คุณค่าทางวรรณศิลป์

โคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ นอกจากมีเนื้อหาโดยรวมเพื่อสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว การใช้ภาษาที่สละสลวยในการบรรยายความงามที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์มากยิ่งขึ้น เช่น ในบทชมทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกคราวเสด็จมายังกรุงธนบุรีเมื่อวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล นั้น ผู้ประพันธ์บรรยายให้เห็นถึงความงามของเครื่องแต่งกาย ตลอดจนความงามของช้างม้าในกระบวนทัพด้วยการเล่นคำทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ดังเนื้อความในโคลงว่า

เถลิงศกศักราชขึ้น ขลาจัต วาแฮ
กาฬปักษจิตรนักขัต ค่ำเก้า
วันเสาร์สิริสวัสดิ์ วรนาถ
ทวนทัพกลับคืนเข้า เขตรแคว้นธนสถาน ฯ
เมิลหมู่พยู่ห์ย่อมเชื้อ ชาญสมร
แซ่แซ่แสนยากร คล่าวคล้อย
คล่ำคล่ำส่ำอัศวดร ดูเดช
คั่งคั่งคชนับร้อย เรื่อยผ้ายเพ็ญผลู ฯ
ช้างเขนเขนคู่เคื้อ ควรแสยง
ช้างพชดชำนนแซง แทรกข้าง
ช้างดั้งพู่ทวนแดง เดินเหมื่อย มาพ่อ
ช้างกูบที่นั่งช้าง เครื่องเต้ามาตาม ฯ

สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มกล่าวถึงกระบวนทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อคราวเสด็จมายังกรุงธนบุรีว่า

ระดูแขเจดเข้า คิมหันต์
เถลิงศกกาลปักขัน นพเก้า
ฉนำขาลจัตวาวัน เสาเรศ
เสดจเลิกพลคืนเต้า สู่ด้าวดลสถาน ฯ
เสดจโดยสถลมารรค์เข้า เวียงทวาร
เปื้องฝ่ายบูรรพาสถาน ทิศไซ้
ดูดุจหยาดสวรรค์ปาน ลงสู่ ดินนา
ตอหลักฤามานได้ ยากเบื้องบทศรี ฯ
ทวยหารแหนแห่หน้า หลงงตาม
สบหมู่ชาญสงคราม ฮึกห้าว
พลหลวงดั่งพลราม รอนราพ
โจมจู่สยองทุกด้าว เดชล้ำฦๅขจร ฯ
นุ่งแพรศรีสอดเสื้อ เศิกแสยง
โพกทับทิมศรีแสง ไพร่นั้น
มงคลสักระหลาดแดง สพักเครื่อง
เถือกถ่องเปนทิวชั้น แห่ห้อมกรรกง ฯ

(สมุดไทยเลขที่ ๑๘๐)

ความตอนที่กล่าวถึงกระบวนทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนี้ สมุดไทยทั้ง ๒ เล่มจะเน็นการบรรยายรูปแบบของการจัดกระบวนทัพ แต่ไม่เน้นการเล่นคำสัมผัสสระสัมผัสอักษรมากนัก นอกจากความงามในบทชมทัพเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้ว ยังมีความงามของกระบวนเรือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานแห่ผ้าพระกฐิน ซึ่งโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งหลายมีส่วนร่วมโดยการประดับตกแต่งเรือทำเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อเข้าร่วมกระบวนแห่ แล้วโปรดฯ ให้นำผ้าไตรพระกฐิน และผ้าไตรปีที่จะพระราชทานลงในเรือกิ่งและเรือเอกไชย ความในโคลงสรรเสริญพระเกียรติ ฯ มีว่า

เรือลอยเรือเลขล้วน ลายทอง
เรืออย่างเยียงผาผยอง เผ่นผ้าย
เรือเสือเช่นเสือคะนอง นึกน่า ดูแฮ
เรือดุรงค์รวดคล้าย มิ่งม้าแมนเหียน ฯ
เรือแซเรือดั้งพู่ พันเหา
ศรีสอดสักหลาดเพรา เพริศจ้า
เรือโขนขัดงามเงา งอนแง่
เรือกระเชียงมอญหม้า ใหม่แต้มตะเลงลาย ฯ
การวิกว่องหว้ายคู่ เคียงอิน ทรีแฮ
เรือกิเลนลอยสินธุ์ เสียดคล้อย
เรือหงส์พ่างหงส์บิน แบสลาบ เล่นนา
เรือกิ่งเรือไชยช้อย เชิดท้ายระทวยงาม ฯ

เกี่ยวกับเรื่องกระบวนเรือแห่ผ้าพระกฐินนี้ไม่มีกล่าวไว้ในสมุดไทยทั้ง ๒ เล่ม แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่ามีทั้งเรือที่ประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งภายในประดับตกแต่งด้วยเครื่องเล่นนาๆ ชนิด

“ ..โปรดให้แห่ผ้าไตรยพระกถินที่จะพระราชทาน แลผ้าไตรยปีลงเรือกึ่งเรือเอกไชยกระบวนแห่พยุหเรือ แล้วเกณฑ์พระราชวงษานุวงษ แลขุนนางข้าราชการทำเรือแห่ต่างๆ ตามแต่ปัญญา ผู้ใดจะทำเปนจรเข้บ้าง เปนหอยบ้าง เปนปลาบ้าง เปนสัตว์น้ำต่าง ๆ แล้วมีเครื่องเล่นไปในเรือนั้นด้วย แห่รอบพระนคร แล้วจึงได้เสด็จพระราชทานผ้าพระกถิน ตามธรรมเนียมเปนเอิกเกริกครั้งหนึ่ง...”

จะเห็นว่าการแห่ผ้าพระกฐินทางชลมารคในครั้งนั้นจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ กระบวนเรือแห่ที่โคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงล้วนประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น เรือเยียงผา (เลียงผา) เรือเสือ เรือดุรงค์ (ม้า) เรือกิเลน เรือหงส์ เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเรือที่ประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์บกซึ่งโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวถึงนี้ ความในพระราชพงศาวดารมิได้ระบุไว้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ