การทำบุญบ้องไฟของชาวพื้นเมือง

การทำบุญบ้องไฟนี้เปนพิธีทำบุญขอฝน แลเปนการทำบุญที่ประกอบไปด้วยความสนุกรื่นเริงประจำปี มากกว่าที่จะทำให้ได้กองการกุศลจริง ๆ ตั้งแต่วันเริ่มงารจนถึงงารเสร็จไปแล้วอีกประมาณ ๓ วัน มีการรับประทานสาโทหรือสุราแลร้องรำทำเพลงกันเปนพื้น

เตรียมการบ้องไฟ

การทำบุญชนิดนี้ลงมือทำกันในระหว่างเดือน ๖ ถึงเดือน ๘ กลางเดือน เมื่อบ้านใดประชุมกันตกลงว่าจะทำบุญนี้วันใด ก็เริ่มซื้อดินประสิวไปมอบให้เจ้าอาวาสในวัดบ้านนั้น เพื่อให้เจ้าอาวาสประชุมสงฆ์สามเณรจัดการทำบ้องไฟขึ้น กับหาหนังวัวหรือหนังควายไปมอบให้ด้วยอีกแผ่นหนึ่ง เพื่อให้จัดการขัดฟอกขึ้นหน้ากลอง (เรียกว่ากลองเส็ง) กลองนี้เพื่อให้ใช้ประกอบในการแห่บ้องไฟอย่างหนึ่ง เพื่อตีประกวดว่าของใครจะดังกว่ากันด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อจัดการในหมู่บ้านของตนเรียบร้อยแล้ว เจ้าบ้านนั้นก็ออกฎีกาแผ่กุศลไปยังบ้านที่ใกล้เคียงกันอีก ผู้รับฎีกาก็เตรียมทำบ้องไฟแลกลองมาช่วยกันตามมากแลน้อย แต่อย่างน้อยก็ต้องมีบ้องไฟไปช่วยกันกระบอกหนึ่ง กลองคู่หนึ่ง เมื่อจวนจะถึงวันกำหนดทำงารนี้ พวกผู้เถ้าผู้แก่ก็ไปจัดการปลูกเพิงที่พักไว้รอบศาลาวัดในบ้านของตน เพื่อให้สงฆ์แลคนบ้านอื่นไปพักอาศรัย แลเมื่อครั้งรัฐบาลยังไม่ได้จัดการภาษีสุราในบ้านที่เปนเจ้างารมีกี่หลังคาเรือนก็ต้องต้มสุราแลทำสาโทเตรียมไว้ทุกเรือน เพื่อคอยรับพวกราษฎรที่มาจากบ้านอื่น แต่เวลานี้เมื่อรัฐบาลจัดการภาษีสุราแล้ว เจ้าบ้านนั้นต้องขออนุญาตรัฐบาลทำสาโทเตรียมไว้ทุกเรือนเช่นเดียวกัน ในการทำบุญนี้สุราเปนนับว่าสำคัญกว่าอย่างอื่น ๆ ทั้งหมด ถ้าบ้านใดขออนุญาตรัฐบาลหมักเหล้าสาโทไม่ได้ ก็เลยงดการทำบุญนี้เสียทีเดียว

เซิ้งบ้องไฟ

ครั้นถึงวันกำหนดทำบุญ เจ้าอาวาสวัดบ้านอื่น ๆ ที่รับฎีกาไว้ก็ตีกลอง ฆ้องฉาบ ฯ เพื่อรวบรวมคนแห่บ้องไฟไป พวกผู้หญิงสาวๆ ในบ้านนั้นมีเท่าไรต้องไปทั้งหมด โดยถือกันว่าถ้าพวกสาว ๆ ในบ้านใดไม่ไป ก็เท่ากับผู้เถ้าผู้แก่ในบ้านนั้นไม่ยินดีทำบุญร่วมกัน ถ้าหากพ่อแม่คนใดขัดข้องเกี่ยงงอนไม่ให้บุตรสาวไปในบุญนี้โดยไม่มีเหตุจำเปนแท้ ก็ดูประหนึ่งจะเปนบาปตกนรกแสนกัปแสนกัลป์ แลเปนบ้านที่จะเปนต้นเหตุให้บ้านเมืองเกิดเดือดร้อนฝนฟ้าไม่ดี ทำนาไม่ได้ผล เรียกว่าทำให้ข้าวยากหมากแพง ส่วนชายหนุ่มแม้เปนบ้านที่ไม่ได้รับฎีกาก็มักพากันพยายามไป เพราะรู้กันดีแล้วว่าหญิงสาวต้องไปรวมกันหมดในวันนั้น โดยเหตุนี้จึงเลยเปนการทำบุญที่รวบรวมเจ้าหนุ่มเจ้าสาวด้วย พวกสาว ๆ ที่ไปในบุญนี้มักไปกับสงฆ์กับสามเณรโดยมาก พ่อแม่พี่น้องไม่ค่อยเกี่ยวข้องด้วย ครั้นบ้องไฟไปถึงพร้อมกันแล้ว เวลาประมาณ ๓.๐๐ ล.ท. ก็ต่างคนต่างแห่บ้องไฟออกไปรวมกันที่วัดเวียนรอบศาลาวัดนั้น ๓ รอบ เพราะเวลาแห่นั้นต่างคนต่างเมากันทุกคนเสียแล้ว ในพิธีแห่นั้นก็ไม่ต้องจัดเปนกระบวรอย่างไร ใครมีกลองก็ตีกลอง ใครมีฆ้องก็ตีฆ้อง ใครไม่มีอะไรก็เต้นรำไปตามประสาคนเมา ถ้าเปนวัดที่อยู่ในเมืองก็ต้องแห่บ้องไฟนั้นไปรวมกันที่บ้านเจ้าเมืองเสียก่อน แลจัดคานหาม ๆ เจ้าเมืองนั้นไปด้วย ส่วนเจ้าอาวาสทุกบ้านที่มาในงารนี้ก็จัดคานหามขึ้นหามกันทุกองค์ ถ้าเปนพระที่แก่พรรษาแลมีผู้นิยมนับถือมาก ก็เอาหว่อม (หมวก) ใส่ให้ด้วย พระก็ดี เจ้าเมืองก็ดีที่เขาหามไปนั้นเปนการลำบากอย่างยิ่ง เพราะคนที่หามคานหามนั้น ล้วนแต่คนเมาเหล้าด้วยกันทุกคน ปากก็ร้องเพลง (เซิ้ง) เท้าก็เต้นไปกระโดดไปมือก็รำ บางคราวถึงกับผู้ถูกหามตกลงมาก็มี (เจ้าเมืองใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการนี้ แต่พระยาขัติยะ เจ้าเมืองเก่านอกราชการยังต้องถูกหามอยู่ทุกปี)

เมื่อเสร็จการนี้แล้ว ก็ต่างคนต่างไปเซิ้งตามบ้าน เพื่อขอเหล้าแลสาโทกินเรื่อยไป พวกหญิงสาวบ้านอื่นที่ไปในงารนี้บางคนก็ขอพักตามเรือนผู้ที่รู้จักกัน บางคนก็พักอยู่ในเพิงกับสงฆ์สามเณร พวกเซิ้งเหนื่อยก็ไปเกี้ยวสาว พวกเกี้ยวสาวเหนื่อยเบื่อก็ไปเซิ้งดังนี้จนตลอดรุ่ง

จุดบ้องไฟ

ครั้นวันรุ่งขึ้นก็รวมกันหามเจ้าเมืองแห่บ้องไฟไปยังที่ซึ่งจัดไว้เปนที่จุดนั้น พวกผู้คนที่ไปดูก็รำบ้าง เต้นบ้าง มอมกันบ้าง ถ้าบ้องไฟของใครขึ้นดีก็มีหน้ามีตา ถ้าของใครไม่ขึ้นหรือขึ้นไม่สูง บ้านอื่นก็ช่วยกันจับเจ้าของบ้องไฟนั้นมอมหรือจับโยนน้ำ ส่วนเจ้าเมืองนั้นเขาก็มอมหน้ามอมตาเช่นเดียวกัน เวลานั้นจะถือกันไม่ได้

เมื่อเสร็จการจุดบ้องไฟแล้ว ฝ่ายสงฆ์แลหญิงก็พากันกลับบ้าน ฝ่ายชายก็ไปเซิ้งเพื่อกินเหล้าแลสาโทต่อไปอีก ส่วนเจ้าเมืองนั้นเขาก็หามไปด้วย

ต่อจากวันจุดบ้องไฟนี้ไปอีก ๓ วันทั้งกลางวันกลางคืน คงเซิ้งกินเหล้าสาโทกันเรื่อยไป ตามภาษาเรียกว่านำตามรอยไฟ จึงเปนเสร็จการทำบุญนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ