- วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- —Articles used in Worship
- วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น (๒)
- วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- —วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- —วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑
- วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ดร
- วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ดร
- วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- —The Three Arrows of Rama
- วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น
- วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น (๒)
- วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น
วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ น
บ้านปลายเนีน คลองเตย
หัวหิน
วันที่ ๔ กันยายน ๒๔๗๑
กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท
เกล้ากระหม่อมขอถวายหนังสือถอด เรื่องพระราชพิธีบุณย์ราชาภิเษกพระเจ้ามุนีวงศ์ กรุงกัมพูชาธิบดี หวังว่าจะสบโอกาศดี ที่จะได้ทอดพระเนตรไปตามทางรถไฟขาเสด็จกลับ จะแก้เหงาพระทัยไปได้นาน ขอประทานโทษที่ดีดพิมพ์ไม่ค่อยเรียบร้อย มีพลั้งพลาดด้วยรีบด่วน
ที่เรียกว่าหนังสือถอดนั้น เพราะเขียนถอดหนังสือเขมรออกเป็นหนังสือไทย คำใดซึ่งเป็นว่าไทยจะไม่เข้าใจจึ่งเปลี่ยนคำนั้นเสียเป็นคำไทย เพราะเหตุอย่างนั้นผู้อ่านจะเห็นสำนวนขวางหูอยู่บ้าง แต่ได้ตริตรองแล้วถ้าจะทำเป็นการแปร คือแต่งใหม่ตามความนั้น ให้เป็นสำนวนไทยสนิทหูเป็นการทำได้ด้วยยาก ยากที่ใช้คำประกอบกับยศศักดิ์ มีช่องที่จะติเตียนในทางที่ว่าใช้คำต่ำสูงควรและมิควร สู้ถอดเอาตามคำของเขาไม่ได้ เป็นพ้นอันตราย แต่ที่ถอดไว้แล้วนั้นเกล้ากระหม่อมยังสงสัยตัวอยู่ ด้วยกำลังใจหมกมุ่นเฟื่องไปในคำเขมร อาจเห็นว่าเป็นแจ่มแจ้งพอแล้ว แต่คนอื่นเขาไม่เข้าใจก็เป็นได้ ต้องอาศัยฝ่าพระบาทเป็นกลางอีกชั้นหนึ่ง ถ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนคำไหนให้เป็นไทยเสียอีก ก็ทรงขีดหมายประทานกลับไป จะเปลี่ยนถวายให้เรียบร้อย
ในการถอดนี้ มีศัพท์ที่ติดตีความไม่ออกอยู่หลายแห่ง ได้ปรึกษากับโปรเฟสเส้อรเศเดส์
ฟุตโนตนั้น เกล้ากระหม่อมทำไว้แต่ในทางแก้ศัพท์เสียเป็นอันมาก ส่วนแก้ทางข้อความนั้นทำไว้น้อย ตั้งใจจะไว้ถวายฝ่าพระบาททรงโนต ด้วยเห็นว่าฝ่าพระบาทจะทรงทำได้ดีกว่า เพราะฉนั้นถ้าฝ่าพระบาททรงพระดำริเห็นว่า ที่เกล้ากระหม่อมโนตไว้ ตรงไหนบกพร่องก็ดี ตรงไหนไม่ควรโนตก็ดี ได้ทรงพระเมตตาโปรดทรงตัดและต่อเติมให้เป็นที่น่าอ่านยิ่งขึ้นด้วย
ถ้าจำเป็นต้องการคำอธิบายในการถอดสำหรับเมื่อจะตีพิมพ์ เกล้ากระหม่อมจะเขียนถวายก็ได้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด