คำชี้แจงเรื่อง ทารกาภิบาล

เรื่อง ทารกาภิบาล เป็นหนังสือร้อยกรองว่าด้วยการผดุงครรภ์ตลอดจนถึงการดูแลรักษาอาการมารดาและทารกหลังคลอด ผลงานของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) เนื้อหาเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติตนของผู้ที่ตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูเด็กอ่อนตามภูมิปัญญาโบราณ อีกทั้งแสดงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนไทยในอดีตสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า

ในสมัยโบราณเมื่อการแพทย์ด้านการผดุงครรภ์และการอภิบาลทารกของไทยยังไม่เจริญ การคลอดบุตรนับเป็นเรื่องสำคัญเพราะอาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก การดูแลมารดาและทารกของสังคมไทยในอดีตอยู่บนพื้นฐานของวิถีพื้นบ้านและคติความเชื่อที่สืบต่อกันมา ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ เพื่อบำรุงรักษาให้มารดาและทารกปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง ค่านิยมดังกล่าวสืบทอดมาจนกลายเป็นประเพณีเนื่องในการเกิดของสังคมไทย

คติความเชื่อและแนวปฏิบัติในอดีตที่เกี่ยวกับการเกิดและการเลี้ยงดูบุตร แบ่งช่วงเวลาของมารดาและทารกได้เป็น ๓ ระยะ (พระยาอนุมานราชธน, ๒๔๙๒ : ๓) คือ ระยะที่หนึ่ง เมื่อตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจมีขึ้นแก่หญิงที่มีครรภ์ เพราะแต่ก่อนถือกันว่าเป็นระยะที่เป็นอันตรายได้ง่าย ระยะที่สอง เมื่อคลอด เพื่อให้คลอดง่าย ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงถือกันว่าตอนคลอดลูกเป็นช่วงเวลาสำคัญ และระยะที่สาม เมื่อเลี้ยงดู เพื่อปกปักรักษาชีวิตทารกแรกคลอด ซึ่งมีร่างกายบอบบางและอาจเสียชีวิตได้ง่าย ให้เจริญเติบโตได้ต่อไป

สำหรับสตรีผู้ตั้งครรภ์นั้น ระยะเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนกว่าจะถึงเวลาคลอด ถือกันว่าเป็นช่วงที่มีภัยอันตรายอยู่รอบข้าง ผู้มีครรภ์จะต้องเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ จนกว่าจะพ้นไป ทำให้มีความกังวลไม่สบายใจ ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงหาอุบายป้องกันและปัดเป่าด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่เมื่อสตรีทราบว่าตนตั้งครรภ์ต้องระวังรักษากิริยาอาการและการบริโภคต่างๆ ไม่ให้เป็นอันตรายแก่ทารกในครรภ์ ตลอดจนการรักษาอาการหลังคลอดของมารดาและทารก การดูแลรักษาอาการมารดาและทารกต้องอาศัยความรู้ วิธีปฏิบัติและตำรายาต่างๆ สำหรับบำรุงรักษาอาการทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด เมื่อมารดาและทารกรอดชีวิตแล้วจึงจัดการเลี้ยงดูโดยประเพณีที่นับถือเป็นคติสืบกันมา

ประเพณีเนื่องด้วยการเกิดในสังคมไทย ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ทำคลอดและอภิบาลทารกหลังคลอดให้รอดชีวิตจนเติบใหญ่ โดยเฉพาะการคลอดบุตรนั้นเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้เกี่ยวข้อง ทั้งบิดามารดา ทารก ญาติ หมอตำแย ตลอดจนบ่าวไพร่ ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประเพณีเนื่องในการเกิดในวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายเรื่อง เช่น บทละครในเรื่องอิเหนา บทละครนอกเรื่องสังข์ทองและบทละครนอกเรื่องไชยเชษฐ์ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี เป็นต้น

ตำราครรภ์รักษาของไทยที่กล่าวถึงการดูแลรักษาทารกมีบันทึกไว้ในเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์ประถมจินดา ตำราครรภ์รักษา ตำราจารึกวัดพระเชตุพนเรื่องโองการแม่ซื้อและโองการสารเดช เป็นต้น ในบรรดาตำราครรภ์รักษาโบราณนี้ คัมภีร์ประถมจินดา มีผู้นับถือคัดลอกสืบต่อกันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อพระยาอนุมานราชธน (๒๔๙๒ : ๒) เขียนหนังสือประเพณีเก่าของไทย ๑. ประเพณีเนื่องในการเกิดและการเลี้ยงลูก ได้อธิบายถึงตำราโบราณเกี่ยวกับการเกิด ว่า

หนังสือซึ่งว่าด้วยประเพณีเนื่องในการเกิดของเรา หาอ่านไม่ใคร่ได้ เพราะถือเสียว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้และเคยเห็น เราจึงไม่มีตำราเหล่านี้ที่เป็นของเก่าเหมือนอย่างคัมภีร์คฤหยสูตรและคัมภีร์อายุรเวชของอินเดีย ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับการเกิดอยู่มาก ที่เรามีอยู่ก็แต่คัมภีร์ชื่อปฐมจินดา อันกล่าวว่าพระมหาเถรตำแยเป็นผู้รจนาไว้ พระมหาเถรตำแยจะเป็นชาวอินเดียหรือเป็นชาวชาติไรก็ตาม ที่ท่านแต่งตำรานี้ขึ้นก็เป็นไปตามคติที่เชื่อถือกันอยู่ในสมัยนั้น”

<img>

(บน) เอกสารสมุดไทย หมวดเวชศาสตร์ (ล่าง) เรื่องคัมภีร์ประถมจินดา เก็บรักษาที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ

การเลี้ยงดูเด็กในอดีต ที่มาภาพ : จิตรกรรมฝาผนังภายในศาลาแม่ซื้อ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

นอกจากตำราที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น มีตำราร้อยกรองว่าด้วยการอภิบาลทารกตามคตินิยมของชาวไทยในอดีต คือ หนังสือ ทารกาภิบาล ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) กล่าวถึงการผดุงครรภ์ การเลี้ยงดูทารก ลักษณะแม่นม การสังเกตและรักษาโรคที่มักจะเกิดแก่เด็กทารก สะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิตของสังคมไทยในอดีตก่อนได้รับอิทธิพลด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน

เรื่อง ทารกาภิบาล ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์)

ต้นฉบับ

เรื่องทารกาภิบาลนี้มีต้นฉบับเอกสารพิมพ์ดีดเก็บรักษาไว้ที่กองวรรณคดี กรมศิลปากร ๑ ฉบับ และหนังสือ ทารกาภิบาล ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านขรัวยายไข่ ไกรฤกษ์ ภรรยาหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระกรุณาให้คัดหนังสือจากหอพระสมุดวชิรญาณที่เกี่ยวข้องกับผลงานของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ประทานให้ทายาทเก็บรักษาไว้ ถ้ามีโอกาสเหมาะสมก็จะได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นไว้ เพื่อบุตรหลานและญาติมิตรจะได้เห็นถ้อยคำสำนวนของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ต่อไป

<img>

หนังสือทารกาภิบาล ฉบับพิมพ์ครั้งแรก และท่านขรัวยายไข่ ไกรฤกษ์

เรื่องทารกาภิบาลมีเนื้อหาเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ เป็นข้อแนะนำให้ปฏิบัติตนและดูแลเด็กอ่อน เมื่อพิมพ์ครั้งแรกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) บุตรชายของหลวงมงคลรัตน์พิจารณาเห็นว่า เรื่องทารกาภิบาลนี้เป็นหนังสือขนาดสั้น เมื่อพิมพ์แล้วจะมีขนาดสั้นเกินไป จึงขอคำแนะนำจากเจ้าคุณดำรงแพทยาคุณ ให้ช่วยเขียนอธิบายเรื่องทารกาภิบาลเพิ่มเติม โดยได้นำมารวมพิมพ์ไว้ด้วยในฉบับพิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๗ ดังคำนำในการจัดพิมพ์ครั้งแรก ว่า

โคลง “ทารกาภิบาล” ของท่านบิดาเรียบเรียงไว้ เนื้อเรื่องแปลกถ้อยคำเกลี้ยงเกลาดี สำหรับผู้มีครรภปฏิบัติตนและวิธีเลี้ยงเด็กอ่อน แต่เป็นหนังสือเล็กน้อย เมื่อพิมพ์แล้วจะได้สักยกครึ่งเท่านั้น จึงได้ไปหาเจ้าคุณดำรงแพทยาคุณขอความแนะนำ ก็ได้รับความช่วยเหลือจะเขียนเป็นข้อความเรื่อง ทารกาภิบาล ให้ตามแต่จะมีเวลาพอที่จะทำได้และก็ได้เขียนเสร็จแล้ว ส่งมาให้กับที่ข้าพเจ้าได้รวมพิมพ์ไว้”

ทารกาภิบาลแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนแปด จำนวน ๙๘ บท และโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๒๖ บท โคลงสี่สุภาพตอนต้นบอกชื่อผู้แต่ง ๑ บท โคลงสี่สุภาพตอนท้ายแสดงตำรับยา ๒๕ บท ระบุชื่อผู้แต่งและจุดมุ่งหมายการแต่งไว้ในโคลงนำเรื่องและบทกลอนตอนท้ายอย่างชัดเจน ว่า

๏ หลวงรัตนมงคลอ้าง ออกนาม
เรียงบทพจนความ คิดไว้
ทำเนียบระเบียบตาม เติมต่อ ตัดแฮ
โปรดแบบบรรยายถ้อย โปรดเกล้าผมสนอง ฯ
[...] ให้มีทั้งกิริยามารยาท คำโอวาทให้รู้เด็กผู้ใหญ่
สำแดงคำนำกิจประดิษฐ์ไว้ พอแจ้งในเหตุผลยลสารา
เปรียบสวมเทริดเชิดโสภณมงคลรัตน์ ดังเช่นฉัตรเชิดฉายไปภายหน้า
จักเจริญสิริสวัสดิ์วัฒนา เพราะทราบถ้อยทารกาภิบาลเอย ฯ

คำประพันธ์ที่แต่งด้วยกลอนสุภาพ ๙๘ บท เนื้อหากล่าวถึงการสังเกตรักษาอาการตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การเลือกแม่นม การดูแลมารดาและทารกหลังคลอด จนถึงการดูแลเลี้ยงดูเด็กเล็ก ซึ่งหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) อ้างถึงที่มาของความรู้เรื่องการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรไว้ในตอนต้นของเรื่อง ว่านำมาจากคัมภีร์ประถมจินดา

เนื้อหา

เรื่อง ทารกาภิบาล แบ่งเนื้อหาได้เป็น ๓ ส่วน คือ การรักษาครรภ์ การดูแลเด็กทารกหลังคลอด และตำรับยารักษาอาการมารดาหลังคลอด รายละเอียดดังต่อไปนี้

. การรักษาครรภ์

เริ่มเรื่องด้วยการบอกนามผู้แต่ง คือ หลวงมงคลรัตน์ ต่อมาบอกจุดมุ่งหมายการแต่งเพื่อเป็นความรู้ไว้ใช้สั่งสอนและสืบทอดเรื่องการผดุงครรภ์ต่อไป ดังนี้

สิ่งที่สตรีตั้งครรภ์พึงระวังรักษา คือ กิริยาอาการ อาหารและยา โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จนกว่าจะพ้นสิบห้าวัน เรื่องการดูแลรักษาครรภ์นี้ให้ดูในคัมภีร์ปฐมจินดา คือ พึงพิจารณาอาหารและยา ทำจิตใจให้ผ่องใส รักษาศีล ๕ ทำทานและภาวนา ไม่คิดร้าย เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอดควรพิจารณาเลือกหมอตำแยและคนทำคลอดที่มีประสบการณ์ รู้วิธีทำคลอดให้ปลอดภัย เช่น เมื่อทารกคลอดออกมาต้องจับตัวเด็กพลิกคว่ำก่อนที่เด็กจะร้องเพื่อไม่ให้เลือดไหลลงคอ

การเลือกน้ำนมที่ดี เลือกจากลักษณะกายภาพของแม่นมตามคัมภีร์ประถมจินดา จัดเป็น ๔ ลักษณะ แม่นมที่มีลักษณะตามตำราจะเป็นหญิงในตระกูลขุนนาง เศรษฐี พ่อค้า ชาวสวนชาวนา หรือบัณฑิตก็ได้ ถ้าหาหญิงลักษณะตามตำราไม่ได้ก็ให้พิจารณาจากรสน้ำนม

. การดูแลเด็กทารกหลังคลอด

ผู้ที่มีหน้าที่เลี้ยงเด็กทารกทั้งแม่นมและบ่าวไพร่พี่เลี้ยงเด็ก ให้ดูแลเด็กตามที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ผู้เลี้ยงดูเด็กพึงระวังรักษากายวาจาใจ สอนให้เด็กรู้จักการปฏิบัติตนต่อผู้ใหญ่ สอนให้รู้กาลเทศะ

การดูแลเด็กทารก ให้ป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย ให้รู้จักสังเกตอาการเด็กและควรมีความรู้ด้านการรักษาโรคแผนไทย เช่น วิธีแก้หละ ซางตาน แก้ไข้ ร้อนใน แม่นมต้องระวังอาหารการกิน ไม่กินของแสลงน้ำนม ดูแลระวังเรื่องอาหารและอาการเด็กอ่อน เช่น ความเชื่อเรื่องโรคแม่ซื้อซึ่งหมายถึงโรคและอาการที่เกิดแก่ทารกตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ ๑๒ เดือน เช่น ปักษีหรือปีศาจและอัคคมุขี เป็นต้น

. ตำรับยารักษาอาการมารดาหลังคลอด

ตอนท้ายเรื่องกล่าวถึงตำรับยาสมุนไพรรักษาอาการหลังคลอด ได้แก่ ยาแก้ปวดน้ำคร่ำ แก้ปวดท้องคลอด ขับลม ขับเลือด ประสะลำไส้ล้างเลือด ยาสะเดาะรก ยาแก้ปวดมดลูก ยาสมานแผล ยาบำรุงน้ำนม และยาขับน้ำนม โคลงตอนท้าย ๔ บท กล่าวถึงการเสกเป่าเพื่อช่วยเรื่องการสะเดาะรก

ผู้แต่งแสดงความมุ่งหมายว่าการใช้ยาสมุนไพรแผนโบราณขนานต่างๆ สำหรับรักษาอาการหลังคลอดของมารดา เช่น ยาแก้ไข้เด็ก การทำน้ำสะเดาะรก ยาขับน้ำนมในเรื่องทารกาภิบาลนี้ เป็นเพียงตำรารักษาบรรเทาอาการเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปรักษากับแพทย์ได้ ความปรากฏว่า

๏ จักแถลงยาเกร็ดไว้ หวังถวิล
ผู้ที่ยากจนกิน ปกอบแล้
พอเพียงผ่อนทรัพย์สิน เสียมด หมอเอย
คิดว่าหยูกยาแก้ กิจร้อนรักษา ฯ

เรื่อง ทารกาภิบาล ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) แสดงวิถีชีวิต ความเชื่อ และภูมิปัญญาด้านการแพทย์และอนามัยของแม่และเด็กของคนไทยในอดีต ทั้งการรักษาแผนโบราณ เช่น การใช้ยาสมุนไพร ความเชื่อเรื่องปีศาจหรือแม่ซื้อ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็แสดงการอภิบาลทารกและมารดาตามแบบโบราณบางประการซึ่งตรงกับการรักษาแผนปัจจุบัน เรื่องทารกาภิบาลจึงเป็นเครื่องสะท้อนวัฒนธรรมไทยในอดีต และแสดงภูมิปัญญาด้านครรภ์รักษาและการดูแลทารกตามคติความเชื่อแบบโบราณของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

การจัดพิมพ์ เรื่อง ทารกาภิบาล ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ครั้งนี้ ใช้ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๗ ตรวจสอบกับต้นฉบับเอกสารพิมพ์ดีดเก่าซึ่งเก็บรักษาที่กองวรรณคดี กรมศิลปากร และปรับอักขรวิธีบางส่วนเป็นปัจจุบัน ผู้ตรวจสอบต้นฉบับได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากคัมภีร์ประถมจินดาโดยได้จัดทำเชิงอรรถอธิบายประกอบเนื้อหาเพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน ทั้งได้นำคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก พร้อมทั้งยังคงคำอธิบายของพระยาดำรงแพทยคุณไว้ในภาคผนวกตามฉบับพิมพ์ครั้งแรกทุกประการ

----------------------------

บรรณานุกรม

มงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ์), หลวง. ทารกาภิบาล. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร (พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านขรัวยายไข่ ไกรฤกษ์), ๒๔๗๗.

เยาวลักษณ์ ขยันการ. ความรู้แบบตำรับหลวงเรื่องครรภ์รักษาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๙.

สมาน สุดโต. “ขรัวยายไข่ มารดาเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ ๕.” ในวารสารวชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๓ (กรกฎาคม ๒๕๕๒) กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, หน้า ๓๙ - ๔๒.

อนุมานราชธน, พระยา. ประเพณีเก่าของไทย ๑. ประเพณีเนื่องในการเกิดและการเลี้ยงลูก. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเตชเสนา (จันทร์ เตชะเสน) ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒), ๒๔๙๒.

 

  1. ๑. นางสาวชนิดา สีหามาตย์ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรียบเรียง

  2. ๒. คัมภีร์ประถมจินดา เป็นคัมภีร์โบราณ ระบุไว้ในเรื่องว่าผู้แต่งคือชีวกโกมารภัจ เนื้อหาว่าด้วยการตั้งครรภ์และคลอดบุตร โดยกล่าวถึงพรหมจุติ (กำเนิดมนุษย์) โลหิตปกติโทษ (การเกิดระดู) กุมารปฏิสนธิ (การปฏิสนธิของสัตว์หรือทารกในครรภ์) ชาติทุกข์ (การเติบโตและลักษณะของทารกในครรภ์) ครรภ์ทวารกำเนิด (การทราบวันปฏิสนธิและวันคลอด) ครรภ์รักษา (อาการไม่สบาย ซึ่งเกิดระหว่างตั้งครรภ์และวิธีการรักษา) ครรภ์วิปลาส (สาเหตุของการแท้ง) ครรภ์ปริมณฑล (การรักษาอาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์และคลอด) และครรภ์ประสูติ (การคลอด ลักษณะท่าของทารกที่จะคลอดออกมา) วิธีฝังรก กุมารอยู่ในเรือนไฟ น้ำนมดีน้ำนมร้าย

    เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓ มีการชำระตำราแพทย์ และต่อมาได้รวมพิมพ์คัมภีร์ประถมจินดาในหนังสือตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ