โคลงไม้ดัด

หลวงมงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ) แต่ง

ในรัชชกาลที่ ๕

พระบาทบรมนาถเจ้า จอมสยาม
ทรงแบบไม้ดัดงาม เรียบร้อย
ขบวนดัดคัดจัดตาม กรุงเก่า มาแฮ
โปรดแบบบรรยาถ้อย ถูกแล้วเกณฑ์หา ฯ
กรมหลวงพิทักษ์สร้อย มนตรี ทรงเฮย
เขนกับญี่ปุ่นที ป่าข้อม
หกเหียนพับดัดดี ถวายเทียบ แบบแฮ
สิบเอ็ดกิ่งพริ้งพร้อม แยกใช้กิ่งสาม ฯ
พระด้วง รองบาทไท้ กรมหลวง
ฝึกหัดสันทัดปวง ปลูกแก้
แสดงบอกบ่หันหวง สอนหัด ชินเฮย๑๐
จึงประจักษเหตุแท้ ท่านอ้างออกองค์ ฯ
ไม้ขบวนวาดเอี้ยว วงเวียน ต้นนา
ตอต่ำตัดเรือนเจียน เรียบร้อย
ทีกิ่งชอบใช้เนียน สนิทช่อง ไฟแฮ
ทรงพุ่มชิด๑๑เชิดช้อย ช่องชั้นจังหวะวาง ฯ
ฉากแบบโคนทอดน้อย หนึ่งงาม
ที่คดคบขด๑๒ตาม หักค้อม
ตอย่อกิ่งต่อสาม สมแบบ เดิมนอ
ต้นชด๑๓เค้ากิ่งหย้อม อย่าซ้ำเสียคม๑๔
หกเหียนเห็นดัด๑๕คู้ ขัดทับ๑๖
ตอเพล่เร่เรือนรับ ลอดพลิ้ว
ทียอดทอดทวนทับ ทบกิ่ง กลแฮ
ดูดุจหมัดมวยงิ้ว ผงาดง้ำผงกหงาย ฯ
ไม้เขนเบนกิ่งท้าย ทวนลง
โคนปุ่มภูต้นทรง เกร่อเก้อ
ทียอดทอดหวนหง เห็นขด คู้แฮ
ดุจมฤคเหลียวชะเง้อ ชะโงกเงื้อมมาหลัง ฯ
ป่าข้อมโคนปุ่มต้น ตามตรง
คบแยกสามกิ่งจง จัดเก้า
จังหวะระยะวง เวียนรอบ กลมแฮ
จัดช่องไฟให้๑๗เถ้า ส่วน๑๘ต้นตัดเรือน ฯ
ไม้ญี่ปุ่นรวบทั้ง กำมะลอ
ตลกรากเอนชายมอ มากใช้
ท่วงทีที่ขันพอ ภูมตลก๑๙
คงกิ่งจังหวะได้ ช่องพร้อมเรือนเสมอ ฯ
๑๐ เก้าชนิดนับชื่ออ้าง ออกนาม ไม้เฮย
โดยบุราณเรียกตาม ต่อถ้อย
จัดคัดจัดดัดงาม๒๐ คงเงื่อน นั้นนา
พอประจักษ์นามน้อย เนื่องไม้มีเดิม ฯ
๑๑ ขุนท่องสื่อเก่า๒๑แจ้ง จำถนัด
ลิขิตโคลงไม้ดัด แต่ง๒๒ไว้
เคยฝึกเล่นโดยจัด จวบพระ ด้วงนา
เพื่อจะดัดคงไว้๒๓ ดุจถ้อยกลอนแถลง ฯ
๑๒ ผู้มีวิริยพร้อม เพลินเพียร
เย็นกมลเนาเนียน เนิ่นแก้
เล่นดัดตัดแต่งเจียน จัดพุ่ม เรือนแฮ
โดยประณีตนับแท้ ท่านนั้นจิตต์เสมอ ฯ
๑๓ ทำจนกลบบาดได้ นับถือ
จึงจักชมฝีมือ แม่นไม้
แผลบาดอุจาดคือ รอยตัด คงนอ
เป็นที่ตำหนิได้ คัดค้านคำฉิน ฯ
๑๔ พระบัณฑูรโปรดไม้ นามเขน
กับป่าข้อมชายเอน ออกตั้ง
โรงหุ่นแต่งทุกเวร วางเทียบ งามแฮ
สมฉากสมเขาทั้ง เทียบพื้นไพรระหง ฯ
๑๕ กรมพระพิพิธ๒๔ได้ ทรงมา
กรมพระพิทักษ์๒๕หา เช่นบ้าง
เอนชายป่าข้อมตรา ตรงชื่อ เดิมเอย
พอประจักษ์จิตต์อ้าง ออกให้เห็นพยาน ฯ
๑๖ ไม้ขบวนฉากแบบทั้ง สองชะนิด
ในพระราชวังสถิต เกิดพร้อม๒๖
พระบาทพระนั่งเกล้าสฤดิ รังรุกข์ ไว้นา
มาบัดนี้ทรงส้อม แทรกพื้นพรรค์ขบวน ฯ
๑๗ หกเขียนฉากแบบนี้ นานศูนย์๒๗
เพราะบ่เห็นสมบูรณ์ เริดร้าง
สุดงามสุดยากปูน ปานเช่น กันแฮ
สองรุกข์แถวบางช้าง เชิดคล้ายพอแปลง ฯ
๑๘ รอบกลมกว้างต้นคลี่๒๘ ยาววัด
สี่ส่วนประจงตัด แต่งได้
ตอสองส่วนเจ็ดชัด ชาม่อ หมายเอย๒๙
พับท่อนหนึ่งสองให้ หักรู้๓๐ ส่วนเดิม ฯ
๑๙ บาดตัดวัดหยั่งพื้น พูนดิน บนเอย
พับสี่บันสองจิน ตนะไว้
เป็นตอต่ำพอผิน ผันเล่น แลพ่อ
ที่ดัดหนึ่งสองให้ หักซ้ำส่วนเดิม ฯ
๒๐ ดูงามจังหวะคล้อง ฉันใด
บิดผลักหกเพล่ไผล ไพล่พลิ้ว๓๑
ทีแรงท่าเพลงไถล ถลาเผ่น โผนแฮ๓๒
หงายหมัดชัดมวยงิ้ว ชะโงกเอี้ยวอาจถลา๓๓
๒๑ ทียอดหวนหกให้ เห็นแรง
ทีกิ่งสอดพลิกแพลง เพลี่ยงต้น
ทีเรือนตัดเรือนแสดง ดุจกระ ทุ่มเอย
ทีวกจังหวะค้น คิดเท้าต้นเสมอ๓๔
๒๒ เขียนไว้หวังวัดเค้า ควรตรอง
ฝึกตัดดัดดูลอง๓๕ เล่ห์นั้น
กะคงหนึ่งสองสอง๓๖ สมเหตุ ใช้นา
กิ่งสิบเอ็ดคาดคั้น คิดไม้หกเหียน ๚ะ๛

 

  1. ๑. คงอักขรวิธีตามฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๒

  2. ๒. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ตัด”

  3. ๓. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “บรรยาย”

  4. ๔. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ถ่อง”

  5. ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย (สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี) พระโอรสองค์ที่ ๕ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๓ ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ในรัชกาลที่ ๒ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงกำกับกรมวังและกรมมหาดไทย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อวันจันทร์ ปีมะเมีย จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔ ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชันษา ๕๒ ปี เป็นต้นราชสกุล มนตรีกุล ณ อยุธยา

  6. ๖. นายด้วง รับราชการในกรมมหาดเล็ก ต่อมาลาราชการออกบวชเป็นพระภิกษุ จำพรรษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

  7. ๗. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี

  8. ๘. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ดัด”

  9. ๙. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “แหน”

  10. ๑๐. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “หักส่วน นี้นา”

  11. ๑๑. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “พิศ”

  12. ๑๒. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “คด”

  13. ๑๓. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ชอบ”

  14. ๑๔. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ขบวน”

  15. ๑๕. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ขัด”

  16. ๑๖. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “พับ”

  17. ๑๗. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ได้”

  18. ๑๘. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ทั่ว”

  19. ๑๙. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “พูมตลก แลเฮย”

  20. ๒๐. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “จักดัดจักตัดงาม”

  21. ๒๑. ในสมุดไทยเลขที่ ๒๔ มีรอยดินสอขาวเขียนเพิ่มเติมไว้ว่า “หลวงมงคลรัตนแจ้ง”

  22. ๒๒. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ถอด”

  23. ๒๓. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ผิจะคิดคงได้”

  24. ๒๔. พระองค์เจ้าชายพนมวัน (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) พระราชโอรสองค์ที่ ๑๗ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาศิลา ประสูติวันพุธที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๒ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ในรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ในรัชกาลที่ ๔ เลื่อนเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ นเรนทรสุริยวงศ์ อิศวรพงศ์พรพิพัฒน์ศักดิรัตนธำรง คุณาลงกฎเกียรติวิบุลย อดุลยเดชบพิตร สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ปีมะโรง อัฐศก จ.ศ. ๑๒๑๘ พระชันษา ๖๒ ปี เป็นต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา

  25. ๒๕. ๒๕ พระองค์เจ้าชายกุญชร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์) พระราชโอรสองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์ที่ ๓ ในเจ้าจอมมารดาศิลา ประสูติวันพุธที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๔๑ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศร์ ถึงรัชกาลที่ ๔ เลื่อนเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ นเรศรราชรวิวงษ์ อิศวรพงษ์พิพัฒนศักดิ์ อุดมอรรควรยศวงษประนตนารถนเรนทร์ พาหเนนทรบพิตร สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. ๑๒๒๕ ตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระชันษา ๖๕ ปี เป็นต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา

  26. ๒๖. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ในพระมหาราชวังสถิต เทิดพร้อม”

  27. ๒๗. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “หกเหียรฉากแบบนี้ นานสูญ”

  28. ๒๘. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “รอบกลมกลางต้นตอ”

  29. ๒๙. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ มีข้อความไม่ครบ ว่า “ตอสองส่วนเสร็จ... ...มุ่ง หมายเอย”

  30. ๓๐. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ซ้ำ”

  31. ๓๑. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “บิดผลักหักเผลไผล ไผล่เพลี้ยน”

  32. ๓๒. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ทีแรงท่าแพลงไถล ถลาเฉิด โฉมแฮ”

  33. ๓๓. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “หงายหมัดชัดมวยเมี้ยน มุ่งแม้นมวยจิน”

  34. ๓๔. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ทีวัดจังหวะค้น คิดเถ้าทันเสมอ”

  35. ๓๕. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “ฝึกดัดตัดดูลอง”

  36. ๓๖. สมุดไทยเลขที่ ๒๔ ว่า “กะคงส่วนหนึ่งสอง”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ