คำอธิบายศัพท์

เนื่องจากศัพท์บางคำมีหลายความหมาย การทำคำอธิบายศัพท์ในครั้งนี้จึงให้ความหมายเฉพาะที่ปรากฏในเรื่องโคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เท่านั้น พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างประกอบและบอกลำดับที่ของบทโคลงไว้ในวงเล็บข้างท้าย

ตัวอย่างเช่น “คือโกศกรณฑ์รอง ธรรมศาสน์” (๔๘)

หมายความว่า ศัพท์คำนี้อยู่ในโคลงบทที่ ๔๘

กรณฑ์ ภาชนะมีฝาปิด เช่น “คือโกศกรณฑ์รอง ธรรมศาสน์” (๔๘)
กระเชียง กรรเชียง ไม้รูปคล้ายแจว มีหลักสำหรับพาดใช้เหนี่ยวพุ้ยน้ำให้เรือเดิน เช่น “เรือกระเชียงมอญหม้า ใหม่แต้มตะเลงลาย” (๘๙)
กระสัน คะนึง คิดถึง เช่น “ฟังบอกแบ่งกระสัน เบาโศก น้อยนา” (๓๑)
กล้าย ใกล้ ไม่ห่าง เช่น “มาอยู่บริรักษ์กล้าย อยู่เกล้าอย่าไกล” (๑๒๖)
กว้าน เครื่องมือสำหรับฉุดดึงหรือยกของหนัก เช่น “พระราชดำริใช้ รอกกว้านแกว่นกล” (๑๑๓)
กษัย การสิ้นไป หมดไป เสื่อมไป เช่น “มาดับอาดูรแผ้ว เผ่าพู้นนำกษัย” (๑๕)
กะเลียว สีของม้าชนิดหนึ่ง เป็นสีเขียวอมดำ เช่น “ลางส่ำสีผ่านน้ำ ก่านแก้วกะเลียวเหลือง” (๘๓)
กัมพุช เขมร หรือกัมพูชา เช่น “ชาวกัมพุชบ่ทาน ทนเดช” (๑๔)
ก่าน สีกระดำกระด่าง เช่น “ลางสำสีผ่านนำ ก่านแก้วกะเลียวเหลือง” (๘๓)
กาฬปักษ กาฬปักษ์ ฝ่ายดำ คือ ข้างแรม เช่น “กาฬปักษจิตรนักขัต ค่ำเก้า” (๙๓)
กำบิด มีด เช่น “เรือมาดมีดโกนกล กำบิด” (๙๓)
กำเพลิง ปืนไฟ (ข. กำเภฺลีง) เช่น “สาดศรกำเพลิงพลือ พลางโห่ โหมแฮ” (๒๒)
กิเลน ชื่อสัตว์ในนิยายจีน หัวเป็นมังกร มีเขาอ่อน ๑ เขา ตัวเป็นกวาง เท้ามีกีบเหมือนม้า หางเป็นพวง เช่น “เรือกิเลนลอยสินธุ์ เสียดคล้อย” (๙๐)
กุฎาคาร เรือนยอด เช่น “มรฑปกุฎาคาร ทวัยสดูป” (๔๖)
กุณฑ์ หลุมไฟ เช่น “อุณห์อกราษฎร์ราวกุณฑ์ บังเกิด” (๑๗)
กุไหล่ กุไล ชื่อเรือขุดชนิดหนึ่งเสริมข้างกระดาน มีรูปเพรียว หัวและท้ายแหลมสูง เช่น “เรือรบกุไหล่ร้า เคยรณ” (๙๓)
กูบ ประทุนบนหลังช้าง เช่น “ช้างกูบที่นั่งช้าง เครื่องเต้ามาตาม” (๓๕)
แกล่ ใกล้ เกือบ เช่น “ไม้ดอกไม้ดัดสรดื้น เทียบแกล้งแกล่ถวาย” (๖๖)
แกว่น ว่องไว เช่น “พระราชดำริใช้ รอกกว้านแกว่นกล” (๑๑๓)
ไกรสร ไกรศร แผลงมาจาก เกสรี หมายถึง ราชสีห์ที่มีขนสร้อยคอ เช่น “ฤทธิ ไกรเปรียบไกรสร สุรภาพ” (๖)

ขดาน กระดาน เช่น “สดมภ์ชิงช้าให้ ทวิชตั้งแขวนขดาน” (๙๘)
ขลา ขาล เสือ ชื่อปีที่ ๓ ของรอบปีนักษัตร มีเสือเป็นสัญลักษณ์ เช่น “เถลิงศกศักราชขบขึ้น ขลาจัต วาแฮ” (๓๓)
ขุกเข็ญ เกิดความลำบากขึ้นโดยทันที เช่น “ดาลยุคขุกเข็ญให้ ราษฎร์ร้อนขวัญหาย” (๒๔)
ขุนห่าน พญาหงส์ นกในนิยายซึ่งถือว่าเป็นนกในตระกูลสูง มีเสียงไพเราะ เป็นพาหนะของพระพรหม เช่น “นั้นธย่อมขี่ขุน ห่านผ้าย” (๑๒๖)
เข็ด ลักษณนามของด้ายหรือไหมหลายๆ ไจรวมกัน เช่น “ค้าเข็ดส่านเสื้อด้าย ม่านมุ้งมีเสมอ” (๙๖)
เขมา ดำ เช่น “กองหลังลางหมู่เสื้อ สีเขมา” (๓๗)

คด สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีสันฐานคดเป็นรูปคล้ายข้อศอก เช่น “ทิมคดคู่ควรสถาน สถิตทูต” (๗๖)
ครรไล แผลงมาจาก ไคล ไป เช่น “สะพานช้างทางข้ามคช ครรไล เลียบแฮ” (๙๖)
คราม ในที่นี้หมายถึงหน้าดำเป็นสีดั่งคราม เพราะความกลัว เช่น “ประหม่ามุขคือคราม ผิวผิด พู้นนา” (๒๓)
คฤหา คฤห บ้าน เรือน เช่น “เสียแหล่งละคฤหา หวังคลาด ภัยพ่อ” (๑๙)
คล่ำคล่ำ มากมาย เช่น “คล่ำคล่ำส่ำอัศวดร ดูเดช” (๓๔)
คลี การเล่นแข่งขันอย่างหนึ่ง โดยผู้เล่นขี่ม้าตีลูกกลมด้วยไม้ เช่น “หงส์พิมานขี่คล้อย เคล่าคล้อยคลีดี” (๘๔)
คว้าง อาการของสิ่งที่หมุนหรือลอยไปอย่างไม่มีจุดหมายหรือที่ยึดเหนี่ยว เช่น “อุบัติกาบาตไต้ ตกคว้างขวัญหาย” (๒๑)
คอน อาการที่คนนั่งค่อนไปทางท้ายเรือ หรือหัวเรือคนเดียวแล้วพายไป เช่น “เรือคู่หัดคอนควร แบ่งเหล้น” (๙๒)
คั้น จับไว้มั่น ไม่ปล่อยให้หลุด เช่น “แม้นมฤคยั่นพยัคฆา คาบคั้น” (๑๙)
คัล เฝ้าอย่างเข้าเฝ้าเจ้านาย เช่น “กรุง นอกกรุงมาคัล คั่งเฝ้า” (๙)
เครียว รีบไป รีบมา เช่น “ทรนุกหนุ่มสาวสะคราญ เครียวใคร่ กันนา” (๖๘)
เคล่า ตัดศัพท์จาก เคล่าคล่อง หมายถึง ว่องไว รวดเร็ว เช่น “หงส์พิมานขี่คล้อย เคล่าคล้อยคลีดี” (๘๔)
เคื้อ งาม ตัดศัพท์จาก อะเคื้อ เช่น “ช้างเขนเขนคู่เคื้อ ควรแสยง” (๓๕)

ไง้ ไค้ งัดไปข้างๆ เช่น “ผูกตรากลำบากต้อง โทษไง้เอาเงิน” (๒๐)

จรก ผู้เดินไป ผู้เที่ยวไป วันจรก = วนจรก หมายถึง พรานป่า เช่น “ศรีเศวตวันจรก ดักได้” (๑๐๐)
จรัล ไป เช่น “พญาทศทั่วทิศจรัล รบบก เรือแฮ” (๑๑๗)
จลุง ตะลุง เสาสำหรับผูกช้าง เช่น “โรงช้างผูกคชเนา เหนือแท่น จลุงแฮ” (๘๐)
จักราจิณ จักร + อาจิณ ผู้ถือจักรอยู่เสมอ คือ พระนารายณ์ เช่น “ทรงสังข์จักราจิณ เจนหัตถ์ อยู่แฮ” (๑๒๕)
จันทราทิตย์ จันทร + อาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เช่น “ดวงจันทราทิตย์ทั้ง ดารก” (๒๑)
จำหลัก แกะให้เป็นลวดลาย เช่น “เจียดมาศถาดจำหลัก ล่วมล้ำ” (๗๓)
จิ้นก้อง จิ้มก้อง การเจริญพระราชไมตรีด้วยเครื่องบรรณาการ เช่น “หูส่งทรงจิ้นก้อง ก่อไม้ตรีจีน” (๑๐๒)
เจตร แผลงมาจาก จิตร เดือนที่พระจันทร์เสวยฤกษ์จิตรา เรียกว่า จิตรมาส คือเดือน ๕ ราวเดือนเมษายน เช่น “ฟ้า แจ่มเดือนแจ้งเจตร มาสา” (๑๑)

ฉนวนเฉนียน ทางเดินมีกำแพงกันไปยังท่าน้ำ เช่น “พระฉนวนเฉนียนท่าโสรจ สรงสนาน” (๘๗)

ชเล ทะเล เช่น “สำหรับรักษเวียงไท้ ทั่วด้าวแดนชเล” (๙๔)
ชำนน แผลงมาจาก ชน หมายถึง ชนกัน เช่น “ช้างพชดชำนนแซง แทรกข้าง” (๓๕)
ชื้อ ร่ม เย็น เช่น “ยินก็เย็นใจชื้อ เฉกไท้เสด็จถึง” (๓๒)
ไชยานุภาพ ไชย + อานุภาพ คืออำนาจแห่งชัยชนะ เช่น “ไช ยานุภาพล้ำ ฦๅไชย” (๗)

ซ้อง ระดมกัน ทำพร้อมกัน เช่น “ขอพรพรุณศาสตร์ซ้อง สายฝน” (๑๓๒)
ซั้น รีบ โดยเร็ว เช่น “พระยายินศัพท์ซั้น สารถาม” (๒๓)
แซ ชื่อเรือรบโบราณ ใช้แห่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดกฐิน เช่น “เรือแซเรือดั้งพู่ พันเหา” (๘๙)

ดั้ง ชื่อเรือในกระบวนแห่ เช่น “เรือแซเรือดั้งพู่ พันเหา” (๘๙)
ดารก ดวงดาว เช่น “ดวงจันทราทิตย์ทั้ง ดารก” (๒๑)
ดำรวจ แผลงมาจาก ตำรวจ หมายถึง ผู้ตรวจ เช่น “ดำรวจรักษ์คอยราย ระวังแปลก ปลอมแฮ” (๕๘)
ดำไร ดำรี ช้าง เช่น “ดาลแนะนำดำไร เผือกผู้” (๑๓๐)
ดื่น มากเกินปกติ เช่น “แพรเลี่ยนหลินซินเจา ดื่นจ้าน” (๙๗)
ดุรงค์ ม้า เช่น “เรือดุรงค์รวดคล้าย มิ่งม้าแมนเหียน” (๘๘)
ดุริยางค์คีต เครื่องดนตรี (ดุริย + องค์ + คีต) เช่น “ดุริยางค์คีตขับขาน กลอนกล่อม” (๕๐)
แดยัน แทบขาดใจ เช่น “ผืนแผ่นดินแดยัน ย่อนไสร้” (๒๘)

ตรวย หมายถึง “กรวย” เช่น “สบสิ่งเสื้อแพรแพร้ว เพริศผ้าปูมตรวย” (๗๒) ปูมตรวย ได้แก่ ผ้าปูมมีลายกรวยเชิง
ตรีภพ ไตรภพ ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เช่น “มาเตรียกตรีภพผ้าย แผ่นฟ้าสาธุการ” (๔๓)
ต่วน แพรชนิดหนึ่ง เนื้อเกลี้ยงเป็นมันด้านเดียว ทอเป็นลายสาน หรือลายขัดที่ยก ๒ ข่ม ๒ เช่น “เรือแขกต่วนปังกะหลา เกาะหมาก” (๑๐๓)
ตาว ดาบ มีดยาว เช่น “ตาวตกตะลึงเศร้า สติสิ้นเสียกมล” (๒๓)
แต่งแง่ แต่งตัว เช่น “แต่งแง่งามอ่อนช้อย เฉิดชี้โฉมสวรรค์” (๕๑)

ถมอ หิน เช่น “ถมอมารคเมิลมารคพื้น สะอ้านเอกเหลือ” (๑๑๔)
ถวัลย์ ทรง ครอง เช่น “สรวม เสด็จถวัลย์อยุธยา ยิ่งไซร้” (๑)
ถ้อ โต้ เช่น “เสียงสรวลทุกถิ่นถ้อ ขับขาน” (๖๘)

ทแกล้ว ผู้กล้าหาญ ทหาร เช่น “รายรับรามลักษณ์ล้วน ทแกล้วทวยหาญ” (๒๖)
ทรนุก น่าจะมาจาก สรนุก สนุก เช่น “ทรนุกหนุ่มสาวสะคราญ เครียวใคร่ กันนา” (๖๘)
ทรไน สรไน ปี่ไฉน เช่น “หรทึกทรไนนิน นาทก้อง” (๗๑)
ทรหู ร้องดัง ดิ้นรนอยากรู้ เช่น “ใครกรอกกล่าวทรหู เห็นผิด ภินนา” (๑๓๑)
ท่วย หมู่ เหล่า เช่น “เห็นท่วยเห็นขวัญบิน บ่าไสร้” (๙๕)
ทวัย ทั้งสอง เช่น “มรฑปกุฎาคาร ทวัยสดูป” (๔๖)
ทวิช ผู้เกิด ๒ ครั้ง ในที่นี้หมายถึง พราหมณ์ เช่น “สดมภ์ชิงช้าให้ ทวิชตั้งแขวนขดาน” (๙๘)
ทศพล แปลว่าผู้มีกำลัง ๑๐ หมายถึง พระนามของพระพุทธเจ้า เช่น “โพธิ์ร่มอาสน์ทศพล อยู่เกล้า” (๑๐๖)
ทิชงค์ ทิช + องค์ ผู้เกิด ๒ ครั้ง ในที่นี้หมายถึง พราหมณ์ เช่น “ชีชาติทิชงค์ประชุม โอมอ่าน เวทแฮ” (๗๐)
ทิม ศาลาแถว หรือ ห้องแถวใช้เป็นที่พักหรือไว้ของในพระราชวัง เช่น “ทิมคดคู่ควรสถาน สถิตทูต” (๗๖)
ทึก น้ำ เช่น “มานมาบสระสินธุทึก อรอาบ องค์เอย” (๖๗)
เทเวนทร์ หัวหน้าเทวดา (เทว + อินทร์) เช่น “เทเวนทร์วาสุเทพท้าว ผทมสินธุ์” (๑๒๕)
เทิน เนินดิน เช่น “เติมตั้งปีกกาตาม เทินแทบ สถลนา” (๒๖)
เที้ยร ย่อม ล้วนแล้วไปด้วย เช่น “ไชย ชำนะผ่านเผ้า ทั่วเที้ยรถวายไชย” (๗)
ไท้ ผู้เป็นใหญ่ เช่น “คอยเสด็จสมเด็จองค์ เอกไท้” (๒๙)

ธรรมดา ธรฺมตฺฤ คือ ผู้มีธรรม ผู้ทรงธรรม เช่น “ฟุ้ง ธรรมทศพิธท้าว ธรรมดา” (๑๐)
ธรรมศาสน์ ธรรม + ศาสน์ คือ คำสั่งสอนให้กระทำความดี เช่น “คือโกศกรณฑ์รอง ธรรมศาสน์” (๔๘)
ธำรง ทรงไว้ คงไว้ เช่น “ฤทธิ รุทธ์อุตดมด้วย เดชไท้ธำรง” (๖)
ธิบดินทร์ อธิป + บดินทร์ คือ พระเจ้าแผ่นดิน เช่น “เพราะพระเกียรติยศท้าว ทวิไห้ธิบดินทร์” (๑๑๙)
ธุมเกตุ ดาวตก เช่น “พิกลเกิดลามก ธุมเกตุ” (๒๑)

นรนาถ พระราชา เช่น “ชำ นินรนาถตั้ง นามกร” (๓)
นฤเบศร์ พระราชา เช่น “แสนเสน่ห์นฤเบศร์ ล้ำแหล่งหล้าสดุดี” (๖๔)
นิกขชาติ ทอง แท่งทอง เช่น “ห้องเครื่องเนื่องคลังหิรัญ นิกขชาติ” (๑๑๑)
นินนาท เสียงกึกก้อง เช่น “หรทึกทรไนนิน นาทก้อง” (๗๑)
นิพัทธ์ เสมอ เนือง ๆ เช่น “นิ พัทธ์นิพนธ์กลกลอน กล่าวไว้” (๓)

บริรักษ์ ดูแล รักษา เช่น “มาอยู่บริรักษ์กล้าย อยู่เกล้าอย่าไกล” (๑๒๖)
บัณเฑาะว์ กลองสองหน้าขนาดเล็ก มีหลักอยู่ด้านบน ผูกตุ้มห้อยลงมาทางหน้ากลอง ใช้ไกวให้ตุ้มแกว่งกระทบหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง เช่น “บัณเฑาะว์ประดังอินท เภริศ ระดมนา” (๗๑)
บันทัด ประทัด ชื่อดอกไม้ไฟของจีน เช่น “บันทัดปะทุผาง พลุพลุ่ง พะเนียงนา” (๖๐)
บาย ข้าว เช่น “มังสะมัศยาบาย บริโภค ก็มี” (๖๓)
บำนาญ สิ่งตอบแทนความดีความชอบที่รับราชการหรือทำงานมาเป็นเวลานาน ในที่นี้หมายถึง ตอบแทนความจงรักภักดี เช่น “กรุง ย่อมบำนาญพรรณ แพรเพริศ ให้แฮ” (๙)
บูร บุระ ป้อม เมือง เช่น “ฤทธิ ภาพปราบบูรบร บั่นม้วย” (๖)
เบญญา ปัญญา เช่น “เบญญากับพระญาณ ฦกเล่ห์ สมุทรแฮ” (๑๓๓)
เบียน รบกวน ทำให้เดือดร้อน เช่น “อย่ามาพาธพันเอิญ เบียนบาท ยุคลนา” (๑๒๒)
โบดก ลูกสัตว์ เช่น “บารมีมานมิ่งเนื้อ โบดก” (๑๐๐)

ปดูป สถูป เช่น “แสดงปดูปดิเรกเส้น เศษปัญจ วาแฮ” (๑๐๘)
ปฏิยุทธ์ การสู้รบ เช่น “สองปฏิยุทธ์ยัน แย่เท้า” (๕๕)
ประกิต ประกอบ ประดับ เช่น “ปราการประกิตขึง ขัณฑ์ขอบ รอบแฮ” (๙๘)
ประทุษฐ์ ชั่ว ร้าย เช่น “ผู้ผิดประทุษฐ์นั้น หนาวตัว” (๔๐)
ปรัศว์ เรือนหลวงซึ่งอยู่ขนานทั้ง ๒ ข้างของเรือนหลวงหรือพระที่นั่งซึ่งเป็นประธาน เช่น “พระปรัศว์เรือนใหม่หม้า มากล้ำเหลือไตร” (๗๖)
ปสิทธิ ประสิทธิ ประสิทธิ์ ความสำเร็จ เช่น “หอพิฆเนศวรสึง ปสิทธิไว้” (๙๘)
ปังกะหลา บังคลา หมายถึง แคว้นเบงกอล เช่น “เรือแบกต่วนปังกะหลา เกาะหมาก” (๑๐๓)
ปัญจวา ๕ วา ในที่นี้หมายถึง สถูปมีความสูง ๑ เส้น ๕ วา เช่น “แสดงปดูปดิเรกเส้น เศษปัญจ วาแฮ” (๑๐๘)
ปัทมราช ปัทมราค พลอยสีแดง เช่น “แดงสีใส่ชื่อปัท- มราช เร็วพ่อ” (๘๔)
ปิตุเก็ด ประเทศโปรตุเกส เช่น “กำปั่นปิตุเก็ดทั้ง ลันดา” (๑๐๓)
ปูม ผ้าไหมชนิดหนึ่ง เช่น “ร้านแขกม่วงปูมเขา ขายมาก มีนา” (๙๗)
เปียว เป่า เช่น “เปียวปี่เป่าเพราะพร้อง แหบลิ้นลมหวาน” (๕๐)

ผกาย ประกาย มีแสงแวววาว เช่น “พเยียมาศพลุพลือผกาย โด่งฟ้า” (๙๑)
ผจง บรรจง ตั้งใจ เช่น “ไม้ดัดสรรทรงเหล้น พุ่มแกล้งผจงเจียน” (๗๗)
ผทม บรรทม นอน เช่น “เทเวนทร์วาสุเทพท้าว ผทมสินธุ์” (๑๒๕)
ผลู หนทาง เช่น “คั่งคั่งคชนับร้อย เรื่อยผ้ายเพ็ญผลู” (๓๔)
ผาง มีเสียงดัง เช่น “บันทัดปะทุผาง พลุพลุ่ง พะเนียงนา” (๖๐)
ผ่าน ม้าที่มีลายขาวพาดขวางตามลำตัว เช่น “ลางส่ำสีผ่านน้ำ ก่านแก้วกะเลียวเหลือง” (๘๓)
ผ้าย ผาย คือ เคลื่อนไปจากที่ เช่น “คั่งคั่งคชนับร้อย เรื่อยผ้ายเพ็ญผลู” (๓๔)

พยู่ห์ พยุหะ กระบวนทัพ เช่น “เมิลหมู่พยู่ห์ย่อมเชื้อ ชาญสมร” (๓๔)
พรหมศร ชื่อลายบัวเป็นกาบหุ้มโคนเสา เช่น “พรหมศรกาบทาบทาม ทวยทอด ระทวยแฮ” (๔๗)
พรหเมศ พระพรหม (พรหม + อีศ) เช่น “สิทธิ สมพรหเมศเรื้อง รังสฤษฎ์ พระนา” (๕)
พรุณศาสตร์ พิธีขอฝนมีพราหมณ์เป็นผู้กระทำพิธี เช่น “ขอพรพรุณศาสตร์ซ้อง สายฝน” (๑๓๒)
พฤฒิ ความเจริญ มั่งคั่ง สมบูรณ์ เช่น “สมณพราหมณ์พฤฒิพร้อม มนตรี” (๖๙)
พละพลา พลับพลา ที่ประทับชั่วคราวสำหรับรับรองพระเจ้าแผ่นดิน เช่น “ปราสาทพละพลาทวาร หวังน่า ดูนา” (๑๑๓)
พลือ สว่าง เช่น “สาดศรกำเพลิงพลือ พลางโห่ โหมแฮ” (๒๒)
พะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง ทำจากกระบอกไม้ไผ่ บรรจุดินจุด ใช้ตั้งจุดไฟให้ลุกเป็นช่องาม เช่น “บันทัดปะทุผาง พลุพลุ่ง พะเนียงนา” (๖๐)
พันเหา พรรเหา มาก ยิ่ง เช่น “ผูกอัศวพันเหาเพรา เพริศแพร้ว” (๘๐)
พันเอิญ เผอิญ เช่น “อย่ามาพาธพันเอิญ เบียนบาท ยุคลนา” (๑๒๒)
พ่าง เหมือน เพียง เช่น “ศรี โภคเพ็ญพ่างน้ำ สมุทรห้วงหากเสมอ” (๔)
พิลาสพิไล พิลาส (ฟ้อนรำ งามสดใส) + พิไล (งาม) การฟ้อนรำอย่างงดงาม เช่น “พิลาสพิไลสุด จักร่ำ รำนา” (๕๑)
พิษณุ วิษณุ พระนารายณ์ เช่น “พระ ดับเข็ญคือพิษ ณุไท้” (๒)
พุทธางกูร พุทธังกูร หน่อเนื้อพระพุทธเจ้า หมายถึง พระโพธิสัตว์ เช่น “บ้างก็ชมว่าเชื้อ ชาติพ้องพุทธางกูร” (๑๐๑)
เพรียงเมือง ชาวเมือง เช่น “เพรียงเมืองเคืองขุ่นแค้น คะนองมือ” (๒๒)
แพ่ง สร้าง เช่น “กัมพชแพ่งเพียงโพ ธิสัตว์ตั้ง” (๗๔)
โพยแพ่น ตีลงด้วยกำลังแรง เช่น “หมุ่งครุ่มระเบงเวียน โพยแพ่น กลองแฮ” (๕๒)
โพรงพราย แพรวพราย งามระยิบระยับ เช่น “โรงแสงโรงสาตร์แพร้ว โพรงพราย” (๗๙)
ไพรี ข้าศึก เช่น “ฤทธิ หาญหักไพรี เร็วรวด” (๑๒)

ฟ่องฟื้น เฟื่องฟู เช่น “พระ บาทบำรุงให้ ฟ่องฟื้นศาสนา” (๒)

ภาคิไนย หลาน ลูกของพี่สาวหรือน้องสาว เช่น “ภาคิไนยนรนาถเจ้า เสด็จดล” (๒๕)
ภุญช์ ภุญช กิน เช่น “พระใดของห้าอิ่ม เอมภุญช์ นิจนา” (๑๒๖)
ภูวมณฑล แผ่นดิน เช่น “เที้ยรทั่วภูวมณฑล เทศไท้” (๑๓๒)
เภริศ กลอง (เภรี + อิศ) เช่น “บัณเฑาะว์ประดังอินท เภริศ ระดมนา” (๗๑)

มรฑป มณฑป เรือนยอดรูปสี่เหลี่ยม เช่น “มรฑปกุฎาคาร ทวัยสดูป” (๘๖)
มล่น วิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น “ม้าล่อมารดรลา มล่นล้ำ” (๘๓)
มลาก มาก เช่น “ของมลากหลายสิ่งราย เรียบไว้” (๖๓)
มล่ำ ล่ำ เช่น “มัลลามล่ำข้อ แข็งขัน” (๕๕)
มหรรฆค่า มหัคฆ มีค่ามาก เช่น “มหรรฆค่าฝากระดาน ใหม่หม้า” (๑๐๙)
มหิทธิ มหา + อิทธิ มีฤทธิ์มาก เช่น “เสด็จแสดงมหิทธิมหา สุรภาพ” (๔๓)
มังสะ เนื้อ เช่น “มังสะมัศยาบาย บริโภค ก็มี” (๖๓)
มัลลา มัลละ นักมวย เช่น “มัลลามลำข้อ แข็งขัน” (๕๕)
มาตรว่า แม้นว่า เช่น “มาตรว่ามิตรฤๅใกล้ กลับดั้นเดินหนี” (๑๘)
มาน มี เช่น “พิณพาทย์ดนตรีมาน มี่ก้อง” (๕๐)
มาบ พื้นที่ลุ่มกว้างใหญ่ซึ่งมีทางน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง เช่น “มานมาบสระสินธุทึก อรอาบ องค์เอย” (๖๗)
มาลก โรง ประรำ เช่น “มาลกดาบสเอี้ยว อัดพลิ้วแพลงกาย” (๑๐๗)
มาสา มาส พระจันทร์ เดือน เจตรมาสา หมายถึง เดือน ๕ เช่น “ฟ้า แจ่มเดือนแจ้งเจตร มาสา” (๑๑)
เมิล ดู เช่น “เมิลหมู่เรือแข่งข้าง พระฉนวน นั้นนา” (๙๒)
เมือ ไป กลับ เช่น “บางหมู่เมือมารคดั้น เถื่อนลี้หลบสกนธ์” (๑๙)

ย่อน ตัดศัพท์จาก ขย่อน คือกระชั้น เช่น “ผืนแผ่นดินแดยัน ย่อนไสร้” (๒๘)
ยอบ หมอบ ย่อลง เช่น “ไกร สาตรศัตรูเยิน ยอบเกล้า” (๘)
ยะยง ยรรยง งามสง่า เช่น “ดูยะยงยนต์ราง วิ่งม้า” (๖๐)
ยั่น ครั่นคร้าม เช่น “แม้นมฤคยั่นพยัคฆา คาบคั้น” (๑๙)
เยิน ยับเยิน พ่ายแพ้ เช่น “ไกร สาตรศัตรูเยิน ยอบเกล้า” (๘)
เยียงผา เลียงผา สัตว์เคี้ยวเอื้องรูปร่างคล้ายแพะขนสีดำ บางตัวมีสีขาวแซม ชอบอยู่ตามภูเขาหรือหน้าผาสูง เช่น “เรืออย่างเยียงผาผยอง เผ่นผ้าย” (๘๘)

รหัส ความลับ เช่น “แสวงเรื่องรหัสกล การต่อ ยุทธนา” (๒๕)
ร่อ ใกล้ เช่น “โรงเรือร่อโรงงาน ดำรวจ พระนา” (๑๑๕)
ระทา เรือนรูปสี่เหลี่ยมสูงประดับด้วยดอกไม้ไฟสำหรับจุดในงานเมรุ เช่น “เสร็จลอยประทีปเรื้อง ระทา ถวาย” (๙๑)
ระเบง ระเบ็ง การเล่นมหรสพของหลวงอย่างหนึ่ง เช่น “หมุ่งครุ่มระเบงเวียน โพยแพ่น กลองแฮ” (๕๒)
รังเรข มีลวดลาย งดงาม เช่น “หอแก้วอิศวรนารายณ์ รังเรข” (๗๙)
รังสฤษฎ์ สร้าง แต่งตั้ง เช่น “สิทธิ สมพรหเมศเรื่อง รังสฤษฎ์ พระนา” (๕)
รางชาง สวย งาม เช่น “งามพุทธศาสน์เรื้อง รางชาง” (๑๒๐)
เรข เรขา เขียน เช่น “เรขเรืองรามเอาวตาร แต่ต้น” (๔๖)
เรียด เรียงเป็นแถว เช่น “โรงร้านเรียดจีนไทย เทียรย่อม ครื้นพ่อ” (๙๖)
เรื้อง โด่งดัง กระเดื่อง เช่น “พระ ทรงอิสรภาพเรื้อง เรืองฤทธิ์” (๒)
โรงธาร ท้องพระโรง เช่น “พระไชยเทียบเทิดท้อง โรงธาร” (๗๖)

ล่วม เครื่องสำหรับใส่หมากพลูบูหรี่ ทำด้วยผ้ามีใบปก หรือทำด้วยโลหะ เช่น “เจียดมาศถาดจำหลัก ล่วมล้ำ” (๗๓)
ละคึก รีบ เร่ง เช่น “ต่างคนละคึกไห้ โหยหา” (๓๐)
เลื้อง เลื่อง เป็นที่รู้จัก เป็นที่โจษจัน เช่น “พระแสดงพระเดชเลื้อง ฦๅจบ ทวีปแฮ” (๑๑๘)
โล่ ชื่อแพรชนิดหนึ่งมีเส้นไหมโปร่ง เช่น “ร้านแพรแพรโล่แป้ง ปักเถา ก็มี” (๙๗)

วอด หมดไป สิ้นไป เช่น “สรวม ชีพชุบชีพไว้ วอดแล้วคืนคง” (๑)
วาสพ พระอินทร์ เช่น “ขอวรวาสพท้าว วชิรา วุธแฮ” (๑๒๗)
วิชยันต์ เวชยันต์ ชื่อวิมานหรือรถของพระอินทร์ เช่น “ดุจจักเย้ยวิชยันต์ เยี่ยมฟ้า” (๑๐๘)

ศรัทกาล ฤดูสารท คือระยะ ๒ เดือนภายหลังจากฤดูฝนแล้ว เช่น “ดลเดือนศรัทกาล เกษมนาฏ นิกรนา” (๘๗)
ศิขริน ยอดเขา ภูเขา เช่น “แปงป้อมคู่ศิขริน ราญศึก เห็นแฮ” (๙๕)
ศิวเวท มนตร์ของพระศิวะหรือพระอิศวร เช่น “ขอเชิญช่วยบันดาล ศิวเวท” (๑๒๔)
ศีวลึงค์ ศิวลึงค์ รูปอวัยวะเพศชายถือเป็นรูปนิมิตแทนองค์พระศิวะ หรือพระอิศวร เป็นวัตถุบูชาศักดิ์สิทธิ์ของนิกายไศวะ เช่น “เทวฐานสถานที่ชุ้ม ศีวลึงค์ ก็มี” (๙๘)

สกนธ์ ร่างกาย เช่น “บางหมู่เมือมารคดั้น เถื่อนลี้หลบสกนธ์” (๑๙)
สดูป สถูป สิ่งก่อสร้างสำหรับบรรจุของควรบูชาอย่างเช่นกระดูกของบุคคลที่ควรนับถือ เช่น “มรฑปกุฎาคาร ทวัยสดูป” (๔๖)
สทึง สรทึง ฉทึง แม่น้ำ เช่น “เสด็จกลับประทับสทึง นายก นครนา” (๓๒)
สยุมพร ในที่นี้หมายถึง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น “ศุภวารวรฤกษ์ตั้ง การสยุม พรนา” (๗๐)
สรดื้น สรดื่น มากมาย เกลื่อนกลาด เช่น “ไม้ดอกไม้ดัดสรดื้น เทียบแกล้งแกล่ถวาย” (๖๖)
สรวม ขอ เช่น “สรวม แสดงพระเกียรติก้อง โกลา หลเฮย” (๑)
สลาบ ปีกของนก ขนนก เช่น “เรือหงส์พ่างหงส์บิน แบสลาบ เล่นนา” (๙๐)
สัปดภัณฑ์ สัตบริภัณฑ์ หมู่เขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุรวม ๗ ชั้น คือ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัส เนมินธร วินตกะ และอัสกัณ เช่น “แสดงดุจสัปดภัณฑ์ยล ยืดล้อม” (๑๑๒)
สัมพัจฉร์ สัมพัจฉรณินท์ พิธีตรุษ พิธีสิ้นปี เช่น “สี่สิบกับสามปี สัมพัจฉร์ ฉินท์นา” (๒๔)
สัมฤทธิ สัมฤทธิ์ ความสำเร็จ เช่น “ศรี ศรีสัมฤทธิได้ กรุงศรี” (๑๒)
ส่าน ผ้าขนสัตว์โบราณ เช่น “ค้าเข็ดส่านเสื้อด้าย ม่านมุ้งมีเสมอ” (๙๖)
ส่ำ หมู่ เหล่า เช่น “คล่ำคล่ำส่ำอัศวดร ดูเดช” (๓๔)
สึง อยู่ ประจำ เช่น “หอพิฆเนศวรสึง ปสิทธิไว้” (๙๘)
สุรภาพ อำนาจของเทวดา เช่น “ฤทธิ ไกรเปรียบไกรสร สุรภาพ” (๖)
เสริด หลีกหนี เช่น “พระสูรย์สางเสริดม้า แมนจรัล รวดแฮ” (๑๒๘)
เสาวภาพ สุภาพ ละมุนละม่อม เช่น “โว หารแห่งอักษร เสาวภาพ” (๓)
แสนยากร กองทัพ เช่น “แซ่แซ่แสนยากร คล่าวคล้อย” (๓๔)
แสบก หนัง ในที่นี้หมายถึงหนังใหญ่ เช่น “แสบกภาพพิศพึงชม เชิดเหล้น” (๕๙)
โสรจ อาบ ชำระ มักใช้คู่กับ “สรง” เป็น “โสรจสรง” เช่น “พระฉนวนเฉนียนท่าโสรจ สรงสนาน” (๘๗)

หมุ่งครุ่ม โมงครุ่ม การเล่นมหรสพอย่างหนึ่งในงานหลวง เช่น “หมุ่งครุ่มระเบงเวียน โพยแพ่น กลองแฮ” (๕๒)
หม้า งาม เช่น “เรือกระเชียงมอญหม้า ใหม่แต้มตะเลงลาย” (๘๙)
หรทึก มโหระทึก กลองโลหะชนิดหนึ่งใช้ตีเป็นสัญญาณและประโคม เช่น “หรทึกทรไนนิน นาทก้อง” (๗๑)
หริรักษ์ พระนารายณ์ เช่น “คือองค์หริรักษ์เรื้อง รามา ธิราชเฮย” (๔๓)
หลิน แพรจีน มีหลายชนิด เช่น “แพรเลี่ยนหลินซินเจา ดื่นจ้าน” (๙๗)
หึง นาน เช่น “หึงอีกสักสามวัน เสด็จแล้ว” (๓๑)
เหมื่อย เรื่อยๆ เช่น “ช้างดั้งพู่ทวนแดง เดินเหมื่อย มาพ่อ” (๓๕)
เหย้า บ้าน เรือน เช่น “เงียบเหงาเหย้าใหญ่รั้ว เรือนขุน นางเอย” (๑๗)
เหียน หัน เช่น “เรือดุรงค์รวดคล้าย มิ่งม้าแมนเหียน” (๘๘)
แหว้น แว่น เครื่องสำหรับติดเทียนเพื่อใช้เวียนในการทำขวัญต่างๆ เป็นรูปแบน ทำด้วยเงิน ทอง หรือทองเหลือง เช่น “ชุมหมู่มนตรีห้อม ส่งแหว้นเวียนเทียน” (๔๙)
โหมด ชื่อผ้าชนิดหนึ่ง เดิมทำด้วยกระดาษทองตัดเป็นเส้นแล้วทอกับไหม ต่อมาใช้กระดาษเงินกระดาษทองพันเส้นไหมทอกับไหมสี เช่น “สินค้าย่อมแพรพราย ไหมโหมด มากแฮ” (๑๐๔)

อัมพพฤกษ์ ต้นมะม่วง เช่น “สวนซ้ายทรงปลูกต้น อัมพพฤกษ์” (๖๗)
อัมพู น้ำ เช่น “เชิงผาอัมพูดั้น เดินสูง มานา” (๖๖)
อาสน์ เครื่องปูรองนั่งสำหรับภิกษุสามเณร เช่น “โพธิ์ร่มอาสน์ทศพล อยู่เกล้า” (๑๐๖)
อำนรรม อนรรฆ มีค่าเกินกว่าจะประมาณราคาได้ เช่น “อำนรรฆอำนวยบาย บิณฑบาต แล้วเฮย” (๔๙)
อุณห์ ร้อน เช่น “อุณห์อกราษฎร์ราวกุณฑ์ บังเกิด” (๑๗)
อุยยาน อุทยาน สวนอันรื่นรมย์ เช่น “ทรงสรรค์สวนสร้อยอ่า อุยยาน” (๖๕)
อุรัคคินทร์ อุรเคนทร์ พญานาค เช่น “อรอาสน์อุรัคคินทร์ ค่ำเช้า” (๑๒๕)
เอ้กัตว เอกัตว ความเป็นหนึ่งเดียว เช่น “เพื่อพระเป็นเอกเอ้ กัตวล้ำเฉลิมกรุง” (๑๔)
เอาวตาร การแบ่งภาคลงมาเกิดในโลก แผลงมาจาก อวตาร เช่น “เรขเรื่องรามเอาวตาร แต่ต้น” (๔๖)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ