วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ น (๒)

บ้านปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๑

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ฝ่าพระบาทตรัสถึงพระสถูปรูปบาตร ทำให้นึกขึ้นได้ถึงที่เกล้ากระหม่อมเคยมีความเห็นในเรื่องพระสถูปมาแต่ก่อน จึ่งคิดว่ากราบทูลให้ทรงทราบไว้ด้วย จะผิดถูกอย่างไรก็เห็นจะดีกว่านิ่งเสียให้ความเห็นลับหายละลายไป

เห็นด้วยเกล้าว่า สถูปนั้น เกิดขึ้นด้วยการฝังศพหรือฝังกระดูก แรกก็ขุดหลุม แล้วก็เอาศพหรือหม้อกระดูกใส่ลงไป แล้วก็กลบ แต่การที่กลบหลุมนั้นจะราบเสมอพื้นเดิมหาได้ไม่ เพราะมูลดินที่ขุดขึ้นนั้นฟูตัวอย่างหนึ่ง และในหลุมก็มีศพหรือหม้อกระดูกใส่ลงไปไว้เนื้อดินอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อกลบแล้วก็ต้องมีดินภูลปรากฏอยู่นั่นเองเป็นที่หมายที่ฝัง แต่นานเข้าดินภูลนั้นก็ต้องถูกฝนชะไหลราบไป ถ้าศพหรือกระดูกนั้นไม่สำคัญ ไม่มีคนนับถือ ก็ต้องราบสูญหายไปตามธรรมดา ถ้าเป็นศพหรือกระดูกที่สำคัญ มีคนนับถือไปเคารพสักการเนือง ๆ ถ้าดินราบไปเสียไม่มีที่หมายก็เป็นที่ลำบาก เป็นที่สงสัยว่าจะถูกที่ฝังหรือไม่ถูก จึ่งต้องไปโกยเอาดินหรือกรวดซายหินผาที่อื่นมากองเสิมขึ้นไว้ให้สูงเป็นที่หมาย อันนี้เป็นต้นเค้าแห่งองค์สถูป ทีหลังดินนั้นพังเพราะฝนชะ เพื่อจะให้อยู่ยืนยงจึ่งคิดเอาไม้ปักเป็นเขื่อนล้อมเชิงกันดินพัง อันนี้เป็นต้นเค้าแห่งฐานสถูป เท่าที่ว่านี้มีอย่างปรากฏอยู่ที่พระเจดีย์ในอินเดียนี้เรียกว่าสาญจี ที่ฝังพระศพพระเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่น ก็ได้ยินว่าก่อคันเป็นสังเวียน แล้วถมเมล็ดกรวดกองภูลอย่างเดียวกัน ปกติของสถูปนั้นเป็นที่หมายที่ฝังใคร ๆ ทั่วไป ครั้นถึงพระสถูปที่ฝังพระธาตุพระพุทธเจ้า ทำอย่างไรจึ่งจะรู้ จึ่งคิดทำบัลลังก์ตั้งบนยอดพระสถูป ยังคงเรียกกันว่าบัลลังก์อยู่จนทุกวันนี้ คือ หมายถึงพระพุทธอาสน พระพุทธอาสนเป็นที่หมายถึงพระพุทธเจ้านั้น ปรากฏในพระสูตรว่าใช้กันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่นั้นแล้ว คือพระเถรจะแสดงธรรมก็แต่งอาสนถวายพระพุทธเจ้าก่อน เผื่อเสด็จมาได้ประทับ คติอันนั้นต่อมาจึ่งเป็นวิธีทำอาสนบูชา ปรากฏมีอยู่ในโบสถวิหารทั่วไป ภายหลังเกิดทำพระพุทธปฏิมากันขึ้น จึ่งเอาปฏิมาตั้งซ้อนบนอาสนอีกชั้นหนึ่ง ส่วนพระสถูปนั้นเดิมก็ลุ่นอยู่เพียงบัลลังก์ ภายหลังเมื่อคนปรารถนาทำสักการก็เอาธงฉัตรไปปักตกแต่ง เอาฉัตรไปปักกั้นเบื้องบนบัลลังก์ขึ้น เห็นทรงเป็นงามจึ่งทำประจำไว้ อันนี้เป็นต้นเค้าแห่งยอดพระสถูป ต่อมาก็ก่อสร้างด้วยอิฐปูนหินผาทำรูปยักย้ายไปต่าง ๆ ตามแต่จะพอใจเห็นงาม

เมื่อรวมลงพระสถูปต้องมี ๑ ฐาน ซึ่งมาแต่เขื่อนกันดินพัง ๒ องค์พระสถูปซึ่งมาแต่กองดิน ๓ บัลลังก์ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้ากับ ๔ ยอดซึ่งมาแต่ฉัตร

ตามนัยแห่งความเห็นอันนี้ ถ้าจะทำสถูปที่ฝังกระคูก หรือที่ระลึกสำหรับผู้อื่นซึ่งไม่ใช่พระพุทธเจ้า จะต้องไม่ทำบัลลังก์ ได้ตั้งใจว่าจะปฏิบัติเช่นนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ