ตำนานภาษีถั่วงาปลาทู

หนังสือเจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงเจ้าเมืองกรมการ กรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสระบุรี

ด้วยจีนมีชื่อหลายพวกหลายราย ทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ให้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ว่าราษฎรลูกค้าไทยจีนแลภาษาต่าง ๆ ในพระราชอาณาเขตร์ ชักชวนกันบันทุกถั่วต้นตาย ถั่วเขียว ถั่วทอง ถั่วขาว ถั่วดำ ถั่วละสง รวมตากแห้ง ๖ อย่าง งาเม็ด ๑ กุ้งน้ำเคม กุ้งตากแห้ง กุ้งเคม ๑ ปลาทูน้ำปลาทูแห้ง ๑ รวมของ ๙ สิ่งนี้เข้ามาซื้อขายแก่กันเปนประโยชน์แก่ราษฎรฝ่ายเดียว ยังหามีผู้ใดรับเรียกภาษีทูลเกล้า ฯ ถวายช่วยราชการแผ่นดินไม่ จะขอเก็บเปนภาษีสิบลดหนึ่ง ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินขึ้นท้องพระคลัง แต่เรื่องราวของจีนซึ่งยื่นไว้นั้น จำนวนเงินมากบ้างน้อยบ้างหาเสมอกันไม่ และเรื่องราวจีนมายื่นดังนี้มีมาหลายครั้งนานมาแล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ดำรัสว่า ภาษีรายนี้ก็มีเจ้าภาษีรับเรียกภาษีอยู่กับลูกค้าผู้บันทุกสำเภาเรือปากใต้ ไปจำหน่ายนอกประเทศมีมาแต่ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งจีนหลายรายมายื่นเรื่องราวจะขอเก็บภาษีในประเทศจะมิเปน ๒ ซ้ำไปฤๅ ให้คิดเรียกแต่ฝ่ายเดียว ถ้าเห็นว่าจะเรียกในประเทศดีกว่านอกประเทศ ก็ให้ยกภาษีนอกประเทศเสีย สิ่งของในประเทศจะมีมากน้อยประการใดยังหาทรงทราบถนัดไม่ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาตินรเนตรนาถราชสุริยวงศ์หาจีนพระหลวงขุนหมื่นเจ้าภาษีผู้ใหญ่ และจีนลูกค้ามีหน้ามาถามว่าสิ่งของซึ่งจีนหลายรายยื่นเรื่องราวจะขอเก็บเปนภาษีนั้น สิ่งของทั้งนี้ลูกค้ามาซื้อขายแก่กันพอจะควรเก็บเปนภาษีได้แล้วฤามิได้ ถ้าจีนเจ้าภาษีผู้ใหญ่เห็นว่าควรจะเก็บเปนภาษีได้แล้ว ก็ให้เสนาบดีปรึกษากันคิดตั้งเปนพิกัดเรียกภาษีลง แต่ให้ต่ำกว่าสิบลดหนึ่ง เพราะเปนของยังไม่เคยมีภาษี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ ได้หาจีนเจ้าภาษีและลูกค้าผู้ใหญ่มาถามได้ความแล้ว จึงนำข้อความกับเรื่องราวจีนซึ่งยื่นมาเปนหลายฉบับ ไปกราบทูลปรึกษากรมสมเด็จพระเดชาดิศร และพระเจ้าพี่ยาเธอต่างกรมทุกพระองค์ กับได้กราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาล (น) นาถ และท่านเสนาบดี เจ้าพระยานิกรบดินทรมหินทรมหากัลยาณมิตร เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สมันตพงศพิสุทธมหาบุรษรัตโนดม ผู้สำเร็จราชการในกรมพระกลาโหม เจ้าพระยาธรรมาธิกร (ณาธิ) บดี เจ้าพระยาผู้ช่วยสำเร็จราชการในกรมท่า เจ้าพระยาพลเทพปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า พระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ตั้งพระทัยทรงทำนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนา และอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเปนสุขทั่วไปทั้งสิ้นด้วยกัน จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ออกซ่อมแซมในการวัดเก่าซึ่งชำรุด กับทรงสร้างขึ้นใหม่อิกหลายพระอาราม แล้วทรงพระราชอุทิศถวายนิตยภัตแก่พระสงฆ์สามเณรซึ่งเล่าเรียนพระไตรปิฎก และให้ทานแก่คนชราคนพิการ ใช้สอยในการพระราชกุศลต่าง ๆ กับโปรดเกล้า ฯ ชุบเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีกรมมาแต่ก่อนให้ยกเปนกรมใหญ่ขึ้น เจ้าที่ยังไม่มีกรมทรงตั้งเปนกรมขึ้นโดยลำดับ ข้าราชการในพระบรมมหาราชวัง ในพระบวรราชวัง ที่ขาดตำแหน่งก็ตั้งแต่งขึ้นทุกหมู่ทุกกรมทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มเติมขึ้นก็มาก แล้วให้ขุดคลองตั้งป้อมขยายกำแพงพระนครออกไออิกชั้นหนึ่ง กับให้ฝึกหัดทหารปืนใหญ่น้อย พระราชทานเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนและจับจ่ายใช้สอยเงินทำการพระนครต่าง ๆ มากกว่าแต่ก่อน ซึ่งจีนหลายพวกจะขอเก็บภาษีของ ๙ สิ่งซึ่งซื้อขายแก่กันนั้น ก็เห็นพร้อมกันว่าควรอยู่ด้วยเปนแบบอย่างแผ่นดินสืบ ๆ มาแต่ก่อน สิ่งของอันใดเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตร์บริบูรณ์แล้ว ควรจะเรียกแต่ในพระราชอาณาเขตร์ ขอให้ยกภาษีปากสำเภาเรือปากใต้ ซึ่งบันทุกออกไปนอกประเทศนั้นเสีย

ด้วยเหตุว่าเรียกภาษีหาเสมอกันไม่ จึงปรึกษาพร้อมกันตั้งเปนพิกัดสิ่งของให้เรียกภาษีแต่ในประเทศตามราคาสิ่งของซื้อขายขึ้นลงแก่กัน ถั่วต้นตาย ๑ ถั่วเขียว ๑ ถั่วทอง ๑ ถั่วขาว ๑ ถั่วดำ ๑ ถั่วละสง ๑ งาเม็ด ๑ กุ้งแห่งกุ้งเคม ๑ ของ ๘ สิ่งนี้ ให้เรียกภาษีเหมือนกัน ๑๒ เก็บ ๑ แต่ปลาทูน้ำ ปลาทูตากแห้ง ลูกค้าซื้อขายกันในประเทศ ให้เรียกภาษี ๑๓ เก็บ ๑ ถ้าลูกค้าจะเอาปลาทูน้ำปลาทูตากแห้งบันทุกสำเภาเรือปากใต้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ ให้เรียกภาษีเพิ่มขึ้นอิก ปลาหมื่นตัวเปนภาษีสลึงหนึ่ง เจ้าภาษีเรียกภาษีกับผู้ซื้อผู้ขายเปนสิ่งของหรือ ๆ จะเรียกตามจำนวนเงินซึ่งซื้อขายแก่กัน ตามแต่จะยอมกัน ให้เลือกภาษีกับผู้ซื้อผู้ขายแต่ฝ่ายหนึ่ง อย่าให้เรียกภาษีเปน ๒ ฝ่าย ถ้าราษฎรทำสิ่งของมาเลี้ยงบุตรภรรยา และเปนสะเบียงเดินทางไปกิจราชการ และเปนกำนัลของถวายบ้างเล็กน้อย ราคาเพียงกึ่งตำลึงเงินลงมา ถ้ามิได้ซื้อขายแล้วก็อย่าให้เรียกภาษีเลย จึงให้จีนเจ้าภาษีผู้ใหญ่ประกาศกับลูกค้าทั้งปวงว่า ผู้ใดมีภาคภูมิสติปัญญาที่ควรจะรับทำภาษีได้ ก็ให้ทำเรื่องราวมายื่นต่อเจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ตามคิดเห็นจะทำได้เท่าไรตามพิกัดนี้

จีนเนียมจะเปนเจ้าภาษี จีนเชยจะเปนผู้เข้าส่วน จึงทำเรื่องราวมายื่นอก่เจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ให้กราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ ขอท่านได้นำเอาเรื่องราวจีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วน ขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรายใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ว่าจีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วน จะขอรับพระราชทานเก็บภาษี ถั่ว งาเม็ด กุ้งน้ำ ปลาทูแหเง กับลูกค้าไทย จีน ลาว เขมร มอญ และภาษาต่าง ๆ ข้าส่วยกำนัลของถวายไพร่หลวงมีตราภูม ซึ่งบันทุกเรือแพเลื่อนเกวียน และสัตว์ต่าง ๆ หาบคอนมาซื้อขายแก่กันตามพิกัดสิ่งของนั้น ให้เรียกภาษีเปนจำนวนเงินปีหนึ่งทูลเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวังเงิน ๑๐๖ ชั่ง ขึ้นพระคลังเดิมเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชาย์ เงิน ๒ ชั่ง ขึ้นหม่อมเจ้าพรรณรายเงิน ๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบวรราชวังเงิน ๑๐ ชั่ง รวมเงิน ๑๒๖ ชั่ง ถ้าและทำภาษีครบงวดครบปีมีกำไรอยู่ จะบวกเงินภาษีทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นอิก เจ้าพนักงานกรมพระคลังสินค้าได้นำคำปรึกษาสมเด็จพระเดชาดิศร กับพระเจ้าพี่ยาเธอทุกพระองค์ และคำท่านเสนาบดีผู้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดิน ซึ่งเห็นพร้อมกันกับเรื่องราวจีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วนขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งจีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วนจะขอเก็บภาษีของ ๙ สิ่งกับผู้ซื้อขายแก่กันนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าสิ่งของที่ต้องอยู่ในพิกัดให้เรียกภาษีนี้จะแพงขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มิได้เปนอันลำเอียงกับผู้ใด ด้วยเปนของใช้สอยกินอยู่ด้วยกันทั้งผู้ดีและไพร่ ใครใช้ใครกินก็ต้องเสีย ใครไม่ใช้ไม่กินก็แล้วไป ซึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า กาลบัดนี้ต้องใช้สอยเงินมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ยกเจ้าภาษีนอกประเทศเสียจะเรียกภาษีแต่ในประเทศนั้นชอบอยู่แล้ว ควรจะให้จีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วนทำภาษีในประเทศตามแบบอย่างแผ่นดินมาแต่หลัง เก็บเงินภาษีเพิ่มเติมขึ้นใช้สอยจับจ่ายราชการนั้นก็ชอบอยู่ ด้วยครั้งนี้เมืองจีนเกิดศึกไม่เปนอันซื้อขายแก่กัน ผู้ที่จะแต่งสำเภาออกไปค้าก็น้อยลง เจ้าภาษีซึ่งเคยเก็บภาษีปากสำเภามาแต่ก่อนก็ทำเรื่องราวมาร้องขอ ขาดเงินภาษีลงเปนหลายราย ตัวเงินจะใช้สอยก็ขาดลงมาก ซึ่งเจ้าต่างกรมใหญ่และเสนาบดีผู้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดิน เห็นว่าสิ่งของเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตร์ทั้งนี้ ควรจะให้เรียกภาษีได้นั้นก็ชอบอยู่ จะต้องให้เรียกภาษีขึ้นใช้สอยไปก่อน ถ้าเมืองจีนซื้อขายแก่กันเปนปรกติลงแล้ว ภาษีอากรเก่าใหม่มาแต่ก่อน สิ่งใดที่ราษฎรเสียอยู่เปน ๒ ซ้ำ ๓ ซ้ำนั้น ก็จะโปรดเกล้า ฯ ให้ลดหย่อนลงเสียบ้าง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้จีนเนียมเปนที่ขุนปัญจพีชากร เจ้าภาษีถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ ให้กรมพระคลังสินค้าทำตราตั้งไปตามซึ่งพระเจ้าพี่ยาเธอกับเสนาบดีเห็นพร้อมกันนั้นเถิด เจ้าจำนวนพระคลังสินค้าได้เรียกเอานายประกันจีนเนียมผู้เปนที่ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วนไว้มั่นคงสมควรด้วยเงินภาษีของหลวงอยู่แล้ว จึงให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วนขึ้นมาเรียกภาษี ถั่วต้นตาย ๑ ถั่วเขียว ๑ ถั่วทอง ๑ ถั่วละสง ๑ ถั่วคำ ๑ ถั่วขาว ๑ งาเม็ด ๑ กุ้งในน้ำเคม กุ้งตากแห้ง กุ้งต้มเคม ๑ รวมของ ๘ สิ่งนี้ให้เรียกภาษีเหมือนกันทุกอย่างเปนภาษี ๑๒ ชัก ๑ ปลาทูน้ำ ปลาทูแห้ง ลูกค้าซื้อขายกันในประเทศ ให้เรียกภาษี ๑๓ เก็บ ๑ ถ้าลูกค้าจะเอาปลาทูน้ำปลาทูแห้งบันทุกสำเภาเรือปากใต้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ ให้เรียกภาษีเพิ่มอิกปลาหมื่นตัวเปนภาษีสลึง ๑ ถ้าผู้บันทุกส่วยกำนัลของถวายและลูกค้าภาษีต่าง ๆ ซึ่งบันทุกเรือแพเลื่อนเกวียนต่าง ๆ หาบคอนมาเปนส่วยกำนัลของถวาย และซื้อขายแก่กันตามพิกัดสิ่งชองซึ่งต้องในภาษี ให้ขุนปัญจพีชากร จีนเชยผู้เข้าส่วน เรียกภาษีกับผู้ซื้อขายแต่ฝ่ายเดียวตามแต่จะยอมกัน อย่าให้เรียกภาษีเปน ๒ ฝ่าย ถ้าราษฎรทำสิ่งของมาเลี้ยงบุตภรรยา และเปนสะเบียงเดินทางไปมากิจราชการ และเปนกำนัลของถวายบ้างเล็กน้อย ราคาเพียงกึ่งตำลึงเงินลงมา มิได้ซื้อขายแล้วอย่าให้เรียกภาษีเลย ถ้าราษฎรลูกค้าได้เสียภาษีแล้วจะเอาของออกซื้อขาย ห้ามอย่าให้เจ้าภาษีเรียกภาษีต่อไป

ให้ขุนปัญจพิชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน ตั้งด่านเรียกภาษี ๙ อย่างในจังหวัดกรุงเทพพระมหานครและแขวงกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสุพรรณบุรี เมืองปราจิณบุรี กำหนดให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน เข้ารับเรียกภาษีแต่ณวันเดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีขาลฉศก (พ.ศ. ๒๓๙๗) ไปจนณวันเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีเถาะสัปตศกครบ ๑๒ เดือนเปนปีหนึ่ง เปนเงินขึ้นในจำนวนปีขาลนักษัตรฉศก เงินขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวังเงิน ๑๐๖ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นหม่อมเจ้าพรรณรายเงิน ๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบวรราชวังเงิน ๑๐ ชั่ง รวมเงิน ๑๒๖ ชั่ง แล้วให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน ส่งเงินภาษียังเจ้าจำนวนพระคลังสินค้าปีละ ๕ งวด เปนเงินขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวัง งวดเดือน ๗ เงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือน ๙ เงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือน ๑๑ เงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือนอ้ายเงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือน ๔ เงิน ๑๘ ชั่ง รวม ๑๐๖ ชั่ง ขึ้นพระคลังเดิมเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นหม่อมเจ้าพรรณรายเงิน ๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบวรราชวังเงิน ๑๐ ชั่ง รวมทั้งสิ้นเงิน ๑๒๖ ชั่ง จงทุกงวดทุกปีสืบไป อย่าให้เงินภาษีของหลวงขาดค้างล่วงงวดล่วงปีไปแต่จำนวนหนึ่งได้เปนอันขาดทีเดียว ถ้าปีใดมีอธิกมาสก็ให้บวกเงินภาษีขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายขึ้นอิกเดือน ๑ ตามจำนวนเงินมากและน้อย

และขุนปัญจพีชากร เจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน จะขึ้นมาเรียกภาษีเองก็ดี จะแต่งให้เสมียนทนายผู้ใดขึ้นมาเรียกภาษีแทนตัวก็ดี ให้เรียกภาษีตามพิกัดแต่โดยสัจโดยธรรม ถ้าเรียกภาษีแล้ว ก็ให้เจ้าภาษีทำตั๋วตามสิ่งของมากและน้อย ให้ไว้กับเจ้าของให้หลายฉบับ จะได้แยกย้ายสิ่งของขายไปเปนสำคัญ ของสิ่งใดที่ได้เรียกภาษีแล้ว จะเอาไปซื้อขายบ้านใดเมืองใด ถ้ามีตั๋วเปนสำคัญได้เรียกภาษีแล้ว ห้ามอย่าให้เจ้าภาษีเมืองใด ๆ เรียกภาษีอิกเปน ๒ ซ้ำ ๓ ซ้ำไปได้เปนอันขาดทีเดียว

ถ้าผู้คุมของถวายส่วยกำนัลไพร่หลวงมีตราภูมและลูกค้าพาณิชภาษาต่าง ๆ จะเอาสิ่งของมาซื้อขายก็ให้แวะด่านเสียภาษีให้เจ้าภาษีตามพิกัดมากและน้อยเสียก่อนจึงจะได้ซื้อขายแก่กัน ห้ามอย่าให้คุมของถวายและส่วยกำนัลไพร่หลวง มีตราภูมและลูกค้าพาณิชภาษาต่างๆ เอาสิ่งของในภาษีซึ่งยังมิได้เรียกภาษีไปลักลอบซื้อขายแก่กัน หมายจะฉ้อบังเอาเงินภาษีของหลวงไว้ ถ้าขุนปัญจพีชากร จีนเชยผู้เข้าส่วน และพรรคพวกไปทำภาษีด้วยกันจับได้ ให้ปรับไหมเอากับผู้ลักซื้อขาย ๒ ต่อตามสิ่งของมากและน้อย ซึ่งลักซื้อขายแก่กัน เงินปรับไหมนั้นให้กับเจ้าภาษี

อนึ่งเจ้าภาษีจะเรียกภาษีเปน ๒ ครั้ง ๓ ครั้งให้เหลีอเกินทุกพิกัดขึ้นไปก็ดี และราษฎรจะขัดขืนไม่ยอมเสียภาษีให้กับเจ้าภาษี ๆ กับราษฎรจะวิวาทเกี่ยวข้องไม่ตกลงกันประการใด ก็ให้เจ้าเมืองกรมการตัดสินตามพิกัดในท้องตราซึ่งโปรดเกล้า ฯ ขึ้นมา ถ้าว่ากล่าวไม่ตกลงก็ให้บอกส่งลงไปกรุงเทพ ฯ จะได้สั่งให้กรมพระคลังสินค้าเจ้าจำนวนตัดสินว่ากล่าวให้ตามผิดและชอบสำเร็จกัน

ถ้าสมัคพรรคพวกบ่าวและทาสขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน จะเกิดอริวิวาทแก่กันเปนแต่เนื้อความเล็กน้อยเบ็ดเสร็จ ก็ให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน สมัคสมานว่ากล่าวให้สำเร็จแต่ในกันเอง ห้ามอย่าให้เจ้าเมืองกรมการแขวงนายบ้านนายอำเภอเกาะกุมเอาไปเรียกค่าฤชาตระลาการ ซึ่งมิได้เปนความมหันตโทษแก่เจ้าภาษีและสมัคพรรคพวกบ่าวและทาสซึ่งได้ทำภาษี ให้ได้ความยากแค้นป่วยการทำภาษีของหลวงแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าเปนความมหันตโทษข้อใหญ่ จึงให้เจ้าเมืองกรมการแขวงนายบ้านนายอำเภอหมายให้เจ้าภาษีส่งตัวผู้ต้องคดีเอาไปพิจารณาว่ากล่าวให้ตามพระราชกำหนดกฎหมาย แล้วให้ผู้ (เปน) นายไปนั่งฟังผิดและชอบด้วย ถ้าราษฎรฟ้องหากล่าวโทษเจ้าภาษี ก็ให้เจ้าภาษีแต่งทนายไปว่าต่างแก้แทนกัน อย่าให้ขัดขวางคดีของราษฎรไว้

อนึ่ง ห้ามอย่าให้เจ้าเมืองกรมการและข้าหลวงไปมากิจราชการ แขวง นายบ้านนายอำเภอเก็บเรือยืม เรือแจวจังกูดกันเชียงถ่อพายเชือกเสาเพลาใบเครื่องสำหรับเรือและเกาะกุมพรรคพวกบ่าวและทาสไปใช้ราชการงานโยธาซึ่งมิได้เปนพนักงาน ให้ป่วยการทำภาษีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปนอันขาดทีเดียว

ถ้าถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน และพรรคพวกผู้ซึ่งไปทำภาษีอยู่บ้านใดเมืองใดก็ให้ไปพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการ กราบถวายพระราชอุทิศรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาปีละ ๒ ครั้งจงทุกปี

อนึ่งให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน กำชับห้ามปรามพรรคพวกบ่าวและทาส อย่าให้คบหากันเปนโจรผู้ร้ายฉกลักช้างม้าโคกระบือทรัพย์ สิ่งของทองเงินเครื่อง อัญมณีของสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรลูกค้าพาณิช และทำลายพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ พระอุโบสถ พระวิหารการบุเรียนกุฏิศาลาอาราม ฆ่าช้างเอางาและขนาย ฆ่าสัตว์อันมีคุณ และซื้อขายสิ่งของต้องห้าม กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปนอันขาดทีเดียว

ครั้นลุท้องตรานี้ไซร้ ถ้ามีตราเจ้าจำนวนตั้งขึ้นหาด้วยเรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้เจ้าเมืองกรมการลอกเอาท้องตรานี้ไว้ แล้วให้ประทวนส่งต้นตรานี้ให้กับขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน แล้วให้หมายประกาศให้เจ้าภาษีชักภาษีตามพิกัดในท้องตราและรับสั่งซึ่งโปรดเกล้า ฯ ออกมาจงทุกประการ

หนังสือมาณวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีขาลฉศก (พ.ศ. ๒๓๙๗)

----------------------------

  1. ๑. คือพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ