ทารกาภิบาล

หลวงมงคลรัตนเป็นผู้แต่ง

๏ หลวงรัตนมงคลอ้าง ออกนาม
เรียงบทพจนความ คิดไว้
ทำเนียบระเบียบตาม เติมต่อ ตัดแฮ
นบส่งเจ้าคุณได้ โปรดเกล้าผมสนอง ฯ
  ๏ สรวมเสริมเริ่มกลอนอักษรสาร
สำหรับบุรุษสตรีจงวิจารณ์ ได้สั่งสอนบุตรหลานสืบสืบไป
เมื่อพบอ่านจงจำคำคติ พอตรองตริแก้งงที่สงสัย
ผดุงครรภ์นั้นควรประการใด จงตั้งใจฟังดูอย่าวู่วาม
ให้สตรีมีการสังวะระ ในครรภแลอินทรีย์อย่าผลีผลาม
จะกินนอนเดินนั่งสังเกตความ ทุกโมงยามราตรีแลทิวา
จะชอบเย็นฤๅร้อนจงผ่อนภักษ์ สิ่งอาโภคจงประจักษ์ซึ่งโทษา
กับโอสถทั้งสิ้นต้องกินทา จงเยียวยาโดยนิยมให้สมควร
๏ ด้วยนารีแรกยังพึ่งตั้งครรภ กำหนดนับเจ็ดวันแต่ผันผวน
ตั้งขึ้นแล้วละลายไปจงใคร่ครวญ บรรจบถ้วนเจ็ดครั้งทั้งเจ็ดวัน
เพราะสัตว์เกิดเอากำเนิดปฏิสนธิ์ ก็เวียนวนธรรมดาโลกาผัน
ไปจนครบสิบห้าทิวาวัน จึงตั้งมั่นปฏิสนธิ์เป็นต้นมา
สำแดงในอินทรีย์ที่มีเหตุ พึงสังเกตโรคันนั้นนักหนา
เมื่อทราบชัดแล้วจงจัดสรรพยา ซึ่งจะดับโรคาพอสมควร
จะแปรผันฉันใดให้ศึกษา ในปฐมจินดาว่าถี่ถ้วน
แต่เดือนหนึ่งเป็นลำดับนับจำนวน ถึงสิบเดือนท่านประมวลไว้มากมี
๏ จงวิจารณ์ซึ่งอาหารแลโอสถ จะกินทาโดยกำหนดต้องตามที่
เร่งระวังรักษาซึ่งกายี จะได้มีสุขสวัสดิ์ขจัดภัย
เมื่อเวลามีครรภ์หมั่นก่อสร้าง ซึ่งเบญจางค์ศีลครองให้ผ่องใส
กับทั้งทานการภาวนามัย จงตั้งใจเจริญพระพุทธมนต์
อย่าให้จิตเจือพาลแลการบาป สิ่งที่หยาบเยี่ยงไพร่ไม่เป็นผล
จะพลอยพาทารกนั้นวกวน มีกระมลสันดานเป็นพาลไป
๏ หนึ่งอุทรเมื่อจวนถ้วนกำหนด หมอตำแยแม่มดปรากฏไหน
จงวิจารณ์สอบสู่ดูน้ำใจ ควรเชื่อได้แล้วจึงหามาสำรอง
ที่บางคนใจคอทรลักษณ์ ก็หาญหักโดยได้ไปคล่องคล่อง
ทารกช้ำเนื้อหนังแทบพังพอง จึงเกิดกองโรคามายายี
แม้นแพทย์ผู้รู้บำรุงผดุงท้อง เร่งตริตรองตามระบิลพระชินศรี
ก็แคล้วคลาดโพยภัยไม่ราคี ด้วยแพทย์ดีดังคำเช่นร่ำมา
เมื่อยามคลอดทารกตกจากครรภ ผู้คอยรับจงรู้ดูรักษา
พลิกทารกคว่ำพลันทันเวลา ก่อนโศกาจึงไม่มีโรคีพาล
แม้นทิ้งไว้เลือดไหลเข้าลำสอ จักเกิดก่อโรคร้ายหลายสถาน
โรคพงษาเลยมาโรคบุราณ ด้วยเหตุการณ์ดังนี้โดยนิยม ฯ
๏ จักกล่าวถันในคัมภีร์มีสี่อย่าง ขอชี้อ้างพอเห็นเป็นปฐม
นางหนึ่งรูปแช่มช้อยเนตรน้อยคม พักตร์ยาวสมเอวรัดสันทัดนาง
อกผายไหล่ผึ่งพึ่งประจักษ์ นิ่มเนื้อนวลศักดิ์พอสมร่าง
พักตร์ขนองกล้องแกล้งแน่งสำอาง นาสาอย่างเยี่ยงสิงห์ดูพริ้งเพรา
มือแลเท้าเรียวรัดดังจัดสรร ทั้งสองถันเทียมประทุมพุ่มเฉลา
หัวนมเล็กขอบแดงดังแกล้งเกลา น้ำนมเล่าเขียวหวานพานพอดี
นมที่สองไหล่หลอบขอบเนตรน้อย พักตร์แช่มช้อยชูสง่ามีราศี
บุษบันเปรียบถันของนารี กลิ่นแลสีการะเกดก็กลกัน
ประกอบเบญจลักขณานามปรากฏ น้ำนมรสหวานข้นกลดังสรร
นมที่สามตามเหตุสังเกตกัน งามผิวพรรณงามผมสมพักตรา
นาสิกสูงคิ้วก่งขนตางอน ปลายนมช้อนสมกายทั้งซ้ายขวา
รูปเอวรัดบอกแยบเป็นแบบมา กษิราหวานครันรสมันเจือ
นมที่สี่มีรูปวิไลลักษณ์ ประไพพักตร์อรชรฉะอ้อนเหลือ
เนตรนางอย่างเนตรมฤคเจือ สมนวลเนื้ออ่อนละไมวิไลทรง
เกศาแข็งสำรวยสวยสะอาด โอษฐ์ดังวาดไหล่ผึ่งเอวกลึงระหง
น้ำนมขาวสีสังข์ไหลหลั่งลง รสมันคงแรงรสปรากฏการ
ประกอบด้วยลักขณะแลตระกูล อำมาตย์มูลเศรษฐีมหาศาล
ชาวสวนนาวาณิชบัณฑิตย์ชาญ มีรูปปานกล่าวมาไม่ราคี
กุมารใดได้ดื่มน้ำนมนั้น ดับโรคันตามข้างสว่างศรี
โทษมลทินสิ้นร้ายในกายมี น้ำนมดีดังโอสถปรากฏคุณ
แม้นรูปร่างลักษณาหาไม่ได้ พึงหมายใจเลือกฟั้นอย่าหันหุน
จะได้เลี้ยงลูกยาเกื้อการุญ ดังเจือจุนบำบัดปัดโรคัน
พึงทดลองกษีราให้ปรากฏ ทั้งสี่รสนั้นแน่ไม่แปรผัน
จึงกล่าวไว้ชี้เช่นให้เห็นพลัน เป็นที่มั่นหมายคงอย่าสงกา
๏ หนึ่งทาสไทยในสถานบ้านของเรา นางนมเขาคนสำคัญนั้นนักหนา
ด้วยธุระพันผูกเลี้ยงลูกยา ต่างหูต่างตาต่างอารมณ์
ก็เหมือนเด็ดดวงใจให้พิทักษ์ บุตรเรารักเจริญจิตสนิทสนม
ซึ่งเชื่อถือไว้วางกับนางนม สมาคมเลี้ยงรักษ์ด้วยภักดี
ควรระวังตั้งใจให้เสมอ อย่าเลินเล่อทิ้งให้ร้องจะหมองศรี
รักษานวลสงวนงามตามวิธี ให้ต้องที่ตามกำหนดบทบุราณ
พึงรักษาทารกให้ปรกติ ตามลัทธิน้ำท่าอีกอาหาร
จะกินอาบหลับนอนผ่อนดูการ ให้สำราญร่างกายหายมลทิน
ทั้งผู้ที่จะพิทักษ์ต้องรักษา กายวาจาน้ำจิตเป็นนิจสิน
ที่หยาบคายชั่วช้าเป็นราคิน ทุกสิ่งสิ้นสารพันค่อยบั่นรอน
เพราะเด็กที่มีวัยแรกใหญ่กล้า รู้ภาษาฟังเสียงพี่เลี้ยงสอน
ให้ต้องตามกิริยาจึงถาวร คอยโอนอ่อนกล่าวรสพจมาน
ควรประพฤติกิริยาวาจาจิต ให้สุจริตซื่อตรงดำรงสาร
ผู้เฒ่าแก่แลพงศ์เผ่าวงศ์วาน จงกราบกรานลุกนั่งให้บังควร
สมสกูลตามประยูรเหมราช จะประภาษสิ่งใดให้ถี่ถ้วน
เมื่อยามย่ำสนธยาเวลาจวน จงเชิญชวนให้สนิทขึ้นนิทรา
ทั้งนางนมพี่เลี้ยงคลอเคียงอยู่ ระวังดูเป่าปัดสลัดผ้า
จุดประทีปเทียนตามอร่ามตา จงตรวจตราทั่วไปให้ควรการ
กลัวสัตว์ร้ายกาลีจะมีอยู่ พินิจดูถ้วนถี่ที่สถาน
ทั้งมดปลวกเรือดยุงบุ้งร่านราญ จะพาดพานเคืองใจให้ระงม
ผิวฉวีสีสันจะเผือดผาด โรคาพาธก็จะจับเข้าทับถม
จงระวังหมั่นดูตรวจชูชม ให้นิยมจงรักษ์ด้วยภักดี
ก็จะเกิดศรีสวัสดิ์กำจัดภัย จะเปรมใจเป็นสุขเกษมศรี
สามฤดูมีอยู่ในคัมภีร์ นางนมพี่เลี้ยงหนาจงอาวรณ์
ระวังเมื่อคราวเวียนเปลี่ยนฤดู ให้พึงรู้หยูกยาหาไว้ถอน
อีกโอษฐ์เศียรวิปริตเห็นพิษร้อน อย่าให้นอนซึมลากจะมากไป
เวียนตักเตือนหมอยาบอกอาการ เป็นซางตานตามกระแสไว้แก้ไข้
ชะโลมน้ำมะลิลาพาชื่นใจ ถ้าถอนร้อนออกได้ก็บางเบา
ยาสิ่งใดสำหรับเคยดับเข็ญ ถึงยาเย็นสิ่งอื่นก็ได้เล่า
ยาที่เคยใช้ประจำตามลำเนา จงบอกเล่าอาการวิจารณ์จริง
อย่าเอายาผู้ใหญ่มาใช้ปน สาละวนไม่ได้ไปทุกสิ่ง
ถึงยาไข้จะใช้ก็ไม่จริง หวนตัดสิ่งข้างได้ไม่หายร้อน
ถ้าพิษจัดจนฉวีสีแดงก่ำ กำเดาซ้ำเอายาเข้าทาถอน
มหาเปราะดีแท้แก้ตัวร้อน ชะโลมถอนน้ำดอกไม้สบายบาล
ถึงเนตรเชื่อมปวดเศียรแลเวียนเกล้า ก็บางเบาค่อยศุขเกษมศานต์
ครั้นรุ่งแสงสุริยาทิพากาล ตื่นอย่านานจัดยามาสุมทำ
ถ้าถอนพิษเย็นได้เห็นหายป่วย หนึ่งแม่นมดูด้วยช่วยอุปถัมภ์
อย่ากินส้มมีผิวแลระกำ แสลงล้ำปรากฏรสน้ำนม
เป็นห้ามขาดอย่าได้พาดเข้าลำสอ ระวังต่อไปข้างหน้าภักษาถม
ตัวหายร้อนยังจะผ่อนไปทางลม นาภีป่วนเสียดกลมกลุ้มอุรา
จงแจ้งแพทย์อย่าช้าพยาบาล โดยอาการตนประจักษ์ได้รักษา
เตือนประกอบให้ชอบซึ่งโรคา จะเอามาอุ้มถือต้องมือเบา
๏ หนึ่งหัตถาบาทาทั้งสองนี้ จะหยอกเย้าเฝ้าตีแสลงเล่า
กระเทือนซางโรคนั้นไม่บรรเทา จะป่วยเศร้าโศกศรีฉวีวรรณ
อย่าหิ้วหอบค่อยจ้องประคองอุ้ม ถึงกริ้วโกรธอย่าคุมซึ่งโมหันธ์
หนึ่งนางนมพี่เลี้ยงทุ่มเถียงกัน พาเด็กนั้นอุ้มไปใช่สำเนา
ถ้าแม้นมาดพลาดพลัดต้องหัตถา จะเสริมซ้ำโรคากว่าร้อยเท่า
ประจักษ์จิตผ่อนผันให้บรรเทา อย่าทำเอาแต่ลำพังกำลังกาย
หนึ่งเด็กอ่อนอาหารพาลลำบาก เพราะความอยากจะกินสิ้นทั้งหลาย
ช่วยกันดูตักเตือนไม่เคลื่อนคลาย ระวังกายกุมารกุมารี
อย่าอุ้มแช่ชลเพลินอยู่เนิ่นช้า จะพลอยพาสพ้านแลปักษี
ทั้งห้าอย่างต่างกันเจ็ดวันมี ทั้งลมอักขมูขีจงแจ้งใจ
อ่างอาบวารีราษีระคน พิษชั่วปนดูแลล้างแก้ไข
อสุมันปักษีสพ้านไฟ ล้วนปีศาจทำไปต่างๆ กัน
ให้ทำยาทาตัวแลเสกพ่น ก็จะพ้นภัยสุขเกษมสันต์
เรียกว่าหละอีกอย่างก็ต่างกัน ฉวีวรรณขาวเหลืองยักเยื้องมา
แต่ขึ้นริมไรทนต์ทั้งบนล่าง เป็นเม็ดเขียวขาบขาวบ้างสีลูกหว้า
อิกผิวแดงต่างต่างอย่างมีมา แต่อ่อนอ่อนหยูกยาพอเยียวทัน
ให้นางนมพี่เลี้ยงที่เคียงชิด คอยพินิจฉวีตรวจสีสัน
เห็นแปลกตาก็เร่งแจ้งแถลงพลัน ให้แพทย์ทันรักษาพยาบาล
ได้ประกอบโอสถรสวิเศษ ตามสังเกตชนมาวะษาสาร
จะชอบร้อนเผ็ดขมพอสมการ ฤๅชอบฝาดเปรี้ยวหวานต่างต่างมี
ตามลัทธิในวันชันษา จะประกอบหยูกยาให้ควรที่
ทารกจักยืนยงคงชีวี ถ้าแพทย์ดีรู้แท้พอแก้ทัน
ที่ลางคนเล่าก็มีคัมภีร์ยา มิรู้ถึงโรคาที่ขบขัน
ไม่ถึงที่ก็จะถึงซึ่งชีวัน จงตริตรวจสารพันหมั่นระวัง
๏ การสำรอกอีกนะเจ็ดประการ๑๐ เมื่อรู้คว่ำรู้คลานรู้เดินนั่ง
ดอกไม้๑๑ขึ้นเกิดพิษติดทุกครั้ง นางนมฟังจำถวิลยั้งอินทรีย์
ของสำแดงสิ่งใดอย่าได้พาน จะพลอยพากุมารสลดศรี
อย่าควรภักษาหารการไม่ดี นาภีก็จะเดินจนเกินการ
ข้างสำรอกจะซ้ำต้องลำบาก อย่าฉุดลากคึกคักทำหักหาญ
มือประคองอุ้มชูจับกุมาร เกรงอาการสำรอกบอกไว้มี
อีกห้ามทั้งสูกส้มจะถมทับ จะพลอยอับโศกกำสรดสลดศรี
ถนอมเลี้ยงทารกยกให้ดี จงถ้วนถี่ช้อนอุ้มนั่งระวังไว้
ข้างขวาพาหากอดกระหวัด รู้นั่งคลานจึงผลัดกระเอวได้
อย่าขู่เข็ญให้ตระหนกตกฤๅทัย จะหวาดไหวสะดุ้งจิตไม่นิทรา
หนึ่งเตือนแพทย์ยานั้นกันสำรอก ปรุงโอสถยักยอกไว้หลายท่า
เปลี่ยนประจำทีละเดือนอย่าเคลื่อนคลา ใช้หยูกยาให้ประจวบกับขวบปี
แพทย์ปรากฏโอสถเหมือนว่าเล่า จะบรรเทาโรคันอันหมองศรี
ข้างหน้านานกุมารกุมารี ก็จะมีชนมานยืนนานไป
๏ ประการหนึ่งโภชนาอย่าให้คลาด ถึงเวลาอย่าให้ขาดเอาใจใส่
ครั้นอิ่มหนำสำราญหฤทัย ก็จะไม่ก่อกวนชวนรำคาญ
จงสะอาดหมั่นชำระให้สะสวย หมดจดด้วยจึงดีที่สถาน
ระวังสัตว์แมลงร้ายจะต่ายพาน ในเบาะอานอย่าให้มีราคีเลย
ถ้ามันกัดดูดดื่มโลหิตได้ ก็เป็นเม็ดพรุนไปนะเจ้าเอ๋ย
จะพังพองกายาอย่าลืมเลย จะอุ้มเชยยากหนอเฝ้าก่อกวน
เพราะมังสาไม่หนาปรกติ จงดำริตริไตร่ให้ถี่ถ้วน
ด้วยไม่พูดบอกได้จงใคร่ครวญ ครั้นเจ็บเข้าก็กวนแต่โศกา
ถึงจะแสนหิวอยากก็ทนอด ไม่ปรากฏออกโอษฐ์โกรธนักหนา
เห็นเสโทเหนียวหนังมังสมา อาบน้ำท่าทาขมิ้นดินสอพอง
หนึ่งคงคาหาหยอดใส่โอษฐ์มั่ง กำหนดวันละเจ็ดครั้งไม่หม่นหมอง
แม้นรู้พูดรู้ความตามทำนอง อย่าหักหาญเอาแต่คล่องใจของตัว
จงถนอมกล่อมจิตให้ชิดชอบ กลประกอบแก้กวนชวนยิ้มหัว
อย่าเพลินฟังหนังสือกระพือมัว จนลืมตัวเลยไปก็ไม่ดี
เกลือกกุมารคลานซนจนล้มลุก มักเจ็บจุกมัวหมองไม่ผ่องศรี
ประการหนึ่งพูดจาแขกมามี อย่าเพลินปล่อยจรลีแต่ลำพัง
เผื่อจะเกิดเหตุภัยในที่นั่น ระวังหมั่นจำว่ามาแต่หลัง
ค่อยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงระวัง ถ้าคงยังชันษาชะตายืน
ด้วยกุศลหนอุปนิสัย คงจะพึ่งพาได้ให้รวยรื่น
วิสัยชาติเชื้อวงศ์คงยั่งยืน ไม่คิดขืนหลู่คุณการุณา
ถ้าเลี้ยงดีก็จะมีเกียรติยศ จะปรากฏชั่วนี้และชั่วหน้า
ลาภผลสารพัดมีอัตรา จงสั่งสอนโดยปัญญาคดีดี
ให้สุภาพราบเรียบคารวะ ใครเห็นจะสรรเสริญเจริญศรี
สมประยูรเหมราใช่กากี คงจะมีเกียรติยศปรากฏงาม
๏ หนึ่งอุ้มขึ้นนั่งรถบทเรศ พาประเวศลากไปในสนาม
หมั่นระวังรักษาพยายาม ตรวจดูตามโทษที่จะมีมา
เกลือกจะหักล้มลงจงระวัง อย่าให้พลั้งผิดได้ไปข้างหน้า
ด้วยลูกนายของตัวกลัวอาญา เลี้ยงรักษาถี่ถ้วนควรประจง
จะสวมเสื้อสับขอก็ให้ดี แต่อินทรีย์เปรมปลื้มอย่าลืมหลง
ห้ามกลัดเข็มคมแหลมแซมสอดลง จะกรุยกรงเสียบต้องข้องเนื้อตัว
หนึ่งแดดลมน้ำค้างละวางไว้ จะเกิดเปนหวัดไอไข้ปวดหัว
คัดนาสิกร่ำร้องสิหมองมัว ก็กวนตัวคนรักษาเปนท่าทาง
ยังข้อหนึ่งมีวิฬาร์มาสู่ห้อง มักคะนองฉวยฉุดยุดหัวหาง
ถูกเขี้ยวเล็บก็จะเจ็บสารพางค์ แล้วอิกอย่างก็จะกลืนขนแมวเลย
มักก่อเกิดหืดไอให้ลำบาก รักษายากเซาซมแม่นมเอ๋ย
จะซูบเศร้ากายาไม่น่าเชย ลำบากเลยหอบรวนป่วนอุรา
หนึ่งอย่าหลอกขู่เข็ญเป็นห้ามขาด จงจำคำร่ำพิฆาตแห่งโทษา
แล้วสอนให้รู้ดีกิริยา สอนเจรจาบุญบาปอย่าหยาบคาย
อันสัตว์มีชีวิตซึ่งแลเห็น อย่าตามใจให้เล่นโดยมักง่าย
เกลือกจะถึงชีวันอันตราย จะพาบาปหยาบคายติดเหมือนเงา
ด้วยทารกเด็กอยู่ไม่รู้ความ ผู้ใหญ่ทราบปราบปรามอย่าโฉดเขลา
พึงบำบัดให้รู้อย่าดูเบา ภักษาเล่าหลายอย่างต่างต่างมี
ทั้งเปรี้ยวมันของเค็มแลคาวหวาน จะให้ภักษาหารพอควรที่
ถ้าให้เหลือเกินนักมักโรคี ธาตุทั้งสี่วิปริตจะผิดเป็น
จะพะอืดพะอมอยู่ในอุทร กิมิชาติก็จะบ่อนให้เกิดเข็ญ
ของสิ่งใดไม่เคยปะจงละเว้น ถ้าแม้นเอ็นดูมั่งก็แต่น้อย
ให้ลองชิมลิ้มดูพอรู้รส หมั่นกำหนดสังเกตเหตุบ่อยบ่อย
ถ้าเห็นโทษอย่าซ้ำร่ำตะบอย นมจะพลอยภักษาเป็นราคิน
๏ ข้อหนึ่งห้ามหิ้วโลดกระโดดฉุด ตับจะทรุดป่วยปริต้องติฉิน
จะไม่เป็นเพลาอยู่อาจิณ มูลหนักเบาทั้งสิ้นจะแปรไป
เป็นโลหิตสดสดปรากฏหนอ เสมหะก่อเน่ารุดสุดแก้ไข
เนตรปรอยหงอยเงื่องเชื่อมเหลืองไป เต็มแก้ไขแพทย์เทียวเหลือเยียวยา
อย่าสั่นอู่ไกวแกว่งให้แรงนัก จงประจักษ์เหตุห้ามตามภาษา
ค่อยประคองต้องถือมือเบามา โดยอัชฌาอาสัยให้สมควร
ข้อหนึ่งเล่าพี่เลี้ยงและนางนม อย่าคารมหยาบช้าเฮฮาสรวล
ถ้าได้ยินก็จะตามเลยลามลวน สอนให้ถ้วนลุกนั่งระวังระไว
ให้มีทั้งกิริยามารยาท คำโอวาทให้รู้เด็กผู้ใหญ่
สำแดงคำนำกิจประดิษฐ์ไว้ พอแจ้งในเหตุผลยลสารา
เปรียบสวมเทริดเชิดโสภณมงคลรัตน์ ดังเช่นฉัตรเชิดฉายไปภายหน้า
จักเจริญสิริสวัสดิ์วัฒนา เพราะทราบถ้อยทารกาภิบาลเอย ฯ
๏ ให้นางนมพี่เลี้ยง รักษา
ถนอมบุตรนัดดาปรา กฏรู้
โดยแบบแยบยลอา การโทษ แนะแฮ
ดุจวิเชียรฉายกู้ กอปรด้วยการุญ ฯ
๏ จักแถลงยาเกร็ดไว้ หวังถวิล
ผู้ที่ยากจนกิน ปกอบแล้
พอเพียงผ่อนทรัพย์สิน เสียมด หมอเอย
คิดว่าหยูกยาแก้ กิจร้อนรักษา ฯ
๏ ยาแก้ปวดน้ำคร่ำ คราวออก ลูกเอย
เอามหาหิงคุ์ที่บอก แบบไว้
ฝนกับมะกรูดปอก ปาดใส่ ถ้วยแฮ
ทาฝ่ามือเท้าให้ ทั่วทั้งสันหลัง ฯ
๏ มหาหิงคุ์ว่านน้ำ กฤษณา
ใบหนาดหอมโทนหา หนึ่งแท้
เปราะหอมเท่าตัวยา ทุกสิ่ง บดนอ
น้ำท่าละลายกินแก้ เจ็บท้องคลอดสบาย ฯ
๏ แก้ลมเมื่อคลอดให้ เอามะนาว
ผลหนึ่งปอกเปลือกขาว เจ็ดชิ้น
เกลือเจ็ดเม็ดกินคราว ละเม็ด ละชิ้นนอ
แก้มืดหน้าตาสิ้น สร่างร้ายกายกำลัง ฯ
๏ แรกคลอดเร็วเร่งให้ หาพลัน
สามหยิบพริกไทยอัน ละเอียดแล้ว
ละลายมูตดีขยัน ยงยิ่ง กินแฮ
บำบัดเลือดล้นแกล้ว เกลื่อนร้ายหายสูญ ฯ
๏ มะขามเปียกบีบคั้น ควรกรอง
เกลือจัดเค็มเต็มละบอง แบบไว้
ถ้วยฝาขนาดรอง รินเปี่ยม ปากนอ
กินประสะลำไส้ ส่งล้างเลือดแสลง ฯ
๏ หญ้าไทรไผ่ป่าทั้ง ผักเป็ด แดงเฮย
สิ่งละกำมือเคล็ด พริกหล้อน
ดีปลีกะเทียมเจ็ด เกลืออีก ขิงนา
หยิบหนึ่งย่างไฟป้อน ปนคั้นกับสุรา ฯ
๏ ยากินแรกคลอดแล้ว เลิศเหลือ
ดับโทษโลหิตเฝือ ฝ่ายร้าย
ดีค่างกับสุราเจือ จอกหนึ่ง นาพ่อ
กินแต่ทีเดียวย้าย หยุดห้าวันกิน ฯ
๏ ยารกไม่ออกให้ หาไพล
กับลูกเทียนย้อมได เด็ดแล้ว
เท่ากันรีบตำไป ปะพอก ท้องแฮ
รกจักล่วงคล่องแคล้ว เคลื่อนพ้นอุทร ฯ
๏ ยามดลูกโรคสิ้น สารพัน
ให้สับเอาเถาคัน คู่ใช้
กับเกลือสมุทรอัน เอกส่วน ทะนานนา
เคี่ยวแช่ตวงตากไว้ ว่างต้องตักกิน ฯ
๏ ปวดมดลูกร้อง รำพัน
รากพระยาสัตบรรณ บอกไว้
สับใส่หม้อไว้พลัน เพลิงก่อ ต้มแฮ
กินแต่ถ้วยชาเดียวได้ เดชด้วยยาฉมัง ฯ
๏ แก้ปวดมดลูกล้ำ ลงคลาน
เขนียว๑๒หนึ่งถึงทะนาน แปดร้อย
ใช้กะทิยกน้ำตาล เกลือเหน็บ หน่อยนา
กินสบายหายละห้อย เหตุแก้กันฉมวย ฯ
๏ สัตรีแรกคลอดแม้ มีแผล
น้ำสุราสาดแปร เปลี่ยนเนื้อ
ตำไพลกับเกลือแหล ลงปะ ปิดเอย
แผลจักพลันหายเกื้อ กิจต้องตามประสงค์ ฯ
๏ โลหิตเหลือแพทย์แก้ กลวาย ชีพฤๅ
แสนส่ำหยูกยาหลาย เล่ห์เท้อ
ถอนผมแน่นเหนียวดาย ดูด่วน ยาแฮ
ตำข่าสุมเศียรเน้อ นาบด้วยจอบเผา ฯ
๏ กุ๋ยช่ายกับเป็ดต้ม ตับสุกร
ชะเอมอีกอ้อยแดงทอน ทุบใช้
บัวสัตบุษเกสร สารภี พิกุลฮา
จีนจัดเป็นยาไว้ ว่าล้างนมแสลง ฯ
๏ ยาบำรุงเรื่องน้ำ นมหนอ
เอารากมะละกอ เก็บต้ม
กับขาสุกรพอ ภาคส่วน สมนา
เกลือเดาะเหยาะน้ำส้ม เสพย์แล้วนมเหลือ ฯ
๏ ปลาหมึกปลาช่อนเต้า หู้สี ขาวเอย
หอมกะเทียมผักชี พริกหล้อน
เห็ดหอมมะละกอมี รสยิ่ง แกงแฮ
น้ำท่าน้ำเข้าข้อน ขับแก้กษิรา ฯ
๏ รากคายายม่อมเข้า เย็นสอง
ชะเอมอีกย่านางจอง จิตรค้น
หกสิ่งพิเศษลอง หลากเลิศ รสแฮ
ต้มเสพย์หม้อเดียวล้น หลั่งน้ำนมขาว ฯ
๏ พร้าวอ่อนผลหนึ่งน้ำ ในมี
ดินประสิวเกลือดี เดาะเข้า
สุมเพลิงแกลบราตรี เกรียมสุก
น้ำเยื่อรินกินเจ้า จักน้ำนมไหล ฯ
๏ สมมุติยุติไว้ วากย์กลอน
พอสมุดหนึ่งรอน เรื่องนี้
ยกและกิจการสอน สุดกล่าว ถมนา
เป็นแต่เหตุหากชี้ เชิดอ้างทางประสงค์ ฯ
๏ มนต์สะเดาะรกให้ เร็วผาย ผันเอย
โอมปลุกปลักทะลักทลาย เล่ห์นี้
อีกกำจัดกำจาย นรายน์ส วาหะเฮย
เสกครบสามคาบกี้ กิจใช้น้ำกิน ฯ
๏ หัวใจกอข้อเสดาะ ลูกใน ครรภ์เฮย
เสกว่ามอลอข้อไข ไขข้อ
มอลอหมดคำไป อนุปฏิ โลมแฮ
เสกเจ็ดคาบแล้วก้อ ส่งน้ำสะเดาะกิน ฯ
๏ สะทวิปิปะทั้ง สอุ
เป็นชื่อหัวใจลุ เลิศแท้
นามสมโพชฌงค์ปุระ ปรับเสก น้ำแฮ
สามคาบเจ็ดคาบแก้ พิษสิ้นแรงเพลิง ฯ
๏ วิธีเสกเป่านี้ นำฉงน
คราวเมื่อวุ่นวายปดล เดชแก้
พอสิ้นเสื่อมทุกข์ทน เทวศโรค ร้ายนา
เป็นเหตุช่วยจิตแท้ ที่ร้อนรัญจวน ๚ะ๛

 

  1. ๑. ปฐมจินดา หรือ ประถมจินดา คือ คัมภีร์โบราณกล่าวถึงการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ใช้ดูแลหญิงที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

  2. ๒. ลักษณะนมที่ดี ๔ ประการ คือ ๑. น้ำนมรสหวานมันเจือกัน ๒. น้ำนมข้นรสหวาน ๓. น้ำนมรสหวานมันเล็กน้อย ๔. น้ำนมขาวดังสังข์รสมันเข้ม

  3. ๓. หญิง ๔ จำพวกนั้น จัดออกเป็น ๔ ตระกูล คือ ๑. ตระกูลกษัตริย์ ๒. ตระกูลเศรษฐีและเสนาบดี ๓. ตระกูลพ่อค้า ๔. ตระกูลชาวนา

  4. ๔. การทดสอบน้ำนม ให้เอาน้ำนมใส่ขันแล้วสังเกตดู ถ้าน้ำนมสีขาวดังสังข์ จมลงในขัน กลมเหมือนลูกบัวเกาะ เป็นนมอย่างเอก ถ้าน้ำนมกระจาย จมลงในขัน ไม่กลมเหมือนลูกบัวเกาะ เป็นนมอย่างโท ถ้าน้ำนมรสเปรี้ยวขม ฝาด จืดจาง กลิ่นคาว เป็นฟอง น้ำนมเป็นโทษ

  5. ๕. สะพั้น หรือ ตะพั้น อาการของโรคเกิดพิษไข้ตัวเย็นจัด ท้องขึ้น อาเจียน ชัก มือกำ เท้างอ เป็นต้น

  6. ๖. ปีศาจ หรือ ปักษี คือ อาการของโรคเกิดเป็นพิษไข้จับ มีเวลาสร่าง มีลักษณะ ๔ ประการ คือ

    ๑. นนทปักษี ไข้จับเวลาเช้า สร่างเวลาค่ำ

    ๒. กาฬปักษี ไข้จับเวลาค่ำ สร่างเวลาเช้ามืด

    ๓. อสุนนทปักษี ไข้จับเวลาเที่ยงวัน สร่างเวลาเที่ยงคืน

    ๔. เทพปักษี ไข้จับเวลาเย็น สร่างเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

  7. ๗. อัคคมุขี คือ อาการของโรคเกิดพิษไข้ตัวร้อน ท้องขึ้น อาเจียน ชัก มือกำ เท้างอ เป็นต้น

  8. ๘. หละ เป็นโรคติดเชื้อในช่องปากของเด็กในเรือนไฟ (ระหว่างมารดาอยู่ไฟ) แรกเกิดถึง ๓ เดือน ฝ้าขาวมีลักษณะเป็นแผ่นหนา มีเม็ดเรียบหรือยอดแหลมผุดขึ้นที่เหงือกและเพดานปากของเด็ก มีสีต่างๆ กัน ได้แก่ ยอดเหลือง ยอดแดง ยอดดำดุจน้ำหมึก ยอดเขียวดุจใบไม้ ยอดดำดังสีนิล ยอดดังสีลูกหว้า ยอดดังสีคราม ยอดขาว

  9. ๙. ซางหรือทราง ซางเจ้าเรือนหรือซางกำเนิด เป็นโรคของเด็กเล็ก อายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถึง ๕ ขวบ มีอาการหลายอย่าง เช่น ไม่กินนม ไอ อาเจียน ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเดิน ท้องขึ้น มีตำรับยาแก้ซางตามวันเกิดของเด็กแต่ละวัน ได้แก่ วันอาทิตย์ - ซางไฟ วันจันทร์ - ซางน้ำ วันอังคาร - ซางแดง วันพุธ - ซางสะกอ วันพฤหัส - ซางโค วันศุกร์ - ซางช้าง วันเสาร์ - ซางโจร

  10. ๑๐. สำรอก ๗ ประการ ได้แก่ ๑. เมื่อชันคอ เพราะเส้นเอ็นไหว (เคลื่อน) ซางจึงพลอยทำโทษ ๒. เมื่อรู้คว่ำ เพราะกระดูกสันหลังคลอน (กล้ามเนื้อขยายตัว) ๓. เมื่อรู้นั่ง เพราะกระดูกก้นกบขยายตัว (กระดูกสันหลังเคลื่อน) ๔. เมื่อรู้คลาน เพราะสะโพกและเข่าเคลื่อน ๕. เมื่อดอกไม้ขึ้น เพราะอักเสบ ฟันน้ำนมขึ้น ๖. เมื่อตั้งไข่ เพราะกระดูก ๓๐๐ ท่อนสะเทือน ๗. เมื่อรู้ย่าง เพราะไส้ พุง ตับ ปอดคลอน ช้ำใน

  11. ๑๑. ดอกไม้ = ฟันของเด็กที่แรกขึ้น

  12. ๑๒. ข้าวเหนียว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ