การทำบุญข้าวสากของชาวพื้นเมือง
การทำบุญข้าวสาก (คล้ายกับทำบุญสารท) เริ่มแต่เดือน ๑๐ เพ็ญ ชาวบ้านทั้งหลายเคยนิยมนับถือกันว่า ในวันเดือน ๑๐ เพ็ญนี้เปนวันผีญาติ หรือมิใช่ญาติได้มาคอยรับอาหารซึ่งทำกันในคราวนี้ เมื่อผู้ใดไม่ได้ทำบุญข้าวสาก ถือว่าผู้นั้นขาดกตัญญูต่อบิดามารดาแลญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับความเดือดร้อน เพราะผีที่ล่วงลับไปแล้วจะให้โทษร้ายด้วยประการต่าง ๆ จึงนับว่าให้เปนวันทำบุญข้าวสากเพื่อเปนการอุทิศส่วนกุศลส่งให้เเก่ญาติที่ตายไปแล้ว กำหนดการดังนี้
ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ทุก ๆ บ้านต่างจัดทำเข้าต้มขนมเพื่อใส่บาตรในวันเพ็ญตอนเช้า ส่วนตอนเพลทุกบ้านเรือนต้องทำสำรับกับข้าวคาวหวานบ้านละสำรับ ๑ กับมีห่อข้าวใหญ่แลมีห่อชิ้นปลาอาหารรวมไปในสำรับกับข้าวด้วยสำหรับถวายพระสงฆ์สามเณร แลมีสบงไปถวายพระแลเณรในวัดนั้นด้วย (เรียกว่าผ้ากลางพรรษา) แลมีห่อข้าวน้อยห่อหมากบุหรี่กลัดติดกันเปนคู่ ๆ ไปพร้อมด้วย ต่างบ้านต่างนำสำรับไปรวมกันที่หอแจก (ศาลาวัด) เมื่อจวนได้เวลาถวายเพลแล้ว หัวหน้าเขียนรายชื่อเจ้าของสำรับทุก ๆ สำรับเปนฉลากไว้ นิมนต์พระภิกษุสามเณรในวัดนั้นมาประชุม จึงพร้อมกันขอรับศีล ๆ เสร็จแล้ว นำบาตร์ฉลากไปถวายพระจับ เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดจับถูกฉลากชื่อผู้ใด ผู้นั้นต้องนำสำรับของตนไปถวายพระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ส่วนห่อข้าวน้อยเจ้าของต้องนำไปบูชาไว้ตามโบถวิหารแลตามต้นไม้ในบริเวณวัด เพื่อเปนการอุทิศให้เปนส่วนของผีที่ไม่ใช่ญาติ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว พระยะถาสัพพี ต่างคนต่างตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ตาย แล้วรวบรวมเครื่องกัณฑ์นิมนต์พระเจ้าวัดเทศน์สอง (ฉลอง) เปนเสร็จการทำบุญข้าวสากเพียงเท่านี้