ตำนานการเก็บค่านา

(คัดมาจากประกาศในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗)

ค่านานั้นแต่ก่อนเปนหางเข้าตวงขึ้นฉางหลวงไร่ละ ๒ ถังแล้วซ้ำจัดซื้อเปนราคาหลวงอีกไร่ละ ๒ ถัง พระราชทานเงินให้ไร่ละเฟื้อง เปนราคาหลวงถังละ ๒ ไพ แต่ราษฎรต้องขนมาส่งถึงฉางในกรุง ฯ แลฉางหัวเมือง ตามแต่เจ้าพนักงานจะบังคับ ราษฎรได้ความยากบ้างง่ายบ้างไม่เสมอกัน ที่ได้ความยากก็ร้องทุกข์กล่าวโทษข้าหลวงเสนาและเจ้าพนักงานไปต่าง ๆ ต้องมีผู้ตัดสินเปนถ้อยความอยู่เนือง ๆ มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้นทรงพระราชดำริห์พร้อมกับความคิดเจ้านายต่างกรมแลเสนาบดี เห็นว่าเรียกหางเข้าค่านา แลจัดซื้อเข้าเปนตัวเข้าแล้วก็บังคับให้มาส่งถึงฉาง ราษฎรได้ความลำบากมากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน ที่ถูกเกาะครองเร่งรัดก็มักร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าพนักงานแลข้าหลวงเสนา เปนถ้อยความต่าง ๆ เนือง ๆ จึงได้คิดอ่านตั้งอย่างธรรมเนียมเสียใหม่ เลิกเรียกหางเข้าค่านาแลจัดซื้อเปนราคาหลวงอย่างแต่ก่อนนั้นเสีย แล้วมีพระราชบัญญัติให้เรียกเปนค่านาไร่ละสลึงเฟื้องเสมอกันไปทั้งนาคู่โคแลนาน้ำฝนฟางลอย แต่การที่เรียกตามประเมินนาปักนาน้ำฝนฟางลอย แลเรียกตามจำนวนในตราแดงแลนาคู่โคนั้น ยังคงอยู่ตามไม่ยักย้าย ก็เมื่อใดฝนแล้งน้าน้อยหรือน้ำมากเกินประมาณ ราษฎรเจ้าของนาคู่โคที่ต้องเสียตามจำนวนตราแดง มักร้องทุกข์ว่าทำนาได้ผลน้อย จะทนเสียค่านาตามจำนวนตราแดงไปไม่ได้ ที่เปนไพร่หลวงฝีพายแลพวกพ้องของพวกฝีพายมาเข้าชื่อกันถวายฎีกาในกรุงเทพ ฯ บ้าง ก็การที่สำเร็จแก่ผู้ร้องนั้นเปนไปต่าง ๆ เอานิยมลงไม่ได้ บางทีก็โปรดให้ยกให้ ลดให้แต่ไพร่หลวงกรมฝีพายที่ลงมารับราชการ บางทีก็โปรดให้ประเมินเรียกเอาแต่ตามที่ได้ทำ บางทีก็โปรดลดให้ไร่ละเฟื้องเสมอไปในปีหนึ่งนั้น ตามครั้งคราวที่เปนใหญ่เปนน้อยหายืนลงเปนอย่างไม่ จนมาถึงปีชวดจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๙๕) เปนปีที่ ๒ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ฝนแล้งน้ำน้อยคล้ายกับในปีชวด (พ.ศ. ๒๔๐๗) นี้ได้ทรงพระราชดำริห์พร้อมกับท่านเสนาบดีก่อนแต่ยังไม่มีใครมาร้องว่า ในปีนั้นฝนแล้งน้ำน้อยจะเรียกค่านาคู่โคเสมอไร่ละสลึงเฟื้องตามจำนวนในตราแดงเห็นจะมีผู้มาร้องเปนแน่ เมื่อต่อมีผู้มาร้องแล้วจึงจะให้ไปประเมินเรียกแต่ตามที่ได้ทำก็รู้เปนแน่ได้ยากไป เพราะกว่าจะไปประเมินนาคลอกเสียแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาพลเทพสรรพพลเสพยเสนาบดี ขึ้นไปตั้ง กองอยู่ที่กรุงเก่าแต่งข้าหลวงเสนาออกไปประเมินนาคู่โคให้รู้จำนวนว่าทำได้เท่าไร ทำไม่ได้เท่าไร ค่าเส้นเชือกที่ประเมินนั้นก็ไม่ได้คิด ครั้นประเมินเสร็จแล้วก็โปรดให้เรียกค่านาไร่ละสลึงเพียงแต่ที่ได้ทำ ที่ไม่ได้ทำโปรดยกพระราชทานให้ ครั้นมาถึงปีเถาะสัปตศก (พ.ศ. ๒๓๙๘) โปรดให้เดินนาทำตราแดงใหม่ จึงได้ทรงพระราชดำริห์พร้อมกับความคิดท่านเสนาบดีเห็นว่า นาคู่โคต้องเสียไร่ละสลึงเฟื้องเสมอตามจำนวนในตราแดงนั้น เสียเปรียบนาปักอยู่ เพราะนาปักเสียแต่ตามที่ได้ ซึ่งแต่ก่อนมีอย่างธรรมเนียมบังคับให้นาคู่โคเสียตามจำนวนในตราแดงเสมอนั้น ก็เห็นว่านาหว่านมีผลมากกว่านาปัก ถึงในปีฝนแล้งนาน้ำฝนฟางลอยเสียทำไม่ได้ น้ำเหนือมามากนาคู่โคก็ทำได้ อนึ่งประสงค์จะกดเจ้าของนาให้อุส่าห์ทำนาให้เต็มภูมิ จึงได้บังคับให้เรียกเสมอตามจำนวนในตราแดงไม่มีประเมิน

ครั้นเมื่อพิเคราะห์ดูนาคู่โคถึงมีผลมากราคาเข้าก็ต่ำกว่าเข้านาสวนนาปัก คิดดูก็พอชดเชยกัน แลซึ่งประสงค์จะกดให้ราษฎรทำนาให้เต็มภูมินั้น เห็นว่าบัดนี้เข้าก็เปิดให้ขายคนต่างประเทศไม่ได้ปิดเหมือนอย่างแต่ก่อน ราษฎรคงพอใจทำเต็มภูมิอยู่เอง ซึ่งราษฎรเจ้าของนาคู่โคต้องเสียไร่ละสลึงเฟื้องเสมออยู่นั้น เปนอันเสียเปรียบนาปักอยู่ ถ้าฝนแลน้ำท่าเปนปรกติทำนาได้เต็มภูมิเสียแต่น้อยก็จะยอมเสียไป ถ้าเมื่อใดฝนแล้งน้ำน้อยก็คงจะร้องว่าทนค่านาไม่ได้ เพราะฉนั้นควรจะลดค่านาคู่โคทั้งปวงบรรดาซึ่งเรียกตามจำนวนในตราแดงนั้น พระราชทานให้ไร่ละเฟื้องทุกปีเสมอไป ใช้เนื้อล่วงหน้าแทนส่วนของนาที่ทำไม่ได้ในลางปีมีบางครั้งบางคราวเมื่อฝนแล้งน้ำน้อยนั้นทีเดียว เมื่อปีฝนแล้งน้ำน้อยก็ดีเปนปรกติก็ดี ให้เรียกแต่ไร่ละสลึงตามจำนวนในตราแดงเหมือนกับให้ราษฎรเข้าชื่อทำนาผูกขาดตามจำนวนในตราแดงทีเดียว ไม่มีช่องที่จะร้องเพราะได้ลดไว้ให้ต่ำกว่านาปักอยู่แล้ว ถ้าใครยังเห็นอยู่ว่าจะทนเสียค่านาไปไม่ได้ ก็ให้เวรนาแก่กรมนาผูกเปนหลวงเสียทีเดียว

การที่โปรดให้ลดค่านาตราแดง พระราชทานราษฎรเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในปีฝนแล้งน้ำน้อย ซึ่งจะมีบางครั้งบางคราวล่วงหน้ามาไว้ตั้งแต่ปีเดินนาใหม่นับได้ถึง ๑๐ ปี ๑๑ ปีมาแล้ว ราษฎรเข้าใจหรือไม่ แต่ก่อนใครไม่เข้าใจให้คิดให้เข้าใจด้วยคำประกาศนี้ การที่ลดค่านาพระราชทานให้ราษฎรเจ้าของนาคู่โคไร่ละเฟื้องในแขวงกรุงเก่า อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรีนั้น คิดจำนวนนาถึง ๓๒๐,๐๐๐ ไร่เศษ เมื่อลดพระราชทานให้ไร่ละเฟื้องทุกปีเปนเงิน ๕๐๐ ชั่งขึ้นไป เพราะ ๓๒๐,๐๐๐ เฟื้องเปนเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท คือ ๕๐๐ ชั่งทุกปี ๑๐ ปีเปนเงินถึง ๕,๐๐๐ ชั่ง ว่าดังนี้ราษฎรเห็นด้วยหรือไม่ อิกอย่างหนึ่งค่านา ๓๒๐,๐๐๐ ไร่นั้น เมื่อเรียกไร่ละสลึงเฟื้องได้เงินปีละ ๑,๕๐๐ ชั่ง เมื่อเรียกไร่ละสลึงได้เงินปีละ ๑,๐๐๐ ชั่ง ก็ในปีนี้ฝนแล้งน้ำน้อยจะคงเรียกอยู่ไร่ละสลึงตามธรรมเนียมไม่ได้หรือ ราษฎรได้เปรียบในหลวงกว่าแต่ก่อนมาถึง ๙ ปี ๑๐ ปีแล้ว

อนึ่งในปีนี้เมื่อเดือน ๑๑ เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรน้ำกรุงเก่าทรงเห็นว่าน้อย ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์ข้าราชการไปปิดน้ำ แล้วจำหน่ายพระราชทรัพย์แจกเปนเงินค่ากับเข้าผู้ทำการคนละบาท แลจ่ายเข้าสารสะเบียงคนละ ๑๐ ทนานแลจ่ายจัดซื้อไม้เพิ่มเติมไม้เกณฑ์ตัดให้ทันการ สิ้นพระราชทรัพย์ ๕๐ ชั่งเศษ โดยทรงพระมหากรุณาช่วยนาของราษฎรทั้งแขวงกรุงเก่าแลลพบุรี แลอ่างทองตามกำลังจะทำได้ เปนพระเดชพระคุณแก่ราษฎรอยู่ ควรราษฎรจะคิดถึงพระเดชพระคุณบ้าง อย่าให้ต้องลำบากนัก

ครั้งนี้มีพระบรมราชโองการให้ปรึกษาท่านเสนาบดี เห็นพร้อมกันกราบทูลพระกรุณาดังนี้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ พร้อมกันว่า แต่ก่อนราคาเข้าถูกเกวียนละสิบบาทเกวียนละ ๓ ตำลึงราษฎรทำนาก็น้อย ค่านาก็เรียกไร่ละสลึงเฟื้องตั้งแต่ ๙ ปี ๑๐ ปีมาโปรดเกล้า ฯ เปิดเข้าให้ราษฎรได้ซื้อขายไปแก่ลูกค้าต่างประเทศ ราคาเข้าก็ขึ้นถึงเกวียนละห้าตำลึงเปนพื้น ราษฎรทำนาก็มากขึ้น ค่านาคู่โคลดเรียกแต่ไร่ละสลึง ราษฎรได้เปรียบเงินค่านามากกว่านาน้ำฝนฟางลอยอยู่แล้ว แต่นาคู่โคเปนนาผูกขาดเรียกค่าที่ไร่ละสลึงตามหน้าโฉนดตราแดง ณปีชวดฉศกฝนแล้งราษฎรทำไม่เต็มภูมิ ข้าหลวงเสนาจะไปเรียกเงินค่านาตามหน้าโฉนดตราแดงราษฎรก็คงจะร้อง ถ้าถึงเกาะกุมเร่งรัดก็จะพากันได้ความเดือดร้อน ขอรับพระราชทานให้มีหมายประกาศแก่ราษฎรให้ทราบทั่วกันว่า ถึงกำหนดข้าหลวงเสนาจะมาเรียกเงินค่านาคู่โค ถ้าราษฎรยอมเสียตามหน้าโฉนดตราแดง ก็ให้ข้าหลวงเสนาเรียกเงินค่านาให้เต็มไร่ละสลึง ถ้าราษฎรรายใดจะขอเสียเงินค่านาให้แต่ที่ได้เก็บเกี่ยวไร่ละสลึงก็จะยอมรับ ที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวจะขอค้างไว้นั้นก็จะยอมให้ค้าง แต่ที่ค้างนั้นจะเปนเนื้อที่มากน้อยเท่าใด ต้องให้ข้าหลวงเสนาประเมิน ถึงปีฉลูสัปตศก (พ.ศ. ๒๔๐๘) จะเรียกเอาเงินค่านาที่ค้างไร่ละสลึงเฟื้อง เพราะด้วยเหตุ ๓ ประการ ประการ ๑ เพราะต้องป่วยการข้าหลวงเสนาประเมิน ประการ ๑ เงินหลวงค้างไปนานถึงปีหนึ่ง ประการ ๑ ราคาเข้าก็แพงกว่าแต่ก่อนเกวียนหนึ่งถึง ๕ ตำลึง ๖ ตำลึงเปนพื้น เพราะดังนั้นจึงต้องเรียกไร่ละสลึงเฟื้องเหมือนประเมินนาฟางลอย แต่หนังสือประกาศนั้นขอให้มีสำหรับข้าหลวงเสนาไปด้วยจงทุกนาย ซึ่งจะมีแต่ท้องตราถึงเจ้าเมืองกรมการนั้น ราษฎรจะไม่รู้ทั่วกันก็จะเข้าใจไปต่าง ๆ เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมดังนี้ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขอเดชะ”

เพราะฉนันบัดนี้ให้ประกาศเปนคำสั้น ๆ ดังนี้ ปีนี้เพราะฝนแล้งน้ำน้อย นาหว่านคู่โคแขวงกรุงเก่า แขวงอ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี ก็ให้คงเรียกเสมอไร่ละสลึงตามเคย เต็มตามจำนวนมีในตราแดงสำหรับนาคู่โคอย่างแต่ก่อน แต่ให้กรมการข้าหลวงเสนากำนันนายอำเภอพร้อมกันผันผ่อนหย่อนตามใจราษฎรซึ่งเปนเจ้าของนา คือผู้ใดยอมส่งค่านาไร่ละสลึงเต็มตามจำนวนในตราแดงตามเคย ก็ให้รับทำใบเสร็จให้เปนแล้ว ถ้าผู้ใดร้องว่าขัดสนเงินไม่มีจะเสียเต็มตามจำนวนมีในตราแดง เพราะปีนี้ทำนาไม่ได้ผล จะขอค้างไปก็ให้ยอมให้ค้าง ถ้าจะขอค้างทั้งจำนวนได้ทำแลไม่ได้ทำ ก็ให้ทำบาญชีตั้งค้างไว้ให้แน่ ถ้าจะขอเสียแต่ที่ได้ทำจะขอค้างในที่ไม่ได้ทำก็ให้ประเมินได้จำนวนแน่แล้ว ก็ให้เรียกไร่ละสลึงตามแต่ที่ได้ทำ จำนวนที่ไม่ได้ทำก็ให้ตั้งค้างไว้ เมื่อปีต่อไปจึงให้ใช้รายค้าง แต่รายค้างนั้นจะต้องขอเรียกให้ใช้ไร่ละสลึงเฟื้อง เพราะเงินหลวงคั่งค้างปีอยู่ แลต้องลำบากข้าหลวงเสนาที่ประเมิน ราคาเข้าเดี๋ยวนี้ก็ขายแพงกว่าแต่ก่อน ในหลวงก็ไม่ได้ตั้งพิกัดอัตราสำรวจกวดขันอะไรเลย ตามใจราษฎรจะตั้งราคาขายกัน ขายไปต่างประเทศก็ได้ไม่ได้ปิด ชาวนาได้เงินมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งจะเรียกไร่ละสลึงเฟื้องนั้น ให้เรียกแต่นาที่ตั้งค้างปีไป ก็ค่านาในจำนวนสำหรับปีในปีต่อไป คงเรียกไร่ละสลึงยืนตามจำนวนในตราแดง แลตามอย่างที่มีมาแล้วในปีหลัง ๆ แต่นานอกจำนวนบวกในนาคู่โคมีในตราแดงในแขวงทั้ง ๔ นั้น ถ้าเปนนาขึ้นในเร็ว ๆ ให้เรียกตามลักษณะนาขึ้นเร็ว ๆ ถ้าเปนนาเก่ายังไม่ได้บวกในตราแดง ก็ให้ข้าหลวงเสนาประเมินเรียกตามแต่ที่ได้ทำได้ในปีนี้ก็ดี ในปีอื่นก็ดี ให้ราษฎรเข้าใจตามคำประกาศนี้ อย่าหลงด้วยเรื่องค่านาค้างแลค่านาสำหรับปีเข้าใจให้ผิดไปเลย

ประกาศมาณวันพุธ เดือนยี่ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดฉศก ศักราช ๑๒๒๖ (พ.ศ. ๒๔๐๗) หรือเปนวันที่ ๔๙๗๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

----------------------------

อธิบาย

คำที่เรียกว่า “นาคู่โค” ข้าพเจ้าพึ่งพบอธิบายเมื่อไปเห็นประเพณีเก็บค่านาที่เมืองปัตตานี เดิมเขาไม่ใช้รางวัดที่ดินทีเดียวสำรวจเอาจำนวนโคที่ใช้ทำนาตั้งเปนหลักของอัตราค่านา โคคู่ ๑ ก็เก็บค่านาเท่านั้น ๆ เห็นจะเปนวิธีสำหรับเก็บค่านานาทุ่ง วิธีที่เรียกว่านาฟางลอยนั้น แต่เดิมเห็นจะสำหรับเก็บค่านานาดอนที่ทำแห่งละเล็กละน้อย จึงใช้สังเกตตอฟางที่ปลูกเข้าออกผลเก็บเกี่ยว คิดรางวัดเปนเนื้อที่ไร่งาน เปนอัตราค่านา วิธีทั้งสองอย่างนี้เข้าใจว่า จะใช้กันมาแต่โบราณก่อนกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ภายหลังที่ในกรุง ฯ มาเลิกเก็บตามจำนวนคู่โคเสีย ใช้รางวัดที่เหมือนกันทั้ง ๒ อย่าง แต่คนทั้งหลายยังคงเรียกชื่ออยู่อย่างเดิม นาทุ่งจึงยังคงมีชื่อเรียกว่านาคู่โคสืบมา

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ