- เจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔
- ข้าพเจ้าขออุทิศกุศล
- คำนำ
- ตอนที่ ๑ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๒ ว่าด้วยประวัติพุทธเจดีย์
- ตอนที่ ๓ สมัยแรกพระพุทธสาสนาเปนประธานของประเทศ
- ตอนที่ ๔ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพระพุทธรูป
- ตอนที่ ๕ ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
- ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในคติมหายาน
- ตอนที่ ๗ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในนานาประเทศ
- ตอนที่ ๘ ว่าด้วยพระพุทธสาสนาในประเทศสยาม
- ตอนที่ ๙ ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในสยามประเทศ
ตอนที่ ๔ ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพระพุทธรูป
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคตแล้ว ต่อมารัชทายาทในรัชกาลหลัง หย่อนความสามารถ ปกครองราชอาณาเขตเปนพระเจ้าราชาธิราชอยู่ไม่ได้ ประเทศราชทั้งหลายซึ่งเคยเปนเมืองขึ้นมาแต่ก่อน ต่างก็แขงเมืองกลับตั้งเปนอิศระขึ้นตามกัน แต่พระพุทธสาสนานั้นยังแพร่หลายไพบูลย์ นับถือเปนประธานอยู่ทั่วทุกประเทศที่พระเจ้าอโศกได้ประดิษฐานพระสาสนาไว้ ก็เหล่าปัจจันตประเทศที่อยู่ทางทิศตวันตกเฉียงเหนือ มีแว่นแคว้นคันธารราฐเปนต้น เปนที่พวกโยนกเริ่มมาตั้งภูมิลำเนาอยู่แต่ครั้งพระเจ้าอาเลกซานเดอมหาราช แล้วมีเชื้อสายสมพงศกับชาวอินเดียเกิดเปนพลเมืองนั้น ๆ สืบมา เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชให้ไปสอนพระพุทธสาสนา พวกโยนกก็เข้ารีตเลื่อมใสพระพุทธสาสนาโดยมาก ครั้นราชวงศพระเจ้าอโศกเสื่อมอำนาจลง พวกโยนกกลับตั้งบ้านเมืองเปนอิศระยกพวกของตนขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน บางองค์ก็คงถือสาสนาเดิมของพวกครีก คือถือเทวดาต่าง ๆ เปนสรณ บางองค์ก็ถือพระพุทธสาสนา มีพระเจ้ามิลินท์๑๗ ในเรื่องมิลินทปัญหานั้นเปนต้น ในสมัยนี้ที่เกิดมีพระพุทธรูปขึ้นเปนปฐม เมื่อราว พ.ศ. ๔๐๐ เพราะพวกโยนกเปนเชื้อสายฝรั่งชาติครีกดังกล่าวมาแล้ว พวกครีกนั้นเมื่ออยู่บ้านเมืองเดิมในยุโรป นับถือเทวดาเปนสรณ มีประเพณีทำเทวรูปขึ้นไว้สักการะบูชา เมื่อมาอยู่ในอินเดีย ชั้นเดิมก็มาสร้างเทวรูปอย่างฝรั่งขึ้นบูชาตามสาสนาเดิม ครั้นเข้ารีตถือพระพุทธสาสนาความนิยมประเพณีเดิมติดมา จึงคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นสักการบูชาเช่นเดียวกับพวกที่คงถือสาสนาเดิมสร้างเทวรูป จึงเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นในคันธารราฐก่อนที่อื่นด้วยประการฉนี้๑๘ แต่ยังไม่แพร่หลายด้วยแว่นแคว้นคันธาะราฐยังเปนแต่ประเทศน้อย ความเปนอิศระก็ยังไม่มั่นคง อีกประการหนึ่งแดนดินที่ตั้งประเทศคันธารราฐอยู่ใกล้ช่องเขาอันเปนหนทางที่พวกมนุษย์ที่อยู่ทางกลางอาเซียจะมายังอินเดีย เพราะฉนั้นเมื่อพวกโยนกกลับตั้งบ้านเมืองเปนอิศระขึ้น อยู่ได้ไม่ช้านานเท่าใดก็มีพวกศะกะยกกำลังมาจากกลางอาเซีย มาชิงได้บ้านเมือง แล้วพวกกุศานะลงมาชิงได้จากพวกศะกะอีกเล่า แต่ในพวกกุศานะมีพระมหากษัตริย์ทรงอานุภาพมากพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้ากนิษกะ ได้ทรงราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๖๓๐ แล้วสามารถแผ่พระราชอาณาเขตเข้ามาจนถึงในมคธราฐ พระเจ้ากนิษกะทรงเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ประสงค์จะเปนพุทธสาสนูปถัมภกเหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองบุรุษบุรี (ที่บัดนี้เรียกว่าเมืองเปษวา) ในแว่นแคว้นคันธารราฐข้างฝ่ายเหนือ จึงทรงสร้างเจดียสถานต่าง ๆ แลทำนุบำรุงสงฆมณฑลให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในคันธารราฐ เหมือนเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงทำนุบำรุงที่ในมคธราฐมาแต่ก่อน การที่พระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนาเปนข้อสำคัญซึ่งมีผลมากสืบมาจนกาลบัดนี้ ๒ อย่าง คือการสร้างพุทธเจดีย์อย่าง ๑ กับทำสังคายนาพระธรรมวินัยอย่าง ๑ เรื่องพระเจ้ากนิษกะสร้างพุทธเจดีย์นั้น ก็ประสงค์จะทำตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช คือสร้างพระธาตุเจดีย์แลทำลวดลายเปนเรื่องพระพุทธประวัติ เพื่อจะให้สาธุชนได้เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส แต่พระเจ้ากนิษกะแลพวกโยนกในคันธารราฐเปนเชื้อสายชาวประเทศอื่น ไม่เคยถือคติที่ห้ามมิให้ทำรูปเคารพอย่างชาวอินเดีย เมื่อพระเจ้ากนิษกะทำลวดลายประดับเจดียสถานเปนเรื่องพุทธประวัติ จึงรับคติของพวกโยนกให้ทำเปนพระพุทธรูปในลวดลาย มิให้ใช้ทำวัดถุอื่นแทนเหมือนเช่นแบบอย่างทางมคธราฐ พระพุทธรูปจึงได้แพร่หลายแต่นั้นมา
พระพุทธรูปซึ่งพวกโยนกคิดสร้างขึ้นชั้นแรกทีเดียวจะเปนอย่างไรยังไม่พบตัวอย่าง ที่ปรากฎอยู่เปนแบบอย่างตั้งแต่สมัยพระเจ้ากนิษกะมาเปนพื้น แต่มีเค้าเงื่อนพอสันนิษฐานได้ว่าการที่สร้างพระพุทธรูปขึ้นทีแรก ช่างผู้คิดแบบอย่างเห็นจะรู้สึกยากมิใช่น้อย ด้วยมีข้อสำคัญบังคับอยู่ ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งจะต้องคิดทำให้แปลกกับรูปคนอื่น ๆ จนใครเห็นก็ให้รู้ได้ทันทีว่ารูปพระพุทธเจ้า กับอีกอย่างหนึ่งจะต้องทำให้งามถูกใจบันดาผู้ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา หรือถ้าจะว่าอีกนัยหนึ่ง ก็คือจะต้องคิดทำให้เหมือนพระพุทธเจ้าตามความนิยมของคนทั้งหลาย ก็ในขณะเมื่อแรกคิดสร้างพระพุทธรูปนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานแล้วหลายร้อยปี รูปพรรณสัณฐานของพระพุทธองค์จะเปนอย่างไร มีแต่คำบอกเล่ากล่าวกันสืบมาว่าเปนเช่นนั้น ๆ เช่นว่ามีลักษณอย่างมหาบุรุษในคัมภีร์มหาปุริสลักขณของพราหมณ์ ซึ่งแต่งไว้แต่ก่อนพุทธกาลเปนต้น ช่างผู้คิดทำพระพุทธรูปได้อาศรัยคำบอกเล่าเช่นว่าอย่างหนึ่ง กับอาศรัยความรู้เรื่องพุทธประวัติ เช่นว่าพระพุทธองค์เปนกษัตริย์ชาวมัชฌิมประเทศ เสด็จออกบรรพชาเปนสมณเปนต้นอย่างหนึ่ง กับอาศรัยแบบอย่างอันปรากฎอยู่ในจารีตประเพณีของชาวมัชฌิมประเทศ ดังเช่นกิริยาที่นั่งขัดสมาธิแลครองผ้ากาสาวพัสตร เหมือนเช่นพระภิกษุซึ่งยังมีอยู่ในสมัยนั้นเปนต้นอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็อาศรัยแต่คติที่นิยมว่าดีงามในกระบวรช่างของชาวโยนก เปนหลักความคิดที่ทำพระพุทธรูปขึ้น โดยรู้อยู่ว่าไม่เหมือนพระองค์พระพุทธเจ้า เพราะฉนั้นที่สามารถให้คนทั้งหลายนิยมยอมนับถือว่าเปนรูปพระพุทธเจ้าได้ ต้องนับว่าเปนช่างฉลาดแท้ทีเดียว
พิจารณาดูลักษณพระพุทธรูปโบราณที่ช่างโยนกคิดทำขึ้นในคันธารราฐ สังเกตเห็นได้ว่าอนุโลมตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณหลายข้อ เปนต้นคือข้อว่า อุณฺณา โลมา ภมุกนฺตเร ทำพระอุณาโลมไว้ที่หว่างพระขนงอย่าง ๑ บางทีจะเอาความในบท อุณฺหิสสีโส อันแปลว่าพระเศียรเหมือนทรงอุณหิศ๑๙ มาคิดอนุโลมทำให้พระเศียรพระพุทธรูปมีพระเกตุมาลาอีกอย่าง ๑ แต่พระเกตุมาลาตามแบบช่างโยนกทำเปนพระเกศายาวกระหมวดมุ่นเปนเมาฬีไว้บนพระเศียรอย่างพระเกศากษัตริย์เปนแต่ไม่มีเครื่องศิราภรณ์ ความคิดเรื่องทำพระเกตุมาลานี้ ศาสตราจารย์ฟูเชร์สันนิษฐานว่าจะเกิดโดยจำเปนในกระบวรช่าง ด้วยในลายจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติมีภาพสมณทั้งพระพุทธรูปแลรูปพระภิกษุพุทธสาวก ถ้าทำพระพุทธรูปแต่เปนอย่างสมณก็จะสังเกตยากว่าพระพุทธรูปหรือรูปพระสาวก ช่างโยนกประสงค์จะให้คนดูรู้จักพระพุทธรูปได้โดยง่าย จึงถือเอาเหตุที่พระพุทธองค์เปนกษัตริย์โดยพระชาติแลเปนสมณโดยเพศนั้น ทำพระพุทธรูปให้ส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณ แต่ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนอย่างพระเศียรกษัตริย์ เปนแต่ลดเครื่องศิราภรณ์ออกเสีย พระพุทธรูปจึงแปลกกับรูปภาพอื่นๆ ถึงจะอยู่ปะปนกับรูปใครๆ ก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้า ด้วยความคิดข้อนี้ช่างพวกอื่นในสมัยชั้นหลังต่อมาไม่สามารถจะคิดแก้ไขไปเปนอย่างอื่นได้ ก็ต้องเอาแบบอย่างของช่างโยนกทำต่อมา พระพุทธรูปจึงมีพระเกตุมาลาด้วยประการฉนี้๒๐
ลักษณที่ทำตามจารีตประเพณีในมัชฌิมประเทศนั้น เช่นอาการทรงนั่งขัดสมาธิ (ช่างโยนกทำนั่งขัดสมาธิเพ็ชรอย่างเดียว) แลอาการที่ทรงครองผ้าทำทั้งอย่างห่มดองแลห่มคลุม แต่มักชอบทำห่มคลุม จำหลักกลีบผ้าให้เหมือนจริงตามกระบวรช่างโยนก นอกจากที่กล่าวมาในบันดาลักษณซึ่งมิได้มีที่บังคับแล้ว พวกช่างโยนกทำตามคติของชาวโยนกทั้งนั้น เปนต้นว่าดวงพระพักตรพระพุทธรูป ก็ทำอย่างเทวรูปที่งามของชาวโยนก๒๑ (บางรูปถึงทำไว้หนวดก็มี) พระรัศมีก็ทำอย่างประภามณฑลเปนวงกลมอยู่ข้างหลังพระพุทธรูปตามแบบรัศมีของภาพโยนก ส่วนกิริยาท่าทางของพระพุทธรูปนั้น เพราะทำพระพุทธรูปในลายเรื่องพระพุทธประวัติ พระพุทธรูปซึ่งทำตรงเรื่องตอนไหน ช่างจึงทำกิริยาท่าทางพระพุทธรูปให้เข้ากับเรื่องตอนนั้น เปนต้นว่าพระพุทธรูปตรงเรื่องเมื่อก่อนเวลาตรัสรู้ทำนั่งซ้อนพระหัดถ์เปนกิริยาสมาธิ พระพุทธรูปตรงเมื่อชนะพระยามาร ทำพระหัดถ์ขวามาห้อยที่พระเพลา แสดงว่าทรงชี้อ้างพระธรณีเปนพยาน พระพุทธรูปตรงเมื่อประทานปฐมเทศนา ทำจีบนิ้วพระหัดถ์เปนรูปวงกลม หมายความว่าพระธรรมจักรพระพุทธรูปตรงเมื่อมหาปาฏิหาร (คือยมกปาฏิหาร) ทำเปนพระพุทธรูปมีดอกบัวรอง คิดทำตามเรื่องพระพุทธประวัติทำนองดังกล่าวมานี้ต่อไปตลอดจนถึงเมื่อเสด็จเข้าสู่พระนิพาน ก็ทำเปนรูปพระพุทธไสยา
เมื่อเกิดมีพระพุทธรูปขึ้น ใครเห็นก็คงชอบใจ จึงเลยเปนเหตุให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูปแพร่หลายขึ้นทุกที การสร้างพระพุทธรูปจึงเกิดความคิดยักย้ายเปนอย่างอื่นต่อออกไป เพื่อจะทำพระพุทธรูปให้งดงามยิ่งขึ้น เปนต้นว่าคิดทำเครื่องประดับพระเจดีย์เปนช่องซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ ในซุ้มนั้นให้มีแต่พระพุทธรูปเปนขนาดเขื่องขึ้น กับภาพอื่นประกอบบ้างเล็กน้อย แต่คิดทำโดยแยบคายให้มหาชนอาจรู้ได้ เพียงที่เห็นพระพุทธรูปกับภาพประกอบนั้น ว่าเปนพระพุทธรูปตรงปางไหนในเรื่องพระพุทธประวัติ อาศรัยเหตุนี้จึงเกิดมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แล้วถือเปนเยี่ยงอย่างทำกันต่อมาจนถึงเห็นแต่พระพุทธรูปทำเปนอาการกิริยาอย่างใด แม้ไม่มีภาพอื่นประกอบเลยก็รู้ได้ว่าเปนพระพุทธรูปปางนั้น ๆ ในเรื่องพระพุทธประวัติ
เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งพระเจ้ากนิษกะนั้น เปนต้นเค้าที่การถือพระพุทธสาสนาเกิดแตกต่างกันเปน ๒ คติ คือเปนคติฝ่ายเหนือ ซึ่งมักเรียกกันว่า คติ “มหายาน” เช่นที่ถือกันทุกวันนี้ในเมืองธิเบต เมืองมงโคล เมืองจีน เมืองญี่ปุ่น แลเมืองญวนอย่าง ๑ เปนคติฝ่ายใต้ หรือซึ่งมักเรียกกันว่า คติ “หินยาน”๒๒เช่นที่ถือกันทุกวันนี้ในเมืองลังกา เมืองพม่า เมืองมอญ เมืองไทย แลเมืองเขมรอีกอย่าง ๑ เพราะเหตุเมื่อพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภกพระพุทธสาสนานั้น ในอินเดียทางข้างฝ่ายเหนือ สงฆมณฑลเปนพระภิกษุพวกนิกายมหาสังฆิกะ ถือพระธรรมวินัยตามลัทธิอาจริยวาทโดยมาก พระเจ้ากนิษกะเสวยราชย์อยู่ในคันธารราฐก็ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงพระสงฆ์นิกายนั้น ความปรากฎว่าพระเจ้ากนิษกะมีพระราชประสงค์จะให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย ให้พระสงฆ์ถือลัทธิเปนอย่างเดียวกันอย่างเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชทำตติยสังคายนามาแต่ก่อน สั่งให้นิมนต์พระเถระบันดาเปนสังฆนายกทั้งข้างฝ่ายเหนือแลฝ่ายใต้มาประชุมกัน แต่พระสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายถือคติแตกต่างกันเสียมากแล้วไม่ปรองดองกันได้ พระเจ้ากนิษกะจึงให้แต่พระสงฆ์ฝ่ายเหนือประชุมกันทำสังคายนาที่เมืองบุรุษบุรี๒๓ การสังคายนาครั้งนี้ทำในภาษาสันสกฤตเปนต้นเหตุที่พระไตรปิฎกจะเกิดแตกต่างกัน ด้วยพวกข้างฝ่ายเหนือนับถือพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตที่สังคายนาใหม่ ฝ่ายพวกข้างฝ่ายใต้นับถือพระไตรปิฎกภาษามคธ ซึ่งทำตติยสังคายนาครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชเปนหลักพระพุทธสาสนาสืบมา คติในพระพุทธสาสนาต่างก็ถือตามคณะของตนนิยมทั้ง ๒ ฝ่าย จนการถือพระพุทธสาสนาแยกกันเปน ๒ ลัทธิมาจนทุกวันนี้
-
๑๗. พวกโยนกเรียก เมนันเดอ Menander ↩
-
๑๘. ในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล กล่าวว่าพระพุทธรูป (ปางขอฝน) เกิดขึ้นในคันธารราฐก่อน แลในหนังสือรัตนพิมพวงศกล่าวว่าเทวดาสร้างพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตถวายพระนาคเสนอันร่วมสมัยกับพระเจ้ามิลินท์ ตรงตามทางตำนาน แต่ผู้แต่งจะได้หลักฐานมาจากไหนหาปรากฎไม่ ↩
-
๑๙. คำว่าอุณหิศ แปลกันหลายอย่าง ว่ากรอบหน้าบ้าง ผ้าโพกบ้าง มงกุฎบ้าง แต่รวมความเปนอันเดียวกันว่าเครื่องทรงที่พระเศียร ↩
-
๒๐. คำอธิบายเช่นกล่าวในหนังสือปฐมสมโพธิว่า รูปพระเศียรเปนเช่นนั้นเองผิดธรรมดา เห็นว่าจะเปนความคิดเกิดขึ้นเมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว ↩
-
๒๑. คือเทวรูปแอปโปโล ↩
-
๒๒. มูลเหตุที่เรียกว่ามหายานแลหินยาน จะปรากฎอธิบายในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า ↩
-
๒๓. นัยหนึ่งว่าทำที่เมืองชลันธร ในกัศมิรประเทศ ↩