คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภาได้ทรงพิมพ์หนังสือยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินเปนของประทานตอบแทนแก่ผู้ไปถวายรดน้ำสงกรานต์มาหลายปีแล้ว ในคราวนี้ (พ.ศ.๒๕๒๐) ทรงพิมพ์โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนหนังสือรุ่นเก่าที่แต่งกันในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หนังสือยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินนั้น จะเปนผู้ใดแต่งก็ตาม ย่อมเปนประโยชน์แก่พงศาวดารมากบ้างน้อยบ้าง ตามภูมิรู้แลตามความเห็นของผู้แต่ง ถ้าเปนหนังสือที่แต่งในรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ความรู้อันผู้แต่งรู้เห็นด้วยตัวเองก็คงจะแซกแซงเข้าไปในหนังสือมากกว่าคำยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งแต่งภายหลัง เปนต้นว่าเตลงพ่าย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงแต่งยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรกว่า ๒๕๐ ปี จากวันที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตนั้น ย่อมจะเปนการสรรเสริญโดยคาดคเนตามแบบฉบับอันเปนวิธียกยอพระเจ้าแผ่นดิน หาใช่จับเอาข้อความที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงทราบโดยพระองค์เองมากล่าว อย่างที่ทรงแต่งยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่

ส่วนโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นี้ ได้ชื่อผู้แต่งว่า “ชำนิโวหาร” ชำนิโวหารนั้นเปนราชทินนาม จดกันไว้ว่านายชำนิโวหารบ้าง ขุนชำนิโวหารบ้าง พระชำนิโวหารบ้าง แลจะเปนหมื่นชำนิโวหารก็ยังได้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเปนพระชำนิโวหาร เพราะกทู้โคลงข้างต้นว่า สรวม พระ ชำนิโวหาร ศรี สิทธิ์ ฤทธิ์ ชัย ไกร กรุง ฟุ้ง ฟ้า นั้น ถ้าจะไม่เอา พระ กับ ชำนิโวหาร ต่อกันแล้ว ก็ไม่ได้ความว่ากระไรเลย

พระชำนิโวหารจะมีชีวิตอยู่ครั้งไร ได้แต่งโคลงชุดนี้เมื่อไรก็ไม่มีบอกไว้ที่ไหน ถามใครก็ไม่มีใครทราบ ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านโคลงเหล่านี้ แต่ครั้นอ่านดูจนตลอดก็ลงความเห็นว่าแต่งในรัชกาลที่ ๑ เพราะพูดเหมือนคนที่เห็นด้วยตา แลมีบางแห่งแต่งตามลักษณะโคลงที่ใช้กันครั้งกรุงเก่า แลต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เราถือว่าไม่ประณีต ไม่ใช้กันในชั้นหลัง

แต่ถึงลงสันนิษฐานแล้วว่า โคลงเหล่านี้แต่งในรัชกาลที่ ๑ ก็ยังไม่หายสงสัย เพราะมีบางแห่งซึ่งรู้สึกว่าสำนวนใหม่กว่านั้น จะชี้ลงไปให้ชัดเจนว่าตรงไหนก็ยาก กล่าวได้แต่ว่ารู้สึกอย่างนั้น เมื่อเปนเช่นนี้จึงเรียกฉบับตัวรงในหอพระสมุดวชิรญาณมาตรวจ ได้ฉบับวังน่าซึ่งเดิมเปนบองพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวงจันทร์ อ่านฉบับนั้นสอบกับฉบับพิมพ์เห็นผิดกันไปเกือบหมด พอจำได้เปนเค้าเท่านั้น ฉบับพิมพ์ที่พิมพ์ครั้งนี้เปนฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ พิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ ทำให้คิดเห็นว่าก่อนที่จะพิมพ์ครั้งโน้น ต้นฉบับเลอะเทอะคงจะถูกแก้มากทีเดียว

การที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ทรงพิมพ์โคลงชุดนี้ขึ้นก็ย่อมเปนประโยชน์แก่ผู้ศึกษา ไม่ใช่ว่าโคลงเหล่านี้ดีควรที่ใครจะเอาอย่าง แต่เนื้อความที่กล่าวนั้นมีความซึ่งผู้แต่งรู้สึกด้วยตน หรือเห็นด้วยตาในเวลานั้นบ้าง อาจเปนประโยชน์ในโบราณคดีนั้นก็อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งโคลงที่แต่งในรัชกาลที่ ๑ เห็นจะมีน้อย แลที่เหลืออยู่จนบัดนี้ก็ยิ่งน้อยหนักเข้า ผู้ฝักใฝ่ในเรื่องตำนารกาพย์กลอนไทยในภายน่าย่อมจะต้องการหนังสือเช่นนี้ เปนเครื่องใช้ในการศึกษาเทียบเคียงหนังสือที่ผู้แต่งไว้ตามลำดับเวลา

พิทยาลงกรณ

ราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

  1. ๑. คำนำนี้ใช้อักขรวิธีตามฉบับพิมพ์ครั้งแรก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ