คำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๗๒

การแต่งต้นไม้ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามความพอใจของคนสังเกตดูเหมือนจะมีอยู่ ๒ อย่าง คือผูกโครงเป็นรูปต่างๆ ตามชอบใจ แล้วปลูกต้นไม้ให้เลื้อยไปตามโครงนั้นก็ดี หรือตัดต้นไม้ให้เป็นรูปทรงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี จะเรียกในหนังสือนี้ว่า แต่งต้นไม้อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ นั้นปลูกต้นไม้ทั้งต้น แล้วพยายามดัดกิ่งก้านหรือตัดลำต้นไม้นั้นให้เป็นรูปต่างๆ เลียนให้เหมือนรูปต้นไม้ใหญ่บ้าง ให้รูปร่างดูขบขันแปลกประหลาดบ้าง อย่างนี้เรียกว่าดัดต้นไม้

การแต่งต้นไม้เช่นว่ามาดูชอบทำกันทั้งในประเทศทางตะวันออกเช่นเมืองจีนตลอดจนในยุโรป แต่การดัดต้นไม้เห็นมีปรากฏแต่ที่ในประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสยามนี้ ในประเทศสยามตามที่ปรากฏดูเหมือนจะชอบเล่นกันในตอนปลายกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า การเล่นต้นไม้ดัดไทยเราเห็นจะได้คติมาจากญี่ปุ่น ด้วยมีหลักฐานว่าเขาเล่นมาช้านานนับหลายร้อยปีและมีชื่อไม้ญี่ปุ่นปรากฏในตำราไม้ดัดของไทยด้วย แต่ไม้ดัดของญี่ปุ่นนั้นสืบถามพวกญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้ความชัดว่าได้มีบัญญัติเป็นตำรับตำราอย่างไร ได้ความแต่เพียงว่า การดัดต้นไม้ของญี่ปุ่นนั้นมีมานมนาน มักเล่นประกอบกับวิธีแต่งลานบ้าน เช่นก่อเป็นภูเขาเล็กๆ แล้วปลูกต้นไม้ดัด วิธีดัดนั้นก็ได้ความแต่เพียงว่าตัดต้นไม้ให้เป็นตอให้แตกกิ่งเล็กๆ แล้วก็ดัดทรวดทรงไปต่างๆ ตามแต่จะเห็นงาม ความที่ว่านี้ก็สมกับที่กล่าวในตำราของไทยว่า จำพวกไม้ญี่ปุ่นนั้นดัดให้เป็นท่วงทีขบขัน ให้กิ่งและพุ่มได้ช่องไฟได้จังหวะให้เรือนสม่ำเสมอเพียงเท่านี้ แต่การที่ญี่ปุ่นจะได้พาต้นไม้ดัดเข้ามาเมืองไทยเมื่อไรนั้น ก็ไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้ มีหลักฐานแต่เพียงว่า พวกญี่ปุ่นได้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากตั้งแต่รัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ มาจนในรัชชกาลพระเจ้าปราสาททอง ทำนองจะได้พาวิธีเล่นไม้ดัดเข้ามาในประเทศสยามในระยะนี้ ที่ว่านี้เป็นการสันนิษฐานทั้งสิ้น

หลักฐานที่มีปรากฏแน่นอนนั้นเพียงตั้งแต่รัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดต้นไม้ดัดให้ปลูกไว้ในพระบรมมหาราชวัง ยังปรากฏอยู่รอบสนามหญ้าริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยจนทุกวันนี้ และปรากฏต่อมาว่า เมื่อถึงรัชชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้านายตลอดจนข้าราชการก็ชอบเล่นต้นไม้ดัดกันมาก ในสมัยนี้ชอบเล่นเป็นไม้ปลูกในกระถางเป็นพื้น มีรูปภาพเขียนถวายกระถางต้นไม้ดัดเมื่อรัชชกาลที่ ๒ ปรากฏอยู่ แม้ในหนังสือบทกลอนซึ่งแต่งในรัชชกาลที่ ๑ และรัชชกาลที่ ๒ ก็ชอบกล่าวถึงเล่นไม้ดัด จะคัดมาพอเป็นตัวอย่าง เช่นกล่าวในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ดังนี้

“โจนลงกลางชานร้านดอกไม้ ของขุนช้างปลูกไว้อยูดาดดื่น
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน ชื่นชื่นลมชายสบายใจ
กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดอกไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม ตะขบข่อยคัดไว้จังหวะกัน”

อีกแห่งหนึ่งตอนขุนแผนพานางวันทองหนี นางวันทองสั่งเรือน ดังนี้

“ถึงกระถางต้นไม้ชายตาดู เป็นคู่ ๆ ชูช่ออรชร
มะขามโพรงโค้งคู้เป็นข้อศอก ฝักกรอกแห้งเกราะกระเทาะล่อน
จันทน์หอมจันทน์คณาจะลาจร มลิซ้อนซ่อนชู้อยู่จงดี” ดังนี้

แต่ว่าต้นไม้ดัดที่เล่นกันมาในสมัยนั้นหามีใครแต่งหนังสือตำรับตำราบัญญัติไว้อย่างไรไม่ หนังสือตำราต้นไม้ดัดพึ่งมาเกิดขึ้นเมื่อในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยหลวงมงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ) พยายามแต่งเป็นโคลง และให้เขียนรูปภาพต้นไม้ดัดตามบัญญัติไว้ในตำรานั้น ตำราต้นไม้ดัดจึงมีขึ้น และตำราของหลวงมงคลรัตนนั้น มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ) ผู้เป็นบุตรได้มีแก่ใจถวายไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครนานมาแล้ว แต่บอกขอให้สงวนไว้ เพื่อจะพิมพ์ในการกุศลเนื่องด้วยวงศ์ตระกูล จึงให้รอการพิมพ์ตำราต้นไม้ดัดมาหลายปี บัดนี้พระยาบุรุษ ฯ มาแจ้งว่า พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาทรงพระกรุณาโปรดจะรับพิมพ์หนังสือประทานเป็นของแจกในงานปลงศพพระยาสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์) พระยาบุรุษฯ เห็นว่าควรจะถวายหนังสือตำราต้นไม้ดัดของบิดาให้ทรงพิมพ์ได้ จึงขอให้ราชบัณฑิตยสภาจัดการพิมพ์ ถวายตามความประสงค์

ได้ความในเรื่องตำนานต้นไม้ดัดต่อมาดังปรากฏอยู่ในโคลงของหลวงมงคลรัตนว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงทราบตำรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงกำหนดไว้และทรงชี้แจงแก่นายด้วงคนหนึ่งซึ่งเป็นข้าในกรมทรงใช้สอยในเรื่องต้นไม้ดัด ครั้นกรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว ต่อมานายด้วงออกบรรพชาเป็นภิกษุ หลวงมงคลรัตนได้รู้จักคุ้นเคย จึงได้ตำราต้นไม้ดัดมาจากพระด้วง แล้วเอามาแต่งโคลงขึ้นไว้เพื่อจะให้เป็นตำราปรากฏอยู่ถาวรสืบไป

ไม้ดัดที่กำหนดไว้ในตำรามี ๙ อย่างด้วยกัน รูปทรงสัณฐานและวิธีดัดเป็นอย่างไร ปรากฏอยู่ในคำโคลงและภาพซึ่งได้พิมพ์ไว้ต่อไปข้างหน้า จะคัดแต่ชื่อกับอธิบายลักษณะไม้ดัด แสดงให้เข้าใจพอเป็นเค้าก่อน คือ

๑ ไม้ขบวน มาแต่คำว่า กระบวน (อาจดัดได้โดยกระบวนต่างๆ) ซึ่งในโคลงตำราไม้ดัดเองก็ปรากฏแต่เพียงว่า ดัดให้ทรงต่ำและดัดกิ่งวกเวียนไปให้ได้ช่องไฟได้จังหวะ และแต่งพุ่มให้เรียบร้อยเท่านั้น เห็นจะถือเอาทรงงามเป็นสำคัญ ไม่กำหนดกิ่งก้านเป็นรูปร่างอย่างไร ไม้ชะนิดนี้มีเล่นกันมากเพราะดัดง่ายกว่าอย่างอื่น ไม้ดัดทั้งหลายที่ปลูกอยู่ริมบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นไม้ดัดจำพวกนี้

๒ ไม้ฉาก เหมือนไม้ที่เขียนในฉาก เช่นฉากที่กั้นที่ปลงศพขุนนางเป็นต้น ควรยุติได้ว่าไม้ฉากนั้นต้องดัดให้เป็นมุมเป็นเหลี่ยมแต่งทรงให้แบนให้เข้ากับฉากได้ไม่โหรงเหรง และไม้ฉากนี้ผู้แต่งตำรากล่าวไว้ว่านานไปจะศูนย์ เพราะดัด “สุดงามสุดยากปานปูนเช่นกัน”

๓ ไม้หกเหียน กล่าวตามชื่อ หก ได้แก่กลับลง เหียน ได้แก่หัน สัณฐานของกิ่งจะต้องหกห้อยลงมาก่อน แล้วหันคดเคี้ยวไปตามเรื่อง ไม้ต้นนี้ผู้แต่งตำราก็ว่าดัดยากเหมือนไม้ฉาก

๔ ไม้เขน คือไม้ที่มีท่าทางอย่างเขนเต้นโขน อันทำท่าตัวเอน ห้อยมือลงข้างหนึ่ง ยกมือขึ้นข้างหนึ่ง หรือยกมือขึ้นทั้ง ๒ ข้าง

๕ ไม้ป่าข้อม คือดัดเลียนรูปต้นไม้ป่า แต่ทำเป็นขนาดย่อมๆ

๖ ไม้ญี่ปุ่น คือดัดตามแบบไม้ดัดของญี่ปุ่น

๗ ไม้กำมลอ เห็นจะหมายความว่าดัดให้เหมือนรูปต้นไม้ที่จีนและญี่ปุ่นเขียนเครื่องกำมลอเข้ามาขาย ในโคลงจึงไม่กำหนดลงไปแน่ว่าให้ดัดเป็นรูปทรงอย่างไร เป็นแต่ว่าดัดให้ได้ท่วงทีดี ให้กิ่งได้จังหวะ ได้ช่องไฟ และให้เรือนงามเท่านั้น

๘ ไม้ตลก คือดัดให้รูปดูขบขัน สัณฐานเป็นกะปุ่มกะป่ำ เช่น หัวโต หรือกลางป่อง เป็นต้น

๙ ไม้เอนชาย เห็นจะหมายเอาอย่างไม้ที่เอนไปทางเดียว อย่างไม้ตามชายตลิ่ง

ไม้ทั้ง ๙ อย่างนี้ ในอย่างหนึ่งๆ อาจดัดยักเยื้องจากกันได้บ้างโดยไม่ให้เสียทรงตามแบบเดิม จึงปรากฏในภาพทำไว้อย่างละหลายๆ แบบ วิธีดัดมีข้อบังคับเคร่งครัดอยู่อย่าง ๑ คือต้องกลบบาด (แผลที่ตัด) ให้สนิท ถ้ากลบไม่สนิทถึงจะดัดได้ดีปานไรก็ว่าไม่นับถือ

เมื่อจะพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ได้คิดจะทำรูปฉายาลักษณ์ไม้ที่ดัดได้ตามตำรามาพิมพ์ไว้ด้วย แต่มาได้ความปรากฏว่า ในบรรดาผู้เล่นไม้ดัดย่อมถือตำราของหลวงมงคลรัตนเป็นหลักทุกคน เพราะไม่มีตำราอื่นนอกจากนี้ ถึงกระนั้นการที่ดัดต้นไม้นั้นไม่ใคร่มีใครสามารถจะดัดได้ให้ตรงตามตำรา การที่เล่นไม้ดัดกันในปัจจุบันนี้จึงดัดตามแต่จะเห็นงามและที่จะสามารถทำได้เป็นพื้น นอกจากไม้กระบวนยังหาตัวอย่างให้ตรงดังตำราให้ครบทั้ง ๙ อย่างไม่ได้.

อนึ่งในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ พระยาบุรุษฯ ได้เรียงประวัติของพระยาราชสัมภารากร ส่งมาขอให้พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกด้วย จึงได้ให้พิมพ์ไว้ต่อคำนำนี้ไป

ราชบัณฑิตยสภาขอถวายอนุโมทนาในพระกุศลจรรยา ซึ่งพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ได้ทรงบำเพ็ญเป็นญาติธรรมอุทิศกัลปนาผลประทานแก่พระยาราชสัมภารากร และได้ทรงพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒

  1. ๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงในหนังสือ โคลงตำราไม้ดัด ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา โปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกตรี พระยาราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์) เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. คงอักขรวิธีตามฉบับพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๗๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ