ตอนที่ ๒ ว่าด้วยประวัติพุทธเจดีย์

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพานแล้วได้ ๔ เดือน พระอริยสาวกทั้งปวงประชุมกันที่ถ้ำสัตตบรรณในแขวงเมืองราชคฤหมหานคร ราชธานีแห่งประเทศมคธราฐ ช่วยกันรวบรวมพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน แลพระวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้ให้เปนข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์เข้าเปนระเบียบ พระมหากัสสปเถรเปนประธานในการประชุมนั้น ให้พระอานนท์ซึ่งทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้แม่นยำเปนผู้แสดงพระธรรมในที่ประชุม แลให้พระอุบาลีซึ่งเปนผู้เชี่ยวชาญในข้อสิกขาบทบัญญัติเปนผู้แสดงพระวินัย ครั้นที่ประชุมเห็นว่าถูกถ้วนตามพระพุทธฎีกาแล้ว ก็ชวนกันท่องบ่นจนจำได้ขึ้นปากเจนใจทั้งพระธรรมแลพระวินัย (ด้วยในสมัยนั้นยังไม่ใช้ประเพณีจดลงเปนตัวอักษร) การประชุมรวบรวมพระธรรมวินัยครั้งที่กล่าวนี้ เรียกในตำนานว่า “ปฐมสังคายนา” ครั้นเสร็จแล้วพระอริยเจ้าพุทธสาวกทั้งหลายก็แยกย้ายกันไปอยู่ต่างภูมิลำเนา เที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนาแลให้อุปสมบทแก่ผู้ศรัทธาบวชเปนพระภิกษุสืบสายสักยบุตร ท่องจำพระธรรมวินัยตามที่ได้ทำปฐมสังคายนาถือเปนหลักพระพุทธสาสนาสืบมา ครั้นนานมาเมื่อพระอริยสาวกซึ่งได้ทำสังคายนาล่วงลับดับสูญสิ้นไป พระภิกษุผู้เปนหัวหน้าสานุศิษย์ในสำนักพระอริยสาวกองค์ใด ก็ได้เปนคณาจารย์ควบคุมพุทธบริษัทคณะนั้นๆ ต่อมา

เรื่องพงศาวดารฝ่ายอาณาจักรสมัยนั้น ประเทศมคธราฐเริ่มเจริญรุ่งเรืองมาแต่พระเจ้าพิมพิสารปกครอง ครั้นถึงพระเจ้าอชาตศัตรูก็มีอานุภาพปราบปรามประเทศที่ใกล้เคียง คืออาณาเขตของพวกกษัตริย์ลิจฉวีเปนต้น ตลอดจนสามารถเอาประเทศโกศลราฐไว้ได้ในอำนาจ อาณาเขตของประเทศมคธราฐก็กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งขึ้นโดยลำดับมา แต่ส่วนกษัตริย์ซึ่งปกครองมคธราฐนั้น ต่อมาพวกตระกูลนันทะ อันเปนตระกูลต่ำ ชิงได้ราชสมบัติจากเชื้อวงศพระเจ้าอชาตศัตรู แล้วย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร ครอบครองราชสมบัติสืบต่อกันมาหลายรัชกาล ตลอดสมัยนี้พระพุทธสาสนายังแพร่หลายไพบูลย์ด้วยผู้เลื่อมใสมีมาก แต่เมื่อล่วงพุทธกาลมาหลายชั่วบุคคลเข้า พระสงฆ์ต่างสำนัก แม้สังวัธยายพระธรรมวินัยตามระเบียบที่ทำปฐมสังคายนาเหมือนกันทั้งนั้นก็ดี ความคิดเห็นเกิดแตกต่างกันขึ้นด้วยต่างอาจารย์กัน ปรากฎในเรื่องตำนานว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพานแล้วได้ประมาณ ๑๐๐ ปี มีพระภิกษุคณะหนึ่งเรียกกันว่าพวกวัชชีบุตร อยู่ที่เมืองเวสาลี ทำนองจะถือเอาข้อความอันปรากฎอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าพระพุทธองค์ได้ประทานอนญาตไว้ว่า ถ้าพระภิกษุทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าขุททานุขุททกะวินัย (คือข้อบังคับเล็กน้อย) บทใดซึ่งทรงบัญญัติไว้จะประพฤติไม่ได้สดวกก็ให้แก้ไขได้ ข้อนี้เปนมูลพวกภิกษุคณะวัชชีบุตรจึงแก้ไขพระวินัยบัญญัติเปนวัดถุ ๑๐ ประการ มีเลิกสิกขาบทที่ห้ามมิให้กินอาหารนอกเพลแลที่ห้ามมิให้รับทรัพย์สินเงินทองเปนต้น พระภิกษุสงฆ์ที่เห็นชอบด้วยก็มี ที่ไม่เห็นชอบด้วยก็มี พระยศเถรหัวหน้าในพวกที่โต้แย้งจึงนิมนต์พระมหาเถรผู้เปนคณาจารย์อยู่สำนักอื่น ๆ มีพระสัพพกามีแลพระเรวัตเปนต้น กับทั้งคณะสงฆ์อีกเปนอันมาก มาประชุมกันที่เมืองเวสาลีวินิจฉัยวัดถุ ๑๐ ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตร เห็นพร้อมกันว่าการที่แก้ไขพระวินัยนั้นไม่สมควร เพราะเมื่อครั้งพระอริยสาวกทำปฐมสังคายนาได้ลงมติไว้แล้ว ว่าถึงแม้พระพุทธองค์ได้ประทานอนุญาตก็ดี ก็หาควรจะแก้ไขพระวินัยให้ผิดแผกไปจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ไม่ ครั้งนั้นทำนองพวกภิกษุวัชชีบุตรจะไม่ยอมเพิกถอนวัดถุ ๑๐ ประการ เหล่าสังฆนายกข้างฝ่ายพระยศเถรก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาพวกภิกษุวัชชีบุตรได้ การถือพระวินัยจึงแตกต่างกันขึ้นเปน ๒ ลัทธิ ลัทธิที่พระสงฆ์พวกพระยศเถร ได้ชื่อเรียกว่า “เถรวาท ” เพราะคงถือตามพระเถรพุทธสาวกได้ทำสังคายนาไว้ ส่วนลัทธิที่พระสงฆ์พวกวัชชีบุตรถือนั้น ได้ชื่อเรียกว่า “อาจริยวาท” เพราะถือตามลัทธิอาจารย์แก้ไขในชั้นหลัง เมื่อการถือพระวินัยเกิดแตกต่างกันเปน ๒ พวกเช่นนั้นแล้ว พระมหาเถรทั้งหลายฝ่ายข้างพระยศเถรจึงประชุมพระภิกษุสงฆ์บันดาซึ่งมิได้เห็นชอบด้วยในวัดถุ ๑๐ ประการของพวกวัชชีบุตร พร้อมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยตามระเบียบ ซึ่งพระอริยสาวกได้รวบรวมนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ให้ถูกต้องเหมือนกันหมดทุกคณะ การสังคายนาที่เมืองเวสาลีจึงนับเปนครั้งที่ ๒ เรียกในตำนานว่า “ทุติยสังคายนา” แต่เมื่อมีเหตุขึ้นครั้งนั้นแล้วต่อมาพระสงฆ์ก็เกิดแตกต่างกันเปน ๒ นิกาย พระสงฆ์พวกถือพระธรรมวินัยตามลัทธิเถรวาท ได้ชื่อเรียกว่า “สถวีร” พระสงฆ์ถือลัทธิอาจริยวาท (ทั้งพวกภิกษุวัชชีบุตร แลพวกอื่นซึ่งมิได้ถือตามลัทธิเถรวาท) ได้ชื่อเรียกว่า “มหาสังฆิกะ” แต่ข้อที่แตกต่างเห็นจะเปนแต่ถือผิดกันในสิกขาบทข้อที่ไม่สำคัญ ส่วนที่เปนข้อสำคัญแลตัวพระธรรมยังถืออย่างเดียวกันสืบมา แม้กิจวัตรต่าง ๆ พระสงฆ์ทุกพวกก็เห็นจะประพฤติเช่นเดียวกันอย่างประเพณีพระภิกษุในครั้งพุทธกาล เปนต้นว่าเมื่อถึงระดูแล้งก็เที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนาตามประเทศใหญ่น้อย หรือมิฉนั้นก็เที่ยวหาที่สงัดบำเพ็ญสมณธรรม ต่อถึงระดูฝนจึงหยุดพักจำพรรษา หาอยู่ประจำณที่แห่งใดเปนถิ่นฐานภูมิลำเนาไม่ แต่ถึงสมัยชั้นนี้เกิดมีพระธาตุเจดีย์แลพระบริโภคเจดีย์ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว เปนวัดถุที่บูชาแทนพระองค์พระพุทธเจ้า พวกที่ถือพระพุทธสาสนา ทั้งบรรพชิตแลคฤหัสถ์คงถือเปนกิจวัตรที่จะพึงไปกระทำสักการบูชาณพุทธเจดีย์สถานแห่งใดแห่งหนึ่ง เปนประเพณีมีขึ้น อย่างเช่นไปเฝ้าสมเด็จพระศาสดาจารย์เมื่อครั้งพุทธกาล พิเคราะห์ตามหลักฐานที่มีปรากฎ ดูเหมือนพวกพุทธบริษัทในสมัยเมื่อแรกล่วงพุทธกาล จะนับถือสังเวชนียสถาน คือตำแหน่งที่ซึ่งพระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา แลปรินิพาน ๔ แห่งนี้ ยิ่งกว่าพระธาตุเจดีย์ที่บัญจุพระบรมสาริกธาตุ คงเปนเพราะพระพุทธเจ้าได้ดำรัสไว้ว่าใครใคร่จะเห็นพระองค์เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว ก็ให้ไปปลงธรรมสังเวชณที่แห่งหนึ่งแห่งใดใน ๔ แห่งนั้น แต่ส่วนพระธาตุเจดีย์หาได้มีพุทธบรรหารเช่นนั้นไม่ อีกประการหนึ่ง พระธาตุเจดีย์ที่เกิดมีขึ้น ๘ แห่งแต่แรกนั้น สังเกตตามชื่อเมืองที่ได้พระบรมธาตุไป ที่เปนเมืองใหญ่มีน้อย เพราะแจกตามแต่ที่มาขอ มิได้ถือเอาภูมิมณฑลเปนกำหนด พระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นบัญจุพระบรมธาตุเล่า ก็จะทำแต่ตามกำลังแลความสามารถของเมืองที่ได้พระบรมธาตุไป ประกอบทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเกิดศึกสงคราม หรือบ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพวกถือสาสนาอื่นเปนต้น อาศรัยเหตุทั้งปวงนี้ ภายในระยะเวลา ๒๐๐ ปีตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานมา จึงปรากฎว่าพระธาตุเจดีย์เปนอันตรายสูญไปเสียหลายแห่ง กล่าวอธิบายไว้ในหนังสือเก่าบางเรื่อง ว่าเมื่อแจกพระบรมธาตุไปแล้วไม่ช้า พระมหากัสสปเถรคิดเกรงว่าพระบรมธาตุจะไปเปนอันตรายเสีย จึงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ไปเอาพระบรมธาตุมาถวายพระเจ้าอชาตศัตรู ให้รวบรวมไว้ที่เมืองราชคฤหมหานครทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่ได้ไปยังรามคามแห่งเดียว ครั้งนั้นพระยานาคหวงไว้จึงมิได้เอามา ความอธิบายนี้มีหลักฐานเพียงส่อให้เห็นว่า พระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นชั้นแรกนั้น อยู่ยั่งยืนมาแต่บางแห่ง แต่ส่วนพระบริโภคเจดีย์ กล่าวคือที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนั้น มีหลักฐานปรากฎว่าเปนที่พุทธบริษัทพอใจไปบูชาตั้งแต่แรกแลตลอดมาทุกสมัย ใช่แต่เท่านั้นยังเกิดนิยมที่พุทธปาฏิหาร ว่าเปนบริโภคเจดีย์เพิ่มขึ้นอิก ๔ แห่ง คือ

๑ ที่พระตถาคตเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ ณเมืองสังกัส (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงสุชานโกต) แห่ง ๑

๒ ที่พระตถาคตเจ้าทรงทำมหายมกปาฏิหาร ณเมืองสาวัดถี (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงสาเหตมาเหต) แห่ง ๑

๓ ที่พระตถาคตเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคิรี ณเมืองราชคฤห (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงราชะเคีย) แห่ง ๑

๔ ที่พระตถาคตเจ้าทรงทรมานพระยาวานร ณเมืองเวสาลี (เดี๋ยวนี้เรียกว่าแขวงเพสารห์) แห่ง ๑

แล้วเกิดนิยมพุทธบริขารว่าเปนบริโภคเจดีย์ อ้างที่ประดิษฐานพระพุทธบริขารไว้ในหนังสือเก่าอีก ๑๐ แห่ง คือ

๑ กายพันธ์กับบาตร อยู่ณเมืองปาฏลีบุตร

๒ ผ้าอุทกสาฎก อยู่ณเมืองปัญจาลราฐ

๓ผ้าจัมขันธ์ อยู่ณเมืองโกศลราฐ

๔ ไม้สีพระทนต์ อยู่ณเมืองมิถิลา

๕ ผ้ากรองน้ำ อยู่ณเมืองวิเทหราฐ

๖ มีดกับกล่องเข็ม อยู่ณเมืองอินทปัตถ์

๗ รองพระบาทแลตลกบาตร อยู่ณบ้านอุสสิพราหมณคาม

๘ เครื่องลาด อยู่ณเมืองมกุฏนคร

๙ ผ้าไตรจีวร อยู่ณเมืองภัททราฐ

๑๐ นิสีทนสันถัต อยู่ณเมืองกุรุราฐ

แต่ที่ประดิษฐานพระพุทธบริขาร ๑๐ แห่งนี้ น่าสงสัยว่าจะเปนของเกิดสมมตกันขึ้นต่อชั้นหลังเมื่อพระพุทธกาลล่วงแล้วช้านาน๑๐

ประเพณีที่พวกพุทธบริษัทไปกระทำพุทธบูชายังที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเปนต้นเหตุให้เกิดมีสังฆาราม หรือซึ่งเราเรียกกันว่า “วัด” ขึ้นในมัชฌิมประเทศ เพราะเมื่อครั้งพุทธกาล เหล่าพุทธสาวกทั้งหลาย ที่อยู่ปฏิบัติวัดถากพระพุทธองค์เนืองนิจ เช่นพระอานนท์เถรเจ้าเปนต้นก็มี ที่ไปสู่พระพุทธสำนักเฝ้าแหนในเวลามีโอกาศเปนมื้อเปนคราวก็มี ที่ได้พบปะเฝ้าแหนในเวลาพระพุทธองค์เสด็จเที่ยวจาริกไปในนานาประเทศก็มี ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพานขาดการที่ได้เคยเฝ้าแหนเห็นพระองค์เหมือนเช่นแต่ก่อน พวกพุทธสาวกที่รำลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็คงพากันไปยังที่สังเวชนียสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง ตามที่มีพระบรมพุทธานุญาตดังกล่าวมาแล้ว ที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งจึงเกิดเปนตำบลที่สมาคมของพวกพุทธบริษัท เห็นจะมีคนไปประชุมกันไม่ขาด พวกนี้ไปแล้วมีพวกนั้นมาเล่า มีจำนวนคนประชุมอยู่มากบ้างน้อยบ้างเนืองนิจ อาศรัยเหตุนี้น่าจะมีพวกชาวบ้านแถวตำบลนั้น คิดแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการสร้างที่พักอาศรัยแลเลี้ยงดูพวกอาคันตุกะขึ้นก่อน แล้วมีผู้ศรัทธาทำบุญด้วยสร้างที่อาศรัยถวายพระภิกษุสงฆ์ ฝ่ายพระภิกษุก็เห็นจะเกิดมีผู้ที่สมัคอยู่ประจำทำการบำรุงรักษาสังเวชนียสถานเพื่อการกุศล จึงสันนิษฐานว่า การที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำบำรุงรักษาสังเวชนียสถานนั้น จะเปนมูลเหตุที่เกิดมีวัดเช่นเราเข้าใจกันบัดนี้ แลอาจจะเปนมูลเหตุให้เกิดวัดขึ้นในที่ตำบลอื่น ๆ ต่อออกไป เพราะพวกพุทธบริษัทซึ่งไปบูชายังที่สังเวชนียสถาน ที่เปนผู้อยู่ใกล้ไปได้ง่ายมีน้อย ที่เปนผู้อยู่บ้านอื่นเมืองไกลในจตุรทิศ ไปถึงได้ด้วยยากมีมาก พวกที่อยู่ไกลคงอยากให้มีเจดียสถานอยู่ในที่ใกล้ภูมิลำเนาของตน ให้ไปบูชาได้ง่าย ก็ในบันดาพระบริโภคเจดีย์พระพุทธเจ้าได้ประทานอนุญาตไว้น อาจเปนสังหาริมวัดถุแบ่งภาคไปประดิษฐานณที่อื่นได้แต่ต้นโพธิที่พุทธคะยาอย่างเดียว อาศรัยเหตุนั้นผู้อยู่ห่างไกลเมื่อไดไปบูชาณที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว จึงเก็บเมล็ดพรรณพระศรีมหาโพธิ์จากต้นเดิมไปเพาะปลูกยังบ้านเมืองที่ตนอยู่ แลบูชาเปนบริโภคเจดีย์ต่อออกไป บางพวกก็สร้างพุทธอาสน์ขึ้นเปนอุเทสิกะเจดีย์บูชาพระพุทธคุณในบ้านเมืองของตน ตามแบบอย่างพระอริยสาวกได้เคยกระทำมาในครั้งพุทธกาล บางพวกก็สร้างพระธรรมเจดีย์ดังกล่าวมาแล้ว เปนเหตุให้เกิดมีเจดียสถานขึ้นณที่อื่น ๆ เมื่อเจดียวัดถุเกิดมีขึ้นณที่แห่งใด ก็จำต้องมีการบำรุงรักษา จึงมีสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำเกิดขึ้นณที่เจดียสถานนั้น ๆ แท้จริงอันสังฆารามเปนของมีมาแล้วแต่ในครั้งพุทธกาล ดังเช่นเวฬุวนารามในเมืองราชคฤหมหานคร ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารถวายแก่พระพุทธองค์ แลเชตวนารามของอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีถวายที่ในสาวัดถีเปนต้น แต่อารามครั้งพุทธกาลเปนที่พระพุทธองค์กับพระสงฆ์อาศรัยชั่วเวลาเสด็จสำนักในเมืองนั้น ๆ เวลาเสด็จเที่ยวจาริก อารามก็ทิ้งว่างเปล่า หามีพระสงฆ์อยู่ประจำไม่ แต่สังฆารามซึ่งเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาลมีเจดียวัดถุที่สักการะบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้าประจำอยู่ แลมีผู้คนพากันไปบูชาเนืองนิจ จึงต้องมีผู้อยู่ประจำบำรุงรักษาด้วยประการฉนี้

ความที่กล่าวมาแม้เปนข้อสันนิษฐาน ด้วยไม่มีหนังสือเรื่องใดกล่าวความไว้ให้ทราบได้ชัดเจนก็จริง แต่มีเค้าเงื่อนอยู่บ้าง ดังเช่นประเพณีที่ถือกันมาจนทุกวันนี้ ว่าต้นโพธิ์เปนสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งควรปลูกในวัด แลต้นโพธิ์ซึ่งปลูกกันตามวัดนั้นย่อมเสาะแสวงหาฉเพาะพืชพรรณอันมาแต่ต้นเดิมณเมืองพุทธคะยา เรียกว่า “พระศรีมหาโพธิ” ฉนี้ เห็นได้ว่าประเพณีนับถือพืชพรรณพระศรีมหาโพธิที่เมืองพุทธคะยาคงเกิดมีขึ้นในอินเดียก่อน แลมีในเรื่องพงศาวดารประกอบว่าเมื่อพระพุทธสาสนาไปประดิษฐานในลังกาทวีป พระเจ้าอโศกมหาราชได้ประทานต้นโพธิ์พรรณพระศรีมหาโพธิที่เมืองพุทธคะยาไปยังพระเจ้าเทวานัมปิยดิศให้ปลูกในลังกาทวีป ยังปรากฎอยู่ณเมืองอนุราธบุรีจนทุกวันนี้ ก็คงเปนเพราะพระเจ้าเทวานัมปิยดิศใคร่จะให้มีพระบริโภคเจดีย์ขึ้นในลังกาทวีป เหมือนเช่นมีที่ในอินเดีย เค้าเงื่อนอีกอย่างหนึ่งนั้น คือเมื่อเจ้าพนักงารตรวจรักษาของโบราณที่ในอินเดีย ขุดขนดินที่กลบโบราณวัดถุณพระบริโภคเจดีย์ มีที่อิสีปัตนะมฤคทายวันเปนต้น พบรอยก่อสร้างสังฆารามไว้กว้างขวาง เปนฝีมือก่อสร้างในสมัยเมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรืองในชั้นหลังจริงอยู่ แต่น่าสันนิษฐานว่าสังฆารามจะมีอยู่ณที่นั้นก่อนแล้ว พระเจ้าแผ่นดินผู้เปนพุทธสาสนูปถัมภก มีพระเจ้าอโศกมหาราชเปนต้น จะเปนแต่บุรณะให้ใหญ่โตไพบูลย์ขึ้น หาใช่จะพึ่งคิดให้มีพระสงฆ์ไปอยู่ประจำณที่เจดียสถานในสมัยนั้นไม่

  1. ๖. ในหนังสือมหาวงศ์ ว่าเปนนายโจร

  2. ๗. มีหนังสือเรื่องปฐมสมโพธิเปนต้น

  3. ๘. ปางทรงทรมานช้างแลทรมานวานร เราเอามารวมไว้ในปางพระปาเลไลย แต่ชั้นเดิมเปนสองปางต่างกัน

  4. ๙. มีในหนังสือปฐมสมโพธิ บริเฉทธาตุวิภัชน์ปริวัตร (ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ)

  5. ๑๐. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ข้าพเจ้าผู้แต่งหนังสือนี้ไปที่เมืองบอมเบ ได้เห็นผะอบโบราณเขาขุดได้ในอินเดีย มีชิ้นดินเผาอยู่ในนั้น กับพระพุทธรูปแลเครื่องสักการะภัณฑ์หลายอย่าง เขาว่าเปนชิ้นบาตรของพระพุทธเจ้า แต่ของสักการะภัณฑ์ส่อว่าจะฝังต่อราว พ.ศ. ๑๐๐๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ