วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น

บ้านปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๗๑

กราบทูล พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

สมุดรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งโปรดประทานไปพิจารณา แล้วส่งถวายคืนมาเล่มนี้ คิดเห็นว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งร่างเทียบที่สำหรับใช้ประกอบการเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามในยุคหนึ่ง รู้ได้ที่มีหนังสือจดไว้ในนั้นแห่งหนึ่งว่า “คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม ๓ หอง”

ในการเขียนเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เป็นการที่ต้องจัดผิดแผกกว่าการเขียนแห่งอื่น เช่นเขียนโบสถ์แห่งใดแห่งหนึ่งเปรียบว่าเขียนเรื่องทศชาติ เป็นต้น ก็มีแต่แม่กองกะว่าห้องนั้นเขียนเรื่องพระเตมีย์ ห้องนั้นเขียนเรื่องพระชนก แล้วช่างผู้ซึ่งรับเขียนห้องนั้นก็ร่างเองเขียนเองตามชอบใจ จะเลือกเขียนปางไหนในเรื่องนั้น หรือจะประกอบกันสองปางสามปางก็ได้ แล้วแต่จะมีที่เขียนมากน้อย เหตุที่ปล่อยให้ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะห้องหนึ่งก็เรื่องหนึ่ง มีหน้าต่างคั่น ผนังไม่ต่อกันและเรื่องก็ไม่ต่อกัน ส่วนเขียนเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น จะปล่อยให้ช่างผู้รับเขียนห้องร่างเองเขียนเองตามใจไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเดียวเขียนผนังผืนเดียวยาวนับด้วยร้อยห้อง เรื่องขนาบคาบเกี่ยวกันจะยกตัวอย่างเช่นศึกตอนหนึ่งอย่างน้อยก็กินที่เกี่ยวกันถึงสามห้อง คือวางพลับพลาในห้องซ้าย ห้องกลางเป็นสนามรบ ห้องขวาเป็นเมือง ยกออกทางเบื้องบน เลิกกลับทางเบื้องล่างดั่งนี้ จำเป็นต้องมีนายช่างใหญ่เป็นผู้ร่างให้เห็นว่าวางพลับพลาวางเมืองตรงไหน เข้าออกทางไหน แล้วช่างเขียนต่างก็เข้ารับเขียนห้องละคน

เขียนเมื่อปฏิสังขรณ์คราวสมโภชพระนครร้อยปี พระอาจารย์ลอย วัดสุวรรณาราม เป็นแม่กองร่างด้านสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ จำไม่ได้แน่ว่ามีเขตต์แค่ไหน ดูคลับคล้ายว่าเป็นด้านตวันตกกับด้านเหนือ พระอาจารย์แดง วัดหงสรัตนาราม เป็นแม่กองร่างด้านสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช เขตต์ก็คงเป็นด้านตวันออกกับด้านใต้ ความเบิกบานใจของเกล้ากระหม่อม คราวใดจะเสมอเหมือนคราวนั้นไม่มี เพราะกำลังศึกษาการเขียนโดยความรัก และตัวก็มีหน้าด้านทำการปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎรอยู่ด้วย ไปตั้งแต่เช้าอยู่จนเย็นทุกวัน เดินรอบพระระเบียงดูร่างดูเขียนกันวันละรอบแล้วเป็นอย่างน้อย ใครเขียนดี ๆ ก็ทอดทางไมตรีวิสาสะด้วยเขาฟังเขาพูดเรื่องเขียนบ้าง ช่วยเป็นลูกมือเขาทาสีตัดเส้นตัวเลว ๆ ไปบ้าง จับจำคำติเตียนและแนะนำของเขาเป็นครู ในตอนปลายเมื่อท่านผู้ร่างท่านร่างหมดแล้ว ท่านก็เข้ารับห้องเขียนด้วยเหมือนกัน พร้อมทั้งช่างฝีมือดีมีชื่ออีกหลายคน ต่างจองห้องรับเขียนใกล้ ๆ กันที่ข้างประตูฉนวน เป็นการแข่งขันกันในที เวลานั้นกล้ากระหม่อมเกือบไม่ได้ไปที่อื่น แพ่ะอยู่ที่นั้นช่วยเป็นลูกมือและฟังพวกท่านอาจารย์พูด และสังเกตกัลเม็ดในการเขียนอยู่ตลอดเวลา ความวิสาสะสนิทถึงปานนั้น แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าท่านอาจารย์ทั้งสองนั้นมีสมุดแบบร่างมาเลย แต่เมื่อเห็นสมุดเล่มนี้ก็คิดเห็นว่าท่านคงได้ลองร่างในสมุดเหมือนกัน แต่คงจะร่างที่กุฏิกำหนดจำใส่ใจมาทำ ไม่ได้เอาสมุดมากางดูที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมุดเล่มนี้ยังมีความประหลาดในตัวอยู่อีกที่ไม่ใช่มีแต่เส้นร่างด้วยดินสอเท่านั้น ยังได้ลงเส้นฝุ่นไว้หลายตอน และฝีมือเส้นฝุ่นนั้นสำส่อนหลายมือ มีตั้งแต่เด็กยังเขียนไม่เป็น ขึ้นไปจนช่างฝีมือดีมีชื่อเสียง ได้พิจารณาดูฝีมือพร้อมด้วยพระวิทยประจง (จ่าง) สังเกตลงความเห็นต้องกันจำฝีมือได้แน่แก่ใจอยู่ ๒ คน คือห้องสั่งเมืองเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง ห้องทศกรรฐ์ล้มเป็นฝีมือพระยาหัตถการบัญชา (กัน) ทำไมจึ่งเป็นได้เช่นนั้น สันนิษฐานว่าสมุดเล่มนี้ นายช่างใหญ่ผู้มีหน้าที่ร่างได้ร่างลองดู จะเป็นร่างลองที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นเองก็ได้ หรือร่างลอง ณ ที่อยู่ แล้วเอามากางดูที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ได้ แล้วสมุดนั้นก็ทอดทิ้งอยู่ในเวลาทำการเขียนกัน พวกช่างที่มารับเขียนซึ่งคุ้นเคยกับท่านผู้ร่าง เวลาหยุดพักก็คงมานั่งกินน้ำชาพูดจาวิสาสะกันไปพลาง พลิกสมุดที่ทิ้งอยู่ดูกันไปพลาง แล้วจะมีช่างคนใดคนหนึ่งนึกสนุกขึ้นมาตัดเส้นฝุ่นเล่นขึ้นเผนิกหนึ่ง เลยเห็นกันเป็นสนุกต่างเข้าตัดเส้นกันเล่นคนละเผนิกสองเผนิกเป็นแข่งขันกันในที ครั้นเสร็จงานแล้วท่านผู้ร่างก็เก็บสมุดไปบ้าน สมุดนั้นทิ้งอยู่ด้วยมิได้รักษาช้านาน ถูกไอฝนชื้นจนเส้นฝุ่นลบเลือนไปก็มี ทีนี้ก็มีคนเขียนยังไม่ค่อยเป็นซ่อมเส้นที่ลบเลือนด้วยดินสอ บางแห่งพยายามจะลงเส้นฝุ่นก็มี แต่ไม่สำเร็จ เพราะรู้ตัวว่าทำไปไม่ได้ นอกนั้นยังมีฝีมือเด็กที่เขียนไม่เป็นเลยลงเส้นตามร่างอีก เป็นการแน่มือเขียนไม่เป็นเหล่านั้น เป็นลูกหลานของท่านผู้ร่าง ซึ่งสมุดเป็นมฤดกตกอยู่กับบ้าน

ทีนี้คิดไปถึงว่าสมุดเล่มนี้จะเป็นของใคร ร่างขึ้นยุคไหน สังเกตเห็นไม่มีเขียนปราสาทอย่างของจริง เป็นปราสาทวิมานทั้งนั้น ตึกฝรั่งไม่มีมีแต่เก๋งจีน เป็นทางส่อให้เห็นได้ว่า ผู้ร่างเป็นช่างรุ่นรัชกาลที่ ๓ แต่จะร่างสำหรับเขียนเมื่อไรนั้นกะยาก เพราะไม่ทราบว่าวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้เขียนมากี่คราวแล้ว ที่ทราบเป็นแน่นั้น ในรัชกาลที่ ๓ ได้เขียนคราวหนึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าเสด็จออกทอดพระเนตรกำลังเขียน ตรัสติทศกรรฐ์โศกว่าไม่โศก ช่างจึ่งเพียรเขียนแก้ ครั้นเสด็จออกทอดพระเนตรคราวหลังโปรดว่าโศกดีหนัก ช่างได้รับพระราชทานรางวัล ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จะได้เขียนหรือไม่นั้นไม่ทราบ เข้าใจว่าไม่ได้เขียน เพราะอายุสิ่งที่ปลูกสร้างจะค่อยชำรุดไปนั้น ตกอยู่ในเว้นรัชกาลหนึ่งต้องปฏิสังขรณ์รัชกาลหนึ่ง ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เขียนสองคราว เห็นจะเป็นแต่ต้นรัชกาลคราวหนึ่ง จำได้อยู่เมื่อเกล้ากระหม่อมยังเล็ก โปรดเกล้าฯ มอบหน้าที่ให้เป็นคนประจำเลี้ยงพระฉันเวรทุกวัน เวลาเลี้ยงพระแล้วก็เลยเปิดออกประตูฉนวนเที่ยวดูรูปเขียนพระระเบียง แล้วก็จำสิ่งที่พึงใจไปเขียนที่เรือนบ้างบนบานตู้ไม้ทาสีน้ำมันด้วยดินสอขาว ก็เหมือนหนึ่งว่าเป็นกะดานชะนวนแผ่นใหญ่ มานึกรู้สึกภายหลังว่าการเขียนรูปภาพตามวัดนั้นเป็นการดี เป็นทางชักนำให้เด็กรักวิชาช่าง ทำให้ช่างเกิดขึ้นในแผ่นดิน เวลาที่เที่ยวดูอยู่คราวนั้น ไม่ใช่เป็นเวลาที่กำลังเขียน เป็นเขียนทิ้งแล้วไม่สำเร็จ ลางตอนก็เขียนเสร็จแล้ว ลางตอนก็เขียนค้าง สมเป็นว่าช่างเขียนทิ้งเพราะไม่ได้เงิน ที่เขียนแล้วดูเหมือนชั่วแต่ที่หมิ่นตา ออกจะเป็นเขียนรับเสด็จ คิดว่าเขียนคราวนั้นคงจะพร้อมกับเขียนในพระอุโบสถ เพราะช่างที่ฝีมือมีปรากฏอยู่ในพระอุโบสถเวลานี้ ได้เขียนที่พระระเบียงด้วยหลายคน ต่อมาคราวหลังที่สุดก็ลบของเก่าเขียนใหม่ เมื่อปฏิสังขรณ์ครั้งสมโภชพระนครร้อยปี ตามที่กราบทูลบรรยายมาข้างต้นนั้นแล้ว

ต่างว่าได้เขียนแต่ ๓ คราวเท่านี้ เอาสมุดร่างเข้าปรับว่าควรจะเป็นคราวไหนแล้ว จะเป็นคราวรัชกาลที่ ๓ นั้นไม่ได้ เพราะฝีมือที่ลงเส้นซึ่งจำได้ ๒ คนนั้น ทันแต่พระยาหัตถการคนเดียว พระอาจารย์แดงถึงเกิดในรัชกาลที่ ๓ ก็จริง แต่ยังเป็นเด็กทำการยังไม่ได้ และจะเป็นคราวหลังเมื่อสมโภชพระนครร้อยปีก็ไม่ได้ ด้วยพระยาหัตถการถึงแก่กรรมแล้ว จะเป็นได้ก็แต่คราวต้นรัชกาลที่ ๕ พระยาหัตถการเป็นผู้เชี่ยวชาญขึ้นชื่อมาแต่รัชกาลที่ ๔ อยู่ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จำได้ว่าจนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ นั้นเป็นแน่นอน ส่วนพระอาจารย์แดงก็มามีชื่อเสียงขึ้นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ ลายกะเบื้องประดับวัดราชบพิธนั้น ฝีมือพระอาจารย์แดง เขียนให้อย่างทั้งนั้น ช่างมีชื่อทั้งสองคนนี้มีโอกาสที่จะทำด้วยกันได้ในคราวต้นรัชกาลที่ ๕ ถ้าจะเดาอย่างไม่ยับยั้งแล้ว จะต้องว่าสมุดเล่มนี้เป็นของพระยาหัตถการ (กัน) ร่างขึ้น เมื่อเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามคราวต้นรัชกาลที่ ๕ ด้วยอาศัยหลักดั่งจะอ้างต่อไปนี้

๑. โอกาสที่พระยาหัตถการจะทำร่วมกับพระอาจารย์แดงได้เช่นว่ามาแล้ว มีอยู่คราวนั้นคราวเดียว

๒. ผู้ร่างจะต้องเป็นช่างที่นับถือทั่วกัน ว่าเป็นผู้ใหญ่รู้การงาน พระยาหัตถการเป็นช่างเขียนมาแต่รัชกาลที่ ๓ แต่ว่าเป็นชั้นเล็ก มาเฟื่องฟูชื่อเสียงขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ไม่มีช่างคนใดที่มีฝีมือดีและเป็นผู้ใหญ่ยิ่งไปกว่านั้นอีกแล้ว

๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ ได้ทรงกำกับการในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คงเป็นผู้ทรงอำนวยการซ่อมแซม ทั้งท่านได้ทรงว่าช่างมหาดเล็กด้วย พระยาหัตถการก็เป็นจางวางช่างมหาดเล็กด้วยเป็นผู้ใหญ่ด้วย ท่านคงจะทรงเลือกเอาพระยาหัตถการเป็นผู้ร่าง มากกว่าที่จะเลือกเอาคนอื่น

๔. พระยาหัตถการเป็นช่างยุครัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่รู้เขียนให้เหมือนของจริง และยังไม่เป็นเวลานิยมฝรั่ง (ความนิยมเขียนอย่างฝรั่งนั้น พระอาจารย์อินโค่งเป็นผู้นำขึ้นในรัชกาลที่ ๔) ในสมุดร่างนั้นเป็นแบบเก่าอย่างที่เคยทำในรัชกาลที่ ๓ ตามที่พระยาหัตถการถนัด

อาจมีคำค้านได้ว่า รูปเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น เต็มไปด้วยปราสาทอย่างของจริงและตึกฝรั่งมากแล้วในสมุดร่างนี้ไม่มีเลย จะเป็นร่างสำหรับคราวนั้นอย่างไรได้ ขอประทานแก้ว่า การที่นายช่างใหญ่ร่างให้ช่างเขียนนั้น หาได้ร่างให้อย่างเป็นรูปชัดเจนไม่ ถูกเวลาอารมณ์ดีก็ร่างปรากฏเป็นรูปพอดูได้ ถ้าถูกเวลาอารมณ์ไม่ดีก็ไม่เป็นรูป เช่นแม่น้ำก็ขีดลงสองเส้นหมายว่าเป็นฝั่ง แล้วจดหนังสือไว้ว่า “แม่น้ำ” เขียนวงกลม ๆ เป็นกลุ่มเรียงไปเป็นแถวหมายว่าเป็นศีร์ษะ แล้วจดหนังสือไว้ว่า “พลยัก” เท่านั้น อาการร่างเช่นนี้อาจทอดพระเนตรเห็นได้ในสมุดร่างเล่มนี้ก็มีทำอยู่เหมือนกัน ช่างผู้รับเขียนห้องจำเป็นจะต้องเขียนตามแต่ฉะเพาะแผนที่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเขียนรูปตามที่ผู้ร่างร่างให้ ใครจะเขียนพลิกแพลงไปอย่างไรก็ได้ไม่ห้าม ตามแต่ผู้เขียนจะชอบทำ แบบร่างเทียบกับที่เขียนจริงจะเหมือนกันไม่ได้นอกจากระเบียบที่วางแผนที่

แต่ความเห็นหมดทั้งสิ้นนี้ มีคาดคะเนเป็นที่ตั้ง ถ้าผิดพลั้งความจริงไปในข้อใดขอประทานอภัยโทษ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ