ความเป็นมาของหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประพันธ์

หนังสือเรื่อง “โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์” นี้ เรียบเรียงขึ้นจากต้นฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ได้ทรงตรวจสอบชำระและตีพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๗๐ เนื่องในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ทรงประทานเป็นของตอบแทนให้แก่ผู้ที่ไปถวายรดน้ำในวันสงกรานต์

ในการตรวจชำระเพื่อจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับปรุงต้นฉบับให้มีอักขรวิธีสอดคล้องกับอักขรวิธีในปัจจุบัน โดยตรวจสอบชำระเทียบเคียงกับสมุดไทยเรื่องโคลงเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑ (พระชำนิโวหารแต่ง) ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๒ เล่ม ดังนี้

๑. สมุดไทย เลขที่ ๑๗๙ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๕ มัดที่ ๑๖ มีลักษณะเป็นสมุดไทยดำ ขนาดความกว้าง ๔.๒ นิ้ว ความยาว ๑๒.๘ นิ้ว เขียนตัวอักษรด้วยเส้นหรดาล ในทะเบียนเก่าของหอพระสมุดวชิรญาณระบุไว้ว่า

๑. ชื่อ หนังสือ เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑

๒. ฉบับ (เดิม) นายชำนิโวหาร แต่ง

๓. ลักษณ โคลง ๑ เล่ม จบ

๔. ประวัติ พระองค์เจ้าวงศ์จันทร์ ถวาย วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๕

๕. หมายสำคัญ อักษร ฉ ที่ ...

๖. ที่เก็บตู้ ... ชั้น ...

๒. สมุดไทย เลขที่ ๑๘๐ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๕ มัดที่ ๑๖ มีลักษณะเป็นสมุดไทยดำ ขนาดความกว้าง ๔.๒ นิ้ว ความยาว ๑๒.๘ นิ้ว เขียนตัวอักษรด้วยเส้นดินสอขาว ในทะเบียนเก่าของหอพระสมุดวชิรญาณระบุไว้ว่า

๑. ชื่อ หนังสือ เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑

๒. ฉบับ (เดิม) นายชำนิโวหาร แต่ง

๓. ลักษณ โคลง ๑ เล่ม จบ

๔. ประวัติ กรมหลวงวงษาฯ กรมหมื่นไชยนาถ ประทาน ๖/๑๑/๕๘

๕. หมายสำคัญ อักษร ฉ ที่ ...

๖. ที่เก็บตู้ ... ชั้น ...

ต้นฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ประพันธ์ด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๑๓๔ บท โดย ๑๓ บทแรกนั้นเป็นกระทู้ “ธงนำริ้ว” บอกนามผู้ประพันธ์ไว้ในโคลงบทที่ ๓ ว่า

ชำ นินรนาถตั้ง นามกร
นิ พัทธ์นิพนธ์กลกลอน กล่าวไว้
โว หารแห่งอักษร เสาวภาพ
หาร ยกพระยศไท้ ธิราชเจ้าจอมกรุง ฯ

สมุดไทยเลขที่ ๑๗๙ และเลขที่ ๑๘๐ บอกนามผู้ประพันธ์ไว้ในทะเบียนเก่าเอกสารโบราณต้นฉบับตัวเขียนของหอพระสมุดวชิรญาณ ระบุตรงกันว่า “นายชำนิโวหาร” เป็นผู้แต่ง

พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ ระบุไว้ว่าราชทินนาม “ชำนิโวหาร” เป็นบรรดาศักดิ์ตามทำเนียบข้าราชการสังกัดกรมพระอาลักษณ์ เป็น “นายชำนิโวหาร” คู่กับตำแหน่ง “นายชำนาญอักษร” ถือศักดินา ๔๐๐

แต่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ได้ทรงแสดงข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับนามผู้ประพันธ์เรื่องโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ไว้ในคำนำหนังสือเรื่องนี้ เมื่อคราวที่พิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ว่า ผู้ประพันธ์น่าจะมีราชทินนามเป็น “พระชำนิโวหาร”

“...โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นี้ ได้ชื่อผู้แต่งว่า “ชำนิโวหาร” ชำนิโวหารนั้นเปนราชทินนาม จดกันไว้ว่านายชำนิโวหารบ้าง ขุนชำนิโวหารบ้าง พระชำนิโวหารบ้าง แลจะเปนหมื่นชำนิโวหารก็ยังได้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเปนพระชำนิโวหาร เพราะกทู้โคลงข้างต้นว่า สรวม พระ ชำนิโวหาร ศรี สิทธิ์ ฤทธิ์ ชัย ไกร กรุง ฟุ้ง ฟ้า นั้น ถ้าจะไม่เอา พระ กับ ชำนิโวหาร ต่อกันแล้วก็ไม่ได้ความว่ากระไรเลย...”

เมื่อพิจารณาตามข้อสันนิษฐานของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เฉพาะเนื้อความจากกระทู้ต้นบาทของโคลงบทที่ ๑ - ๓ แล้วจะได้ความดังนี้

สรวม แสดงพระเกียรติก้อง โกลา หลเฮย
สรวม เสด็จถวัลย์อยุธยา ยิ่งไซร้
สรวม เป็นปิ่นราชา จอมจักร พรรดิพ่อ
สรวม ชีพชุบชีพไว้ วอดแล้วคืนคง ฯ
พระ ทรงอิสรภาพเรื้อง เรืองฤทธิ์
พระ ดับเข็ญคือพิษ ณุไท้
พระ คุณอเนกนิตย์ นับร่ำ ไฉนนา
พระ บาทบำรุงให้ ฟ่องฟื้นศาสนา ฯ
ชำ นินรนาถตั้ง นามกร
นิ พัทธ์นิพนธ์กลกลอน กล่าวไว้
โว หารแห่งอักษร เสาวภาพ
หาร ยกพระยศไท้ ธิราชเจ้าจอมกรุง ฯ

พระชำนิโวหารจะมีนามเดิมว่าอย่างไร และประพันธ์โคลงเรื่องนี้ไว้ในสมัยใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของโคลงทั้งหมดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นี้นำจะแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เนื่องจากในโคลงบทที่ ๑๑๙ ได้กล่าวถึง “ทวิไท้ธิบดินทร์” ซึ่งน่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เสร็จกษิณเศิกเสี้ยนราบ โรมรณ
เพรียงไพร่ยั้งเย็นกมล ทั่วด้าว
ชีชาติทวิชาจล เจริญสุข เกษมนา
เพราะพระเกียรติยศท้าว ทวิไท้ธิบดินทร์ ฯ

ขณะที่สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มได้กล่าวถึงกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไว้ในโคลงบทที่ ๙๖ ความว่า

ขอพระไตรรัตนเจ้า อันเปน
หลักโลกยจงดับเขญ ไปล่เปลื้อง
สองกระษัตรเพิ่มบำเพญ บุญลาภ
พุทธสาศนจักรุ่งเรื้อง ตราบห้าพันวษา ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๗๙)

ขอพระไตรรัตนเจ้า อันเปน
หลักโลกยจงดับเขญ ไปล่เปลื้อง
สองกระบษัตรเพิ่มบำเพญ บุญลาภ
พุทธสาศนจักรุ่งเรื้อง ตราบห้าพันวษา ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๘๐)

เกี่ยวกับสมัยที่แต่งโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ นี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงแสดงข้อสันนิษฐานไว้ว่า

“ ..พระชำนิโวหารจะมีชีวิตอยู่ครั้งไร ได้แต่งโคลงชุดนี้เมื่อไรก็ไม่มีบอกไว้ที่ไหน ถามใครก็ไม่มีใครทราบ ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านโคลงเหล่านี้ แต่ครั้นอ่านดูจนตลอดก็ลงความเห็นว่า แต่งในรัชกาลที่ ๑ เพราะพูดเหมือนคนที่เห็นด้วยตา แลมีบางแห่งแต่งตามลักษณะโคลงที่ใช้กันครั้งกรุงเก่า แลต้นกรุงรัตนโกสินทร์...”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ