คำอธิบายเรื่อง โคลงตำราไม้ดัด

เรื่องโคลงตำราไม้ดัดนี้ผู้แต่งคือหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ขุนนางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ในคำนำหนังสือ โคลงตำราไม้ดัด ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๒ ความว่า

“ต้นไม้ดัดที่เล่นกันมาในสมัยนั้นหามีใครแต่งหนังสือตำรับตำรา บัญญัติไว้อย่างไรไม่ หนังสือตำราต้นไม้ดัดพึ่งมาเกิดขึ้นเมื่อในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยหลวงมงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ) พยายามแต่งเป็นโคลง และให้เขียนรูปภาพต้นไม้ดัดตามบัญญัติไว้ในตำรานั้น ตำราต้นไม้ดัดจึงมีขึ้น และตำราของหลวงมงคลรัตนนั้น มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ) ผู้เป็นบุตรได้มีแก่ใจถวายไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครนานมาแล้ว แต่บอกขอให้สงวนไว้เพื่อจะพิมพ์ในการกุศลเนื่องด้วยวงศ์ตระกูล”

(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ๒๔๗๒ : (๓))

โคลงตำราไม้ดัดสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยในอดีต แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนรสนิยมของคนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเล่นไม้ดัดเป็นศิลปะการเล่นต้นไม้ชั้นสูง เพราะผู้เล่นต้องมีความละเอียดอ่อน มีจินตนาการ และมีความวิริยะเนื่องจากใช้เวลานานกว่าจะบรรลุความสำเร็จ การเล่นไม้ดัดจึงเป็นภูมิปัญญาสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง

การเล่นไม้ดัดของไทย

การเล่นไม้ดัดในประเทศไทยเริ่มมีตั้งแต่ครั้งใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะมีการเล่นไม้ดัดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ จนถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ชาวญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการเล่นไม้ดัด จึงน่าจะนำความรู้และวิธีเล่นไม้ดัดเข้ามาแต่ครั้งนั้น ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๔๗๒ : (๑)) ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ว่า

“การเล่นต้นไม้ดัดไทยเราเห็นจะได้คติมาจากญี่ปุ่น ด้วยมีหลักฐานว่าเขาเล่นมาช้านานนับหลายร้อยปีและมีชื่อไม้ญี่ปุ่นปรากฏในตำราไม้ดัดของไทยด้วย ...แต่การที่ญี่ปุ่นจะได้พาต้นไม้ดัดเข้ามาเมืองไทยเมื่อไรนั้น ก็ไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้ มีหลักฐานแต่เพียงว่า พวกญี่ปุ่นได้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากตั้งแต่รัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ มาจนในรัชชกาลพระเจ้าปราสาททอง ทำนองจะได้พาวิธีเล่นไม้ดัดเข้ามาในประเทศสยามในระยะนี้ ที่ว่านี้เป็นการสันนิษฐานทั้งสิ้น”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังและสร้างอุทยานสวนขวา สวนซ้ายซึ่งจำลองแบบมาจากสวนในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา ในการนี้ได้ทรงฟื้นฟูการเล่นไม้ดัดขึ้น โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์กล่าวถึงการประดับตกแต่งอุทยานด้วยไม้ดัด ว่า

๏ เชิงผาอัมพุดั้น เดินสูง มานา
ถึงกระหายหากจูง จิตรชื้น
งามภาพพิศขุนยูง ยืนแผ่ หางเฮย
ไม้ดอกไม้ดัดสรดื้น เทียบแกล้งแกล่ถวาย ฯ

(โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์, ๒๕๔๖ : ๖๐)

นอกจากนี้กวียังได้กล่าวถึงการตกแต่งบริเวณโดยรอบพระที่นั่งเย็น ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตั้งอยู่มุมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ความตอนหนึ่งกล่าวถึงการประดับบริเวณพระลานด้วยต้นไม้ดัด ว่า

๏ ที่นั่งเย็นยลล่งล้ำ ลมกระพือ พัดแฮ
เป็นที่สำราญฤๅ ว่างเว้น
พระลานเลี่ยนแลคือ หนังน่า กลองนา
ไม้ดัดสรรทรงเหล้น พุ่มแกล้งผจงเจียน ฯ

(โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์, ๒๕๔๖ : ๖๒)

นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ซึ่งแต่งในราวพุทธศักราช ๒๓๕๐ สุนทรภู่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลง เมื่อเดินทางถึงบริเวณหนองชะแง้วซึ่งอยู่ระหว่างพัทยากับภูจอมเทียน ได้บรรยายว่าพบต้นไม้ที่มีรูปทรงคล้ายไม้ดัด ที่ตั้งประดับอยู่โดยรอบท้องพระโรง เช่น ต้นมะค่า ต้นมะขาม และต้นข่อย คิดจะนำกลับมาด้วย แต่เนื่องจากการเดินทางลำบากจึงได้แต่นึกเสียดายไม่อาจนำมาได้ ดังนี้

[...] เห็นพฤกษาไม้มะค่ามะขามข่อย ทั้งไทรย้อยยอดโยนโดนตะโขง
เหมือนไม้ดัดจัดวางข้างพระโรง เป็นพุ่มโพรงสาขาน่าเสียดาย
เดินพินิจเหมือนคิดสมบัติบ้า จะใคร่หาต้นไม้เข้าไปถวาย
นี่เหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าบรรดาตาย แสนเสียดายดูเดินจนเกินไป

(ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่, ๒๕๓๘ : ๗๐)

การเล่นไม้ดัดเป็นที่นิยมมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยซึ่งใช้เป็นท้องพระโรงตั้งกระถางไม้ดัดไว้โดยรอบ มีข้อมูลปรากฏในวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยนี้คือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพิจารณาสำนวนกลอนว่าเป็นสำนวนของสุนทรภู่ เหตุการณ์ตอนจมื่นศรีเสาวรักษ์พาพลายงามติดตามไปเข้าเฝ้าในท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวัง กล่าวถึงไม้ดัดภายในท้องพระโรง ความปรากฏว่า

๏ ครานั้นพลายงามทรามสวาท แหลมฉลาดเลขผาปัญญาขยัน
อยู่บ้านพระหมื่นศรียินดีครัน ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน
เธอเข้าเฝ้าเจ้าก็นั่งบังไม้ดัด คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาสัย
ค่อยรู้กิจผิดชอบรอบคอบไป ด้วยมิได้คบเพื่อนเที่ยวเชือนแช [...]

(เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับสมบูรณ์สามภาค และฉบับต่างสำนวน เล่ม ๑, ๒๕๕๘ : ๔๕๘)

นอกจากความนิยมวางกระถางไม้ดัดประดับภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังและโรงหุ่นหลวงแล้ว ตามพระอารามตลอดจนบ้านขุนนางและคหบดีก็นิยมทำไม้ดัดสำหรับตั้งเป็นเครื่องประดับสวนหรือไว้ชมเล่น โดยนิยมปลูกไม้ดัดใส่กระถางกระเบื้องเคลือบลายครามและกระถางรูปทรงเปลตั้งตามนอกชานเรือน มีข้อมูลปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ได้นางแก้วกิริยา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพรรณนาความงดงามของไม้กระถางบนเรือนขุนช้าง โดยกล่าวถึงกระถางไม้ดัด เช่น มะสัง ตะโก ข่อย ว่า

๏ โจนลงกลางชานร้านดอกไม้ ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่น
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน ชื่นชื่นลมชายสบายใจ
กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม ตะขบข่อยคัดไว้จังหวะกัน
ตะโกนาทิ้งกิ่งประกับยอด แทงทวยทอดอินพรมนมสวรรค์
บ้างผลิดอกออกช่อขึ้นชูชัน แสงพระจันทร์จับแจ่มกระจ่างตา
ยี่สุ่นกุหลาบมะลิซ้อน ซ่อนชู้ชูกลิ่นถวิลหา
ลำดวนกวนใจให้ไคลคลา สาวหยุดหยุดช้าแล้วยืนชม

(เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับสมบูรณ์สามภาค และฉบับต่างสำนวน เล่ม ๑, ๒๕๕๘ : ๓๑๖)

<img>

ร้านกระถางไม้ดัด

ที่มาภาพ : พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม

วรรณคดีที่สะท้อนภาพความนิยมการเล่นไม้ดัดในราชสำนักสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกเรื่องหนึ่งคือ ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี พระนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เมื่อครั้งเสด็จยกทัพไปขัดทัพพม่าที่เมืองหน้าด่าน พุทธศักราช ๒๓๖๓ ความตอนหนึ่งกล่าวถึงการพบต้นไม้ที่มีรูปทรงเหมาะสำหรับนำมาทำไม้ดัดระหว่างการเดินทางถึงตำบลเจ็ดเสมียน เมืองราชบุรี ว่า

๏ ถับถึงเจ็ดเสมียนเรียก เสมียนนาย
จดตำบลไปถวาย พระน้อง
พรรณไม้หลากประหลาดหลาย ต่างต่าง
คราวเมื่อทรงกลอนต้อง การได้เลือกทรง ฯ
[...] ๏ พ้นทุ่งเข้าดงร่ม เย็นใจ
หมู่กระถินพิมานไกว กิ่งค้อม
พิศกิ่งยิ่งไม้ใน ใส่กระ ถางนา
ลำต้นสมยอดพร้อม อย่างเล่ห์ดัดทำ ฯ

(พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑, ๒๕๔๕ : ๑๗๖, ๑๘๒)

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงบรรยายถึงการเดินทางระหว่างเดินทัพจากบางสองร้อยถึงค่ายทัพหลวงที่ราชบุรี ขณะตั้งค่ายพักทัพที่เขาสนองทรงพบต้นไม้ที่มีลักษณะรูปทรงสวยงาม ได้รับสั่งให้ขุดต้นไม้นั้นบรรทุกแพล่องส่งมายังกรุงเทพฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สำหรับประดับอุทยานในพระบรมมหาราชวัง ดังนี้

๏ พักพลผ่อนเหนื่อยน้อย บัญชา
จัดเป็นกองกันหา ขุดไม้
ชักลากฉุดเอามา ใส่พ่วง แพเฮย
ต่างต่างอย่างสรรไว้ แต่ไม้ที่งาม ฯ
๏ แล้วบอกส่งต้นไม้ ศิลา
ให้ปลัดอาสา คุมเข้า
มายังกรุงทวารา ส่งเนื่อง
ถวายแด่จอมมกุฎเกล้า ประดับในสะตาหมัน

(พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑, ๒๕๔๕ : ๒๑๙ - ๒๒๐)

บางครั้งเมื่อทรงพบต้นไม้ที่มีลักษณะเหมาะสำหรับทำไม้ดัดก็ไม่สามารถจัดหาต้นไม้ได้เนื่องจากต้องรีบเดินทัพและการขนส่งไม่สะดวก ดังที่ทรงบรรยายถึงระหว่างกรีธาทัพจากราชบุรีถึงหนองมะสัง เมืองกาญจนบุรีไว้ว่า

๏ มะสังดงมะสังแน่น แต่มะสัง
เล็กใหญ่เสียดแซงมะสัง รกเร้น
ที่งามงามที่มะสัง ดังมะสัง ดัดนา
ใคร่หยุดหามะสังเหล้น เที่ยวเฟ้นหามะสัง ฯ
๏ จนใจฤๅไว้ใจ รีบเมือ
เลียบด่านการศึกเสือ ข่าวร้อน
อิกระยะไกลเรือ ยืดยาก ทางนา
แม้หาได้ลาภย้อน ไม่รอดป่วยแรง ฯ

(พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑, ๒๕๔๕ : ๒๑๙ - ๒๒๐)

นอกจากลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรีแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพยังได้ทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ๒ ตั้งแต่ขุนแผนครวญถึงนางลาวทองแล้วกลับคิดถึงนางวันทอง จนถึงลักพานางวันทองไปอยู่ป่า เมื่อกล่าวถึงตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างได้ทรงพรรณนาภาพสวนบนชานเรือนขุนช้างซึ่งประดับด้วยกระถางไม้ดัด เช่นไม้เอนชายไว้ด้วย ว่า

๏ เดือนเอยเดือนหงาย นอกชานทำสบายเทียวนักหนา
ต้นไม้ใส่กระถางวางบนม้า เอนชายหลายท่าป่าทำนอง
มีภูเขาก่อกองด้วยฟองน้ำ ชะโงกง้ำถ้ำเหวเปลวปล่อง
ไม้พุ่มโกรนเกรียนเขียนเป็นรอง มีบึงหนองคลองน้ำลำธาร

(กรมศิลปากร, ๒๕๔๕ : ๒๗๔)

การประดับกระถางไม้ดัดในบริเวณพระบรมมหาราชวังยังปรากฏสืบมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโคลงตำราไม้ดัด ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้กล่าวถึงการประดับไม้ดัดในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ในโคลงบทที่ ๑๖ ว่า

๏ ไม้ขบวนฉากแบบทั้ง สองชะนิด
ในพระราชวังสถิต เกิดพร้อม
พระบาทพระนั่งเกล้าสฤดิ รังรุกข์ ไว้นา
มาบัดนี้ทรงส้อม แทรกพื้นพรรค์ขบวน ฯ

โคลงบทนี้เป็นหลักฐานว่าไม้ดัดที่ประดับในพระบรมมหาราชวังครั้งนั้นยังมีสืบเนื่องมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและมิได้ทรงเปลี่ยนแปลงไม้ดัดของเดิมที่มีอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังได้ทรงโปรดฯ ให้มีเพิ่มเติมในพระราชวังสวนดุสิตอีกด้วย

<img>

การประดับกระถางไม้ดัดภายในพระบรมมหาราชวัง

ที่มาภาพ : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม ๒๑

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นพระราชมณเฑียร บริเวณสวนขวาภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณโดยรอบพระที่นั่งบางองค์ยังนิยมประดับตกแต่งด้วยกระถางต้นไม้ดัด ดังปรากฏหลักฐานในภาพเขียนบริเวณมุขหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์แรก) นอกจากนี้ยังปรากฏในภาพถ่ายและประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๕ เมื่อกล่าวถึงบริเวณ “สกุณวัน” คือเก๋งกรงนกริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ความว่า “ที่ชาลาหน้าโรงช้างในแถวกระถางต้นไม้ดัด เดิมเปนอ่างแก้วสำหรับปลูกบัว โปรดให้ถมสระสร้างกรงใหญ่ ในนั้นก่อภูเขา แลปลูกต้นไม้สำหรับเลี้ยงนก เรียกบริเวณที่นี้ว่า “สกุณวัน”” (เรื่องตำนานสถานที่และวัตถุต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง นับเปนประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕, ๒๔๖๘ : ๔)

<img>

เก๋งกรงนก หรือ สกุณวัน

ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

การเล่นไม้ดัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมาก ผู้อยู่ในรั้วในวังตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ตลอดจนพระสงฆ์ นิยมเล่นไม้ดัดกันมาก ดังปรากฏใน เรื่องปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕ (นวรัต ไกรฤกษ์, ๒๕๔๕ : ๓๙) ว่า เมื่อมีการจัดประกวดต้นไม้ในงานพระราชพิธีโสกันต์และรับพระสุพรรณบัฏที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไม้ดัดจัดเป็นไม้ประกวดชนิดหนึ่งด้วย ความปรากฏว่า

“งานพระราชพิธีโสกันต์และรับพระสุพรรณบัฏที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้เคยมีการประกวดโชว์ต้นไม้กระถาง เช่น ไม้ดอก ไม้ใบ โกศล บอน ไม้ดัด เป็นต้น ตั้งโชว์ตามลานพระที่นั่ง มีกรรมการตรวจตัดสิน สำหรับพระราชทานรางวัลนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงโปรดในพฤกษชาติยิ่งนัก”

พระบรมวงศานุวงศ์ที่โปรดการเล่นไม้ดัด เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา เป็นต้น ส่วนในหมู่ขุนนางและพระสงฆ์ที่นิยมเล่นไม้ดัดนั้น พลตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) (๒๕๑๓ : ๗ - ๘) ได้รวบรวมรายชื่อผู้เล่นไม้ดัดที่มีชีวิตอยู่ในพุทธศักราช ๒๔๘๐ ทั้งข้าราชการและพระภิกษุ เช่น พระยาประวัติสุทธิกรณ์ (เจริญ ตุลยานนท์) พระยาปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติศาลิกร) หลวงศรีสารบาญ (ศรี วิมลศิลปิน) ขุนพิพิธบรรณาการ (เจียอี่ วิทยาศุข) พระครูประสิทธิ์สมณะการ (ต้าน) วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส พระมหาผิว (ศุขะพิสิษฐ) วัดเทพศิรินทราวาส พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) พระศุลีสวามิภักดิ์ (เศวตร์ พราหมณะนันทน์) หลวงวิจิตรพัตราภรณ์ (เพี้ยน แสงรุจิ) ขุนสันทัดธนการ (พึ่ง จันทนิยมานันท์) เป็นต้น

ต้นไม้ที่นำมาทำไม้ดัดต้องเป็นไม้ที่มีลักษณะใบเล็ก กิ่งและลำต้นเหนียวไม่หักง่าย เป็นไม้อายุยืน แตกกิ่งก้านดีและไม่เจริญเติบโตเปลี่ยนรูปร่างเร็วนัก เช่น ตะโก ข่อย มะขาม มะสัง ชา โมก ข้าวตอก เป็นต้น ต้นไม้ที่นิยมนำมาทำไม้ดัดมากที่สุดคือ ต้นตะโก เพราะมีอายุยืนนาน โตช้า ผิวลำต้นสีดำมีปุ่มตาที่สวยงาม ลำต้น ยิ่งแก่ยิ่งงาม เมื่อดัดตกแต่งแล้วจะคงรูปทรงอยู่ได้นาน ในอดีตผู้เล่นไม้ดัดนิยมไปขุดหาต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ต้นตะโก ส่วนมากพบตามป่าแถบนครชัยศรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ต้นไม้บางชนิดสามารถหาได้ตามสวนหรือป่าละเมาะแถบชานพระนคร เช่น ข่อย มะขาม ชา และโมก เป็นต้น

ไม้ดัดที่จัดว่างามนั้นต้องมีรูปทรงสวยงาม มีระยะช่องไฟของช่อได้ระเบียบ และการจัดทำลำต้น กิ่งและช่อต้องเข้าตำรากฎเกณฑ์ของไม้ดัดแต่ละชนิด การทำไม้ดัดจึงเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความอุตสาหะ วิริยะ และความประณีตอย่างมาก การดัดต้นไม้ให้เป็นรูปทรงตามแบบต้องอาศัยเวลานานหลายปี บางชนิดอาจใช้เวลาถึง ๒๐ - ๓๐ ปี เพราะต้องรอการเจริญเติบโตของต้นไม้ ระหว่างนั้นผู้เลี้ยงก็ต้องคอยทำนุบำรุงดูแลรักษาและใช้ศิลปะในการดัดบังคับให้ไม้มีรูปทรงตามจินตนาการและตำรา ต่อมาความนิยมการเล่นไม้ดัดเสื่อมถอยลงจนเหลือเฉพาะตามบ้านที่เคยเล่นกันมา แต่ในพระบรมมหาราชวังและตามพระอารามหลวง ยังเหลือต้นไม้ดัดซึ่งยังคงรักษารูปทรงตามแบบแผนแต่โบราณอยู่บ้าง เช่น วางประดับบริเวณโดยรอบหรือด้านหน้าพระที่นั่ง ได้แก่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท บริเวณพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) บริเวณหมู่พระเจดีย์รอบพระอุโบสถ ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดคลองเตยใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำไม้ดัดมาประดับในงานพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีออกพระเมรุพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยประดับตกแต่งรอบพระเมรุให้เหมือนป่าหิมพานต์ ประกอบด้วย เขามอ ต้นไม้ดัด และสัตว์หิมพานต์ต่างๆ

<img>

(ซ้าย) ไม้ดัดประดับรอบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ขวา) พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ตำราไม้ดัด

ตำราไม้ดัดของไทยสันนิษฐานกันว่า น่าจะมีขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ต้นฉบับอาจสูญหายไป ดังพระนิพนธ์อธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๕๗๒ : (๓)) ว่า

“ได้ความในเรื่องตำนานต้นไม้ดัดต่อมาดังปรากฏอยู่ในโคลงของหลวงมงคลรัตนว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงทราบตำรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงกำหนดไว้และทรงชี้แจงแก่นายด้วงคนหนึ่งซึ่งเป็นข้าในกรมทรงใช้สอยในเรื่องต้นไม้ดัด ครั้นกรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว ต่อมานายด้วงออกบรรพชาเป็นภิกษุ หลวงมงคลรัตนได้รู้จักคุ้นเคย จึงได้ตำราต้นไม้ดัดมาจากพระด้วง แล้วเอามาแต่งโคลงขึ้นไว้เพื่อจะให้เป็นตำราปรากฏอยู่ถาวรสืบไป”

ตำราไม้ดัดที่มีปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์และนับถือกันในหมู่ผู้เล่นไม้ดัดคือโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ซึ่งแต่งเรื่องตำราไม้ดัดตามหลักเกณฑ์ที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงกำหนดไว้ หลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ซึ่งเคยมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนท่องสื่อได้เรียนวิชาทำไม้ดัดจากพระด้วงหรือนายด้วง ซึ่งเคยรับราชการในกรมมหาดเล็ก เป็นข้าราชการในกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีที่ทรงใช้สอยในเรื่องต้นไม้ดัด ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ นายด้วงลาราชการออกบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ต่อมามีผู้เล่นไม้ดัด ๒ ท่าน คือ พระยาปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติศาลิกร) และ พลตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) แต่งหนังสือเรื่องไม้ดัดฉบับความเรียงขึ้นและนำโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) มาพิมพ์ไว้ด้วย ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเห็นพ้องกันว่าภาพประกอบโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ นั้นบางแบบไม่ตรงกับลักษณะที่บรรยายไว้ในโคลง

พุทธศักราช ๒๔๗๙ พระยาปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติศาลิกร) เขียนหนังสือเรื่อง แบบทำไม้ดัดและวิธีก่อเขามอ อธิบายความรู้เกี่ยวกับการเล่นไม้ดัด และความนิยมเล่นไม้ดัดในสมัยนั้น นำภาพประกอบและโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ ๒๒ บทมาพิมพ์ไว้ด้วย และได้แสดงความเห็นเรื่องภาพต้นไม้ดัดไว้ดังนี้

“...เชื่อว่าเมื่อพิมพ์โคลงตำราไม้ดัดเล่มนี้นั้นได้ภาพมาจากอีกแห่งหนึ่ง, ซึ่งใครจะเขียนขึ้นไว้ก็ไม่ได้ความ แต่ได้เห็นมีอยู่ในหมู่นักเล่นไม้ดัด เช่น ที่บ้านท่านเจ้าพระยาภาศกรวงศ์ และที่นายเอมหรือที่หอพระสมุด ฯลฯ เป็นต้น จึงนำมาพิมพ์เข้าเล่มรวมกัน ไม่ใช่ภาพต้นไม้ที่มีอยู่ประกอบกับโคลงแต่เดิมมา, ที่กล้ากล่าวดั่งนี้เพราะข้าพเจ้าเคยได้เห็นและได้อ่าน ต้นฉะบับซึ่งเขียนไว้ในสมุดดำของพระยาราชสัมภารากร มีแต่คำโคลงไม่มีรูปหรือแบบไม้ดัดประกอบ ฉะนั้นภาพไม้ดัดที่ปรากฏในสมุดซึ่งพิมพ์ขึ้นพร้อมกับโคลงตำราไม้ดัดเล่มที่กล่าวแล้วจึ่งไม่ค่อยจะลงรอยกัน”

พุทธศักราช ๒๔๘๐ พลตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) เขียนหนังสือเรื่อง คำแนะนำในการทำไม้ดัด พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงพิศ พิชัยรณรงค์สงคราม เนื้อหาเกี่ยวกับไม้ดัดโดยละเอียด ตั้งแต่วิธีการดัด วิธีการหาต้นไม้ ลักษณะไม้ที่เหมาะสำหรับทำไม้ดัด ฯลฯ ภาพประกอบเป็นภาพถ่ายไม้ดัดฝีมือของพลตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงครามเอง และนำโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์มาพิมพ์พร้อมทั้งอธิบายประกอบไว้ด้วย พลตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงครามแสดงความเห็นว่าภาพวาดต้นไม้ดัดประกอบโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ฉบับพิมพ์ครั้งแรกนั้น น่าจะมีที่มาต่างกัน ดังนี้

“...แบบโคลงนั้นได้มาทางหนึ่ง ส่วนรูปเขียนนั้นได้มาจาก พ.อ. พระยาดำเกิงรณภพ (ทัด ปัทมานนท์) ว่าได้มาจากท่านสมภารองค์หนึ่งอยู่ในคลองบางกอกน้อยซึ่งมรณภาพไปแล้ว มีรูปเขียนกว่า ๔๐ รูป แต่หาได้บอกไม่ว่าแบบไม้ต้นใดเรียกชื่อว่าอะไร และได้ความอีกว่าแบบไม้ดัดฉบับนี้ เจ้าคุณดำเกิงฯ ได้นำถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้กับหอพระสมุด จึ่งเข้าใจว่าคงจะได้เลือกแต่บางรูปแล้วเติมชื่อพิมพ์ลงในหนังสือฉะบับนั้น”

(พลตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต), ๒๕๑๓ : (๓))

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานความเห็นเรื่องตำราไม้ดัดถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ในสาส์นสมเด็จไว้ว่า

“ตำราต้นไม้ดัดที่พระยาพิชัยรณรงค์สงครามพิมพ์แจกนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าเอาตำราที่มีในหอพระสมุดฯ มาพิมพ์ ตำรานั้นเขียนรูปภาพต้นไม้ดัดอย่างที่เราเรียกชื่อต่างๆ และมีโคลงหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง) บิดาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) แต่งไว้ หม่อมฉันได้เคยพิจารณานึกว่า การเล่นต้นไม้ดัด ไทยเราเอาอย่างมาแต่ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะญี่ปุ่นเขาเล่นมาหลายร้อยปีแล้ว ในกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏว่าเล่นมาแต่รัชกาลที่ ๑ แต่มาเล่นกันเฟื่องฟูขึ้นในรัชกาลที่ ๒ จึงเป็นเหตุให้เกิดตำรา ที่หอพระสมุดฯ ได้มามีของแปลกเนื่องด้วยเรื่องต้นไม้ดัดอยู่นอกตำรานั้น ๒ อย่าง อย่าง ๑ กระถางต้นไม้อย่างที่เรียกกันว่า “กระถางกราบ” นั้น หม่อมฉันเคยได้ยินใครบอกก็จำตัวไม่ได้เสียแล้ว ว่าหม่อมไกรสรคิดขึ้นเพื่อจะตั้งกรงครอบกราบกระถางให้มีนกอยู่กับต้นไม้ดัดด้วยดังนี้ อีกอย่าง ๑ นั้น หม่อมฉันยังจำตัวผู้บอกได้ คือ พระยานครราชเสนี (กาจ สิงหเสนี) แกเล่นต้นไม้ ต้นไหนท่วงทีเข้ารูปไม้ดัดในตำรา ก็ตัดกิ่งก้านดัดแปลงให้ตรงรูปในตำรา บอกว่าสนุกดีกว่าเล่นต้นไม้กระถาง”

(สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๒, ๒๕๐๔ : ๒๒๓)

โคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) นี้นับถือกันในบรรดาผู้เล่นไม้ดัดว่าเป็นตำราไม้ดัดเล่มแรก แม้ภายหลังเมื่อมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเรื่องไม้ดัด มักนำโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) มาประกอบด้วยเสมอ

เอกสารสมุดไทยเรื่อง โคลงตำราไม้ดัด

เรื่องตำราไม้ดัด พบต้นฉบับสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีทั้งหมด ๔ เล่ม ดังนี้

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๓

สมุดไทยขาว เส้นรงค์

หมวดตำราเบ็ดเตล็ด อักษรไทย ภาษาไทย

เรื่อง ตำราไม้ดัดคำโคลงของขุนท่องสื่อ (มีภาพต้นไม้ดัดระบายสี)

ประวัติ สมบัติของหอสมุดแห่งชาติ

มีภาพวาดต้นไม้ดัด ๒๔ ภาพ เขียนด้วยดินสอ หมึก ระบายสีน้ำยา

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๔

สมุดไทยดำ เส้นดินสอขาว

หมวดตำราเบ็ดเตล็ด

เรื่อง ตำราไม้ดัดคำโคลง (มีภาพต้นไม้ดัด เส้นดินสอขาว)

ประวัติ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ถวายหอพระสมุดฯ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๕

สมุดไทยดำ

หมวดหมู่ตำราเบ็ดเตล็ด

เรื่อง ตำราไม้ดัด (มีภาพต้นไม้ดัดระบายด้วยน้ำยาจีนสีดำ)

ประวัติ หม่อมเจ้าทัศนาให้หอสมุดฯ วันที่ ๒ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๕ หน้าที่ ๒ มีลายมือเขียนด้วยดินสอดำลงในกระดาษขาวติดบนสมุดไทยดำ ดังนี้

ไม้ใบบิดแบ่งพลิ้ว แพลงสี ประสานเอย
ไม้ดอกดกหอมดี กลิ่นฟุ้ง
ไม้เถาร่มต้นมี เผลดช่อ สุคนธแฮ
ไม้ดัดเรือนกิ่ง (ถุ้ง) หว่างซุ้ม ฉ่องฉาย

สมุดไทยหน้าที่ ๓ มีลายมือเขียนด้วยดินสอดำลงในกระดาษขาว ดังนี้

สิทธิการิยะ ผู้ใดจะเล่นไม้ดัด ให้เรียนตัดไม้ป่าเสียให้ชำนาญ แล้วจึงหัดดัดเปนหนวดโตเสียก่อน แล้วจึงดัดต้นไว้พุ่ม อย่าให้เปนแสกให้เปน ๔ เส้า เมื่อจะปลูกนั้นให้แต่งดินทำให้ดีให้พื้นที่เสียด้วย

<img>

สมุดไทยเรื่องตำราไม้ดัด เลขที่ ๒๕

<img>

สมุดไทยเรื่องตำราไม้ดัด เลขที่ ๒๖

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๖

สมุดไทยดำ

หมวดหมู่ตำราเบ็ดเตล็ด

เรื่อง ตำราไม้ดัด (มีภาพต้นไม้ดัดชุบรง)

ประวัติ หนังสือของหม่อมเจ้าทัศนา ถวายหอพระสมุดฯ ณ วันที่ ๒ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๖ มีลายมือเขียนด้วยเส้นดินสอขาว ข้อความคล้ายกับเอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๕ หน้าที่ ๓ ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง

โคลงตำราไม้ดัด ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์)

เอกสารสมุดไทยดำ เลขที่ ๒๔ มัดที่ ๓ ตู้ ๑๑๗ ชั้น ๑/๔ เรื่อง ตำราไม้ดัดคำโคลง มีภาพประกอบ เส้นดินสอขาว เขียนอักษรด้วยเส้นดินสอขาว พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ถวายหอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘

สมุดไทยดำเล่มนี้ สันนิษฐานว่าเป็นลายมือของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) เนื่องจากมีโคลงไม้ดัด ๒๒ บท และภาพเขียนรูปต้นไม้ดัด ๕๐ ภาพ ซึ่งคงเป็นภาพตามที่หลวงมงคลรัตน์ได้รับรู้เล่าเรียนมาจากพระด้วง ภาพเขียนชุดนี้ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่และต่างไปจากภาพต้นไม้ดัดฉบับพิมพ์ นอกจากโคลงตำราไม้ดัดยังมีข้อความเขียนตำรายา และข้อความกล่าวถึงครอบครัวและมิตรสหาย ซึ่งหลายคนเป็นกวีผู้ร่วมกันแต่งเสภาเรื่องอาบูหะซัน ดังนี้

๏ จดหมาย คำนับมายังท่านที่รักที่นับถือทราบ ด้วย ฯฃ้าฯ ป่วยโรคเรื้อรังคิดถึงว่าชีวิตสังฃานเป็นอะนิจัง ฃอเชิญท่านผู้ที่รักษ์เพื่อนยาติอันสนิท ไปที่บ้าน ฯฃ้าฯ ... เพลาพลบค่ำ จะได้ทำพิไนกรรม ให้เปนการเรียบร้อยแก่บุตรภรรยาของ ฯ ฃ้าฯ เทอญ

พระยาศรีสุนทรโวหารพระสิทธิไชย์ หลวงเพช ขุนมหาสิทธิ์โวหาร ขุนพินิจใจ

โคลงตำราไม้ดัด แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๒๒ บท ระบุชื่อผู้แต่งไว้ในโคลงบทที่ ๑๑ ว่า ขุนท่องสื่อ (ตำแหน่งเดิมของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์)) แต่งโคลงไม้ดัดตามที่เคยเรียนการดัดไม้จากพระด้วงเพื่อสืบทอดไว้ ดังนี้

๏ ขุนท่องสื่อเก่าแจ้ง จำถนัด
ลิขิตโคลงไม้ดัด แต่งไว้
เคยฝึกเล่นโดยจัด จวบพระ ด้วงนา
เพื่อจะดัดคงไว้ ดุจถ้อยกลอนแถลง ฯ

โคลงตำราไม้ดัดมีเนื้อหากล่าวถึงผู้แต่งและจุดมุ่งหมายการแต่ง ความเป็นมาของการเล่นไม้ดัดในรัชกาลที่ ๒ ที่นิยมตามแบบกรุงเก่า เจ้านายผู้นิยมเล่นไม้ดัด ลักษณะของไม้ดัด ๙ แบบและวิธีการดัดไม้บางแบบ ดังนี้

โคลงบทที่ ๑ กล่าวถึงพระราชนิยมการเล่นไม้ดัดในรัชกาลที่ ๒ โดยทรงนิยมกระบวนดัดตามแบบกรุงเก่า และโปรดฯ ให้หาไม้ที่มีลักษณะตามแบบ

โคลงบทที่ ๒ กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดหาไม้ดัดตามแบบ เช่น ไม้เขน ไม้ญี่ปุ่น ไม้ป่าข้อม และไม้หกเหียน

โคลงบทที่ ๓ กล่าวถึงพระด้วง หรือนายด้วงผู้ใกล้ชิดกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ภายหลังได้บวชเป็นพระ พระด้วง เป็นผู้ถ่ายทอดตำราไม้ดัดให้ขุนท่องสื่อ

โคลงบทที่ ๔ - ๑๐ บอกชื่อและลักษณะไม้ ๙ ชนิด คือ ไม้ขบวน ไม้ฉาก ไม้หกเหียน ไม้เขน ไม้ป่าข้อม ไม้ญี่ปุ่น ไม้กำมะลอ ไม้ตลก และไม้เอนชาย

โคลงบทที่ ๑๑ บอกผู้แต่งและความมุ่งหมายการแต่ง คือขุนท่องสื่อแต่งโคลงไม้ดัดตามที่เคยเรียนวิธีการทำไม้ดัดจากพระด้วง

โคลงบทที่ ๑๒ - ๑๓ บอกประโยชน์ของการเล่นไม้ดัด คือผู้เล่นไม้ดัดต้องเป็นผู้ที่มีความวิริยะและใจเย็น เนื่องจากการทำไม้ดัดต้องอาศัยความประณีตในการตัดแต่งทรงพุ่มและกลบบาด

โคลงบทที่ ๑๔ การประดับโรงหุ่นด้วยไม้ดัดตามฉากป่าเขา

โคลงบทที่ ๑๕ กรมพระพิพิธและกรมพระพิทักษ์หาหุ่นป่ามาทำไม้ดัด

โคลงบทที่ ๑๖ ไม้ขบวนไม้ฉากในพระบรมมหาราชวังยังคงรักษาไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โคลงบทที่ ๑๘ - ๒๒ บรรยายวิธีการทำไม้ดัด

ประวัติการจัดพิมพ์

โคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา โปรดฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกตรี พระยาราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์) บุตรคนที่ ๖ ของหลวงมงคลรัตน์ เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒ ใช้ชื่อว่า โคลงตำราไม้ดัด หลวงมงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ) แต่ง พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้ประกอบด้วยคำนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ๒๒ บท และภาพวาดต้นไม้ดัด จำนวน ๒๔ ภาพ๑๐

ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ชื่อหนังสือ โคลงตำราไม้ดัด ตำนานเครื่องมโหรี ปี่พาทย์ และประชุมบทเพลงไทยเดิม ภาคหนึ่ง ภาคสอง และภาคสาม จัดพิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระศุลีสวามิภักดิ์ (เศวตร์ พราหมณะนันทน์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ โดยพิมพ์รวมกับตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ และประชุมบทเพลงไทยเดิม ประกอบด้วยโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) และภาพประกอบคือภาพวาดต้นไม้ดัด จำนวน ๒๔ ภาพ

ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ ชื่อหนังสือ โคลงตำราไม้ดัดและประชุมบทเพลงไทยเดิม กรมศิลปากรพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เรืออากาศเอกชเลศ ทองใบใหญ่ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ข่าวทหารอากาศ

โคลงตำราไม้ดัดเป็นเครื่องสะท้อนวัฒนธรรมในอดีต โดยเฉพาะความนิยมเล่นไม้ดัดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังความที่กล่าวถึงความนิยมเล่นไม้ดัดและภูมิประเทศแหล่งหาต้นไม้สำหรับทำไม้ดัด เช่น บางช้าง ปรากฏในโคลงบทที่ ๑๗ ว่า

๏ หกเขียนฉากแบบนี้ นานศูนย์
เพราะบ่เห็นสมบูรณ์ เริดร้าง
สุดงามสุดยากปูน ปานเช่น กันแฮ
สองรุกข์แถวบางช้าง เชิดคล้ายพอแปลง ฯ

นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการตกแต่งโรงหุ่นหลวงฉากป่าเขาด้วยต้นไม้ดัดที่มีรูปทรงใกล้เคียงธรรมชาติ เช่น ไม้เขน ไม้ป่าข้อม และไม้เอนชาย ดังนี้

๏ พระบัณฑูรโปรดไม้ นามเขน
กับป่าข้อมชายเอน ออกตั้ง
โรงหุ่นแต่งทุกเวร วางเทียบ งามแฮ
สมฉากสมเขาทั้ง เทียบพื้นไพรระหง

การเล่นไม้ดัดสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยในอดีต แสดงถึงวิถีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง ตลอดจนความนิยมของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเล่นไม้ดัดเป็นศิลปะชั้นสูง ผู้เล่นต้องมีความละเอียดอ่อนและมีความวิริยะ นับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

<img>

ภาพไม้ดัดบนฉากด้านหน้าโรงหุ่น

ที่มาภาพ : จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

การจัดพิมพ์ โคลงตำราไม้ดัด ของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ครั้งนี้ ใช้เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๔ เป็นหลักในการตรวจสอบ โดยสอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ และปรับอักขรวิธีบางส่วน ทั้งได้นำคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๒ และฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ สำเนาสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๒๓ และ ๒๔ รวมทั้งประวัติและผลงานของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) มาพิมพ์ไว้ในหนังสือนี้ด้วยเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้สนใจ

----------------------------

บรรณานุกรม

เอกสารตัวเขียน

“ตำราไม้ดัดคำโคลงของขุนท่องสื่อ (มีภาพต้นไม้ดัดระบายสี).” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยขาว. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นรงค์, (ดินสอ, หมึก, สีน้ำยา). ม.ป.ป.. เลขที่ ๒๓.

“ตำราไม้ดัดคำโคลง (มีภาพต้นไม้ดัด เส้นดินสอขาว).” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอขาว. ม.ป.ป.. เลขที่ ๒๔.

“ตำราไม้ดัด (มีภาพต้นไม้ดัดระบายด้วยน้ำยาจีนสีดำ).” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอ. ม.ป.ป.. เลขที่ ๒๕.

“ตำราไม้ดัด (มีภาพต้นไม้ดัดชุบรง).” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอขาว. ม.ป.ป.. เลขที่ ๒๖.

หนังสือ

กฤช สมบัติสิริ. เรื่องของไม้ดัด. ม.ป.ท., ๒๕๒๔.

ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๓๘.

ตำราไม้ดัดแบบเก่า. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ๒๔๘๙. (พิมพ์แจกในการฌาปนกิจศพ นายเอม กรณ์เกษม วัดยานนาวา วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓)

ถาวร สิกขโกศล. เสภาเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน ฉบับสมบูรณ์สามภาคและฉบับต่างสำนวน เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : ตถาตา, ๒๕๕๘.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๘.

นวรัต ไกรฤกษ์. เรื่องปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา, ๒๕๔๕.

ปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติศาลิกร), พระยา. แบบทำไม้ดัดและวิธีก่อเขามอ. พระนคร : โรงพิมพ์ศรีหงส์, ๒๔๗๙.

พิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต), พระยา. คำแนะนำในการทำไม้ดัด. พิมพ์ครั้งที่ ๒. ม.ป.ท., ๒๕๑๓. (อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพคุณแม่ลม้าย วรโพธิ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันเสาร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓)

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๕๖.

ราชบัณฑิตยสภา. โคลงตำราไม้ดัด. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒. (พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา โปรดให้จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกตรี พระยาราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์) เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒)

เรื่องตำนานสถานที่และวัตถุต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง นับเปนประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๘. (พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป โปรดให้พิมพ์ในงารฉลองพระชันษา เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘)

ลำดับตระกูลไกรฤกษ์. ม.ป.ท.. : ม.ป.พ., พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิง ประเสริฐศุภกิจ (จำเริญ ไกรฤกษ์) ท.จ. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๕.

ศิลปากร, กรม. โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์. กรุงเทพฯ : เอดิสัน เพรส โพรดักส์, ๒๕๔๖.

ศิลปากร, กรม. พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.

ศิลปากร, กรม. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ๒๕๕๔.

สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม ๒๑. กรุงเทพฯ : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ๒๕๕๘.

สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๒ ลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔.

สุนทร ปุณโณทก. “ไม้ดัดไทย” ใน ที่ระลึกในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ที่ระลึกในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันศุกร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๐ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม. นครปฐม : ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๓๐.

อัญชลี ไมตรี. ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี : ประวัติศาสตร์และสังคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘.

  1. ๑. นางสาวชนิดา สีหามาตย์ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรียบเรียง

  2. ๒. โคลงตำราไม้ดัดระบุชื่อผู้แต่งว่า “ขุนท่องสื่อเก่า” ขุนท่องสื่อ เป็นตำแหน่งเดิมของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์)

  3. ๓. พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย พระโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ที่ ๑๗ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ พระสนมเอก พุทธศักราช ๒๓๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๐ ในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้กำกับราชการกรมพระกลาโหมและหัวเมืองปักษ์ใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พุทธศักราช ๒๓๖๗ พระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สวรรคตเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๕ พระชันษา ๔๘ ปี (กรมศิลปากร, ๒๕๕๔ : ๑๓), เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระบรมมหาราชวังและปรับปรุงบริเวณสวนขวา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงเป็นแม่กองก่อภูเขาและปลูกต้นไม้หน้าเขื่อนเพชรชั้นในกำแพงล้อมรอบพระราชอุทยาน (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, ๒๕๔๘ : ๗๕)

  4. ๔. ในลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จไปขัดทัพพม่าที่เมืองราชบุรี แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า พระองค์เสด็จไปขัดทัพที่เมืองเพชรบุรี ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ ซึ่งไม่ได้บันทึกไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพอาจดูแลทั้งเมืองราชบุรีและเมืองเพชรบุรี โดยตั้งทัพอยู่ที่เมืองราชบุรีซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมสามารถป้องกันพม่าที่จะเข้ามาทั้งทางด่านเมืองราชบุรีและด่านใกล้เมืองเพชรบุรี (อัญชลี ไมตรี, ๒๕๔๘ : ๖๘)

  5. ๕. สะตาหมัน เป็นภาษาชวา หมายถึง สวน. (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖ : ๑๑๙๒)

  6. ๖. ปัจจุบันคือบ้านหนองมะสัง ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

  7. ๗. โคลงตำราไม้ดัด ฉบับพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๗๒

  8. ๘. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

  9. ๙. ขุนพินิจจัย (อยู่) ภายหลังได้เป็นหลวงภิรมย์โกษา

  10. ๑๐. ภาพวาดต้นไม้ดัด สมุดไทยขาว เอกสารเลขที่ ๒๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ