คุณค่าทางประวัติศาสตร์

วรรณกรรมประเภทยอพระเกียรติหรือสดุดีบุคคลสำคัญในอดีต นอกจากมีเนื้อหาโดยรวมเพื่อสรรเสริญบุคคลสำคัญแล้ว ย่อมจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยดังกล่าวแทรกอยู่ด้วย

วรรณกรรมยอพระเกียรติหรือสดุดีบุคคลสำคัญนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะคือ

ลักษณะแรก กวีประพันธ์ขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสำคัญที่ได้รับการสดุดียังมีชีวิตอยู่ กวีผู้ประพันธ์อาจเป็นผู้ใกล้ชิด หรือเป็นบุคคลร่วมสมัย ซึ่งได้รับรู้และบันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นไว้ด้วยตนเอง เช่น โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และเรื่องคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ของพระมหาราชครู เป็นต้น

ลักษณะที่สองกวีมิได้เป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกับผู้ที่ได้รับการสดุดีแต่กวีรวบรวมข้อมูลซึ่งอาจได้มาจาก พงศาวดาร เอกสาร ตำนานต่างๆ แล้วนำมาประพันธ์ขึ้นในภายหลัง เช่น เรื่องลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภายหลังจากสิ้นรัชกาลนั้นไปแล้วเป็นเวลานานถึง ๒๕๐ ปี รายละเอียดของเนื้อหาเป็นไปตามที่ทรงคาดคะเนมิได้ทรงประสบด้วยพระองค์เอง จึงให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่หนักแน่นเท่าลักษณะแรก

โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์มีเนื้อความหลายตอนที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่น การเกิดเหตุจลาจลในพระนคร พระราชพิธีปราบดาภิเษก การสถาปนาและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การสถาปนาและฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม การได้ช้างสำคัญมาสู่พระบารมี ฯลฯ อีกทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางเรื่องซึ่งอยู่ในรัชสมัยดังกล่าวแต่ไม่ปรากฏในพงศาวดาร คือ เรื่องการได้กวางเผือกมาสู่พระบารมี เนื้อหาตอนต้นของโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์หลังจากแถลงนามผู้ประพันธ์แล้วได้กล่าวถึงการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนบทสดุดีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมอันประเสริฐ และพระบรมเดชานุภาพอันลือเลื่องเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเนื้อความจากกระทู้นำต้นบาทโคลงบทที่ ๑๒ - ๑๓ แล้วอ่านเรียงกันไปคือ “ศรี สิทธิ ฤทธิ ไชย ไกร กรุง ฟุ้ง ฟ้า” จะพบว่ามีความใกล้เคียงกับร่ายในวรรณคดีเอกสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่องลิลิตพระลอ ความตอนหนึ่งว่า “ศรีสิทธิฤทธิชัย ไกรกรุงอดุงเดชฟุ้งฟ้า หล้าระรัวกลัวมหิมา ระอาอานุภาพ...”

ศรี ศรีสัมฤทธิได้ กรุงศรี
สิทธิ เดชนฤบดีดี กว่ากี้
ฤทธิ หาญหักไพรี เร็วรวด
ไชย ชำนะนอกนี้ นับร้อยเรืองไชย ฯ
ไกร เทพเทียบที่สร้าง พระมณ เฑียรฤๅ
กรุง ยิ่งกรุงเก่ายล หยาดฟ้า
ฟุ้ง เฟื่องวาณิชชน ชมชอบ ใจนา
ฟ้า กระจ่างแจ่มหล้า แหล่งหล้าเย็นเกษม ฯ

สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มมีกระทู้นำต้นบาทของโคลงบทที่ ๑๒ – ๑๓ เหมือนกับฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่เนื้อความในโคลงต่างกันดังนี้

ศรี สิทธิวิวิทธเรื้อง ธาตรี
สิทธิ ศักเพียงสุนี ผ่าด้าว
ฤทธิ เดชชะเยศมี ยศยิ่ง
ไช ชำนะทุกท้าว อยู่เงื้อมบทมาลย ฯ
ไกร ดุจอิศเรศท้าว เสดจ์ครอง
กรุง ราบคือหน้ากลอง เที่ยงแท้
ฟุ้ง เดชดั่งเทพผยอง มาเพิ่ม ผลนา
ฟ้า ดำรงเลิศแล้ แหล่งหล้าเย็นเกษม ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๗๙)

ศรี สิทธิวิวิทธเรื้อง ธาตรี
สิทธิ ศักดิด่งงอสุณี ผ่าด้าว
ฤทธิ เดชะเยศมี ยศยิ่ง
ไชย ชำนะทุกท้าว อยู่เงื้อมบทมาลย์ ฯ
ไกร ดุจอิศวรเรศท้าว เสด็จครอง
กรุง ราบคือหน้ากลอง เที่ยงแท้
ฟุ้ง เดชด่งงเทพผยอง มาเพิ่ม ผลนา
ฟ้า ดำรงเลิศแล้ แหล่งหล้าเย็นเกษม ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๘๐)

โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้อ้างถึงพระบารมีของพระองค์ที่ทรงสั่งสมมา จนถึงจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วจึงกล่าวถึงเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นกับฝ่ายพุทธจักร เมื่อปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ว่า

ฝ่ายธนนคเรศร้อน รนทรวง
ปวงราษฎร์หญิงชายปวง คร่ำไห้
สมณะเดือดแดดวง จิตขุ่น
ศิกษ์เสื่อมเสียแหล่งไหล้ หลีกเร้นแรมพง ฯ

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุถึงเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อความในโคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ไว้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าบรรลุพระโสดาปัตติผล ทรงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์สามัญชนจะถวายบังคมคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลได้หรือไม่ ในครั้งนั้นพระสงฆ์แตกแยกออกเป็นสองฝ่ายมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์วัดบางว้าน้อย พระพิมลธรรมวัดโพธาราม รวมทั้งพระสงฆ์ซึ่งถือตามหลักพุทธวจนะจำนวนห้าร้อยรูปล้วนถูกนำไปลงทัณฑ์ที่วัดหงส์ และให้ปลดสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางว้าใหญ่ แล้วตั้งพระโพธิวงศ์ (ชื่น) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

“...สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระโกรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเป็นอันมาก ว่าไม่ควรแต่สามพระองค์เท่านี้ จึงดำรัสให้พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งถานาบาเรียนอันดับซึ่งเป็นอันเตวาสิก สัทธิงวิหาริก พระราชาคณะ ทั้งสามพระองค์นั้น ไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น และตัวพระราชาคณะให้ตีหลังองค์ละร้อยที พระถานาบาเรียนให้ตีหลังองค์ละห้าสิบที แต่พระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ในศีลสัตย์ว่าไหว้ไม่ได้นั้น ทั้งสามอารามเป็นพระสงฆ์ถึงห้าร้อยรูปต้องโทษถูกตีทั้งสิ้น และพวกพระสงฆ์ทุศีลอาสัตย์อาธรรมว่าไหว้ได้มีมากกว่ามากทุก ๆ อารามแต่พระราชาคณะทั้งสามพระองค์และพระสงฆ์อันเตวาสิกซึ่งเป็นโทษทั้งห้าร้อยนั้นให้ไปขนอาจมชำระเว็จกุฎีวัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วให้ถอดพระราชาคณะทั้งสามนั้นจากสมณฐานันดรศักดิ์ลงเป็นอนุจร จึงตั้งพระโพธิวงศ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัตน ครั้งนั้นมหาภัยพิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาชนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนา มีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมาก ที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี และเสียงร้องไห้ระงมไปทั่วทั้งเมือง...”

การจลาจลในพระนคร

นอกจากเกิดปัญหาในฝ่ายพุทธจักรแล้ว ด้านการบ้านเมืองก็ผันแปรไม่มีความสงบสุขเกิดเหตุจลาจลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นายบุนนากและขุนสุระจึงสมคบกันซ่องสุมกำลังคนเข้าปล้นจวนและฆ่าพระพิชิตณรงค์ผู้รักษาการกรุงเก่า ส่วนกรมการซึ่งหนีรอดไปนั้นได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้พระยาสรรค์บุรีขึ้นไปปราบกบฏนายบุนนากและขุนสุระที่กรุงเก่า แต่เรื่องราวกลับตรงกันข้าม เมื่อพระยาสรรค์บุรีไปเข้ากับพวกนายบุนนากขุนสุระ แล้วยกกองทัพมาล้อมพระราชวังไว้ ทั้งสองฝ่ายยิงปืนตอบโต้กันตลอดคืน รุ่งเช้าพระเจ้ากรุงธนบุรีนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช พระวันรัตนและพระรัตนมุนีออกไปเจรจาความกับพระยาสรรค์บุรีว่าทรงยอมแพ้และออกผนวช ณ วัดแจ้งภายในพระราชวังกรุงธนบุรี พระยาสรรค์บุรีจึงนำกำลังพลล้อมพระอุโบสถไว้แล้วเข้ายึดพระนคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงได้รับรายงานจากพระยาสุริยอภัยพระราชนัดดาว่ามีเหตุจลาจลในพระนคร จึงทรงมอบหมายให้พระยาสุริยอภัยยกกองทัพไปยังกรุงธนบุรีเพื่อระงับเหตุแล้วจะทรงยกทัพใหญ่ไปสมทบภายหลัง

โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ กล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลูตรีศก จ.ศ.๑๑๔๓ ไว้ว่า

เสารวารสิบเอ็ดขึ้น ฉลูตรี
ศักราชพันร้อยมี เศษไซร้
สี่สิบกับสามปี สัมพัจฉร์ ฉินท์นา
ดาลยุคขุกเข็ญให้ ราษฎร์ร้อนขวัญหาย ฯ

พระราชพงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระยาสรรค์บุรีเข้ายึดพระนครว่าดังนี้

“...ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู ตรีศก กองทัพพระยาสรรค์ก็ยกลงมาถึงพระนครครั้นค่ำเวลาสิบทุ่ม จึงให้พลทหารโห่ร้องยกเข้าล้อมกำแพงพระราชวังไว้รอบ ตัวพระยาสรรค์เข้าตั้งกองอยู่ริมคุกฟากเหนือคลองนครบาลที่บ้านพวกกรมเมือง ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินทราบว่าข้าศึกยกมาล้อมพระราชวัง และพระยาสรรค์ซึ่งใช้ไปจับพวกกบภฏนั้นกลับเป็นนายทัพลงมา จึงสิ่งข้าราชการนอนเวรประจำของอยู่นั้น ให้เกณฑ์กันขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินรอบพระราชวังได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายต่อรบกันอยู่จนรุ่ง...”

เมื่อพระยาสรรค์บุรีเข้ายึดพระนครไว้ได้แล้ว รู้ข่าวว่าพระยาสุริยอภัยยกทัพมาจึงเชิญปรึกษาข้อราชการว่าจะให้สึกพระเจ้ากรุงธนบุรีพันธนาการไว้แล้วถวายบ้านเมืองให้แก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่ภายหลังพระยาสรรค์บุรีคิดยึดอำนาจสมคบกับเจ้าพระยามหาเสนาและพระยารามัญวงศ์จักรีมอญ ปลดกรมขุนอนุรักษ์สงครามหลานเธอออกจากเวรจำ แต่งตั้งให้เป็นนายทัพนำกำลังพลเข้าล้อมบ้านพระยาสุริยอภัยไว้ ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันจนรุ่งเช้าพระยาสุริยอภัยจึงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

เสียงปืนสองฝ่ายโต้ ตอบกัน
ผืนแผ่นดินแดยัน ย่อนไสร้
บ่นานพวกพาลหัน เหพ่าย พังแฮ
สมเด็จภาคีไนยได้ เขตรแคว้นเมืองขวัญ ฯ

โคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ ยังได้กล่าวถึงเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งขณะนั้นคือหลวงสรวิชิต มีตำแหน่งเป็นนายด่านเมืองอุทัยธานี เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีให้คนนำหนังสือลับไปถวายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกถึงด่านพระจารึก แล้วได้ไปรับเสด็จที่ทุ่งแสนแสบ ความว่า

หลวงสรวิชิตเชื้อ ชาญสนาม
คุมไพร่พรานปืนสาม สิบถ้วน
เติมตั้งปีกกาตาม เทินแทบ สถลนา
รายรับรามลักษณ์ล้วน ทแกล้วทวยหาญ ฯ

ส่วนสมุดไทยทั้ง ๒ เล่ม ได้กล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลในพระนครครั้งนั้นไว้ใกล้เคียงกับเนื้อความในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สมณาพราหมพฤฒิท้งง ราษฎร
ชนบทอกอาธร ใช่น้อย
เขดขันธเกิดรานรอน ทุกทั่ว กันนา
นองชุ่มฟูมฟายย้อย หยาดน้ำตาตรอม ฯ
ใครแขงคบพวกพ้อง พากัน
ชิงฉกเอาทรัพยสรรพ์ ซึ่งหน้า
ฤๅเกรงกริ่งไภยันต์ รายร่าง
เสียงคร่ำกำศดว้า เทวศร้อนอาดูล ฯ
อุปมาคือว่ายท้อง ชเลฦก
แลห่อนเหนทิวพฤกษ ลิ่วล้ำ
ฤๅมีหลักแก้วผลึก จักหยั่ง หยุดเลย
เหนแต่ฟ้ากับน้ำ ดักดิ้นกลางวล ฯ
เสียงปืนยิงยุ่งท้งง ธรณี
ทุกทิวาราตรี ห่อนเว้น
ใจเมืองหวาดหวั่นทวี สยองย่อ
ทรวงททึกคึกเต้น ตื่นคร้ามไภยพาล ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๘๐)

ข้อความในสมุดไทยเลขที่ ๑๘๐ ที่ยกมานี้ไม่ปรากฏในฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๔๗๐ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงดำเนินทัพมายังกรุงธนบุรีว่า

“...ในเพลาวันนั้นบังเกิดศุภนิมิตเป็นมหัศจรรย์ปรากฏแก่ตาโลก เพื่อพระราชกฤษฎาเดชานุภาพพระบารมีจะถึงมหาเศวตราชาฉัตร บันดาลให้พระรัศมีโชติช่วงแผ่ออกจากพระกายโดยรอบเห็นประจักษ์ทั่วทั้งกองทัพ บรรดารี้พลนายไพร่ทั้งปวงผู้ใหญ่ ผู้น้อยชวนกันยกมือขึ้น ถวายบังคมพร้อมกัน แล้วเจรจากันว่า เจ้านายเราคงมีบุญเป็นแท้ กลับเข้าไปครั้งนี้คงจะได้ผ่านพิภพเป็นมั่นคง เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ทรงช้างแล้วยกช้างม้า รี้พลคนประมาณห้าพันเศษ ดำเนินทัพมาทางด่านพระจารึกมาถึงเมืองปราจีน แล้วข้ามแม่น้ำเมืองปราจีน เมืองนครนายก ตัดทางมาลงท้องทุ่งแสนแสบ

ขณะนั้นชาวพระนครรู้ข่าวว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับมาก็ชวนกันมีความยินดีถ้วนทุกคน ยกมือขึ้นถวายบังคมแล้วกล่าวว่า ครั้งนี้การยุคเข็ญจะสงบ แล้วแผ่นดินจะราบคาบ บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป จึงหลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุทัยธานีลงมาอยู่ ณ กรุง ก็ขึ้นม้าออกไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบนำทัพเข้ามายังนคร...”

เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จถึงฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีแล้วได้ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ซึ่งเจ้าพระยาสุริยอภัยจัดเตรียมไว้ มีข้าราชการมาเฝ้าคอยรับเสด็จเป็นอันมาก จากนั้นเสด็จประทับเรือพระที่นั่งไปยังพระราชวังกรุงธนบุรีประทับบนศาลาลูกขุนมหาดไทยชำระโทษผู้กระทำผิด

พระราชพิธีปราบดาภิเษก

เมื่ออาณาประชาราษฎร์พร้อมใจกันอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์แล้ว โปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ความในโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ ว่า

สมณพราหมณ์พฤฒิพร้อม มนตรี
อาราธน์ไทธิบดี ผ่านหล้า
ปราบดาภิเษกศรี สมบัติ เสวยเฮย
เป็นปิ่นปักไพร่ฟ้า ร่มกั้งเกศสกล ฯ
ศุภวารวรฤกษ์ตั้ง การสยุม พรนา
อภิเษกสงฆ์ชุมนุม สวดพร้อม
ชีชาติทิชงค์ประชุม โอมอ่าน เวทแฮ
เครื่องกกุธภัณฑ์น้อม นอบเข้าทูลถวาย ฯ
สังข์เสียงอุโฆษครื้น เครงพิณ
หรทึกทรไนนิน นาทก้อง
บัณเฑาะว์ประดังอินท เภริศ ระดมนา
เซ็งแซ่สารพาทย์ฆ้อง ปี่แก้วปโคมถวาย ฯ

ในการพระราชพิธีปราบดาภิเษกนี้ สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มได้กล่าวถึงพระราชพิธีสรงน้ำหรือกระยาสนาน ซึ่งในโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ มิได้ระบุไว้ดังนี้

ศุภวารไชยฤกษพร้อม เพลา
สงฆสวดพุทธมนปรา กฎล้ำ
ทิชงคนบถวายอา เศิยรพาด
เสดจ์พิเศกสรงน้ำ เครื่องต้นพิทธีสนาน ฯ

(สมุดไทย เลขที่ ๑๗๙)

พระราชพิธีสรงน้ำหรือกระยาสนานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีปราบดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า

“...ถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ปฐมาสาธ ขึ้นค่ำ ๑ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป นิมนต์พระราชาคณะสวดพระพุทธมนต์แล้วรุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสี่บาท ได้มหาอุดมวิชัยมงคลนักขัตฤกษ์ พระสุริยเทพบุตรทรงกลดจำรัส ดวงปราศจากเมฆผ่องพื้นนภากาศ พระบาทสมเด็จบรมนาถ บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาดประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง แห่โดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ ก็เสด็จข้ามมหาคงคามา ณ ฝั่งฟากตะวันออก เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ทรงพระเสลี่ยงตำรวจแห่หน้าหลัง เสด็จขึ้นยังพระราชมนเทียรสถาน ทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเถลิงสถิตเบื้องบนมงคลราชมัญจาพระกระยาสนาน พระสงฆ์ถวายพระปริโตทกธาร เบญจสุทธคงคามุทธาภิสิตวารี ชีพ่อพราหมณ์ถวายตรีสังข์ หลั่งมงคลธารา อวยอาเศียรพาทพิษณุอิศวรเวท ถวายชัยวัฒนาการ พระโหราลั่นฆ้องชัยให้ประโคมขานเบญจางคดุริยดนตรีแตรสังข์ประนังศัพท์สำเนียงนฤนาท พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสถิตเหนือภัทรบิฐอันกั้งบวรเศวตราชาฉัตร พระครูราชปโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอสุริยราชสมบัติ และเครื่องเบญจพิธราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธอัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษก เสวยสวรรยาธิปัติถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืบไป...”

เสร็จพระราชพิธีปราบดาภิเษกแล้ว มีพระบรมราชโองการปูนบำเหน็จให้แก่เหล่าข้าราชการผู้มีความจงรักภักดี ตามควรแก่บรรดาศักดิ์และความดีความชอบของแต่ละบุคคล

เสร็จงานอภิเษกซั้น ทรงปรา รภแฮ
ชี้ชอบชนบรรดา ทแกล้ว
บำเหน็จบำนาญนา นาเนก
สบสิ่งเสื้อแพรแพร้ว เพริศผ้าปูมตรวย ฯ
ประทานทั่วมาตย์ผู้ ใจภักดิ์
เจียดมาศถาดจำหลัก ล่วมล้ำ
ปูนโดยอุดมศักดิ์ พระยาพระ หลวงนา
กฤชกระบี่ดาบด้ำ ฝักหุ้มทองประสาน ฯ

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุถึงเรื่องการพระราชทานสิ่งของให้แก่ข้าราชการผู้มีความชอบไว้ว่า “..เจ้าตันราชนัดดาซึ่งเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยนั้น โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และเจ้าลาซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดานั้น โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และนายกวดมหาดเล็ก ซึ่งเป็นสามีเจ้ากุอันเป็นพระกนิษฐภคินีต่างพระมารดานั้น โปรดตั้งเป็นพระองค์เจ้ากรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ อนึ่ง พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่พระชนม์ได้สิบหกพระพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้เสด็จอยู่ ณ บ้านหลวงที่วังเดิม พระราชทานเครื่องราชูปโภค มีพานพระศรีทองเป็นต้น โดยควรแก่ยศถาบรรดาศักดิ์ทุก ๆ พระองค์...”

การสถาปนาและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีตามคำกราบบังคมทูลเชิญของอาณาประชาราษฎร์แล้ว ได้ทรงสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนโปรดฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทและสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นภายในบริเวณพระราชวังสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ว่า มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์บริเวณรอบระเบียงวิหารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพระแก้วมรกต

พระระเบียงระเบียบห้อม ไพหาร
เรขเรื่องรามเอาวตาร แต่ต้น
มรฑปกุฎาคาร ทวัยสดูป
หอแห่งพระนาคพ้น แพ่งสร้างสบสรรพ์ ฯ

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังโปรดฯให้สร้างหอพระไตรปิฎกพระราชทานนามว่า “หอมณเฑียรธรรม” เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระธรรมของภิกษุสามเณรด้วย

มณเฑียรธรรมที่ร้อย ปิฎกกรอง ไว้นา
เทียรย่อมแปลสารสนอง นอบเต้า
คือโกศกรณฑ์รอง ธรรมศาสน์
เป็นที่บัณฑิตเจ้า ปราชญ์ครื้นครมเรียน ฯ

หอมณเฑียรธรรมนี้สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มระบุว่าเป็นหอพระไตรปิฎกซึ่งสร้างอยู่กลางสระน้ำ ซึ่งความตอนนี้ไม่ปรากฏในฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๔๗๐ คือ

อุตรามีสระสร้อย เสาวคันธ
หอพระไตรวิฎกสรรค เศกส้าง
อาจารยวิสัชนาธรรม์ ปรดิภาค
บันทิตสงฆเรียนข้าง ฝ่ายเบื้องคันธทูร ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๘๐)

เรื่องการสร้างหอมณเฑียรธรรมกลางน้ำในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี้ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวไว้ว่า

“...พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาให้ฐาปนาพระอารามขึ้นภายในพระราชวังพร้อมทั้งอุโบสถ พระเจดีย์วิหารและศาลารายเป็นหลายหลัง แล้วให้ขุดสระน้ำทำหอไตรลงในสระ ใส่ตู้พระไตรปิฎก แล้วโปรดให้พระอาลักษณ์แก้วเป็นพระยาธรรมปโรหิตจางวางราชบัณฑิต ตั้งพระอาลักษณ์ขึ้นใหม่ แล้วให้หลวงอนุชิตพิทักษ์เป็นพระยาพจนาพิมลช่วยราชการในกรมราชบัณฑิต แล้วให้ราชบัณฑิตทั้งปวงบรรดาที่เป็นอาจารย์นั้น บอกพระไตรปิฎกพระสงฆ์สามเณรเป็นอันมากบนหอไตรๆ นั้นให้นามว่าหอพระมนเทียรธรรม...”

เมื่อสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ และนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

เสร็จสร้างสมโภชไท้ ทานถวาย พระนา
สงฆ์สวดพุทธมนต์ราย รอบล้อม
อำนรรฆอำนวยบาย บิณฑบาต แล้วเฮย
ชุมหมู่มนตรีห้อม ส่งแหว้นเวียนเทียน ฯ

พิธีฉลองสมโภชการสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดารามจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่มีมหรสพและการละเล่นประเภทต่างๆ เช่น ละครใน หุ่นไทย หุ่นจีน หม่งครุ่ม ระเบ็ง ลอดบ่วง หกคะเมน ละครชาตรี โขน ฯลฯ

มโหรสพทุกสิ่งเหล้น ฉลองพุทธ พิมพ์พ่อ
เล็งละครอนิรุท รุ่นร้อย
พิลาสพิไลสุด จักร่ำ รำนา
แต่งแง่งามอ่อนช้อย เฉิดชี้โฉมสวรรค์ ฯ
หุ่นไทยประชันหุ่นงิ้ว จีนเขียน หน้านา
ญวนหกหัดโจนเจียน เหาะได้
หมุ่งครุ่มระเบงเวียน โพยแพ่น กลองแฮ
ลอดบ่วงหกคะเมนไม้ ลวดเลี้ยวหลีกกัน ฯ
ชาตรีตีกรับครื้น เครงโทน
กลองเร่งซัดตัวโยน แยบฟ้อน
โรงโขนมี่หมู่โขน ขานพากย์ อยู่พ่อ
เหินเห็จหนุมานช้อน แท่นท้าวชมพู ฯ

ในงานสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามนอกจากมีมหรสพและการละเล่นประเภทต่างๆ แล้ว ยังมี “การทิ้งกัลปพฤกษ์หรือการทิ้งทาน” ซึ่งโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ระบุว่า ประชาชนผู้คอยรับทานแบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิงไม่ปะปนกัน

เพลากัลปพฤกษ์ทิ้ง ทานปราย
หญิงแต่ฝูงหญิงชาย ห่อนใกล้
ดำรวจรักษ์คอยราย ระวังแปลก ปลอมแฮ
ชายแต่พวกชายให้ ช่วงก้มชิงกัน ฯ

การสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามในครั้งนั้นได้จัดขึ้นพร้อมกับงานฉลองสมโภชพระนคร มีการนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์รอบพระนคร แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์รอบกำแพงเมืองทิ้งทานต้นละชั่งเป็นเวลาสามวัน ความในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า

“...แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษตามวงกำแพงพระนครทิ้งทานต้นละชั่งทั้งสามวัน สิ้นพระราชทรัพยเปนอันมาก ให้มีงานมโหรศพต่างๆ แลมีลครผู้หญิงโรงใหญ่ เงินโรงวันละสิบชั่ง เปนการสมโภชวัดพระศรีรัตนสาศดารามด้วยครบสามวันเปนกำหนด...”

การได้ช้างสำคัญมาสู่พระบารมี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นได้ช้างสำคัญมาสู่พระบารมีหลายเชือกด้วยกัน เช่น พระบรมไกรสร บวรสุประดิษฐ์ อัฐทิศพงศ์ มงคลาดิเรก เอกมหันต์อนันตคุณ สมบุรณเลิศฟ้า, พระบรมไกรสร บวรบุษปทันต์ สุวรรณลักขณา มหาศุภมงคล วิมลเลิศฟ้า, พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ ผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า เป็นต้น โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้กล่าวถึงช้างสำคัญไว้บางเชือกดังนี้

๑. พระบรมไกรสร ฯ

ช้างพลายสีประหลาดซึ่งพระยานครราชสีมานำมาถวาย เมื่อปีมะโรง ฉศก จ.ศ.๑๑๔๖ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๒๗) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้สมโภชแล้วพระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น “พระบรมไกรสร บวรสุประดิษฐ์ อัฐทิศพงศ์ มงคลาดิเรก เอกมหันต์อนันตคุณ สมบุรณเลิศฟ้า”

โคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงช้างพระบรมไกรสรฯ ว่ามีสีผิวคล้ายสีผลหว้า

สุประดิษฐ์ดูพิศเพี้ยง ผลชม พูพ่อ
มาจวบสมสู่สม โพธิไท้

ตำรานารายน์ประทมสินธุ์ว่าด้วยลักษณช้างกล่าวถึงช้าง “สุประดิษฐ์” ว่าเป็นช้างอัฐทิศ ซึ่งพระพรหมสร้างขึ้นจากกลีบดอกประทุมชาติ

“...กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอิสาณ บังเกิดเปนช้างสุปรดิษฐ์ มีลักษณ ๙ ประการ สีเนื้อดังสีเมฆเมื่อสนธยา ผนฏท้องดังผนฏท้องงู งาซื่อสีขาวบริสุทธิ์ ดังผ้าขาว ที่เนื้ออ่อนดังบัวสีแดง ขนปากยาว อัณฑโกษอ่อน เต้ามันอ่อน ร้องเสียงดังเสียงฟ้า พร้อมด้วยลักษณ ๙ ประการ...”

๒. พระบรมนักขมณี ฯ

ช้างเล็บครบได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อปีฉลู สัปตศก จ.ศ.๑๑๖๗ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๔๘) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้พระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น “พระบรมนักขมณี ศรีรัตนคเชนทร บวรวิศนุพงศ์ วงศคชพรรค์ อนันตคุณ สมบุรณเลิศฟ้า”

ตามตำรานารายน์ประทมสินธุ์ว่าด้วยลักษณช้างกล่าวถึง “ช้างเล็บครบ” ไว้ว่าเป็นช้างอัฐคชซึ่งพระนารายณ์ทรงสร้างขึ้นจากเกสรดอกประทุมชาติ

“...จะกล่าวอัฐคช ๕ ช้าง ซึ่งพระนารายน์เปนเจ้าให้บังเกิดเปนช้างด้วยเกสร ช้างหนึ่งชื่อว่าครบกระจอก มีเล็บเท้าละ ๕ เล็บ...”

ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงลักษณะของช้างพระบรมนักขมณี ฯ ว่ามีเล็บครบยี่สิบเล็บ

บรมนักขมโณดม อดูลเดช
เล็บครบยี่สิบได้ ชื่ออ้างอิศรพงษ์ ฯ

๓. พระอินทร์ไอยรา ฯ

ช้างพังซึ่งลาวเมืองภูเขียวคล้องได้เมื่อปีเถาะ สัปตศก จ.ศ.๑๑๕๗ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๓๘) ผิวมีสีนวลคล้ายสีใบตองแห้ง ตา เล็บ ขนตัว และขนหางเป็นสีขาว โคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงช้างพังเชือกนี้ว่า

พระอินท์ไอยเรศช้าง เฉลิมขวัญ เมืองนา
ใช่เหตุหากบังพรรณ แม่ไว้
จอมภพผ่านไอศวรรย์ เสวยราชย์ รมย์แฮ
พระคชแสดงสีใกล้ เผือกแผ้วผิวสกนธ์ ฯ

พระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่า พระยานครราชสีมาได้แจ้งข่าวว่า แต่เดิมช้างนี้ถูกตัดหางออกเสียเพราะเจ้าของช้างเกรงว่าจะตกไปเป็นของหลวง เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดำรัสให้ส่งมาให้ทอดพระเนตร แล้วโปรดฯ ให้นำหางโคมาผูกต่อเข้าไว้เป็นช้างโคบุตร พระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น “พระอินทร์ไอยรา คชาชาติฉัททันต์ ผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า”

“...ครั้น ณ วันอาทิตย เดือนสี่ ขึ้นเก้าค่ำ ช้างลงมาถึงกรุงได้ทอดพระเนตรแล้วดำรัศว่า เปนเผือกตรี เสียดายแต่หางด้วนเสีย ทรงพระพิโรธเจ้าของช้างนั้นมาก มิได้พระราชทานสิ่งใด หางนั้นให้เอาหางโคผูกเข้าต่อเปนช้างโคบุตร เข้าโรงสวดมนต์ทำขวันสมโภช แล้วประทานชื่อขึ้นรวางเปนพระอินทรไอยรา คชาชาติฉัตรทันต์ พิศผิวพรรณเผือกตรี ศรียอดตองตากแห้ง วิศณุแกล้งรังรักษ มงคลลักษณเลิศฟ้า...”

เกี่ยวกับเรื่องที่โปรดฯ ให้นำหางโคมาผูกเข้ากับหางช้างพังที่ถูกตัดขาดเพื่อให้เป็นช้างโคบุตรนี้ ตำรานารายน์ประทมสินธุ์ว่าด้วยลักษณช้างกล่าวถึง “ช้างโคบุตร” ว่า

“...ช้างหนึ่งชื่อโคบุตร มีพรรณผิวเหลืองดังหนังโค เปนบุตรนางโค เสียงดุจเสียงโค ขนหางขึ้นรอบดุจหางโค งางอนน้อย คุ้มโทษอันตรายทั้งปวงได้...”

การได้กวางเผือกมาสู่พระบารมี

นอกจากได้ช้างสำคัญมาสู่พระบารมีแล้ว โคลงสรรเสริญพระเกียรติ ฯ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ซึ่งมิได้ระบุไว้ในพงศาวดารคือ เรื่องที่พรานป่าดักกวางเผือกได้แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในพระราชวัง ความว่า

บารมีมานมิ่งเนื้อ โบดก
ศรีเศวตวันจรก ดักได้
นำถวายแต่จอมดิลก โลเกศ วร-นา
ไท้ธบำนาญให้ ทรัพย์เสื้อเงินงาม ฯ
โปรดไว้ในนิเวศเลี้ยง รักษา
รังสฤษฎ์สมญาพญา เผือกเนื้อ
ใครเห็นหากหรรษา ภิรมย์รัก มฤคแฮ
บ้างก็ชมว่าเชื้อ ชาติพ้องพุทธางกูร ฯ

ส่วนสมุดไทยทั้ง ๒ เล่มกล่าวถึงเฉพาะการได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีทั้ง ๒ เชือกคือ “พระบรมไกรสร ฯ และพระบรมนักขมณี ฯ” แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องกวางเผือก

การสถาปนาและฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เมื่อ จ.ศ.๑๑๕๑ ปีระกา เอกศก (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๓๒) อันเป็นปีที่ ๘ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ “วัดโพธาราม” ซึ่งชำรุดปรักหักพังให้มีสภาพงดงามกว่าเดิม ดำรัสให้ซื้อมูลดินถมบริเวณพื้นที่ลุ่มดอนจนราบเสมอดีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถมีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุล้อมรอบ ส่วนพื้นในกำแพงแก้วและระหว่างพระระเบียงชั้นในก่ออิฐ ๕ ชั้น แล้วทำพระระเบียงล้อมสองชั้น มุมพระระเบียงทำเป็นจัตุรมุขทุกชั้นมีพระวิหารสี่ทิศ หลังคาพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้นให้มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองและสีเขียว อีกทั้งโปรดฯ ให้จารึกแผ่นศิลาตำรายา และสร้างรูปฤาษีดัดตนไว้เป็นทานด้วย ทำให้ทราบว่ารูปฤๅษีดัดตนนอกจากสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยังมีบางส่วนที่สร้างไว้แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ดังความในโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ ว่า

วัดโพธิ์พันธุโพธิครั้ง พระผจญ มารพ่อ
โพธิ์ร่มอาสน์ทศพล อยู่เกล้า
ทรงพระศรัทธานนท์ หนุนพุทธ ศาสน์นา
จับการก่ออิฐเร้า เร่งล้ำเร็วเหลือ ฯ
วิหารสี่ทิศทั้ง อุโบสถ
พระระเบียงหลั่นลด ย่อเลี้ยว
พิหารหากเห็นคด คือฉาก ช่างแฮ
มาลกดาบสเอี้ยว อัดพลิ้วแพลงกาย ฯ

สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มระบุว่าเมื่อปฏิสังขรณ์วัดโพธารามแล้ว โปรดฯ ให้มีพิธีฉลองสมโภชนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พร้อมทั้งตั้งโรงทานเพื่อแจกจ่ายทั้งพระราชทรัพย์และโภชนาหาร แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างรูปฤๅษีดัดตน

อยุทธยาผาศุกขแผ้ว ไพบูลย์
เพราะพระนเรนศูร หน่อเนื้อ
เสด็จจากพิมารมูร ธาเทพ
มาบำเพญโพธิเกื้อ ก่อส้างแสวงผล ฯ
เบญจะศิลทรงนิตยน้อม นำกุศล
อุโบสถอัษฎางคยล ยิ่งแท้
อวยทานหว่านหวังผล ภูมเพิ่ม
แจกจ่ายทรัพย์เหลือแล้ เลิศเบื้องบำเพญ ฯ
พระวะษาไตรมาศเชื้อ เชิญสงฆ์
แสดงพระธรรมพุทธองค์ กล่าวไว้
นิจภัตอัตราทรง บิณฑิบาตร
ชายก่อเจดียให้ เพิ่มเบื้องบุญฉลอง ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๘๐)

พระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุถึงการปฏิสังขรณ์วัดโพธารามว่าใช้เวลาทั้งสิ้น ๗ ปีเศษจึงแล้วเสร็จ โปรดฯ ให้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

“...แล้วหลั่งน้ำอุทิศโสทกลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปฏิมากร ถวายพระอารามตามบาลีแก่พระสงฆ์มีองค์พระพุทธปฏิมากรเป็นประธาน และพระราชทานนามพระอารามว่า วัดพระเชตุพนวิมลฆมังคลาราม...”

นอกจากนี้ โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ยังกล่าวถึงรูปเคารพต่างๆ ที่ประดิษฐานอยู่ในเทวสถานสำหรับพระนครและศาลหลักเมืองสมัยนั้นว่า

เทวฐานสถานที่ซุ้ม ศีวลึงค์ ก็มี
หอพิฆเนศวรสึง ปสิทธิไว้
ปราการประกิตขึง ขัณฑ์ขอบ รอบแฮ
สดมภ์ชิงช้าให้ ทวิชตั้งแขวนขดาน ฯ
ศาลหลักนคเรศเสื้อ เมืองศาล
สรพราศพร้อมพระกาล กาจแกล้ว
ทรงเมืองธสิงสถาน สถิตเทียบ กันนา
เพรียงไพร่ไข้ทุกข์แผ้ว พาทย์ฟ้อนบวงสรวง ฯ

งานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามคราวนั้นสิ้นพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากตามความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวไว้ว่า

“...คิดทั้งเงินราคาผ้าทรงพระ ค่าดอกไม้สดบูชาเลี้ยงพระสงฆ์ กระจาด และโรงฉ้อทาน เครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จพระราชทานการมหกรรมสมโภช และถวายระย้าแก้ว โคมแก้วบูชา ไว้ในพระอาราม เป็นเงินตราในการฉลองเงิน ๑,๙๓๐ ชั่ง ๔ ตำลึง คิดรวมกันทั้งสร้างเป็นพระราชทรัพย์เงิน ๕,๘๑๑ ชั่ง...”

เมื่อกล่าวถึงงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแล้ว เนื้อหาตอนท้ายของโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงความสงบสุขภายในบ้านเมือง ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาตลอดยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จากนั้นเป็นบทบูชาพระรัตนตรัยและพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ เพื่อขอพรให้บังเกิดแด่พระองค์ท่าน และคำกล่าวอธิษฐานของผู้ประพันธ์เพื่อให้โคลงเรื่องนี้คงอยู่ไม่เสื่อมสูญ

สุริยสูญโสมส่องม้วย เมืองสวรรค์ ก็ดี
เมรุมอดสัปดบริภัณฑ์ ทั่วทั้ง
สูญสิ้นแผ่นดินอรร ณพนาศ นาพ่อ
กลอนกล่าวโคลงนี้ตั้ง อยู่ไสร้อย่าสูญ ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ