ประวัติและผลงานของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์)

หลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) สืบเชื้อสายมาจากพระยาไกรโกษา (เริก) ผู้เป็นต้นสกุลไกรฤกษ์ มีประวัติความเป็นมาของตระกูล ดังนี้

นายเริกและนายอินบุตรชาวจีนฮกเกี้ยนแซ่หลิมซึ่งเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้เข้ารับราชการในสมัยกรุงธนบุรี (หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, ๒๔๙๙ : ๕ - ๗) นายเริกได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนท่องสื่ออักษร ตำแหน่งเสมียนตรากรมท่าซ้ายฝ่ายจีน ทำหน้าที่เป็นล่ามจีน เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๔ ปีฉลู ปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ร่วมในคณะทูตไทยที่ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน ณ เมืองปักกิ่ง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ขุนท่องสื่อ (เริก) ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการเจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรโกษา ตำแหน่งจตุสดมภ์ เสนาบดีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ฝ่ายน้องชายของพระยาไกรโกษา (เริก) คือนายอิน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอินอากร ต่อมามีผู้สืบเชื้อสายจากพระยาไกรโกษา (เริก) และพระยาอินอากร (อิน) ได้รับราชการตำแหน่งสำคัญและมีบรรดาศักดิ์สูงหลายคน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสกุล ไกรฤกษ์ โดยตั้งนามสกุลตามนามของคนในตระกูลคนแรกที่มีชื่อเสียง คือ พระยาไกรโกษา (เริก) ดังมีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๖ ถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) และพระยาจักรปาณี ศรีศีลวิสุทธิ์ (เจ้าพระยามหิธร) มีเนื้อความดังนี้

“ถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) และพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ (ลออ)

ตามที่เจ้าทั้งสองได้ขอให้ข้าตั้งนามสกุลของเจ้านั้น ข้าได้ไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าในสกุลของเจ้า ผู้ที่ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ และมีบรรดาศักดิ์สูงมีอยู่หลายคน ทั้งในปัตยุบันและอดีตสมัย เพราะฉนั้นควรที่จะใช้นามท่านผู้ที่นับว่าเปนคนแรกที่ได้มีชื่อเสียงขึ้นในสกุลของเจ้า คือ พระยาไกรโกษา (ฤกษ์)

เพราะฉะนั้น ข้าขอให้นามสกุลของเจ้าว่า “ไกรฤกษ์” (เขียนเป็นตัวโรมันว่า KRAIRIKSH) ขอให้สกุลไกรฤกษ์เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน

วชิราวุธ ป.ร.”

(หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, ๒๔๙๙ : ๑)

<img>

ภาพใบพระราชทานนามสกุล

ที่มาภาพ : เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, ๒๔๙๙. หน้า ๑.

พระยาไกรโกษา (เริก) มีบุตรกับคุณหญิงจุ้ย ๓ คน ได้แก่ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เจ้าจอมยี่สุ่น ในรัชกาลที่ ๒ หลวงเดชนายเวร (สุด) และมีบุตรจำนวน ๓ คน กับอนุภรรยา ได้แก่ นายราชาภักดิ์ (พยอม) หลวงแก้วอายัด (อ้น) และบุนนาค

พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) มีบุตรกับคุณหญิงนก ๑ คน คือ เจ้าจอมอิ่ม ในรัชกาลที่ ๒ และมีบุตรจำนวน ๘ คน กับภรรยาอื่น ดังนี้

๑. คุณหญิงพลอย ภรรยาพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)

๒. นายนวม

๓. หลวงมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง)

๔. นายจอน

๕. นายแสง

๖. ธิดาชื่อพยอม ภรรยาจมื่นสิทธิ์แสนยารักษ์ (อ่ำ อมาตยกุล)

๗. ธิดาชื่อเกษร ภรรยานายจ่ารง (กลิ่น บุณยรัตพันธุ์)

๘. ธิดาชื่อต่วน

หลวงมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง) มีบุตรจำนวน ๑๐ คนกับขรัวยายไข่และภรรยาอื่น ดังนี้

๑. นางสงวน ภรรยาพระราชประสิทธิ์ (เทียบ)

๒. นางเสงี่ยม ภรรยาหลวงนายเสน่ห์รักษา (เผือก)

๓. ธิดาชื่อถนอม

๔. นายชื่น

๕. คุณหญิงจันทร์ ภรรยาพระยาพิพิธโภไคยสวรรค์ (เชฐ หังสสูตร์)

๖. พระยาราชสัมภารากร (ชม)

๗. เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ ๕ มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา กับ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี

๘. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ)

๙. ธิดาชื่อใย

๑๐. พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม)

หลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) เริ่มรับราชการในตำแหน่งขุนท่องสื่อ เสมียนตรากรมท่าซ้าย ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมงคลรัตนราชมนตรี และเลื่อนขึ้นเป็นพระมงคลรัตนราชมนตรี กรมสรรพากรใน ปรากฏในสำเนาสัญญาบัตร การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องตั้งขุนนาง ปีมโรงสัมฤทธิศก (กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๑ : ๓๑๕) ความว่า

“ให้ขุนท่องสื่อคนเก่า (ช่วง ไกรฤกษ์) เปนหลวงมงคลรัตนราชมนตรีศรีสมุหสรรพากรใน ถือศักดินา ๒๔๐๐ ทำราชการ ตั้งแต่ ณ วัน ๖ ๑๑ ค่ำ ปีวอกฉ๑๗ศก ศักราช ๑๒๔๖ เปนวันที่ ๕๘๐๐ (ควรเป็นวันที่ ๕๗๙๙ เพราะตรงกับวัน ๖ ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๖) ในรัชกาลปัตยุบันนี้”

หลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) มีผลงานการประพันธ์ จำนวน ๔ เรื่อง ดังนี้

. เสภาเรื่องอาบูหะซัน เมื่อครั้งหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) มีตำแหน่งเป็นขุนท่องสื่อได้ร่วมกับกวีอีก ๑๐ คน แต่งเสภาเรื่องอาบูหะซัน โดยรับเรื่องไปแต่งในตอนที่ ๘ ต่อมากรรมการราชบัณฑิตยสภาได้พยายามรวบรวมเสภาทั้ง ๑๑ ตอน แต่หาได้ไม่ครบ ดังที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา อธิบายถึงการพิมพ์เสภาเรื่องอาบูหะซันในงานยืนชิงช้าของมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) บุตรชายหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ซึ่งเป็นพระยาผู้ยืนชิงช้า เมื่อปีขาล อัฐศก พุทธศักราช ๒๔๖๙ ในคำนำหนังสือเสภาเรื่องอาบูหะซัน ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๖๙ ไว้ว่า

ปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรุษยรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เปนพระยายืนชิงช้า พระยาบุรุษยจะพิมพ์หนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแลแจกผู้มาช่วยงาน จึงมาหารือที่ราชบัณฑิตยสภาในการเลือกหนังสือที่จะพิมพ์ พระยาบุรุษยอยากได้พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือหนังสืออื่นซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยสมเด็จพระปิยมหาราช แต่พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ นั้น มาถึงเวลานี้หายากเสียแล้ว กรมพระดำรงราชานุภาพจึงทรงแนะนำว่า เสภาอาบูหะซันเปน หนังสือแต่งตามเนื้อเรื่องซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เปนลิลิต เหล่ากวีในตอนต้นแห่งรัชกาลที่ ๕ ได้แต่งขึ้น เพราะโปรดเกล้าฯ ให้แต่ง แลทั้งบิดาพระยาบุรุษยก็มีนามเปนผู้แต่งอยู่ด้วย ดังนี้ก็เปนอันสมประสงค์ของพระยาบุรุษย แต่มีน่าเสียดายอยู่หน่อยหนึ่งคือว่า เสภาท่อนที่ ๘ ซึ่งหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) แต่งนั้นหาต้นฉบับไม่ได้จนบัดนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเนื้อเรื่อง อาบูหะซัน ซึ่งเป็นนิทานภาษาอังกฤษอยู่ในภาคผนวกของเรื่องอาเรเบียนไนตส์ (Arabian Nights) หรืออาหรับราตรี โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขอแรงกวีในสมัยนั้นให้ช่วยกันเก็บเนื้อเรื่องไปแต่งเป็นเสภา สำหรับขับถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่ ดังรายนามกวีที่แต่งเสภาเรื่องอาบูหะซัน จำนวน ๑๑ คน ดังนี้

ตอนที่ ๑ หลวงพิษณุเสนี (ทองอยู่) ครูเสภา ภายหลัง ได้เปนพระราชมนู

ตอนที่ ๒ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ)

ตอนที่ ๓ ขุนวิสูตรเสนี (จาง)

ตอนที่ ๔ ขุนพินิจจัย (อยู่) ภายหลังได้เปนหลวงภิรมย์โกษา

ตอนที่ ๕ หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด) ภายหลังได้เปนพระราชาภิรมย์

ตอนที่ ๖ ขุนวิสุทธากร (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) ภายหลังได้เปนพระยาอิศรพันธุ์โสภณ

ตอนที่ ๗ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ตอนที่ ๘ ขุนท่องสื่อ (ช่วง ไกรฤกษ์) ภายหลังได้เปนหลวงมงคลรัตน์

ตอนที่ ๙ หลวงเสนีพิทักษ์ (อ่วม) ภายหลังได้เปนพระยาราชวรานุกูล

ตอนที่ ๑๐ หลวงสโมสรพลการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) เดี๋ยวนี้เปนพระยาสโมสรสรรพการ

ตอนที่ ๑๑ หลวงจักรปาณี (ฤกษ์) เปรียญ

. โคลงเรื่องรามเกียรติ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ตลอดจนข้าราชการที่สนใจในกวีนิพนธ์ ร่วมกันแต่งอธิบายภาพรามเกียรติ์ซึ่งเขียนไว้ที่ผนังพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นโคลงรวมทั้งสิ้น ๔,๙๘๔ บท จารึกไว้ในแผ่นศิลาฝังติดไว้กับเสาพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในจำนวนนี้มีโคลงระบุชื่อผู้แต่งโดยขุนท่องสื่อคนเก่า จำนวน ๖ ห้อง คือ ห้องที่ ๙, ๑๑๕, ๑๑๖, ๑๑๗, ๑๗๑ และห้องที่ ๑๗๗ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๖๖ บท

ตัวอย่าง โคลงห้องที่ ๙ ขุนท่องสื่อคนเก่า แต่ง

๏ รามสูรอสุรร้าย เริงทนง
ถวิลจักประพาสดง ดับเศร้า
ทรงเครื่องทิพย์เสด็จทรง ขวานเพชร ศรแฮ
เหาะรีบลุป่าเข้า เขตรแคว้นมิถิลา
๏ ถึงรถเห็นราชทั้ง สององค์
ขุนราพพิศยุพยง หยาดฟ้า
เหวยมนุษย์ไยทนง นามเช่น เราฮา
พานาฎผาดผ่านหน้า จักล้างชิงสมร

. โคลงตำราไม้ดัด แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๒๒ บท เป็นตำราอธิบายลักษณะไม้ดัดชนิดต่างๆ ดังตัวอย่าง

๏ ขุนท่องสื่อเก่าแจ้ง จำถนัด
ลิขิตโคลงไม้ดัด แต่งไว้
เคยฝึกเล่นโดยจัด จวบพระ ด้วงนา
เพื่อจะดัดคงไว้ ดุจถ้อยกลอนแถลง ฯ

. เรื่องทารกาภิบาล แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนแปด จำนวน ๙๘ บท และโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๒๖ บท เนื้อหาว่าด้วยการดูแลมารดาและทารก

ตัวอย่าง

๏ หลวงรัตนมงคลอ้าง ออกนาม
เรียงบทพจนความ คิดไว้
ทำเนียบระเบียบตาม เติมต่อ ตัดแฮ
นบส่งเจ้าคุณได้ โปรดเกล้าผมสนอง ฯ
  ๏ สรวมเสริมเริ่มกลอนอักษรสาร
สำหรับบุรุษสตรีจงวิจารณ์ ได้สั่งสอนบุตรหลานสืบสืบไป
เมื่อพบอ่านจงจำคำคติ พอตรองตริแก้งงที่สงสัย
ผดุงครรภ์นั้นควรประการใด จงตั้งใจฟังดูอย่าวู่วาม [...]

----------------------------

บรรณานุกรม

กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๕.

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๒๑.

โคลงเรื่องรามเกียรติ์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๐๘.

จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์), หลวง. เรื่องของเจ้าพระยามหิธร. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท., พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙, ๒๔๙๙.

จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๔๗.

ลำดับตระกูลไกรฤกษ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์ (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงประเสริฐศุภกิจ (จำเริญ ไกรฤกษ์) ท.จ. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๕), ๒๕๑๕.

เสภาเรื่องอาบูหะซัน แต่งโดยกระแสรับสั่ง เมื่อในรัชกาลที่ ๕. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๙.

----------------------------

  1. ๑. นางสาวชนิดา สีหามาตย์ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรียบเรียง

  2. ๒. ตำแหน่งขุนท่องสื่อ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นตำแหน่งจีนล่ามนายอำเภอ สังกัดกรมเจ้าท่า ศักดินา ๖๐๐ ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ (กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑, ๒๕๐๕ : ๒๓๔)

  3. ๓. ภูมิศักดิ์ (๒๕๔๗ : ๒๑๓) อธิบายว่า ตำแหน่งขุนท่องซื่อหรือขุนท่องสือในทำเนียบศักดินากรมท่าฝ่ายจีน เป็นขุนนางจีนทำหน้าที่ล่าม คำว่า ท่องซื่อ เป็นภาษาจีนกลางว่า ทงซือ แปลว่า ล่ามผู้ติดต่อ

  4. ๔. เสภาเรื่องอาบูหะซัน แต่งโดยกระแสรับสั่งในรัชกาลที่ ๕, มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) พิมพ์ในงานยืนชิงช้า เมื่อปีขาล พุทธศักราช ๒๔๖๙

  5. ๕. หลวงมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) บางแห่งว่าเป็นพระมงคลรัตนราชมนตรี (โคลงเรื่องรามเกียรติ์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๐๘. หน้า ๕๑)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ