พระราชหัตถ์เลขา ฉบับที่ ๑

พลับพลาศรีมหาโพธิ

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๗

ถึง มกุฎราชกุมาร

การที่มาคราวนี้ ไม่ได้ทำจดหมายรายวัน เหตุด้วยกรมหลวงดำรงได้เอาสัญญิงสัญญามาแต่แรกเมื่อคิดจะมาเที่ยวทางนี้ว่าถ้าใครกล่าวว่าไม่สนุกจะปรับเงินบาทหนึ่ง ถ้าจะเขียนก็ทีจะถูกหลายบาท และเรื่องก็เห็นจะพอเพียงแต่จะกล่าวในหนังสือฉบับเดียวหรือ ๒ ฉบับจบ

เมื่อออกจากวัดเสาธงมาแล้ว ได้ตั้งใจไว้ช้านานว่าจะไปดูคลองเชียงราก ซึ่งจะเปนที่ขุดคลองวอเตอร์เวอค แต่ความคิดนั้นไม่สำเร็จ เมื่อไปถึงที่จอดเรือตรงปากคลองรังสิตข้าม แล้วได้แล่นเลยขึ้นไปเข้าปากคลองเชียงรากข้างใต้ ซึ่งได้เคยไปเห็นแล้ว แต่ครั้นเข้าไปข้างใน ได้ความว่าเวลาไม่พอ และเรือโมเตอรที่ไปก็ทีจะเข้าไม่ถึงด้วยเขาถางผักตบไว้แต่ข้างนอก คลองนี้ตามโยกราฟีท่านอุบาลี (ปาน) กล่าวว่าเปนคูเมือง ไปบรรจบออกเชียงรากน้อย ลักษณะอย่างเดียวกันกับคลองบางกอกน้อยคลองบางหลวง แต่คลองที่เชื่อมกันอย่างตลิ่งชันนั้นตื้นเขินอยู่นอกทางรถไฟ ทางที่เรือเดินเข้ามาเดินคลองเปรมซึ่งตัดในระหว่างเชียงรากใหญ่กับเชียงรากน้อยในทางรถไฟเข้ามา การที่มาวันนี้ควรจะไปถึงคลองเปรมนั้นแล้วไปออกทางเชียงรากน้อย แต่เวลาไม่พอ จึงได้เลี้ยวเข้าคลองบ้านกระแชงมาออกแม่น้ำ คลองบ้านกระแชงนี้จะว่าเปนอย่างคลองมอญก็ได้ แต่ไม่ตัดกึ่งกลางอย่างคลองมอญ ผ่านจากคลองเชียงรากไปออกแม่น้ำสั้นนิดเดียว แต่มีบ้านผู้เรือนคนแน่นหนา การที่จะไปดูเชียงรากเอาเปนไม่สำเร็จประโยชน์อย่างใดเลย

วันที่ ๑๔ ไปด้วยเรือโมเตอรในคลองรังสิต เขาคะเนกันว่า ๓ ชั่วโมงเศษจึงจะถึงสวนใหญ่กรมหลวงเทวะวงษ์ แต่ที่จริงไม่ถึง เรือเราเดินเร็ว ๒ ชั่วโมงเศษเท่านั้น พ่อยังไม่เคยเข้าทางปากคลองเลย กว่าจะไปถึงประตูน้ำก็ดูไกลอยู่ น้ำลดแล้วจริงแต่ยังมาก ตอนข้างตะวันตกนี้ไม่ใคร่จะแลเห็นตลิ่ง ต่อพ้นคลองเก้าคลองสิบเข้าไปจึงเห็นตลิ่ง ดูไม่สู้แปลกอันใด มีผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในคลองนี้คือ หมอใหญ่ และกรมอดิศรมาไปด้วย เรื่องราวของที่นาคลองรังสิต ได้ความแต่ว่าเรื่องกำหนดชั้นที่นาดูเหมือนจะยังไม่เหมาะแก่พื้นที่อยู่บ้าง มีปัญหาอยู่ ๒ อย่าง ๆ หนึ่งว่านาที่กำหนดเปนนาเอกนาโทเหมือนกัน แต่ประโยชน์ที่ได้ในนานั้นไม่เท่ากัน เจ้าของนาเรียกค่าเช่าหักใช้ค่านาเสร็จแล้ว ได้ประโยชน์ไม่เสมอกัน ถ้าเจ้าของนาเรียกค่าเช่าเสมอกันคนทำนาก็อพยพ ข้อที่ว่านี้เกิดจากกำหนดที่นาอย่างเดียวไม่ใช่อื่น อีกอย่างหนึ่งนั้น นาในคลองรังสิตและคลองซอยภูมิที่ดีเสมอกันจริง แต่ในคลองรังสิตจะจำหน่ายขนข้าวได้ง่าย ส่วนในคลองซอยขนข้าวลำบากจึงได้ประโยชน์ไม่เสมอกัน ความ ๒ ข้อนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องกำหนดที่นา จะได้บอกให้เจ้าพระยายมราชทราบ

กรมหลวงและใหญ่รับซารวิตแขงแรงมาก พอถึงก็แจกน้ำมันเบนซีนก่อน เรือนที่ทำขึ้นใหม่นั้นสบายดี แต่หลังเก่าร้อน ขอเตือนไว้แต่ว่าถ้าจะไปที่นั้นแล้วอย่าได้แต่งยุนิฟอมเปนอันขาด ขาขึ้นคงจะขึ้นได้แต่ขาลงเปนลงมาไม่ได้ เว้นไว้แต่ถอดสเปอเสียก่อน การเลี้ยงมีทั้งกับข้าวฝรั่งกับข้าวไทยกับข้าวเจ๊ก ใช่แต่เท่านั้น ใหญ่ยังสู้ทนบาปพร้อมด้วยองค์ห้าหานกมาให้แกงด้วย พระยาศรีพิพัฒน์ออกมาชงน้ำชาให้กิน เปนการใหญ่ถึงนั้น ได้อยู่เปนหลายชั่วโมง บ่ายเกือบ ๓ โมงจึงได้ออกเรือ ทางนี้ได้เคยมา สุดทางเพียงในคลองบางปลากด ซึ่งตรงกับปากคลองข้าม ถัดนั้นไปเขามีคลองขุดอีกตอนหนึ่ง บรรจบลำคลองบางปลากด ที่ต่อกับลำน้ำนครนายก จอดเรือที่บ้านหมอใหญ่ ในลำน้ำนครนายกตรงสามแยก

วันที่ ๑๕ ได้ลงเรือโมเตอรขึ้นไปตามลำน้ำนครนายกจนถึงบ้านเหล้า ซึ่งมีวัดฝรั่งมาตั้งอยู่ในที่นั้น ลำน้ำอยู่ข้างจะเล็กแต่เขาว่าไม่กว้างออกและไม่แคบลง เปลี่ยนที่พังคงกว้างแคบตื้นลึกอยู่เท่านี้เสมอ พ้นบ้านเหล้าขึ้นไปว่าเรือโมเตอรเข้าไม่ได้ ยังอีก ๒ ชั่วโมงจึงจะถึงเมืองนครนายก กลับลงมาแวะกินข้าวที่วัดบ้านอ้อ อันเปนทางแยกไปบ้านนา ที่นี่มีตลาดร่องแร่ง ตามระยะทางบ้านเรือนก็มีห่างๆ แต่เปนนาเต็มไปทั้งนั้นไม่มีที่ว่างเลย เพราะเปนที่นาดี ทำมีแต่ได้มากหรือได้น้อยไม่มีเสีย ล่องลงมาตามทางที่ขึ้นไปพ้นบ้านองครักษ์หน่อยหนึ่ง ที่นาก็จับออกจะโทรมๆไปจนกระทั่งถึงที่ซึ่งบริษัทขุดคลองขึ้นไว้ ไม่มีคนทำนาเลย เหตุที่เปนเช่นนี้ด้วยช้างเถื่อนชุมนั้นอย่างหนึ่ง ได้ความจากหลวงบำรุงซึ่งเปนผู้มานำทาง ว่าบริษัทคิดจะเรียกราคา ๘ บาท ราษฎรไม่มีใครซื้อเลย คลองลงมือขุดไว้สัก ๑๐ คลองทิ้งร้างหมด เปนที่เปลี่ยวแจ๊ดทีเดียวหาบ้านเรือนมิได้ ลงไปจนตอนใกล้ข้างปากน้ำโยทกาหรือพ้นคลองหกวาสายล่าง จึงได้มีบ้านเรือนไร่นา มีบางลูกเสือเปนต้น ระยะทางก็ไกลจะหาต้นหมากรากไม้ผู้คนอะไรก็ไม่มี มีแต่หญ้ากับฝั่ง แลดูเบื่อในตาเต็มที ปากน้ำโยทกานี้ออกลำน้ำปราจีนในอ้อมบางแตน เพราะบางแตนมีคลองลัด จอดนอนที่บางแตนเหนือปากคลองลัด

วันที่ ๑๖ ออกเรือขึ้นมาตามน้ำ บ้านเรือนผู้คนบางมาก แต่ยังพอมีมากกว่าแม่น้ำนครนายก แวะกินข้าวที่วัดไผ่ ตำบลหัวไผ่ สัปบุรุษมาถือศีล ถึงเวลาเพลเขาจะกินข้าวเพลเชิญให้เรารับด้วย ใจคอดีอยู่จึงได้จัดของไปธารณะเลี้ยง วัดนี้มีพระมัทรีพอใช้อยู่องค์หนึ่ง ขึ้นไปจากนั้นไม่ถึง ๒ ชั่วโมงก็ถึงเมือง เมืองปราจีนแปลกไปกว่าแต่ก่อนที่ได้เคยเห็นเมื่อ ๓๖ ปีมาแล้ว คือตั้งแต่กำแพงเมืองขึ้นมาจนถึงที่ซึ่งทำพลับพลาครั้งก่อนไม่มีอะไรเลยนอกจากทุ่งเตียนๆ คราวนี้เปนตลาดยาวตลอดตั้งแต่เมืองมาจนถึงพลับพลา ซึ่งยังคงเรียกว่าทุ่งพลับพลา ข้างฝ่ายอีกฟากหนึ่งก็เปนธรรมดาที่ไม่เคยเห็นตั้งแต่แรกทำเปนที่ถลุงแร่ทองตลอดจนเปนที่ว่าการเดี๋ยวนี้ และโรงทหารต่อไป อันคล้ายๆกันกับที่ไหนๆ ไม่จำเปนต้องเล่า พลับพลาที่ทำไว้รับนั้นอยู่ตรงวัดแก้วพิจิตรข้าม เจ้าอลังการ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มารับอยู่ในที่นี้ด้วย เจ้าอลังการได้ช่วยทำพลับพลาออกจะใคร่สนุกสนานอยู่

เวลาบ่ายได้ลงเรือแจว ขึ้นไปบ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปประมาณสัก ๑๕ มินิต ที่เขาได้เลือกดีในแถบนี้ แลเห็นเข้าดูเหมือนอยู่ใกล้ แต่ระยะทาง ๓ เส้นเศษ อยู่ตรงหัวแง่ที่ลำน้ำตรง แลดูได้ไกล ได้ถมที่ยกขึ้นถึง ๒ ศอกเศษน้ำไม่ท่วม ปลูกเรือนอยู่กลางสูญบ้านอันกว้างยาวราวสัก ๕ เส้น มีเรือนครอบครัวปลูกเปนหลังๆ เรียงรายอยู่ข้างหลังเรือนประมาณสัก ๑๔ - ๑๕ หลัง บ้านหลวงสฤษดิอยู่ใต้น้ำ บ้านพระอภัยพิทักษ์อยู่เหนือน้ำ ไม่มีอะไรจะรู้สึกดียิ่งกว่าขาดต้นไม้ แต่เจ้าของไม่ท้อถอยเลย บ้านเรือนก็สบายดี น่ากลัวแต่จะทนพายุฝนไม่ใคร่จะไหวจะสาดนัก เพราะเปนที่แจ้งเสียจริงๆ วันนี้เลิกเรื่องหนาวกลายเปนร้อน

วันที่ ๑๗ ได้ลงเรือล่องไปดูตลาด ขึ้นที่ทุ่งพลับพลาไปลงหน้าเมือง เปนตลาดที่ปลูกกันเองแต่ลำพัง นับว่ายังไม่มีถนน แต่เห็นจะติดพอเปนตลาดสนุกสนานได้ ลงเรือขึ้นมาตามลำน้ำ แวะกินข้าวที่ตำบลศรีมหาโพธิแห่งหนึ่งใต้ร่มไม้ เปนโคกสูงอยู่หน่อย อยู่ใต้วัดพระอินทรแบกลงมา ได้สนทนากันกับชาวบ้าน แถบตั้งแต่เมืองปราจีนขึ้นมานี้บ้านเมืองแน่นหนาเปนหย่อมๆ จนถึงตอนศรีมหาโพธินี้ บ้านเรือนรายตลอด ดูก็เปนการแปลก ตอนข้างล่างกลับเปลี่ยว ตอนบนนี้ไม่เปลี่ยวเลย การที่เปนเช่นนี้เพราะเหตุว่าตอนบนหากินกว้างขวางกว่า มีตัดไม้ตัดฟืน ปลูกผักเพิ่มการทำนาขึ้น นาก็เปนนาดีชั้นนาโท มีตลาดเปนระยะๆ ที่ท่าพวกชาวป่าลง คือที่ท่าหาดและท่าเขมรซึ่งเปลี่ยนชื่อว่าท่าประชุมชน มีไม้ประดู่ไม้แก่นลงในลำน้ำนี้ มีโรงเลื่อยจีนหลายโรง

เมื่อถึงพลับพลาแล้วไม่ได้หยุด เลยขึ้นไปดูบ้านเจ้าอลังการที่ผ่านนางวิ่งขึ้นไปหลายเลี้ยวจึงได้ถึง ตลิ่งสูงประมาณ ๘ ศอกถึง ๓ วามีดินดานมาก บางแห่งเปนแลงออกมายื่นอยู่ตามฝั่ง ที่เจ้าอลังการอยู่ฝั่งตะวันออก บ้านเรือนอยู่ข้างร่วงโรยทรุดโทรมมากด้วยตัวไม่ได้อยู่ มีทางออกจากหลังบ้านนั้นไปเขา ซึ่งเปนที่ทำปูน ระยะทางไกลถึง ๔๐๐ เส้น แต่ส่วนซึ่งต่อยหินส่งเจ้าพระยาเทเวศรอยู่ฝั่งตะวันตก เรียกว่าเขาดินอยู่ในดง เพราะชายดงมาตกตรงหน้าบ้านเจ้าอลังการข้าม ยังแลเห็นรางและรถที่คว่ำลงมาไม่เคยพลิกหงาย การที่ไม่สำเร็จได้นี้ เรื่องไม่ได้นึกถึงค่าแรง ขนทางบกแล้วขนทางเรือเล่า ราคาปูนราคาหิน มันก็กลายเปนหนักต่อหนัก เลยต้องเลิกกันเท่านั้น ได้เลยขึ้นไปดูท่าตูม ซึ่งว่าเปนทางพวกบ่อทองลงมา แต่ก่อนครึกครื้นเดี๋ยวนี้ก็ร่วงโรยเพราะเหตุที่ไม่ได้ทำทอง

ลำน้ำตอนข้างบนนี้ขึ้นมามีหาดมาก แต่มีบ้านเรือนคนเสมอ ล่องกลับลงมาที่พลับพลา ได้พบพระยารัตนสมบัติซึ่งขึ้นมาหากินอยู่แถบนี้ เขาตัดฟืนใช้จ้างลาวถูกกว่าที่เคยพบที่นครสวรรค์ ว่าปีละ ๖๐ บาทเท่านั้น แต่ครางออดแอดในความลำบากขัดสนต่างๆ ขอบอกกล่าวว่าตัวแมลงมี แต่ไม่สู้มาก ยุงนั้นอยากจะว่าไม่มีเลย

  1. ๑. หม่อมราชวงศ์สุวพันธ์ุ สนิทวงศ์ ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

  2. ๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ เคยทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลปราจีน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ