การเอาบุญพระเวศ
จัดการเทศน์มหาชาติ
การเอาบุญพระเวศ (เทศน์มหาชาติ) นี้มีกันในระหว่างตั้งแต่ออกพรรษาแล้วจนถึงเดือน ๕ หัวหน้าคือผู้จัดการหรือสารวัดต้องเที่ยวบอกบุญชาวบ้านราษฎร ยกตัวอย่างเช่นกัณฑ์ทศพรกัณฑ์ ๑ คนไหนรับกัณฑ์ทศพร ต้องแบ่งแจกไปอีก ๓ หรือ ๔ คนเปนเจ้าของกัณฑ์ทศพร กัณฑ์ ๑ ต้องเทศน์ ๓ หรือ ๔ องค์ แบ่งกันตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปถึงนครกัณฑ์ พระเทศน์พระเวศนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐ องค์ วัดที่จะเอาบุญพระเวศนั้น กุฎีหรือศาลาที่จะพักพระไม่พอ จึงได้ปลูกที่พักชั่วคราวขึ้น เรียกว่าตูบ ปลูกขึ้นรอบศาลาบ้าง รอยกุฎีวัดบ้าง ตูบนั้นกว้างราว ๔ ศอก ยาวราว ๔ ศอก ชายคาสูงกว่าพื้นดินราวศอกคืบ ปลูกเปนเพิงบ้าง บางตูบเปนหลังคามีอกไก่บ้าง แล้วแต่จะสมัคปลูก ในตูบนั้นยกพื้นไม้กระดานเพื่อให้พระพัก
เริ่มการมีเทศน์มหาชาติ
ในวันรุ่งขึ้นที่จะเอาบุญพระเวศ ราษฎรหญิงชายชาวบ้านโดยมากมักจะเปนหญิงสาวแลชายหนุ่มไปโฮม (คือรวมกัน) ที่ศาลาวัดนั้น พวกผู้หญิงก็ทำหมากพันคำบ้าง เมี่ยงพันคำบ้าง แลร้อยเข้าตอกดอกไม้ประดับศาลาที่จะมีเทศน์นั้น แลต้องหาดอกบัวหลวงพันดอก ดอกก้านของ (ดอกปีบ) พันดอก ดอกผักตบพันดอก ดอกนิลุบลพันดอก ธงพันหนึ่ง จะทำด้วยกระดาษสีหรือใบตาลใบลานก็ได้ ธงใหญ่ ๘ ธง ๆ ใหญ่นี้ปักรอบโรงธรรมตามทิศ แลมีหมากเบ็ง (บายศรี) ๘ อัน มีโอ่งน้ำ ๔ โอ่งตั้งที่เสาธรรมมาสน์เทศน์ มีดอกจอกแลใบบัวในโอ่งนั้น แลปั้นรูปนก รูปวัว รูปช้าง เอาไว้ที่ใต้ธรรมมาสน์ ผู้หญิงผู้ชายที่มารวมกันในงารนี้ เพื่อให้สนุกรื่นเริงในการสาวหนุ่มเกี้ยวพาราษีกันตามพื้นเมือง เรียกว่า (เว้าสาว) เปนเครื่องล่อให้การนี้ครึกครื้น
ทางตวันออกของศาลาที่จะมีเทศน์ต้องปลุกหออุปคุต (คล้ายกับศาลเพียงตา) ในหออุปคุตนั้นมีบาตร ๑ ร่ม ๓ กระโถน ๑ กาน้ำ ๑ จีวร ๑ ไม้เท้าเหล็ก ๑ มีคาถาอุปคุตดังนี้
บท ๑ อุปคุตโต มหาเถโร เยนสจฺเจน ยสจฺ วาธีปุเร อหุ เอเตน สจฺจวชฺเชน วิสงฺสามสฺสหฺตุ
บท ๒ อุปคุตฺโต เยนสจฺเจน ยสาโม สจฺจืวา มาตา เปติภโรอาหุ กุเรเชฺา ปจฺจายิโน เอเตนสจฺจวชฺเชน วิสฺสามสฺสหฺตุ
บท ๓ อุปคุตฺโต เยนสจฺเจน ยสาโม ปานาปิ ยตฺตโรมฺม เอเตนสจฺจวชฺเชน วิสงฺสามสฺสหฺต
บท ๔ อุปคุตฺโต ยจินฺจิตฺต ปฺุมงฺท เจว สิตุจเต สพฺเพนเต สาเลนวิสามสฺสหฺตุ๑
เมื่อจะเทศน์เอาคาถาอุปคุตนี้ปักไว้ที่ธรรมมาศทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าปราบมาร ในวันนี้เวลาเย็นพระต้องมาสวดมนต์เจ็ดตำนานที่ศาลา เมื่อจบแล้วขึ้นววดบนธรรมาสน์อีก ๔ องค์ สวดบั้นต้นโพธิสัตว์ แล้วสวดไชยใหญ่หรือพาหุง เมื่อสวดจบแล้วนิมนต์พระขึ้นเทศน์พระมาไลย เรียกว่าพระมาไลยหมื่นพระมาไลยแสน เมื่อพระสวดแลเทศน์จบแล้ว ราษฎรหญิงชายก็มาโฮมกันอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่างัน (คือมาประชุมกัน) พวกผู้ชายที่เป่าแคนก็ร้องรำทำเพลงหยอกเย้าผู้สาวจนเวลา ๓ ยาม จึงแห่ข้าวพันก้อนถวายพระอุปคุตแล้ว วางรายไว้ตามธงเสร็จแล้วประกาศเทวดาอาราธนาศีลพระเทศน์สังกาศก่อน สังกาศ คือ (กล่าวประวัติพระพุทธเจ้าเมื่อออกพิเนษกรมมีมารประจญ มารนั้นพ่ายแพ้ไป) แล้วจึงเทศน์มหาชาติ ขึ้นต้นทศพรตั้งแต่รุ่งแล้วไป กว่าจะจบถึงนครกัณฑ์ราว ๔ หรือ ๕ ทุ่ม เมื่อจบแล้วต้องมีเทศน์ฉลองพระเวศอีกกัณฑ์หนึ่ง จึงจะหมดวิธีเอาบุญพระเวศตามประเพณีนิยมที่ได้กระทำกันมาจนทุกวันนี้
-
๑. คาถาเหล่านี้ชั้นแรกเห็นจะผูกขึ้นเปนทำนองอธิษฐาน แลจำเษกอันต่อ ๆ มาจนเลอะเลือน ได้คงไว้ตามประเพณีของเขา ↩