วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น

บ้านปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๗๑

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

จดหมายบันทึกของพราหมณ์ศาสตรีเรื่องศรสามเล่ม ซึ่งประทานไปได้อ่านแล้ว ได้ความรู้เป็นพิเศษขึ้นที่ในคำเช่นว่า “พรหมาศ” หรือ “อัคนิวาต” นั้น เป็นชื่อมนตร์ หาใช่ชื่อศรไม่ แม้จะจับศรเล่มใดขึ้นก็ดี เมื่อร่ายมนตร์พรหมาศแล้ว ศรนั้นจะเป็นศรพรหมาศ แผลงไปก็จะมีเดชเสมอด้วยพรหม แปลกกว่าที่เราเข้าใจว่าเป็นชื่อฉะเพาะศรเล่มหนึ่ง จึ่งเลยเกณฑ์ให้พระพรหมประทาน

พราหมณ์ศาสตรีเดาสำคัญ เกล้ากระหม่อมยอมรับว่าถูกต้อง ศรพรหมาศ ซึ่งว่าได้แก่ พรหมาสตร์ ตรงอยู่แล้ว เป็นแต่ขาดตัวการันต์เพราะไม่ออกเสียงเลยหายไป ศรอัคนิวาต ว่าได้แก่ อัคเนยาสตร์ นั้นก็ถูกอีก คลาดไปที่เสียง ย เป็น ว เห็นจะเป็นด้วยหลงปะปนกับศรพลายวาต ส่วนศรพลายวาต แกเดาว่าเห็นจะได้แก่ วายวยาสตร์ นั้นก็ฟังได้ ภาษาสันสกฤตเสียง ว ตกมาถึงพวกบังกาลีมักเปลี่ยนเป็นเสียง พ ถ้าเป็น พายวยาสตร์ ก็เป็นใกล้ที่สุด ไม่มีอะไรจะใกล้เท่า เป็นอันเกินตัว ล เห็นจะเป็นที่คล่องเจ้าพลายในเรื่องขุนช้างขุนแผนมากเกินไป กับขาดตัว ย เห็นจะเป็นด้วย ว์ย พูดยาก ตัว ย จึ่งหายไป

ทำไมจึ่งว่าพระรามมีศรสามเล่ม ข้างอินเดียเขามีมากมายไม่ใช่แต่สาม แม้หนังสือรามเกียรติ์ของเราก็มีออกชื่อมากกว่าสาม ตามที่นึกได้เดี๋ยวนี้นอกจากสามชื่อที่กล่าวมาแล้วนั้น ลางแห่งกล่าวถึงศรพานจันทร์ (ที่ถูกคือพาลจันทร์) ก็มี ลางแห่งเรียกว่าศรจันทวาทิตย์ (ที่ถูกต้องเป็นจันทราทิตย์) ก็มี เชื่อว่ายังมีนอกไปกว่านี้อีก ถ้าค้นก็คงพบอีก ที่หลงว่าสามเห็นจะเป็นเพราะหลงว่าพระเป็นเจ้าประทาน พระเป็นเจ้ามีสามองค์ก็ให้ไว้แต่สามเล่ม ว่าตามชื่อ พรหมาศ เป็นของพระพรหมนั้นควรแล้ว แต่อัคนิวาตเป็นชื่อพระเพลิงควรเป็นของพระเพลิง และพลายวาตคือวายวยาสตร์ (พายัพย + อัสตร์) เป็นชื่อพระพาย ควรเป็นของพระพาย ไม่ควรเป็นของพระอิศวรพระนารายณ์เลย จะต้องกล่าวทักไปถึงพิธีแช่งน้ำด้วย มนตร์ “สิทธิสรวงศรีแกล้ว” นั้น เป็นมนตร์สรรเสริญพระเป็นเจ้าทั้งสาม เพื่อขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการแช่งน้ำเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับศรเลย

ได้ถวายบันทึกของพราหมณ์ศาสตรีคืนมานี้แล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ