั้นพระพุทธรูปเปนอย่างนั้น คงไว้แต่สิ่งสำคัญอันเปนเครื่องหมายว่าเปนพระพุทธเจ้า เช่นพระอุณาโลม พระเกตุมาลา แลผ้าครองเปนต้น แม้ผ้าครองช่างจีนแลญี่ปุ่นชั้นหลังมาก็แก้กลายไปเปนทำนองเสื้ออย่างเช่นที่พระจีนแลพระญี่ปุ่นใช้ครองกันในประเทศนั้น ๆ

รูปพระโพธิสัตว์นั้น พวกที่ถือลัทธิหินยานทำแต่รูปพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งสมมตว่าจะมาเปนพระพุทธเจ้าต่อสาสนาพระสักยมุนีศรีสรรเพชญ์ไปองค์เดียว แต่พวกที่ถือลัทธิมหายาน เชื่อว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายอาจให้คุณแลโทษแก่มนุษย์ได้ ทำนองเดียวกับเทพเจ้าของพวกถือสาสนาพราหมณ์ จึงชอบทำรูปพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไว้สักการบูชามีมากมายหลายองค์ แลทำเปนหลายอย่าง เปนรูปสามัญมนุษย์บ้าง เปนวิสามัญมนุษย์มีหน้าตามือตีนมากมาย แม้จนยักษ์แลเปนสิงห์สัตว์บ้าง มีพระโพธิสัตว์ที่เปนชายแลเปนหญิง ยกตัวอย่างดังเช่น กวนอิมเหนีย จีนก็นับว่าเปนโพธิสัตว์จึงสร้างรูปไว้สักการบูชา

พระสถูปนั้น เดิมสร้างสำหรับบัญจุพระบรมธาตุ ตามแบบแผนอันมีเปนประเพณีในมัชฌิมประเทศมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล รูปสัณฐานพระสถูปชั้นเดิมเปนอย่างไร ได้อธิบายมาแล้วในที่อื่น สันนิษฐานว่าการสร้างพระสถูปเปนพุทธเจดีย์คงสร้างกันแพร่หลายตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชแจกพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ณประเทศที่ต่าง ๆ แลเกิดสร้างพระสถูปที่บัญจุอัฐิธาตุของพระสงฆ์เถระเปนบริวารพระมหาสถูปด้วยทุกแห่งไป ครั้นเมื่อเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นที่ในอินเดีย แบบอย่างพระสถูปจึงแก้ไขให้มีซุ้มจรนำตั้งพระพุทธรูปติดกับองค์พระสถูปทำให้พระสถูปงามขึ้น เลยเปนเหตุให้คนทั้งหลายชอบสร้างพระสถูปเปนอุเทสิกะเจดีย์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง แต่สังเกตพระสถูปที่สร้างกันตามนานาประเทศภายนอกอินเดีย ยังถือเปนคติต่างกัน ประเทศที่ถือลัทธิหินยาน เช่นลังกาพม่ามอญไทย มักสร้างพระสถูปเปนธาตุเจดีย์ บางทีใหญ่โต แต่ฝ่ายประเทศที่ถือลัทธิมหายาน เช่น ธิเบต จีนแลญี่ปุ่น (แม้ชวาแลขอมแต่โบราณ) มักสร้างพระสถูปเปนอุเทสิกะเจดีย์ อย่างเปนเครื่องหมายของพระพุทธสาสนา ไม่ขวนขวายในข้อที่จะทำให้ใหญ่โต ที่ถือคติต่างกันดังกล่าวมา เห็นว่าจะเนื่องในตำนานของพระพุทธสาสนาเปนมูลเหตุ คือเมื่อพระพุทธสาสนาเริ่มแพร่หลายครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสั่งสอนนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชแบ่งพระบรมสรีริกธาตุแจกให้ไปสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นมากมายหลายแห่ง ประเทศแลมณฑลที่รับพระพุทธสาสนาไปแต่ครั้งนั้นย่อมนับถือว่าพระสถูปเปนพระธาตุเจดีย์มาแต่เติม จึงถือกันเช่นนั้นต่อมา ฝ่ายประเทศที่ถือลัทธิมหายาน เพราะเหตุลัทธินั้นเกิดขึ้นภายหลังมาช้านานนับหลายร้อยปี พระเจ้าแผ่นดินผู้เปนสาสนูปถัมภกมิได้แจกพระบรมสรีริกธาตุให้ไปสร้างพระสถูปประดิษฐานไว้เหมือนอย่างครั้งพระเจ้าอโศก การสร้างพระสถูปเปนแต่ทำตามอย่างธรรมเนียม จึงกลายเปนอุเทสิกะเจดีย์

พระปรางค์นั้น แบบอย่างมาแต่ปราสาท คือเรือนหลายชั้นซึ่งเดิมสร้างด้วยเครื่องไม้เปนที่อยู่ของคนมั่งมี นับแต่พระมหากษัตริย์เปนต้น ลงมาจนเศรษฐี จึงนับถือกันว่าปราสาทเปนเรือนของบุคคลชั้นสูง ถ้าเปนแต่บุคคลสามัญก็อยู่เรือนโรงชั้นเดียว แต่เดิมถือกันเปนคติดังนี้ ครั้นมาถึงสมัยอันหนึ่ง จะเปนด้วยเหตุใดยกไว้ก่อน ผู้สร้างปราสาทประสงค์จะสร้างเรือนเพื่อใช้การแต่ชั้นเดียว แต่ต้องการจะให้คงเปนปราสาทให้สมศักดิ์ จึงคิดแก้แบบแผนปราสาท ทำแต่ชั้นล่างให้กว้างขวางใหญ่โต ชั้นบนต่อขึ้นไปลดส่วนลงคงให้มีแต่รูปปรากฎว่าเปนปราสาทเช่นนี้ แต่แรกทำด้วยเครื่องไม้ ภายหลังมาเปลี่ยนเปนสร้างด้วยอิฐแลศิลา จึงเกิดเปนพระปรางค์ ชอบสร้างทั้งพวกถือพระพุทธสาสนาแลพวกถือสาสนาพราหมณ์ มักสร้างเปนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวรูปอันเปนประฐาน ด้วยจะให้เห็นว่าอยู่ปราสาท ดูเหมือนแบบพระปรางค์ที่สร้างในอินเดียแต่เดิมจะมีเครื่องหมายผิดกัน ถ้าปรางค์สร้างในพระพุทธสาสนายอดทำเปนพระสถูป ถ้าปรางค์สร้างในสาสนาพราหมณ์ ยอดทำเปนตรีศูล หรือนพศูล

พระพุทธรูปก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี พระสถูปก็ดี แลพระปรางค์ก็ดี ถึงว่าต้นแบบอย่างได้ไปจากอินเดียด้วยกันทุกประเทศ ครั้นต่อมาเมื่อเกิดช่างดีมีความคิดขึ้นในประเทศนั้น หรืออาศรัยเหตุการณ์อย่างอื่นเปนปัจจัย ก็คิดทำแปลกแปลงไปตามนิยมของประเทศนั้น ๆ จนกลายเปนแบบของชาตินั้น ๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อพิจารณาไปก็คงยังเห็นเค้าว่าได้ต้นตำรามาแต่อินเดีย แลได้มาแต่แบบช่างมณฑลใด

  1. ๓๓. มีเรื่องในพงศาวดารเหนือ

  2. ๓๔. ในหนังสือมหาวงศเรียกว่า “อารมณ” ประเทศ แต่พวกชาวลังกาก็ลงเนื้อเห็นว่าประเทศพม่านั้นเอง

  3. ๓๕. ในหนังสือรัตนพิมพวงศกล่าวว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต ก็มาในสมัยนี้เหมือนกัน

  4. ๓๖. ไทยกับเขมรถือลัทธิมหายานอยู่ก่อน กลับมาถือลัทธิหินยานอย่างทุกวันนี้เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ จะปรากฎอธิบายในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ