วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น

บ้านปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๑

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ทรงวินิจฉัยเสื้ออย่างใหญ่ ได้รับทราบเกล้าแล้ว รับรองโดยเห็นชอบตามพระดำริ ว่าเสื้อกรุยเป็นเสื้ออย่างใหญ่แน่นอน ที่มาได้ชื่อว่าเสื้อครุยนั้นเกิดขึ้นภายหลัง แต่ข้อที่ทรงวินิจฉัยในคำว่า “ครุย” มาแต่ถักนั้นยังไม่เห็นชอบด้วยพระดำริ ขอถวายความเห็นแย้ง ถึงหากจะไม่ถูกก็ยังได้ทรงทราบความเห็นแปลก ๆ

เขมรเรียก ตรวย ไทยเรียก กรวย กรุย (เพราะพูดเสียง ตร ไม่ได้) หมายเป็นชื่อเครื่องประดับที่ทำด้วยขนสัตว์ผูกเป็นพู่ ต่อมาทำทองเป็นรูปพู่แต่แบนเหมือนใบโพธิ์ จนล่วงไปสู่ลายเขียนลายทอก็ยังเรียกว่ากรวย กรวยโดยมากใช้ที่ชายจึงเรียกว่ากรวยเชิง ต่อลงมาอีกจนเย็บใบตองเป็นรูปจอมแหลมก็ซ้ำเรียกกรวยด้วย ยังหญ้าผูกเป็นพู่ปักหมายทางก็เรียกว่า กรุย และอะไรๆ ที่เป็นเส้นๆ รุงรังก็เรียกว่ากรุย

ทีนี้จะกล่าวถึงความหมายในคำประกอบ คำว่า กรุยกราย เป็นคำคนจนที่ไม่มีเครื่องประดับงามพอติเตียนคนมีที่มีเครื่องประดับดีมีกรุยติดด้วยความริษยา หมายความว่า จองหองหรือหยิ่ง แล้วยังมีคำ กรุยเตอะ อีก เป็นคำติเตียนคนเห่อตะเกียกตะกายจะมีเครื่องประดับดีมีกรุย แต่มีได้แต่กรุยอย่างเลว หมายความว่ารุ่มร่ามเป็นความดูหมิ่น เสื้ออย่างใหญ่เป็นเสื้อรุ่มร่าม จึ่งได้ชื่อว่าเป็นเสื้อกรุย (ที่มาเรียกเชื่อครุยกันนั้นเป็นเรียกผิดเคลื่อนมาอีกชั้นหนึ่ง) ไม่ใช่เพราะถักเป็นตาข่าย เสื้อครุยถักนั้นเห็นว่าเป็นทีหลังทีเดียว แรกก็ทำด้วยผ้าหนาก่อน ครั้นมีผ้าบางขึ้นก็เปลี่ยนเป็นผ้าบางไปเพราะเบาขึ้น ครั้นมีการถักทำตาเล็ก ๆ ได้จึ่งใช้ผ้าถัก ครั้นมีผ้าโปร่งจึ่งใช่ผ้าโปร่งเพราะไม่ตองถัก เห็นด้วยเกล้าดั่งนี้

ยังเรื่องพระชฎามหากฐิน ตริตรองต่อมานึกได้ว่า มหากฐินไม่ใช่มีแต่พระชฎาอย่างเดียว ย้งมีพานพระมหากฐินอีกคู่หนึ่ง พระแสงหอกมหากฐินอีกคู่หนึ่ง และได้ยินว่า ฉัตรพระมหากฐินก็มีอีกคู่หนึ่งเหมือนกัน แต่ไม่ได้เห็น เห็นจะผุพังเสียนานแล้ว สันนิษฐานว่าคงเป็นฉัตรลายทองแผ่ลวดอย่างเครื่องพระอภิรุมนั้นเอง ดูก็ประหลาดอยู่บ้าง พานนั้นเพราะใช้รองไตรพระกฐินจึ่งเรียกพานพระมหากฐินควรอยู่ ฉัตรนั้นคงแห่ไปกับพานสมมติว่ากั้นไตรเรียกฉัตรพระมหากฐินควรอยู่ หอกนั้นเกี่ยวอะไรกับพระกฐินแลไม่เห็น พระชฎานั้นเห็นจะหมายความว่าทรงเวลาเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน สงสัยว่าเดิมจะเรียกชฎาพระกลีบ เพราะเป็นห้ายอดสำเนาเดียวกับพระมาลาพระกลีบที่มีมาแต่ก่อน ความข้อนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์คงทรงทราบ เมื่อสร้างพระชฎาใหม่ขึ้นในรัชกาลที่ ๕ จึ่งให้ชื่อชฎาพระกลีบ เพื่อแทนชฎาพระกลีบเก่า ที่กลายเป็นพระมหากฐินไปเสียแล้ว ไม่ให้ชื่อเก่าสูญเสีย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ