พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์บรมาธิเบศตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศัย สมุทัยตโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบุลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรบรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎ ประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว (ทรงมีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ประสูติ ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จ.ศ. ๑๐๙๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๗๙ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระบรมมหาปัยกา (ทองดี) และสมเด็จพระบรมมหาปัยยิกา (ดาวเรือง)

ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ได้มีเหตุการณ์เสมือนจะเป็นนิมิตว่า ในกาลภายหน้าพระองค์จะได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตามความในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดฯ ให้พิมพ์เป็นของเจ้าภาพชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถสุประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ที่ได้ระบุถึงเรื่องราวหลังจากพระองค์ประสูติ ๓ วันว่า

“....เมื่อประสูตรแล้วครบกำหนด ๓ วันจะทำขวัญนั้น พระชนกจึงได้ไปกราบทูลเจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ เชิญเสด็จมาเสวยในเวลาเช้า ณ ที่บ้านท่านหลังป้อมเพชร์ เมื่อเจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษเสวยแล้วเสร็จจะเสด็จกลับยังพระอารามนั้น ทรงฉีกชายสบงทรงผูกพระศอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เปนมหามงคลฤกษ ทำขวัญตามลัทธิคะติสมณเพศ เหตุเช่นนั้นเปนมหาอัศจรรย์ศุภนิมิตรที่พระองค์จะได้รับบรมราชเสวตรฉัตร เปนพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงสยามสืบมาฯ...”

อภินิหารบรรพบุรุษยังได้ระบุถึงพระบารมีของพระองค์ที่จะได้เป็นกษัตริย์โดยกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระชนมายุ ๕ พรรษาว่า ทรงวิ่งเล่นโดยยั้งพระองค์ไม่ทันล้มลงไปในกองเพลิงใหญ่ซึ่งคนสุมไว้ในฤดูหนาว เป็นการอัศจรรย์ที่มิได้ทรงเป็นอันตรายแต่อย่างใด

“...ขณะนั้นสมเด็จพระชนกชนนีไม่เห็นๆ แต่พระเจ้าพี่นางทั้งสองพระองค์ก็เสด็จวิ่งไปฉุดพระกายออกมาจากกองเพลิงใหญ่ ก็ไม่เปนอันตราย ชั้นแต่พระกายก็ไม่พองเปนปรกติดังพระกายเดิม แล้วก็ทรงวิ่งต่อไปได้ ในทันใดนั้น เปนมหาอัศจรรย์ยิ่งนัก ชะรอยเทพยเจ้าจะพิทักษ์รักษาพระองค์ จึงมิได้เปนอันตราย เหตุด้วยพระองค์จะได้เปนพระเจ้าแผ่นดินบำรุงพระพุทธศาสนา แลอาณาประชาราษฎร...”

หลังจากพิธีโสกันต์แล้วสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีจึงพาไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แทนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ด้วยราชทัณฑ์เหตุเพราะล่วงพระราชอาญาเป็นชู้กับเจ้าฟ้าหญิงสังวาล พระราชชายาของพระราชบิดา

เมื่อพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา ได้เสด็จออกผนวชที่วัดมหาทลายเป็นเวลาใกล้เคียงกับการผนวชของพระเจ้าตากที่วัดโกษาวาส พระเจ้าตากเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีซึ่งถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลวง วันหนึ่งทั้งสองพระองค์หยุดสนทนากันระหว่างเสด็จออกบิณฑบาต ขณะนั้นมีจีนชราเดินผ่านมาได้ทำนายว่าทั้งสองพระองค์จะได้เป็นกษัตริย์ อภินิหารบรรพบุรุษกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“...จีนนั้นจึ่งจับพระหัตถ์ดู แล้วจึงถามถึงปีเดือนวันพระชนม์พรรษา ทราบแล้วก็ทักทำนายว่าท่านจะได้เปนกระษัตริย์ พระเจ้าตากก็ทรงพระสรวลเปนทีไม่เชื่อ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จึงตรัสกับจีนชะรานั้นว่า ท่านจงช่วยดูให้เราบ้าง จีนนั้นจึงจับพระหัตถ์ แล้วถามถึงปีเดือนวันพระชนม์พรรษา ทราบแล้วจึงทำนายว่า ท่านก็จะได้เปนกระษัตริย์เหมือนกัน ขณะนั้นท่านทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระสรวลแล้วจึงตรัสตอบจีนนั้นว่า เรามีอายุศม์อ่อนกว่าพระเจ้าตากสองปีเศษเท่านั้น จะเปนกระษัตริย์พร้อมกันอย่างไรได้ ไม่เคยได้ยิน สัดตวงเข้าดอกกระมัง ตรัสเท่านั้นแล้วก็เสด็จเลยไปบิณฑบาตทั้งสององค์...”

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์อุทุมพรราชาธิราช (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ) พระองค์จึงได้ลาสิกขามารับราชการเป็นมหาดเล็กตามเดิม ภายหลังเมื่ออภิเษกสมรสกับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์แล้ว จึงเสด็จไปรับราชการที่เมืองราชบุรีเป็นตำแหน่ง “หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี” ถือศักดินา ๕๐๐

ภายหลังเมื่อพระเจ้าตากได้สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแล้ว พระองค์จึงได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีเป็นตำแหน่ง “พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจ” ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่า ทรงมีความดีความชอบและเป็นกำลังอันสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรี สอดคล้องกับเนื้อความในอภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งระบุว่าทรงมีความดีความชอบในการทำศึกสงครามหลายครั้งดังนี้

ครั้งที่ ๑ เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๑๓๐ ได้โดยเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบปรามด่านขุนทดแขวงเมืองนครราชสีมาและเมืองนครเสียมราฐ เสร็จการศึกได้รับบำเหน็จความชอบเลื่อนตำแหน่งเป็น “พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย”

“...โปรดเกล้าฯ เลื่อนพระราชวรินทร์ เปนที่พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ถือศักดินา ๓๐๐๐ ไร่ ในจุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๓๒...”

ครั้งที่ ๒ เมื่อปีฉลู เอกศก จ.ศ.๑๑๓๑ ทรงนำกองทัพเสด็จไปตีเมืองพระตะบองและเมืองนครเสียมราฐ แต่มีข่าวลือว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตจึงยกกองทัพกลับเมือง

ครั้งที่ ๓ เมื่อปีขาล โทศก จ.ศ.๑๑๓๒ โดยเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบปรามเมืองสวางคบุรีนำลูกช้างเผือกกลับมาถวายมีความดีความชอบได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระยายมราช”

“...ในปีขาล โทศก นั้น ทรงเลื่อนพระยาอภัยรณฤทธิ์ผู้พี่เปนเจ้าพระยายมราชเสนาบดี เพราะมีความชอบที่จัดนายทัพนายกองไปติดตามช้างเผือกกลับคืนมาได้ จึ่งได้เปนเสนาบดีกรมพระนครบาลถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่ ในจุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาล โทศก ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๓๔ พรรษา พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งเสนาบดี พานทอง กระบี่ฝักทอง คนโททอง กระโถนทองสองปักปูมดอกใหญ่ลายเทพนมก้านแย่งพก ๑ แคร่คันหามแลของอื่นอีกมาก...”

ครั้งที่ ๔ เมื่อปีเถาะ ตรีศก จ.ศ.๑๑๓๓ ทรงเป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมืองเขมรพร้อมกับพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเสด็จไปทางทะเล ตีได้เมืองบันทายเพชร และเมืองบาพนม ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “เจ้าพระยาจักรี” พระราชทานกลดคันสั้นยอดปิดทองคำเปลว โปรดฯ ให้กั้นทุกครั้งที่เข้ามาทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชวัง

“...จึ่งทรงเลื่อนเจ้าพระยายมราช เปนเจ้าพระยาจักรีอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหนายก ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่ พระราชทานเครื่องยศตามธรรมเนียมอรรคมหาเสนาบดี เมื่อได้รับตำแหน่งยศนี้ ในจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะ ตรีศก ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา...”

ครั้งที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย ฉศก จ.ศ.๑๑๓๖ ทรงเป็นแม่ทัพยกไปตีได้เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน และเมืองน่าน

“...ครั้งนั้นโปสุพลาแลโปมะยุง่วน ยกทหารฟันฝ่าแหกหักออกจากเมืองเชียงใหม่หนีไปได้ เมืองเชียงใหม่ก็เสียแก่ไทย ไทยได้ไชยชำนะครั้งนั้นพระเจ้าตากพระราชทานสนองพระองค์เข้มขาบอย่างน้อยกับผ้าส่านเกี่ยวพุงเปนรางวัล...”

“..เจ้าพระยาจักรีก็รีบภาเจ้านครเมืองน่านลงมาเฝ้าทูลลออง พระเจ้าตากก็ทรงโสมนัศตรัสสรรเสริญความดีความชอบของเจ้าพระยาจักรีว่า มีความชอบต่อราชการแผ่นดินเปนอันมาก จึงพระราชทานพระแสงฝักทองคำด้ามทองคำ จำหลักเปนศีศะนาคราชกับพระธำรงค์ทรงมณฑปประดับเพ็ชร์วงหนึ่ง...”

ครั้งที่ ๖ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองราชบุรี ทรงยกกองทัพจากเมืองเชียงใหม่ลงมาช่วยรบได้ชัยชนะแก่พม่า

ครั้งที่ ๗ เมื่อปีมะแม สัปตศก จ.ศ.๑๑๓๗ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ทรงยกกองทัพไปช่วยแต่พม่าถอยทัพไปเสียก่อน ยังมิทันได้สู้รบกัน

ครั้งที่ ๘ อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่ายกทัพมาตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ทุกด้าน แต่กองทัพไทยสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ ภายหลังกองทัพพม่าคอยตัดทางลำเลียงมิให้ไทยส่งเสบียงอาหารเข้าเมือง กองทัพไทยรักษาเมืองไว้ได้เพียง ๓ เดือนเศษเสบียงอาหารหมด จึงจำเป็นต้องทิ้งเมืองตีฝ่าค่ายทหารพม่าออกไปชุมนุมกองทัพอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์

ครั้งที่ ๙ เมื่อปีวอก อัฐศก จ.ศ.๑๑๓๘ ทรงยกกองทัพไปตีหัวเมืองลาวตะวันออกได้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง เมืองอัตปือ และไปตีเมืองเขมรป่าดงได้เมืองตลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ ในครั้งนั้นทรงมีความดีความชอบได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”

“...พระเจ้าตากทรงพระราชดำรัสว่า เจ้าพระยาจักรีมีความชอบต่อแผ่นดินมาก แต่ยศศักดิ์ยังหาเสมอกับความชอบไม่ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งยศใหญ่ เปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก พิฦกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงษ องค์อัคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก เอกอรรคมหาเสนาธิบดี ทรงศักดินา ๓๐๐๐๐ ไร่...”

ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๑๔๐ ทรงยกกองทัพไปตีเมืองล้านช้าง ตีได้เมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ครั้งนี้ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย

“...ปราบปรามราษฎรราบคาบแล้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมระกฎลงมาถวายสมเด็จพระเจ้าตาก พระเจ้าตากพระราชทานสังวาลทองคำประดับเนาวรัตนสาย ๑...”

ครั้งที่ ๑๑ ในปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงเป็นแม่ทัพไปปราบจลาจลในเมืองเขมร อภินิหารบรรพบุรุษ กล่าวถึงเหตุการณ์อันเป็นนิมิตว่าพระองค์จะได้เป็นกษัตริย์ว่า

“...เมื่อจะไปนั้นพระราชทานสนองพระองค์ ทรงประภาษอันเปนเครื่องต้น ทรงถอดออกจากพระองค์ พระราชทานเปนรางวัลโดยอัศจรรย์ เปนบุพนิมิตรเหตุที่พระองค์กลับมาจะได้ศิริราชสมบัติ...”

ภายหลังเมื่อทรงครองราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้วได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองตลอดจนทรงอุปถัมภ์ทั้งในด้านพระพุทธศาสนา และวรรณคดี แม้ว่าในช่วงรัชกาลของพระองค์จะมีการศึกสงครามซึ่งจำเป็นต้องทำนุบำรุงบ้านเมืองเป็นการเร่งด่วนก็ตาม วรรณคดีชิ้นสำคัญที่ทรงพระราชนิพนธ์ อาทิ รามเกียรติ์ อิเหนา ดาหลังและอุณรุท เป็นต้น ส่วนในด้านการศาสนานั้นโปรดฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎก อีกทั้งสถาปนาและปฏิสังขรณ์พระอารามรวมทั้งสิ้น ๑๓ แห่ง ที่สำคัญได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ และวัดราชบูรณะ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงประชวรด้วยพระโรคชราและเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จ.ศ.๑๑๗๑ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระชนมายุ ๗๔ พรรษา ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี

  1. ๑. จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

  2. ๒. พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ขณะนั้นทรงผนวชอยู่วัดโคกแสง

  3. ๓. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมืองพุทไธเพชร

  4. ๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า เมืองสีทันดร

  5. ๕. หมายถึง ฉลองพระองค์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ