พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒

พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ ๒๔ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง มกุฎราชกุมาร

ในหนังสือฉบับที่หนึ่งไปลงค้างอยู่เพียงพลับพลาอำเภอศรีมหาโพธิ ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๘ ขึ้นช้างพังหลังดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ข้างจะย่อมเดินไม่เต็มฝีย่าง หลังเรียบดี ชื่อกปุม ลองทายดูถีว่าจะแปลว่ากระไร พอพ่อได้ยินก็เข้าใจ แต่เพื่อจะให้รู้แน่จึงถามคำแปล ก็ได้ความว่าดอกไม้ตูม คือคำที่เราใช้ว่า กระพุมหรือกรรพุม ก็คือทำอุ้มมือให้เปนตูม เปนภาษาที่ใช้ในคำไทยแล้ว เจ้านายขึ้นช้างตาม ข้าราชการไปช้างบ้างม้าบ้าง ข้างในไประแทะพระตบอง ระยะทางหย่อนร้อยเส้นผ่านท้องทุ่งไปเข้าชายดงด้านตะวันตก ข้อที่เลือกที่นี่เปนที่ประพาส เหตุด้วยค้นพบเทวสถานและเชิงเทิน เมืองปราจีนบุรี เดิมเห็นจะอยู่ในดงศรีมหาโพธิ แต่คงไม่ได้เรียกชื่อปราจีน เชิงเทินยื่นออกมาจนถึงทุ่ง หายละลายไปในทุ่งเสียซึกหนึ่ง แต่ตอนข้างในที่ลึกเข้าไปยังไม่ได้ตรวจ เพราะเขาพึ่งจะมาค้นคว้ากันขึ้นในเร็วๆนี้เอง พบสถานเดียวก่อน ในการถางรับเสด็จครั้งนี้จึงพบอีกสถานที่หนึ่ง และพบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ถ้าตรวจคงจะได้พบอะไรอีกมาก สิ่งที่พบแล้วเวลานี้ คือ

เทวสถานหลังหนึ่ง เปนเนินก่อด้วยแลง สูงประมาณสัก ๑๐ ศอก สังเกตได้ว่ารูปเปนเหลี่ยมไม่ใช่กลมคงจะย่อไม้สิบสองเปนปรางค์ กลางเทวสถานมีฐานเทวรูป ทำด้วยแลงมีบัวคว่ำบัวหงายหน้ากระดานใหญ่รีเปนรูปไข่ กว้างประมาณเกือบศอกหนึ่งยาวศอกเศษ มีช่องกลางที่สำหรับปักแกนน่าจะเปนเทวรูปทอง และทีจะใหญ่มาก สูงกว่า ๔ ศอก ฐานนั้นตกตะแคงอยู่

อีกฐานหนึ่ง ใหญ่กว้างราวกัน มีก้อนแลงสี่เหลี่ยมใหญ่ตั้งอยู่บนนั้นจะเปนแท่นหรืออะไรไม่มีลวดลาย เทวสถานทั้ง ๒ หลังนี้ขนาดเดียวกันกับกำแพงเพชร

มีบ่อกรุหลายบ่อ แต่ผิดกันกับบ่อกรุข้างเหนือ ข้างเหนือเปนบ่อกลม ที่นี่ใช้บ่อเหลี่ยมทั้งนั้น ก่อด้วยศิลาแลงแผ่นใหญ่ ๆ กรุขึ้นมาแต่ก้นบ่อตลอดจนถึงปากบ่อดูยังดีอยู่มาก

มีอีกแห่งหนึ่ง พื้นเปนดานศิลาแลง กว้างสัก ๑๐ ศอก ยาวสัก ๓ วา ขุดเปนหลุมกลมๆ ปากกว้างสักคืบเศษ ลึกสักศอกหนึ่ง เจาะชิดกันบ้างห่างกันบ้างไม่เปนจังหวะ ในหลุมนั้นเกลี้ยง เดากันอยู่ว่าจะเปนอะไร เดี๋ยวนี้กำลังกุกันว่าทีจะเปนหลุมสำหรับโขลกปูนที่จะปั้นลวดลายเครื่องประดับปรางค์ปราสาทศิลาแลงนั้น

การที่ได้พบเปนหลักเช่นนี้แล้ว คงจะเปนทางที่ได้ค้นต่อไปอีก ตำบลที่พบเทวสถานนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่าโคกฝาง ไม่รู้ว่าเปนที่ก่อสร้างอันใด นึกว่าเปนโนนธรรมดา แต่โดยจะค้นพบต่อไปอีกเห็นจะหาชิ้นดีไม่ได้ คงจะได้ร้างมาเสียหลายร้อยปีหนักหนาแล้ว มีรูปบางอย่างที่ได้จากดงศรีมหาโพธิเข้าไปไว้ในกรุงเทพ ฯ มีอยู่นานมาแล้ว

ดงศรีมหาโพธินี้ ได้ชื่อจากต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ซึ่งว่าเปนโพธิ์เก่าแก่ เปนที่นับถือสักการบูชา ระยะทางห่างจากโคกฝางนี้ศประมาณเช้าชั่วเพล แต่ก็อยู่ชายดง ว่าโพธิ์นั้นตั้งอยู่บนโนน แต่คนแก่เขาบอกว่าไม่ใช่โนน เปนทราย ที่คนนับถือไปบูชา กองพอกๆขึ้นไปจนเปนโนนสูงสัก ๖ ศอกเศษ มีพระรูปหนึ่งออกมาสร้างวัด เรียกชื่อว่าหลวงพ่ออิฐ จะถามหาปีเดือนว่าได้สร้างเมื่อใดก็บอกไม่ถูก ได้ความแต่ว่าวัดนั้นได้สร้างมาแต่เมื่อยายแก่อายุ ๖๐ ปี ได้เห็นเปนวัดอยู่แล้ว พระเปนไทยบ้าง ลาวบ้าง ปนกัน มีพระบาทจำลอง ฤดูเดือนห้าราษฎรพากันไปไหว้ต้นโพธิ์และพระบาท มาแต่ไกลจากเมืองพนมสารคามท่าประชุมและที่อื่นๆ เปนตลาดนัดซื้อขายจอแจกัน ๒ วัน ๓ วัน และมีดอกไม้เพลิงบ้องไฟเปนต้นมาจุดในการนักขัตฤกษ์นี้

ชาวบ้านที่ได้มาพบวันนี้ เปนพวกบ้านเกาะสมอและม่วงขาว ซึ่งพระศรีมหาโพธิอยู่เปนพื้นเปนลาวทั้งนั้น อยู่ข้างเปนที่จะชื่นชมยินดี ต้องนั่งห้อยตีนให้กราบและเอาตีนทูนหัว และขอให้ให้พรตามความปรารถนา คือถ้าทำนาก็ขอให้ให้พรว่าให้ทำนาได้ข้าวงามดี ถ้าเจ็บเปนโรคอะไรต้องเล่าโรคนั้นให้ฟัง แล้วขอให้ให้พรให้โรคนั้นหาย ให้ต้องเฉพาะตัวหรือเฉพาะพวก ที่จะให้ทีเดียวพร้อมกันไปมากๆ ไม่ได้ ได้ความว่าพวกลาวเหล่านี้ยังคงใช้นุ่งซิ่นอยู่แต่ชั้นแก่ ๆ อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปทั้งนั้น ผ้าที่จะนุ่งก็ได้ความลำบากเปนอันมาก ทอเองก็ไม่ใคร่จะได้ดี ถ้าจะนุ่งไหมต้องคอยพวกมรแหม่งลงมาจึงจะได้ซื้อ แต่พวกที่ต่ำอายุ ๖๐ แล้วไม่นุ่งซิ่น นุ่งผ้าเปนไทยหมด ไม่ช้าในแถบข้างนี้จะไม่ได้เห็นลาวนุ่งซิ่นต่อไป คนที่มาเปนอันมากนุ่งซิ่นไม่ถึงร้อยละสิบ ดงศรีมหาโพธินี้ ยาวยื่นออกไปจนถึงเมืองโพธิสัตว์และเมืองตะโหนด ทำนาเข้าไปจนถึงชายดง ในดงก็ทำข้าวไร่และทำไร่เข้าไปมาก แต่ยังมีป่าทึบอยู่เปนอันมาก ประหลาดมากที่แถบนี้ไม่มีช้างกวน ช้างอยู่แถบเขาไม่ลงมาแม่น้ำด้วย เหตุฉะนั้นบ้านเรือนแถบนี้จึงได้แน่นหนาเพราะไม่ได้ความลำบากด้วยเรื่องช้าง และการหากินหมุนได้หลายทางเช่นกล่าวมาแล้วในหนังสือฉบับที่หนึ่งนั้น

การเลี้ยงกรมมรุพงษ์เลี้ยงเรียกว่าข้าวห่อ แต่ที่แท้เปนกระทงสังฆทาน กับข้าวทำดี เจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำกับข้าวป่าเลี้ยง คือไก่เผาปลาเผา มีผัดน้ำพริก ซึ่งเปนของจะทำได้ในป่าง่ายๆ ไม่สู้ต้องการภาชนะสำหรับหุงต้ม ทำอร่อยดีมาก

เลี้ยงกันแล้วกลับลงมาท่า ได้เลี้ยงน้ำชาอย่างสูง คือขนมจีนแกงไก่อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึ่งได้ลงเรือล่องลงมาพลับพลาเมืองปราจีน การที่แก้โปรแกรมหน่อยหนึ่งนี้ เหตุด้วยพลับพลาที่ปราจีนสบายกว่า และคิดจะแก้ตอนปลายไม่ให้ต้องย้อนกลับขึ้นมาปากน้ำเจ้าโล้ และอยากจะดูคลองท่าถั่วสักหน่อยหนึ่งด้วย ได้เว้นเมืองปจันตคามเสีย เพราะเหตุที่น้ำลดเรือโมเตอรจะขึ้นไปไม่ถึง ทางกระบิลก็ขึ้นไปไม่ได้อย่างเดียวกัน

ลืมบอกว่าช้างที่ไปวันนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำคอเองคล่องแคล่วดีมาก แต่ช้างใหญ่ๆเขาส่งออกไปตระเตรียมที่สำหรับจะตามช้างสำคัญ พร้อมกันกับต่อเมืองนครราชสีมาชัยภูมิ ช้างที่เหลืออยู่นี้สำหรับตัวจะไปเข้ากองนั้นเอง ที่เลี้ยงช้างเจ้าพระยาอภัยภูเบศรย้ายจากปราจีนไปเลี้ยงสระขุด อยู่ในนี้แกทนปรับไปกินนาเขาไม่ไหว เพราะเหตุที่ดงพระรามเดี๋ยวนี้เปนไร่ไปเกือบทั้งดงเสียแล้ว สังเกตจำได้เปนความจริง เมื่อก่อนอยู่ที่ทุ่งพลับพลาแลดูยังเห็นดงพระรามเปนป่าไม้ที่สูงชอุ่มผิดกับไม้ริมฝั่งน้ำ ถ้าแลดูเดี๋ยวนี้ไม่มีใครบอกว่าดง อาจจะเข้าใจว่าเปนไม้ริมฝั่งน้ำได้ อยากจะกล่าวถึงโยกราฟีท่านอุบาลี (ปาน) อีก ของแกชอบกลได้จริงอยู่บ้าง เหมือนอย่างดงพระรามกล่าวยืนยันว่าไม่มีปราสาทบ้านเมืองอะไรในนั้น เปนแต่ที่ประพาสของเจ้าแผ่นดินโบราณซึ่งประทับอยู่ที่ดงละคร ตรงกับอย่างฝรั่งที่เรียกว่าชุตติงลอช คำที่ว่าพระรามนั้นเดิมอ่านว่าปรามเปนดงปราม คือเปนป่าที่ห้ามไม่ให้คนยิงสัตว์ เดี๋ยวนี้คนเข้าอยู่เกือบเต็มทั้งดง ไม่พบอะไรจริงๆ แต่ดงละครมีที่ร้างโบราณสมที่กล่าวไว้

วันที่ ๑๙ ล่องจากเมืองปราจีนมา แวะกินกลางวันที่วัด นัยหนึ่งเรียกว่าอินทนิน นัยหนึ่งเรียกว่าอินทาราม แล้วล่องลงมากินที่ๆพักบางแตนลงไปทางให้ลัดประมาณสัก ๓ เลี้ยวใหญ่ ๆ ถึงปากคลองบางขนาก ปากคลองบางขนากนี้ เห็นจะเป็นคลองเก่าคดอ้อมวงไป แต่ล๊อกที่ทำนั้นทำในคลองที่ขุดใหม่ ตัดในระหว่างคลองคดอย่างเดียวกับคลองท่าไข่ ที่ล๊อกนี้เปนเวลาเปิดอยู่น้ำแรงมาก เรือโมเตอรขึ้นไปน้ำตีหัวปัดหันเกือบเข้าไปโดนประตู เบนหัวออกมาตรงช่องน้ำตีเรือเกือบจะหมุนกลับลงมา ต้องสาวเชือกพวนอย่างขึ้นแก่งจึงขึ้นไปได้ กรมหมื่นมรุพงษเปนผู้ไปในเรือที่นั่งรอง ได้ออกปากชมเรือโมเตอรนี้เปนอันมาก ในการที่หยุดและเดินเลี้ยวว่องไวเหลือเกิน ถ้าเปนเรือลำอื่นเห็นจะไม่พ้นอันตราย คลองต่อขึ้นไปยังคดเข้าไปอีก เขาว่าลึกเข้าไปจึงจะตรง แต่เวลาไม่พอ กลับเสียแต่ยังไม่ถึงคลองตรง ขาล่องออกล๊อกง่ายเพราะน้ำเชี่ยวกรากลงมาท่าเดียว

วันนี้ฝนตกเวลากลางวัน อากาศอับร้อนมา ๒ วัน ดูค่อยเปลื้องสักนิด มาตามทางก็ยังมีประปรายเปนฝอย ๆ

วันที่ ๒๐ เมื่อคืนนี้จวนรุ่งหรือเช้าฝนตกอีก วันนี้จึงค่อยเย็นกลับเปนหน้าหนาวไปใหม่ มีลมแรงแต่หนาวอ่อน ล่องลงมาจากพลับพลา แวะที่วัดผ่านตลาดกินข้าว วัดนี้ชิ้นใหม่ทั้งวัดไม่เปนเรื่องอะไร แต่เปนที่สังเกตว่าตั้งแต่พ้นวัดนั้นลงมาเริ่มจะถึงสวนเมืองฉะเชิงเทรา มีคลองลัดแห่งหนึ่งอยู่ฝั่งขวา ดูฝั่งทั้ง ๒ ฟากค่อยงดงามเพลิดเพลิน เพราะสวนจากและสวนใหญ่งามบริบูรณ์ตลอดทาง

แวะเข้าปากน้ำเจ้าโล้ ซึ่งเปนลำน้ำไปเมืองพนมสารคาม และเมืองสนามไชยเขตร ตอนข้างนอกจะราวกันกับแม่น้ำนครนายก ต่อเข้าไปข้างในจึ่งแคบลง เปนที่สวนไร่บริบูรณ์ดีมาก ไร่สับปะรดแลสุดตาทั้ง ๒ ฟาก ต้นมะม่วงงามๆ แต่มีความเสียใจที่จะกล่าวว่าเจ้าของไร่สับปะรดเหล่านี้เปนเจ๊กมาก มีไทยที่เปนปึกแผ่นอยู่ก็หม่อมหลวงศิริลูกพระยาอิศรพันธุ์ เปนไร่สับปะรดเข้าไปลึกมาก ครั้นเมื่อเข้าไปถึงข้างในยังมีที่ว่างเปนตอน ยังจะจับทำไร่ได้อีกมาก ตามหน้าสวนเหล่านั้นมีสับปะรดแขวนไว้ข้างกองไว้บ้างรายเข้าไปตลอด ดูน่าสนุกคล้ายกันกับไร่พริกหอมกะเทียมในคลองดำเนินสะดวก สับปะรดฤดูที่กำลังดีขายราคายืนอยู่ในร้อยละบาท ถ้าเวลาที่พร้อมกันมากๆ มีสองร้อยต่อบาท สามร้อยต่อบาทอยู่ใน ๒ วัน ๓ วันในปีหนึ่ง ได้แวะเข้าซื้อ ๒ แห่ง บอกว่ารับประจำเขาไว้แล้วทั้ง ๒ แห่ง ต้องไปขืนซื้อจะยอมใช้ค่าปรับประจำให้ ก็ยังไม่ใคร่ยอมขาย แต่ตกลงราคาไม่เหมือนกัน รายที่สับปะรดไม่สู้ดีกลับเอาราคาร้อยละ ๕ บาท ๒ สลึง ที่ดีร้อยละ ๕ บาทถ้วน แต่ไม่ยอมขายให้มาก ได้พูดกันถึงเรื่องสับปะรดกลัก ที่นี่น่าจะทำได้ สับปะรดคงจะมีอยู่ในราว ๘ เดือนหรือ ๑๐ เดือน แต่ราคาไม่เสมอ ถ้าหากว่าจะมีผู้ทำจะต้องเปนผู้ประกอยด้วยบารมีเฉพาะจึงทำสำเร็จ ข้อหนึ่งคือรู้จักเอาใจพวกชาวไร่ ไม่รังแกไม่โกงให้เชื่อถือ ข้อ ๒ ต้องไม่หรู โรงโกงจะทำต้องตามมีตามเกิดได้ ข้อ ๓ ต้องขี้เหนียวไม่ใช้สอยฟูมฟาย ข้อ ๔ ต้องกว้างขวางแก่ลูกค้าที่จะรับขึ้นไปจำหน่าย ถ้าผู้ประกอบด้วยองคคุณ ๔ อย่างนี้จึงจะอาจทำสำเร็จ ไม่จำเปนจะต้องส่งออกไปขายเมืองนอก ส่งขึ้นไปขายเมืองเหนือ เพราะเวลานี้ใครไม่กินสับปะรดกลัก ลิ้นจี่กลัก ออกจะไม่เปนเยนตลแมน ข้อสำคัญที่สุดนั้น ต้องหากระดาษปิดกลักให้หรู ถ้ากินแล้วเสร็จจะไปทำกระโถนก็แลเห็นงาม ยังไม่แลเห็นคนไทยๆ ที่ใครจะสามารถดังที่ว่านี้

เข้าไปทางอีก ๒ มินิตจะถึงที่ว่าการอำเภอ เชื่อว่าคงมีศาลามีมุขหลังหนึ่ง มีโรงช้างหลังหนึ่ง จะกลับไปถึงฉะเชิงเทรามืดค่ำไปจึงได้กลับเรือออกมา

วันนี้มีเหตุเรือโมเตอรน้ำมันหมด หยุดเมื่อก่อนจะถึงเมืองฉะเชิงเทราสามเลี้ยว แต่อีกลำหนึ่งเหตุไฉนจึงยังไม่หมดไม่ทราบ ครั้นจะรอคอยให้เรือนำเบอร ๑ ซึ่งบรรทุกน้ำมันแล่นตามมาข้างหลังมาถึง เห็นการจะยืดไป จึงได้ลงเรือลำที่น้ำมันยังไม่หมดลงมา ให้ลำแรกคอยเรือนำเบอร ๑ พอได้น้ำมันเติมแล้ว ก็แล่นลง มาไม่ช้าสักเท่าไร ข้อที่เกิดเหตุขึ้นดังนี้ ทำให้รู้สึกว่าน้ำมันที่บรรจุไปในเครื่องเห็นจะแล่นได้เพียง ๓-๔ ชั่วโมงจะต้องเติมทุกวัน ถึงเวลาหยุดกินข้าวกลางวันเคยเติมน้ำมัน หลวงฤทธิไปถามใครบอกว่าจวนถึงแล้วจึงไม่เติม มามีเหตุดังนี้ แต่จะเอาแน่นักยังไม่ได้ เรือนี้ไม่มีเสียหายอันใดเลย มีอย่างเดียวแต่เพียงเรายังไม่รู้เท่าทั่วถึง คือมีเหตุขึ้นจึงจะรู้ พลับพลาทำที่หน้าเรือนกรมมรุพงษ์ เปนที่สบายดีมาก ของแจกก็อยู่ข้างเก่ง วันนี้ถึงกางเกงเจ๊ก พรุ่งนี้ทำโปรแกรมจะให้แม่เล็กไปแม่น้ำเจ้าโล้ เพราะครั้งก่อนไม่ได้ไป

วันที่ ๒๑ เช้าลงเรือล่องลงไปดูคลองท่าถั่ว ซึ่งตั้งชื่อว่า คลองประเวศบุรีรมย์ ทางตั้งแต่บ้านเทศาลงไปประมาณชั่วโมงหนึ่ง ล๊อกที่คลองนี้น้ำไม่สู้แรงเหมือนคลองขนาก ดูเปนคลองที่บริบูรณ์ดีมีบ้านเรือนรายสองฟาก มีเรือนฝากระดานก็มาก ลักษณเดียวกันกับคลองแสนแสบ นาที่เสียไปคราวหนึ่ง เดี๋ยวนี้กำลังกลับดี แต่ได้ทราบว่า ผักชวาปิดทางเสีย ที่สี่แยกเรือเดินเข้าออกไม่ได้ เตรียมไว้จะไปเตือนเจ้าพระยายมราช เรื่องผักชวานี้ร้ายกาจมาก ตามลำน้ำบางปกงหน้าจ๋อยๆ เพราะถูกน้ำกร่อยแต่ก็ไม่ไหลลงไปทะเลได้หมด เพราะน้ำไหลขึ้นก็กลับลอยขึ้น ข้อที่ว่ากระบือกินได้นั้น เปนความจริง แต่กลับมีอันตรายมาก เหตุด้วยกระบือกินแต่ใบ ต้นรากแห้งติดอยู่กับดิน ครั้นถึงเวลาไถหว่านข้าวในนา พอน้ำมาผักชวาจำเริญเร็วก่อนต้นข้าว เบียดเสียดแทรกต้นข้าวลีบไปหมด โทษถึงจะต้องประหารให้หายขาดแต่ต้องเป็นการพร้อมกันทั้งหัวเมืองและในกรุง เวลานี้การที่จะคิดทำลายผักชวาในกรุงยังไม่ได้จับคิดอ่านให้เปนการทำทั่วไป กินข้าวที่วัดเทพราช ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเดียวกัน กลับมาแวะวัดโสทรซึ่งกรมหลวงดำรงคิดจะแปลว่า ยโสธร จะให้เกี่ยวข้องแก่การที่ได้สร้างเมื่อเสด็จกลับจากไปตีเมืองเขมรแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถหรือเมื่อใดราวนั้น แต่เปนที่น่าสงสัยด้วยเห็นใหม่นัก พระพุทธรูปว่าทำด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเปนหมอดีนั้นคือองค์ที่อยู่กลาง ดูรูปตักและเอวงามเปนทำนองเดียวกันกับพระพุทธเทวปฏิมากร แต่ตอนบนกลายไป เปนด้วยฝีมือผู้ที่ไปปั้น ว่าลอยน้ำมาก็เป็นความจริง เพราะเปนพระศิลาคงจะไม่ได้ทำในที่นี้ ความนิยมนับถือในความเจ็บไข้อยู่ข้างจะมาก มีคนไปมาเสมอไม่ขาดจนถึงมีร้านธูปเทียนประจำอยู่ได้ ทั้งสี่สะพานและที่ประตูกำแพงแก้วกว่า ๒๐ คน ถามดูว่าขายได้อยู่ในวันละกึ่งตำลึง มีทอดติ้วพวกจีนเข้ารักษา เจ้าศรีไสยถวายกำปั่นเหล็กเจาะช่องไว้สำหรับเรี่ยไรใบหนึ่ง ไม่มีอะไรจะดูเลยในวัดนั้น

วันนี้เจ้าศรีไสยแจก เปนการทั่วถึงทั้งทหารพลเรือน

วันที่ ๒๒ ล่องเรือมาแวะกินข้าวที่วัดคงคา เหนือหมู่บ้านบางปกง มีคนมาคอยอยู่มาก มีจระเข้ด้วยตัวหนึ่งย่อมและอ่อนเสียเต็มทีแล้ว วัดนี้เปนวัดเก่า โบสถ์เปนเสาไม้ หลังคาสองชั้น มีมุขทะลึ่งออกไปข้างหัวข้างท้ายถึงแนวเฉลียง มีเสาเฉลียงรายรอยบรรจบมุขทะลึ่งหัวท้าย เสานั้นตั้งบนพนักซึ่งก่อเปนผนังแต่ครึ่งหนึ่ง เหนือผนังตั้งฝากระดาน ภายในเขียนลายรูปภาพ ไม่เลวทีเดียวเหมือนที่เคยเลว แต่พระพุทธรูปในนั้นอยู่ข้างจะทำหยาบคายเปนฝีมือเลวมาก

เวลาบ่าย ๓ โมงออกเรือจากวัดมาออกปากอ่าวบางปกง แล่นมาในทะเลไม่สู้ห่างฝั่งนัก เรือกระบวนเขาเดินลึกกว่า เรือมกุฎราชกุมาร เรือเสือ และเรือตอปิโด มาทอดรายอยู่ที่ปากอ่าว มกุฎราชกุมารสลุต เรือครุฑเรือกระบี่ ๒ ลำเปนเรือสำหรับที่จะเดินในทะเลเช่นนี้จริง ๆ เดินเร็วดีเปนอันมาก ตั้งแต่วัดคงคามาจนถึงพลับพลาที่ตรงที่ทำล๊อกหย่อนชั่วโมงครึ่งอยู่ ๒ นาที กรมหลวงดำรงคิดการเอะอะมาก ได้ให้ทำธงเหลืองแจกบรรดาโมเตอรทุกลำ เผื่อว่าถ้ามีเหตุขัดขวางในกลางทะเลยกธงเหลืองขึ้นให้เรือไปช่วย แต่ก็เปนการเรียบร้อยดีไม่มีเหตุการณ์ถึงต้องยกธงเลย เพราะเหตุที่เรือโมเตอรทั้งปวงนั้นเรือไฟลาก ไม่ได้แล่นมาแต่สักลำเดียว

มิสเตอรวันดไฮเดอออกมาคอยจึงได้ไปดูที่ทำล๊อก การทำรากแล้วสำเร็จกำลังตั้งประตู เปนประตูที่ใหญ่กว่าเพื่อน เพราะคลองบางเหี้ยนี้ใหญ่กว่าคลองอื่นๆ น้ำก็ลึกมากเวลาน้ำขึ้นลงถึง ๒ เมเตอรเศษ ที่ล๊อกนี้เปนทางระบายน้ำทางหนึ่ง ทางเรือเดินทางหนึ่ง ที่บางเหี้ยมีบ้านเรือนมาก แต่จะอยู่ในล๊อกมาก ถ้าหากมีล๊อกขึ้นเสียได้ ที่เหนือล๊อกซึ่งว่างอยู่เห็นจะมีการเพาะปลูกขึ้นได้อีกมากได้ ลงเรือพายขึ้นไปเหนิอน้ำจนหมดหมู่บ้านแล้วลงไปใต้น้ำดูภูมิที่ พลับพลาที่นี่ทำใหญ่โตมาก แต่ใช้ไม้เล็กๆทั้งนั้น กรมศุขาภิบาลหรือตัวพระนรสาตรเปนผู้คิดทำ แต่ยุงอยู่ข้างจะร้ายกาจ ตั้งแต่มาไม่เคยมียุง พึ่งมามีวันนี้

วันที่ ๒๓ วันนี้ภาษาจีนใต้ก๋งเรือเขากล่าวว่าลมอยู่ข้างจะตึง ที่แท้ไม่ใช่ลมไม่มี หรือลมพัดดังตึงๆทั้ง ๒ อย่าง เปนอย่างที่มีลมมาก สังเกตกันว่าเรือกระบวน เช่นเรือมาดออกไปอยู่ข้างจะมีทางที่จะเกิดอันตรายได้ พ่อจึงได้ไปแต่เรือโมเตอร ๒ ลำ เรือใครๆ ไม่ออกหมด ผู้ที่มีเรือเช่นกรมมรุพงษ์ เจ้าศรีไสย กรมอดิศร มาลงเรือครุฑทั้งนั้น ออกไปเวลา ๕ โมงเช้า ถึงที่ปากอ่าวก็เห็นเรือพระองค์สายแล่นเข้ามา ติดเสาเตรียมจะแล่นใบ นึกว่าจะกลับลำตามออกไปก็ไม่กลับ เรือเราออกไปแต่ ๒ ลำเท่านั้น ถูกคลื่นพอใช้ต้องปิดกระจกหน้า เพราะน้ำสาดเข้ามาเปียกเปนฝ้าเหมือนฝนตก คลื่นตีข้างถูกหน้าบ้างถูกตัวบ้าง แต่เรือแขงจริงๆ ดูเหมือนยิ่งออกทะเลยิ่งแล่นเร็วขึ้น เพราะเรือรูปนี้สำหรับแล่นในทะเลสาบที่มีคลื่นลม ชอบกันกับที่จะสู้คลื่นเช่นนี้ แลดูเพลิดเพลินน่ารักเต็มที เรือเสือทะยานชลและตอปิโดมารายแล่นแห่ไปในที่ลึก คราวนี้เกิดเหตุหลวงฤทธิถนัดแต่เดินรถโมเตอรคาร์ เห็นหมามันนอนกลางถนนแล่นหลีกมันเสียก็ได้ คราวนี้เห็นรั้วเข้าจะคิดหลีกเหมือนหมาหลีกมันก็ไม่พ้นเพราะมันปักเปนแถวยาว เรือขวางคลื่นถูกลูกใหญ่ตบเข้าน้ำขึ้นจนถึงกราบ แต่ไม่น่ากลัวอันตรายอะไรเลยเพราะรูปร่างมันแขงนัก ออกอยากจะหยุดๆ โปรเตสว่าไปไม่ได้ติดรั้ว จักจะหัก ต้องอธิบายแก้ไขกันอยู่เปนนานว่าเรือไฟเขาเดินก็ต้องผ่านรั้วเช่นนี้ทั้งนั้น ข้อที่กลัวจักรหักนั้น เมื่อเวลาถึงรั้วให้หยุดจักรเสียจึงเปนอันสำเร็จ ผ่านรั้วได้สะดวกดี ข้อที่หลวงฤทธิกลัวนั้นเมื่อวานนี้เรือไฟจักรหักลำหนึ่ง เพราะมาฟาดเอารั้วเข้าเช่นนี้ น้ำที่กระเซ็นสาดเข้ามานั้นทำให้ไฟฟ้าเดินพร่าไปทั้งนั้น แต่ไม่มีเหตุขัดข้องอะไรแก่การเดินเครื่องเลย จีนใต้ก๋งว่าถ้าไปอ่างหินเห็นจะถูกคลื่นมากกว่านี้ จึงตกลงกันไปเมืองชล เมื่อไปถึงเข้าแล้วพบเรือไชยาจอดอยู่ในที่นั้น แวะไปถามที่เรือไชยาถึงเรื่องน้ำ และขอยืมดิ่งเขาด้วย สมอสำหรับเรือก็มีมา แต่หลวงฤทธิไม่เอามา เพราะมันถนัดแต่เดินดิน ในแม่น้ำเห็นไม่ต้องการสมอจึงต้องไปจอดอาศัยผูกอยู่ที่เรือเจ๊ก เพราะหยั่งน้ำที่นั่นสามศอก เรือไชยาลากเรือไกรสรสีห์ไปแต่เช้า จึงจับเรือไกรสรสีห์ส่งกรมหลวงดำรงเจ้าพระยายมราชขึ้นไปตรวจทาง ได้ความว่าที่เรือเมล์ใปจอดอยู่ ๒ ลำน้ำลึก ๔ ศอกเข้าไปได้จึงได้แล่นเข้าไปเทียบขึ้นที่เรือเมล์ เรือเมล์เขามาจอดที่สะพานศาลเจ้าอยู่หว่างสะพานหลวงเดิมและสะพานหน้าที่ว่าการยาวกว่าทุกสะพานแต่แคบ เครื่องอานอะไรที่มีไปต้องขอแรงคนในเรือเมล์ช่วยเชิญตามเสด็จ เพราะมีมหาดเล็กไปแต่พระยาบุรุษกับพระนายเสมอใจเท่านั้น เจ้าพวกนั้นรื่นรมย์กันมากตามเสด็จสะพรั่ง เดินกั้นร่มไปตามสะพานลมจัด รู้สึกจะเปนโจนร่มเสียให้ได้ เหมือนยังกับร่มมันจะพาตัวเราลงไปในเลน มีตำรวจภูธรนาคนหนึ่งด้วย เจ้านั่นก็เพิ่งมาอยู่ใหม่ถามอะไรไม่ได้เรื่องสักอย่าง แต่ขยันดี ตลาดเมืองชลนี้ตั้งแต่ไฟไหม้แล้วไม่ได้เคยมาเห็นอีกเลย ดูครึกครื้นแข็งแรงขึ้น ที่ซึ่งเคยขายของสดเต็มถนนอยู่แต่ก่อนเดี๋ยวนี้เปนร้านขายของต่าง ๆ ทั้งสองฝาก แต่ของบางกอกทั้งนั้น ที่เราซื้อไม่ได้สักสิ่งเดียว กรมมรุพงษ์ออกตัวขึ้นมาเองว่าทีจะออกเตรียมๆ เพราะแต่ก่อนเคยขายของสดอยู่เกลี้ยงเกลานัก เวลานี้ไม่มีใครอยู่ ชายกลางเข้าไปทำพลับพลาฉะเชิงเทรา ปลัดไปประจำอยู่อ่างหิน เหลือแต่กรมการผู้น้อย เดินกว่าจะไปสุดตลาดข้างใต้ถึงที่ว่าการไกลพอใช้ ร้อนเต็มที ทั้งใส่เกือกแต่เป็นเกือกชูบาง ยังร้อนขึ้นมาจนตีนพอง มีร้านถ่ายรูปร้านหนึ่งช่างจีนอยู่ข้างจะมีกัลยาณมิตร ได้เรียกให้ไปถ่ายรูปหมู่ที่ที่ว่าการ ที่ว่าการตั้งแต่โรงโทรเลขไปยังเปนกำมะลอยอบแยบอยู่ทั้งนั้น แต่เขาอุตส่าห์ปุปะเยียวยาและรักษาสะอาดจริงๆ การงานเปนระเบียบเรียบร้อยดีจริงๆ เรื่องกินเกือบจะเสียที เพราะกรมมรุพงษ์ให้เมียไปเตรียมทำกับข้าวไว้ที่อ่างหิน แต่เราไพล่ไปเสียบางปลาสร้อย ถ้าไม่ได้เตรียมตัวไปแล้วเปนหาอะไรไม่ได้เปนอันขาด มีแต่ขนม ขนมแล้วสารพัดจะมี ฝอยทอง เม็ดขนุน เข้าเหนียวห่อ ๆ เขาทำเปนแท่งยาวๆ ดีมาก เปนของควรแก่กิจที่จะบริโภคแท้ไม่ใช่ของขายในตลาด และไม่ใช่สำหรับพระเปนอันขาด ในบางกอกหาไม่ได้อย่างนี้ ส่วนของคาวนั้นไม่ปรากฏว่ามีอะไรนอกจากที่จะเปนหมี่ แต่พเอินเมื่อคืนนี้หลับไปแล้วให้เกิดวิตกวิจารณ์ขึ้นมาว่าคืบก็ทะเลศอกก็ทะเลพลาดพลั้งเข้าจะอด กรมมรุพงษ์แจกของแจกต่างๆมีปิ่นโตอิต๊อตแจกสำหรับประจำเรือโมเตอรลำละใบเจือจะออกอี๋ด้วย จึงลุกขึ้นบัญชาการในดึกให้เจ้าถนอมทำกับข้าวบรรจุลงเรือลำละใบ ครั้นแวลาวันนี้ขึ้นไปรวมกันกินทั้ง ๒ ใบเลี้ยงพอกันหมดและอร่อยอิ่มหนำสำราญ หลวงอำนาจจีนนิกรตามไปหาที่ที่ว่าการ เลยว่าให้เอาเรือฉลอมมารับที่สะพานหน้าที่ว่าการ เพราะจะเดินอ้อมกลับไปลงสะพานเดิมไม่ไหวทั้งไกลทั้งร้อน ที่หน้าที่ว่าการนี้เขาขุดร่องพูนถนนลงไปจนถึงชายเลนลึกจึงมีสะพานไม้ต่อไม่สู้ยาว ได้ลงเรือฉลอม ๒ ลำด้วยกันแล่นใบกลับมาที่สะพานศาลเจ้า ที่จริงสบายมาก ออกเสียดายว่ามาถึงที่เรือโมเตอรเร็วไป เพราะลมกำลังดีถ้าจะแล่นมาบางเหี้ยคงจะไม่ช้ากว่าเรือโมเตอรเท่าใด ขึ้นเรือโมเตอรกลับมาถึงเวลาบ่าย ๕ โมง เวลาเย็นลมอ่อนลงมาก แต่ไม่เรียบทีเดียวเหมือนเมื่อวานนี้ ระยะทางที่ไปวันนี้ ขาไปตั้งแต่พลับพลาที่ตรงล๊อคในบางเหี้ยจนถึงสะพานศาลเจ้าชั่วโมงหนึ่งกับ ๔๒ นาที ขากลับชั่วโมงหนึ่งกับ ๓๖ นาที เปนอันเรือโมเตอรนี้ได้ออกทะเลมีคลื่นสมความปรารถนาที่ต้องการ แต่ถ้าหนักกว่านี้ไปเห็นจะเปียก

วันที่ ๒๔ โปรแกรมวันนี้อยู่ข้างจะเลอะเทอะเปลี่ยนแปลงมาก เดิมกำหนดอยู่ในราว ๔ โมง ออกจากบางเหย เข้ามาทำกับข้าวกินที่พระสมุทเจดีย์ เวลาบ่ายโมงหนึ่งตามเคย แล้วจะลงเรือไปเที่ยวคลองบางปลากด เวลาบ่าย ๕ โมงจึงจะขึ้นโมเตอรเตรียมกลับ ครั้นเวลาเช้าว่าลมจัดไปกว่าวานนี้ ซึ่งที่จริงก็รู้แล้วว่าเรือกระบวนคงต้องออกเที่ยงแล้วหวังอยู่ว่าเรือโมเตอรคงจะมาได้ ครั้นเมื่อจะต้องออกเที่ยงเหมือนเรือกระบวน ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะรีบมา จะถึงปากน้ำก็บ่าย ๒ โมงเกินเวลากินข้าว จึงได้ทอดธุระเสียไม่รีบมา แต่เคราะห์ดีอย่างเมื่อวานนี้ได้หาปิ่นโตข้าวไว้ เรือกระบวนออกย่ำเที่ยงครึ่งไม่มีเรือครัวเหลืออยู่ แต่ได้กินข้าวในปิ่นโตที่เตรียมไว้บ่ายโมงหนึ่งตามเวลาที่เคย

เวลาเช้าที่ว่างอยู่นั้น พวกราษฎรพากันอยากจะเห็น จึงออกไปให้เห็นและแจกเสมา พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เปนที่นิยมกันในทางวิปัสนาและธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่าง ๆ ไปเดินธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมอยู่ที่วัดบางเหี้ยมีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้นลงไปบางปลาสร้อยแล้วจึงเวียนกลับขึ้นมาปราจีนนครนายกไปพระบาทแล้วเดินลงมาทางสระบุรี ว่ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นไว้แต่พระที่เลื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพ ฯ กลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเปนอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว คุณวิเศษที่คนเลื่อมไส คือให้ลงตะกรุดด้ายผูกมือรดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือรูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือเล็กบ้างใหญ่บ้างฝีมืออยาบ ๆ ข่าวที่ล่ำลือกันว่าเสือนั้นเวลาจะปลุกเศกต้องใช้เนื้อหมูเศกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียบนเขาโพธิ์ลังกาคนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เปนอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการที่ทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือเปนต้น ถ้าปรกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเศก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เปนอย่างคนแก่ใจดีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เปนคนพูดน้อย มีคนอื่นมาช่วยพูด

ได้ออกจากบางเหี้ยอีก ๕ มินิตจะบ่าย ๒ โมง บ่าย ๓ โมง ๓ ส่วนถึงสมุทเจดีย์ ข้าวก็กินมาแล้วจะไปเที่ยวข้างไหนเวลาก็ไม่พอ จะขึ้นรถโมเตอรแตรมก็กำลังแดดร้อน และนัดเขาไว้บ่าย ๕ โมงจะรออยู่จนเรือกระบวนมาถึงพร้อม ก็คงไม่เร็วกว่าบ่าย ๕ โมง เพราะพึ่งมาผ่านกันที่ปากอ่าว จึงตกลงหยุดบอกเลิกทางบกเสีย ขึ้นมาโดยทางแม่น้ำ คิดดูระยะตั้งแต่บางเหี้ยมาถึงปากน้ำ กับปากน้ำขึ้นมาถึงหน้าวัดราชาธิวาสราวๆกัน รวมเวลาทั้ง ๒ ส่วน เปน ๓ ชั่วโมงกับ ๕๔ นาที นับว่า ๔ ชั่วโมง แต่เรือเดินอย่างเต็มที่ มีแล่นช้าแต่ในคลองลัด กำลังน้ำมันของเรือที่กรอกไปพอทนได้ ๔ ชั่วโมง เมื่อแล่นเร็วเร็วดังนี้ แต่ถ้าแล่นช้าๆ เปลืองน้ำมันน้อยกว่า นับว่าเปนรู้กำลังเรือแน่นอนกันในครั้งนี้

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ